หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2566

20-4-66-2-br.jpg

บทที่ ๑๕
หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

 

              ครั้นเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เป็นเวลายังไม่สว่างดี พระอนุรุทธะกับพระอานนท์ผลัดกันแสดงธรรมปลอบใจพุทธบริษัทตามควรแก่เวลา
 

               พอสว่าง พระอานนท์เป็นผู้เข้าไปแจ้งแก่เหล่ามัลลกษัตริย์ เพื่อเตรียมการถวายพระเพลิง คราวนั้นมัลลกษัตริย์โปรดให้ป่าวประกาศไปทั่วเมือง เพื่อรวบรวมน้ำหอม ของหอม และปวงดอกไม้ รวมทั้งดนตรีมีเท่าไรให้นำมาร่วมในงาน กระทำพิธีสักการบูชาพระศพตลอด ๖ วัน
 

                พอวันที่ ๗ เหล่ามัลลกษัตริย์ปรึกษากันว่าจะอัญเชิญพระสรีระแห่เข้าพระนครทางทิศใต้ แล้วถวายพระเพลิงนอกพระนคร แต่เมื่อพากันยกพระศพอย่างไรก็ไม่เคลื่อนที่
 

                พระอนุรุทธะตรวจดูด้วยทิพยจักษุพบว่าขัดต่อความต้องการของเหล่าเทพยดา เทวดาใคร่ให้เคลื่อนพระสรีระเข้าทางทิศเหนือ แล้วออกทางทิศตะวันออก ไปประดิษฐานที่มกุฏพันธนเจดีย์ ที่ประชุมจึงตกลงทำตามความต้องการของเทพยดา ก็สามารถเคลื่อนพระศพได้โดยง่าย
 

                ขณะนั้นพวงดอกไม้สวรรค์ชื่อมณฑารพ ที่เทวดาบันดาลให้ตกลงมาทำพุทธบูชาก็ตกลงมาดารดาษทุกหนทุกแห่งในนครกุสินารา สูงท่วมหัวเข่า เสียงดนตรีมนุษย์และดนตรีทิพย์กึกก้องเอิกเกริกเป็นโกลาหล เหล่ามัลลกษัตริย์พากันกระทำพิธีครบถ้วนทุกประการตามที่มีพุทธาธิบายไว้
 

                 แต่เมื่อนำไฟเข้าไปจุดเพื่อถวายพระเพลิง จุดเท่าใดก็ไม่ติด พระอนุรุทธเถรเจ้าแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า เทพยดาทั้งหลายปรารถนาให้รอพระมหากัสสปเถระมาถวายบังคมเบื้องพระบาทพระบรมศาสดาก่อน จึงจะถวายพระเพลิงได้
 

                 เวลานั้นพระมหากัสสปเถรเจ้ายังกำลังเร่งเดินทางมากับภิกษุบริวารประมาณ ๕๐๐ รูป จากปาวานคร ระหว่างทางพบอาชีวกผู้หนึ่งถือดอกมณฑารพเดินสวนทางมา จึงถามข่าวของพระผู้มีพระภาคเจ้า อาชีวกนั้นแจ้งให้ทราบว่าพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พร้อมทั้งให้ดูดอกมณฑารพที่เก็บมาจากสถานที่ปรินิพพานซึ่งเป็นดอกไม้ที่ไม่มีในเมืองมนุษย์
 

                 เมื่อทราบข่าว ภิกษุผู้สิ้นราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะอดกลั้นด้วยธรรมสังเวช ส่วนภิกษุปุถุชนยังมีราคะอยู่ก็เศร้าโศกปริเวทนา เกลือกกลิ้งรำพันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า
 

                 ในหมู่คณะนั้นมีภิกษุซึ่งมาบวชเมื่อแก่รูปหนึ่ง ชื่อสุภัททะ(ชื่อเหมือนภิกษุที่บวชเป็นรูปสุดท้าย) กล่าววาจาไม่สมควรขึ้นว่า “หยุดเสียใจกันได้แล้ว ไม่ต้องเศร้าโศกถึงพระสมณโคดมองค์นั้นหรอก เมื่อท่านมีชีวิตอยู่คอยสั่งพวกเรา ไม่ให้ทำโน่น ไม่ให้ทำนี่ ตอนนี้ท่านพ้นจากเราไปเสียได้ เราไม่ต้องมีใครมาบังคับ ใครชอบใจจะทําอะไรก็ทําได้ ดีเสียอีก”
 

                  พระมหากัสสปะฟังแล้ว คิดจะยกขึ้นมาเป็นข้อลงโทษที่กล่าววาจาจ้วงจาบ แต่เห็นว่ายังไม่ใช่เวลาสมควร จึงเพียรกล่าวห้ามปรามโดยธรรม แล้วรีบพาหมู่คณะเร่งเดินทางจนถึงมกุฏพันธนเจดีย์ ประนมมือนมัสการทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ แล้วถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า
 

                  ขณะนั้นเองจิตกาธาน (เชิงตะกอน ก็มีไฟลุกโพลงขึ้นเองเป็นอัศจรรย์ด้วยเทวานุภาพเผาพระสรีระของพระบรมศาสดา ส่วนที่เป็นพระฉวีภายนอก และพระจัมมะหนังภายใน พระนหารูเส้นเอ็นน้อยใหญ่ พระลสิกาไขข้อ ทั้งหมดนี้ไฟไหม้โดยไม่มีเถ้าหรือเขม่าไฟ เหมือนไฟไหม้เนยใสหรือน้ำมัน พระสรีระ ส่วนที่เป็นพระอัฐิ พระเกสา พระโลมา พระนขา พระทันตา ทั้งหมดเหลืออยู่ รวมทั้งผ้าพันพระศพชั้นในอีก ๑ คู่ นอกจากนั้นไฟเผาจนหมดสิ้น
 

                  เสร็จแล้วมีท่อน้ำไหลมาเองจากนภากาศ มีน้ำพุขึ้นจากต้นสาละดับจิตกาธาน รวมทั้งเหล่ามัลลกษัตริย์ก็นำน้ำหอมทั้งหลายช่วยกันดับ แล้วจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานที่สัณฐาคารศาลาภายในนครกุสินารา มีเครื่องป้องกันรอบอาคาร มีทหารถือธนูคอยพิทักษ์ มีงานฉลองสักการบูชาต่ออีก ๗ วัน
 

แจกพระสารีริกธาตุ
 

                  เมื่อข่าวการปรินิพพานและถวายพระเพลิงพระสรีระของพระตถาคตเจ้าแพร่ไปตามนครและแว่นแคว้นต่างๆ บรรดาบุคคลผู้ที่มีความเคารพเลื่อมใสในพระบรมศาสดา เช่น พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งนครราชคฤห์ กษัตริย์ลิจฉวีแห่งนครไพศาลี กษัตริย์ศากยะและพระประยูรญาติในรามคาม มหาพราหมณ์เจ้าเมืองเวฏฐที่ปกนคร และมัลลกษัตริย์นครปาวา รวม ๗ แห่ง ต่างส่งทูตเชิญราชสาสน์มาขอส่วนแบ่งพระสารีริกธาตุ เพื่อนำไปสร้างสถูปทำการสักการบูชา แต่ละเมืองได้ส่งคณะทหารร่วมมากับราชทูต พากันตั้งล้อมนครกุสินาราไว้อย่างแน่นหนา
 

                  คณะมัลลกษัตริย์แต่แรกหวงแหนพระบรมสารีริกธาตุมาก เพราะเห็นว่าพระบรมศาสดาทรงอุตส่าห์เสด็จมาปรินิพพานในแว่นแคว้นของตน จึงจะไม่ยอมแบ่งให้ผู้ใด เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้นกับราชทูตฝ่ายที่มาขอ
 

                   พราหมณ์ชื่อโทณะเป็นที่เคารพนับถือของมัลลกษัตริย์ได้กล่าวเตือนให้สติว่า พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญขันติธรรมและสามัคคีธรรม ให้ห่างไกลจากวิหิงสาและอาฆาตพระองค์เป็นที่เคารพเลื่อมใสของมหาชนเป็นอันมาก ทั่วไปในแว่นแคว้นต่างๆ ควรแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุไปเป็นที่สักการบูชา โดยรอให้พร้อมหน้ากันทั้ง ๘ แว่นแคว้น แล้ว แบ่งให้ไปเท่าๆ กัน
 

                   เหล่ามัลลกษัตริย์และราชทูตทั้งปวงฟังข้อเสนอแนะของโทณพราหมณ์แล้ว ก็เห็นดีด้วย มัลลกษัตริย์เองก็รู้ตนเองดีว่าเป็นแคว้นเล็ก ถ้าต้องทำสงครามประหัตประหารกัน ก็เห็นทีจะพ่ายแพ้ถ่ายเดียว เรื่องนี้คิดไปแล้วก็จะเห็นซึ้งถึงพระปรีชาญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า หากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครใหญ่ ซึ่งมีกำลังกองทัพเข้มแข็ง โอกาสแจกพระบรมสารีริกธาตุคงไม่มี
 

                    ทุกฝ่ายพร้อมใจกันให้โทณพราหมณ์ดำเนินการแบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ พราหมณ์ใช้ทะนานทองตวงเป็น ๘ ส่วน แจกจ่ายกันไปเท่าๆ กัน พราหมณ์ขอไว้แต่ทะนานทองนั้น ราชทูตของแต่ละนครจึงแยกย้ายกลับ

             

                   ต่อมาโมริยกษัตริย์เมืองปิปผลิวันส่งราชทูตมาบ้าง มัลลกษัตริย์ให้เชิญพระอังคาร(เถ้า) ไปทำสถูปบรรจุไว้ให้มหาชนสักการบูชา คงเป็นเถ้าถ่านจากสิ่งของที่ใช้ถวายพระเพลิง ถูกไฟเผาแล้วเหลือเป็นเถ้าอยู่ เพราะสิ่งที่เป็นส่วนของพระสรีระไฟไหม้แล้วไม่มีเถ้าเหลือ รวมแล้วครั้งนี้มีสถูปสำหรับบูชาระลึกถึงพระพุทธคุณ รวมทั้งของโทณพราหมณ์ ด้วยเป็น ๑๐ แห่ง


ประชุมใหญ่พระสงฆ์ เพื่อกระทำาปฐมสังคายนา


                  วันเดียวกับที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุเหล่าภิกษุสงฆ์ได้ร่วมประชุมใหญ่ พระมหากัสสปเถรเจ้าได้กล่าวเล่าเรื่องที่ภิกษุสุภัททะผู้บวชตอนแก่กล่าวติเตียนจ้วงจาบพระบรมศาสดาและพระวินัย ให้เกิดความสังเวชสลดใจในหมู่สงฆ์ว่า เพียงพระบรมศาสดาปรินิพพานได้ ๗ วัน ยังมีผู้มีความคิดเห็นวิปริตไปได้ถึงเพียงนี้ ถ้าปล่อยปละละเลยให้นานไปจะฟันเฝือ เผื่อมีอลัชชีปลอมบวชมุ่งทำลายพระศาสนา ย่อมจะบิดเบือนพระธรรมวินัยได้ง่าย สิ่งที่มิใช่ธรรม มิใช่วินัยจะรุ่งเรือง ส่วนธรรมวินัยที่แท้จะลบเลือน ถูกทําลายสูญหายไป พวกคนบาปจะพากันลบล้างพระธรรมวินัย เมื่อคนเลวมากขึ้น ก็จะพากันมีกำลังกล้าแข็ง คนดีอยู่ในพระธรรมวินัยจะเสื่อมถอยน้อยกำลัง
 

                  นอกจากนั้นยังได้นำพระพุทธดำรัสตรัสสั่งพระอานนท์มากล่าวยืนยันให้สงฆ์ทราบทั่วกันว่า พระตถาคตเจ้าประทานพุทธโอวาทไว้ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ให้นับถือธรรมและวินัยเป็นศาสดาปกครองสงฆ์แทนพระองค์
 

                  แล้วได้นำเรื่องสมัยพระบรมศาสดาครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ เสด็จจาริกมัลลชนบทเมืองปาวา มัลลกษัตริย์เมืองนั้นเสด็จมาเฝ้าสดับพระธรรมเทศนากลับไปแล้ว เหล่าภิกษุล้วนยังไม่ง่วงเหงา พระองค์ทรงให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่เหล่าภิกษุสงฆ์แทนพระสารีบุตร เรื่องนิคัณฐนาฏบุตร หัวหน้าลัทธิเซนในเวลานั้นตายลง เหล่าสาวกแตกความสามัคคี วิวาทกันและกันเป็นการใหญ่
 

                  ในศาสนาของพระพุทธเจ้าไม่ควรให้มีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้น จึงควรต้องทำสังคายนาพระธรรมวินัย ให้กล่าวเป็นแบบเดียวกันไม่แตกแยก เพื่อให้พรหมจรรย์คือพระศาสนานี้ ตั้งอยู่ได้นาน เป็นประโยชน์สุขต่อมหาชนเป็นอันมาก รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย
 

                   เวลานั้นพระสารีบุตรยังได้แสดงหมวดธรรมต่างๆ ที่พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้รวม ๑๐ ประการ ให้ที่ประชุมสงฆ์ครั้งนั้นฟัง
 

                  ครั้นจบลง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานสาธุการสรรเสริญพระสารีบุตรว่าดีแล้ว ชอบแล้ว การกล่าวสอนเป็นอย่างเดียวกัน ไม่วิวาทกันด้วยคำสอน เป็นคุณความดี การรวบรวมธรรมเป็นหมวดหมู่เป็นสิ่งควรทำ
 

                  ที่ประชุมสงฆ์มีมติให้ร่วมกันสังคายนาครวจสอบพระธรรมและพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ถูกต้องตรงกัน โดยเลือกพระอรหันตเถระผู้ใหญ่ ๓ รูป ทำหน้าที่เป็นประธานการสังคายนา คือ พระมหากัสสปะ พระอุบาลี และพระอานนท์ ประชุมกันในถ้ำใหญ่ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเจ้าอชาตศัตรูรับเป็นธุระเรื่องอุปถัมภ์ปัจจัยสี่แก่พระภิกษุสงฆ์ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน จนแล้วเสร็จ ซึ่งก่อนที่การประชุมสังคายนาจะเริ่มขึ้น เหล่าภิกษุที่จะเข้าร่วมประชุมทำสังคายนาในครั้งนั้น ยกเว้นพระอานนท์แล้ว ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ๔๙๙ รูป
 

                   พระอานนท์ได้กระทําความเพียรอย่างยิ่งยวด เพื่อต้องการบรรลุธรรมเบื้องสูงเป็นพระอรหันต์ให้ทันวันทำสังคายนา ความเพียรมากเกินไป ไม่ได้รับผลสำเร็จ ทำให้เกิดความเมื่อยล้า คิดจะเอนหลังพักผ่อนสักครู่แล้วจึงค่อยกำหนดทำความเพียรต่อ ขณะอยู่ในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอนและจิตคลายออกจากความเพียรที่มากเกินไปอยู่นั้น พลันจิตก็รวมเข้าสู่ศูนย์กลางกาย บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงเป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทา แสดงอภิญญามุดดินไปโผล่ขึ้นกลางที่ประชุม ทันเวลาเริ่มต้นสังคายนาพอดี นับเป็นพระอรหันต์องค์ที่ ๕๐๐ ในที่ประชุม
 

                  การสังคายนาครั้งนั้นได้รวบรวมพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้เป็นหมวดหมู่ตามที่เหล่าพระอรหันตสาวกจำกันได้ นำมาชำระสอบสวนให้ได้ความตรงกัน แล้วเรียบเรียงเป็นบทสวดท่องจำปากเปล่าสืบต่อกันมาช้านานจนกระทั่งสมัยมีอุปกรณ์การเขียนหนังสือ จึงได้จดลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
 

                  พระธรรมและพระวินัย ได้เป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์เป็นอันมาก เป็นเวลาประมาณ ๑๐๐ ปี จึงเริ่มมีเรื่องเสื่อมเสีย เหล่าภิกษุวัชชีบุตรเมืองเวสาลี ย่อหย่อนผิดธรรมวินัย ตั้งข้อปฏิบัติเองขึ้นใช้ ไม่สมควร ๑๐ อย่าง เรียกว่า วัตถุ ๑๐ คือ
๑. เก็บเกลือจากที่เหลือใช้ ไว้ฉันในวันหลังได้
๒. เงาแดดเลยเที่ยงไม่เกิน ๒ นิ้ว ยังฉันได้
๓. ฉันอาหารแล้ว พอเข้าบ้านชาวบ้าน รับของฉันอีกได้
๔. ภิกษุที่อยู่ในสีมา คือเขตแดนที่ต้องทำสังฆกรรมมีอุโบสถเป็นต้นร่วมกัน สามารถแยกทำอุโบสถต่างหากจากกันได้
๕. ทำสังฆกรรม ถ้าภิกษุยังมาไม่พร้อม ก็อนุญาตให้ทำไปพลางก่อน ผู้มาทีหลังค่อยขออนุมัติ
๖. ธรรมเนียมใดที่อุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติมา ควรประพฤติตามนั้น
๗. น้ำนมแปรรูปไปแล้วแต่ยังไม่เป็นนมเปรี้ยว หมดเวลาฉันอาหารแล้ว ดื่มนมชนิดดังกล่าวได้
๘. สุราอย่างอ่อน ดื่มแล้วไม่เมา ถือว่าดื่มได้
๙. ผ้ารองนั่ง ไม่มีชาย ก็ใช้นั่งได้
๑๐. ถือว่าทองและเงิน เป็นของรับได้

 

                  ข้อละเมิดทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ชาวบ้านชาวเมืองที่นั่น ไม่มีใครคัดค้าน แต่พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป ได้มาประชุมพร้อมกันที่ วาสิการาม เมืองเวสาลี ชำระวัตถุ ๑๐ เหล่านี้ทิ้งเสีย ทำพระวินัยให้บริสุทธิ์สิบมา
 

                   ต่อจากนั้นราวปีพุทธศักราช ๒๑๘ ในแผ่นดินพระเจ้าอโศกมหาราช นครปาฏลีบุตร มีพวกเดียรถีย์ปลอมบวช สร้างความมัวหมองแก่พระธรรมวินัยเป็นอันมาก พระโมคคัลลีบุตรติสสเถรเจ้า ได้อาศัยพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นออกจาก คณะสงฆ์ แล้วประชุมภิกษุพหูสูตทรงธรรมวินัยจำนวนมากชำระคำกล่าวที่ทำให้พระธรรมวินัยมัวหมองออกจนหมด ทำพระธรรมวินัยบริสุทธิ์ดำรงสืบต่อมา
 

                    ปีพุทธศักราช ๒๓๖ พระมหินทเถรเจ้า (พระโอรสในพระเจ้าอโศกมหาราช) นำพระธรรมวินัยไปเผยแผ่ประดิษฐานในสีหลทวีป (ประเทศลังกาปัจจุบัน) พระโมคคัลลีบุตร ได้ส่งพระเถระอื่นๆ ไปประกาศพระศาสนาทั่วดินแดนใกล้เคียงประเทศอินเดียทางตะวันออกทั้งหมด
 

                     พุทธบริษัทที่ประเทศลังกาใช้พระธรรมวินัยด้วยการท่องจำปากเปล่ามานานถึงกว่าพุทธศักราช ๔๕๐ พระอรหันต์ทั้งหลายเห็นกุลบุตรชั้นหลังเสื่อมถอยปัญญา จะให้ท่องปากเปล่าอย่างเดิมจะไม่มีใครทำต่อไป จึงประชุมกันที่อาโลกเลณสถาน มลัยชนบท ที่ลังกาทวีป เขียนพระปริยัติธรรมเป็นตัวอักษร จารึกลงไว้ในใบลาน
 

                    ต่อจากนั้นอีกนับเป็นหลายร้อยปี พระพุทธศาสนาแพร่กระจายไปทั่วในทางซีกโลกตะวันออกจนทุกวันนี้ แต่สำหรับประเทศอินเดียเอง ได้มีกษัตริย์ดุร้ายพระองค์หนึ่งนับถือศาสนาอื่น ทำลายล้างฆ่าฟันภิกษุสงฆ์แทบไม่มีเหลือประมาณ ๒ หมื่นรูป เผาสำนักเรียนอันยิ่งใหญ่เทียบได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยของพระพุทธศาสนาชื่อ นาลันทา อยู่เป็นเวลาหลายเดือน จนพระคัมภีร์ต่างๆ ในอินเดียสูญสิ้นไปหมด
 

                    นับแต่เวลานั้น พระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนก็เสื่อมสูญไปจากประเทศอินเดียไปนาน
 

                    คำสอนเท่าที่มีเหลืออยู่ทุกวันนี้ คือเท่าที่ได้เผยแผ่พระศาสนาออกมาในยุคก่อน แต่นานเข้าแต่ละแห่งก็มีผิดเพี้ยนเพิ่มเติมกันขึ้นมาเอง บางแห่งย่อหย่อนกระทั่งภิกษุมีภรรยาได้ ในบางประเทศดังที่เห็นกันทุกวันนี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017664249738057 Mins