เป็นโอกาสให้กำลังใจแก่ผู้น้อย

วันที่ 17 มิย. พ.ศ.2564

17-6-64-2-b.jpg

เป็นโอกาสให้กำลังใจแก่ผู้น้อย

                  จากวารสาร “ความรู้คือประทีป” ฉบับหนึ่ง ปรากฏมีบทความเกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ตอนหนึ่งได้ กล่าวถึงพระพรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (ต้นตระกูล เทวกุล) ซึ่งเป็นพระอนุชา เนื่องในวาระวันคล้ายวันประสูติครบ ๕๐ ชันษา ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระองค์ถึงพระอนุชาดังนี้

 

                 “ฉันได้ทราบมาว่าวันเกิดนี้เป็นปีที่เธอมีอายุครบ ๕๐ ปี จะกล่าวว่ามีความยินดีที่เธอจะมีอายุมากถึงเพียงนั้นก็มิใช่ ความยินดีบังเกิดจากแลถอยหลังขึ้นไปว่า เธอกับฉันได้ทำราชการด้วยความรักใคร่อาศัยกัน และกันในส่วนพี่น้อง ตั้งแต่เรายังเป็นเด็กด้วยกันมาล่วงเวลาช้านานจนถึง นับว่าเป็นคนแก่ด้วยกัน การที่ได้ทำมาแล้วล้วนเป็นการสำคัญ ๆ ได้ก้าวล่วงข้ามมาเป็นขั้น ๆ จนถึงเวลาบัดนี้ แต่ข้อที่ควรยินดีต่อความสำเร็จ อันเรามุ่งหมายให้กระทำให้เป็นไปได้ถึงเพียงนี้ เมื่อระลึกถึงการอันล่วงมาแล้วเช่นนี้ ให้บังเกิดความยินดีปลื้มเปรมในใจ เราอยากมาชักชวนเธอให้ระลึกถึง แล้วให้บังเกิดความยินดีในใจเช่นได้เกิดขึ้นแก่ตัวฉัน เมื่อความยินดี เกิดขึ้นเช่นนั้นก็นับว่าเป็นมงคลอันอุดม

ส่วนในการอนาคต เมื่อพิจารณาดูฉันกับเธอก็ยังได้ทำการมาด้วยกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีท่าทางที่จะได้อาศัยกันและกันทั้งราชการแผ่นดิน และการในส่วนตัวต่อไปภายหน้าอีกช้านาน ไม่มีเหตุอันใดที่จะให้สอดแคล้วสงสัยว่า เราจะไม่ทำการด้วยกันจนสุดความสามารถ เมื่อแลดูการเช่นนี้ก็ให้เกิดความยินดีปรีดาในใจว่า ยังจะได้ร่วมสุขร่วมทุกข์กันไปอีกนาน นับว่าเป็นมงคลประการที่สอง

อนึ่ง ด้วยเดชะความสัตย์ที่ฉันตั้งใจประพฤติตัวอยู่ในธรรม ดำเนินราชการด้วยความมุ่งหมายให้ดำรงอิสรภาพของแผ่นดินแล้ว ให้มีความสมัครสโมสรในพระราชบรมวงศานุวงศ์ แลให้ประชาราษฎร์มีความสุขสำราญ เจริญด้วยโภคทรัพย์ นี่เป็นความสัตย์ที่ตั้งอยู่ในใจฉัน

อันสัตยาธิษฐานนี้ย่อมถือมาแต่โบราณว่า เมื่อนำมาเป็นสัตยาธิษฐานแล้ว จึงตั้งความปรารถนาอย่างหนึ่งอย่างใด อาจสำเร็จได้โดยง่าย”

 

                   ตรงนี้อาตมาขอฝากพวกเรานะว่า จะทำอะไรก็ควรจะทำให้จริงใจเพื่อที่จะได้เป็นสัจจะติดตัวไป ด้วยสัจจะนี้แหละ เมื่อถึงคราวจะนำมาเป็นคำอธิษฐาน ก็จะทำให้คำอธิษฐานนั้นได้ผลสมความปรารถนา 

 

                   ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งสัตยาธิษฐานโดยอ้างจากสัจจะ ของพระองค์ ๓ ประการดังนี้

ประการที่ ๑ สัจจะจากการที่พระองค์และพระอนุชาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทรง สร้างความดีร่วมกันมา ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะราชการ 

ประการที่ ๒ ในอนาคต ทั้งสองพระองค์ยังจะได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขช่วยเหลือกันต่อไปข้างหน้าอีกนาน

ประการที่ ๓ พระองค์มีความจริงใจ ที่จะทำนุบำรุงประเทศ ชาติบ้านเมืองและพระบรมวงศานุวงศ์ให้สุขสำราญ 

                   พระองค์ทรงตรัสต่อไปว่า

“...อาศัยเหตุที่ตั้งแห่งสวัสดีที่ได้ยกมากล่าวแล้ว ๓ ประการ เป็นที่ตั้ง ขออำนวยพรให้เธอมีชนมายุยืนนาน ประกอบด้วยกำลังกายและปฏิภาณยั่งยืนมั่นคงสืบไปในภายหน้า ความมั่นคงอันนี้ จะเป็นเครื่องนำมาแห่งความสุขโสมนัสสวัสดีมงคลแก่ตัวเธอในอภิลักขิตสมัยวันนี้และปีซึ่งจะเป็นไปในภายหน้า

ฉันได้ส่งเงินห้าสิบชั่งมาทำขวัญเท่าปีอายุของเธอปีละชั่ง เป็นส่วนพระราชทานของพระราชากับดุมมือสำรับหนึ่ง ส่งมาเป็นส่วนซึ่งมิตร ที่รักให้ต่อเธอขอให้รับไว้ใช้เป็นที่ระลึกถึงกันสืบไป...”

 

                 ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งประชาชนถวายพระนามแด่พระองค์ ว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ทรงแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมและน้ำพระทัยอันประเสริฐทั้งในฐานะพี่ที่มีต่อน้อง และในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบ ๕๐ พรรษาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
ในฐานะพี่กับน้อง พระองค์ใช้คำว่า “มิตรที่รัก” คือเป็น กัลยาณมิตรต่อกัน ทรงพระราชทานคุมมือสำรับหนึ่ง (เป็นกระดุม สำหรับใช้ติดที่ข้อมือของเสื้อแขนยาวสมัยก่อน ซึ่งไม่มีกระดุมพลาสติก เย็บติดไว้ดังเช่นเสื้อแขนยาวปัจจุบัน)

 

                ในฐานะพี่กับน้อง พระองค์ใช้คำว่า “มิตรที่รัก” คือเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ทรงพระราชทานดุมมือสำรับหนึ่ง 
(เป็นกระดุมสำหรับใช้ติดที่ข้อมือของเสื้อแขนยาวสมัยก่อน ซึ่งไม่มีกระดุมพลาสติกเย็บติดไว้ดังเช่นเสื้อแขนยาวปัจจุบัน)

 

                ในฐานะผู้บังคับบัญชา คือระหว่างพระราชากับเสนาบดี ทรงพระราชทานเงินทำขวัญให้ถึงห้าสิบชั่ง ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าไม่น้อย ทีเดียว

 

               นอกจากนี้ใจความตอนที่ในหลวง รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งสัตยาธิษฐานให้พรแด่พระอนุชานั้นสำคัญนัก เพราะคนในสมัยโบราณเวลานึกปรารถนาสิ่งใด พออธิษฐานก็จะได้สิ่งนั้นสมดังปรารถนาในทันที เนื่องด้วยสัจจะนั้นเป็นสัจจะที่ตั้งใจทำด้วยความจริงใจ ต่างกับผู้คนในปัจจุบันนี้ เวลาอธิษฐานปรารถนาสิ่งใดแล้วมักไม่ค่อยได้ดังใจ เพราะขาดสัจจะกัน จิตใจไม่สูงเท่าคนในสมัยก่อน

จาก หนังสือวันเกิด

คุณครูไม่เล็ก


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.063306085268656 Mins