คำพ่อ คำเเม่
ตอน ความยึดติด
ลูกรัก...
ชีวิตของแต่ละคนนั้นย่อมประสบกับความเดือดร้อนมากมายหลายอย่าง ในจำนวนความเดือดร้อนนั้น มีความเดือดร้อนเพราะความยึดติดของเราเองรวมอยู่ด้วย ความยึดติดที่ว่านี้
ก็คือการที่คนเราไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินไป เช่นยึดถือในคน ในสิ่งของ ในหน้าที่การงาน ในความรู้ ตลอดถึงในความคิดของตัวเองจนเกินไป โดยยึดถือว่าคนนี้เป็นลูกของเรา คนนี้เป็นภรรยาของเรา หรือของสิ่งนี้เป็นสมบัติของเรา ดังนี้เป็นต้น
ความยึดติดเช่นนี้แหละที่เป็นตัวนำความเดือดร้อนมาให้คนเรา ยึดติดอะไรก็จะทุกข์เดือดร้อนเพราะอันนั้น หากไม่ยึดติดอะไรเลยก็จะไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนเลย
หากลูกต้องการจะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขจริงๆ ก็ต้องพยายามปล่อยวางอะไรๆ ลงบ้าง อย่าไปแบกภาระอะไรไว้มากนัก มันหนักแรงและเดือดร้อนด้วย ธรรมดาภาระที่แบกไว้บนบ่ามันจะหนักเรื่อยๆ แต่พอวางลงเสียได้ก็จะหายหนักและหายเหนื่อย ส่วนภาระที่ใจแบกไว้หรือยึดติดไว้นี่สิมันวางได้ยาก วางไม่ลง มันจึง
ทำให้หนักอกหนักใจและเดือดร้อนอยู่ร่ำไป
ถ้าแม้ว่ามีภาระหรือแบกภาระอะไรอยู่ แต่ไม่ยึดติด กับภาระนั้นมากนัก เวลาไหนควรปล่อยก็ปล่อยบ้าง เวลาไหนควรวางก็วางบ้าง เวลาไหนควรแบกก็แบกกันไป ทำได้อย่างนี้ก็จะพอทำให้หายใจ หายคอ
สะดวกขึ้น มีความปลอดโปร่งโล่งใจขึ้น และมีความสุขในชีวิตประจำวันได้บ้าง ดีกว่าไปแบกหรือยึดติดอยู่ตลอดเวลา วางได้บ้างก็จะมีสุขได้บ้าง วางได้หมดก็จะเป็นสุขได้ทั้งหมด นี่แหละคือสัจธรรมละลูกเอ๋ย
พระมหาโพธิวงศาจารย์
(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต)