ม ง ค ล ที่ ๑ ๙ ง ด เ ว้ น บ า ป

วันที่ 25 มิย. พ.ศ.2565

mongkol-life19.jpg

ม ง ค ล ที่  ๑๙   งดเว้นจากบาป

ถ้าแผลไม่มีในฝ่ามือ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ 
เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมเข้าไปสู่ฝ่ามือไม่มีแผล ฉันใด 
บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป ฉันนั้น

mongkol-life19.1.jpg
๑. คนทำบาป

     ๑.๑ บุคคลผู้ไม่มีความละอาย กล้าเพียงดังกา มีปกติกำจัดคุณผู้อื่น มักเอาหน้า.
ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๓/๓

     ๑.๒ ผู้ใดพึงนำภาชนะดินไปได้ แม้ภาชนะสำริด ผู้นั้นก็พึงนำไปได้ หล่อนทำชั่วจนช่ำ ก็จัก
ทำชั่วอย่างนั้นอีก.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๓/๓๑๔

     ๑.๓ ขึ้นชื่อว่าที่ลับ ย่อมไม่มีในโลกนี้แก่คนผู้กระทำบาปกรรม อุปมาดังต้นไม้ที่เกิดในป่าก็
ยังมีคนเห็น คนพาลย่อมสำคัญบาปกรรมนั้นว่าเป็นที่ลับ.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๘/๔๐๖

     ๑.๔ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ย่อมเป็นธรรมอยู่อาศัยใน
อัตภาพ เปรียบเหมือนเหล่าสัตว์ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ ที่อาศัยป่าย่อมอยู่ใน
ป่า ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่ที่ต้นไม้ ฉันใด อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น
ย่อมเป็นธรรมอยู่อาศัยในอัตภาพ ฉันนั้นเหมือนกัน.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๖/๓๐๘

     ๑.๕ บุคคลมีมายาดุจถ่านปกปิดด้วยขี้เถ้า ดุจตอปกปิดด้วยน้ำ และดุจศัสตราปกปิดด้วย
เอาผ้าเก่าพัน. 
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๖/๔๒๔

     ๑.๖ ผู้ใดแล มัวรักษาของรักว่า นี่เป็นของรักของเรา ทำตนให้เหินห่างจากความดี เสพของ
รักทั้งหลาย เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราเจือยาพิษ ฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับทุกข์ในโลกหน้า เพราะกรรม
อันลามกนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๖๓๒

mongkol-life19.2.jpg

๒. งดเว้นจากบาป

     ๒.๑ เราจะคลายความเห็นอันชั่วช้า เหมือนโปรยแกลบลอยไปในลมอันแรง เหมือนทิ้งหญ้า
และใบไม้ลอยไปในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว.
ขุ.เปต. (อรรถ) มก. ๔๙/๕๑๖

     ๒.๒ ผู้ห้ามนรชนเสียจากบาป เปรียบเหมือนทำนบเป็นที่กั้นกระแสน้ำเชี่ยวไว้ได้ ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๒/๔๖๐

     ๒.๓ บุคคลพึงเว้นกรรมชั่วทั้งหลายเสีย เหมือนพ่อค้ามีทรัพย์มาก มีพวกน้อย เว้นทางอัน
พึงกลัว เหมือนผู้ต้องการจะเป็นอยู่เว้นยาพิษ ฉะนั้น.
ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๒/๒

     ๒.๔ แม้พวกเธอก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทำความพากเพียรแต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเธอก็จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้    
     ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้สาละป่าใหญ่ ใกล้บ้านหรือนิคม และป่านั้นปกคลุมไป
ด้วยเหล่าต้นละหุ่ง บุรุษผู้หวังดีหวังประโยชน์ และหวังความปลอดภัยของต้นสาละนั้น เขาจึงตัด
ต้นรังเล็กๆ ที่คดที่ต้นละหุ่ง คอยแย่งโอชาออกนำไปทิ้งเสียภายนอก แผ้วถางภายในป่าให้สะอาด
เรียบร้อยแล้ว คอยบำรุงรักษาต้นรังเล็กๆ ที่ต้นตรงขึ้นดีไว้ได้โดยชอบ
     ภิกษุทั้งหลาย ด้วยการกระทำดังที่กล่าวมานี้ สมัยต่อมา ป่าไม้รังนั้นก็เจริญงอกงามไพบูลย์
ขึ้นโดยลำดับ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย แม้พวกเธอก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทำความพากเพียรอยู่
แต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเถิด.
ม.มู. (พุทธ) มก. ๑๘/๒๕๗

     ๒.๕ บุคคลผู้มีผ้าอันไฟไหม้ หรือมีศีรษะอันไฟไหม้ พึงทำ ความพอใจ ความพยายาม
ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
อัง.ทสก. (พุทธ) มก. ๓๘/๑๗๐

     ๒.๖ ภิกษุผู้ปรารภความเพียรนั้น ยังมิจฉาวิตกทั้งหลายให้สงบระงับ เปรียบเหมือนฝนยัง
ธุลีที่ลมพัดฟุ้งขึ้นแล้วให้สงบ ฉะนั้น.
ขุ.อิติ. (อรรถ) มก. ๔๕/๕๓๕

     ๒.๗ ธรรมดาในแว่นแคว้นพระเจ้าจักรพรรดิย่อมไม่มีโจรผู้ร้าย ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภ
ความเพียรก็ไม่ควรให้มีโจรผู้ร้าย คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ฉันนั้น 
     ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า ผู้ใดยินดีในการระงับวิตก อบรมอสุภะ มีสติทุกเมื่อ ผู้นั้นจะทำ
ที่สุดแห่งทุกข์ได้จะตัดเครื่องผูกแห่งมารได้.
มิลิน. ๔๔๓

     ๒.๘ ธรรมดาต้นหนย่อมตั้งเข็มทิศด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นแตะต้อง ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภ
ความเพียรก็ควรตั้งเข็มทิศไว้ในใจ ห้ามใจไม่ให้นึกถึงสิ่งที่เป็นบาปอกุศลทั้งหลาย ฉันนั้น. 
มิลิน. ๔๓๓

     ๒.๙ ธรรมดางู เมื่อเที่ยวไปย่อมหลีกเว้นยาพิษของตน ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็
ควรหลีกเว้นทุจริต ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๕๔

     ๒.๑๐ ความชั่วช้าแม้เพียงเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏเหมือนเท่าก้อนเมฆที่ลอยอยู่
บนฟ้า แก่ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน แสวงหาความสะดวกเป็นนิตย์.
ขุ.เถร. (อรรถ) มก. ๕๓/๒๓๒

     ๒.๑๑ เปรียบเหมือนพ่อค้าเกวียนหมู่ใหญ่ เดินทางจากภาคตะวันออกไปภาคตะวันตก
แล้วได้แบ่งกองเกวียนออกเป็น ๒ กอง กองละประมาณ ๕๐๐ เล่ม ให้ขบวนหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน
อีกขบวนหนึ่งจะตามไปภายหลัง ขบวนที่ล่วงหน้าไปก่อนถูกคนเดินสวนทางหลอกให้ทิ้งหญ้าทิ้งน้ำ 
เล่าว่าข้างหน้าฝนตกหนักในทางกันดาร พุ่มไม้ หญ้า ไม้และน้ำ บริบูรณ์ หัวหน้ากองเกวียน
หลงเชื่อ จึงพาพวกไปตายหมดสิ้น เพราะทิ้งหญ้าทิ้งน้ำแล้ว ก็หาน้ำ และหญ้าข้างหน้าไม่ได้ พวก
ไปทีหลังไม่ยอมเชื่อคนหลอก ไม่ยอมทิ้งหญ้าทิ้งน้ำ จึงเดินทางข้ามทางกันดารโดยสวัสดี แล้ว
เปรียบว่า พระองค์แสวงหาโลกอื่นโดยไม่แยบคาย จะพลอยให้คนที่เชื่อถือพากันถึงความพินาศไป
ด้วยเหมือนนายกองเกวียนคณะแรก.
ที.ปา. (เถระ) มก. ๑๔/๓๘๘

 
     ๒.๑๒ เปรียบเหมือนชายเลี้ยงหมูคนหนึ่ง ไปสู่หมู่บ้านอื่นเห็นคูถ (อุจจาระ) แห้ง ที่เขาทิ้งไว้
เป็นอันมาก ก็คลี่ผ้าห่มออก เอาคูถแห้งใส่แล้วห่อทูนเหนือศีรษะมา ในระหว่างทางฝนตก คูถนั้นก็
ไหลเลอะเปรอะไป คนทั้งหลายจึงพากันติเตียนว่า เป็นบ้าหรือ ไปแบกห่อคูถมาทำ ไม เขากลับตอบ
ว่า ท่านต่างหากเป็นบ้า เพราะของที่แบกมานี่เป็นอาหารของหมู พระองค์ก็เปรียบเหมือนอย่างนั้น
ขอจงสละความเห็นผิดนั้นเสียเถิด.
ที.ปา. (เถระ) มก. ๑๔/๓๙๑

     ๒.๑๓ เปรียบเหมือนนักเลงสกา ๒ คน เล่นสกากัน คนหนึ่งย่อมกลืนลูกโทษที่มาถึงตัว
(ลูกสกาที่จะทำให้แพ้) อีกคนหนึ่งบอกว่า ท่านชนะเรื่อยข้างเดียวขอลูกสกาให้ข้าพเจ้าทำพิธีบ้าง
คนชนะจึงส่งให้ไป นักเลงคนที่ ๒ จึงเอายาพิษทาลูกสกา เมื่อเล่นครั้งที่สองนักเลงสกาคนแรกก็
กลืนลูกโทษที่มาถึงนั้นอีก และตายเพราะกลืนยาพิษเข้าไปด้วย พระองค์ก็เปรียบเหมือนนักเลงสกา
ที่กลืนยาพิษไปกับลูกสกาด้วย ขอจงทรงสละความเห็นผิดนั้นเสียเถิด.
ที.ปา. (เถระ) มก. ๑๔/๓๙๒

     ๒.๑๔ เปรียบเหมือนชาย ๒ คน ชวนกันไปยังชนบทเพื่อหาทรัพย์ ไปพบป่านในระหว่างทาง
ก็ห่อป่านเดินทางไป ครั้นไปพบด้ายที่ทอจากบ้าน คนหนึ่งเห็นด้ายมีราคากว่า ก็ทิ้งป่านห่อด้ายไป
อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้งด้วย ถือว่าแบกมาไกลแล้ว ผูกรัดไว้ดีแล้ว โดยนัยนี้ไปพบผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย
เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทอง คนหนึ่งทิ้งของเก่าถือเอาของใหม่ที่มีราคากว่า แต่อีกคนหนึ่งไม่
ยอมทิ้งถือว่าแบกมาไกลแล้ว ผูกรัดไว้ดีแล้ว เมื่อกลับไปถึงบ้าน บุตร ภริยา เพื่อนฝูงของผู้แบกห่อ
ป่าน ก็ไม่ชื่นชม แต่บุตร ภริยา เพื่อนฝูงของผู้แบกห่อทองกลับมา ต่างชื่นชม พระองค์จะเป็นอย่าง
ผู้แบกห่อป่าน ขอจงทรงสละความเห็นผิดนั้นเสียเถิด.
ที.ปา. (เถระ) มก. ๑๔/๓๙๔

     ๒.๑๕ ความเป็นพรานนี้ เราได้ละแล้ว เหมือนงูลอกคราบเก่าของตน หรือเหมือนต้นไม้
อันเขียวชอุ่ม ผลัดใบเหลืองทิ้ง ฉะนั้น วันนี้เราละความเป็นพรานได้.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๐/๔๕๕

     ๒.๑๖ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงปลดเปลื้องราคะ และโทสะเสีย เหมือนมะลิเครือปล่อย
ดอกทั้งหลายที่เหี่ยวเสีย ฉะนั้น.
ขุ.ธ. (โพธิ) มก. ๔๓/๓๓๙

     ๒.๑๗ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปหาพระราหุลซึ่งกำลังพักอยู่ ณ ปราสาทชื่อ
อัมพลัฎฐิกา ขณะที่พระองค์ทรงล้างพระบาท ทรงเหลือน้ำไว้ในภาชนะหน่อยหนึ่ง รีบสั่งเรียก
พระราหุลมาพิจารณาดูน้ำนั้น แล้วทรงแสดงเปรียบเทียบว่า ผู้เป็นสมณะถ้าไม่มีความละอายกล่าว
เท็จทั้งที่รู้ ก็เหลือความเป็นสมณะเพียงหน่อยหนึ่งเหมือนน้ำในขัน
     ทรงเทน้ำทิ้งแล้วทรงคว่ำขัน และหงายขันขึ้น แล้วทรงเปรียบเทียบให้ฟังว่า ถ้ายังกล่าว
เท็จอยู่ก็เหมือนน้ำที่เขาทิ้งแล้ว เหมือนขันที่คว่ำ และว่างเปล่าเหมือนขันที่หงาย
     ทรงยกอุปมาด้วยช้างขึ้นมาเปรียบเทียบว่า ช้างต้นที่อวัยวะทุกส่วนทำงานให้พระราชาได้
ไม่มีอะไรที่ช้างต้นนั้นจะทำไม่ได้ คนที่ไม่มีความละอายกล่าวเท็จทั้งที่รู้ก็เหมือนกัน ที่จะไม่ทำบาป
อะไรเลยไม่มี
     จากนั้นทรงสอนให้พิจารณาดูกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของตน เหมือนคนใช้
คันฉ่องดูเงาหน้าตัวเอง ฉะนั้น.
ม.มู(พุทธ) มก. ๒๐/๒๖๓

     ๒.๑๘ ถ้าแผลไม่มีในฝ่ามือ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมเข้าไป
สู่ฝ่ามือไม่มีแผล ฉันใด บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ บาป ฉันนั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๒/๓๖

mongkol-life19.3.jpg

๓. ผลของบาป

     ๓.๑ คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล ก็เมื่อใดบาปให้ผล
เมื่อนั้นคนพาลย่อมประสพทุกข์.
ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๑/๒๑๕

     ๓.๒ คนนี้จะเป็นผู้เปื้อนไปด้วยบาป เหมือนกับผ้านุ่งของพี่เลี้ยงที่เปื้อนน้ำลายน้ำมูก มูตร
และคูถ.
ขุ.ชา. (อรรถ) มก. ๕๙/๑๘๔

     ๓.๓ บุคคลจะอยู่ในอากาศ อยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร จะเข้าไปสู่ซอกเขาก็ตามที ก็ไม่พึง
พ้นจากกรรมชั่วไปได้ เพราะประเทศ คือ แผ่นดิน ที่เขาอยู่นั้น บาปกรรมจะตามไม่ทัน ไม่มี.
ขุ.อุ. (พุทธ) มก. ๔๔/๔๖๒

     ๓.๔ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวนครสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดรผู้ไม่มีความผิดจาก
แว่นแคว้น ก็เปรียบเหมือนช่วยกันตัดต้นไม้อันนำรสที่ต้องการทุกอย่างมาให้ ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (พุทธ) มก. ๖๔/๕๐๓

     ๓.๕ ท่านจงหลีกไปเสียเถิด โลกยังกว้างใหญ่ ท่านไม่ไปที่อื่น ยังประพฤติอธรรมอยู่ในที่นี้
อธรรมอันท่านประพฤติแล้ว อย่าได้ทำลายท่านเลย เหมือนก้อนหินต่อยหม้อแตก ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (อรรถ) มก. ๕๘/๔๓๔


     ๓.๖ อันคนพาลทำกรรมทั้งหลายอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้สึก บุคคลผู้มีปัญญาทราม ย่อม
เดือดร้อน ดุจถูกไฟไหม้ เพราะกรรมของตนเอง. 
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๒/๖๗

     ๓.๗ บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำ ยังเต็มด้วย
หยาดน้ำที่ตกลง ทีละหยาดๆ ได้ฉันใด ชนพาลเมื่อสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาปได้
ฉันนั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๒/๒๒๕

     ๓.๘ กรรมที่บุคคลใด ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน แล้วทำลงไป ผลชั่วร้ายย่อมมีแก่บุคคล
นั้น เหมือนความวิบัติแห่งยาแก้โรค ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๑/๑๖๕

     ๓.๙ บุคคลนึกอยู่ว่า หากว่าท่านจักกระทำกรรมชั่วนั้น ท่านจักได้รับความติเตียนในบริษัท
๔ วิญญูชนทั้งหลายจักติเตียนท่าน เหมือนชาวเมืองรังเกียจของสกปรก. 
ขุ.อิติ. (อรรถ) มก. ๔๕/๒๙๓

     ๓.๑๐ บุคคลผู้ทำ อกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลที่ยังอยู่จะสวดสรรเสริญวิงวอน ก็ไม่สามารถทำให้ผู้ล่วงลับที่ไปอบายแล้ว กลับไปสู่สุคติ
สวรรค์ได้ เหมือนโยนก้อนหินลงในน้ำ แล้วสวดวิงวอนให้ก้อนหินลอยขึ้นมา ก้อนหินก็ไม่สามารถ
ลอยขึ้นมาได้.
สัง.สหา. (พุทธ) มก. ๒๙/๑๘๙

     ๓.๑๑ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรมที่บุคคลทำด้วย
รูปนามนี้อยู่ไหน
     พระนาคเสนทูลตอบว่า ติดตัวไปเหมือนเงาตามตัว แล้วอุปมาว่า ต้นไม้ที่ยังไม่มีผลก็ไม่อาจ
ชี้ได้ว่าผลนั้นอยู่ที่ไหน ดังนั้น เมื่อการสืบต่อยังไม่ขาด ก็ไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่ากรรมเหล่านั้นอยู่
ที่ไหน.
มิลิน. ๑๑๒

     ๓.๑๒ บุคคลประทุษร้ายแก่นรชนผู้ไม่ประทุษร้าย เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส บาปย่อม
กลับมาถึงบุคคลนั้นผู้เป็นพาล ประดุจซัดธุลีทวนลม.
สัง.ส. (พุทธ) มก. ๒๔/๑๒๖

     ๓.๑๓ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสน เรื่องการทำบาปของผู้รู้กับผู้ไม่รู้ ใครจะได้บาป
มากกว่ากัน
     พระนาคเสนทูลตอบว่า บุคคลผู้ไม่รู้บาปแล้วทำบาปย่อมได้รับบาปมากกว่าผู้รู้บาปกรรม
แล้วจึงทำบาป ประดุจชายผู้ไม่รู้ ไปจับเอาก้อนเหล็กแดงอันร้อนแรง ย่อมร้อนทุรนทุรายมากกว่า
บุคคลผู้ที่รู้อยู่ว่าก้อนเหล็กแดงร้อนแรง จึงหาวิธีการ อุบายต่างๆ เพื่อที่จะลดความร้อนแรงของ
ก้อนเหล็กแดงก่อนแล้วจึงจับ.
มิลิน. ๑๓๗

mongkol-life19.4.jpg

๔. อานิสงส์ของการงดเว้นบาป

     ๔.๑ ผู้ใดเคยประมาทในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำให้โลกนี้สว่างไสว
เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ฉะนั้น
     บาปกรรมที่ทำไว้แล้ว อันผู้ใดย่อมปิดกั้นไว้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือน
พระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ฉะนั้น.
ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๓/๑๓๓

     ๔.๒ ถ้าแผลไม่พึงมีในฝ่ามือไซร้ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่ซึม
เข้าไปสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล ฉันใด บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป ฉันนั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๒/๔๐

     ๔.๓ ผู้ใดในโลกนี้ พิจารณาแล้วละของรักได้ เสพอริยธรรมทั้งหลายแม้ด้วยความยาก
เหมือนคนเป็นไข้ดื่มยา ฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขในโลกหน้าเพราะกัลยาณกรรมนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๖๓๒

 

๑ อสุภะ สภาพที่ไม่งาม, พิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นสภาพที่ไม่งาม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03851979970932 Mins