ชีวิตกับงาน

วันที่ 15 กย. พ.ศ.2564

15-9-64-1-b.jpg

ชีวิตกับงาน

                หากพูดถึงชีวิตกับการทำงาน งานทุกอย่างในชีวิตที่ผ่านมาเหมือนเป็นประสบการณ์ที่ทำมาเพื่อวันนี้ป้าเองเริ่มต้นทำงานครั้งแรกโดยการเป็นพนักงานประจำที่บริษัทซิปวีนัส ทำอยู่ได้ไม่นานก็ต้องออกมาเพราะท้อง จากนั้นมาป้าก็ไม่ได้ทำงานประจำ แต่ป้าจะแปลหนังสือเป็นฟรีแลนซ์ให้กับไทยวัฒนาพานิช ขณะเดียวกันก็เหมือนกับทำงานค้าขายเล็กน้อยกับเพื่อนโดยปักเสื้อขายบ้าง เพ้นท์รูปขายบ้าง ทำผ้าคลุมไหล่ขายบ้าง ซึ่งงานตรงนี้ทำให้เรารู้จักคนมากมาย จากนั้นไม่นานป้าก็ได้มาทำฟรีแลนซ์ที่การบินไทย ซึ่งงานที่การบินไทยทำให้ป้าเข้าใจระบบการทำงานของหนัง ป้าทำตั้งแต่เขียนสคริปต์โฆษณา แปลสคริปต์โฆษณา สคริปต์อินเฮ้าส์ เป็นโคออดิเนเตอร์สคริปต์ และทำงานใกล้ชิดกับ ซาลอนฟิล์ม ประเทศไทย ทำงานใกล้ชิดกับกองถ่าย ทำให้เห็นเข้าใจศัพท์เข้าในงานด้านนี้เป็นอย่างดี ถามว่าประทับใจกับงานนี้มั้ยป้าบอกได้เลยว่าประทับใจมากและเงินก็ดี


               จนมาช่วงหนึ่งที่ป้าตกทุกข์ได้ยาก ทำงานไม่ได้เพราะเป็นโรคหัวใจ คนที่มีพระคุณกับป้าคือพี่หน่อย สุชาดี มณีวงศ์ เจ้าของรายการ “กระจกหกด้าน" พี่หน่อยเป็นคนที่ไม่ทิ้งป้า เราเป็นนักเรียนเขมะสิริฯด้วยกัน ป้ารู้จักพี่หน่อยตอนอยู่การบินไทย พี่หน่อยเอ็นดูป้ามากสอนให้ป้าเขียนสคริปต์ และยังมีพี่พรชัย มณีวงศ์ สามีพี่หน่อยอีกคน และพูดได้ว่าป้ามารู้จักการเขียนสคริปต์ที่ถูกต้องจริง ๆ ก็ตอนที่มาทำงานกับกระจกหกด้าน เพราะป้าต้องรับผิดชอบตั้งแต่เขียนสคริปต์และควบคุมการถ่ายทำ ดูทุกอย่าง การทำงานกับกระจกหกด้าน ทำให้ป้ารู้จักคนกว้างขึ้นไปอีก อย่างเช่น ป้าทำเรื่องประวัติชีวิตคนสำคัญ ป้าก็จะขึ้นไปทำประวัติชีวิตเจ้าทางเชียงใหม่ เจ้าเชียงตุงที่อยู่ที่เชียงใหม่ ทำให้ป้ารู้จักคนอีกวงหนึ่งที่ไกลออกไป ป้าทำรายการกระจกหกด้านหลายปีเชียวละ จนสนิทกับพี่หน่อยเหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่มีสตางค์พี่หน่อยก็ให้ไปอัดเสียงโฆษณาได้สตางค์มากินขนม ทำให้ป่าหาเงินได้ไม่ยาก จากนั้นป้าก็มาทำงานส่วนตัวเช่น ทำโบรชัวร์บ้าง จนมาถึงเวลาที่ป้าป่วยแล้วต้องหยุดทำงานอย่างที่บอก ป้าจึงเริ่มต้นเลี้ยงเด็ก ป้าเลี้ยงดูฟูมฟักมาเป็นครอบครัว จนกระทั่งเริ่มมีชื่อเสียงเรื่องการเลี้ยงเด็ก มีการจัดแค้มป์ ก็มีหนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ รายการรักลูกให้ถูกทางเอาไปออกอากาศ ตอนนั้นป้าเลี้ยงเด็กมาควบคู่กับการเปิดสอนสมาธิที่บ้านป้าทำทุกอย่างเลย พาเด็กไปเที่ยวเขาใหญ่ พาเด็กไปเที่ยวน้ำตกจนกระทั่งเด็กโตเป็นรุ่น ๆ ซึ่งคนจะรู้จักเราในนามของ "บ้านมธุระ" มาตลอด "มธุระ" แปลว่าน้ำผึ้ง มีความหมายว่า คนจากที่ต่าง ๆ มาอยู่ด้วยกันแล้วเราสกัดเอาแต่ความดีไว้ เหมือนดอกไม้ที่มาจากป่าแล้วดูดเอาน้ำหวานไว้เป็นน้ำผึ้ง ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของการมีชื่อเสียงในเรื่องการทำแค้มป์เด็ก


               จนกระทั่งไม่ทราบว่าคนทราบกันได้อย่างไร ย้อนหลังไป 6-7 ปีทางสำนักการศึกษาเมืองพัทยาเขาก็ทราบ เขาจึงเชิญป้าไปบรรยายเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก ป้าก็บอกกับเขาว่า แก้เด็กไม่ได้ต้องแก้ที่ครู ก็เลยเกิดการทำงานที่พัทยาขึ้น เริ่มต้นจากการดูแลครู ดูแลเด็ก ทำไปสักพักเขาก็เชิญป้าเป็นที่ปรึกษาเลย ป้าก็ทำงานกับเขามาตั้งแต่นั้น วิธีการของป้าก็คือ การจะให้เด็กดี ครูต้องดีก่อน แล้วการทำให้ครูอารมณ์ดีต้อง
ต้องทำยังไง ต้องลงมาอยู่ด้วยกันเลย ป้าเลยทำแค้มป์ให้เขาดูว่า ถ้าเราอารมณ์ดีเด็กจะฟังเรา พอเด็กฟังเราครูก็งงครูเอง นึกว่าฟังแป็บ ๆ แต่ไม่ใช่ ปรากฏเด็กจำเราได้และเรียกร้องเลยบอกว่านี่คือสิ่งที่เราทำให้เด็กประทับใจซึ่งครูมีโอกาสมากกว่าเรา ป้าก็เลยทำงานสองโครงการเลย โครงการหนึ่ง ทำกับครูชื่อ “โครงการความสุขจากครูสู่นักเรียน” อีกโครงการหนึ่งเอาความสุขของครูไปถ่ายให้นักเรียน เราเรียกว่าแค้มป์ "ค่ายแห่งความสุข” ตอนนี้มีชื่อเสียงมาก เพราะเผอิญป้ามีเพื่อนเป็นอาจารย์อยู่ที่เวอร์มองต์ มีเพื่อนอาจารย์อยู่ต่างประเทศพอเขามาเที่ยวพัทยาเขาเห็นเข้าเขาก็ชอบ คนหนึ่งเป็นควีนส์ของกาน่ามา แล้วมีดอกเตอร์อีกคนหนึ่ง พอมาเห็นจริง ๆ เข้า ควีนส์ของกาน่าเขาก็ส่งช่างกล้องส่วนตัวมา
สัมภาษณ์ป้าว่า วิธีการรวมเด็กทำอย่างไร เพราะทั้งโลกเขาทำกันไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทำยากมาก ป้าก็บอกวิธีเขาไปซึ่งแต่ละวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน แล้วแต่เขาจะไปปรับ ตรงนั้นทำให้ป้ามีชื่อเสียงขึ้นมาอีก คนก็สนใจมากขึ้น


                ทีนี้มีคนหนึ่งในโครงการนี้ไปทำงานให้โกลเบิลเน็ตที่เป็นเน็ทเวิร์ค (Network) ของเอ็นจีโอ (NGO) ในเรื่องของ Education for Peace เขารู้เรื่องก็ขอมาดูงาน เราก็เอาคนของเราซึ่งเราทำงานกับโรตารี่ด้วยไปจัดให้เขาดูว่าทำยังไงผลปรากฏเป็นที่ถูกใจขององค์กรนี้มาก เขาก็พยายามช่วยเราอยากให้เราเวิลด์วาย (Worldwide) แต่เราทำไม่ได้เพราะเราจำกัดด้วยกำลังของเราประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือครูจะ
ต้องมาอยู่กับเราจนกระทั่งได้ความเป็นเราไปจึงจะทำงานได้สำเร็จ ให้ทำเป็นหลักสูตรมันเขียนออกมาได้ก็จริง แต่การทำให้สัมฤทธิผลมันยาก จากนั้นมาเพื่อน ๆ เหล่านั้นก็จะมาหาป้าทุกปี Dr. Audrey Kitagawa มาดูงานที่พัทยาเป็นระลอก แล้วเสนอตัวเข้าช่วย เขาบอกให้ป้าทำเว็บไซต์ เขาจะเป็นแบ็กอัพ ป้าก็บอกทำอะไรก็ทำได้หมด แต่เอาตัวไปมันไม่ได้ เขาต้องส่งคนมา แล้วส่งมาต้องทำจริงถึงจะได้แล้วคัลเจอร์ (Culture) นี้มันใช้ได้กับทุกประเทศทั่วโลก เพราะมันว่าด้วยความรักและความเมตตาอย่างเดียวเท่านั้น


                ถามว่าป้านำความรู้เหล่านี้มาจากที่ไหน บอกได้เลยว่ามาจากท่านตา เรามาจากโรงเรียนเขมะสิริฯ เราอาจจะนึกไม่เหมือนคนอื่นเพราะเราเป็นลูกครู เราได้เห็นพฤติกรรมของครู เราจึงจับจุดได้ ทำให้เราเห็นความแตกต่าง เห็นบรรทัดฐานแล้วส่วนหนึ่งป้าได้มาจากคุณยายจันทร์ คุณยายจันทร์จะบอกว่าคนเราจะทำงานอะไรก็ตามต้องทำด้วยความรักและเมตตาจิต ขณะที่มีความรักและเมตตาจิตให้มีอุเบกขาด้วย จะไม่เหนื่อยจนเกินไป แล้วเวลาจะสอนใครให้ตั้งหลักให้ดี ๆ ให้ดูว่าใครเป็นเครื่องกรอง ใครเป็นตัวผ่าน ในกรณีนี้ครูเป็นเครื่องกรองนักเรียนเป็นตัวผ่าน เพราะฉะนั้นให้เริ่มต้นที่เครื่องกรอง ทำเครื่องกรองให้มีประสิทธิภาพ ความรู้ทั้งหมดเหล่านี้มาจากประสบการณ์ของป้าเอง และป้าก็เขียนเป็นทฤษฎีได้ด้วยเรื่องของครูเป็นประสบการณ์ที่ป้าสะสมมา อยู่กับแม่ อยู่กับครูแล้วในบางขณะตัวเองก็เป็นครู การเป็นครูไม่ได้เป็นแค่ครูในโรงเรียน ทุกคนสามารถเป็นครูให้กับลูกของตัวเอง เป็นครูให้กับใคร ๆ ก็ได้ ในความเป็นครูทุกคนต้องตระหนักว่าเราเป็น "ครู" คำว่าครูคือความเป็น role person ให้คนทำตาม ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนมองข้าม


                ทุกวันนี้ป้าทำงานให้สำนักการศึกษาเมืองพัทยามาตลอดเลย ไม่ได้เงินเดือน แต่ถามว่าทำไมถึงทุ่มเท ประการแรกคือเห็นผลจากครู สิ่งตอบแทนที่ป้าได้คือความรัก ความมีเยื่อใยที่ป้ากับบรรดาครูมีต่อกัน จนป้ามีความรู้สึกว่าป้าเป็นคนพัทยา แล้วครูเขาก็สมมุติว่าป้าเป็นนาย ป้าได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่าง ๆ ในพัทยามาก เงินที่ป้าจ่ายทุกวันนี้คือป้าจ่ายค่าดูแลตัวเอง เพราะป้าต้องอยู่โรงแรมห้าดาวเนื่องจากป้าไม่ค่อยแข็งแรง อาหารก็ทานธรรมดาไม่ได้เวลาพักก็ต้องพักห้องคอนเน็ค (Connect) เพราะป้าต้องมีผู้ติดตาม ครั้งหนึ่งก็หลายหมื่นบาท ป้าไม่อยากลำบากใจเลยไม่รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานทุกวันนี้ก็จะมีเพื่อน ๆ น้อง ๆ คุณหมอที่รู้จักกันมาช่วยลงขันช่วยกันในส่วนนี้ แต่ส่วนอื่นองค์กรต่าง ๆ จ่ายหมดเลย รัฐบาลไม่ได้จ่าย เมืองพัทยาไม่ได้จ่าย ที่เราไม่ให้เมืองพัทยาจ่ายเพราะเราไม่แน่ใจว่าจะได้
ผลหรือไม่ได้ผลยังไง แล้วเราก็ไม่อยากจะให้ระบบข้าราชการมากดขี่เรา เช่น เราอยากจะพาเด็กไปสวนนงนุช ถ้าใช้เงินรัฐบาลไปไม่ได้หรอก เพราะเขาจะมีขอบเขตว่าใช้ได้แค่นี้นะมันจะไม่สัมฤทธิผล เราเลยใช้เงินองค์กรข้างนอก ยิ่งมาใช้เงินของโรตารี่ยิ่งทำให้มีชื่อเสียงเพราะเราทำให้โรตารี่มีผลงานเขามอบเหรียญ Paul Harris ของโรตารี่ในฐานะนำงานที่มีชื่อเสียงมา และทำงานจริงอย่างต่อเนื่อง


                งานที่มีชื่อเสียงตอนนี้คืองานที่พัทยา ซึ่งมันก้าวไปไกลกว่านั้น คือทุกคนจะมีปัญหาตรงที่ว่า เมื่อเราปรูฟ (Proof) เด็กออกมา เราสอนให้เด็กแข็งแรงได้ เรียนหนังสือเก่งได้แต่คุณธรรมคือสิ่งที่เด็กขาด อีกอันหนึ่งคือเด็กไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติของตัวเอง เด็กอ่อนแอเพราะไม่รู้ว่าตัวเองคือใคร ปัญหาก็คือ ครูไม่ทราบว่าจะสอนอย่างไรให้เด็กรู้สึกสนุกกับประวัติศาสตร์ชาติไทยป้าก็เข้าไปช่วย ตอนนี้ป้ากำลัง
ทำโครงการประวัติศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลคงช่วย ป้าจะไปสอนวิธีการถ่ายทอด จริงอยู่ที่ป้าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์แต่ป้าก็จะต้องอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ทั้งปวงที่มีอยู่เพื่อที่จะย่อยว่าต้องสอนอย่างไรให้ครูเองก็สนุกด้วย เด็กก็สนุกด้วย นั่นกำลังเป็นหลักสูตรที่กำลังจะนำมาใช้ที่พัทยา


                 อีกงานหนึ่งที่ป้าทำคืองานเรื่องเจดีย์ งานนี้ก็มีชื่อเสียงเพราะป้าศึกษาควบระหว่างประวัติศาสตร์กับศาสนา ป้ามีความรู้สึกว่าป้าไม่เห็นด้วยกับที่บอกว่าคนไทยอพยพมาป้ามีความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับหลาย ๆ อย่างในประวัติศาสตร์ ที่แบ่งเป็นประวัติศาสตร์ส่วนกลาง ประวัติท้องถิ่นที่มันไม่ลงรอยกันป้าเองเป็นคนมีเวลาอยู่บ้านก็ศึกษาเอง พอศึกษาไปก็ได้ไม่ครบเต็มที่ก็เลยหันไปศึกษาสิ่งที่มันไม่หมุนเวียนเลยคือ
ศาสนา ศึกษาว่าศาสนาเกิดขึ้นที่ไหน คัมภีร์แต่ละคัมภีร์เป็นยังไง ป้าอ่านพระสูตรคัมภีร์เยอะมากเป็นภาษาอังกฤษ แต่มันก็เป็นตำราที่แปลมาอีกครั้งหนึ่งซึ่งได้ ความเที่ยงไม่เต็มที่ป้าจึงใช้สองตำราระหว่างประวัติศาสตร์พุทธโดยตำราฝรั่ง และประวัติศาสตร์ไทยจากตำราทุกตำราที่มีมาประสานกัน ทำไปทำมาอีกอันหนึ่งก็คือป้าเป็นคนชอบเจดีย์ ความชอบทำให้หันมาศึกษาว่าเจดีย์มาในประเทศไทยได้อย่างไร เท่ากับป้าใช้สามอย่างนี้ในขณะเดียวกันป้าจึงเป็นผู้ชำนาญ และป้าเองก็ติดต่อกับ Dr. Adrian Snodgrass ท่านเป็นผู้ชำนาญคนเดียวของโลก เป็นสถาปนิกเขาศึกษาสัญลักษณ์ (Symbolism) ของเจดีย์ เราก็ทำงานด้วยกันระยะหนึ่ง ป้าเองเปิดสัมมนา 2-3 ครั้งเขาก็บินมา ตอนหลังเขาแก่ อีกอย่างเขาทำทางด้านสถาปัตยกรรม (Architecture) เราทำทางด้านปรัชญา (Philosophy) เท่ากับว่ามันก็แยกกันได้ ป้าเองจึงพยายามทำให้
คนรู้ว่าเจดีย์คืออะไร สร้างขึ้นมาทำไมประวัติ เป็นอย่างไร เจดีย์ บอกถึงอะไร เพราะจริง ๆ เจดีย์คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ศาสนาพุทธเดินทางไปที่ไหนบ้าง เป็นความเจริญของพุทธศาสนาโดยแท้จริง ไปไกลถึงรัสเซีย ถึงไหนต่อไหน ไกลกว่าที่เราเข้าใจ และมีความลึกซึ้งทางประวัติศาสตร์ มีอำนาจอิทธิพลเหนือแผ่นดินมากกว่าที่ชาวพุทธในปัจจุบันจะเข้าใจ


                 ปัจจุบันป้ากำลังทุ่มเทกับงานด้านประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องเจดีย์ไม่เคยหยุดศึกษาเลยเพราะเป็นความชอบส่วนตัวด้วย ป้าศึกษามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528 ทุกวันนี้ ป้ายังต้องค้นคว้าตลอด งานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องเสียสละอะไรหลาย ๆ อย่างก็จริง แต่ป้าก็มีความสุขมากเลยที่ได้ทำงานเหล่านี้
 

จากหนังสือ อันเนื่องมาจาก...ความรัก

ป้าใส เกษมสุข ภมรสถิตย์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.051739283402761 Mins