ความปลื้มช่วยยกระดับจิตใจ
.
กฎแห่งกรรมนั้นมีความลึกซึ้งแล้วก็เป็นเสมือนโปรแกรมสำคัญทีเดียวที่จะทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์กัน กฎแห่งกรรมที่ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วนั้น มีผลนะทั้งในระดับตื้นและระดับลึก
.
ระดับตื้นหมายถึงผลจากการกระทำนั้นๆ ของเรา ส่งผลให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ในระดับที่ออกมาเป็นรูปธรรมเช่น ถ้าทำดีก็ได้ผลเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทำชั่วออกผลเป็นนินทาเป็นทุกข์เป็นความเสื่อมลาภเสื่อมยศต่างๆ เป็นต้น
.
แต่ในส่วนระดับลึกเรามักจะลืมกันไปว่า ในแต่ละครั้งที่เราทำกรรมดี นอกจากทำให้เกิดความสุขกายสุขใจแล้ว ผลที่ตามมามากเลยคือ จิตใจและความรู้สึกนึกคิดในทางที่ดีๆ ของเราจะถูกยกระดับขึ้นไปด้วย ตรงนี้สำคัญ
.
ยิ่งความดีใดๆ เราทำแล้วเราปลื้มมากๆ ก็จะยกระดับความคิดของเรา ความเข้าใจของเราให้ลึกซึ้งขึ้นไปในระดับที่เราเองก็นึกไม่ถึง ปลื้มมากเท่าไหร่ความคิดที่ดีงามก็ยกระดับไปได้มากเท่านั้น คำพูดการกระทำก็ยกระดับขึ้นไปได้มากเท่านั้น
.
เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ย้อนไปเมื่อ ๒๐ อสงไขยกับแสนกัป จากมนุษย์ธรรมดาเช่นเดียวกันกับพวกเรา พาแม่ขึ้นเรือแล้วปรากฎว่า เรือเจอพายุอับปาง เลยแบกแม่ขึ้นหลัง ว่ายน้ำพาแม่ข้ามทะเล อยู่ ๗ วัน ๗ คืน
.
พอรอดแล้ว ก็ปลื้มใจที่พาแม่รอดมาได้ แล้วก็ได้คิดว่า ชีวิตคนเรานี่มันมีการเวียนว่ายตายเกิด ทุกข์ที่เวียนว่ายตายเกิดนั้น ยิ่งกว่าทุกข์ที่เราพาแม่ข้ามทะเลได้ครั้งนี้เสียอีก เพราะว่ามันทุกข์รอบแล้วรอบเล่า
.
เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถพาตัวเองรอดพ้นจากทะเลทุกข์คือ การเวียนว่ายตายเกิดได้เมื่อไหร่ มันจะปลื้มใจขนาดไหน แล้วถ้าสามารถพาคนให้รอดพ้นหมดทั้งโลกเลย จะยิ่งปลื้มใจขนาดไหน ใจมันยกระดับขึ้นมาทันที
.
จากการยกระดับตรงนี้ คำว่าพระโพธิสัตว์จึงได้เกิดขึ้นมา ฤทธิ์ของความปลื้มจากการทำความดี ปลื้มเท่าไหร่ยกระดับใจได้มากเท่านั้น ตรงนี้ฝากเอาไว้เป็นข้อคิดให้ดี
.
๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓
หลวงพ่อทัตตชีโว