บรรพชิต ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่

วันที่ 06 เมย. พ.ศ.2566

บรรพชิต
ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่

บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า 
เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชน
พิจารณาแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่
กจฺจิ นุ โข นํ อนุวิจฺจ วิญฺญู สพฺรหฺมจารี สีลโต น อุปวทนฺติ

บรรพชิต ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่

      เพื่อน (ผู้ประพฤติ) พรหมจรรย์ทั้งหลาย (สพฺรหฺมจารี) หมายถึง พระภิกษุรูปอื่นผู้ประพฤติธรรมอันเสมอด้วยพรหม ไม่ยินดีในกาม เป็นผู้มีกรรมร่วมกัน เรียนอุเทศร่วมกัน และมีความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน ที่ประพฤติปฏิบัติในคำสอนและในอริยมรรคร่วมกับเรา หรือได้แก่ ผู้มีอุโบสถ ปวารณา ปาฏิโมกขุทเทส และสังฆกรรมเสมอกับเรา
      พรหมจรรย์ มีความหมาย ๒ ประการ คือ ๑) คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ๒) อริยมรรคมีองค์ ๘
      โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวบาป กลัวถูกตำหนิจากผู้อื่นกลัวการลงโทษ กลัววิบากกรรม ในที่นี้เป็นความเกรงกลัวว่าผู้อื่นจะมาตำหนิการทำบาปอกุศลของตน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้บุคคลมีความระมัดระวังตนและสำรวมในศีลได้ ส่วนศีลข้อที่เผลอพลาดพลั้งล่วงละเมิดไปแล้วก็กลับมารักษาได้
      วิญญูชน แปลว่า คนผู้รู้แจ้ง หมายถึง เพื่อนผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต รู้แจ้งในคำสอนจากการศึกษาและปฏิบัติ เป็นผู้มีความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปเป็นปกติสมบูรณ์ด้วยญาณ ตลอดจนสมณชีพราหมณ์ผู้ได้เจโตปริยญาณและเทวดาทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต
      การพิจารณาของวิญญูชน คือ การตรวจสอบด้วยปัญญาพิจารณาจากสิ่งที่พบเห็นและพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดจริง ไปจนถึงการตรวจตราดูด้วยญาณ คือวิชชาจิตผู้อื่น เรียกว่า เจโตปริยญาณ
      การติเตียนของวิญญูชน คือ การที่บัณฑิตผู้รู้แจ้งซึ่งเป็นเพื่อนพรหมจรรย์ สมณพราหมณ์ รวมถึงเทวดาทั้งหลาย ได้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาหรือตรวจตราดูด้วยญาณแล้วพบว่าทำผิดจริง จึงกล่าวติเตียนขึ้น เช่น “เขาบวชในพระพุทธศาสนาอันประเสริฐเห็นปานนี้แล้ว ยังไม่อาจงดเว้นจากบาปแม้เพียงเล็กน้อยได้ แล้วเขาจะบวชทำไมกัน”
      อีกกรณีหนึ่ง อาจมีท่านผู้รู้ที่มีญาณรู้จิต หรือเทวดามาล่วงรู้ความคิดของเราได้ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนเหล่าภิกษุไว้ในอธิปไตยสูตรมีใจความว่า
      ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ควรพิจารณาว่า เราตั้งใจออกจากเรือนเป็นบรรพชิต เพื่อต้องการทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ พอบวชแล้วจะมาตรกในกาม มีความพยาบาท ความเบียดเบียน เป็นต้น ได้อย่างไรกัน เพราะอาจมีท่านผู้รู้มารู้จิตของเราว่า ยังว้าวุ่นด้วยอกุศลต่าง ๆ แม้เทวดาที่มาเข้าใกล้ก็รู้ด้วยฤทธิ์ว่า เรานั้นแม้ออกจากเรือนบวชด้วยศรัทธาแล้ว แต่ใจยังว้าวุ่นด้วยอกุศลอยู่
      ดังนั้น เราต้องตั้งใจทำความเพียรไม่ย่อหย่อน สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับไม่กระสับกระส่าย จิตต้องเป็นสมาธิแน่วแน่๓๐ เมื่อระลึกได้ดังนี้ก็ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมให้ดียิ่งขึ้นไป
     
วัตถุประสงค์ของการติเตียน
      ๑. เพื่อให้เราไม่ทำบาปอื่น ๆ เพิ่มอีก เพราะกลัวการติเตียนจากผู้อื่นว่าเราเป็นคนพาล
      ๒. เพื่อปรับปรุงศีลของเราให้บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ใช่การคิดซ้ำเติมตนเองให้เศร้าหมองจมอยู่กับความผิดนั้น
      ๓. เพื่อให้เกิดความสำรวมระวังต่อไป

      ข้อปฏิบัติ
      ๑. ต้องหมั่นศึกษาพระวินัยให้แตกฉาน หากมีข้อสงสัยให้สอบถามจากท่านผู้รู้ที่สามารถให้ความกระจ่างในเรื่องนั้นได้เมื่อทำได้ดังนี้จึงจะรู้ได้ว่า ผู้รู้จะมาติเตียนเราในเรื่องใดได้บ้าง
      ๒. ควรพิจารณาดูว่า ถ้ามีผู้รู้มาตรวจสอบศีลข้อนี้ของเราจะมีตรงไหนที่ท่านอาจติเตียนเราได้บ้าง
      ๓. หากมีผู้รู้มาตักเตือนควรทำตนให้ว่าง่าย อนุโมทนาและขอบคุณท่านก่อน หากข้อนั้นเป็นความผิดพลาดจริง ก็ควรพยายามแก้ไขตนให้สมกับที่ท่านมาเตือน หากข้อนั้นไม่จริงก็ควรหาโอกาสกราบเรียนให้ทราบด้วยความเคารพนอบน้อม
      ภิกษุควรพิจารณาถึงโทษของการล่วงละเมิดศีลและอานิสงส์ของการรักษาศีลอยู่เนืองนิตย์ แล้วควรหมั่นตรวจตราศีลของตนว่า ข้อใดที่ยังบกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไข และให้ปลื้มใจในข้อที่ตนรักษาได้ดี บรรพชิตที่พิจารณาอย่างนี้อยู่เนือง ๆ จะเป็นผู้มีหิริ คือมีความละอายใจในการทำความชั่ว และมีโอตตัปปะ คือเกรงกลัวต่อผลกรรมชั่วที่จะตามมา ในที่นี้คือ ไม่อยากให้ผู้อื่นมาเห็นตนทำความชั่วแล้วต้องถูกติเตียน จึงเกรงกลัวต่อการทำบาปอกุศล
      เมื่อภิกษุใดมีหิริโอตตัปปะแล้วจะสำรวมทวารทั้ง ๓ คือ กาย วาจา และใจให้สงบได้ ความสำรวมดังนี้ทำให้ภิกษุตั้งอยู่ในปาริสุทธิศีล ๔ ประการได้ด้วย ดังนั้น เมื่อรักษาศีลบริสุทธิ์ดีแล้วการเจริญสมาธิภาวนาย่อมได้ผลดี มีมรรคผลนิพพานเป็นที่หวังได้

 

"เมื่อมีผู้รู้มาตักเตือน ก็ควรทำตนให้ว่าง่าย
พยายามแก้ไขให้สมกับที่ท่านมาเตือน
เพื่อปรับปรุงศีลของเราให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นไป"

 

๒๙ เป็นผู้มีกรรมร่วมกัน หมายถึง การทำสังฆกรรมร่วมกันในที่ประชุมสงฆ์ภายในสีมาเดียวกันของภิกษุผู้มีศีลและอาจาระเสมอกับภิกษุทั้งหลาย (ปกตัตตะ) คือ ไม่ต้องอาบัติปาราชิกหรือถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม รวมทั้งมิใช่ภิกษุผู้กำลังประพฤติวุฏฐานวิธีเพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส และมิใช่ภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงนิคหกรรมอื่น ๆ
สังฆกรรมทั้ง ๔ อย่าง คือ ๑) อปโลกนกรรม ๒) ญัตติกรรม ๓) ญัตติทุติยกรรม ๔) ญัตติจตุตถกรรม
เรียนอุเทศร่วมกัน หมายถึง การสวดปาฏิโมกข์ร่วมกัน โดยมีปาฏิโมกขุทเทสทั้ง ๕ อย่าง มีการสวดนิทาน เป็นต้น
ผู้มีสิกขาเสมอกัน (สมสิกขาตา) หมายถึง ภิกษุผู้มีศีลที่ต้องศึกษาและปฏิบัติเสมอกัน มีความละอาย คือ ไม่จงใจละเมิดพระวินัยหรือทำผิดแล้วไม่แก้ไข
(วิ.ม.อ. (ไทย.มมร) ๑/๘๑๙)

๓๐ องฺ.ติก. อธิปไตยสูตร (ไทย.มมร) ๓๔/๔๗๙/๑๘๕-๑๘๖
 

 

 

บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่

บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.052748568852743 Mins