ตอนที่12 วิถีใบลาน เเห่งน่านนคร
เกลือสินเธาว์และคัมภีร์ใบลาน ...
สองสิ่งที่ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน ทว่าเกลือเม็ดเล็กๆ กลับมีบทบาทอันยิ่งใหญ่ต่อความรุ่งเรืองของคัมภีร์ใบลานแห่งนครรัฐน่านอย่างไม่น่าเชื่อ
“น่าน”
จังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือของไทย ทรงคุณค่าเนื่องด้วยเป็นแหล่งคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมจำนวนมาก เมื่อย้อนประวัติศาสตร์ไปตั้งแต่ยุคสร้างเมืองในพุทธศตวรรษที่ 18 ทำให้พบว่า น่านเป็นนครรัฐที่มีพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่นัก แต่กลับมีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจ
เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์แห่งเดียวในเขตอาณาจักรล้านนา นครรัฐแห่งนี้จึงใช้เกลือเป็นเครื่องเจรจาต่อรองทางการเมือง และสร้างความสัมพันธ์กับอาณาจักรรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา สุโขทัย ล้านช้าง หลวงพระบาง ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ อาทิ โปรตุเกสและฮอลันดา โดยผ่านนครรัฐสุโขทัยในฐานะเมืองเครือญาติ
Cr: https://www.shopback.co.th/blog/บ่อเกลือน่าน/
เส้นทางการค้าเกลือนอกจากจะนำความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาสู่เมืองน่านแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับอาณาจักรและเมืองต่างๆ นำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ที่สะท้อนผ่านทางสถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งนครน่าน รวมถึงการรับธรรมเนียมการจารคัมภีร์ใบลานด้วยอักษรธรรม และการศึกษาภาษาบาลีอีกด้วย
ซึ่งในเรื่องของการจารคัมภีร์ใบลานและการศึกษาภาษาบาลีนั้น อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัดน่าน ให้ข้อมูลไว้ว่าการศึกษาภาษาบาลีรวมทั้งกระแสการจารคัมภีร์ใบลานเข้ามายังนครรัฐแห่งนี้ใน 2 ยุคที่สำคัญ คือ
ยุคแรกเมื่อครั้งพญาการเมืองแห่งนครรัฐน่านรับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์และภาษาบาลีจากกรุงสุโขทัย ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) ซึ่งถือว่าเป็นกษัตริย์ที่ใช้หลักการศาสนาและการทหารในการปกครองพุทธจักรและอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่น
ภาพสุคติภูมิในไตรภูมิพระร่วง Cr: สมุดข่อย
โดยอาศัยพระปรีชาสามารถในด้านพุทธศาสนา ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วง เพื่อสอนเรื่องนรกสวรรค์ ให้ประชาชนเกรงกลัวต่อบาปและหมั่นสั่งสมบุญกุศล อันมีนัยยะด้านการปกครองบ้านเมืองให้พสกนิกรใต้ร่มพระบารมีอยู่เย็นเป็นสุข ถือเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเล่มแรก และเป็นกุศโลบายที่พระองค์ทรงใช้เพื่อสร้างความสงบร่มเย็นทางสังคมอย่างแยบคาย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ วัดหลวง จ.น่าน แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวเมือง การแต่งกายและสภาพบ้านเมืองในอดีต
นอกจากนั้นพระองค์ยังมีสายพระเนตรที่กว้างไกลในการขยายแสนยานุภาพทางการทหารและศาสนาผ่านศูนย์กลางการค้าเกลืออย่างน่านไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อให้อาณาจักรรอบข้างยอมรับพระองค์ในฐานะกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งมหาเถรธรรมบาลภิกขุ หนึ่งในพระอาจารย์ของพระองค์ ผู้เป็นที่เคารพของพญาการเมืองไปอยู่ที่น่าน เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไททรงใช้หลักการทางทหารและการพระศาสนาสำเร็จ การจารใบลานด้วยภาษาบาลีจึงขยายไปอย่างกว้างขวางในเมืองน่านนับแต่นั้นมา
ร้อยกว่าปีต่อมา ยุคที่สอง ที่ภาษาบาลีและการจารคัมภีร์ใบลานเข้ามาสู่น่านนคร เมื่อพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ มีพระราชประสงค์จะครอบครองแหล่งเกลือ จึงทรงยกทัพมาตีจนสามารถผนวกน่านเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาได้สำเร็จ รัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านนา ที่รุ่งเรืองทั้งการขยายอาณาเขตไปครอบครองหัวเมืองน้อยใหญ่จำนวนมาก
อีกทั้งพระพุทธศาสนาและการศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกก็เจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎกบาลีแล้วจารลงใบลานด้วยอักษรธรรมแจกจ่ายไปทั่วอาณาเขตที่ทรงปกครอง จึงส่งผลให้น่านในฐานะที่เป็นหนึ่งในเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนารับความรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนาและการศึกษาภาษาบาลีเข้ามาด้วย
จากข้อมูลดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า อิทธิพลจากอาณาจักรสุโขทัยในยุคแรกและอาณาจักรล้านนาในยุคต่อมา ทำให้การจารคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกภาษาบาลีงอกงามในดินแดนนครน่าน จนกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาบาลีแห่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งในภาคเหนือ
ดังจะเห็นได้ว่า ครั้งหนึ่งพระสิริมังคลาจารย์ จอมปราชญ์แห่งล้านนา ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีแตกฉานในอักขรวิธี วจีวิพากษ์ วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์ ได้เดินทางไปศึกษาภาษาบาลีที่นครน่านนานถึง 2 ปี เมื่อกลับไปเชียงใหม่ท่านได้รจนาผลงานทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ คือ เวสสันตรทีปนี มังคลัตถทีปนี และจักกวาฬทีปนี
ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงภาพพระอาจารย์สอนลูกศิษย์ให้เขียนบทสวดกรณีเมตตาสูตรด้วยอักษรธรรม
การที่ท่านเดินทางจากเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการสังคายนาที่พรั่งพร้อมไปด้วยนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย เพื่อไปเรียนรู้ภาษาบาลีที่น่าน แสดงว่า นครแห่งนี้ต้องมีความสำคัญในด้านการศึกษาพระไตรปิฎกและภาษาบาลีไม่น้อยทีเดียว
กระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้านครน่านชั้นหลังทุกองค์ต่างทรงให้การทำนุบำรุงอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 10 เรื่อง ราชวงปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช บันทึกไว้ว่า
ภาพวาดเจ้าอนันตวรฤทธิเดช แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์
เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครน่านองค์ที่ 62 จากจำนวนทั้งสิ้น 64 พระองค์ ทรงสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์บูรณปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียวัตถุเป็นอันมาก และทรงเป็นองค์ประธานในการจัดสร้างคัมภีร์ใบลาน จารึกพระธรรมคำสั่งสอน ถึง 7 ครั้ง ระหว่างปีจุลศักราช 1217 - 1248 รวมแล้วจำนวนหลายพันผูก
เมื่อจารคัมภีร์ใบลานแล้วเสร็จในแต่ละครั้ง ก็จัดให้มีงานสมโภชน์เฉลิมฉลอง ทั้งเจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชนต่างเข้าร่วมบูชากัณฑ์เทศน์และถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ด้วยศรัทธา ดังปรากฏเรื่องราวเมื่อสร้างคัมภีร์ในครั้งที่สามแล้วเสร็จว่า
นับตั้งแต่การสถาปนานครรัฐน่านในศตวรรษที่ 18 จวบจนเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายในปี พ.ศ. 2475 นครน่านได้ผ่านการศึกสงคราม และตกอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นต่างๆ ที่ผลัดกันขึ้นมาเรืองอำนาจหลายครั้งหลายครา
พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (มหาพรหม ณ น่าน) เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 , Cr: https://www.huglanna.com/index.php?topic=166.0
แต่ท่ามกลางความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การศึกษาภาษาบาลี และการจารคัมภีร์ใบลานก็ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายด้วยแรงศรัทธาทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร ก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตของชาวเมืองตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งในยามสงบสุขและในยามศึกสงคราม
อดีตของนครรัฐน่านเป็นเครื่องสะท้อนสะกิดใจว่า หากผู้คนในรัฐ คือ เจ้าผู้ครองนคร ข้าราชการ และผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองปกครองแผ่นดินด้วยศีลธรรม ให้ความเคารพต่อพระรัตนตรัย ความงอกงามไพบูลย์ย่อมเกิดขึ้น แต่หากกระทำไปในทิศทางตรงข้าม ชาติบ้านเมืองจะมีอัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตที่ดีงามให้ชนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ชื่นชมได้อย่างไร
ขอขอบคุณอาจารย์สมเจนต์ วิมลเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัดน่าน สำหรับข้อมูล และภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์