เริ่มประกาศพระศาสนา

วันที่ 13 กพ. พ.ศ.2566

13-2-66-2-b.png

บทที่ ๘
เริ่มประกาศพระศาสนา
         

             ณ สถานที่ไม่ไกลจากที่ประทับของพระบรมศาสดา มีกุลบุตรผู้หนึ่ง ชื่อ ยละ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีคฤหาสน์ใหญ่ประจำฤดูกาลอยู่ ๓ หลัง มีวงดนตรีสตรีล้วนคอยบรรเลงขับกล่อม ค่ำวันนั้น ยสกุลบุตรนอนหลับตอนหัวค่ำ เหล่าวงดนตรีเห็นดังนั้นก็เลิกบรรเลง พากันนอนหลับเกลื่อนกลาด
 

            ยสะตื่นขึ้นกลางดึก ทั่วบริเวณยังจุดไฟสว่างอยู่ เห็นเหล่าสตรีที่นอนหลับมีอาการพิกลพิการต่างๆ เครื่องดนตรีวางเกะกะ บางคนนอนสยายผมรุงรัง น้ำลายไหล บางคนบ่นละเมอไม่เหมือนเสียงคน บ้างอ้าปากกรนเสียงดัง ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย พาดแขนขาเกะกะมองเหมือนซากศพที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า
 

             ยสะเกิดความสังเวชสลดใจ ออกอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” รู้สึกไม่อยากอยู่ในบ้าน จึงสวมรองเท้าเดินออกจากประตูบ้าน ผ่านไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ฟ้าสาง พระบรมศาสดากำลังเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสะเปล่งอุทานเรื่อยๆ ว่า "วุ่นวายจริง ขัดข้องจริง” ขณะเดินทางมา จึงตรัสเรียกว่า
 

            “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญเข้ามาที่นี่เถอะ นั่งลงเราจะแสดงธรรมให้ฟัง”
 

              ยสะได้ยินพระดำรัสเรียกดังนั้น รู้สึกชอบใจจึงรีบเข้าไปกราบแทบพระบาท นั่งลงฟังธรรม พระบรมศาสดาตรัสสอนยสกุลบุตรด้วย อนุปุพพิกถา คือข้อความที่สอนไปตามลำดับขั้น โดยขึ้นต้นเรื่องง่ายก่อนแล้วยากขึ้นตามลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของผู้ฟังให้สะอาดหมดจดก่อนรับฟังและปฏิบัติธรรมขั้นสูง คือ อริยสัจ ๔ อนุปุพพิกถา ได้แก่
 

๑. เรื่องทาน พรรณนาเรื่องการบริจาค กำจัดความโลภ เพื่อกำจัดความตระหนี่ กิเลสอย่างหยาบ
 

๒. เรื่องศีล การสำรวมกาย วาจา ให้พ้นจากบาปอกุศล
 

๓. เรื่องสวรรค์ คือ กามคุณที่คนทั้งหลายพอใจใคร่ได้ใคร่มี เป็นความสุขพรั่งพร้อม ซึ่งจะได้มาด้วยการทําทาน รักษาศีล
 

๔. เรื่องโทษของกาม ให้เห็นว่าความสุขเกี่ยวกับเรื่องกามเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนได้ เป็นความสุขที่มีความคับแค้นแอบแฝงอยู่ด้วยตลอดเวลา แม้เป็นความสุขในสวรรค์ ก็ยังเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกาม ซึ่งเป็นความสุขที่เสื่อมสลายไม่แน่นอน เป็นเพียงชั่วคราว มิใช่สุขอยู่ได้ตลอดไป
 

๕. เรื่องอานิสงส์ของการออกจากกาม การออกบวชทั้งกายและใจให้ประโยชน์ต่อชีวิตมาก สามารถสร้างความดีได้มากกว่าชีวิตของผู้ครองเรือน ไม่ต้องห่วงกังวลกับชีวิตของผู้อื่น มีอิสระ
 

              ยสกุลบุตรเป็นคนฉลาด ฟังอนุปุพพิกถาแล้วเข้าใจแจ่มแจ้ง เหมือนผ้าที่ได้รับการซักฟอกสะอาดดีแล้ว ครั้นพระบรมศาสดาทรงประกาศอริยสัจ ๔ ต่อ ยสะก็พลันได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน เหมือนย้อมผ้าสะอาด สียอมติดเนื้อผ้าดี
 

               รุ่งเช้าเมื่อทางบ้านท่านยสะทราบว่าท่านหายไป จึงพากันออกตามหา เศรษฐีผู้บิดาตามหามาทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าของบุตรชายถอดวางไว้จำได้ จึงตามเข้าไปในที่ประทับ พระบรมศาสดาทรงใช้พุทธานุภาพทำให้บิดามองไม่เห็นบุตร เศรษฐีทูลถามถึงบุตรชาย
 

               พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมให้ฟังในทำนองเดียวกัน เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ส่วนท่านยสะฟังพระธรรมเทศนาซ้ำอีกครั้ง ส่งกระแสใจทำตามพุทโธวาทบรรลุเป็นพระอรหันต์ เศรษฐีทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา และแสดงตนเป็นอุบาสกถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบพระรัตนตรัย เป็นสรณะที่พึ่ง คนแรกในโลก
 

               ขณะนั้น พระบรมศาสดาจึงบันดาลให้บิดามองเห็นบุตร เศรษฐีเห็นลูกชายแล้ว ชวนกลับบ้าน บอกว่ามารดากำลังเสียใจแทบสิ้นชีวิตที่ลูกหายไป พระบรมศาสดาตรัสบอกแก่เศรษฐีว่า “ยสะเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ใช่ผู้สมควรกลับไปมีชีวิตครองเรือนอีก”
 

              เศรษฐีดีใจกล่าวว่า เป็นลาภอันประเสริฐของลูกชาย ทูลเชิญพระบรมศาสดา พร้อมลูกชายไปยังบ้านของตนเพื่อทรงรับภัตตาหารในเช้าวันนั้น แล้วรีบกลับไปบ้านล่วงหน้าก่อน เพื่อเตรียมการต้อนรับ
 

             เมื่อเศรษฐีผู้บิดาไปแล้ว ท่านยสะได้ทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาทรงอนุญาตโดยตรัสว่า “ท่านจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”
 

               สําหรับรายท่านยสะ พระองค์ไม่ตรัสว่า ให้ทำทุกข์ให้สุดสิ้นไป เพราะท่านยสะสิ้นทุกข์แล้วก่อนอุปสมบท
 

              เช้าวันนั้น พระบรมศาสดาเสด็จไปยังบ้านเศรษฐี มีพระยสะตามเสด็จ หลังทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้ว พระองค์ประทานพระธรรมเทศนา อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ แก่มารดาและอดีตภรรยาของพระยสะบรรลุเป็นพระโสดาบัน ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา และแสดงตนเป็นอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับเป็นอุบาสิกาสองคนแรกในโลก
 

               พระยสะก่อนบวชเป็นผู้มีมิตรสหายมาก สหายที่เป็นลูกเศรษฐีในเมืองพาราณสี ๔ คน คือ วิมล สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ ทั้ง ๔ ทราบเรื่องพระยสะออกบวช ปรึกษากันว่า สิ่งที่พระยสะเพื่อนของพวกตนกระทำนั้นต้องเป็นสิ่งดีงามแน่ จึงชวนกันไปเยี่ยม พระยสะ พาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงสั่งสอนจนทั้ง ๔ คน ได้ดวงตาเห็นธรรมและทูลขออุปสมบท และเป็นพระอรหันต์ในที่สุด รวมแล้วเวลานั้นมีพระอรหันต์ในโลก ๑๑ องค์
 

                ฝ่ายบรรดาสหายชาวชนบทของพระยสะอีก ๕๐ คน ทราบข่าวพระยสะ ต่างคนต่างคิดเหมือนพวกแรก พากันมาบวชตามเป็นพระอรหันต์เพิ่มอีกทั้งหมด รวมเป็น ๖๑ องค์
 

                 เมื่อมีพระอรหันตสาวกมากพอสมควรแล้ว พระบรมศาสดาทรงดำริเรื่องการประกาศพระศาสนา ตรัสสั่งพระสาวกว่า
 

               “ภิกษุทั้งหลาย พวกเราทั้งหมดพ้นแล้วจากเครื่องผูกมัดทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ เธอทั้งหลายจงเดินทางไปประกาศพระศาสนา ต่างคนต่างไป จงแสดงธรรมให้เป็นประโยชน์ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด สอนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ทั้งเนื้อความ และตัวอักษร มนุษย์ที่มีกิเลสน้อยมีอยู่ในโลก ถ้าหากไม่ได้ฟังธรรมแล้ว จะไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพาน ขอท่านทั้งหลายจงไปสร้างประโยชน์อย่างยิ่งให้เกิดแก่มหาชน แม้ตัวเราเองก็จะไปสั่งสอนที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ตำบลที่ทรงทำความเพียรอยู่เดิม)”
 

                 พระอรหันตสาวกทั้ง ๖๐ รับพระดำรัสสั่งแล้ว ต่างองค์ต่างแยกย้ายเดินทางไปแสดงธรรม ประกาศพระศาสนา ให้กุลบุตรในถิ่นนั้นๆ มีความนับถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา น้อมนำจิตใจให้ต้องการอุปสมบท แต่เมื่อไม่สามารถให้การอุปสมบทเองได้ จึงพากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา
 

                  พระองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ และทรงเห็นถึงความยากลำบากในการเดินทางมาเฝ้า จึงทรงมีพุทธานุญาตให้พระอรหันตสาวกเหล่านั้นจัดการบวชเองได้ ด้วยวิธีให้โกนผมโกนหนวดก่อน แล้วจึงให้นุ่งผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด แล้วปฏิญาณตนว่า
 

                 “ข้าพเจ้าขอถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอถือพระธรรมเป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอถือพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ฯลฯ” ดังนี้ เรียกว่า ทรงอนุญาตให้บวชด้วยการรับไตรสรณคมน์ หรือ ติสรณคมนูปสัมปทา
 

                พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พาราณสีพอสมควรแล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังตำบลอุรุเวลาฯ ระหว่างทางเสด็จแวะที่ไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง ได้พบกลุ่มชายหนุ่มที่เป็นเพื่อนรักกัน จำนวน ๓๐ คน มีชื่อกลุ่มว่า ภัททวัคคีย์ พาภรรยามาเที่ยวเล่นอยู่ที่นั่น มีอยู่คนหนึ่ง ไม่มีภรรยา จึงจ้างหญิงแพศยา (โสเภณี) มาเป็นภรรยาชั่วคราว ในขณะที่เหล่าชายหนุ่มเผลอ หญิงแพศยานั้นได้ขโมยห่อเครื่องประดับหนีไป
 

                บรรดาคนเหล่านั้นกำลังเที่ยวตามหาหญิงแพศยาอยู่ ได้มาพบพระบรมศาสดา จึงทูลถามพระองค์ว่าทรงเห็นสตรีนั้นหรือไม่
 

                พระบรมศาสดาตรัสย้อนถามว่า “พวกเธอทั้งหลายจะพึงแสวงหาหญิงแพศยานั้นดี หรือแสวงหาตนเองดี?”
 

               เหล่าภัททวัคคีย์ได้สติ เป็นผู้มีปัญญา ทูลตอบว่า “พวกข้าพเจ้าขอแสวงหาตนเองดีกว่า พระเจ้าข้า"
 

                พระบรมศาสดาตรัสแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้แก่คนทั้ง ๓๐ คนเหล่านั้น ได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบวชและบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ครั้นแล้วพระองค์ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในทํานองเดียวกัน
 

                ส่วนพระองค์เสด็จต่อไปยังตำบลอุรุเวลาฯ ที่นั่นมีชฎิล (นักบวชนิยมลัทธิบูชาไฟ) ๓ พี่น้อง และบริวาร ๑,๐๐๐ คน สร้างอาศรมอยู่ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา เรียงรายตามลำดับกันไป อุรุเวลกัสสปะ เป็นพี่อยู่ต้นน้ำ พระบรมศาสดาเสด็จไปพบก่อน ทรงทรมานด้วยวิธีต่างๆ กระทั่งอุรุเวลกัสสปะมีความสลดใจลดทิฏฐิที่คิดว่าตนเองวิเศษเหนือผู้อื่น เห็นการกระทําของตนไร้สาระ
 

               เมื่อเสด็จไปพบ ทรงขอพักแรมในโรงบูชาไฟ อุรุเวลกัสสปะไม่พอใจ เห็นว่าพระองค์ทรงอวดดีขอพักในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เตือนว่าที่นั่นมีพญานาคมีพิษอาศัยอยู่ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปถึง พญานาคเห็นเข้าโกรธพ่นพิษ พระบรมศาสดาทรงเข้าฌานเตโชกสิณ (ใช้ไฟเป็นอารมณ์ในการกำหนดใจให้รวมเป็นสมาธิแน่วแน่) แล้วทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ให้พระวรกายมีไฟเกิดขึ้นต่อต้านพิษพญานาค บังเกิดเป็นแสงสว่างสีแดงจัด ราวจะเผาผลาญโรงบูชาไฟให้เป็นเถ้าถ่านไปสิ้น
 

                เหล่าชฎิลเห็นแสงสว่างแดงรุ่งโรจน์ดังนั้น พากันคิดว่า “พระสมณะรูปนี้คงสิ้นชีวิตเป็นแน่แท้" แต่พอถึงเวลารุ่งเช้าเมื่อทุกคนไปดู กลับเห็นพญานาคขดเหลือตัวเล็กนิดเดียวอยู่ในบาตร พระบรมศาสดาตรัสว่า “นาคนี้สิ้นฤทธิ์แล้ว ด้วยอำนาจของเรา” พวกชฎิลแปลกใจ แต่ก็ยังลังเลไม่เลื่อมใส
 

                โดยเหตุที่เหล่าชฏิลมีความทะนงตนมาก พระบรมศาสดาต้องทรงปราบด้วยฤทธิ์ ต้องทรงพำนักอยู่ที่นั้นอีกหลายวันต่อมา เพื่อทรงทรมานทุกคนให้คลายความสำคัญผิด
 

                 ขณะนั้นเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจนน้ำท่วมบริเวณทั่วไปหมด โดยเฉพาะบริเวณที่พระบรมศาสดาทรงพำนัก เหล่าชฎิลคิดว่าพระองค์ต้องทรงจมน้ำสิ้นชีวิตเป็นแน่ จึงพายเรือเข้าไปดู กลับเห็นพระบรมศาสดาทรงเดินจงกรมอยู่ที่พื้นดิน มีน้ำไหลวนรอบเป็นวงกลมบริเวณกว้างพอควร โดยไม่ไหลเข้าท่วมแม้แต่หยดเดียว เหล่าชฎิลเห็นพุทธานุภาพดังนี้ รู้ว่าพวกตนไม่ใช่พระอรหันต์ จึงกราบแทบพระบาทขอเป็นสาวก
 

              (วิธีแสดงฤทธิ์ดังนี้ ทำได้โดยการทําฌานจิตให้เกิดด้วยการนึกถึงน้ำเป็นอารมณ์ เมื่อจิตแน่วแน่ดีแล้ว ก็อธิษฐานให้น้ำรอบกายตามที่กำหนดเป็นแผ่นแข็งกั้นเหมือนดังกําแพงได้)
 

               เหล่าชฏิลปลงผมที่เกล้าเป็นชฎาออกลอยไปตามน้ำพร้อมเครื่องพรตบูชาไฟ ทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาประทานอนุญาต
 

               ฝ่ายนทีกัสสปะผู้เป็นน้องกับเหล่าบริวารตั้งอาศรมอยู่ใต้น้ำลงไปเห็นชฎาและบริขาร เครื่องบูชาไฟของพี่ชาย สำคัญว่าเกิดอันตรายแก่ผู้เป็นพี่ รีบพากันเดินทางมาดู เห็นพี่ชายพร้อมบริวารบวชหมดแล้ว ได้พากันบวชตามในทํานองเดียวกัน
 

                น้องชายคนเล็กชื่อคยากัสสปะ อยู่ใต้น้ำต่อไปจากนทีกัสสปะ เห็นสิ่งของลอยน้ำมาทำนองเดียวกัน ก็พาบริวารขึ้นมาดูและได้อุปสมบทในที่สุด รวมภิกษุที่มาจากชฎิลทั้งสิ้น ๑,๐๐๓ คน
 

                 พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาฯตามสมควร ทรงพาภิกษุใหม่ทั้งหมดไปยังตำบลคยาสีสะ ณ ที่นั้นพระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาเรียกว่า อาทิตตปริยายสูตร เพื่อให้ตรงกับจริตอัธยาศัยของเหล่าชฎิล ซึ่งเคยบูชาไฟอันเป็นของร้อน เนื้อความในพระธรรมเทศนามีว่า
 

              “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้เป็นของร้อน คือ เมื่อตากับรูปกระทบกัน วิญญาณเกิด ทำให้มีความรู้สึกเกิด รู้สึกสุขบ้าง รู้สึกทุกข์บ้าง รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง"
 

                เมื่อหูกับเสียงสัมผัสกัน เมื่อจมูกกับกลิ่นสัมผัสกัน เมื่อลิ้นกับรสสัมผัสกัน เมื่อกายกับสภาพเย็นร้อนอ่อนแข็งสัมผัสกัน เมื่อใจกับเรื่องราวต่างๆ ที่เอามาคิดสัมผัสกัน
 

                 การกระทบสัมผัสทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นของร้อน เพราะเมื่อกระทบสัมผัสกันแล้วมีเวทนาคือความรู้สึกเกิด เวทนานั้นเองทำให้เกิดความอยากได้ (โลภ) ความไม่อยากได้ (โทสะ) และความหลงใหล ไม่รู้เรื่อง ขาดปัญญา (โมหะ)
 

                 นอกจากนั้น ยังต้องร้อนด้วยไฟทุกข์ เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศก ร่ำไรรำพัน เสียใจ คับใจ
 

                 ไฟกิเลส(โลภะ โทสะ โมหะ) และไฟทุกข์ ดังที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมดนี้เป็นของร้อน เมื่อเห็นจริงตามนี้แล้ว ควรเบื่อหน่ายในทุกสิ่ง ตั้งแต่ตากระทบสัมผัสกับรูป กระทั่งเกิดเวทนา รวมทั้งการกระทบสัมผัสในอายตนะ เครื่องกระทบกัน อื่นๆ อีกทั้ง ๕ ประการนี้
 

                  เมื่อเกิดการเบื่อหน่าย ก็จะหมดความพอใจรักใคร่
 

                 เมื่อหมดความพอใจรักใคร่ ก็จะหมดจากความถือมั่น (เอาอย่างนั้น อย่างนี้)
 

                 เมื่อจิตหมดความถือมั่น ญาณรู้ว่าพ้นแล้วย่อมเกิดขึ้น
 

                 เมื่อญาณเกิด ย่อมทราบได้ว่าต่อจากนี้หมดกิเลสสิ้นเชิงแล้ว จะไม่มีการเกิดในภพชาติหน้าต่อไปอีก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว กิจที่จะต้องทำในชีวิตอันยาวนานนับจํานวนชาติไม่ได้สําเร็จลงแล้ว กิจอื่นที่ยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
 

                 เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตรนี้อยู่ จิตของภิกษุทั้งสิ้นในที่นั้น พ้นจากอาสวะทั้งปวง ไม่ถือมั่นในอุปาทาน บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

 

จากหนังสือ ต้องเป็นให้ได้(ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)

อุบาสิกา ถวิล (บุญทรง วัติรางกูล)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024900801976522 Mins