สรุปโอวาทการปฏิบัติธรรมที่ ๑๔
ฝึกซ้ำๆ : สมมติว่า เราเห็นภาพอย่างเดียว แต่ยังไม่มีความสุขก็ต้องทำซ้ำ ๆ ให้นิ่งนุ่ม เบา ๆ สบาย ๆ เพราะจะต้องฝึกทุกขั้นตอน หยุด นิ่ง ลูกต้องจับหลักตรงนี้ เพราะว่า ถ้าเราครอบครองจุดเริ่มต้นได้อย่างสมบูรณ์ ต่อไปง่าย ต่อไปจะง่าย เห็นดวง เห็นกายอะไร ต่าง ๆ จับหลักตรงนี้ไว้
จุดสว่างเล็กๆ ใส ๆ : (พระลูกชาย: ถ้าลูกดูองค์พระเห็นชัดเท่าตาเห็น หรือยิ่งกว่าตาเห็น จะรักษาอารมณ์ให้ต่อเนื่องอย่างไรครับ) เอาจุดที่สบาย ที่ง่ายสำหรับเรา สบายอย่างนี้ไปก่อน แล้วแต่ว่าใจเราชอบตรงจุดไหน พอวางใจไปเรื่อย ๆ จะหยุด นิ่งแน่นได้สมบูรณ์ ให้เราเริ่มจากจุดที่ง่าย สบาย เหมาะสมสำหรับเรา มีความสุขกับตรงจุดนั้น ถ้าวางใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ แล้วสบาย เอาตรงที่ใจเราสบาย นึกพระเดชพระคุณหลวงปู่แล้วสบาย ก็นึกหลวงปู่ให้ใจนึกศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป้าของเรา คือ ยึดศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จุดสว่างเล็ก ๆ ใส ๆ เหมือนดวงดาวในท้องของเราที่มันมีอยู่แล้ว โดยให้องค์พระ ดวงธรรม หลวงปู่เป็นยานพาหนะที่เชื่อมใจของเราให้ไปถึงจุดนั้น พอถึงตรงนั้นก็จะทิ้งสิ่งเหล่านั้น เรียกว่าบริกรรมนิมิต เพื่อเราจะได้นึกนิมิตให้คุ้นกับศูนย์กลางกาย ไม่ให้ใจเราไปนึกเรื่องงาน หรือนึกเรื่องอื่น แค่นั้นเอง เป็นเหมือนรถผลัดแรกที่จะส่งเราให้ไปถึงที่หมาย คือ จุดสว่างเล็ก ๆ ใส ๆ
สุขจริงๆ : ถ้าวันใดลูกครอบครองจุดสว่างเล็ก ๆ ใส ๆ ตรงนี้ได้แล้วคราวนี้ เรื่องอื่นเล็กหมดแล้ว ฉะนั้น พอมาถึงจุดนี้แล้ว มันว่าง มันสว่าง เราก็เอาตรงนี้ เพราะเราผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว เราก็นิ่งแล้วความสว่างเกิดขึ้นเอง ว่างเอง ก็เอาตรงนี้เลย แล้วก็นิ่งในนิ่งต่อไปจนไปถึงปุ๊บ ตรงนั้น เป้าของเราอยู่ที่ตรงนั้น จุดสว่างเล็ก ๆ ใส ๆที่เกิดเอง เพราะมีอยู่แล้ว ครอบครองจุดนี้ให้ได้ แล้วเราจะย้ำตรงนี้ให้มันชำนาญ ให้มันคล่อง คล่องยังไง ให้ติดทุกอิริยาบถ และให้รู้ว่า ใส...เป็นยังไง สว่าง....เป็นยังไง เห็น...เป็นอย่างไร เป็น...เป็นอย่างไร นี่คือ ปฐมมรรค จุดเริ่มต้นจริง ๆ ที่เราเห็นแล้ว เราจะยอมรับ เพราะ ความสุข ความบริสุทธิ์ ความสว่าง ความนิ่งแน่น แล้วเราจะเข้าใจว่า ความบริสุทธิ์ในระดับปฐมมรรคเป็นอย่างไร
ให้รู้จักคำว่า....หยุด : ทำช้าๆ ชัด ๆ ทุกขั้นตอน ทุกประสบการณ์ต้องสมบูรณ์ ความสุข ความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์สังเกตที่ใจมันนิ่ง ๆ เกลี้ยง ๆ มันไม่ติดอะไรเลยวางทุกสิ่งทิ้งทุกอย่าง จึงจะครอบครองกลางได้ หยุดนิ่ง วางทุกสิ่ง ทิ้งทุกอย่าง ลองดูซิ ให้วางทุกสิ่ง แรก ๆ เราก็ต้องทิ้งบ้าง ไม่ทิ้งบ้างนี่นะ เพราะยังมีความคุ้นเคย แต่ต้องทิ้งให้ได้ ถ้าไม่ได้ มันไม่ได้ ถ้าเราไม่วางทุกสิ่งทิ้งทุกอย่าง เข้ากลางไม่ได้หรอก ลูกต้องจำนะ ต้องจับหลักตรงนี้ ที่มีความคิดอะไรแว้บมาแสดงว่า เรายังไม่ทิ้งสมบูรณ์ ยังไม่วางทุกสิ่ง ยังไม่ทิ้งทุกอย่าง ยังเข้ากลางไม่ได้ยังครอบครองกลางไม่ได้ นี่เป็นข้อสังเกตนะ หลวงพ่อจะพูดซ้ำ ๆ นะ ย้ำๆ จะได้จำ ขนาดย้ำๆ ยังจำไม่ได้ ลืมนะ เออ เอา ข้อสั้น ๆ ให้มันบริสุทธิ์ มีความสุข ง่าย ให้รู้จักคำว่า...หยุด...ก่อน
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่ม ๑