หยาบให้ตรึกละเอียดใหแตะ

วันที่ 09 กค. พ.ศ.2563

หยาบให้ตรึกละเอียดใหแตะ

 

 

จงเป็นมิตรกับความคิดทุกๆ อย่าง

คิดดีบ้างเกือบดีบ้างช่างหัวมัน

แล้วเลือกสรรความคิดดีใส่ใจเรา

เดี๋ยวเข้าเป้าเข้ากลางสว่างเล้ย

                                                                                  ตะวันธรรม

 

              เมื่อเราได้บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆคนนะ ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วห้วแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าบีบเปลือกตาอย่ากดลูกน้ยน์ตานะ

 

           แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่นให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใสไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดปล่อยวาง ทำใจให้ว่าง ๆ

 

           คราวนี้เราก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเรานั่นปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น สมมติให้เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง เป็นที่โล่งๆ ว่างๆ กลวงภายใน คล้ายๆ ท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ

 

           คราวนี้เราก็นึกทบทวนสิ่งที่ได้แนะนำเอาไว้เมื่อวันอาทิตย์ว่า ถ้าจิตหยาบให้ตรึก ถ้าจิตละเอียดให้แตะ มีแต่ตรึกกับแตะนะ

 

ถ้าจิตหยาบให้ "ตรึก" 

 

           ตรึก คืออะไร

           ตรึก ก็คือการนึกถึงภาพดวงแก้วใสๆ พระแก้วใสๆ อย่างสบายๆ คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย สมมติเราถนัดนึกถึงดวงแก้วก็นึกดวงแก้ว ถนัดนึกถึงองค์พระก็นึกองค์พระหรือนอกเหนือจากนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยเห็นเจนตา นึกถึงสิ่งนั้นเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นึกอย่างสบายๆ นี่แหละ เรียกว่าตรึก  

 

           เพื่อให้ใจของเรามีหลักยึด จะได้ไม่ซัตส่ายไปคิดเรื่องอื่น เพราะใจก็เหมือนกับม้าพยศดิ้นรนที่จะวิ่งไปตามอำเภอใจของตัว เพราะฉะนั้นวิธีปราบม้าพยศวิธีหนึ่งก็คือ ผูกเอาไว้กับหลัก ไปไหนไม่ได้ พอมันเหนื่อยหมดแรง มันก็หมอบอยู่ตรงนั้นแหละ  

 

           ใจที่แวบไปแวบมาคิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ ก็เหมือนกันเราเอามาผูกไว้กับหลักอย่างสบายๆ ผูกไว้ด้วยการนึก จะ นึกเป็นภาพก็ได้ ไม่เป็นภาพก็ไม่เป็นไร ถ้าเรามั่นใจว่าไม่นึกเป็นภาพแล้วใจไม่ฟุ้ง แต่สำหรับคนใจฟุ้งต้องมีหลักยึดควรจะเป็นภาพ แล้วก็มีเสียงประกอบ คือ คำภาวนา สัมมาอะระหัง เรื่อยไป ภาวนาไปจนกว่าใจจะหยุดนิ่ง ซึ่งจะต้องใช้ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นต้น แล้วตอนตรึกนี้ต้องให้มีสติ สบาย สม่ำเสมอ เดี๋ยวมันจะหยุดเอง ถูกส่วนไปเอง

 

            ตรึกไว้เรื่อย นั่งตรึก ยืนตรึก เดินตรึก นอนตรึก วิ่ง exercise ออกกำลังกายก็ตรึกไปด้วย ใหม่ๆ มันก็นึกไม่ออก ก็ทำความรู้สึกว่ามีอยู่ภายใน พอต่อๆ ไปก็ค่อยๆนึกได้รัว ๆ ราง ๆ

 

           พอตรึกไปเรื่อยๆ ผูกใจเอาไว้ ทำอย่างนี้ซํ้าแล้วซํ้าเล่า หมื่นครั้ง แสนครั้ง ล้านครั้ง ควบคู่กับคำภาวนา สัมมาอะระหัง เรื่อยไป พอใจมันหยุดนิ่งถูกส่วนเข้า มันก็จะทิ้งคำภาวนาไปเอง จะมีอาการเหมือนกับเราลืมค่าภาวนา แต่ว่าใจไม่ฟังไปคิดเรื่องอื่น หรือเกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากจะภาวนาสัมมา อะระหัง ต่อไป อยากรักษาใจให้หยุดนิ่งๆ อยู่ที่ดวงใสๆ หรือพระแก้วใสๆ ถ้ามีอาการหรือรู้สึกอย่างนี้ ก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาสัมมาอะระหัง ใหม่ ให้หยุดใจไปที่กลางดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ เรื่อยไปเลย

 

ถ้าจิตละเอียดให้ "แตะ"

 

         ไม่ช้าใจก็จะถูกส่วนไปเอง พอถูกส่วนก็จะตกศูนย์วูบลงไปที่ฐานที่ ๖ ซึ่งอยู่ห่างกันแค่ ๒ นิ้วมือ ในกลางท้อง ของเราในระดับเดียวกับสะดือ ก็จะไปยกดวงธรรมด้วยใจให้ลอยขึ้นมาที่ฐานที่ ๗ ภาพที่เห็นก็จะเป็นดวงลอยขึ้นมาจากฐานที่ ๖ แล้วก็หยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ เป็นดวงใสๆ ดวงนี้เรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ดวงปฐมมรรคแปลว่า เบื้องต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน

 

          เมื่อดวงธรรมดวงนี้เกิดขึ้นนั่นแหละ แปลว่าใจเราละเอียดแล้ว นับจากดวงธรรมนี้เป็นต้นไปให้แตะ ใจเบาๆ

 

          แค่เราแตะเบาๆ ดวงธรรมก็จะขยายกว้างออกไปเลยและจะเข้าไปสู่ข้างในตรงจุดกึ่งกลางใสๆ เล็กๆ เท่ากับปลายเข็ม หรือเท่ากับดวงดาวในอากาศ แตะใจเรื่อยไปเลย แตะไปเบาๆ มันก็เข้าไปเอง จนกระทั่งเห็นกายในกาย องค์พระในองค์พระ เพราะฉะนั้นอย่าไปตรึก ละเอียดให้แตะ จำ ๒ คำเอาไว้นะ หยาบให้ตรึก ละเอียดให้แตะ

 

เริ่มต้นด้วยความพึงพอใจ ปรับให้สบาย

 

          ทีนี้แม้จะตรึกก็ตาม เราก็ต้องฉลาดในการตรึก ให้สังเกตอย่างนี้ ปกติเราจะทำงานอะไร หรือจะเล่นอะไรก็ตาม จะทำงานจะเล่นกีฬา หรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะต้องเกิดฉันทะขึ้นมาเสียก่อน คือมีความพึงพอใจ มีความสุข สนุกกับการเล่นนั้น

 

           เอาแค่อบายมุข สมมติเราเล่นไฟ นั่งมันได้ทั่งวันทั่งคืน บางทีห้องน้ำก็ไม่เข้า ข้าวก็ไม่กิน นั่งเป็นชั่วโมงๆ เหมือนกับติดกาวอย่างดีไว้กับพื้นนั่นแหละ มันมีได้มีเสีย มีลุ้นระทึก ได้ก็ลิงโลด เสียก็เสียดายทรัพย์ มีได้มีเสีย สรุปตอนสุดท้ายเสีย แต่เราก็เพลินกับมันนะ มีความพึงพอใจ เพราะว่ามีลุ้นมีได้มีเสีย แต่ตอนสุดท้ายหายนะ เพราะว่ามีลุ้น มีได้ มีเสียเราเกิดความพึงพอใจจึงไม่เบื่อ

 

          จะเล่นกอล์ฟก็มีความสุขในการเล่น มีลุ้นในการตี นี่สำหรับคนเล่นออกกำลังกายเป็นกีฬานะ ถ้าเป็นการพนันก็มีลุ้น มีได้ มีเสีย มันก็เพลิน เกิดความพึงพอใจ ก็ไม่เบื่อฟุตบอลก็เหมือนกัน ดูบอล มีลุ้น มีได้ มีเสีย สรุปตอนสุดท้ายก็หายนะ พอลุ้นแล้ว มีได้ มีเสีย มันก็ไม่เบื่อ มีความพึงพอใจ สนุก แล้วเป็นสุขกับการได้ดู         นั่งธรรมะคล้ายๆ อย่างนั่นแหละ แต่ว่าเป็นฝ่ายดี ฝ่ายสว่าง ที่ยกตัวอย่างมานั่นเป็นฝ่ายมืดสังเกตนะลูกนะ สังเกต ไม่ว่าเราจะวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เลยทีเดียวก็ได้ หรือวางจากฐานที่ ๑, ๒, ๓, ๔,๕, ๖ ดูตรงนี้ไม่ว่าจะ นึกเป็นภาพ หรือไม่เป็นภาพก็ตาม

 

         สมมติไม่เป็นภาพ เราวางอารมณ์อย่างนี้ทำความรู้สึกอย่างนี้ พึงพอใจไหม สังเกตตรงนี้ก่อน พึงพอใจไหม ถ้าพึงพอใจมันก็ไม่เบื่อในการนั่ง จะนั่งไปนานแค่ไหนก็ได้ แม้ไม่เห็นอะไร นั่งไปนานแค่ไหนก็ได้ไม่เบื่อเลย แถมมีความรู้สึกว่า หมดเวลาเร็วด้วยซํ้าไปอย่างนี้ใช้ได้

 

        หรือถ้านึกเป็นภาพ นึกอย่างนี้แล้วมันไม่กดลูกนัยน์ตาไม่เพ่ง ไม่จ้อง ไม่บังคับใจ รู้สึกสบาย แม้บางครั้งเห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้าง นั่งแล้วรู้สึกหนัายิ้มๆ เบิกบาน มีความพึงพอใจเวลาจะผ่านไปเท่าไรไม่คำนึงถึง ไม่ห่วงเรื่องอะไรทั้งสิ้นในโลก ไม่ให้ความสำคัญต่อสิ่งใด นอกจากดวงหรือองค์พระหรือสิ่งที่เราคุ้นเคย มีความยินดีที่จะอยู่กับสิ่งนี้ แค่นี้เท่านั้นรู้สึกสบาย ๆ พึงพอใจตรงนี้แหละที่ทำให้ไม่เบื่อ

 

นั่งแล้วเบื่อเซ็ง แสดงว่าเริ่มผิดวิธี

 

         ถ้ารู้สึกว่านั่งแล้วไม่เบื่อ อย่างนี้ถูกวิธี ทำเรื่อยไปนะลูกนะ แต่ถ้ารู้สึกเบื่อนั่นแสดงว่าเริ่มผิดวิธีแล้ว เริ่มลุ้น เริ่มเร่ง เริ่มเพ่ง เริ่มจ้องเริ่มไม่ถูกวิธี ลืมตาเลยนะลูกนะ ลืมตาเลยลืมตาแล้วหายใจสบายๆ ดูโน่น ดูนี่ ดูดวงแก้วดูองค์พระ ดูรูปหลวงปู่ รูปคุณยาย ดูทิวทัศน์ดูอะไรก็แล้วแต่ให้ม้นหายเบื่อ หายเซ็ง หรือไม่ก็ลุกขึ้นไปเดินล้างหน้าล้างตาให้หายเบื่อหายเซ็ง สดชื่น พอรู้สึกว่าสบายใจ มีอารมณ์อยากนั่ง เอ้า กลับมานั่งใหม่ แล้วก็เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ ตรงนี้สำคัญนะ

 

          วางใจนิ่งๆ อย่าให้ลูกนัยน์ตาหนัก นิ้วอย่ากระดก ไหล่อย่ายก ท้องไม่เกร็ง สบาย ไม่คาดหวังอะไรทั้งสิ้น อยากจะวางใจนิ่งๆ อย่างเดียว เป็นหนุ่มอารมณ์เดียว สาวอารมณ์เดียว อารมณ์ดี อารมณ์เดียว อารมณ์สบาย ไม่ให้เบื่อเลยทำ อย่างนี้ได้ไหมลูก ต้องทำให้ได้อย่างนี้นะ แล้วเดี๋ยวจะดี เดี๋ยวมืดตื้อมืดมิดเราก็มีสิทธิ์เข้าถึงธรรมได้ ตรงนี้แหละหัวเลี้ยวหัวต่อ จำให้ดีทีเดียวนะ จำแล้วก็ทำให้ได้

 

         ถ้าทำไม่ได้ ลืมตาเลย ดูโน่นดูนี่ ถ้าเบื่อหน่าย เซ็ง เอ้าลุกขึ้นไป บิดเนื้อบิดตัว บิดเส้นบิดสาย ดูท้องฟ้า ดูทิวทัศน์แต่อย่าไปดูโทรทัศน์นะ ดูทิวทัศน์ ล้างหน้าล้างตา สดชื่นเอ้า กลับมาใหม่ ถ้านั่งรวมกันก็ดูคนไหนเขานั่งดี แต่ดูท่านั่งเขานั่งดีนะ อย่าไปดูหน้าดูตา โอ้ คนนี้สวยจัง คนนี้หล่อจังเดี๋ยวกิเลสมันฟุ้ง นั่งไม่ติด ให้ดูแค่ว่า เออ แหม เขาคงนั่งดีนะ ตัวตรง ตัวตั้ง หลังพิงอากาศ สงบนิ่ง ดูสิเขามีมือ ๒ มือ๑๐ นิ้ว หันมาดูของเรา ดูแค่มือพอนะ อย่างอื่นไม่ต้องไปดูเรา ๒ มือ ๑๐ นิ้วเหมือนกัน เออ เขาทำได้ เราก็ต้องได้ กลับมานั่งใหม่นะลูกนะ

 

         มานั่งนิ่งๆ ให้ใจสบ๊าย สบาย ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่นให้สมกับเป็นนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาที่เราลดอายุลงมาเป็นนักเรียนอนุบาลอยู่ในช่วงจังหวะชีวิตที่ไม่มีความคิดอะไรเลย ๓ ขวบ ๔ ขวบ ๕ ขวบ ไม่มีความคิดอะไรเลยแล้วนั่งอย่างสบายๆ 

 

มีความพียร ทำ ถูกวิธี ต้องได้

 

         ธรรมะไม่หนีไปไหน มันอยู่ในตัวนั่นแหละ ทั้งดวง ทั้งกาย ทั้งองค์พระ อยู่ในตัวเรานะลูกนะ ไม่ได้ไปอยู่โลกอื่น ห่างจากปากช่องจมูกถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แค่ศอกเดียวเท่านั่น เราก็ค่อยๆ ฝึกไป

 

        ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความพึงพอใจ ไม่เบื่อ จากความไม่เบื่อจะนำเข้าไปสู่ความสบาย และสบายยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ใจมันก็นิ่ง ไม่ซัดส่าย เพราะมันสบาย สบายกาย สบายใจ ก็นิ่งๆ เฉยๆ เดี๋ยวก็นิ่งในนิ่งๆ นิ่งตรงไหนก็ช่างมัน เรานิ่งไปก่อน เดี๋ยวสบ๊ายสบาย เดี๋ยวจะสนุกกันใหญ่

 

       ความสว่างจะมา มันจะมืดตลอดชาติได้อย่างไร จะมาสู้คนทำความเพียรอย่างถูกวิธีได้อย่างไร มันต้องแพ้เรา เดี๋ยวก็สว่างขึ้นมาเลย อย่าลืมนะ สบ๊าย สบาย จะได้ไม่เบื่อ ให้สบาย นั่งหน้ายิ้มๆ

 

       หยาบให้ตรึก ละเอียดให้แตะ แตะเบาๆ แตะแผ่วๆ เดียวใจจะขยาย โอ้ สนุกก้นใหญ่ ตัวขยาย ใจขยาย แสงสว่างขยายดวงแก้วดวงธรรมขยายใสบริสุทธิ์ องค์พระขยายใสบริสุทธิ์ เดี๋ยวก็เข้ากลางของกลางไปได้เอง อย่างนี้นะ

 

       คืนนี้เช่นเคยเหมือนทุกคืน เราเหนื่อย เราง่วง เราเพลียนั่งแล้วมันจะตึง ก็ปล่อยให้หลับอยู่ในกลางกาย เมื่อยก็ขยับเบาๆ ฟุ้งหยาบก็ลืมตา แล้วก็ว่ากันใหม่ ถ้าฟุ้งละเอียดไม่ต้องลืมตานะ ทำเป็นรู้แล้วไม่ชี้ เดี๋ยวความคิดเหล่านั้นก็หนีหายไปหมดเลย คืนนี้ให้ลูกทุกคนสมหว้งดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยทุกๆ คน ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะ

พระเทพญาณมหามุนี วิ.

วันจันทร์ที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 3 

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0050310015678406 Mins