22 เมษายน วันคุ้มครองโลก  EarthDay

วันที่ 16 เมย. พ.ศ.2566

22 เมษายน วันคุ้มครองโลก 
EarthDay

21-4-65--2rrr.jpg

     วันคุ้มครองโลก (อังกฤษ : Earth Day) ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program "UNEP") เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513


21-4-65--3r.jpg

ความเป็นมาของวันคุ้มครองโลก   

        ในปีพุทธศักราช 2341 โธมัส โรเบิร์ต มอลทัส และเดวิด   ริคาร์โด  สองนักนิเวศน์วิทยาชาวอังกฤษ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการผลิตอาหารให้เพียงพอกับความต้องการบริโภค เนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากรซึ่งกำลังทับทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งสองได้ชี้ว่า อีกไม่ช้าสังคมยุโรปซึ่งส่วนใหญ่เป็นสังคมแบบชนบท ประชาชนอาศัยอยู่กันอย่างหลวม ๆ สบาย ๆ จะหนาแน่นไปด้วยผู้คน และจะกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้นไปเรื่อยๆ ผลจากการศึกษาดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นให้หลายคนหันมาให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

 

วันคุ้มครองโลก Earth Day

  ต่อมาระหว่างปีพุทธศักราช 2433 ถึง 2463 ได้มีการจัดตั้งองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติขึ้นหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดหน่วยงาน เช่น  สำนักงานฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม   หน่วยรักษาป่าอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยกเครดิตให้กับประธานาธิบดี ธีโอเดอร์ รูสเวลท์ ที่มีนโยบายแข็งขัน และปลูกฝังความหวงแหนทะนุถนอมสิ่งอันเป็นมรดกทางธรรมชาติ เช่น ป่าเขา  แหล่งน้ำ   ฯลฯ ให้เกิดขึ้น

       แรก ๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่รุนแรงนัก ความพยายามในสมัยนั้น มักว่าด้วยเรื่องการนำเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติหลาย ๆ ด้าน

         หลังจากยุคนั้นมาแล้ว โลกก็เข้าสู่ภาวะสงคราม ในระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจอยู่ในภาวะคับขัน พร้อม ๆ ไปกับการบีบบังคับให้แต่ละประเทศสร้างเทคโนโลยีที่อันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมภายหลังสงคราม ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการนำสารเคมีมาใช้เพิ่มขึ้น  สถาบันการศึกษาและนักวิชาการต่าง ๆ  ออกมาเคลื่อนไหวเกิดกระแสความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายจนกระทั่งในวันที่  22  เมษายน  พุทธศักราช  2513  ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาเดินขบวนตามท้องถนน   เรียกร้องให้รัฐเพิ่มมาตรการในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น   อันเป็นที่มาของการสถาปนาวันนั้นเป็นวันคุ้มครองโลก หรือ  Earth   Day   

         เมื่อ พ.ศ. 2538   ผู้แทนมูลนิธิธรรมกายได้เข้าร่วมประชุมองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก  (พ.ส.ล.)   มูลนิธิธรรมกายนำข้อเสนอสู่ที่ประชุมผู้แทนองค์กรพุทธศาสนาทั่วโลก  ขอให้วันที่  22  เมษายน  ซึ่งเป็นวันคุ้มครองโลกนั้น  ชาวพุทธทั่วโลกน่าจะจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะการเจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนา เพื่อกลั่นจิตกลั่นใจให้ใส   อันจะเป็นการคุ้มครองโลกอย่างถาวร โดยใช้คำขวัญว่า  " Clean  the  World  Clean  the  Mind "  พร้อมกับนำสาส์นจากหลวงพ่อธมฺมชโย เชิญชวนชาวพุทธจัดกิจกรรมในวันคุ้มครองโลก   ไปมอบให้กับผู้เข้าร่วมประชุม

         ในครั้งนั้น ผู้แทนชาวพุทธทั่วโลก ได้อภิปรายในประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวางและในที่สุดสมาชิกองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ได้พร้อมใจกันมีมติเอกฉันท์ให้วันคุ้มครองโลกเป็นวันที่ชาวพุทธจะได้จัดกิจกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรักษาใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์  โดยการจัดกิจกรรมทำความสะอาดศาสนสถาน และการเจริญสมาธิภาวนา กลั่นจิตกลั่นใจให้ใสควบคู่กันไป


21-4-65--4r.jpg

หิริ  โอตตัปปะ   ธรรมคุ้มครองโลก

          หิริ  โอตตัปปะ  ม.มู. มหายมกวรรค  มก. ๑๙/๒๒๐ , มจ. ๑๒/๔๕๒, ปส. ๑๘/๓๐๗

         หิริ  คือ  สิ่งใดอันบุคคลผู้ควรละอายย่อมละอาย  มีภายในเป็นสมุฏฐาน  เป็นอัตตาธิปไตย  หิริดำรงอยู่ในสภาพของความละอาย

       โอตตัปปะ  คือ  สิ่งใดอันบุคคลผู้ควรเกรงกลัว  มีภายนอกเป็นสมุฎฐาน  เป็นโลกาธิปไตย  โอตตัปปะดำรงอยู่ในสภาพความกลัว
   
          หิริและโอตตัปปะ  ธรรมเหล่านี้เรียกว่าธรรมคุ้มครองโลก เพราะรักษาโลก   

ธรรมฝ่ายขาว 2 ประการ ทำให้เกิดความเป็นญาติในหมู่มนุษย์ อัง.ทุก.  กัมมกรณวรรค  มก. ๓๓/๓o๔,มจ. ๒๐/๖๓, ปส. ๓๕/๑๗๗ 

        ธรรมฝ่ายขาว 2 ประการ  ย่อมคุ้มครองโลก คือ 1. หิริ  2. โอตตัปปะ  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าธรรมขาว 2 ประการ  ไม่พึงคุ้มครองโลก ใคร ๆ ในโลกนี้จะไม่พึงบัญญัติว่ามารดา  ว่าน้า  ว่าป้า  ว่าภรรยาของอาจารย์  โลกจักถึงความสำส่อนกันเหมือนกับพวกแพะ  แกะ ไก่  หนู  สุนัขบ้านและพวกสุนัขจิ้งจอก  เพราะธรรมฝ่ายขาว  2  ประการนี้ยังคุ้มครองโลกอยู่  โลกจึงมีบัญญัติคำว่ามารดา  ว่าป้า  ว่าภรรยาของอาจารย์

           

เหตุเกิดความกลัวบาป  อัง.ทุก.  กัมมกรณวรรค  มก. ๓๓/๒๘๕, มจ. ๒๐/๕๗, ปส. ๓๕/๑๖๖

          พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายถึงโทษ 2 ประการ คือ

   1. โทษที่เป็นไปในปัจจุบัน บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติชั่ว ถูกพระราชาจับได้ ย่อมถูกรับสั่งให้ทำกรรมกรณ์นานาชนิดด้วย แส้ หวาย ตะบอง ตัดมือ ตัดเท้า ฯลฯ เขาคิดว่า  เพราะบาปกรรมเป็นเหตุ เมื่อกลัวต่อโทษที่เป็นไปในปัจจุบัน   จึงไม่ประพฤติชั่ว

      2. โทษที่เป็นไปในภพหน้า คือ วิบากอันเลวทรามของกายทุจริต วาจาทุจริต และมโนทุจริต เป็นโทษที่บุคคลพึงได้เฉพาะในภพหน้า เมื่อกายแตกทำลายไป  ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกลัวต่อโทษที่เป็นไปในภพหน้า จึงละกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต แล้วเจริญกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต


21-4-65--5r.jpg

วันคุ้มครองโลก  

       วันคุ้มครองโลก (Earth Day) คำว่าโลกในที่นี้มีความหมายอยู่ 2 นัย นัยแรก หมายถึง โลกทางกายภาพ ที่มีภูเขา แม่น้ำ พื้นดิน แผ่นฟ้า มหาสมุทร ส่วนอีกนัยหนึ่ง หมายถึง ชาวโลก คือ สรรพชีวิตทั้งปวงที่อาศัยอยู่บนโลก การคุ้มครองโลกจึงหมายถึงการคุ้มครองทั้งสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองชาวโลกด้วย

     ปัจจุบันโลกใบนี้กำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและพบกับภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหลากหลายรูปแบบอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศ ทางน้ำ หรือการทำลายป่าที่ส่งผลให้เกิดวาตภัย อุทกภัยอย่างไม่ทันตั้งตัว จนก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินต่อประชากรโลกในหลายๆ ประเทศ

     ด้วยเหตุนี้จึงมีคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเรียกร้องให้ชาวโลกหันมาสนใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการ คุ้มครองโลกให้อยู่รอดปลอดภัยจากภัยต่างๆ  โดยการคุ้มครองโลกมีจุดเริ่มต้นครั้งแรกจากความคิดของวุฒิสมาชิกชาวอเมริกัน Gaylord Nelson ที่ได้รณรงค์ให้ชาวอเมริกันร่วมกันพิทักษ์คุ้มครองโลก และหลายองค์กรได้ให้ความสำคัญกับกระแสของการรณรงค์เพื่อคุ้มครองโลกให้โลก สงบสุขดังกล่าว วันคุ้มครองโลกจึงถูกกำหนดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513

     หลังจากที่มีการผลักดันของกลุ่มบุคคลต่างๆ เป็นเวลายาวนานถึง 8 ปี  โดยองค์กรทางศาสนาก็เล็งเห็นความสำคัญกับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนของพระพุทธศาสนานั้น องค์การยุวพุทธสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ยพสล.) ได้มีมติให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น วันคุ้มครองโลก ภายใต้คำขวัญว่า “Clean the World Clean the Mind” เพราะตระหนักดีว่าทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ทรงคุณค่าที่สุด คือใจของมนุษย์ ซึ่งควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครองรักษาด้วยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ที่คอยชักใยให้มนุษย์เกิดความคิดคำพูดและการกระทำที่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำให้ได้รับความทุกข์ร้อนใจอย่างไม่รู้จักจบสิ้น


วันสำคัญตามเทศกาลต่างๆ , 22 เมษายน , วันคุ้มครองโลก , EarthDay

     พร้อมกันนี้หลวงพ่อธัมมชโย อดีตประธานมูลนิธิธรรมกายและอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ก็ได้ดำริให้มีโครงการครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของพระพุทธศาสนาและของโลก ก็คือ โครงการอุปสมบทหมู่ 100,000 รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกเป็นที่ปลาบปลื้มใจกันมาแล้ว ต่อมาหลวงพ่อท่านก็ดำริให้มีโครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 100,000 คนทั่วโลก


วันสำคัญตามเทศกาลต่างๆ , 22 เมษายน , วันคุ้มครองโลก , EarthDay

     จนเกิดเป็นกระแสแห่งความนิยมต่อเนื่องเรียกร้องให้มีโครงการเช่นนี้อีก จึงได้มีโครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 500,000 คนทั่วโลก  และโครงการล่าสุดที่ผ่านมาก็คือโครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 1,000,000 คนทั่วโลก  ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในปีนี้จึงได้มีโครงการบวชอุบาสิกาแก้ว 1,000,000 คนทั่วโลก ขึ้นอีกทุกๆ เดือนของปี 2554

     ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้โลกสั่นสะเทือน ด้วยกระแสแห่งบุญและอานุภาพแห่งความสงบสุขที่แผ่ขยายไปสู่ประชาชาติทั่วโลกอย่างกว้างขวาง โครงการครั้งยิ่งใหญ่ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมและมวลมนุษย์ชาติครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพุทธวิธีแห่งการนำไปสู่ความสุขสงบ ที่ปราศจากการเบียดเบียนทำร้ายซึ้งกันและกัน มุ่งสร้างสรรค์แต่สิ่งที่เป็นความดีงามอันจะนำไปสู่การเป็นผู้มีจิตใจที่สงบผ่องใส ดังคำสอนแห่งพระพุทธองค์ที่ทรงย้ำสอนให้ชาวโลก “ละความชั่ว ทำความดี และทำใจให้ผ่องใส” 

      อีกทั้งศัตรูที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติหาใช้เพื่อนร่วมโลกที่ต่างกันด้วยเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรือความเชื่อไม่ แต่แท้จริงแล้วคือกิเลสที่อยู่ภายในใจของมนุษย์โลกทุกๆ คน ที่จำเป็นจะต้องขจัดออกไปให้หมดสิ้นตามแนวทางที่พระบรมศาสดาได้ทรงวางไว้ คือ การหมั่นทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพื่อเพิ่มพูนสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในใจของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จิตใจของมนุษย์มีคุณภาพที่สูงขึ้นจนกระทั่งเกิดความละอายที่จะทำความชั่วและกลัวผลของกรรมชั่วที่จะติดตามมาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง และมนุษย์คือกลไกสำคัญแห่งการดำเนินไปของสังคมโลก อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่จะนำไปสู่การสร้างสมดุลแก่สรรพชีวิต รวมถึงแก่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นวัดพระธรรมกายจึงมุ่งให้ความสำคัญแก่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มุ่งนำสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อยกคุณภาพมนุษย์ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุลทั้งด้านการพัฒนาวัตถุและการพัฒนาทางจิตใจ เพราะเมื่อบุคคลทั้งหลายเข้าถึงธรรมได้เวลาใด ณ เวลานั้น ทุกคนจะรู้ว่าสันติสุขภายในจิตใจสร้างสรรค์ให้เกิดสันติภาพภายนอกอย่างแท้จริงได้


001.jpg

ถ้าอยากทำความดีให้กับโลกในวันคุ้มครองโลกนี้บ้าง ควรทำอย่างไร

    การปฏิบัติธรรมกับป่ามีความสัมพันธ์กันมาก สังเกตได้จากสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าล้วนแต่เกิดขึ้นในป่าทั้งสิ้น เหตุการณ์สำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้วนแต่เกิดขึ้นในป่า เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนากับป่าใกล้ชิดกันมาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยก็มีความรักต่อต้นไม้มาก วัดพระธรรมกายเดิมเป็นทุ่งนาโล่ง ไม่มีต้นไม้ มีแต่ต้นหญ้า หลวงพ่อธัมมชโยปลูกต้นไม้ขึ้นมาทีละต้น ซึ่งเมื่อเริ่มต้นปลูกใหม่ๆ ก็ปลูกยาก เพราะเป็นดินเปรี้ยว ต้องใช้ปูนขาวมาใส่เพื่อลดความเป็นกรด กว่าจะปลูกให้เติบโตมาทีละต้นๆ ท่านเห็นภาพการเจริญเติบโตของต้นไม้ จึงมีความรักต่อต้นไม้ทุกต้น

     ภายในวัดพระธรรมกาย ถ้าจะมีการตัดต้นไม้ ต้องมาขออนุญาตหลวงพ่อธัมมชโยก่อนทุกครั้ง แม้จะตัดกิ่งโตๆ ก็ต้องกราบขออนุญาตท่านก่อน ท่านจำได้หมดว่าต้นไม้ต้นไหน มีกิ่งก้านแผ่ขยายอย่างไร ถ้าหายไปท่านจะจำได้เสมอ ท่านชอบความร่มรื่น นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรักษาป่า รักษาธรรมชาติอย่างแท้จริง

     สาขาวัดพระธรรมกายแต่ละที่ ก็จะมีการปลูกต้นไม้ขึ้นมาจนเขียวชอุ่ม ถ้าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือแบบนี้ สิ่งแวดล้อมก็จะดี แล้วเราเองก็จะปฏิบัติธรรมดี เรานั่งสมาธิแล้วมองเห็นสีเขียวๆ ของต้นไม้ ใจก็จะพลอยสบายไปด้วย พอใจสบายก็จะทำให้นั่งสมาธิได้ดีมากขึ้น ปฏิบัติธรรมได้ดีมากขึ้น

     ดังนั้น ตัวเราเอง หากบ้านเรามีพื้นที่สักนิด ก็ลงมือปลูกต้นไม้สักต้น อาจอยู่ในกระถางก็ได้ ให้ใจเราได้ผูกพันกับธรรมชาติ ใจเราจะอ่อนโยน พอถึงคราวปฏิบัติธรรมก็จะปฏิบัติได้ดี

        ในวันคุ้มครองโลกนี้ เเม้ว่ายังมาทำบุญที่วัดไม่ได้ เพราะเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด ให้หาวิธีปลูกต้นไม้สัก 1 ต้น ถ้ามีพื้นที่ก็ปลูกลงดินเลย ถ้าไม่มีที่ก็ปลูกในกระถาง ให้มีสีเขียวๆ เกิดขึ้น แม้จะปลูกในกระถางต้นไม้ก็คลายออกซิเจนได้ แก้ปัญหาโลกร้อนได้ และในขณะเดียวกัน ก็ให้ปฏิบัติธรรม เปิดดู GBN ร่วมกิจกรรมกับที่วัดทาง online , on zoom  แม้ตัวเราจะอยู่คนละที่ แต่ว่าใจเราอยู่ที่เดียวกัน อยู่กับธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจเราก็จะเย็นลง ได้รับการคุ้มครองจากธรรมะของพระพุทธเจ้า และจะได้ช่วยกันขยายความเย็นจากใจของพวกเราไปสู่ใจของชุมชนรอบตัวเรา และไปสู่เพื่อนร่วมโลกของเรา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033015700181325 Mins