คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน
สืบทอดคำสอนจากใบลานสู่ระบบดิจิทัล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ธรรมะและวินัยที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ คำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งประมวลรวมไว้ในพระไตรปิฎก จึงมีความสำคัญต่อชาวพุทธทั้งมวลอย่างยิ่งยวด
การจัดระบบและถ่ายทอดคำสอนในครั้งพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พระอานนท์ซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากและเป็นผู้ที่มีความจำเป็นเลิศ ก็จะทรงจำคำสอนไว้ และนำมาถ่ายทอดให้พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของตน ซึ่งเป็นพระสายธรรมธร เชี่ยวชาญเรื่องพระธรรม ทำการเรียบเรียงเนื้อหาให้อยู่ในรูปแบบที่ท่องจำได้ง่าย เนื้อหาตอนใดคล้ายกับพระสูตรอื่นๆ ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงแสดงธรรมไว้แล้วก็จะนำเนื้อความนั้นมาใช้เลยเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาท่องจำใหม่ แล้วแบ่งหน้าที่ช่วยกันท่องจำเอาไว้
เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นทำให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยข้อใหม่ๆ พระอุบาลีซึ่งเป็นผู้เลิศทางด้านพระวินัย และพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของท่าน ซึ่งเป็นพระสายวินัยธร ก็จะทำการเรียบเรียงเรื่องราวอันเป็นที่มาของการบัญญัติพระวินัยสิกขาบทนั้นๆ เนื้อหาตัวสิกขาบท และอนุบัญญัติหากพระพุทธเจ้าทรงแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง อธิบายความหมายของคำแต่ละคำที่ปรากฏในตัวสิกขาบท หากมีกรณีที่มีพระภิกษุกระทำบางอย่างไปแล้วไม่มั่นใจว่าการกระทำนั้นจะผิดพระวินัยไหม ก็จะไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า แล้วพระองค์ก็จะทรงวินิจฉัยให้ ก็มีการรวบรวมกรณีข้อวินิจฉัยเหล่านี้ไว้ด้วย (คล้ายตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาในปัจจุบัน) แล้วแบ่งหน้าที่ช่วยกันท่องจำเอาไว้
พระภิกษุสงฆ์จากทั้งชมพูทวีปเมื่อออกพรรษา มีธรรมเนียมที่จะส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และไปศึกษาท่องจำพระสูตรใหม่ๆที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง กับพระธรรมธรสายพระอานนท์ บางส่วนก็ไปศึกษาท่องจำสิกขาบทใหม่ๆ จากพระวินัยธรสายพระอุบาลี ตามความสนใจของตน เสร็จแล้วก็จะเดินทางจาริกไปตามวัดใหญ่ในหัวเมืองต่างๆ ถ่ายทอดพระธรรมและพระวินัยใหม่ๆ ที่ตนได้เรียนรู้มาแก่พระภิกษุในที่นั้นๆ ต่อๆ กันไป
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว 3 เดือน พระมหากัสสปะก็ได้เป็นประธานประชุมพระอรหันต์ 500 รูป เพื่อทำสังคายนาครั้งที่ 1 เป็นการเรียบเรียงจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธเจ้า โดยพระอุบาลีเป็นหลักด้านพระวินัย พระอานนท์เป็นหลักด้านพระสูตร ได้ผลลัพธ์เป็นโครงสร้างในรูปแบบพระไตรปิฎกที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อสังคายนาเสร็จแล้วก็แบ่งหน้าที่กันท่องจำสืบทอดกันต่อๆ มา เรียกว่า การสืบทอดคำสอนแบบมุขปาฐะ
การจารึกคำสอนลงในใบลานเป็นครั้งแรก
หลังพุทธกาลพระพุทธศาสนาก็ได้เผยแผ่ขยายกว้างขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช ราว 218 ปีหลังพุทธกาล ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ ทำให้พระพุทธศาสนาขยายไปทั่วอินเดีย และยังได้ส่งคณะสมณทูต ถึง 9 สาย เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ
1 ใน 9 สาย คือ สายที่นำโดยพระมหินทเถระ พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งได้เสด็จออกบรรพชาอุปสมบท ภายหลังได้นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ประดิษฐานที่ประเทศลังกา จนกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาเถรวาทมานับพันปี แม้เมื่อพระพุทธศาสนาในอินเดียถูกศาสนาอื่นรุกรานเบียดเบียนจนแทบสูญไปแล้ว
ในช่วงแรกการเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้าในลังกาก็ใช้วิธีการท่องจำแบบมุขปาฐะ จนเมื่อราว 400 กว่าปีหลังพุทธกาล ในสมัยพระเจ้าวัฏฐคามณีอภัย ประเทศลังกาเกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ เมื่อกลับมาครองอำนาจได้ใหม่ พระองค์ทรงเกรงว่าหากอาศัยการท่องจำอย่างเดียว หากภิกษุที่ท่องจำพระไตรปิฎกได้ประสบภัยมรณภาพไป คำสอนในส่วนนั้นๆ ก็อาจสูญไปได้ จึงทรงให้จารจารึกคำสอนพระพุทธเจ้าลงในคัมภีร์ใบลานเป็นครั้งแรก และธรรมเนียมนี้ก็ได้แพร่หลายมาถึงไทย พม่า มอญ ล้านนา ในเอเชียอาคเนย์
ภาษาบาลีไม่มีตัวอักษรของตนเอง
เนื่องจากในช่วง 400 กว่าปีแรก เราสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าในภาษาบาลีด้วยการท่องจำ ภาษาบาลีจึงมีแต่เสียงไม่มีตัวอักษร เมื่อจารจารึกลงในคัมภีร์ใบลานจึงได้ใช้ตัวอักษรของท้องถิ่นนั้นๆ แต่ก็ล้วนเป็นภาษาบาลีอ่านออกเสียงเหมือนกัน เช่น คำว่า ขันติ ความอดทน บาลีอักษรไทยก็เขียน “ ขนฺติ ” ถ้าเป็นบาลีอักษรโรมัน ก็เขียน “ khanti ” โดยกำหนดให้ kh = ข n = น t = ต i = สระอิ เป็นต้น
การสืบทอดคำสอนด้วยคัมภีร์ใบลาน
โดยทั่วไปใบลานจะคงอยู่ได้ราว 100 - 200 ปี ตามแต่คุณภาพของการดูแลรักษา ก่อนที่จะผุพังหรือถูกแมลงชอนไชจนเสียหาย ใบลานจำนวนน้อยที่ดูแลรักษาได้ดีจริงๆ อาจมีอายุได้ถึง 500 ปี
ทำให้บรรพบุรุษของเราต้องจดจารคัมภีร์ใบลานต่อๆ กันมา ซึ่งต้องอาศัยความวิริยอุตสาหะอย่างยิ่งยวด กว่าจะได้เป็นคัมภีร์ใบลานแต่ละชุด คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานนี้ไม่ใช่มีความสำคัญต่อการสืบทอดคำสอนเท่านั้น แต่ผู้ที่ต้องการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ต้องศึกษาจากคัมภีร์ใบลานนี้ ตามวัดใหญ่ๆ ในหัวเมืองต่างๆ จึงต้องมีการจารจารึกคัมภีร์ใบลานกัน เพื่อให้มีคัมภีร์ที่พระภิกษุได้อาศัยใช้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า
การพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นหนังสือเล่ม
เมื่อชาวตะวันตกได้เข้ายึดครองศรีลังกา พม่า ได้พบคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก ผู้ที่สนใจจึงได้ศึกษาภาษาบาลีจนอ่านคัมภีร์ใบลานได้ บางท่านซาบซึ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้าจนได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ
ริส เดวิดส์ (สู่ผู้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์)
ริส เดวิดส์ นักวิชาการพระพุทธศาสนาชาวอังกฤษได้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ ( Pali Text Society : PTS ) ขึ้น เมื่อปีพ.ศ.2424 เพื่อส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลีและได้เชิญชวนนักวิชาการบาลีในประเทศต่างๆ ให้ช่วยกันตรวจชำระคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานและปริวรรตเป็นบาลีอักษรโรมัน เพื่อความสะดวกในการศึกษาของผู้สนใจพระพุทธศาสนาทั่วโลก แล้วทยอยตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มตามลำดับ
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานทรัพย์สนับสนุนจำนวนหนึ่ง และพระองค์ได้ทรงมอบหมายให้นักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีในประเทศไทย ตรวจชำระพระไตรปิฎกบาลีจากคัมภีร์ใบลานของไทย ซึ่งแต่เดิมจะจารึกด้วยอักษรขอม เพราะโบราณถือว่าอักษรขอมเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ ปริวรรตเป็นภาษาบาลีอักษรไทยเมื่อปี พ.ศ.2431 ถึง 2436 เสร็จแล้วตีพิมพ์เป็นเล่มรวม 39 เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับหลวง จำนวน 1,000 ชุด และได้พระราชทานไปยังสถาบันการศึกษาชั้นสูงของนานาประเทศ สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อปีพ.ศ.2468-2473 ได้ตรวจชำระและพิมพ์เพิ่มอีก 6 เล่มที่ยังขาดอยู่ รวมเป็นพระไตรปิฎกภาษาบาลี 45 เล่ม ครบชุดทั้งพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกของโลกเรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พิมพ์จำนวน 1,500 ชุด
ต่อมาในช่วง พ.ศ.2497 ทางพม่าก็ได้จัดสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 และตีพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีอักษรพม่า เรียกว่าฉบับฉัฏฐสังคายนา ทางศรีลังกาก็ได้ตรวจชำระและตีพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีอักษรสิงหล เรียกว่าฉบับพุทธชยันตีเพื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
ในการตรวจชำระพระไตรปิฎกตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนั้น ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์ (ฉบับ PTS) จะใช้คัมภีร์ใบลานของลังกาและพม่าราว 2-3 ฉบับเปรียบเทียบกันมีใช้คัมภีร์ใบลานอักษรขอมจากไทยบ้างบางเล่ม พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทยฉบับสยามรัฐ ก็ได้ตรวจชำระโดยใช้คัมภีร์ใบลานอักษรขอมเป็นหลัก พระไตรปิฎกบาลีอักษรพม่าฉบับฉัฏฐสังคายนา ใช้คัมภีร์ใบลานอักษรพม่าเป็นหลัก ส่วนพระไตรปิฎกบาลีอักษรสิงหล ฉบับพุทธชยันตีก็ใช้คัมภีร์ใบลานของศรีลังกาเป็นหลัก
สภาพการจารใบลานหลังพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือ
เมื่อมีการตีพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือแล้วก็สามารถพิมพ์เพิ่มได้ตามต้องการอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมานั่งจารใบลานทีละตัวอักษรเหมือนเดิม ธรรมเนียมการจารคัมภีร์ใบลานสืบต่อกันไปในประเทศต่างๆ ก็ลดน้อยลงอย่างรวดเร็วจนแทบหมดไป คัมภีร์ใบลานที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือ ของเก่าที่จารมาแต่อดีตซึ่งนับวันก็จะค่อยๆผุพังไปเรื่อยๆ
พระไตรปิฎกที่มีการตรวจชำระใหม่รุ่นหลังๆ เกือบทั้งหมดไม่ได้ใช้คัมภีร์ใบลานเป็นตัวตั้งอีกแล้ว แต่ใช้พระไตรปิฎกฉบับก่อนๆ ที่ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วของพม่าบ้าง ไทยบ้าง ลังกาบ้าง ยุโรปบ้าง มาเปรียบเทียบกัน แล้วจัดทำเป็นพระไตรปิฎกฉบับใหม่ๆ ซึ่งพระไตรปิฎกที่พิมพ์เป็นเล่มอันเป็นที่อ้างอิงนั้น ตรวจชำระขึ้นโดยอาศัยคัมภีร์ใบลานเพียงไม่กี่ชุดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นหากมีเนื้อหาตอนใดที่ไม่ตรงกัน หรือขาดหายไป แต่ความจริงมีเนื้อความที่ถูกต้องซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์ใบลานอื่นๆอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการตรวจชำระ ก็จะทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าในส่วนนั้นสูญหายไป
วิดีโอ เบื้องหลังการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน
กดที่รูปเพื่อรับชม : BLOCKDIT.COM พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
เบื้องหลังการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน 10,000 กว่ามัดเป็นอย่างไร
กลุ่มอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน (MPSC) http://www.mps-center.in.th/
การรวบรวมคัมภีร์ใบลานทั่วโลก
คัมภีร์ใบลานที่ยังเหลืออยู่ปัจจุบันส่วนใหญ่ก็อายุเกิน 100 ปีแล้ว ถ้าทอดเวลาต่อไปอีกไม่นานก็จะเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ จนสูญไปจากโลกนี้ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าที่บรรพบุรุษชาวพุทธทั้งหลายได้วิริยอุตสาหะจารจารึกสืบต่อกันมานับพันปี ก็จะสาบสูญจากโลกนี้ไปชั่วกาลนานอย่างไม่มีวันนำกลับมาได้อีก
Cr : mps-center.in.th
เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด โครงการพระไตรปิฎกวิชาการของวัดพระธรรมกาย จึงได้เดินทางไปกราบขอความร่วมมือจากวัดและหอสมุดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่มีคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานเก็บรักษาอยู่ และขอถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานเป็นไฟล์ดิจิทัลเพื่อนำมาใช้ในการตรวจชำระ และได้ทำสำเนาไฟล์ดิจิทัลมอบให้กับวัด หอสมุดทุกแห่งเก็บรักษาเอาไว้ใช้ ทำให้เป็นที่สบายใจได้ว่า คำสอนพระพุทธเจ้าในคัมภีร์ใบลานได้รับการอนุรักษ์สืบทอดต่อไปโดยไม่ต้องห่วงว่าจะผุพังเสื่อมสภาพไปอีก และสามารถอำนวยความสะดวกให้นักวิชาการทั่วโลกนำไฟล์ภาพดิจิทัลของคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานนี้ไปใช้ได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องดั้นด้นเดินทางไปยังวัดแต่ละแห่ง
Cr : mps-center.in.th
จากการทุ่มเททำงานอย่างหนัก เสียสละอุทิศตนของทีมงานทุกคนมากว่า 10 ปี ปัจจุบันโครงการฯได้ถ่ายภาพคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานเสร็จเรียบร้อยแล้วกว่า 10,000 มัด เป็นแหล่งรวมคัมภีร์ใบลานที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเดินหน้าทำงานต่อไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ให้เป็นมรดกธรรมของโลกโดยสมบูรณ์ที่สุด