ตอนที่11 ปุราณอักษรา

วันที่ 21 กย. พ.ศ.2563

ตอนที่11  ปุราณอักษรา

                    ร่องรอยการเดินทางของ ก.ไก่ ถึง ฮ. นกฮูก จากอารยธรรมอินเดียโบราณมาสู่ตัวเขียนในปัจจุบัน

20072-1.jpg

                  เส้นจารเนื้อความพระไตรปิฎกบนแผ่นลานนอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงการสืบทอดพุทธธรรมแล้วยังเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงวิวัฒนาการอักษรโบราณบนแผ่นดินไทยอีกด้วย แม้คัมภีร์ใบลานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันจะมีอายุไม่กี่ร้อยปี

                  แต่อักษรขอม อักษรธรรมล้านนา และอักษรธรรมอีสาน ที่ใช้จารคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานก็เป็นหลักฐานสำคัญที่หลงเหลือมาสู่คนรุ่นปัจจุบันที่สามารถนำไปศึกษาร่องรอยการสืบทอดอักขรวิธีและวิวัฒนาการอักษรโบราณ ซึ่งมีต้นกำเนิดย้อนไปได้ไกลถึงอักษรปัลลวะแห่งอารยธรรมอินเดียในยุคพุทธศตวรรษที่ 11-12

 

ep11-1.jpg

                   ณ ช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนของประเทศไทยเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณมากมาย อาทิ อาณาจักรทวารวดี อาณาจักรเจนละ อาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น แต่ละอาณาจักรต่างรับอิทธิพลด้านตัวอักษรจากดินแดนภารตะฝ่ายใต้ผ่านการค้าขายและการเผยแผ่ศาสนา

20072-2.jpg

จารึกเขารัง , Cr: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

                 ดั่งปรากฏหลักฐานจารึกอักษรปัลลวะหลายหลักกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย อาทิ จารึกเขารัง จังหวัดสระแก้ว นับเป็นศิลาจารึกอักษรปัลลวะที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด จารด้วยภาษาสันสกฤตและภาษาเขมรโบราณบนหินทรายเนื้อหยาบ กำหนดอายุตามปีมหาศักราชที่ระบุในจารึกตรงกับ พ.ศ. 1182

 

ep11-2.jpg

                 จารึกอักษรปัลลวะสมัยพระเจ้าสิงหวรมัน กษัตริย์ราชวงศ์ปัลลวะแห่งอินเดียตอนใต้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 , Cr: พัฒนาการของอักษรไทย

                 หรือ จารึกเยธมฺมาฯ ซึ่งเป็นคาถาภาษาบาลีคัดจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา ปรากฏบนระเบียงด้านขวาองค์พระปฐมเจดีย์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

                  จารึกทั้ง 2 หลักนี้แสดงให้เห็นว่าอักษรปัลลวะในอาณาจักรยุคแรกยังคงรูปแบบสัณฐานต้นฉบับเดิมของอินเดียฝ่ายใต้ไม่เปลี่ยนแปลง

20072-3.jpg

เหรียญสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ปรากฏอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต, Cr: พัฒนาการของอักษรไทย

 

                 จากนั้น ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 รูปแบบอักษรที่ใช้อยู่ในอาณาจักรทวารวดี อาณาจักรเจนละ และอาณาจักรศรีวิชัยมีความคลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ยังคงรักษาอักขรวิธีเหมือนอักษรปัลลวะอยู่ เรียกอักษรในยุคนี้ว่า “อักษรหลังปัลลวะ”

                  และต่อมาช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-19 พัฒนาการของอักษรในแต่ละท้องถิ่นก็ยังดำเนินไปอย่างตลอดต่อเนื่อง แม้อาณาจักรเดิมจะล่มสลายไปและมีอาณาจักรใหม่เข้ามาแทนที่ แต่รูปแบบของตัวอักษรก็ยังได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนและผสมผสานเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นจนเกิดเป็นอักษรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ep11-3.jpg

จารึกอักษรมอญโบราญ , Cr: พัฒนาการของอักษรไทย

 

                  อักษรหลังปัลลวะที่ใช้ในอาณาจักรขอมสมัยพระนครซึ่งต่อเนื่องมาจากอาณาจักรเจินละมีพัฒนาการจนกลายเป็น “อักษรขอมโบราณ” อักษรหลังปัลลวะที่ใช้ในอาณาจักรหริภุญชัยซึ่งต่อเนื่องมาจากอาณาจักรทวารวดีก็กลายเป็น “อักษรมอญโบราณ” และอักษรหลังปัลลวะที่ใช้ในอาณาจักรศรีวิชัยก็พัฒนาเป็น “อักษรกวิ”

                   จึงเห็นได้ว่าอักษรโบราณในแต่ละท้องถิ่นที่มีอาณาเขตครอบคลุมบริเวณบางส่วนของประเทศไทยในปัจจุบันต่างสืบทอดมาจากอักษรสมัยราชวงศ์ปัลลวะด้วยกันทั้งสิ้น

ep11-4.jpg

                  ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรขอมพระนครเสื่อมอำนาจลงและได้มีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ถึงกระนั้นผู้คนในอาณาจักรสุโขทัยก็ยังนิยมใช้อักษรขอมโบราณเพื่อเขียนภาษาบาลี ในภายหลังจึงมีการปรับใช้อักษรขอมโบราณให้เอื้อต่อการเขียนภาษาไทยด้วย จึงเกิดเป็น “อักษรขอมไทยสมัยสุโขทัย”

20072-4.jpg

หนังสือสมุดไทยอักษรขอมสมัยอยุธยา (บน) สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ล่าง) , Cr: สมุดข่อย

 

                   และเมื่ออาณาจักรอยุธยาได้สถาปนาขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็ได้รับเอาอิทธิพลอักษรขอมจากสุโขทัยไปปรับใช้จนกลายเป็น “อักษรขอมไทยสมัยอยุธยา” แล้วใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 24 เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ อักษรขอมจึงมีรูปแบบที่เรียกว่า “อักษรขอมไทยสมัยรัตนโกสินทร์”

 

ep11-5.jpg

                  นอกจากมีการใช้อักษรขอมสุโขทัยแล้ว อาณาจักรสุโขทัยยังมีการใช้อีกอักษรหนึ่งควบคู่กัน คืออักษรไทยสุโขทัยหรือลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปีมหาศักราช 1205 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1826 ตามที่ระบุไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1

                  ทั้งนี้นักวิชาการได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงน่าจะอาศัยอักษรขอมโบราณ และอักษรมอญโบราณซึ่งเป็นอักษรดั้งเดิมที่ใช้อยู่ในท้องถิ่นตั้งแต่ก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นแบบ แล้วพัฒนาจนกลายเป็นอักษรไทย ที่สำคัญคืออักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงนี้เป็นต้นแบบของอักษรไทยทุกยุคทุกสมัยจนมาถึงอักษรไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

ep11-6.jpg

ตัวอักษรไทยย่อแบบอยุธยาตอนปลาย, Cr: สมุดข่อย

 

                  ในขณะที่อาณาจักรสุโขทัยมีการใช้อักษรขอมไทยและอักษรไทย อาณาจักรล้านนาในภาคเหนือก็มีการใช้อักษรธรรมล้านนา ซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากอักษรมอญโบราณที่ใช้ในอาณาจักรหริภุญชัยประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 เนื่องจากอักษรธรรมล้านนามีรูปแบบอักษรและอักขรวิธีคล้ายคลึงกับอักษรมอญโบราณมาก

                   ประกอบกับข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนว่าอาณาจักรล้านนามีการติดต่อกับอาณาจักรหริภุญชัยมาก่อนที่พญามังรายจะผนวกอาณาจักรหริภุญชัยเข้ากับอาณาจักรล้านนา จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าชาวล้านนาในอดีตจะรับวัฒนธรรมหลายด้านโดยเฉพาะด้านตัวอักษรจากอาณาจักรหริภุญชัย

ep11-7.jpg

                 ภาพฝาผนังแสดงเหตุการณ์เกี่ยวกับพญามังรายและการจารพระไตรปิฎกอักษรธรรมในดินแดนล้านนา

 

                   ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าอักษรธรรมนั้น ก็เนื่องด้วยเป็นตัวอักษรที่ใช้บันทึกพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง อิทธิพลอักษรธรรมล้านนาสืบทอดไปยังอาณาจักรล้านช้างซึ่งอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของ 2 อาณาจักรทำให้อาณาจักรล้านช้างรับเอาอิทธิพลด้านพระพุทธศาสนาและรับตัวอักษรธรรมล้านนาไปพัฒนาปรับใช้ในท้องถิ่นจนกลายเป็น “อักษรธรรมอีสาน” ในที่สุด

ep11-8.jpg

▲ คัมภีร์พระไตรปิฎกทีฆนิกาย สีลขันธววรค อักษรธรรมล้านนา

20072-5.jpg

▲ คัมภีร์พระไตรปิฎกทีฆนิกาย สีลขันธววรค อักษรธรรมอีสาน

                     จากจุดเริ่มต้นแห่งดินแดนภารตะตอนใต้ อักษรปัลลวะได้เป็นแม่แบบของวิวัฒนาการอักษรโบราณในผืนแผ่นดินไทย ผ่านห้วงกาลเวลาเนิ่นนานพันกว่าปี จากอักษรหนึ่งพัฒนาจนกลายเป็นอีกอักษรหนึ่งผ่านการติดต่อปฏิสัมพันธ์ ก่อเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างอาณาจักร ผสมผสานจนมีเอกลักษณ์ของตนเอง

 

                  แม้อักขรวิธีและรูปแบบอักษรจะเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม แต่อักษรเหล่านั้นต่างมีกำเนิดจากที่เดียวกัน และบูรพชนชาวไทยก็ได้ใช้อักษรโบราณเหล่านี้จารึกเรื่องราวคดีโลกและคดีธรรมผ่านรุ่นสู่รุ่นไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบมา

 

อ้างอิง

กรรณิการ์ วิมลเกษม. ตำราเรียนอักษรไทยโบราณ อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.

บุญเตือน ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ. สมุดข่อย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2542.

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. พัฒนาการของอักษรไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระพุทธศาสนา, 2556.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033229398727417 Mins