พระอินทร์ ทรงบรรลุโสดาปัตติผล เป็นปฐมอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา(ตอนจบ)
ครั้งเมื่อท้าวสักกะ ได้ทอดพระเนตรเห็นบุพนิมิต ๕ ประการ1 ก็ทรงทราบว่าพระองค์ถึงกาลสิ้นอายุแล้ว ให้คิดหวนอาลัยในทิพยสมบัติทั้งปวง อันมีไพชยนตปราสาทเป็นต้น เมื่อคิดว่าจะต้องเสื่อมจากสมบัติทั้งปวงนี้ ก็ให้ทรงมีพระทัยเศร้าโศกเหลือประมาณ จึงชักชวนเทพบุตรทั้งปวงมีประมาณแปดหมื่นเศษ เสด็จลงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าโดย หวังจะได้ระงับดับพระวิโยคด้วยพระธรรมรสแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อได้วโรกาส ท้าวสหัสนัยน์เทวราช ได้กราบทูลถามปัญหาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่ผู้ทรงนฤทุกข์ โลกนี้เป็นทุกข์ด้วยการเบียดเบียนแก่กันและกันเสมอ แท้จริงสรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้ปรารถนาจะมีเวร มีโทษ มีข้าศึก มีพยาบาทแก่กันนั้นหามิได้ แต่ก็ยังมีเวร มีโทษ มีข้าศึก มีพยาบาทต่อกัน นี้เป็นเพราะเหตุใดหรือพระพุทธเจ้าข้า”
“เพราะมี ความริษยาและความตระหนี่2 เป็นเครื่องชักจูงมหาบพิตร! ”
“เพราะเหตุไรชนจึงมีความริษยาและความตระหนี่เล่าพระพุทธเจ้าข้า?”
“ดูก่อนมหาบพิตร ความริษยาและความตระหนี่นั้นย่อมเกิด ด้วยความรักและความชัง3 เป็นเหตุ”
“แล้วความรักและความชังเล่าพระพุทธเจ้าข้า มีอะไรเป็นต้นเหตุ?”
“มีความพอใจเป็นเหตุ4 มหาบพิตร! ถ้าไม่มีความพอใจ ความรักและความชังก็ไม่มี”
“ความพอใจมีอยู่เพราะเหตุไรเล่าพระพุทธเจ้าข้า?”
“เพราะมี ความนึก5 เป็นเหตุ มหาบพิตร!”
“ข้าแต่พระผู้พิชิตมาร ความนึกนั้นเล่า มีอยู่ด้วยเหตุไร?”
“ตัณหา6 มานะ7 ทิฏฐิ8 อันเรียกว่าธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า เป็นเหตุขอถวายพระพร”
“ข้าแต่พระสยมภูวญาณ ทำอย่างไรจึงจะละตัณหา มานะ และทิฏฐิได้ พระพุทธเจ้าข้า?”
“ดูก่อนท้าวโกสีย์ พึงละโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา9 ที่ทำให้ กุศลกรรมเสื่อม ทำให้อกุศลกรรมเจริญ ควรให้มีโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ที่ทำให้กุศลกรรมเจริญ ทำให้อกุศลกรรมเสื่อม ขอถวายพระพร "
“ข้าแต่พระตรีโลกนาถ อย่างไรจึงจะเรียกว่าโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ที่ทำให้กุศลกรรมเจริญ และอกุศลกรรมเสื่อมไปเล่า พระพุทธเจ้าข้า?”
“ดูก่อนปุรินทท10 ให้พิจารณาให้เห็นจริงว่า โสมนัส โทมนัส อุเบกขานี้ เกิดจากวัตถุอันเป็นของไม่เที่ยง เมื่อเราไม่ติดในวัตถุ โสมนัส โทมนัสก็ไม่เกิด คงแต่อุเบกขาในสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้เท่าถึงมัน
อันไม่เป็นเหตุให้เกิดตัณหา อุปาทาน ขอถวายพระพร”
“ข้าแต่พระบรมครูเจ้าถ้าเราเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เราย่อมตัดความดีใจ เสียใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความปรารถนาในสิ่งนั้นๆ ย่อมไม่เกิด ย่อมละตัณหาเสียได้ ไม่มีความถือตัว ไม่มีความหลงผิดในสิ่งทั้งหลาย ความนึกว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี ก็ย่อมไม่มี เมื่อไม่มีความนึกเช่นนั้น เราก็ไม่มีความพอใจรักใคร่ได้ หรือไม่ใคร่ได้สิ่งใด เมื่อความพอใจในสิ่งใด ๆ ไม่มี ความริษยาและความตระหนี่อันเกิดจากความพอใจในสิ่งนั้น ๆ ย่อมไม่มี เมื่อความริษยา ความตระหนี่ไม่มี ความเบียดเบียนกันย่อมไม่มี เป็นไปดังนี้หรือพระพุทธเจ้าข้า?”
“ถูกแล้วมหาบพิตร"
ท้าวโกสีย์ได้พิจารณาอรรถธรรมไปโดยอนุโลมปฏิโลมดังนี้ มีความน้อมไปในธรรม เกิดปัญญาญาณเห็นแจ้งในพระธรรมกถาโดยลำดับ ทำให้ละทิฏฐิมานะได้บ้าง บังเกิดญาณเครื่องรู้ เข้าถึงกระแสพระนิพพานบรรลุอริยมรรคเป็นพระโสดาปัตติผล ปฐมอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
ในกาลบัดนั้น พระอินทร์ได้จุติและได้อุบัติขึ้นใหม่เป็นพระอินทร์ ดังเดิมต่อพระพักตร์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเหตุที่การจุติของ ปวงเทพเป็นแต่การเคลื่อนไปของทิพยกาย จึงไม่ปรากฏสิ่งใด
ให้เห็นและการอุบัติของปวงเทพก็เป็นแบบโอปปาติกะ คือปรากฏในรูปกายที่โตเต็มที่เลย การจุติและการอุบัติของพระอินทร์ในครั้งนั้นจึงมิได้มีผู้ใดรู้เห็น นอกจากองค์อัมรินทร์เองและสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น
จากนั้น พระอินทร์ก็ได้ดำเนินการทูลถามปัญหาต่อไปอีก จนหมดข้อสงสัยเเล้ว11 ได้เเสดงสาธุการต่อพระธรรมีกถาเหล่านั้นกระทำอภิวันทนาการอย่างสูงสุดต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็พาเทพบริวาร
ทั้งปวงกลับไปยังดาวดึงสพิภพ
บรรดาเทพทั้งปวงที่ได้สดับพระธรรมเทศนาในวันนั้น ต่างก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุภูมิธรรมชั้นต่างๆ ตามวาสนาของตน
สมเด็จพระอมรินทราธิราชและเทพบริวารทั้งปวง จึงได้เสวยสุขอยู่ในทิพยวิมานสถานในชั้นดาวดึงส์สวรรค์ด้วยความศานติ ตั้งแต่บัดนั้นจนมาถึงบัดนี้12
---------- เชิงอรรถอ้างอิง -----------
1บุพนิมิต ๕ ประการ เป็นเครื่องบอกว่าเทพองค์นั้นถึงกำหนดจุติแล้ว คือดอกไม้ทิพย์เหี่ยวแห้ง ผ้านุ่งห่มเศร้าหมอง เหงื่อไหลจากรักแร้ ผิวพรรณเศร้าหมอง เบื่อหน่ายในทิพยอาสน์
2ความริษยา ได้แก่ความติเตียนสมบัติของผู้อื่น ความตระหนี่ ได้แก่ ความไม่อยากให้สมบัติของตนตกไปเป็นของผู้อื่น
3เมื่อเกิดความรักในสิ่งใด ก็ไม่ปรารถนาให้สิ่งที่ตนรักไปเป็นของผู้อื่น ทำให้เกิดความตระหนี่เเละเมื่อเห็นผู้อื่นได้ของรักก็เกิดความริษยาผู้นั้น
4ความพอใจก็คือตัณหานั้นเอง
5ความนึก ได้แก่ความนึกตัดสินด้วยตัณหาและทิฏฐิว่าสิ่งนั้นน่าปรารถนา ไม่น่าปรารถนา เป็นที่รัก ไม่เป็นที่รัก เป็นต้น
6ตัณหา มี ๓ คือ กามตัณหา ความอยากในของน่ารักน่าใคร่ ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา ความอยากไม่มีไม่เป็น
7มานะคือความถือตัว ถือชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ ฯลฯ
8ทิฏฐิ ความเห็นผิด ทำให้หลงวนเวียนในทางที่ผิด
9โสมนัส ความรู้สึกดีใจ โทมนัส ความรู้สึกเสียใจ อุเบกขา ความรู้สึกเฉย ๆที่ควรให้มีคือ ความรู้สึกโสมนัส โทมนัส อุเบกขา ที่เกี่ยวข้องกับการออกจากกามคุณ (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) คือเล็งเห็นว่า กามคุณนั้นเป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ทั้งในอดีต ปัจจุบัน เเละอนาคต อันเป็นการเจริญกรรมฐานอย่างหนึ่ง ซึ่งมีหยาบ มีละเอียดเป็นขั้นๆ เมื่อได้พิจารณาเห็นจริงถึงที่สุดแล้ว ก็ละกิเลสตัณหาได้โดยสิ้นเชิง บรรลุพระอรหัตตผล เมื่อท้าวสักกะได้สดับการแก้ปัญหาจนถึงขั้นนี้ ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และได้จุติและอุบัติในฉับพลันนั้นดังกล่าวแล้ว
10 ชื่อหนึ่งของพระอินทร์ แปลว่าได้ให้ทานก่อน
11ที่จริงในคราวนี้ ท้าวสักกะได้ถามปัญหาทั้งหมด ๑๔ ข้อ เมื่อจบปัญหาข้อ ๖ ก็ได้บรรลุโสดาบัน เห็นว่าข้อต่อไปไม่ได้ให้ผลอะไรต่อท้าวสักกะ จึงมิได้รวมไว้ด้วย เพราะท้าวสักกะมีอุปนิสัยเพียงเท่านี้ ด้วยยังติดข้องอยู่ในความอาลัยในกามคุณ ๕ ณ สวรรค์พิภพนั้น
12เรื่องทั้งหมดนี้ได้ตัดต่อเรียบเรียงจากหนังสือพระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕,๐๐๐ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎกทีฆนิกายมหาวรรค ของปุ้ย เเสงฉาย ป.๖ อนงคาราม โรงพิมพ์ ส.ธรรมภักดี หน้า ๑๘๑-๒๑๐
จากหนังสือ กำเนิดพระอินทร์ โดย ศิริกุล ศุภวัฒนะ
จัดพิมพ์: ฝ่ายวิชาการ วัดพระธรรมกาย (มกราคม ๒๕๓๒)