ม ง ค ล ที่ ๑๘ ทำงานไม่มีโทษ
ดอกบัวหลวงมีเง่าขาว ผุดขึ้นจากน้ำที่สะอาด เกิดจากสระโบกขรณี
บานเพราะพระอาทิตย์มีแสงเหมือนไฟ โคลนตมก็ไม่เปื้อน
ผงธุลีก็ไม่เลอะ น้ำก็ไม่เปียก ฉันใด
พระราชาก็ฉันนั้น กรรมกิเลสไม่เปรอะเปื้อนพระองค์ผู้มีวินิจฉัยสะอาด
ไม่ทรงผลุนผลัน มีพระราชกิจบริสุทธิ์ ทรงปราศจากกรรมที่เป็นบาป
เหมือนดอกบัวที่เกิดขึ้นในสระโบกขรณีทั้งหลาย ฉะนั้น
๑. ทำงานไม่มีโทษ
๑.๑ ผู้มีมีด เมื่อไม่ปอกผลมะงั่วที่มีเปลือกแข็งออก จะทำให้มีรสขม ข้าแต่พระราชา
บุคคลเมื่อปอกเปลือกเป็น จะทำให้มีรสอร่อย เมื่อปอกแต่เปลือกบางๆ ออกก็คงทำให้ไม่อร่อย
ฉันใด ฝ่ายพระราชาผู้ทรงพระปรีชา ก็ฉันนั้น ไม่ทรงเร่งรัดเก็บทรัพย์ขูดรีดภาษี ควรปฏิบัติ
คล้อยตามธรรมะ ทำความสุขสำราญแก่ราษฎร ไม่ทรงเบียดเบียนผู้อื่น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๙/๒๑๑
๑.๒ ธรรมดาพระราชาผู้ทรงไม่บีบคั้นแว่นแคว้นราษฎรเหมือนหีบอ้อยเลย ทรงละการ
ลุอำนาจอคติ ผูกใจเขาด้วยสังคหวัตถุ๔.
ขุ.ชา. (อรรถ) มก. ๕๙/๓๔๑
๑.๓ ผู้ใดปรับผู้ไม่ได้ทำความผิด ๑๐๐ บ้าง ๑,๐๐๐ บ้าง ผู้นั้นชื่อว่า ใช้อำนาจด้วยอาชญา
คือ ทรัพย์ ผู้ใดออกคำสั่งประหารและทิ่มแทง ผู้นั้นชื่อว่า ใช้อำนาจด้วยอาชญา คือ ศัสตรา แต่
พระราชาองค์นี้ทรงละแม้ทั้งสองนั้น ทรงปกครองไม่ต้องใช้อาชญา.
ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๑๑๕
๑.๔ โคที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเกิดเป็นหัวหน้าหมู่ใด หัวหน้าหมู่ตัวนั้นเป็นโคที่นำธุระไปได้
สมบูรณ์ด้วยกำลัง เดินไปเรียบร้อยและเร็ว คนทั้งหลายย่อมเทียมโคตัวนั้นในการขนภาระ ไม่คำนึง
ถึงสีของมัน ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล บรรดามนุษย์เหล่านั้นทุกๆ ชาติ คนผู้ที่ฝึกแล้วย่อมเกิดเป็นผู้มีวัตร
ดี ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล กล่าวคำสัตย์ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติ และมรณะได้แล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ ปลงภาระแล้ว ไม่ประกอบด้วยกิเลส ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นผู้ถึงฝั่ง
แห่งธรรมทั้งปวง ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น ก็ทักษิณาที่บำเพ็ญในผู้นั้น ผู้ปราศจากความกำหนัดเป็น
บุญเขต ย่อมมีผลไพบูลย์.
อัง.ปัญจก. (พุทธ) มก. ๓๖/๓๘๔
๑.๕ พระราชาผู้ทรงจัดงานดี หมั่นขยันตามกาล ไม่เกียจคร้าน โภคสมบัติทั้งปวงย่อมเจริญ
ขึ้น เหมือนฝูงโคที่มีโคผู้ ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๑/๕๑๔
๑.๖ ความเป็นผู้นำ โลกหาได้ยาก เหมือนกับดอกมะเดื่อ กระต่ายในดวงจันทร์ หรือเหมือน
น้ำนมกา ฉะนั้น.
ขุ.เถร. (อรรถ) มก. ๕๑/๑๒๕
๑.๗ ดอกบัวหลวงมีเง่าขาว ผุดขึ้นจากน้ำที่สะอาด เกิดจากสระโบกขรณี บานเพราะ
พระอาทิตย์มีแสงเหมือนไฟ โคลนตมก็ไม่เปื้อน ผงธุลีก็ไม่เลอะ น้ำก็ไม่เปียก ฉันใด พระราชาก็ฉันนั้น
กรรมกิเลสไม่เปรอะเปื้อนพระองค์ ผู้มีวินิจฉัยสะอาด ไม่ทรงผลุนผลัน มีพระราชกิจบริสุทธิ์ ทรง
ปราศจากกรรมที่เป็นบาป เหมือนดอกบัวที่เกิดขึ้นในสระโบกขรณีทั้งหลาย ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๙/๒๑๓
๑.๘ จันทัน ๓๐ ตัว ทำด้วยไม้แก่น ไม่มีกระพี้เหล่าวางเรียงยันกันไว้ ยอดโดมที่จันทันเหล่า
นั้นยึดไว้ดีแล้ว และถูกกำลังบังคับบีบขนาบไว้ จึงไม่ตกไปจากข้างบน ฉันใด แม้พระราชาผู้ทรง
เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น ที่เหล่าองคมนตรีผู้เป็นมิตรมั่นคงไม่แตกกัน มีความสะอาดยึดเหนี่ยวไว้ดีแล้ว
ก็ไม่ทรงพลาดไปจากศิริ เหมือนยอดโดมที่แบกภาระของจันทันไว้ ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๙/๒๑๐
๒. ทำงานมีโทษ
๒.๑ กษัตริย์พระองค์ใด ยังไม่ทันพิจารณาแล้วทรงลงพระราชอาญา กษัตริย์พระองค์นั้น
ชื่อว่า ย่อมกลืนกินพระกระยาหารพร้อมด้วยหนาม เหมือนคนตาบอดกลืนกินอาหารพร้อมด้วย
แมลงวัน ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๐/๑๘๖
๒.๒ ศรีคือ มิ่งขวัญ ย่อมละพระราชาผู้ไม่จัดแจงการงาน โง่เขลา มีความคิดอ่าน
เลวทราม ไร้ปัญญา เหมือนงูลอกคราบอันเก่าคร่ำคร่า ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๑/๕๑๔
๒.๓ เมื่อฝูงโคข้ามฟากอยู่ ถ้าโคโจกตัวนำฝูงไปคด โคนอกนั้นก็คดไปตามกัน ในหมู่มนุษย์ก็
เหมือนกัน ถ้าท่านผู้ได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ ประพฤติไม่เป็นธรรมไซร้ ประชาชนนอกนี้ก็จะประพฤติ
ไม่เป็นธรรมด้วย ถ้าพระราชาผู้ไม่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม รัฐทั้งปวงก็ยากเข็น.
ขุ.ชา. (พุทธ) มก. ๕๘/๖๐๖
๒.๔ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลดิบมา ผู้นั้นย่อมไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์แห่ง
ต้นไม้นั้นก็ย่อมพินาศ รัฐเปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาปกครองโดยไม่เป็นธรรม พระราชานั้น
ย่อมไม่รู้รสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ย่อมพินาศ.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก.๖๒/๘๓
๒.๕ กษัตริย์พระองค์ใด ทรงลงพระอาชญากับผู้ไม่สมควรจะลงพระอาชญา ไม่ทรงลง
พระราชอาชญากับผู้ที่สมควรลงพระราชอาชญา กษัตริย์พระองค์นั้น เป็นเหมือนคนเดินทาง
ไม่เรียบ ไม่รู้ว่าทางเรียบหรือไม่เรียบ.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๐/๑๘๖
๒.๖ น้ำเต้าขมผสมด้วยยาพิษ บุรุษที่รักชีวิต ยังไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์มาถึง พวก
ชาวบ้านบอกเขาว่า บุรุษผู้เจริญ น้ำเต้าขมนี้ผสมด้วยยาพิษ ถ้าท่านหวังจะดื่มก็ดื่มเถิด น้ำเต้าขม
นั้น จักไม่ทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วก็จักถึงตาย หรือได้รับทุกข์
ปางตาย
บุรุษนั้น ไม่พิจารณาน้ำเต้าขมนั้น ดื่มมิได้วาง น้ำเต้าขมนั้นก็ไม่ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจทั้งสี
กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้วพึงถึงตายหรือได้รับทุกข์ปางตาย แม้ฉันใด เรากล่าวว่า การสมาทาน
ธรรมนี้ที่มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น.
ม.มู. (พุทธ) มก. ๑๙/๓๗๙
๒.๗ น้ำหวาน ๑ ภาชนะ น่าดื่ม ถึงพร้อมด้วยสีกลิ่น และรส แต่ผสมด้วยยาพิษ บุรุษที่รัก
ชีวิต ยังไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์มาถึง พวกชาวบ้านก็บอกเขาว่า ท่านผู้เจริญ น้ำหวาน ๑
ภาชนะ น่าดื่ม ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ผสมด้วยยาพิษ ถ้าท่านหวังจะดื่มก็ดื่มเถิด น้ำ
หวาน ๑ ภาชนะนั้น จักทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วก็จักถึงตาย
หรือจักได้รับทุกข์ปางตาย
บุรุษนั้นไม่พิจารณาน้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้น แล้วดื่มมิได้วาง น้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้นก็ทำให้
เขาผู้ดื่มพอใจทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้ว พึงถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย แม้ฉันใด
เรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต มีอุปมา
ฉันนั้น.
ม.มู. (พุทธ) มก. ๑๙/๓๘๐