ม ง ค ล ที่ ๑๗ สงเคราะห์ญาติ
หมู่ญาติยิ่งมีมากได้ยิ่งดี
แม้ถึงไม้เกิดในป่า เป็นหมวดหมู่ได้เป็นดี
เพราะต้นไม้ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว
แม้จะใหญ่โตเป็นเจ้าป่า ย่อมถูกลมแรงโค่นลงได้
๑. ประเภทของญาติ
๑.๑ ดุ้นฟืนเผาศพไฟไหม้ปลาย ๒ ข้าง ตรงกลางก็เปื้อนคูถ ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ที่จะใช้
ในบ้านในป่า ฉันใด เรากล่าวบุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
มีอุปมาฉันนั้น.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๒๗๐
๑.๒ ผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่นเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็น
ประธาน เป็นผู้อุดม เป็นผู้สูงสุด เปรียบเหมือนน้ำนมโค นมส้มดีกว่าน้ำนม เนยข้นดีกว่านมส้ม
เนยใสดีกว่าเนยข้น ยอดเนยใสดีกว่าเนยใสทั้งหมด ยอดเนยใสนับว่า เป็นเลิศ.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๒๗๐
๒. ลักษณะของญาติ
๒.๑ ถ้าผู้ใดเป็นมิตรแม้จะมีกำลังน้อย แต่ตั้งอยู่ในมิตรธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เป็นญาติ เป็น
เผ่าพันธุ์ เป็นมิตร และเป็นสหายของเรา.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๗/๔๔
๒.๒ ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติมี
ความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๒/๓๖๑
๒.๓ ถ้ามีจิตเลื่อมใสรักใคร่กัน ถึงแม้จะอยู่คนละฝั่งสมุทร ก็เหมือนอยู่ใกล้ชิดกัน ถ้ามีจิต
คิดประทุษร้ายกัน ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกัน ก็เหมือนกับอยู่กับคนละฝั่งสมุทร.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๐/๒๓๒
๓. ประโยชน์ของการสงเคราะห์ญาติ
๓.๑ บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายมิตร เหล่าอมิตรย่อมย่ำยีบุคคลผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรมีราก
และย่านงอกงาม พายุไม่อาจพัดพานให้ล้มได้ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๓/๔๓
๓.๒ บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายมิตร บุคคลผู้นั้นย่อมรุ่งเรืองดุจกองเพลิง ย่อมไพโรจน์ดุจ
เทวดามีสิริประจำตัว.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๓/๔๓
๓.๓ กรรมที่บุคคลทำในคนกตัญญู มีศีล มีความประพฤติประเสริฐ ย่อมไม่ฉิบหายไป
เหมือนพืชที่บุคคลหว่านลงในนาดีฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๙/๘๖๒
๓.๔ หมู่ญาติยิ่งมีมากได้ยิ่งดี แม้ถึงไม้เกิดในป่า เป็นหมวดหมู่ได้เป็นดี เพราะต้นไม้ที่ตั้งอยู่
โดดเดี่ยว แม้จะใหญ่โตเป็นเจ้าป่า ย่อมถูกลมแรงโค่นลงได้.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๖/๑๙๙
๔. สงเคราะห์ญาติ
๔.๑ การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑ การประพฤติให้เป็นประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้มีตนเสมอใน
ธรรมทั้งหลายในคนนั้นๆ ตามควร ๑ ธรรมเครื่องยึดเหยี่ยวน้ำใจในโลกเหล่านี้แล เป็นเหมือนเพลา
รถอันแล่นไปอยู่.
ที.ปา. (พุทธ) มก. ๑๖/๙๒
๔.๒ ธรรมดาพระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ฉันใด ภิกษุผู้
ปรารภความเพียรก็ควรสงเคราะห์ ควรประคอง ควรอนุเคราะห์ ควรทำให้ร่าเริงแก่บริษัท ๔ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๔๓
๔.๓ ธรรมดากาเมื่อเห็นสิ่งใดที่เป็นอาหาร คือ ซากสัตว์ หรือของเดน ก็ย่อมป่าวร้องเรียก
พวกญาติมากิน ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรเป็น ฉันนั้น คือ เมื่อได้ลาภโดยชอบธรรมแล้ว
ก็ควรแจกแบ่งปันให้เพื่อนพรหมจรรย์.
มิลิน. ๔๒๘
๔.๔ ธรรมดาอาหารย่อมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงสัตว์ทั้งปวง ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็
ควรอุปถัมภ์สัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น
ธรรมดาอาหารย่อมให้สัตว์ทั้งหลายเจริญเติบโตแข็งแรง ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็
ควรทำให้บุคคลทั้งหลายเจริญอยู่ด้วยบุญ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๖๓
๔.๕ ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่ปิดบังคนที่ไม่สะอาดไว้ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรปิด
ความหลงผิดของผู้อื่นไว้ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๕๖
๔.๖ ธรรมดาเมฆย่อมทำให้พืชทั้งปวงงอกเงยขึ้น ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควร
ทำให้พืช คือ ศรัทธาของบุคคลทั้งหลายงอกงามขึ้น ฉันนั้น ควรปลูกพืช คือ ศรัทธานั้นไว้ในสมบัติ
ทั้ง ๓ อันได้แก่ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ.
มิลิน. ๔๕๘
๔.๗ บุรุษผู้มีกำลังทรัพย์ ยศ ศักดิ์ บริวาร รู้ว่าญาติจะได้รับพระราชอาชญาหนัก ก็ช่วยให้
เป็นเบาตามความสามารถ ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบการบรรพชาชองพระเทวทัตจะ
ทำให้กรรมของพระเทวทัตถึงที่สุดได้ จึงให้บรรพชาช่วยให้หนักเป็นเบา ฉันนั้น.
มิลิน. ๑๗๐
๔.๘ พญานกแขกเต้ากล่าวว่า ข้าพเจ้านำข้าวสาลีของท่านไปถึงยอดงิ้วแล้ว... ฝังขุมทรัพย์
ไว้ที่ป่างิ้วนั้น
พราหมณ์ถามว่า ท่านจงบอกวิธีฝังขุมทรัพย์
พญานก: นกเหล่าอื่นมีขนปีกหลุดหมดแล้ว เป็นนกทุพพลลาพ ข้าพเจ้าต้องการบุญ จึงได้
ให้ข้าวสาลีแก่นกเหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า การทำบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๐/๓๕๖
๔.๙ พวกเจ้าศากยะและพวกเจ้าโกลิยะให้กั้นแม่น้ำโรหิณี เนื่องจากน้ำในแม่น้ำมีปริมาณ
น้อย ไม่เพียงพอต่อการทำกสิกรรมของทั้งสองเมือง ทาส กรรมกร ประชาชน แย่งน้ำกัน ใช้วาจา
ดูถูกชาติกำเนิดซึ่งกันและกัน กระทบกระทั่งจนไปถึงอำมาตย์ และพระราชา พระราชาทั้งสอง
เมืองเตรียมทัพแล้ว ออกมาเพื่อทำการรบแย่งชิงน้ำ
พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงเสด็จมาถามว่า ความเป็นกษัตริย์หรือน้ำมีค่ามากกว่ากัน
กษัตริย์ทั้งสองได้คิด จึงเลิกรากันไป.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๒/๓๖๒
๕. ญาติที่ไม่ควรสงเคราะห์
๕.๑ กรรมที่บุคคลทำในอสัตบุรุษ ย่อมฉิบหายไม่งอกงาม เหมือนพืชที่บุคคลหว่านลงในไฟ
ย่อมถูกไฟไหม้ไม่งอกงาม ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๙/๘๖๒
๕.๒ ไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้อง หรือวงศ์ญาติ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้น
เป็นคนพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง คนเหล่านั้น เป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่เมื่อเขาเหล่านั้นมาหา
ถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่งห่ม และอาหาร.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๔/๓๒๓