สำคัญกว่าใจ
เย็นวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๓ ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเดินทางไปร่วมในงานบวชหลานชายของเพื่อนรัก คนที่ชื่อสำราญ(กล่าวถึงในหนังสือจากความทรงจำฉบับรวมเล่ม เล่มที่ ๒) รู้อยู่ว่าการบวชในชนบท มักจะบวชเพราะถือเป็นประเพณี ลูกชายใครอายุครบ ๒๐ ปี ที่นิสัยดีๆ อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ มักนิยมบวชกัน ๑ พรรษาสึกออกมาก็แต่งงานมีลูกมีเมีย ทำมาหากินเลี้ยงดูกันไป แก่ตัวเข้าลูกก็ทำในทำนองเดียวกัน
คนแก่ก็นั่งเลี้ยงหลานต่อ ที่สุดก็ตาย เป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่อย่างนี้
เพราะคิดดังที่กล่าว จึงไม่รู้สึกกระตือรือร้นในการบวชของเด็กหนุ่มนั้นเท่าไรนัก เขาคงจะบวชเพื่อให้พ่อแม่ได้บุญตามความนิยม และต้องคิดรีบสึกออกมาแต่งงานแน่ๆ เพราะเป็นลูกชายคนเดียวของผู้ใหญ่บ้านที่ร่ำรวยคนหนึ่งของตำบล แต่ที่ข้าพเจ้าต้องไป เพราะเพื่อนเป็นเจ้าภาพ อุตส่าห์มาบอกไว้หลายวันแล้ว เพื่อนเองก็เป็นนางสาว ไม่มีลูก จึงคิดบวชหลานเอาบุญแทน และที่สำคัญเป็นเพื่อนที่สู้ยอมรับฟังคำสั่งสอนของข้าพเจ้า ให้เลิกขายปลาก็ยอมเลิก มานั่งขายผลไม้บ้าง ผักบ้าง ได้กำไรเล็กๆ น้อยๆ ลดลง จากกำไรขายปลานับเป็นสิบเท่าตัวกระมัง นอกจานนั้นเวลาข้าพเจ้าไป
ชวนทำบุญกฐิน ผ้าป่า เลี้ยงพระธรรมทายาท ฯลฯ ก็ใจป้ำรับทำบุญเป็นพันๆ บาท ในวันนั้นลูกๆ ของข้าพเจ้าติดธุระกันหมด ข้าพเจ้าจึงคิดไปตามลำพัง รีบกลับจากวัดเร็วหน่อยขึ้นรถประจำทางไปก็ได้ ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแปดสิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้น พอดีคนโน้นคนนี้รู้ และเป็นคนมีรถปิกอัพอยู่ด้วย จึงได้พากันตามข้าพเจ้าไปถึง ๙ คน เต็มคันรถพอดี
โดยปกติข้าพเจ้าชอบอยู่คนเดียว ไปไหนตามลำพัง ความไม่ต้องกังวลด้วยคนอื่นเป็นความ สงบอย่างหนึ่งในชีวิต แต่ครั้งนี้เป็นการไปแสดงมุทิตาจิตกับเจ้าภาพและพ่อนาค ทุกคนมีกุศลจิต ข้าพเจ้าจึงรู้สึกสบายใจ ในขณะเดินทาง แม้ว่าจะนั่งกันอย่างไม่มีที่ว่างเลยก็ตาม
ขอคุยกับท่านผู้อ่านตรงนี้สักนิดนะคะ เรื่องการชอบปลีกตัวอยู่ตามลำพังนั้น ในทางธรรมถือเป็นสิ่งดีงามควรกระทำ เพราะใจจะมีอิสระไม่ต้องกังวลห่วงใยเรื่องราวของคนที่อยู่ด้วย บำเพ็ญเพียงทางจิตได้ดี ไม่ฟุ้งซ่านพล่านไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่ในทางโลกบางทีถือกันว่า เป็นคนเก็บตัว ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ที่ว่ากันขนาดหนัก หาว่าเป็นโรคจิตไปเสียเลย
แต่เดิมข้าพเจ้าเองก็รู้สึกสับสนในนิสัยของตนเองว่า เป็นคนนิสัยไม่ถูกต้อง หรือว่าเป็นโรคจิตหรือเปล่า ครั้นพบคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้า ก็ให้รู้สึกดีอกดีใจว่าตนเอง คิดถูกต้องแล้ว น่าประหลาดเสียจริง ทำไมจึงคิดเองได้มาแต่เด็ก ถ้ามิใช่นิสัยที่เคยทำมาข้ามภพข้ามชาติ ก็ไม่ทราบจะยกให้เป็นสาเหตุจากเรื่องอะไร
ในคำสอนของพระบรมศาสดาของเรา (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม ๑๔ หน้า ๒๐๖ มหาสุญญตสูตร) กล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วิหารนิโครธาราม พระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบททอดพระเนตรเห็นวิหารของเจ้ากาลเขมกะ มีภิกษุอยู่มากด้วยกัน จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า
"ดูก่อนอานนท์ ภิกษุที่ชอบอยู่คลุกคลีกัน ยินดีในการอยู่อย่างนั้น และอยู่รวมกันหลายคนบ่อยๆ ร่วมกันอยู่อย่างบันเทิงย่อมไม่งามเลย เพราะจะได้สิ่งเหล่านี้มาโดยยากลำบาก คือสุขที่เกิดจากเนกขัมมะ สุขจากความสงัด สุขจากความสงบ สุขจากการตรัสรู้ แต่ถ้าอยู่ผู้เดียวสุขต่างๆ ดังกล่าว เป็นฐานะที่มีได้ แม้เจโตวิมุตติก็เกิดได้ ถ้าอยู่ตามลำพัง" (เขียนเอาใจความ)
ด้วยใจที่คุ้นเคยต่อการชอบอยู่ตามลำพัง เย็นวันอาทิตย์ที่เล่าถึง เมื่อข้าพเจ้าและผู้ติดตามไปถึงวัดซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน จึงรู้สึกตกใจและอึดอัดกระอักกระอ่วนบอกไม่ถูก เมื่อพบว่า ที่ลานวัดมีโต๊ะจีนเตรียมเลี้ยงอาหารถึง ๘๐ โต๊ะ คนนั่งเก้าอี้คอยรับประทานอาหารกันเต็มพรืดไปหมด ที่ยังหาที่นั่งไม่ได้ก็มีอีกนับเป็นร้อยๆ คน เสียงพี่สาวของเพื่อนข้าพเจ้าบ่นว่า
"เจ้าภาพออกบัตรเชิญไป ๕๐๐ ใบ อุตส่าห์จัดโต๊ะไว้ถึง ๘๐ โต๊ะ ก็ยังไม่พอ บ้านหนึ่งๆ คงจะขนกันมาหมดบ้านมั้งเนี่ย" ข้าพเจ้าเพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นเองว่า ประเพณีในชนบทซึ่งเคยเลี้ยงอาหารไทย จัดเป็นสำรับเปลี่ยนไปเสียแล้ว เจ้าภาพนิยมเลี้ยงแบบโต๊ะจีน เจ้าภาพรายไหนไม่ทำ จะถูกนินทาว่าไม่สมหน้าสมตา เป็นคนขี้เหนียว ขี้ตืดไปเสีย สมัยเลี้ยงด้วยอาหารไทย เจ้าภาพแต่ละรายก็แทบจะหมดเนื้อหมดตัว นี่เป็นโต๊ะจีน คนมีฐานะปานกลาง คงจะต้องมีหนี้สินรุงรัง ลูกชายบวชจนสึกแล้วก็ยังใช้หนี้ไม่หมด ดีไม่ดีต้องกู้เงินมาทำพิธี
แต่งงานให้ต่อ
ครั้นมองไปยังแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งนั่งกันหน้าสลอนอยู่ที่เก้าอี้ล้อมโต๊ะอาหาร มองแล้วก็ให้รู้สึกอายแทน เหมือนตั้งใจมารอกินโดยเฉพาะ ขบวนแห่พ่อนาคก็เต้นกันมาเสียจนนาคซึ่งนั่งอยู่บนคอคนเต้นเหน็ดเหนื่อยพูดไม่ออก พวกในขบวนเดินผ่านไปตั้งนาน กลิ่นสุราที่พวกเขาดื่มกันไว้ ยังโชยฟุ้งมาตามลม รถราวิ่งกันไขว่ เพียงเพื่อพาคนมานั่งที่โต๊ะคอยรับประทานอาหาร คอยกันเป็นชั่วโมงๆ อาหารก็ยังไม่เสิร์ฟ มองไปที่แขก ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครคุยอะไรกัน เพราะต่างคนต่างมา ไม่คุ้นเคยกันนัก คนที่พอรู้จักกันอยู่บ้างก็มาไม่พร้อมกัน ถูกจับไปนั่งที่โต๊ะอื่นบ้าง
ข้าพเจ้าพาหมู่คณะเดินเลี่ยงจากสนามหญ้า ซึ่งเป็นสถานที่จัดเลี้ยงโต๊ะจีน เดินเข้าไปในครัว ที่นั่นมีพี่อบ (จากความทรงจำฉบับรวมเล่ม เล่มที่ ๑ เรื่อง ตายทั้งเป็น) กำลังทำครัวกับข้าวไทยๆ อยู่ ๓-๔
อย่าง พี่อบจัดอาหารให้ทุกคนกินกันที่นั่น ผักน้ำพริกปลาทู แกงส้ม แกงเผ็ดไก่ ต้มหน่อไม้กับกระดูกหมู ขนมจีนน้ำพริก ปล่อยให้ทุกคนรับประทานอาหาร ข้าพเจ้าเดินเงียบๆ ไปทางศาลาริมน้ำตามลำพัง คิดจะใช้เวลาหวนนึกถึงอดีตสมัยเป็นเด็กเล็กๆ วิ่งเล่นอยู่ที่ลานวัดแห่งนี้ จนกระทั่งถึงวัยเรียน เดินมาเล็กน้อย พลันก็
มองเห็นสิ่งก่อสร้างชิ้นหนึ่ง ลักษณะคล้ายหอฉันหอสวดมนต์ และเป็นศาลาทำบุญของชาวบ้านไปในตัว (ในกรณีที่ไม่ใช่งานบุญใหญ่) หลังคายังไม่ได้มุง ฝายังไม่มี คงจะต้องใช้เงินอีกหลายหมื่นบาท ถามคนที่เดิน
ผ่านมาว่าทำไมสร้างยังไม่เสร็จเสียที เห็นมาเป็นปีแล้ว ได้รับคำตอบว่า
" สมภารท่านเงินหมด ไม่มีค่าแรงจ้างแล้ว ต้องทิ้งตากแดด ตากฝน ไม้จะผุเสียเปล่า" คนตอบเดินผ่านไปนานแล้ว ข้าพเจ้ายังยืนคิดอยู่ที่เดิม ไม่คิดถึงเรื่องในอดีตตามที่ตั้งใจ แต่คิดถึงเรื่องปัจจุบันในขณะนั้น
"สำราญเพื่อนรัก ฉันชวนให้เธอเลื่อมใสในพระรัตนตรัยได้ ชวนเธอให้เต็มใจบริจาคทานได้ และก็ยังชวนกระทั่งถือศีล ๕ และศีล ๘ เป็นบางครั้งก็ยังได้ แต่ชวนเธอภาวนาครั้งใด เธอก็ตั้งใจหลับเอาเสียจริง
คำนับแล้ว คำนับอีก ใจไม่มีกำลังเลย มีแต่ความเซื่องซึมท้อถอย เธอจึงไปไม่ถึงขั้นปัญญา เงินที่เธอเสียไปในการเลี้ยงครั้งนี้คงไม่ต่ำกว่าแสน ถ้าจะลดความฟุ่มเฟือยลง ไม่เลี้ยงสุรา เลี้ยงแต่อาหารที่ทำกันเองคงเหลือเงินกว่าครึ่ง เอามาช่วยสมภารก่อสร้างเสนาสนะชิ้นนี้ให้เสร็จเธอก็จะได้บุญมากนักหนา เสียแรงฉันสอนเรื่องการทำทานที่มีอานิสงส์มากต่อเธอเอาไว้ เธอไม่จำเอามาใช้เลย การเลี้ยงอาหารคนไม่มีศีล ได้อานิสงส์นิดเดียว น่าจะทำที่ได้บุญมากกว่านี้ เสียเงินให้ร้านอาหารรวยไปเปล่าซะลา..น้า.."
คิดยังไม่ทันจบ ได้ยินเสียงคนคุยกันเรื่องอาหารบนโต๊ะจีน ซึ่งกินเสร็จกันรวดเร็วมาก
"อาหารอะไรกันวะ..ห่วยชิบ..ห..ไม่ได้เรื่องเลย..อร่อยก็ไม่อร่อย ไอ้ไก่ย่างน่ะนะ เหนียวจนฟันกูจะหลุดตามออกมาหมดปาก.. มีอย่างละ นี้ด นี้ด อิ่มก็ไม่อิ่ม คงต้องกลับไปหุงข้าวที่บ้านกินต่อ"
"เห็นมั้ยราญ เลี้ยงแล้วถูกเขาด่าด้วยซ้ำไป เงินที่เขาร่วมทำบุญมาก็ไม่พอจ่ายค่าอาหาร กินแล้วยังถูกนินทาต่อไปไม่รู้จบ ชั้นจะพูดว่าเธอ เธอก็จะเสียใจ เงินก็เสีย ชื่อก็เสีย บุญก็ไม่ได้ เธอนี่โง่หรือฉลาด ลองคิดดู.." ข้าพเจ้าพูดในใจกับเพื่อน
เรื่องการทำทานที่มีผลมากนั้น ข้าพเจ้าสอนใครๆ ไว้มาก เอามาจากคำสอนในพระไตรปิฎก คนเข้าใจทำตามก็มี คนที่ไม่สนใจอย่างรายนี้ก็มี ข้าพเจ้าพูดว่า..
ให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน ได้ผลทานร้อยเท่า
ให้คนทุศีล ได้ผลทานพันเท่า
ให้ผู้มีศีลได้แสนเท่า
ให้คนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่ปราศจากความกำหนัดในกาม (เช่นนักบวชในลัทธิต่างๆ) ได้แสนโกฏิเท่า
ให้ต่อท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำพระโสดาบันให้แจ้งได้ผลนับประมาณไม่ได้
ให้ทานในผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นพระโสดาบัน ๑๐๐ คน ก็ไม่เท่าพระโสดาบัน ๑
ให้พระโสดาบัน ๑๐๐ ก็ไม่เท่าผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นพระสกทาคามี ๑
ให้ผู้ปฏิบัติเพื่อพระสกทาคามี ๑๐๐ ก็ไม่เท่า.. เทียบเรื่อยไปอย่างนี้กระทั่ง
พระอรหันต์ ๑๐๐ ก็ไม่เท่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑
พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ก็ไม่เท่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว ก็สู้หมู่พระภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไม่ได้
หมู่พระภิกษุสงฆ์ษ ฯลฯ ก็สู้สร้างวิหารทานในทิศทั้งสี่ให้เป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ไม่ได้
วิหารทาน.. ฯลฯ ก็สู้ทำใจให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยไม่ได้
ทำใจให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็สู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยและสมาทานรักษาศีลไม่ได้
รักษาศีล.. ก็สู้ เจริญเมตตาภาวนาแม้ชั่วระยะเวลาสูดดมของหอมไม่ได้
เจริญเมตตา.. ฯ ก็สู้ เจริญอนิจจสัญญาแค่เวลาลัดนิ้วมือ(ดีดนิ้วมือ) เดียวไม่ได้
เจริญเมตตา คือคิดให้ผู้อื่นอยู่เป็นสุข เจริญอนิจจสัญญา คือให้เห็นทุกสิ่งไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นการเจริญปัญญาเมื่อเห็นอะไรๆ ไม่เที่ยง ก็ไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง ไม่ยึดมั่นแม้ในตัวตน
นี่ถ้าสำราญเพื่อนรักของข้าพเจ้าเอาเงินไปช่วยท่านสมภาร สร้างสิ่งปลูกสร้างที่ค้างอยู่ดังกล่าว ก็จะเป็นที่พระภิกษุสงฆ์ได้อยู่อาศัย ใช้สอย ได้ผลทานนับไม่ไหว ให้คนทุศีลกินได้แค่พันเท่าแค่นั้น
คนเราเมื่อขาดปัญญา ทำให้มีความคิดเห็นไม่ถูกต้องตามจริง เอาสุรามาทำทาน นอกจากไม่ได้บุญเลยแล้ว ยังได้บาปเพิ่ม ทำให้ผู้คนเกิดความประมาท ขาดสติ เสียเงินได้บุญยังเรียกว่าฉลาดบ้าง แต่เสียเงินแล้วได้บาป จะเรียกว่าคนอะไร
ถ้าข้าพเจ้าจะถามสำราญ เธอก็จะตอบข้าพเจ้าว่า "โธ่ พี่ก้อ..ประเพณีพื้นบ้านเค้าเป็นยังนั้น ไม่ให้เค้าก็ขอกิน ไม่ให้กินเค้าก็ว่าเอา นินทาเอา"
ถ้าข้าพเจ้ามีโอกาสตอบเธอ ข้าพเจ้าก็จะว่า
"ราญไปอ้างเหตุผลเหล่านี้ต่อพญายมราชได้รึเปล่า ทางนรกโน่นเค้ายอมฟังเหตุผลนี้มั้ย ใครทำบาปอะไร ก็ต้องเป็นคนรับผลด้วยตนเองส่วนที่เราทำเพื่อใคร โลกนรกเค้าไม่ฟังหรอก อย่าว่าแต่อ้างเสียงคนนินทาว่าร้ายหรือประเพณีเลย ให้อ้างว่าทำชั่วเพื่อพ่อเพื่อแม่ เพื่ออะไรๆ ที่สูงส่งทั้งหลาย ก็ไม่มีใครยอมผ่อนผันโทษให้หรอก"
เล่าเรื่องราวต่างตอนนี้เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นประธานใหญ่ในองค์มรรค หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือเป็นประธานใหญ่ในการครองใจเรา ให้คิดในทางที่ถูก เป็นหัวหน้าความคิดซึ่งเป็นมโนสุจริต เมื่อความคิดเห็นถูกต้องเสียแล้ว การกระทำทางกาย ทางวาจา จะสุจริตตามไปด้วย
สำราญคิดว่าเลี้ยงคนเป็นความจำเป็น จึงได้เลี้ยงอย่างดีราคาพิเศษ ว่าจ้างภัตตาคารมีชื่อเสียง คิดว่าอาหารคงอร่อย ฝ่ายทางภัตตาคารมีตัณหาเป็นโลภะ ต้องการกำไรให้มากเข้าไว้ ก็นึกประมาทว่า งานเลี้ยงคนบ้านนอก พวกกินอดกินอยากเป็นพื้นอยู่แล้ว ทำอะไรให้กิน ก็คงกินได้ เป็นดีไปเสียหมดนั่นแหละ ไม่จำเป็นต้องทำประณีตแต่อย่างไร ของที่เอามาปรุงก็ไม่ต้องซื้อของดีราคาแพง เอาของส่งเดชราคาถูกๆ ก็ได้
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ยินเสียงคนกินแล้วด่า ไม่ใช่กินแล้วชม บุญก็ได้น้อยเต็มที ยังมีเสียงด่าให้ได้ยิน เจ้าภาพจะรู้หรือไม่นะ ยังมีอีก พวกที่ไม่มีโต๊ะจีนจะนั่ง หวังจะพึ่งกับข้าวไทยที่ในครัว ปรากฏว่าหมด
เสียอีก คงจะสรรเสริญเจ้าภาพในทางลบอีกพะเรอ
ความคิดเห็นผิดๆ อยากตามใจคน โดยไม่คิดว่าคนเหล่านั้น มีปัญญารู้อะไรควรอะไรไม่ควรแค่ไหน พอฝ่ายเพื่อนบ้านร้องขอดูลิเก สำราญก็ยอมเสียเงินถึง ๒ หมื่น จ้างให้มาเล่น เอาเงิน ๒ หมื่นไปซื้อบาป
ให้ตัวเอง คนไม่มีปัญญาคิดเอาว่า การให้คนดูมหรสพเพลิดเพลิน สนุกสนานน่าจะเป็นกุศล แต่โดยหลักความเป็นจริงของธรรมะแล้ว
ถ้าสิ่งใดให้ไปแล้ว ผู้รับเกิดกิเลสเช่น ราคะ โทสะ โมหะ มันเป็นบุญไปไม่ได้ เรื่องลิเก ภาพยนตร์ ดนตรี ฯลฯ อะไรเหล่านี้ เป็นอารมณ์ของกามคุณทั้งนั้น ทำให้เกิดราคะ หลงรักในรูป เสียง ของผู้แสดงเกิดโทสะตามเนื้อเรื่อง เกิดโมหะ ยึดถือเอาเป็นจริงเป็นจัง ตัวแสดงแสดงบทใดคนดูก็เคลิบเคลิ้มมีอารมณ์ร่วมไปตาม บางทีหลงรักมากจนขาดสติ มีเงินทองทรัพย์สมบัติเท่าใดเอาไปยกให้จนหมด ถึงกับขอ
เลิกกับสามี ภรรยา ตามนักร้องนักแสดงไปเลยก็มี
สิ่งที่ให้ทานไปแล้วเป็นโทษต่อผู้รับ เช่น มหรสพสุรา ยาเสพติด อาวุธ ยาพิษ ภาพเร้าใจ ให้กิเลสเกิด ให้เพศตรงข้ามเพื่อเสพกาม ล้วนเป็นทานที่เพิ่มบาปให้ผู้ให้ทั้งสิ้น
สัมมาทิฏฐินั้น พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือปัญญานั่นเอง คนไม่มีปัญญา คิดเห็นอะไรย่อมไม่ถูกต้อง คิดไปด้วยโมหะ ความโง่ความหลงทั้งสิ้น
เมื่อสำราญขาดปัญญา เพื่อนบ้านที่อยู่รอบตัวขาดปัญญา มันก็เหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด ก็พากันหกล้ม ไม่มีใครช่วยใคร ข้าพเจ้าคนเดียวจะต้านทานกระแสโลกที่ไหลเชี่ยวกรากเหล่านั้นได้อย่างไร
ก็ได้แต่ปลงว่า
..สำราญเอ๋ย ฉันช่วยเธอได้เล็กน้อยแค่นี้เอง เพียงให้เธอ ประกอบอาชีพที่ไม่มีบาปกรรมเวรภัยเท่านั้น แต่ช่วยไปไม่ถึงให้เธอรู้จักวิธีใช้เงินได้ประโยชน์มากๆ เธอหาเงินเหนื่อยสายตัวแทบขาด ตื่นแต่เช้าก่อนนกก่อนกา แต่งตัวออกจากบ้าน ข้าวปลาไม่มีเวลากิน ไปเที่ยวหาซื้อของในตลาด ๒ จังหวัด ๓ จังหวัด เที่ยวต่อราคาคาดคั้นเอากับคนยากจนที่เขาผลิต มาขายด้วยความยากลำบาก ให้กำไรคนปลูกนิดเดียว เขาไม่ขายก็ไม่ได้ เพราะสินค้าจะเน่า ต้องขายให้แม่ค้าคนกลางอย่างเธอ เธอขนขึ้นรถประจำทางมา ยกของขึ้นบ้างลงบ้าง จนทั้งหลัง ไหล่ เอวสะโพก แทบจะพิการ ขัดยอกไปหมด เพราะทำประจำอยู่เป็นยี่สิบสามสิบปี เอามานั่งขายให้ลูกค้า เสี่ยงกับวาจาทุจริต พูดปด พูดเพ้อเจ้อ เรื่องคุณภาพและราคาของอีกเท่าไรไม่รู้ กว่าจะได้เงินสะสมไว้เป็นก้อน เป็นกำ เหน็ดเหนื่อยถึงขนาดนี้ เอาเงินมาทำบุญบวชหลานชาย น่าจะให้ได้บุญมากๆ กลับมาได้บาปเป็นแถว ฉันขอแสดงความเสียใจด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่แรกคิดว่าจะอยู่ถึงพรุ่งนี้ ร่วมในพิธีบวช แต่มาพบแต่คนขี้เมาเต็มงานเป็นร้อยเป็นพันคน เหมือนไม่ใช่งานบุญ เหมือนไม่ใช่เมืองมนุษย์เสียแล้ว ฉันคงจำใจต้องลาจากเธอไป..
ข้าพเจ้าเดินเรื่อยๆ ผ่านมา เห็นนักแสดงลิเกมาถึงแล้ว พวกตัวเอกๆ กินแล้วก็ลงนอนกลิ้ง หลับบ้าง ตื่นบ้าง คงจะเหน็ดเหนื่อยมาจากการแสดงที่อื่น อีกกลุ่มหนึ่งหน้าตาค่อนข้างขี้เหร่ คงจะเป็นพวกเสนา และตัวประกอบ ตัวร้าย หัดฟันดาบกันช้งเช้ง!
คนเหล่านี้น่าเห็นใจจริงๆ เพราะอยากได้เงิน แต่ไม่มีปัญญา สัมมาทิฏฐิไม่เกิด จึงไม่รู้จักประกอบอาชีพที่ได้เงินด้วยได้บุญด้วย อาชีพนักแสดงหนักไปในทางได้บาป เพราะทำให้ผู้คนที่มาดูหลงใหล มัวเมาเสียเวลา เสียเงินทอง ยังเสียสติปัญญา ถ้าเรื่องนั้นๆ ไม่มีคติสอนใจให้ทำดีบ้างเลย
สัมมาทิฏฐิหรือปัญญานั้น เป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะปรุงแต่งคุณภาพของใจให้มีพลานุภาพ เกิดคุณประโยชน์ต่อเจ้าของ สิ่งนี้พูดไปแล้วสำคัญกว่าใจ เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้ ถึงมีใจก็ไร้ค่า เพราะจะเป็นใจที่ไม่มีคุณภาพ ใจที่ไม่มีปัญญาก็จะเป็นอย่างผู้คนในตัวอย่างที่ข้าพเจ้าเล่าให้ฟัง
ไม่มีปัญญาพาให้ดำริคิดแต่เรื่องผิดๆ พอดำริผิด ก็พูดผิด ทำผิด ใช้ความพยายามผิด มีสติในทางที่ผิด และตั้งใจมั่นทำในเรื่องผิด มันพาผิดทุกข้อในองค์มรรคแปด โดยเฉพาะถึงขั้นสมาธิแล้ว ทั้งมิจฉาสมาธิ ไม่สนใจปฏิบัติสัมมาสมาธิ เดินผ่านโรงลิเก ผ่านหน้าโรงเรียนประชาบาลซึ่งปิดเงียบ เพราะเป็นยามค่ำคืนมาทางริมฝั่งน้ำแม่กลอง ด้านหน้าของวัด
ที่นั่นมีบ้านหลังเล็กๆ ขนาดอยู่ได้ ๒ คนหลังหนึ่งปลูกอยู่ในบริเวณวัด ข้าพเจ้าทราบว่ามีแม่ชีสูงอายุอาศัยอยู่ตามลำพังคนหนึ่ง เหมือนมีแรงดึงดูดข้าพเจ้าเดินตรงไปที่นั่น รู้สึกเหมือนว่าคงจะได้พบเพื่อน คนชอบความสงบรักศีลรักธรรม ก็จะเข้าหาคนมีศีลมีธรรม คนขี้เหล้าก็เข้าหาคนขี้เหล้า นักเลงพนันก็ชอบเข้าบ่อนพนัน ชอบคบเพื่อนนักเล่นด้วยกัน
ในยามมีชีวิต ใครคุ้นเคยกับจิตใจชนิดไหน ตายแล้วย่อมไปตามที่ตนชอบ ดังนั้น ถ้อยคำที่นิยมใช้บอกคนที่ใกล้ถึงแก่กรรม หรือที่ตายไปแล้วว่า "ขอให้ไปที่ชอบ ที่ชอบเถอะ" จึงเป็นคำที่พูดตรงตามความเป็นจริง ชอบอะไรก็ไปอย่างนั้น ชอบโลภอยากได้อยู่เรื่อย เท่าไรไม่พอ หิวไม่รู้จบ ก็ต้องไปเกิดในที่ที่ต้องหิวไม่รู้จบคือภูมิเปรต ชอบขี้โมโหไม่พอใจคนนั้นคนนี้สิ่งโน้นสิ่งนี้ ชอบทำร้ายเบียดเบียน ก็ต้องไปเกิดในที่ที่มีโอกาสทำร้ายฆ่าฟันทุบตีผู้อื่น คือเกิดในนรก ต่างคนต่างทำร้ายกัน ไม่มีใครว่า ถ้าขาดปัญญามีโมหะกล้า ก็ไปเกิดเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องเสียเวลาใช้ มองคิดเรื่องอะไรๆ เช่นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีข้อสงสัยว่าทำไมข้าพเจ้าเดินไปยังที่อยู่ของแม่ชีสูงอายุท่านนั้น แม่ชีเดินออกมาต้อนรับ ร้องเชิญให้ข้าพเจ้านั่งคุยกับท่าน ข้าพเจ้ามองดู แล้วต้องเรียนถาม
"ปีนี้คุณป้าอายุเท่าไหร่แล้วคะ หนูรู้จักคุณป้ามาตั้งแต่พ่อยังไม่ตาย นี่จะสิบปีแล้วนะคะ ดูคุณป้าไม่เปลี่ยนแปลง เห็นยังไง มากี่ครั้งๆก็เหมือนเดิม"
เมื่อได้รับคำตอบว่าปีนี้อายุ ๘๕ ข้าพเจ้าก็ต้องแสดงความชื่นชมต่อ ว่าท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นอัศจรรย์ เหมือนคนอายุสัก ๖๐ ปี ท่าน ตอบว่า
"ความจริงชั้นก็เจ็บป่วยเหมือนกันแหละจ้ะ แต่ได้อาศัยอำนาจสมาธิ ชั้นจะเล่าให้คุณฟังนะ มีอยู่คราวหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ พระในวัดเป็นหวัดกันหมดทุกคน ท่านก็พากันไปโรงพยาบาล ชั้นไม่ทราบ ไม่ได้ตามไปกับท่านด้วย เวลานั้นก็มีอาการไม่ใคร่ดีบ้างแล้ว ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว ยาก็ไม่มีกิน ตกดึกคืนนั้น ไข้ขึ้นสูง ในตัวร้อนจนบอกไม่ถูก ร้อนจนอยู่นิ่งไม่ได้ กระสับกระส่าย ทุรนทุราย หัวหมุนติ้วลุกขึ้นนั่งขึ้นยืนไม่ได้ อยู่คนเดียวก็ไม่รู้จะบอกใคร รู้สึกแต่ว่าหัวคงจะแตกเพราะความร้อนระเบิดออกมา หมดที่พึ่งเข้า ชั้นก็เลยภาวนาตามที่เคยทำ คือท่องพุทโธ เรื่อยไป นึกในใจว่า ถ้าจะต้องตายกับการภาวนา ก็คงจะตายแล้วไปดี จึงภาวนาแข่งกับอาการทุรนทุรายของร่างกาย ภาวนาไปได้พักใหญ่ ชั้นก็ลืมอาการเจ็บป่วยของร่างกาย แล้วก็เกิดมองเห็นร่างกายตนเองมันกำลังละลาย มันเหมือนเวลาเราเอาแท่งเทียนไปลนไฟนั่นแหละจ้ะ มันค่อยๆ ละลาย แขนขาเนื้อตัวของชั้นมันก็ทำอาการเริ่มแยกออกเป็นชิ้นเป็นส่วนแล้วก็ละลายให้ดู ตอนนั้นชั้นไม่นึกเสียใจอะไรเลย ดูภาพนั้นเฉยอยู่สักครู่ เหมือนมีใครสอนว่า ร่างกายของเราไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร มันไม่ใช่ของเรา มันทนต่อความทุกข์ ความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ได้ มันก็แตกทำลายไปตามสภาพของมัน เราบังคับให้มันเป็นของเราอยู่กับเราไม่ได้ พอใจชั้นได้รับคำสอนอย่างนี้เท่านั้น ใจก็เลิกนึกห่วงร่างกายลงอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังมองดูภาพนั้นต่อไป ยังภาวนาไม่เลิกสักครู่ร่างที่เห็นกำลังละลายและจะกระจายหลุดออกจากกันเป็นท่อนเป็นชิ้นนั้น มันก็
เข้ามารวมกันใหม่ มันมีระเบียบในการรวม อาการที่ค่อยๆ เลื่อนเข้ามารวมกันสวยงามเหมือนมีเครื่องบังคับให้ท่อนโน้น ชิ้นนี้ เคลื่อนเข้ามาประสานกัน ไม่สับสนพอเหมาะพอเจาะ พอร่างกายทุกท่อนทุกชิ้นประสานกันได้หมด ชั้นก็รู้สึกตัวว่าหายไข้ ไม่มีอาการทุรนทุรายอีกต่อไป รุ่งเช้าก็หายดีเป็นปกติ หนูลองบอกชั้นหน่อยเถอะจ้ะสมาธิของชั้นมันเกิดอะไรขึ้น ชั้นไม่รู้เรื่องจริงๆ ว่าภาพเหล่านั้นมันเกิดมาทำไม แล้วคนที่มาพูดมาสอนชั้นนั่นเป็นใคร ทำไมมองไม่เห็นตัว"
ข้าพเจ้าฟังเรื่องที่แม่ชีสูงอายุท่านเล่าแล้ว ก็ยังนึกคำตอบไม่ออก จึงเอาใจจรดไปที่ศูนย์กลางกลาย เลื่อนเข้าภายในเรื่อยไป คิดแต่ว่าเดี๋ยวเถอะ นึกอะไรออกก็จะตอบอย่างที่นึกนั่นแหละส่วนปากก็พูดกับ
ผู้สูงอายุว่า
"แล้วคุณป้าไม่ไปถามหลวงปู่สายัณห์ท่านดูหรือคะ ว่าอะไรมันเกิด"
หลวงปู่ที่ข้าพเจ้าพูดถึง เป็นพระภิกษุชรามาก อยู่ในวัดแห่งนั้น ในอดีตท่านเคยเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ ปฏิบัติธรรมบรรลุผล มีญาณทราบเรื่องราวและสิ่งต่างๆ กว้างขวาง น่าเสียดายที่ครั้งหนึ่ง
ท่านเคยลาสิกขาออกมาเพราะเกิดพอใจผู้หญิง ครั้นเมื่อสึกออกมาแล้ว กลับผิดหวัง เพราะสตรีนั้นไม่ได้ชอบท่านในทางชู้สาว ท่านจึงบวชใหม่อีกครั้ง เจริญภาวนาเอาชนะกิเลสต่อไป จนได้อภิญญาจิตเหมือนเดิม แต่ไม่ได้ความศรัทธาจากชาวบ้านคืนมาเหมือนสมัยก่อน หลายคนไม่สนใจปฏิบัติเจริญภาวนา เพราะเห็นว่าไม่หมดกิเลสจริง คงมีชาวบ้านบางส่วนที่พอเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมถ้ายังไม่ถึงขั้นอนาคามี หรือขั้นอรหันต์แล้ว กิเลส ตัวกามราคะ ตัวโทสะ ยังไม่หมดไปจากสันดาน ชาวบ้านพวกนี้จึงยังคงมาเรียนกรรมฐานจากหลวงปู่อยู่บ้าง แต่ก็เป็นคนแก่ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีคนหนุ่มสาวเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งหลวงปู่ท่านก็ชรามาก ท่านก็ไม่ใคร่เทศน์ ไม่ใคร่สอนเหมือนเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
แม่ชีสูงอายุตอบข้าพเจ้าว่า "ชั้นไปถามดูแล้ว หลวงปู่บอกว่า ทำไปเท้อ..แล้วจะรู้เองเห็นเองแล้..ชั้นก็มานั่งภาวนาอยู่เรื่อย ก็ยังไม่รู้ จนเดี๋ยวนี้ว่าอะไรมันเกิด คุณเป็นนักปฏิบัติ ช่วยบอกชั้นทีเถอะว่า
อะไรมันเกิด" ก่อนจะกล่าวคำพูดแสดงข้อวินิจฉัย ข้าพเจ้าก็พูดกับแม่ชีสูงอายุท่านนั้นว่า
"คุณป้าภาวนาแล้วยังไม่ทราบ ปัญญายังไม่เกิด เพราะยังกำหนดไม่ถูกที่น่ะค่ะ ใช้ภาวนาอย่างเดียวไม่พอ คุณป้าต้องนึกลงที่ตรงศูนย์กลางกายด้วย" ว่าแล้วข้าพเจ้าก็อธิบายเรื่องศูนย์กลางกายให้อีกฝ่ายฟัง แล้วกล่าวต่อไปว่า
"ตรงศูนย์กลางกายเนี่ย คุณป้าภาวนาแล้วกำหนดนิมิต เรื่อยๆ ไป จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ เคยใช้พุทโธก็พุทโธน่ะแหละค่ะ แต่ต้องไม่ลืมนึกให้เห็นนิมิตที่ศูนย์กลางกาย คุณป้าจะได้เห็นกายข้างในเรื่อยเข้าไป อีกหลายกายค่ะ กายเหล่านี้เองเป็นคนพูดสอนคุณป้าในคืนวันที่คุณป้าป่วยหนัก ทั้งพูดสอน ทั้งสามารถเห็นภาพร่างกายที่ใกล้ตายของกายเนื้อได้ด้วย อาการตอนนั้นมันเป็นอย่างที่คนโบราณเรียกว่าไฟธาตุกำลังจะแตกไงคะ มันร้อนทุรนทุราย จนร่างกายคุมกันไม่ติดแล้ว ตาข้างในของคุณป้า จึงสามารถมองเห็นร่าง
ที่กำลังแยกจากกันบ้าง กำลังละลายอยู่บ้าง แต่พอคุณป้าตั้งใจภาวนาเต็มที่ อำนาจกุศลจิตจากการภาวนา
ช่วยปรับ ภาพธาตุที่กำลังจะแตกอยู่แล้วนั้น ให้ตั้งธาตุขึ้นมาได้ใหม่ ร่างกายจึงกลับเข้าสู่สภาพเดิม ใจรักษาโรคได้อย่างนี้ อำนาจสมาธิจิต เนี่ยมีอานุภาพออกค่ะ
สมัยก่อนหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านมีชีวิตอยู่ รับรักษาคนป่วย ท่านก็ใช้อำนาจสมาธินี้แหละค่ะ"
ข้าพเจ้าอธิบายเสียยืดยาวเสียงจ้อย นึกได้อย่างนั้นก็อธิบายอย่างนั้น ยังพูดแถมต่อท้ายอีกว่า
"คุณป้าปฏิบัติต่อไปตามที่ว่านี่นะคะ พอเห็นกายข้างในเรื่อยเข้าไปจนถึงกายธรรม ทีนี้คุณป้า สงสัยเรื่องอะไร ถามที่กายธรรมเป็นรู้เรื่องหมด หลวงปู่ท่านจึงบอกคุณป้าว่า ทำไปเท้อ.. แล้วจะรู้เห็นเอง..
เป็นอย่างนี้แหละค่ะ แต่หลวงปู่ไม่อธิบายว่าอะไรเป็นอะไร เหมือนที่ดิชั้นอธิบายนี่ค่ะ"
คุณยายชีท่านนั้นดูดีอกดีใจที่ทราบว่า ผลการปฏิบัติธรรมของท่านไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเพ้อเจ้อสามารถเกิดตาทิพย์เห็นได้เอง ท่านรับว่า ท่านจะพยายามภาวนาของท่านให้เข้มแข็งต่อไป
"ชั้นรู้แล้ว เวลาเราจะตาย มันไม่มีที่พึ่งจริงๆ นะคุณนะ แต่ถ้าเราภาวนาเป็น เราก็พอช่วยเหลือตนเองได้"
ข้าพเจ้ารับคำและพูดให้กำลังใจท่านเพิ่มขึ้นตามสมควรว่า ที่จริงแล้วท่านผู้เฒ่านั่นเองเป็นฝ่ายให้กำลังใจข้าพเจ้าไม่น้อย ขนาดท่านทำกรรมฐานด้วยตนเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ อ่านจากหนังสือบ้าง ฟังจาก
วิทยุบ้าง หัดทำเองเรื่อยมา ยังได้รับผลที่ตนเองทราบเอง ตามที่เล่าให้ข้าพเจ้าฟัง ก็ตัวข้าพเจ้าเล่า ครูบาอาจารย์มี เพื่อนกัลยาณมิตรมี เราต้องปฏิบัติให้เข้มแข็งยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าได้กำลังใจอย่างนี้ ก่อนลากลับ
ข้าพเจ้าถามถึงความเป็นอยู่ของท่าน ท่านว่าลูกให้เงินท่านใช้เดือนละ ๒๐๐ บาท ท่านก็ได้ใช้ซื้อผักซื้อปลาทำน้ำพริกเสริมให้พระภิกษุสามเณรได้ฉันกันอยู่เสมอ ข้าพเจ้าหยิบเงินทำบุญ กับท่านด้วย ๑๐๐ บาท พอดีสมาชิกที่เดินทางมากับข้าพเจ้ารับประทานอาหารเสร็จเดินมาตาม ทราบเรื่องเข้าจึงทำบุญกับคุณยายท่านนั้นเพิ่มเติม ทั้งยังชวนกันซักถามประวัติบางส่วนของท่านก่อนมาบวช
ได้รับคำบอกเล่าว่า เมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ท่านเบื่อชีวิตในครอบครัวที่มีลูกหลานอยู่กันเต็มบ้าน รู้สึกไม่สงบ ท่านจึงเดินทางมาที่นี่ ขอท่านสมภารอยู่ด้วย และไม่ยอมกลับไปอยู่บ้านอีกเลย มีความพอใจ
ที่จะอยู่ตามลำพังอย่างนี้ เป็นชีวิตที่สงบสบาย ทั้งยังบอกด้วยว่า
"ถ้าพวกคุณๆ มีกำลังมาช่วยท่านสมภารทำหอฉันนั่นให้เสร็จหน่อยก็ดีนะคะ"
คนมีสัมมาทิฏฐิ ย่อมรู้ว่าเนกขัมมะเป็นสิ่งมีประโยชน์ ก็ดำริออกจากบ้านเรือนมาบำเพ็ญประโยชน์ตนเต็มที่ และยังช่วยเหลือดูแลงานศาสนา กวาดลานวัด ทำความสะอาดส้วมวัดที่ผู้คนมาใช้ ทั้งที่
อายุมากถึง ๘๕ ปี พูดจาล้วนแต่เรื่องธรรมะและชวนผู้คนทำทาน รักษาศีล เป็นสัมมาวาจา ความประพฤติและกิจวัตรประจำวันของท่าน เป็นสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะอยู่แล้ว ยังประกอบพร้อมด้วยความเพียรสัมมาสติและสัมมาสมาธิอยู่ทุกเวลา ท่านเป็นผู้เฒ่าที่แก่ด้วยบุญ ด้วยบารมีแท้จริง ไม่ใช่แก่ด้วยแดดด้วยลมเหมือนคนแก่อีกจำนวนมากมาย ยิ่งแก่ยิ่งบ่นยิ่งเลอะเลือน กลายเป็นแก่เปล่าตายเปล่า
ยังมีเรื่องแถมตอนท้ายอีกเล็กน้อย ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจะเดินทางมาขึ้นรถกลับ ข้าพเจ้าได้ยินเสียงเรียกว่า "โยมพี่ โยมพี่ มางานนี้ด้วยหรือ"
หันหน้าไปตามเสียง เวลานั้นโพล้เพล้แล้ว อาศัยแสงไฟฟ้าที่ส่องมา ข้าพเจ้าเห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง อายุเกือบ ๕๐ ปี ยืนยิ้มเผล่ ฟันข้างหน้า หักไปซี่หนึ่ง ข้าพเจ้ากระพุ่มมือไหว้และสนทนากับท่าน ตามมารยาทอันควร แต่นึกไม่ออกว่าเคยรู้จักท่านมาจากที่ไหน ครั้นพอท่านขอตัวหยิบไฟฉายจะไปดูแลเครื่องไฟฟ้าบางชิ้นที่ใช้งานไม่ได้ เดินคล้อยหลังไปเท่านั้น ข้าพเจ้าก็นึกออก
เวลานึกอะไรไม่ออก ข้าพเจ้าจะทำดังนี้จนเคยชิน คือใช้ใจ(กระโดด) ปุ๊บเข้าข้างในทันที เห็นอะไรไม่เห็นอะไร วิ่งจี๋เข้าไปก่อน แล้วในที่สุดมักจะนึกออก ในกรณีนี้ก็ทำตามที่เคยทำ พอเหมือนเอาจิตสัมผัส ตรงจุดศูนย์กลางกายเท่านั้น ยังกับมีเสียงตะโกนออกมาว่า "พระทิ้งไงเล่า พระทิ้งไงเล่า"
เท่านั้นเองข้าพเจ้าก็นึกออกจนหมด แต่เดิมพระภิกษุรูปนี้ เมื่อยังไม่บวช มีชื่อว่า นายทิ้ง เป็นคนจากอำเภออื่นมาแต่งงานกับลูกสาวของเพื่อนบ้านบิดาข้าพเจ้า นายทิ้งมีอาชีพรับจ้างอยู่ในโรงงานทำเขียงขาย มีรายได้เป็นรายเดือน แต่มักไม่ใคร่เหลือกลับบ้าน หมดไปด้วยการดื่มสุราเป็นประจำ ท้ายที่สุดภรรยาทนไม่ไหว ทะเลาะวิวาทกันรุนแรง และภรรยาก็ไล่นายทิ้งออกจากบ้าน
สมัยยังอยู่กับภรรยา ข้าพเจ้ายังเคยพบนายทิ้งบ่อยๆ ในลักษณะนอนอยู่กับพื้นดิน ตามกอหญ้าบ้าง ริมตลิ่งท่าน้ำบ้างสุนัขจะเลียหน้า ยุงจะกัดเต็มตัว ไม่รู้เรื่อง ดูจะเป็นคนเมาขนาดหนักของตำบล แทนนายแป๊ะ (จากเรื่องทาสน้ำเมา ในจากความทรงจำฉบับรวมเล่มเล่มที่ ๒ ) ลูกศิษย์คนหนึ่งของบิดาข้าพเจ้า ซึ่งเมาจนถูกฆ่าตายไปแล้ว
แต่รายหลังนี้เมาดีหน่อย เมาเงียบ ไม่เอะอะอาละวาดเหมือนรายที่ตาย พอนึกได้ว่าพระภิกษุรูปนั้นเป็นใคร ถามผู้คนที่รู้จักก็ได้รับคำยืนยันว่าใช่ เป็นพระทิ้งจริงๆ บวชมาหลายพรรษาแล้ว เป็นกำลังงานชั้นดีให้ท่านสมภาร ช่วยงานวัดขยันขันแข็งทุกรูปแบบ ไม่เหลือคราบเก่าของนักเลงสุราอยู่เลย ก็ให้รู้สึกดีใจ
ขึ้นนั่งบนรถ คนขับก็สต๊าร์ทรถออกมาได้ประมาณ ๕๐ เมตร ข้าพเจ้าเห็นพระทิ้งรูปนั้นเดินอยู่ไม่ไกลจากรถนัก คงจะซ่อมเครื่องไฟฟ้าเสร็จ เตรียมเดินกลับกุฏิ ข้าพเจ้าอยากถวายปัจจัยท่านสัก ๑๐๐ บาท
เมื่อคนในรถทราบเรื่องก็สมทบกับข้าพเจ้าอีก ๑๐๐ บาท แล้วรับอาสาวิ่งไปถวาย
เมื่อกลับมา คนถวายบอกกับข้าพเจ้าว่า "บอกกับพระท่านไปว่า แม่ชีถวิลให้มาถวาย แสดงความยินดีต่อท่านที่อดเหล้าได้" คนบอกก็บอกเสียเกินสั่ง แต่อย่างไรก็ตามทำให้ข้าพเจ้านึกถึงคำว่า
สีเลนะ โภคะสัมปะทา "ศีลนำโภคทรัพย์มาให้"
เพราะเลิกเป็นคนขี้เมา มาถือศีลชนิดอุดมศีล คือศีลของพระภิกษุ เพียงเห็นหน้าก็ทำให้ข้าพเจ้าอยากถวายเงินท่าน คำที่พระกล่าวอานิสงส์ของการรักษาศีลเป็นสัจจะจริงแท้
พระทิ้งหรือแต่เดิมคือนายทิ้ง ถูกภรรยาทอดทิ้ง มีความคิดเห็นถูกว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ความดำริก็ถูกตามมา คือคิดออกจากกามคือความทุกข์ แทนที่จะคิดมีเมียใหม่ กลับคิดบวชเป็นพระ พอเป็นพระภิกษุ สัมมาวาจาก็ทำได้ สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะทำได้หมด เพราะมีศีลบังคับอยู่ ยังมาช่วยงานของวัดให้เป็นไวยาวัจมัยกุศลเพิ่มเติม มีความเพียรถูก มีสติ มีสมาธิถูกตามไปหมด เรียกว่าท่านเปลี่ยนจากทางเดินสายมืด สนิท มาเป็นทางสว่างโดยแท้ แม้จะเป็นการปฏิบัติมรรค ๘ ที่ยังมีกำลังอ่อน แต่เมื่อพากเพียรทำอยู่ไม่เลิกลา วันหนึ่งก็จะแก่กล้าเป็นบารมีขึ้นมาแน่นอน ข้าพเจ้าขออนุโมทนาต่อพระภิกษุรูปนี้ ด้วยจริงใจ
Cr.อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม๔