บทที่ ๗
ชีวิตหลังเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
เจ้าชายสิทธัตถะผู้ทรงเป็นพระมหาบุรุษ เสด็จพักแรมอยู่ที่ตำบลมีมะม่วงมากเรียกว่า อนุปิยอัมพวัน แขวงมัลลชนบท ๗ วัน แล้วเสด็จจาริกเข้าสู่แคว้นมคธ จนถึงเมืองหลวงคือกรุงราชคฤห์
มคธเป็นแคว้นที่รุ่งเรือง มั่งคั่ง และมีอำนาจมาก พระเจ้าพิมพิสาร ทรงเป็นพระราชาปกครอง ทรงมีพระชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกัน
เช้าตรู่ของวันแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงดำเนินด้วยพระบาทเปล่า เข้าสู่ตัวเมืองเพื่อบิณฑบาต ชาวเมืองทั้งหลายเห็นเข้า พากันตื่นตะลึงไปสิ้นทุกคน ต่างโจษจันกันทั่วพระนครถึงความสง่าเลิศกว่าบุรุษทั้งปวง ให้พิศวงสงสัยว่า เป็นมนุษย์หรือเทวดา นาค ครุฑ คนธรรพ์จำแลงแปลงกายมา บางพวกก็นำอาหารมาถวาย บางพวกก็ตามดูแล้วเล่าลือกันต่อๆ ไป จนข่าวเข้าไปถึงในพระราชวัง ทราบถึงพระกรรณพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ทรงให้ราชบุรุษไปสืบความ ถ้าเป็นเทวดาก็จะเหาะไป ถ้าเป็นนาคก็ชำแรกพื้นดินไป ถ้าเป็นมนุษย์ก็จะบริโภคให้เห็น
พระมหาบุรุษทรงรับบิณฑบาตอาหารได้พอควรแล้ว เสด็จไปหาสถานที่สมควรเพื่อเสวย ทอดพระเนตรอาหารที่ได้รับปะปนกันมานานาชนิด ทั้งดีทั้งเลว ระคนกันอยู่หลายสีหลายกลิ่นเป็นที่น่ารังเกียจ ด้วยทรงคุ้นเคยแต่พระกระยาหารประณีตมาตลอดพระชนมายุที่ผ่านมา จึงบังเกิดพระอาการราวกับว่าลำไส้จะกลับออกมาทางพระโอษฐ์ ต้องทรงข่มพระทัยนึกถึงพระประสงค์ของการบรรพชา ทรงพิจารณาอาหารว่าไม่ว่าจะดี เลวก็เพียงเพื่อประทังชีวิต และเมื่อเข้าพระโอษฐ์แล้ว อาหารชนิดใดก็ไม่สวยงามอีกต่อไป และท้ายที่สุดเมื่อถ่ายออกมาก็ล้วนแต่เป็นปฏิกูลด้วยกันทั้งสิ้น เสร็จแล้วพระองค์จึงเสวยอาหารนั้นด้วยพระอาการปกติ
ราชบุรุษกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ พระองค์ทรงเคยรับฟังเรื่องราวของพระมหาบุรุษมาก่อนว่าทรงพระสิริโฉมงดงามไม่มีผู้ใดเสมอ จึงพอทรงประมาณการทั้งปวงถูก รับเสด็จมาเฝ้า เมื่อทรงซักถามอย่างละเอียดแล้ว จึงกราบทูลให้ทรงครองแคว้นมคธอยู่ด้วยกัน
พระมหาบุรุษทรงปฏิเสธ ทรงชี้แจงว่าพระองค์ทรงมุ่งแสวงหาความดับทุกข์ คือพระสัมมาสัมโพธิญาณ พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุโมทนาและตรัสขอคำปฏิญญาว่า เมื่อตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาโปรดพระองค์ด้วย
ในแคว้นมคธ มีสำนักเจ้าลัทธิอยู่หลายแห่ง ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มีอยู่ ๒ สำนัก คือ สำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร และสำนักของอุทกดาบส รามบุตร อยู่นอกกรุงราชคฤห์
พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาทั้งสองสำนักจนสิ้นความรู้ของคณาจารย์ ทรงได้รับผลจากการภาวนาจนบรรลุฌานสมาบัติขั้นที่ ๘ คือรู้จักทำใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิ ตั้งแต่หยาบจนกระทั่งละเอียด ๘ ชั้น เจ้าสำนักทั้งสองแห่งทูลสรรเสริญว่ามีความรู้เสมอตน ทูลชวนให้อยู่ช่วยกันสั่งสอนหมู่ศิษย์
พระมหาบุรุษทรงเห็นว่าความรู้ที่ทรงได้รับไม่ใช่ทางดับทุกข์ จิตใจยังข้องอยู่ในวิสัยของปุถุชน มีสมาธิจิตถึงขั้นได้ฌานก็จริง แต่ไม่แน่นอน เสื่อมเมื่อใดก็ได้ ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส จึงเสด็จออกจากสำนักทั้งสอง จาริกไปในชนบทของแคว้นมคธ จนถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ราบรื่น แม่น้ำเนรัญชราไหลใสสะอาด มีท่าน่ารื่นรมย์ มีแนวป่าเขียวสด หมู่บ้านที่จะสามารถบิณฑบาตได้ตั้งอยู่รอบไม่ไกลนัก ทรงเห็นว่าเป็นสถานที่ควรบำเพ็ญเพียรเป็นยิ่งนัก
อุรุเวลาเสนานิคม แปลว่า หมู่บ้านกองทราย หรือหมู่บ้านทรายงาม ในอดีตเคยเป็นสถานที่นักบวชลัทธิหนึ่งอาศัยอยู่ วางระเบียบในหมู่คณะไว้ว่า ถ้าใครคิดชั่วขึ้นในใจแม้ไม่มีใครรู้ แต่ตนเองรู้ เพราะฉะนั้นให้ผู้นั้นนำภาชนะที่กำหนดไว้ไปตักทรายมากองไว้ทุกครั้งที่คิด เป็นการสารภาพความผิดของตนให้ผู้อื่นรับรู้ ตำบลนี้จึงมีชื่อว่า หมู่บ้านกองทราย
เมื่อพระสิทธัตถะประทับ ณ ที่นี่แล้ว ทรงดำริว่าพระองค์บำเพ็ญเพียรทางจิตในสำนักทั้งสองแห่งดังกล่าวมาแล้ว ยังไม่บรรลุตามพระประสงค์ และได้เคยทอดพระเนตรเห็นนักบวชบางประเภททรมานกายด้วยวิธีต่างๆ ทรงใคร่ทดลองดูบ้างเผื่อจะได้ผล
จึงได้ทรงเริ่มทรมานพระวรกายด้วยวิธีการต่างๆ เป็นขณะเดียวกับคณะปัญจวัคคีย์ นักบวช ๕ คน ตามมาดูแลรับใช้อยู่ด้วย หัวหน้านักบวชเหล่านี้คือ พราหมณ์โกณฑัญญะ และบรรดาลูกชายของพราหมณ์ ที่เคยเข้าเฝ้าทำนายลักษณะเมื่อครั้ง เจ้าชายสิทธัตถะประสูติด้วยกัน ทราบว่าเจ้าชายทรงออกผนวช คิดว่าเมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้ว จะได้สอนพวกตน
ทุกรกิริยาที่ทรงบำเพ็ญคือ
วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (ใช้ฟันบนฟันล่างขบกันให้แน่นไว้) และกดพระตาลุด้วยพระชิวหาให้แน่น (ใช้ลิ้นดันกดเพดานปาก) ทรงกระทำนานเข้า บังเกิดทุกขเวทนาแรงกล้า จนพระเสโท เหงื่อ) ไหลออกจากพระกัจฉะ(รักแร้) แม้พระวรกายจะทรงกระวนกระวายกระสับกระส่ายมากเท่าใด พระองค์คงทรงรักษาพระหฤทัยไว้ได้มั่นคง ทรงมีพระสติตั้งมั่น ไม่ฟันเฟือน ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้
วาระที่สอง ทรงเปลี่ยนเป็นการทรมานด้วยวิธีการผ่อนลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้ลมเดินได้ทีละนิดละหน่อย เมื่อลมหายใจออกทางพระนาสิก(จมูก) และพระโอษฐ์ (ปาก) ไม่สะดวก ถูกกั้นไว้นานเกิดแรงดันดัง ทางช่องพระกรรณทั้งสองข้าง(ช่องหู) เกิดอาการปวดพระเศียร(ศีรษะ) เสียดพระอุทร (ท้อง) เร่าร้อนภายในพระวรกายเป็นกำลัง กระนั้นยังคงทรงมีพระสติมั่น พิจารณาแล้วทรงเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้
วาระที่สาม ทรงทรมานอย่างยิ่งยวด คือทรงอดพระกระยาหาร โดยผ่อนเสวยให้น้อยลงทุกวัน จนไม่เสวยเลย มีพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี (ผิวพรรณ) เศร้าหมอง มองเห็นพระอัฐิ(กระดูก) ปรากฏทั่วพระกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมา (ขน) ก็พากันหลุดร่วงเพราะมีรากเน่า หมดพระกำลัง เสด็จไปทางใดก็ชวนเซล้มลง ผู้คนที่เคยเห็นก็ออกปากทักถึงความเศร้าหมองของร่างกาย แม้จะทรงได้รับทุกขเวทนาเพียงใด ยังทรงมีพระสติมั่น พิจารณาเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้แน่นอน
ทรงพิจารณาได้ว่า ผู้ใดกายใจยังยินดีในกามอยู่ แม้จะทำความเพียรอย่างแรงกล้า ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จ เหมือนแสวงหาไฟจากไม้สดแช่อยู่ในน้ำ
ผู้ใดกายออกจากกามแล้ว แต่ใจยังยินดีในกามอยู่ แม้ทำความเพียรเพียงใดก็ไม่สำเร็จ เหมือนหาไฟจากไม้สด แม้วางอยู่บนบก
ผู้ใดกายก็ออกจากกาม ใจก็ไม่ยินดีในกาม ผู้นั้นเมื่อทำความเพียรควรจะได้รับผลสำเร็จ เหมือนการหาไฟจากไม้แห้งที่วางอยู่บนบก
(การจุดไฟสมัยโบราณ ไม่มีไม้ขีดไฟ ใช้ไม้แห้งสองอันสีกันไปมาจนร้อน ใช้นุ่นหรือสำลีเป็นเชื้อไฟใว้ใกล้ๆ)
พระองค์เองจัดอยู่ในบุคคลประเภทที่สาม กายออกจากกาม ใจก็หมดความยินดีในกาม ความเพียร บำเพ็ญขั้นอุกฤษฎ์ ไม่มีใครเกินพระองค์ไปได้ เพียรจนถึงหมดกำลังสลบ คนเลี้ยงแพะเห็นเข้าป้อนนมแพะให้ดื่มจึงฟื้น ดังนี้แล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ น่าจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่า
เมื่อทรงสดับเสียงดนตรีเล่นด้วยพิณ ๓ สาย บรรเลงแว่วมา ทรงระลึกได้ว่า สายพิณเส้นที่หนึ่งขึงไว้ตึงเขม็ง เมื่อดีดขึ้นเสียงนั้นก็แหลมเล็ก บาดแก้วหู ไม่ชวนฟัง เล่นแรงนักตั้งแต่สายจะขาดผึ้งออกไป เส้นที่สามอันเป็นเส้นสุดท้ายขึงไว้หย่อน เวลาดีดเสียงก็แหบห้าวไม่ไพเราะชวนฟัง
แต่เส้นกลาง ซึ่งสายไว้กำลังดี ดีดแล้วฟังไพเราะหู
พระองค์ทรงกระทำเคร่งเครียดตึงไปทั้งกายและจิตใจ เหมือนอาการขึงพิณสายแรก ส่วนชาวโลกที่ตกอยู่ในกามทั้งร่างกายและจิตใจเหมือนสายพิณสายที่สามที่หย่อนยาน
ฉะนั้น ต้องสายกลางทั้งกายและใจจึงจะเป็นการพอดี ประสบความสําเร็จ การทรมานพระวรกายอย่างหนักจนสลบดังนี้ เหมือนสายพิณที่กำลังจะขาดผึงออก ชีวิตจะสิ้นไปเปล่า ทรงคิดได้ดังนี้แล้ว จึงทรงเลิกอดพระกระยาหาร เสด็จไปบิณฑบาตมาเสวย
ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์เห็นพระอาการที่ทรงกระทำ ต่างพากันเสื่อมศรัทธา เข้าใจว่า พระองค์หมดความเพียร กลายมาเป็นคนมักมาก จึงพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เมื่อพระสรีระได้อาหาร พระกำลังและพระฉวีวรรณก็เริ่มสมบูรณ์ดีขึ้นอย่างเดิม ทรงดำริว่า ร่างกายก็ต้องเดินสายกลาง ไม่ทรมานเคร่งเครียดนัก ไม่หย่อนยานตกอยู่ในกามนัก บำรุงให้พอมีกำลังเพื่อบำเพ็ญเพียร ส่วนทางจิตก็ต้องเดินสายกลาง คือ กำหนดเข้าภายในตัว ณ ศูนย์กลางกาย ไม่ใช่ข้างบนหรือข้างล่างข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง ตั้งจิตไว้ตรงจุดกึ่งกลาง อันเป็นที่ตั้งของใจ แล้วส่งใจเข้าภายใน ณ ที่นั้นเรื่อยไปไม่จบสิ้น พระมหาบุรุษทรงพิจารณาเห็นทางสายกลางของความเพียรทางจิตดังนี้
จึงทรงพบความสำเร็จ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
วันนั้นเป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๔๕ ปี เวลาเช้าพระมหาบุรุษประทับนิ่งอยู่โคนต้นไทร ริมฝั่งเนรัญชรานที ทรงกำหนดจิตเข้ากลางพระองค์อยู่ในฌาน พระฉวีวรรณเปล่งปลั่ง พระพักตร์อิ่มเอิบสดใส ไม่มีกังวลห่วงใยด้วยการปรนนิบัติของเหล่าปัญจวัคคีย์ ประทับตามลำพัง อิสระทั้งกายและใจ
นางสุชาดา เป็นธิดาของเศรษฐีผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่นั่น ได้เคยบนรุกเทวดาที่ต้นไทรไว้ ขอให้นางได้สามีผู้มีฐานะและชาติสกุลเสมอกัน ให้ได้ลูกคนแรกเป็นลูกชายที่มีบุญ เมื่อนางสมปรารถนา จึงตั้งใจในวันนั้นปรุงข้าวมธุปายาสด้วยน้ำนมโคที่เลี้ยงไว้อย่างดีเป็นพิเศษ เพื่อนำไปสังเวยรุกขเทวา (ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารหวาน กวนใส่น้ำนม น้ำผึ้ง และอื่นๆ เป็นอาหารชั้นเลิศในยุคนั้น)
ครั้นนางและบ่าวไพร่นำข้าวมธุปายาสที่ปั้นเป็นก้อนถึง ๔๙ ก้อน ใส่ถาดทองคำ นำมาที่ต้นไทร เห็นพระมหาบุรุษประทับนั่งนิ่งทำสมาธิจิตอยู่ มีพระรูปโฉมงดงามเกินเหล่ามนุษย์ทั่วไป พากันเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวาออกจากต้นไทรมาคอยรับของถวาย นางสุชาดาจึงกราบทูลถวายข้าวนั้นพร้อมทั้งถาดทองคำ แล้วลากลับด้วยความปลาบปลื้มใจสุดประมาณ
พระองค์ทรงนำพระกระยาหารนั้นไปที่ริมฝั่งน้ำ สรงแล้วเสวยจนหมด พร้อมทั้งนำถาดทองคำลอยลงน้ำ ทรงอธิษฐานว่า หากสามารถบรรลุความดับทุกข์ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำให้เห็นประจักษ์เถิด
ทันใดนั้น ถาดก็ลอยทวนน้ำขึ้นไปจนถึงวังวน เป็นระยะทาง ๘๐ ศอก ตรงนั้นเป็นที่อยู่ของพญานาคราช ถาดก็จมลงไปถึงที่อยู่ของกาฬนาคราช ซ้อนกระทบกับถาดทองใบเก่าของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต ๓ พระองค์ เสียงดังกริก (พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ) ปกตินาคราชนั้น นอนหลับสนิทอยู่เป็นนิจ แต่จะตื่นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงถาดกระทบ ครั้งนี้พอได้ยินเสียงถาดก็ตื่นขึ้น พึมพำว่า “เมื่อวานนี้ก็ตรัสรู้องค์หนึ่งแล้ว วันนี้ยังเกิดอีกองค์หนึ่งเล่า” แล้วลุกขึ้นถวายนมัสการพร้อมกับล้มตัวลงนอนหลับใหม่อีกต่อไป
ถ้าจะคิดเปรียบเทียบข้อความตอนนี้ คงเปรียบคำสอนของพระองค์หลังตรัสรู้แล้ว เป็นการกระทำค่อนข้างยากสำหรับคนทั่วไป เป็นการใช้ชีวิตอย่างทวนกระแสโลก เหมือนถาดทองคำาลอยทวนกระแสน้ำ ส่วนความหลับของนาคราช เหมือนความขาดปัญญาหลับไหลอยู่ในกิเลสของหมู่มนุษย์ แม้จะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ก็ไม่ใคร่สนใจ
เสร็จจากลอยถาดแล้ว เสด็จจากฝั่งน้ำประทับทำความเพียรภาวนาอยู่ในป่าไม้สาละตลอดวัน ครั้นเวลาบ่ายใกล้เย็น เสด็จไปยังต้นอัสสัตถพฤกษ์ ชาวบ้านเรียกว่าต้นปีปปัน เป็นต้นไม้ใหญ่กิ่งก้านแข็งแรงแผ่สาขาให้ร่มเงา มีใบเป็นรูปเหมือนหัวใจ ยอดใบเรียวแหลม ใบดกบังแดดได้มิด
ระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อโสตถิยะ เห็นเข้าเกิดความเลื่อมใส ถวายหญ้า ๘ กำมือ เพื่อใช้เป็นที่ประทับนั่ง
ทรงลาดหญ้า ๘ กำต่างบัลลังก์ ณ โคนไม้อัสสัตถพฤกษ์ (เมื่อตรัสรู้แล้ว ต้นไม้ทุกชนิดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้อยู่ใต้ร่ม จะได้รับชื่อว่าต้นมหาโพธิ์เหมือนกันหมด) ประทับนั่งขัดสมาธิพระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งราตรีนี้จะมีพระจันทร์เพ็ญแจ่มฟ้า พระปฤษฎางค์อยู่ทางลำต้นไม้ ตั้งพระทัยกำหนดแน่แน่วว่า “แต่นี้ไปถ้าทำความเพียรภาวนาแล้ว ไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จะไม่ทรงยอมลุกขึ้นไปไหน แม้ว่าพระมังสะ(เนื้อ) พระโลหิตจะแห้งเหือดหายไปเหลือแต่ พระตจะ(หนัง) พระนหารุ(เอ็น) พระอัฐิ (กระดูก) ก็ตามที” (จาตุรังควิริยะ)
ต่อจากนั้นพระวรกายสงบ พระทัยตั้งมั่น ทรงส่งพระกระแสจิตเป็นพลังตรงเข้าสู่ศูนย์กลางกายโดยไม่หวั่นไหว มีพระสติตั้งมั่น คุมพระหทัยเคลื่อนเข้าภายใน ตรงกลางของตรงกลางเรื่อยเข้าไป ภายในพระญาณ มีสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงเป็นอัศจรรย์
เมื่อพระหทัยเคลื่อนเข้าภายใน ทำความผ่องใสบริสุทธิ์ให้ดวงจิตเป็นระดับจิตของมนุษย์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ เวลานั้น กายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝัน กายไปเกิดมาเกิด ก็อุบัติขึ้นให้มองเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดมากๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะต้องใช้ใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส จึงสามารถสัมผัสได้
เมื่อความผ่องใสบริสุทธิ์ของจิตเพิ่มขึ้นเป็นระดับเดียวกับจิตใจเทพยดา เมื่อนั้นกายทิพย์ก็ปรากฏขึ้นให้เห็น
เมื่อความผ่องใสบริสุทธิ์ของจิตเพิ่มเป็นระดับเดียวกับจิตใจรูปพรหม เมื่อนั้นกายรูปพรหมก็พลันอุบัติขึ้นในญาณ
เมื่อความผ่องใสบริสุทธิ์ผุดขึ้นในจิตเป็นระดับเดียวกับจิตของอรูปพรหม เมื่อนั้นกายอรูปพรหมก็พลันบังเกิดขึ้น
ต่อจากนั้นก็พลันเลื่อนพระหทัยเข้าไปลึกมากเข้าๆ ความแจ่มแจ้งใสสะอาด ปราศจากมลทินก็พลันให้เห็นเป็นกระจ่างมีความสว่างไสวในระดับสูงกว่าจิตของอรูปพรหมก็เกิดกายใหม่ ลักษณะเหมือนพระพุทธรูปมีเกตุดอกบัวตูมบนพระเศียร ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ กายใสยิ่งกว่าแก้ว งามไม่มีที่ติ งามกว่าทุกกายที่ผ่านมา เรียกว่า ธรรมกาย
ณ บัดนี้เอง ในพระญาณก็ทรงเห็นการทำงานของธรรมดำ ฝ่ายมารโลก อันเป็นสิ่งตรงข้ามกับธรรมขาว ฝ่ายพระนิพพาน ซึ่งกำลังต่อต้านเป็นสามารถด้วยการพยายามส่งกิเลสอันเป็นไพร่พลพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้าหุ้มห่อทำลายความผ่องใสบริสุทธิ์ของจิตที่มีพลังของธรรมขาวให้สิ้นสูญ ให้ชีวิตเหล่าสัตว์ตกอยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาอยู่ภายใต้ความควบคุมของฝ่ายมาร ธรรมทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอยู่ในญาณภายในพระหทัยให้พระมหาบุรุษทอดพระเนตรเห็นโดยแจ่มแจ้ง จะเปรียบไปเหมือนฝ่ายมารกรีฑาทัพยกมาผจญ
พระมหาบุรุษผู้สั่งสมธรรมขาวมานับเวลานับภพนับชาติไม่ได้ ด้วยการทรงสั่งสมบารมีทั้งสิบมาโดยยิ่งยวด พระองค์จึงทรงน้อมพระหทัยนึกเอาบารมีที่ทรงมีอยู่นั้นมาห้อมล้อมกลั่นธรรมฝ่ายดำให้หลุดลอยถอยหนีออกจากดวงหทัย ให้เหลือไว้แต่ความผ่องใสบริสุทธิ์ของธรรมขาว จึงเหมือนบารมีทั้งสิบนั้นเป็นอาวุธฉกาจฉกรรจ์ฟาดฟันประหัตประหารฝ่ายมารให้พ่ายแพ้แห่หนีไปในที่สุด
หรือจะคิดให้เป็นประดุจดังบุคคลาธิษฐานว่า มีพญามารมาผจญ พระโพธิสัตว์ทรงใช้บารมีทั้งสิบมาต่อสู้ โดยอ้างแม่พระธรณีที่ได้รู้เห็นตลอดมาเป็นพยาน มารก็ปราชัย ไปด้วยน้ำที่พระองค์กรวดอุทิศในการบำเพ็ญบารมีทุกครั้ง และพระแม่ธรณีเก็บไว้ น้ำนั้นพัดพาพญามารและเสนาให้พ่ายแพ้ไป ทํานองนี้ก็มิผิด
ในเวลาดวงอาทิตย์ยังไม่ทันอัสดงคต ก็ทรงทำลายธรรมดำ คือ ฝ่ายมารได้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ต่อจากนี้ฝ่ายนั้นจะไม่มีโอกาสกล้ำกรายเข้ามารุกรานบีบบังคับพระหทัยแบบใดๆ ได้อีกโดยเด็ดขาด
เมื่อทรงบำเพ็ญเพียรให้พระหทัยผ่องใสบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นๆ กายภายในที่รองรับความผ่องใสก็สวยงามสว่างไสวเพิ่มมากขึ้นเป็นกายธรรมตั้งแต่ โสดาบัน สกทาคามี และอรหันต์
พอปฐมยามมาถึง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ญาณที่สามารถระลึกชาติได้ในอดีต ไม่มีประมาณบังเกิดขึ้น
เข้ามัชฌิมยาม ทิพพจักขุญาณบังเกิด ทรงสามารถเห็นการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลาย ตลอดจนความเป็นไปต่างๆ ของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ตอนใด ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต หรือเรียกว่าจุตูปปาตญาณก็ได้
ในปัจฉิมยาม อาสวักขยญาณบังเกิด เป็นปัญญาปราบกิเลสให้หมดสิ้นไป ทรงรู้แจ้งในธรรมหมวดต่างๆ ทั้งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องกัน ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ
พระโพธิสัตว์ตรัสรู้แจ้งในพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาอรุณขึ้นนั้นเอง ความบริสุทธิ์จากกิเลสและอาสวะ จึงได้พระนามว่า “อะระหัง” การตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เองได้พระนามว่า “สัมมาสัมพุทโธ” พระนามสองอย่างนี้ เป็นที่นิยมเรียกกันในภายหลังสืบต่อมา (เนมิตกนาม)
ในสัปดาห์ที่ ๑ หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข คือสุขที่เกิดจากการสิ้นกิเลส ที่โคนไม้มหาโพธิ์นั้น ๗ วัน ครั้งนั้นทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม (การเกิดขึ้นโดยมีเหตุมีปัจจัยต่อเนื่อง) แล้วตรัสวาจาด้วยความเบิกบานพระทัย
ในสัปดาห์ที่ ๒ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ที่โคนต้นไทรอีก ๗ วัน ระหว่างนี้ สามธิดา พญาวสวัสดีมาร ซึ่งเป็นหัวหน้าเทวดาสวรรค์ชั้นสูงสุดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ต้องการให้ใครพันจากกาม รับอาสาบิดามาหลอกล่อให้พระพุทธเจ้าตกอยู่ในอำนาจกิเลสอีก แต่ก็ทำไม่สำเร็จพระพุทธองค์ไม่ทรงหวั่นไหว
ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่ง มีนิสัยชอบกล่าววาจาข่มผู้อื่นว่า หึ หึ อยู่เสมอ มาพบพระพุทธเจ้าทูลถามว่า คนเป็นพราหมณ์มีลักษณะอย่างไร พระองค์ตรัสตอบว่า
“คนเป็นพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ไม่ทำบาป ไม่มีกิเลส ไม่ข่มขู่ผู้อื่นว่า หึ หึ ซึ่งเป็นคำหยาบ ใจไม่มีกิเลสติดแน่นเหมือนผ้าถูกย้อมด้วยน้ำฝาด สำรวมตนด้วยดี เรียนเวท จนจบและมีพรหมจรรย์ที่ประพฤติดีแล้ว ไม่มีกิเลสแม้น้อยนิดเกิดขึ้นอีกเลย คนอย่างนี้ ต่างหากเรียกว่าเป็นพราหมณ์”
ในสัปดาห์ที่ ๓ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ที่ใต้ต้นมุจจลินท์ (ต้นจิก) ๗ วัน ทรงเปล่งอุทานด้วยความสุขว่า
“ความสงบสงัดเป็นความสุขของผู้ที่ได้เห็นธรรมแล้ว ชอบอยู่ในที่เงียบ รู้เห็นตามความเป็นจริง การไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย เป็นความสุขในโลก การไม่มีอัสมิมานะ (การถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ถือเราถือเขา) เลยนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง
ในเวลานี้พระพุทธองค์ยังไม่ทรงดำริเรื่องการสั่งสอนผู้ใดระหว่างนั้นมีฝนปนลมหนาว พัดมาตลอดทั้ง ๗ วัน พญานาคชื่อมุจลินท์ ขึ้นจากน้ำมาขดตัวเป็นวงรอบ พระวรกาย ๗ รอบ และแผ่พังพานบังในเบื้องพระเศียร มิให้ฝนและลมตกต้องพระวรกาย ตลอดทั้ง ๗ วัน เมื่อฝนและลมหยุดลง จึงคลายขดออกแปลงกายเป็นหนุ่มน้อย ยืนเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์ พระองค์ทรงเปล่งอุทานดังที่กล่าวแล้ว
สัปดาห์ที่ ๔ ทรงประทับนั่งที่ได้ต้นราชายตนะ(ต้นเกด : ตระกูลต้นพิกุล) เสวยวิมุตติสุข ๗ วัน ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ คือ ท้าวจาตุมหาราช หัวหน้าเทวดาชั้นจาตุมฯ นำบาตรศิลามาถวาย มีพ่อค้าเกวียน ๒ คน ชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ คุมกองเกวียนผ่านมา เห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นเกดเกิดความเลื่อมใส จึงนำข้าวสัตตุ(ข้าวตู) ผงและก้อน ซึ่งเป็นเสบียงของพวกเขาไปถวาย
พระองค์ทรงรับบาตรแล้วเสวย เสร็จแล้วพ่อค้าทั้งสองกราบทูลขอเป็นอุบาสก ขอถือพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นที่พึ่ง นับเป็นอุบาสกสองคนแรกในพระพุทธศาสนา ก่อนจากไปทั้งคู่ได้กราบทูลขอสิ่งของเป็นที่ระลึกถึง พระพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้น ลูบพระเศียร พระเกศธาตุ(เส้นผม) มีสีเหมือนแก้วอินทนิลและปีกแมลงภู่ 4 เส้น หลุดติดพระหัตถ์ ทรงมอบให้ อุบาสกทั้งคู่โสมนัสยิ่งนัก
ในระหว่างเวลาเหล่านี้ บางคราวพระองค์เสด็จจงกรม บางคราวทรงประทับนั่ง พิจารณาพระอภิธรรมอันเป็นธรรมะที่ลุ่มลึก
ครั้งสุดท้ายเสด็จกลับไปที่ร่มไทรอีกครั้ง ทรงใคร่ครวญว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้ นี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยญาณ คือความรู้ทางใจ เป็นสิ่งยากมากที่จะให้คนทั่วไปซึ่งล้วนแต่ติดข้องอยู่ในกามคุณจะตรัสรู้ตามได้ ทรงท้อพระหทัย ไม่ทรงคิดจะสั่งสอนผู้ใดให้รู้ตาม
แต่อาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ ล้วนแต่ตกอยู่ในความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อทรงตรวจดูด้วยพระญาณของพระองค์แล้ว ทรงพบว่าเหล่ามนุษย์ที่มีกิเลสเบาบางมีอยู่ ผู้มีบุญบารมีที่สั่งสมอบรมมาในอดีตชาติมีอยู่ เปรียบเหมือนมนุษย์ทั้งหลายเช่นดอกบัวในกอขึ้นอยู่ในน้ำ ดอกใดที่พ้นน้ำแล้วพอรับแสงอาทิตย์ย่อมบ้านในวันนี้ ดอกที่ปริ่มน้ำอยู่จะบานในพรุ่งนี้ ดอกที่อยู่ใต้น้ำจะบานในวันต่อๆ ไป บางดอกที่ถูกเต่าปลากินย่อมไม่มีโอกาสบาน
คนที่สอนให้รู้ตามได้จะเหมือนดอกบัวที่มีโอกาสบาน ที่สอนให้รู้ตามไม่ได้ ก็จะเป็นดังดอกที่ถูกทำลาย ครั้งนั้นท้าวสหัมบดีพรหมลงมากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมด้วย จึงทรงตัดสินพระทัยสั่งสอนผู้คน มองในแง่บุคคลาธิษฐาน สหัมบดีพรหม คือพระทัยที่เปี่ยมด้วยมหากรุณา ทรงระลึกถึงพระดาบสทั้งสองที่เคยเป็นอาจารย์ ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่าสิ้นชีพหมดแล้ว เมื่อทรงตรวจดูต่อไปว่าควรโปรดผู้ใดต่อ ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพวกแรกที่ควรจะโปรดคือเหล่าปัญจวัคคีย์เพราะเป็นผู้มีธุลีกิเลสเบาบางเหมือนบัวเหนือน้ำเตรียมจะบาน ทั้งยังเคยได้เฝ้าปรนนิบัติยามบำเพ็ญทุกรกิริยา
เช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ คือเดือน ๘ เสด็จออกจากต้นไทร จะทรงไปทางเมืองพาราณสี ที่ริมแม่น้ำคยาสุดเขตตำบลที่ตรัสรู้ ทรงพบนักบวชผู้หนึ่งชื่อ อุปกะ เดินสวนมา อุปกะเห็นความผุดผ่องของพระฉวีวรรณ มีพระรัศมีเปล่งจากพระวรกายเป็น ๖ สี คือ สีน้ำเงินเหมือนสีดอกอัญชัญ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน สีขาวเหมือนแผ่นเงิน สีแสดเหมือนสีดอกหงอนไก่ และสีเลื่อมพรายเหมือนสีแก้วผลึก ก็นึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งทูลถามว่าใครเป็นศาสดาของพระองค์ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า พระองค์ตรัสรู้เอง ไม่มีใครสอน แต่อุปกะไม่เข้าใจคำว่า รู้เองโดยไม่มีคนสอน แสดงอาการสั่นศีรษะ แลบลิ้น แล้วหลีกไป อาการแลบลิ้นเป็นการแสดงความเคารพ อย่างหนึ่งในสมัยนั้น ไม่ใช่อาการดูถูกเหมือนในสมัยนี้
พระองค์เสด็จผ่านที่ต่างๆ ไปตามลำดับ จนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นสถานที่ที่ปัญจวัคคีย์อาศัยอยู่
ฝ่ายปัญจวัคคี แลเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ด้วยเห็นพระฉัพพรรณรังสีสว่างรุ่งเรือง ไม่มีใครเฉลียวใจ คงคิดว่าพระองค์คลายความเพียร ไม่น่านับถือ เมื่อมาหาดังนี้จึงนัดกันไม่ทำการต้อนรับ คือไม่ต้องลุกขึ้นยืน ไม่รับบาตรและจีวร ปูแต่ที่รองนั่ง คืออาสนะไว้ให้เผื่อทรงต้องการนั่ง
ครั้นพระองค์เสด็จมาถึง นักบวชทั้งห้าพากันลืมกติกาที่นัดหมายกันไว้หมด ต่างลุกขึ้นยืนรับบาตรจีวรเหมือนที่เคยทำ แต่ยังทักทายด้วยถ้อยคำไม่สมควรคือใช้คำว่า อาวุโส ซึ่งแปลว่า ผู้อ่อนกว่า
พระพุทธเจ้าตรัสห้าม และทรงบอกว่าพระองค์ตรัสรู้อมฤตธรรมโดยชอบด้วยพระองค์เองแล้ว เหล่าปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กล่าวคำคัดค้านว่า “อาวุโสโคดม(โคดมผู้เยาว์) ท่านได้เคยบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด ท่านยังไม่บรรลุธรรมวิเศษอันใด นี่ท่านมาคลายความเพียร ปฏิบัติเป็นคนมักมากเสียแล้ว จะบรรลุธรรมวิเศษอะไรได้เล่า"
พระองค์ตรัสเตือนให้คิดว่า ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาในครั้งกระโน้น พระองค์เคยตรัสคําพูดอย่างนี้บ้างหรือไม่ ปัญจวัคคีย์นึกได้ว่า ไม่เคยตรัส จึงเริ่มลังเลใจ ใคร่จะฟังธรรม พระองค์ทรงให้รอฟังในวันรุ่งขึ้น
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก โดยเริ่มว่า “สิ่งที่เป็นที่สุด ๒ อย่าง ผู้ออกบวชไม่ควรเสพ คือกามสุขัลลิกานุโยค ได้แก่ประพฤติตนพัวพันด้วยความสุขในกาม ซึ่งเป็นของเลว ทำให้ต้องตั้งบ้านเรือนเหน็ดเหนื่อยเปล่า เป็นเรื่องของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ผู้ประเสริฐ ไม่มีประโยชน์
และอัตตกิลมถานุโยค ได้แก่การทรมานกาย ให้ลำบากด้วยประการต่างๆ ทำความทุกข์ให้เกิดขึ้น ไม่มีประโยชน์
การปฏิบัติสายกลาง ไม่ปล่อยตนไปตามความใคร่ และไม่ทรมานกายให้ลำบาก ปฏิบัติพอดีๆ กลางๆ จึงทำให้บำเพ็ญเพียรสำเร็จ ดังที่พระองค์ทรงกระทำได้ ตรัสรู้แล้ว มีปรีชาญาณเกิดขึ้น เป็นการกระทำที่ให้เกิดความสงบระงับ เกิดความรู้ยิ่งเป็นไปเพื่อความสิ้นตัณหาเครื่องรัดรึง บรรลุนิพพาน ทางปฏิบัติสายกลางเรียกชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา
มัชฌิมาปฏิปทา คือทางมีองค์ ๘ กล่าวโดยย่อ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา คือมีความเข้าใจถูกศีลธรรม มีความคิดถูกต้อง ความประพฤติทางวาจาดี ความประพฤติทางกายดี เลี้ยงชีพสุจริต มีความพยายามในความดี ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นถูก
เมื่อปฏิบัติทางสายกลางดังนี้แล้ว ย่อมรู้แจ้งถึงความจริงของอริยบุคคล ๔ ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ ได้แก่
๑. ทุกข์ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แห้งใจ เศร้าโศกเสียใจ รำพันคร่ำครวญ คับใจ พบสิ่งที่เกลียดชัง พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ต้องการสิ่งใดแล้วไม่ได้ ฯลฯ สภาพเหล่านี้ทนได้ยาก จึงเรียกว่า ทุกข์
๒. เหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา คือ ความทะยานอยาก อยากเพราะความพอใจ ความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ เช่น
มีตัณหาในกามเรียกว่า กามตัณหา ทะยานอยากในอารมณ์ที่ชอบใจ
ทะยานอยากในความมีสิ่งนั้น เป็นสิ่งนั้น เรียกว่า ภวตัณหา
ทะยานอยากในความอยากไม่มี อยากไม่เป็น เรียกว่า วิภวตัณหา
ตัณหาทั้ง ๓ นี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด
๓. สภาพที่ไม่มีทุกข์ คือสภาพที่ทุกข์ดับแล้ว เป็นภาวะที่ไม่มีตัณหาติดย้อมอยู่ เป็นสภาพสละว่าง ปล่อยตัณหาได้หมด
๔. หนทางหรือวิธีดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ คือ มัชฌิมาปฏิปทา ดังกล่าวแล้ว
เมื่อรู้ถึงอริยสัจ ๔ ดังนี้แล้ว ควรปฏิบัติดังนี้คือ
๑. ทุกข์ ต้องกําหนดรู้ด้วยปัญญา
๒. ตัณหา เหตุทำให้ทุกข์เกิด ต้องละ
๓. สภาพที่ทุกข์ดับ ควรทำให้แจ้งชัด คือเห็นสภาพนั้นจริงๆ (เห็นนิพพาน หรือ ทํานิพพานให้แจ้ง)
๔. ทางดับทุกข์ ต้องทำให้เกิด คือลงมือปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘
พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครเทียบสู้ได้ในโลก ความหลุดพ้นของพระองค์เป็นความหลุดพ้นเด็ดขาดแท้จริง ไม่กลับกำเริบอีก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ต่อจากนี้พระองค์จะไม่เกิดเป็นอะไรๆ อีก
ขณะพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่นักบวชชื่อโกณฑัญญะ ส่งใจไปตามพระธรรมเทศนา หยุดใจไว้ในมัชฌิมา ทางสายกลางภายในใจ ดวงตาเห็นธรรม (เห็นด้วยญาณ) คือ ธรรมจักษุเกิดขึ้น จิตใจปราศจากธุลีมลทิน ได้ความรู้ขึ้นมาว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา” อันเป็นระดับปัญญาของพระโสดาบัน พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ” แปลว่า โกณฑัญญะรู้ตามที่เราสอนแล้ว
เพราะพระอุทานนี้ ท่านโกณฑัญญะ จึงได้นามว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่นั้นมา
ปฐมเทศนาครั้งนี้ ต่อมาเรียกชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ล้อของธรรมเริ่มหมุนไป พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะแผ่พระบรมเดชานุภาพ ทรงขับรถศึกเคลื่อนทัพ นำความเจริญมาสู่แว่นแคว้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงเผยแผ่พระธรรม ก็ทรงหมุนกงล้อธรรมให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า เพื่อนำเวไนยสัตว์ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งมวล
การแสดงปฐมเทศนาครั้งนี้ ทำความอัศจรรย์ให้บังเกิดขึ้นแก่จักรวาล ทั้งมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เช่น มีแผ่นดินไหว มีแสงสว่างพวยพุ่งอย่างใหญ่หลวงเกินอำนาจเทวดา เหมือนครั้งประสูติ ตรัสรู้ ในอากาศมีเสียงกลองทิพย์บรรลือลั่น คนพิการ เช่น ตาบอด หูหนวก หายเป็นปกติชั่วคราว คนต้องโทษจองจำก็ทํานองเดียวกัน แม้ในนรกไฟนรกก็ดับชั่วคราว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคิดในแง่บุคคลาธิษฐานก็ได้
ท่านอัญญาโกณฑัญญะเห็นธรรมแล้ว สิ้นความสงสัยทั้งปวง บังเกิดความแกล้วกล้า จะประพฤติตามคำสอนของพระศาสดาให้ยิ่งขึ้น จึงทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาต ด้วยพระวาจาว่า
“ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมที่เรากล่าวนั้นเป็นสิ่งดียิ่งแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำให้ทุกข์สิ้นสุดไปโดยชอบเถิด” ซึ่งการอุปสมบทวิธีนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นพระภิกษุรูปแรก ต่อจากนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาต่อมา ที่เหลืออีก
๔. ท่าน ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และทูลขออุปสมบทจนหมดทั้ง ๕ แต่ยังเป็นพระอริยบุคคล
ชั้นต้น
ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำ ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีอินทรีย์แก่กล้า คือมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เต็มที่ ควรต่อการบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระบรมศาสดาตรัสแสดงเรื่อง อนัตตลักขณสูตร คือ เรื่องให้พิจารณาเห็นว่ากายและใจเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะ
๑. เป็นของว่างเปล่า (สูญ) คือเป็นเพียงมีสิ่งที่เป็นส่วนย่อยๆ มาประชุมรวมกันเข้า ไม่มีความเป็นสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา เรามาสมมติยึดถือกันขึ้นเองทั้งสิ้น เช่น บ้าน หรือ รถ เราเอาสิ่งต่างๆ มาผสมและประกอบกัน พร้อมกับตั้งชื่อเรียก สิ่งเหล่านี้จึงมีขึ้น แท้ที่จริงแล้วเมื่อแยกสิ่งต่าง ๆ ออกดู คำว่า บ้าน หรือ รถ ก็ไม่มี ร่างกายและจิตใจเกิดขึ้นเพราะมีส่วนต่างๆ มาประกอบ ทำนองเดียวกัน
๒. เป็นสภาวะที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของใครจริง
๓. ไม่อยู่ในอำนาจใคร ไม่เป็นไปอย่างที่ใครปรารถนา
๔. ไม่อยู่ตามลำพัง แต่อิงอาศัยอยู่กับสิ่งต่างๆ มีเหตุ มีปัจจัย เกี่ยวข้องสัมพันธ์
๕. โดยสภาวะแล้ว ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา คือเป็นตัวตน)
พระบรมศาสดาทรงแยกกายกับใจออกเป็นขันธ์ ๕ (ขันธ์ แปลว่า กอง) คือเป็นกองรูป ๑ กองนาม ๔ ได้แก่
๑. รูป ได้แก่ ร่างกายทั้งหมด
๒. เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์
๓. สัญญา ได้แก่ ความจำได้หมายรู้
๔. สังขาร สภาวะที่ปรุงแต่งใจให้คิดดีบ้าง ชั่วบ้าง ไม่ดีไม่ชั่วบ้าง
๕. วิญญาณ ความรู้แจ้งในสิ่งที่มากระทบ เช่น ตากับรูปกระทบกัน เกิดการรับรู้ เรียกว่า วิญญาณทางตาเกิด ในทำนองเดียวกัน หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรสประสาททางกายกับสภาพเย็นร้อนอ่อนแข็งกระทบใจกับเรื่องราวต่างๆ เมื่อของสองอย่าง ดังกล่าวแล้วกระทบกัน ทำให้เกิดการรับรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ความรับแล้วรู้นั่นเอง คือ สภาพของวิญญาณ เพราะฉะนั้น คนเราจึงมีวิญญาณในตัวเป็น ๖ อย่าง
ขันธ์ ๕ ดังกล่าวนี้ ถ้าเป็นสิ่งมีตัวตน ขันธ์ ๕ ก็ไม่ควรเป็นอยู่อย่างลำบาก ผู้เป็นเจ้าของขันธ์ ๕ ต้องบังคับได้ ว่าให้เป็นอย่างโน้นเถอะ เป็นอย่างนี้เถอะ แต่เพราะขันธ์ ๕ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตน จึงเป็นไปลำบากต่างๆ และไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร
เสร็จแล้วพระบรมศาสดาทรงตรัสถามขึ้นว่า “ขันธ์ ๕ นี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง?”
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
ตรัสถาม “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
ตรัสถาม “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือจะยึดถือในสิ่งนั้นว่า "นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวของเรา?"
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่ควร พระเจ้าข้า”
ตรัสอธิบายต่อไป ให้ละความถือมั่นในขันธ์ ๕ เพราะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ทั้งที่ผ่านไปแล้ว ยังมาไม่ถึง หรือเกิดอยู่เฉพาะหน้า หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี งามก็ดี เกิดที่ไกลก็ดี ที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นสักแต่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ควรเห็นด้วยปัญญาอันถูกต้องว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา
เมื่อเข้าใจถูกต้องดังนี้แล้ว ควรเบื่อหน่ายใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านั้น
เมื่อเบื่อหน่าย ก็จะคลายกำหนัด คือไม่พอใจรักใคร่
เมื่อไม่พอใจรักใคร่ จิตก็พ้นจากความยึดมั่นถือมั่น
เมื่อจิตพ้นจากความยึดถือ ก็มีญาณเกิดให้ทราบว่าพ้นแล้ว
เมื่อมีญาณเกิดขึ้นให้ทราบว่าพ้นแล้ว ก็รู้ชัดว่า ต่อจากนี้ไม่เกิดอีกแล้ว พรหมจรรย์ประพฤติจบแล้ว กิจที่ควรทําได้ท่าเสร็จแล้ว กิจอื่นที่น่าท่ากว่านี้ไม่มี
ครั้งนั้น ขณะที่พระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา อนัตตลักขณสูตรนี้อยู่ พระภิกษุปัญจวัคคีย์ส่งใจไปในท่ามกลางตัวเป็นมัชฌิมา พิจารณาความจริงต่างๆ ด้วยอำนาจญาณตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็พ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน บรรลุเป็นพระอรหันต์
นับว่าขณะนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นแล้วในโลก ๖ องค์
จากหนังสือ ต้องเป็นให้ได้(ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)
อุบาสิกา ถวิล (บุญทรง วัติรางกูล)