อินทรสังเวช (ตอนที่ 8)
เนื่องจากสมเด็จพระอมรินทราธิราช มักเสด็จนำเทพบริวาร มาสดับพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เสมอ คราวหนึ่งเมื่อทรงฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว ก็ทรงแสดงพระอาการชื่นชมยินดีในพุทธกถา ทรงถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วรีบเสด็จกลับไป พระโมคคัลลานมหาเถระเจ้า องค์อัครสาวกเบื้องซ้ายผู้ทรงฤทธิ์แห่งสมเด็จพระทศพล ได้เห็นอาการเร่งรีบของท้าวสักกะดังนั้น จึงมีดำริว่า
“ท้าวสักกะเทวราช ทรงเข้าพระทัยเนื้อความพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระบรมครูเจ้า แล้วทรงแสดงอาการชื่นชมยินดี หรือว่าสักแต่ว่าแสดงความชื่นชมยินดี โดยไม่ทรงเข้าพระทัยถึงอรรถธรรมเลย”
เมื่อดำริดังนั้นแล้วก็เหาะไปด้วยอริยฤทธิ์เพื่อพิสูจน์ความจริง จึงไปปรากฏบนดาวดึงสพิภพในชั่วพริบตา เข้าไปหาท้าวสักกะจอมเทพ ขณะนั้นท้าวสักกะมีพระทัยเอิบอิ่มเบิกบานไปด้วยความสุข เพราะเสียงทิพยดนตรีที่เหล่าเทพนารีทั้งหลายบรรเลงบำเรออยู่ เมื่อท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นพระเถระผู้เป็นเจ้า จึงทรงให้หยุดการบรรเลงทิพยดนตรีนั้นเสีย แล้วเสด็จออกมาทรงต้อนรับพระมหาเถระเจ้า ตรัสขึ้นว่า
“ข้าแต่พระโมคคัลลานะผู้นฤทุกข์1 นิมนต์มาเถิด พระผู้เป็นเจ้ามาก็ดีแล้ว นานแล้วที่พระผู้เป็นเจ้าทำปริยายเพื่อจะมาที่นี่ นิมนต์นั่งเถิด อาสนะนี้แต่งตั้งไว้เพื่อพระผู้เป็นเจ้า”
พระโมคคัลลานะมหาเถระเจ้า นั่งบนอาสนะตามพระดำรัส แห่งท้าวสักกะเทวราช แล้วจึงมีเถรวาจาไต่ถามว่า
“ขอถวายพระพรมหาบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามถึงความน้อมไปในธรรม2 ความสิ้นไปแห่งตัณหา แก่มหาบพิตรเมื่อสักครู่นี้ ความว่าอย่างไร ขอโอกาสเถิด ตัวอาตมาภาพจักใคร่ขอมีส่วนเพื่อรู้ธรรมกถาที่มหาบพิตรได้สดับมานั้นบ้าง พระองค์จะยังพอกล่าวให้อาตมาภาพรู้บ้างหรือไม่?”
ท้าวสหัสนัยน์ทรงจำธรรมกถามิใคร่จะได้ จึงทรงสารภาพตามตรงว่า
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมนี้มีกิจมาก มีภารธุระต้องทำเป็นอันมาก ไหนจะธุระส่วนตัวของโยม ไหนจะธุระของพวกเทพยดาบนดาวดึงส์นี้3 ธรรมกถาที่ฟังแล้วก็มักจะหลงๆ ลืมๆ เสียเร็วพลัน ก็ภาษิตธรรมกถานั้น พระผู้เป็นเจ้าก็ฟังดีแล้ว ทำไว้ในใจดีแล้ว จะกลับมาถามโยมผู้มีสติปัญญาน้อยไปทำไม ข้าแต่พระโมคคัลลานะผู้เป็นเจ้า เรามาปราศรัยกันถึงเรื่องอื่นจะดีกว่า”
แล้วองค์อัมรินทราเทวาธิราช ก็ตรัสเล่าถึงสงครามระหว่างเทวดากับอสูร อันเทวดาเป็นฝ่ายชนะ การสร้างทิพยวิมานทิพยปราสาท ในเทพนครแห่งนี้ แล้วตรัสชวนพระเถระเจ้าไปเพื่อทัศนา
พระมหาเถระเจ้าก็รับโดยอาการดุษณี ท้าวสักกะพร้อมด้วยท้าวเวสสุวัณมหาราช4 ซึ่งนั่งในที่นั้นด้วย ก็นิมนต์พระมหาเถระเสด็จพาไปชมไพชยนตปราสาทอันงดงามน่ารื่นรมย์ ขณะที่กำลังพาชมไพชยนตปราสาทอยู่นั้น ท้าวสักกะก็ตรัสบอกด้วยความกระหยิ่มในพระทัยมิได้ขาดระยะว่า
“ข้าแต่พระโมคคัลลานะผู้เป็นเจ้า ขอพระเป็นเจ้าจงดูสถานที่รื่นรมย์แห่งไพชยนตปราสาทนี้”
“ดูก่อนมหาบพิตร ไพชยนตปราสาทของท่านย่อมงดงาม เหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อน แม้ผู้ได้ชมทั้งหลายเห็นสถานที่รื่นรมย์ไหน ๆ เข้าแล้วก็กล่าวกันว่างามจริง ดุจดังสถานที่ของพวกเทวดาบนชั้นดาวดึงส์”
เมื่อเที่ยวชมไปจนทั่วโดยมีองค์สมเด็จพระอมรินทราธิราชเป็นผู้ชี้ชวนชม อธิบายความวิเศษแห่งปราสาทอยู่มิขาดปาก ด้วยความภาคภูมิใจเป็นหนักหนา ครานั้นองค์อรหันต์ผู้เป็นเจ้าจึงมีดำริว่า
“ท้าวสักกะผู้นี้ เป็นผู้มีความประมาทอยู่มากนัก ด้วยความรักใคร่พอใจในไพชยนตปราสาทอันเป็นของตน ถ้ากระไร ในบัดนี้เราควรจะให้ท้าวสักกะบังเกิดความสังเวชบ้างเถิด”
ดำริแล้ว พุทธอัครสาวกเบื้องซ้ายก็บันดาลอิทธาภิสังขาร เอานิ้วหัวแม่เท้ากดไพชยนตปราสาทเขย่าให้สะท้านหวั่นไหวเป็นที่มหัศจรรย์ ท้าวสักกะเจ้าของปราสาทพิมานและท้าวเวสสุวัณมหาราช พร้อมทั้งเทพยดาชาวดาวดึงส์ เมื่อเห็นไพชยนตปราสาทอันใหญ่โต บังเกิดความหวั่นไหวด้วยอำนาจฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าเช่นนั้น ก็เกิดความประหลาดใจ กล่าวแก่กันว่า
“นี่เป็นความประหลาดมหัศจรรย์ พระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเจ้า มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพียงเอาหัวแม่เท้ากดเท่านั้น ปราสาททิพยวิมานก็สะท้านหวั่นไหวได้ โอ! ไพชยนตปราสาทตกอยู่ในความแปรปรวน ไม่วิเศษยั่งยืนหนอ”
ครั้นเห็นท้าวสักกะ มีความสลดจิต ขนลุก เกิดความสังเวช สมเจตนาแล้ว องค์อรหันต์เป็นเจ้าก็เริ่มกล่าวธรรมกถาว่า
“ขอถวายพระพรมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า สุขอื่นอันเป็นโลกียสุข สมบัติอื่นอันเป็นโลกียสมบัติ ไม่มีความเที่ยงแท้ถาวร สิ่งทั้งปวงที่มีความเกิดเป็นเบื้องต้น ย่อมมีความเสื่อมความดับเป็น ปริโยสานจะมีความคงทนถาวรนั้นหามิได้
มหาบพิตร! พระองค์ทรงยึดเอาว่าทิพยสุข ทิพยสมบัติของพระองค์นี้เป็นสิ่งมั่นคง ลุ่มหลงเอาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสุขที่จีรัง ย่อมถึงความประมาท ไม่เข้าถึงสภาวธรรมตามความเป็นจริง มหาบพิตร! อย่าว่าแต่ ทิพยสมบัติแห่งดาวดึงสพิภพ หรือแม้สวรรค์ชั้นอื่น ๆ ในฉกามาวจร5 นี้เลย แม้พรหมสมบัติในพรหมภูมิทั้งสอง6” ก็มิได้มีความเที่ยงแท้แน่นอน ย่อมถึงแก่ความเสื่อมความดับทั้งสิ้น โดยเหตุที่สิ่งเหล่านี้มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมมีความดับเป็นธรรมดา
พระเถระกล่าวแล้วนิ่ง เป็นเชิงให้โอกาสแก่ปวงเทพจะได้ถามปัญหา ท้าวสักกะตรัสว่า
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมได้ฟังธรรมกถาของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ให้รู้สึกสลดหดหู่ใจเหลือประมาณ ทิพยสมบัติของโยม ที่โยมเคยคิดว่า จะได้เสวยทิพยสุขต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดก็ไม่เที่ยง มีวันวิบัติ แม้สวรรค์อื่นก็ไม่เที่ยง แม้พรหมพิภพก็ไม่เที่ยง ก็แล้วจะยังมีอะไร เที่ยงอยู่เล่าพระเจ้าข้า?”
“ธรรมเป็นของเที่ยง”
“อะไรคือธรรมพระเจ้าข้า”
“สิ่งไม่เกิดไม่ตายคือธรรม ความจริงคือธรรม สัจจะคือธรรม พระผู้มีพระภาคได้ทรงค้นพบแล้ว ที่เรียกว่าอริยสัจจ์ มีอยู่ ๔ ประการ ดังมหาบพิตรเองก็ทรงทราบอยู่แล้ว ขอถวายพระพร”
“ได้โปรดเทศนาแก่โยมอีกสักครั้ง พอได้เป็นสติพิจารณาเถิดพระเจ้าข้า”
“พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า สิ่งไม่เที่ยงทั้งปวงนี้เป็นทุกข์ ทุกข์ ทั้งปวงนี้เกิดแต่เหตุ พระองค์ได้ทรงสอนถึงเหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางแห่งความดับทุกข์นั้น เมื่อใด ชนใดได้ถึงอริยสัจจ์ ๔ ย่อมถึงซึ่งความนฤทุกข์”
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สิ่งทั้งปวงแม้เป็นสิ่งไม่เที่ยงก็ดี ย่อมยังสุขให้แก่ปวงชนได้ เช่นกับที่โยมย่อมได้ความสุขจากทิพยสมบัติที่มีอยู่ ถ้าปราศจากสมบัติเหล่านี้ โยมจักยังชีพได้ฉันใด?”
“มหาบพิตร พระองค์ทรงหลงยึดว่าความคลายทุกข์ชั่วคราวนี้เป็นความสุข ถ้าสิ่งเหล่านี้ให้ความสุขแก่พระองค์อย่างแท้จริง ไฉนพระองค์จะต้องมีห่วงมีกังวลถึงมัน จนมิอาจตั้งพระทัยตั้งพระสติพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระบรมครูเจ้า และเมื่อทรงสดับพระธรรมนั้นแล้ว แม้จะยังไม่เข้าใจแจ่มชัด ก็มิได้มีเวลาตริตรองซักถามให้แจ่มแจ้ง ต้องรีบเสด็จกลับทิพยวิมาน เพราะทรงอนุสรณ์ถึงเสียงดนตรีทิพย์ และบำเรอแห่งบาทบริจาริกาของพระองค์ เมื่ออาตมภาพ ถามถึงเนื้อธรรม พระองค์ก็มิสามารถทรงจำไว้ได้ แม้เพียงบาทพระคาถาเดียว นี้เป็นเพราะอะไรหรือ ขอถวายพระพร”
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าความสุขเช่นนี้ไม่เป็นความสุขที่พึงปรารถนา อย่างไรจึงจะเรียกว่าความสุขพระเจ้าข้า?
“อะไรก็ตามที่ให้ศานติในใจแก่เรา ทำให้เราเย็นใจ ไม่มีวิตก ไม่มีกังวล ไม่มีความสงสัย ไม่มีความอาลัย เรียกว่าความสุข”
“สุขอย่างนี้จะมีอยู่ที่ใดเล่าพระเจ้าข้า?”
“มีอยู่ทั่วไปมหาบพิตร”
“ทำอย่างไรจะพบได้พระเจ้าข้า”
“เมื่อสิ้นความทุกข์ ขอถวายพระพร”
“ทำอย่างไรจึงจะสิ้นความทุกข์ได้เล่าพระเจ้าข้า?”
“ก็ต้องรู้จักความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ วิธีดับทุกข์ ขอถวายพระพร”
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อย่างไรเล่าที่เรียกว่าทุกข์”
“ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความร้อนใจ ความห่วง ความกังวล ความเปลี่ยนแปลงอารมณ์ ความรู้สึกรับรู้อารมณ์ ความไม่ปกติทั้งปวง คือความทุกข์ ขอถวายพระพร”
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์นี้”
“เหตุแห่งทุกข์นี้มีอยู่สิบสองประการ อันเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน เกี่ยวเนื่องกันดุจลูกโซ่ มีอวิชชา เป็นต้น มีความแก่ ความตาย ความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพันเป็นประการที่สุด ท่านเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท7
“อะไรคือความดับทุกข์พระเจ้าข้า?”
“ทำอวิชชาให้สิ้นไป เมื่อไม่มีอวิชชา ตัณหาอุปาทาน ภพชาติก็ไม่มี เพราะได้ตัดโซ่แห่งปฏิจจสมุปบาทให้ขาดออกจากกัน ย่อมหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ถึงพระนิพพาน คือความไม่เกิดไม่ดับ ขอถวายพระพร ”
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้เล่าพระเจ้าข้า?”
“ดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ขอถวายพระพร”
“เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า”
“จะต้องต้องมี ๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ
๗. สัมมาสติ ตั้งสติชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
นี่คือทาง ๘ ประการอันเป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน ขอถวายพระพร”
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทางทั้งแปดนี้ เมื่อโยมได้พิจารณาแล้ว ก็เห็นว่า โยมมิได้มีบกพร่องประการหนึ่งประการใดเลย ไฉนโยมจึงไปยัง ไม่ถึงเล่าพระเจ้าข้า?”
“มหาบพิตร! การปฏิบัติตามทางทั้ง ๘ มีหยาบ มีละเอียด มีลึก มีตื้น ต่างกันตามภูมิปัญญาของแต่ละบุคคล มหาบพิตรตรัสว่า มหาบพิตร ได้กระทำชอบแล้วทั้งแปดประการ แท้จริง แม้ประการแรก มหาบพิตรก็บกพร่องเสียแล้ว ขอถวายพระพร”
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมบกพร่องอย่างไรหรือพระเจ้าข้า?” อมรินทราธิราชตรัสถามด้วยความฉงนพระทัย
“บกพร่องสิมหาบพิตร ก็มหาบพิตรมีความเห็นถูกต้องแล้ว หรือว่า สังสารวัฏนี้เป็นทุกข์”
“ยังพระเจ้าข้า พระผู้เป็นเจ้า”
“ถ้าเช่นนั้นจะว่ามีความเห็นชอบ มีความถูกได้อย่างไร เมื่อความเห็นไม่ชอบ จะดำริชอบได้อย่างไร จะมีวาจาชอบได้อย่างไร จะมีการงานชอบได้อย่างไร จะเลี้ยงชีพชอบได้อย่างไร จะพยายามชอบได้
อย่างไร จะตั้งสติชอบได้อย่างไร จะตั้งใจชอบได้อย่างไร?”
“เกี่ยวกันด้วยหรือพระเจ้าข้า พระผู้เป็นเจ้า”
“เกี่ยวสิมหาบพิตร ถ้ามหาบพิตรไม่เห็นว่าสังสารวัฏนี้เป็นทุกข์ จะคิดออกจากสังสารวัฏนี้หรือ ถ้าไม่คิดออกจากสังสารวัฏนี้ คำพูดของพระองค์จะเป็นไปเพื่อการออกจากสังสารทุกข์นี้หรือ จะกระทำเพื่อ
ออกจากสังสารทุกข์นี้หรือ จะดำรงชีวิตเพื่อออกจากสังสารทุกข์นี้หรือ จะพยายามเพื่อความดับทุกข์ นี้หรือ จะมีสติระลึกถึงความพ้นทุกข์นี้หรือ จะตั้งใจบำเพ็ญเพื่อความพ้นทุกข์หรือ?
“ไม่เป็นไปเช่นนั้นพระเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้นพระองค์จะทรงไปถึงปลายทางได้อย่างไร ด้วยเหตุที่ความเห็นชอบนี้แล เป็นประการสำคัญเบื้องต้นในอันที่จะบรรลุนิพพาน ท่านจึงได้จัดไว้เป็นประการแรก ที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น และแม้มีความเห็นชอบแต่ไม่คิดจะกระทำ ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ท่านจึงได้จัดความคิดชอบไว้เป็นอันดับต่อมา เพื่อประคองใจให้ดำเนินไปตามทางทั้ง ๘ ได้ตลอด”
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อมีความเห็นชอบ มีความดำริชอบแล้ว จะทำอย่างไรต่อไปอีก จึงจะชื่อว่ามีการกระทำหรือมีความพยายามเพื่อ ออกจากกองทุกข์?”
“เมื่อทรงเห็นแล้วว่า โลกนี้เป็นความทุกข์ ก็พิจารณาด้วยความเพียรอย่างยิ่งให้เห็นความไม่เที่ยงของโลก อันมีตัวตนของเรานี้เป็นศูนย์กลาง พิจารณาจากตัวเรานี้ว่า ไม่เที่ยงอย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร
เมื่อเห็นจริงแล้ว ย่อมหน่ายต่อความไม่เที่ยงนี้ ทำให้คลายจากความยึดมั่น ถือมั่นในตัวตน สิ้นอวิชชา อันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน ถึงแสงสว่างแห่งปัญญา บรรลุพระนิพพานในที่สุด”
“ข้าแต่พระผู้มีพระอาสวอันสิ้นแล้ว ธรรมีกถาของท่านแจ่มแจ้งลึกซึ้งยิ่งนัก”
เทพทั้งปวงแซ่ซร้องสาธุการด้วยความปีติยิ่ง ผู้ที่ได้ตั้งใจพิจารณาไปตามกระแสธรรมต่างได้บรรลุภูมิธรรมขั้นต่าง ๆ ตามวาสนาของตนๆ นั้น.
---------------------------------- เชิงอรรถอ้างอิง ----------------------------------
1 ผู้ไม่มีทุกข์ ใช้เรียกพระอรหันต์ผู้ปราศจากกิเลสตัณหาแล้ว ตามคติพุทธถือว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะเป็นของไม่เที่ยง เปลี่ยนแปรไปเสมอ มนุษย์เมื่อยังมีกิเลสตัณหาอยู่ ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารทุกข์นี้ แต่พระอรหันต์เป็นผู้ล่วงพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว เพราะหมดกิเลสอันเป็นปัจจัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
2 ธรรมคือความรู้ ธรรมคือความจริง ธรรมคือสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน หรือเป็นกฏธรรมดาธรรมชาติ ที่ไม่อาจฝ่าฝืนได้ การน้อมไปในธรรม ก็คือการพิจารณาให้เห็นทุกสิ่งตามสภาพความเป็นจริง หมายถึงการเห็นทุกข์นั่นเอง
3 ที่ว่าพระอินทร์มีธุระกับเทพยดาอื่น ๆ ก็เพราะว่าต้องคอยตัดสินคดีให้เทพทั้งปวง คือธรรมดาเทพเกิดแบบ
โอปปาติกะ เกิดแล้วโตเลย เทพที่มีบุญพอก็มีทิพยวิมาน และเทพบริวารไว้คอยท่า แต่เทพที่ไม่มีบุญพอจะไม่มีทิพยวิมานของตนเอง ก็ต้องไปเป็นบริวาร ของเทพที่มีวิมานของตน โดยถือว่า ถ้าไปอุบัติในบริเวณวิมานของผู้ใดก็ต้องเป็นบริวารของผู้นั้น โดยเฉพาะเทพธิดา ถ้าอุบัติบนแท่นบรรทมก็เพื่อเป็นบริจาริกา ถ้าอุบัติใกล้แท่นบรรทมก็เป็นผู้คอยรับใช้ต่างๆ ถ้าอุบัติขึ้นบนตักก็อยู่ในฐานะบุตรหรือธิดาของเทพนั้น
แต่กรณีที่เทพนั้น ๆ ไม่ได้เกิดในวิมานของเทพใดก็ให้ถือเอาความใกล้กับเทพวิมานเป็นเกณฑ์ อยู่ใกล้วิมานของผู้ใดก็เป็นบริวารของผู้นั้น แต่ถ้าเกิดระหว่างกลาง ก็ให้ดูว่าหันหน้าไปทางวิมานของเทพองค์ใด ก็ให้เป็นบริวารของผู้นั้น แต่จะมีบางคนอุบัติขึ้นมา อยู่ระหว่างกลางและไม่หันหน้าไปทางใดเลย เทพมเหศักดิ์ที่ใหญ่ที่สุดในสวรรค์ คือพระอินทร์ก็จะรับเอาเป็นบริวารของพระองค์เอง เพื่อป้องกันความยุ่งยาก
พระอินทร์จึงต้องวุ่นวายกับเทวดาอื่นดังกล่าวแล้วนี้
4 เป็นเทพมเหศักดิ์ในชั้นจาตุมหาราชิก อันมีอยู่ ๔ องค์ประจำทิศ ๔ ทิศ เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า จาตุโลกบาล มีธตรฐมหาราช วิรุฬหกมหาราช วิรูปักษ์มหาราช เเละ เวสสุวัณมหาราช
5“สวรรค์หกชั้นที่ยังมีความเกี่ยวข้องกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มีจาตุมหาราชิกาสวรรค์ ดาวดึงส์สวรรค์ ยามาสวรรค์ ดุสิตสวรรค์ นิมมานนรดีสวรรค์ ปรนิมมิตสวัตดีสวรรค์
6พรหมภูมิ แบ่งเป็น ๒ คือรูปพรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น
7 อวิชชา => สังขาร => วิญญาณ => นามรูป => อายตนะหก => ผัสสะ => เวทนา => ตัณหา => อุปาทาน => ภพ => ชาติ => ชรา, มรณะ, โศก, ปริเทว, โทมนัส, อุปายาส
8 “ พระอริยะบุคคลในพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๔ ขั้นคือพระโสดาบัน, สกิทาคามี,อนาคามีและพระอรหันต์
(๑) พระโสดาบัน ผู้ถึงกระแสคือเข้าสู่มรรค เดินทางถูกต้องอย่างแท้จริง หรือปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคอย่างแท้จริง เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีลทำได้ พอประมาณ ในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาและ สีลัพพตปรามาส
(๒) พระสกิทาคามี ผู้กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวก็จะกำจัดทุกข์ได้สิ้น เป็นผู้ทำบริบูรณ์ได้ขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา นอกจากละสังโยชน์ ๓ ขั้นต้นได้แล้ว ยังทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงด้วย
(๓) พระอนาคามี ผู้จะมีปรินิพพานในที่ผุดขึ้น ไม่เวียนกลับมาอีก เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในศีล ทำได้บริบูรณ์ในสมาธิ แต่ทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์ได้อีก ๒ ข้อ คือกามราคะ และปฏิฆะ (รวมเป็นละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ครบ ๕ ข้อ)
(๔) พระอรหันต์ ผู้หักกรรมแห่งสังสารวัฏได้แล้ว เป็นผู้สิ้นอาสวะ
จากหนังสือ กำเนิดพระอินทร์ โดย ศิริกุล ศุภวัฒนะ
จัดพิมพ์: ฝ่ายวิชาการ วัดพระธรรมกาย (มกราคม ๒๕๓๒)