ติดแต่ที่สุดแห่งธรรมอย่างเดียว
ติดแต่ที่สุดแห่งธรรมอย่างเดียว : นั่งกันเป็นยังไงบ้าง นิ่งกันดีมั้ย (พระลูกชาย: รู้สึกละเอียด บริสุทธิ์ขึ้นทั้งนอกรอบในรอบ ใจจะไม่ยินดียินร้ายในเรื่องราวคน สัตว์ สิ่งของ ใจจะเกลี้ยงๆ โล่ง โปร่ง เบา สบาย มีความสุขเป็นปกติ มีปีติ ความภูมิใจ นัตถิ สันติปะรัง สุขัง) ใจนิ่ง ๆ ก็ดีเหมือนกัน นัตถิ สันติ ถิรสันโต ต้องนิ่งกว่านี้อีกแล้วนอกนั้นเป็นยังไงบ้าง (พระลูกชาย: เอาโอวาทหลวงพ่อที่ว่า ทิ้งทุกอย่าง วางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว เอามาทำให้ได้จริงๆ ทำให้สามารถเข้ากลางโดยที่หลุดจากกายมนุษย์หยาบได้ครับ) ดีนี่ ดีมากจ้ะ ได้บ่อยมั้ย (พระลูกชาย: เพิ่งได้ครั้งเดียวครับ) ไม่เป็นไร จำได้มั้ยว่าทำยังไง (พระลูกชาย: ได้ครับ ใจต้องเกลี้ยงจริงๆ ครับ) ข้อสังเกต คือ เราก็ไม่ได้ไปติดใจในอารมณ์นั้น แต่เราก็พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ ในกรณีที่เราหลุดนะ อย่าไปติดใจมันนะ ถ้าหลุดเราก็เริ่มต้นใหม่ เราทำเพื่อตัวเราเอง ดังนั้น ใจต้องไม่ติดอะไรเลย ติดแต่ที่สุดแห่งธรรมอย่างเดียว ติดที่ศูนย์กลางกาย พยายามจับตรงนี้ ฝึกซ้ำๆ เส้นทางสายกลางให้มันคล่องๆฝึกไปเรื่อยๆ ต้องมีความสุข บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ฉันทะจะเพิ่มขึ้น ฉันทะมันจะเกิดขึ้นเอง เพราะว่ามีความสุข ความบริสุทธิ์ แล้วเราจะชอบ ชอบมากต้องเกิดขึ้น ถ้าอารมณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไร เราประสบความสำเร็จ บางช่วงที่ใจหยาบ เรายังมีความพอใจอยากได้แบบนี้ ชอบกับพยายามชอบมันคนละอย่างกันนะ ระดับมันต่างกัน ชอบเพราะใจหยุดนิ่ง ถ้าอย่างนี้ฉันทะเกิด ถ้าติดหยาบมันก็หลุดจากละเอียด : ถ้าหยาบลงตัว ละเอียดจะลงกลาง เป็นปกติเลย สิ่งที่จะดึงดูดให้ใจหลุดจากความละเอียด คือ ความหยาบ ใจละเอียดได้ต้องหลุดจากของหยาบ ใจติดของละเอียดก็สู่ความละเอียด ถ้าติดหยาบมันก็หลุดจากละเอียด ถ้าติดละเอียดมันก็หลุดจากหยาบ มันอย่างนี้นะ ถ้านั่งฝั่งหนึ่งต้องไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ข้ามไปอีกฝั่งให้ได้ ทิ้งฝั่งนี้เพื่อไปถึงฝั่งโน้น ทิ้งฝั่งนี้เพื่อไปติดฝั่งโน้น เราต้องไปสังเกตดู ถ้ามีอะไรจุกจิกกวนใจ แสดงว่าใจยังติดของหยาบอยู่ ในละเอียดไม่มีอะไรจุกจิกกวนใจ มีแต่ชอบมาก ชอบ ชอบ ให้สังเกตนะ ไม่มีคับแคบ
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่ม ๒