วันวิสาขบูชา
Visakha Puja (Vesak Day)
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือราวเดือนพฤษภาคม แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน วันวิสาขบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน
วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (คือเดือน 6) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ ในวันวิสาขบูชา ดังนี้
1. เป็นวันประสูติ นับเป็นวันที่รูปกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นบนผืนโลก ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ"
2. เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มต้นอัสสัตถพฤกษ์ หรือต้นพระศรีมหาโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระมหาบุรุษได้ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณ
3. เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ณ ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา
ประวัติวันวิสาขบูชาและความสำคัญของ วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการ ได้แก่...
1. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ
ย้อนไปก่อนพุทธศักราช 80 ปี ณ สวนลุมพินี ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ พระจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะ ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันนี้ นับเป็นวันที่รูปกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นบนผืนโลก
พระนางสิริมหามายาผู้เป็นพุทธมารดา เมื่อทรงตั้งครรภ์ ด้วยความที่พระนางทรงรักษาศีลและฝึกสมาธิมามาก ทำให้ทรงเห็นพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในครรภ์กำลังนั่งขัดสมาธิอย่างชัดเจน เหมือนอย่างกับพระโพธิสัตว์นั่งสมาธิอยู่นอกพระครรภ์ ครั้นถึงคราวพระโพธิสัตว์จะประสูติปรากฏว่า พระพุทธมารดาทรงประทับยืน แทนที่จะนอนเหมือนอย่างกับคนอื่นๆ แล้วพระโพธิสัตว์ประสูติโดยเอาพระบาทออกมาก่อน ประดุจพระธรรมกถึกหย่อนขาขวาลงจากธรรมาสน์ ทันทีที่พระบาทเหยียบถึงพื้น ก็สามารถยืนและเดินได้เลยทันที นับเป็นอัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นได้ยาก
เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติและยืนได้ถนัดแล้ว ทรงเปล่งอาสภิวาจาที่ทรงยืนยันถึงวัตถุประสงค์ในการเกิดอย่างชัดเจนว่า
“เราเป็นผู้เลิศ ผู้เจริญ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีแก่เราอีกแล้ว”
ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังประสูตินั้น ได้บังเกิดความสว่างไสวขึ้นในโลกและไกลไปถึงหมื่นโลกธาตุ บุพนิมิต 32 ประการปรากฏขึ้น ในหมื่นจักรวาลได้มีแสงสว่างสุดจะประมาณแผ่ซ่านไป พวกคนตาบอดต่างก็มองเห็นได้ พวกคนหูหนวกก็ได้ยินเสียง พวกคนใบ้ก็พูดได้ พวกคนค่อมก็มีตัวตรงขึ้น คนง่อยเปลี้ยเสียขาก็เดินด้วยเท้าได้ สัตว์ทั้งปวงที่ถูกจองจำก็พ้นจากเครื่องพันธนาการ ไฟในนรกทุกแห่งก็ดับ ในเปรตวิสัยความหิวกระหายก็สงบระงับ เหล่าสัตว์เดียรัจฉานก็ไม่มีความกลัวภัย โรคและไฟกิเลสมีราคะเป็นต้นของสัตว์ทั้งปวงก็สงบระงับ นี่ก็นับเป็นความมหัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นได้ยากในโลกแท้ ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"
ครั้นพระองค์ทรงเจริญวัยขึ้น ก็ศึกษาความรู้จากครูที่มีความรู้อันสูงสุดของแผ่นดิน ท่านใช้เวลาเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น ก็เรียนจนหมดภูมิความรู้ของครูที่อุตสาหศึกษามาตลอดชีวิต แม้พระองค์จะทรงพรั่งพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติและคุณสมบัติ แต่ก็ไม่ประมาทในชีวิต ครั้นได้ทอดพระเนตรเทวทูต คือ เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และก็เห็นสมณะ ก็คิดได้ว่า ต้องเลือกชีวิตสมณะ เพราะเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด ที่จะมุ่งไปสู่หนทางพ้นทุกข์ ท่านจึงเสด็จออกผนวชเมื่อได้ 29 พรรษา และได้ทรงม้ากันฐกะ ออกผนวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา
2. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
หลังจากได้บำเพ็ญเพียรมายาวนานถึง 6 ปี ภายใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ในวันนั้น พระบรมโพธิสัตว์ได้ทรงนั่งคู้อปราชิตบัลลังก์ซึ่งแม้สายฟ้าจะผ่าลงตั้ง 100 ครั้งก็ไม่แตกทำลาย โดยทรงอธิษฐาน
“แม้เลือดและเนื้อในกาย จักแห้งเหือดเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ได้รู้ ได้เห็นธรรมอันยิ่งแล้ว จักไม่ยอมลุกจากบัลลังก์นี้เป็นอันขาด จักนั่งอบรมกาย วาจา ใจ ให้ละเอียดถึงที่สุดให้ได้ ”
พอพญามารรู้เข้า ก็สะดุ้งพรึบกันทั้งภพทีเดียว ได้เข้ามาสิงบังคับท้าวปรนิมมิตสวัตดี ให้เป็นเทวบุตรมาร แล้วก็พากันยกพลพักมารมาข่มขู่ มาอ้างสิทธิ์ว่า ที่ตรงนี้น่ะ เป็นที่ของพญามาร โดยมีเสนามารพร้อมด้วยพรรคพวกของตัวมาร พระโพธิสัตว์ท่านก็ไม่หวั่นไหว ท่านนั่งทำใจหยุดใจนิ่งอย่างเดียว ในที่สุดพระองค์ก็สามารถเอาชนะได้ ด้วยอานุภาพแห่งบารมีธรรม ที่สั่งสมมาอย่างดีแล้ว
พระมหาบุรุษทรงพิจารณาปัจจยาการอันประกอบด้วยองค์ 12 โดยอนุโลมและปฏิโลม หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว 12 ครั้ง จนจรดน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด พระมหาบุรุษได้ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณ ในเวลาอรุณขึ้น
เมื่อพระมหาบุรุษทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว โลกันตนรกกว้าง 500 โยชน์ในระหว่างจักรวาลทั้งหลาย ไม่เคยสว่างด้วยแสงพระอาทิตย์ 7 ดวง ก็ได้มีแสงสว่างไสวเป็นอันเดียวกัน มหาสมุทรลึก 84,000 โยชน์ ได้กลายเป็นน้ำหวาน แม่น้ำทั้งหลายหยุดไหล คนบอดแต่กำเนิดก็มองเห็นรูป คนหนวกแต่กำเนิดก็กลับได้ยินเสียง คนง่อยเปลี้ยแต่กำเนิดก็เดินได้ กรรมกรณ์ทั้งหลายมีเครื่องจองจำเป็นต้น ได้ขาดหลุดไป !! พระมหาบุรุษได้รับการบูชาจากเหล่าทวยเทพด้วยสมบัติอันประกอบด้วยสิริหาปริมาณมิได้ ทรงเปล่งอุทานว่า
“เราเมื่อแสวงหานายช่างคือตัณหา ผู้กระทำเรือนเมื่อไม่ประสบ ได้ท่องเที่ยวไปยังสงสารมิใช่น้อยการเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อนนายช่างผู้กระทำเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักทำเรือนไม่ได้อีกต่อไปซี่โครงทั้งปวงของท่าน เราหักแล้ว ยอดเรือนเรากำจัดแล้ว จิตของเราถึงวิสังขารคือนิพพานแล้ว เราได้ถึงความสิ้นตัณหาแล้ว”
สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ
- ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
- ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย
- ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขยญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
3. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน
เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา และวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ณ ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา วันนี้...เป็นวันที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน รูปกายที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อแตกดับลง คงเหลือแต่พระธรรมกาย เสด็จสู่พระนิพพาน ก่อนจะเสด็จดับขันธ์นั้น ยังทรงมีมหากรุณาประทานปัจฉิมโอวาทแก่พุทธบริษัทว่า
"สังขารร่างกายของเราไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"
วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้
และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดให้วันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา
โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน
หลักธรรมที่สำคัญในวันวิสาขบูชา ที่ควรนำมาปฏิบัติ
1. ความกตัญญู
คือ การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึงการตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง บิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ
ในพระพุทธศาสนา เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนกับบุพการี ผู้ชี้ให้เห็นทางหลุดพ้นแห่งความทุกข์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรตอบแทนด้วยความกตัญญูกตเวทีด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไป
2. อริยสัจ 4
คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
- ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือความยากจน เป็นต้น
- สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก "ตัณหา" อันได้แก่ ความอยากได้ต่าง ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
- นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้
- มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ
3. ความไม่ประมาท
คือการมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนต้องใช้สติ เพราะสติคือการระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา ดังนั้นในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยความมีสติ