..... “ แล้วพระราชาก็ค่อยๆ มัดเสื้อเป็นปมเล็กๆ ทีละปม ทีละปม จนเต็มตัวไปหมด... ” คืนวันเก่าก่อนผุดขึ้นในความทรงจำ เกือบยี่สิบกว่าปีมาแล้ว เสียงแม่เล่านิทานเรื่อง ท้าวแสนปม ให้ฟังก่อนนอน ที่จำได้แม่นเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลก และสนุก ผสานกับบรรยากาศริมระเบียงหน้าบ้านยามค่ำคืน ที่มีฉากตื่นเต้นของเสียงนกแสกบินผ่านหน้าต่างแทนเสียงประโคมดนตรีสยองขวัญ ประชันเสียงหรีดหริ่งเรไรเป็นระยะ
.....พูดถึงท้าวแสนปมที่แม่เล่าให้ฟัง ทำให้จินตนาการของไปถึงเหรียญบาทที่แม่ให้ไว้กินขนม ท่านคงกลัวว่าความซนของเด็กๆ จะทำเงินหล่นหายโดยไม่รู้ตัว จึงใช้หนังยางรัดเหรียญบาทที่อยู่ในกระเป๋าของเรา จนมีรูปร่างเป็นปมกลมๆ อยู่เสมอพอฟังนิทานเรื่องนี้ทีไร ให้รู้สึกตัวเองเป็นเหมือนท้าวแสนปมทุกทีอาจจะต่างกันบ้างตรงที่มีปมมากหรือน้อย แต่อย่างไรคนที่มีปมในความรู้สึกตอนนั้น คือ ตัวตลก ดีๆ นี่เองจะมีข้อดีอยู่บ้าง ก็ตรงที่เป็นตัวตลกไม่ขัดสน อย่างน้อยก็มีเงินบาทหนึ่งอยู่ในกระเป๋าให้อุ่นใจบ้างล่ะเมื่อเติบโตขึ้น เรื่องท้าวแสนปมในอดีตได้เปลี่ยนไป คนมีปมในความหมายปัจจุบัน คงไม่ใช่ คนรวยเหรียญบาท หรือ คนโดนสาป อย่างสมัยก่อน แต่มีความหมายลึกซึ้งไปกว่านั้น
.....เมื่อวานสมศรีนั่งร้องไห้ระบายความอัดอั้นที่ไม่รู้จะบอกใคร กับความผิดที่เผลอไปตำหนิคุณแม่เรื่องหลงลืม จนท่านล้มเจ็บเพราะน้อยใจ เธอบอกเป็นปมในใจมาตลอดเพราะความที่บังอรเป็นคนเด็กกำพร้ามาตั้งแต่เล็ก มีเพียงยายคอยเลี้ยงดูตามมีตามเกิด เธอจึงเติบโตมาพร้อมกับการโหยหาความรักจากคนรอบข้าง อย่างไร้จุดหมายและขอบเขตทรงพลถือว่าครอบครัวเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จึงชอบวางอำนาจบาทใหญ่อย่างไม่เกรงใจใคร ทำให้คนอยู่ใกล้ต้องเดือดเนื้อร้อนใจอยู่เสมอหลากหลายเรื่องราวของคนมีปม มีพบเห็นกันอยู่ทั่วไป คนที่จะเรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง คือ คนที่ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
....ซึ่งคนที่ทำอย่างนี้ได้ ต้องเป็นคนที่ไม่มีทั้ง ปมด้อย และ ปมเขื่อง ซึ่งเป็นอาการของคนที่ไม่เคยพอใจในสิ่งที่มี และวิ่งหาความสุขจากสิ่งที่ไม่มีอยากเป็นคนไม่มีปม ต้องไม่เอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับใคร ว่าเขาดีกว่าเรา หรือเราด้อยกว่าเขา ทุกคนมีความดีอยู่ในตัวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ หามันให้พบ..แล้วจงภูมิใจ พร้อมกับแบ่งปันสิ่งที่ดีนั้นให้คนรอบข้าง อย่าได้เสียดายความยึดมั่นที่มีแต่เดิม
......เพราะ ปมเหล่านั้น เราเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง แท้จริงแล้วไม่มีแก่นสารอันใด......
อุบลเขียว