..... พระนางปชาบดีโคตรมี ดังได้กล่าวแต่ตอนต้นพระประวัติแล้ว พระน้านางปชาบดีโคตมี ทรงเลี้ยงดูพระบรมศาสดามาตั้งแต่พระชนม์เพียง ๗ วัน ทรงรักใคร่เอ็นดูเปี่ยมล้นพระหฤทัย แม้จะมีพระโอรสธิดาของพระนางเอง ก็ดูเหมือนจะไม่ใส่พระทัยเท่า เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนเป็นพระศาสดา พระน้านางยิ่งทรงเลื่อมใสเป็นพิเศษ ดำริในพระทัยจะถวายสิ่งของที่ทรงทำด้วยพระองค์เอง จึงทรงปลูกฝ้ายชนิดพิเศษ ใช้ผงทองคำปนลงในเนื้อดินที่เป็นเลิศ เนื้อฝ้ายที่ได้ราวกับเส้นใยทองคำเหลืองสุกปลั่ง พระนางทรงกรอด้าย ทรงปั่น และทอเป็นผ้าด้วยพระองค์เอง ได้ผ้า ๒ ผืน ยาว ๑๔ ศอก ทรงจัดใส่ผอบทองคำ นำไปถวายพระบรมศาสดาพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาในขณะนั้น เห็นว่า ผู้คนทั้งหลายมีศรัทธาในพระองค์มาก มักนำสิ่งของต่างๆ มาถวายเป็นการเฉพาะเจาะจง เหมือนที่พระน้านางทรงกระทำอยู่
..... ถ้าไม่ทรงแก้ไขให้เข้าใจกันให้ถูกต้องว่า การถวายในหมู่สงฆ์ แม้แต่เพิ่งบวชใหม่ก็มีอานิสงส์ยิ่งแล้ว ต่อไปภายหน้าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสาวกจะไม่มีผู้ศรัทธา จะพากันอยู่อย่างลำบาก ไม่มีผู้ใดเต็มใจถวายสิ่งของที่จำเป็นให้ทรงดำริดังนี้แล้ว พระองค์จึงไม่ทรงยอมรับผ้าผืนนั้น รับสั่งให้พระนางปชาบดีโคตมี ถวายภิกษุอื่น แต่ไม่มีภิกษุรูปใดยอมรับผ้าไว้ คงขอให้ถวายองค์ต่อๆ ไปในที่สุดถึงภิกษุรูปสุดท้าย เพิ่งบวชใหม่ในวันนั้น ท่านไม่มีภิกษุอื่นให้เกี่ยง จึงต้องรับผ้านั้นไว้ พระน้านางเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงคิดว่าถวายภิกษุเพิ่งบวช คงได้บุญน้อยถึงกับกรรแสง
.... พระบรมศาสดาทรงหยิบบาตรให้ปาฎิหาริย์จาก พระหัตถ์ลอยหายไปในอากาศ แล้วทรงให้พระเถระ ผู้มีฤทธิ์เหาะตามไปนำบาตรกลับมา แต่ไม่มีผู้ใดหาได้ จนถึงภิกษุรูปสุดท้าย ท่านยืนมือออกไปพร้อมอธิษฐานว่ ถ้าพระบรมศาสดาทรงปรารถนาให้ท่านเป็นผู้หาบาตรพบ ขอให้บาตรลอยมาที่มือท่านเอง บาตรลอยมาตามคำอธิฐานเป็นอัศจรรย์พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้พระน้านางทรงทราบว่า การอุทิศแก่สงฆ์เป็นส่วนรวมมีอานิสงส์มากกว่าได้ผลบุญมากกว่า การถวายอุทิศจำเพาะเจาะจง ภิกษุในศาสนาของพระองค์เป็นเนื้อนาบุญที่ดีเยี่ยม แม้ว่าจะบวชในวันนั้นอย่างเช่นภิกษุผู้รับผ้าของพระน้านาง ชื่อ อชิตะ ผู้นี้ แม้จะยังไม่บรรลุคุณวิเศษประการใด ก็เป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ เป็นที่เกิดบุญกุศลแก่ผู้ถวายสิ่งของได้เป็นอย่างดีและพระอชิตะผู้นี้เอง จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามศรีอริยเมตไตรย ในกาลภายหน้า เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘ หมื่นปี
.... …พระนางปชาบดีโคตรมี สดับพระวาจาแล้วทรงโสมนัสเป็นที่ยิ่งนับจากนั้นมา ประชาชนจึงพากันนิยมถวายของเป็นสังฆทาน มากกว่าปาฏิบุคลิกทาน ทำให้ภิกษุสงฆ์ไม่มีความยากลำยากในการครองชีวิต และทำให้สืบอายุพระพุทธศาสนามายั่งยืนจนทุกวันนี้หากประชาชนนิยมเลื่อมใสถวายเฉพาะภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อภิกษุรูปนั้นมรณภาพลง ประชาชนไม่มีศรัทธาในภิกษุอื่น เลิกทำทาน ภิกษุอื่นเมื่อไม่มีผู้ใดถวายปัจจัย ๔ ก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ ต้องสึกออกมาเป็นฆราวาส อายุพระพุทธศาสนาย่อมไม่ยั่งยืน
ทรงห้ามพระญาติ
...... กรุงกบิลพัสดุ์ อันเป็นเมืองที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดานั้น ตั้งอยู่ด้านเหนือน้ำของแม่น้ำโรหิณี ส่วนนครเทวหะเป็นเมืองฝ่ายพระญาติของพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดา อยู่ด้านใต้ของแม่น้ำ ชาวเมืองทั้งสองได้อาศัยน้ำในแม่น้ำโรหิณีทำเกษตรกรรม ครั้งหนึ่งในแม่น้ำมีน้ำน้อย ชาวนาทางต้านน้ำทดน้ำเก็บกันไว้มาก ทำให้ชาวนาทางใต้เดือดร้อน เกิดการต่อว่าท้วงติงลุกลามใหญ่โต จนเป็นการพิพาทระหว่างแคว้น ต่างฝ่ายต่างเตรียมทำสงครามประหัตประหารกัน ทั้งที่เป็นเครือญาติกันตั้งแต่วรรณะกษัตริย์ ไปจนกระทั่งชาวเมืองเองพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง จึงเสด็จเหาะไปยังท่ามกลางกองทัพที่กำลังประจันหน้า เตรียมพุ่งกัน ทรงเรียกนายทหารทั้งสองฝ่ายมาพร้อมหน้าตรัสถามว่า
...... “ท่านทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุอะไร?”
...... “มีเหตุมาจากเรื่องน้ำ พระพุทธเจ้าข้า” นายทหารทั้งสองฝ่ายตอบตรงกัน
...... พระองค์ตรัสถามซักต่อไปอีกว่า”น้ำกับชีวิตคน (สายน้ำกับสายเลือด) อะไรมีค่าสำคัญกว่ากัน”
...... “ชีวิตคน (สายเลือดคือความเป็นญาติ) มีค่ามากกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
...... พระบรมศาสดาตรัสเน้นให้คิดว่า “ถ้ากระนั้น ควรแล้วหรือที่จะเอาชีวิตคนมาแลกกับน้ำ”
..... เหล่าพระญาติทั้งสองฝ่ายได้คิด จึงเลิกทำสงครามกัน สายน้ำจึงไม่กลายเป็นสายเลือด พระพุทธลักษณะที่ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออกด้านหน้าที่เรียกกันว่า “พระปางห้ามญาติ” มีสาเหตุมาจากเรื่องราวตอนนี้
ต้องเป็นให้ได้ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า