การใช้ชีวิตคู่

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2563

โลกถาม? ตะวันธรรมตอบ

ตอน การใช้ชีวิตคู่

 

" การเลือกคู่นั้น จะอาศัยแค่เพียงความรัก
อย่างเดียวไม่ได้ จะต้องศึกษาว่า
ผู้ที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของเรามีศรัทธา
มีศีล มีทิฐิ เสมอกันหรือไม่ "

 

คำถาม ข้อ 1. คำสอนในพระพุทธศาสนากล่าวถึง “การมีเพศสัมพันธ์” อย่างไร ?

ตอบ =>  ชีวิตใหม่จะเกิดมาได้ต้องอาศัยพ่อแม่ประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบ ให้กายละเอียดมาปฏิสนธิ  เพศสัมพันธ์จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเพียงทางให้มนุษย์มาเกิดเท่านั้น เป็นหน้าที่และภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ที่จะเปลี่ยนภาวะจากสามี-ภรรยา ไปเป็นพ่อ-แม่ ไปเป็นต้นทางสวรรค์ ไปเป็นครูบาอาจารย์และกัลยาณมิตรคนแรกของลูก

             ดังนั้น วัตถุประสงค์จริงๆ ของเรื่องเพศก็มีเท่านี้  จงอย่าบริโภคกามอย่างขาดดวงปัญญาและขาดคุณค่า อีกทั้งการสำส่อนจะทำให้มีแต่ทุกข์กับโทษ ถ้าเราแต่งงานจะแสดงความรักฉันสามีภรรยา ด้วยสุขสัมผัสอย่างไรก็ได้ แต่อย่าหมกมุ่นกับเรื่องเหล่านี้มากจนเกินไป

             แต่อย่างไรก็ตาม ความอร่อยทางเนื้อหนังมังสา มันแค่ช่วงสั้น กินเวลาแค่ไก่กระพือปีกเท่านั้น แต่สิ่งที่ตามมามีผลข้างเคียงเช่น ความหึง ความหวง ความห่วง การทะเลาะเบาะแว้ง ความเห็นไม่ตรงกัน ความเชื่อไม่เหมือนกัน มีทิฐิมานะ การนอกใจ ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น

 

คำถาม ข้อ 2. คำสอนในพระพุทธศาสนากล่าวถึง “การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน” โดยตรงหรือไม่ อย่างไร  หรือมิได้กล่าวถึงเลย ?

ตอบ => ไม่มีการกล่าวถึงโดยตรงในเรื่อง “การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน” สำหรับคู่ที่จะแต่งงานเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง แต่พระพุทธเจ้าสอนให้สำรวมในกาม มีผัวเดียวเมียเดียว

          และวัฒนธรรมชาวพุทธ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะมี “เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน” ไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ ก็ตาม เพราะจะมีปัญหาติดตามมาในภายหลังอย่างมากมาย เช่น ท้องโดยไม่ตั้งใจ แล้วไปทำแท้งโดยให้เหตุผลว่าไม่พร้อม เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือ คุณภาพของใจเสียไป จิตใจตกต่ำ ขัดกับหลักศีลธรรม และความเป็น
ผู้มีอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษย์ ทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐคือ มีสติปัญญา สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่การตรัสรู้ธรรมได้

 

คำถาม ข้อ 3. จากสถิติคู่แต่งงานของชาวนอร์เวย์ พบว่ามีการหย่าร้างสูงถึงปีละ 50% จึงอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า มีคำแนะนำอะไรสำหรับคู่สามีภรรยาที่ตัดสินใจแต่งงานแล้ว ให้สามารถครองรักกันได้ตลอดชีวิต ?

ตอบ =>  ก่อนอื่นต้องรู้ว่า จะแต่งงานไปทำไม ควรจะเลือกคู่อย่างไร และต้องดำเนินชีวิตคู่อย่างไร เพราะวัตถุประสงค์ของการแต่งงานนั้น ไม่เพียงเพื่อแค่มีเพศสัมพันธ์หรือเป็นทางให้บุตรธิดามาเกิดเท่านั้น แต่ยังเป็นการอยู่ร่วมกัน เพื่อที่จะเป็นคู่คิดคู่ปรึกษาในการทำความดีร่วมกัน จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการมาเกิดเป็นมนุษย์ คือ ประคองกันไปจนกว่าจะสามารถสั่งสมความดี จนกระทั่งทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ แล้วไม่ต้องมาเกิดด้วยกันทั้งคู่หรืออย่างน้อยก็ไปพักกลางทางบนสวรรค์

             วัตถุประสงค์ของการแต่งงาน และการเลือกคู่นั้น จะอาศัยแค่เพียงความรักอย่างเดียวไม่ได้ เพราะไม่เพียงพอ เพราะนอกเหนือจากความรักแล้ว จะต้องศึกษาว่าผู้ที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของเรามีศรัทธา มีศีล มีทิฐิ เสมอกันหรือไม่ แล้วก็ต้องดูกันไปนานๆ ซึ่งชาวพุทธเขาจะใช้ระยะเวลาที่จะศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างนี้เขาเรียกว่า การดูใจกัน บางคนก็เป็นปี บางคนก็หลายๆ ปี เพื่อศึกษาตรงนี้

 

               อีกทั้งยังต้องศึกษาไปถึงข้อปฏิบัติที่เมื่อเป็นสามี-ภรรยากันแล้ว สามีควรจะปฏิบัติต่อภรรยาอย่างไร  ภรรยาควรจะปฏิบัติต่อสามีอย่างไร ซึ่งอย่างน้อยต้องศึกษาข้อปฏิบัติที่สามีจะพึงมีต่อภรรยา ภรรยาจะพึงมีต่อสามี เช่น โกรธกันคนละเวลา เสน่หาเวลาเดียวกัน ต้องศึกษาตรงนี้ ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก แต่ถ้าย่อๆก็มีอยู่ 5 ย. คือ ต้องยิ้มแย้มให้กันและกัน  ต้องเยือกเย็น ต้องยกย่อง ต้องยืดหยุ่น และต้องยอมกันบ้าง สมมติว่าเราจะรักษาคู่ครองให้อยู่กับเราได้ เราจะต้องทำเหมือนกับเราจับนกไว้ในมือ ถ้าอยากจะให้นกอยู่ในมือเรา 100% เราต้องกำหลวมๆ คือ กำแค่ 99% แต่ถ้าหากเรากำ 100% เราก็จะได้ศูนย์ เพราะฉะนั้น ต้องผูกหย่อนๆ คือ มีความยืดหยุ่น ผูกหย่อนๆ อย่างนี้ก็จะอยู่ร่วมกันไปได้อย่างยาวนาน และนอกจากนั้นยังต้องศึกษาวิธีการครองใจกัน เช่นต้องมีการแบ่งปัน มีการให้ซึ่งกันและกัน มีคำพูดที่ไพเราะ และก็ช่วยเหลือเกื้อกูล  วางตัวให้เหมาะสมว่าผู้เป็นภรรยาควรทำอย่างไร ผู้เป็นสามีควรทำอย่างไร ซึ่งมีข้อปฏิบัติอีกมาก ไม่สามารถที่จะแนะนำได้อย่างครบถ้วนในเวลาที่มีเพียงจำกัดอย่างนี้


             แต่ถึงแม้จะทำตามที่แนะนำมาข้างต้นแล้วก็ตาม ซึ่งก็มีบางคู่ที่ไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ แต่จะมีปริมาณน้อย ซึ่งตรงนี้ต้องเอาเหตุผลในเรื่องของ law of karma หรือกฎแห่งกรรมเข้ามาศึกษากันดูอีกทีว่ามาจากสาเหตุใด แต่ถ้าหากได้ปฏิบัติตามที่ได้แนะนำดังข้างต้นแล้ว 80-90% ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างยืดยาว


             ยกตัวอย่างในเรื่องของ law of karma หรือกฎแห่งกรรมของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ในทรรศนะของชาวพุทธ สามีภรรยาคู่นี้ เคยสร้างบุญร่วมกันมา แต่เคยอยู่ร่วมกันมาแค่ช่วงสั้นๆ เมื่อมาเกิดเจอกันใหม่ ก็ได้มาแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน แต่เมื่อถึงคราวหมดกำลังบุญที่เคยอยู่ร่วมกัน หรือหมดกำลังบุญที่เคยสร้างร่วมกัน ก็จะทำให้ต้องแยกจากกันไป


              หรืออีกกรณีหนึ่ง อาจจะเป็นกรรมส่วนตัวของภรรยาที่เคยทำไว้ในอดีตชาติ ซึ่งในทรรศนะของชาวพุทธแล้ว การมาเกิดเป็นผู้หญิงเพราะมีกรรมกาเม เคยเจ้าชู้มาในสมัยอดีตชาติที่เคยเกิดเป็นผู้ชาย และก็เคยทำกรรมอย่างนี้มา เช่น ตอนสมัยที่เคยเกิดเป็นผู้ชายได้มีภรรยา มีบุตร แล้วก็ไม่เลี้ยงภรรยาและบุตร ให้ภรรยาเลี้ยงอย่างเดียว และหย่าร้างกัน เลิกจากกัน เพราะฉะนั้นเมื่อกรรมส่งผล ก็ต้องได้รับผลอย่างนี้


              หรือมีกรรมร่วมกันในกรณีอื่นๆ อีกหลายๆ กรณี เพราะแต่ละคนที่มาเกิดอยู่ร่วมกันเป็นพ่อ แม่ ลูก ได้ เพราะมีกรรมที่ทำร่วมกัน หรือทำคล้ายๆ กันมา

 


 

จาก หนังสือ "โลกถาม? ตะวันธรรมตอบ " 

บทสัมภาษณ์ : ของคุณครูไม่ใหญ่  โดยสตรีนักสื่อสารมวลชนชาวนอร์เวย์ (โมนิก้า เอยเอิ้น)

ฟังหนังสือเสียง ตอน การใช้ชีวิตคู่  https://youtu.be/YcVyfSjvtGE?list=PL_Y8WOS3pL98oo156HBdYlRRcLAxB4Dlk

โหลดหนังสือ   http://kalyanamitra.org/book/index_dhammabook_detail.php?id=766

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03847983678182 Mins