คำพ่อ คำเเม่
ตอน ความเกรงใจ
ลูกรัก...
เมื่อลูกจะทำอะไร ไม่ว่าจะทำในบ้านตัวเองหรือทำที่ไหนก็ตาม ถ้าสิ่งที่จะทำนั้นอาจไปทำให้คนข้างเคียงเดือดร้อนรำคาญ หรือไปรบกวนคนอื่น ลูกต้องระวังให้มาก อย่าทำอะไรตามใจชอบหรือถือสิทธิ์ว่าทำได้ ควรเกรงใจคนอื่นเขาบ้าง อยู่บ้านติดกัน อยู่ห้องติดกัน อยู่ห้องเดียวกัน เกรงใจกันไว้แหละที่จะได้
ไม่ทะเลาะกัน ไม่ทำให้ผิดใจกันเสียเปล่าๆ สร้างมิตรดีกว่าสร้างศัตรู
หากจำเป็นจะต้องทำ ก็ควรบอกให้เขารู้ล่วงหน้า หรือขออนุญาตเขายิ่งดี ไม่เสียหายอะไรหรอก
เมื่อเราเกรงใจเขา เขาก็จะเกรงใจเรา ยินดีอนุญาตและทนรำคาญหรือทนเดือดร้อนชั่วคราวได้
ข้อนี้ขอให้ลูกเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้สึกถึงอกเขาอกเราด้วย อย่าทำอะไรตามใจชอบ ขอให้ลูกจำไว้เถิดว่า ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี เป็นยาเสน่ห์ เป็นมารยาทสังคม และทำให้ไม่ต้องผิดใจกับใครโดยไม่จำเป็นด้วย
ยกตัวอย่างเช่น อยู่ในห้องประชุม คนอื่นเขาตั้งใจฟัง เเต่เราเอาแต่คุยเสียงดัง ทำให้คนอื่นรำคาญหนวกหู เราประกอบอาชีพหรือซ่อมแซมอะไรที่ส่งเสียงรบกวนเพื่อนบ้านหรือห้องข้างเคียง ทำให้เขาเดือดร้อน อย่างนี้เราต้องเกรงใจ ต้องบอกเขาบ้าง
ถ้าจะต้องทำนานๆ ก็ต้องเกรงใจเขาให้มากๆ อย่างนี้จะไม่มีเรื่องอะไรมาก อย่าไปคิดแบบนักเลงว่ามีเรื่องก็ดี ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดของคนเห็นแก่ได้เห็นแก่ตัว ไม่นึกถึงหัวอกคนอื่น ลูกอย่าได้คิดอย่างนี้เลย มันเป็นเรื่องน่าละอายมากกว่า
พระมหาโพธิวงศาจารย์
(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต)