บทที่ ๑๑
เสด็จนครกบิลพัสดุ์ โปรดพระพุทธบิดาและชาวเมือง
ในระยะเริ่มประกาศพระศาสนานั้น ส่วนใหญ่พระบรมศาสดาประทับประจำอยู่ ในแคว้นมคธ เนื่องจากมีเวฬุวันเป็นที่ประทับ จะเสด็จไปยังแคว้นใดก็ตาม เมื่อเสร็จพุทธกิจโปรดเวไนยสัตว์แล้วจะเสด็จกลับแคว้นมคธเสมอ แม้แต่เหล่าสาวกที่ออกไปประกาศพระศาสนา เสร็จแล้วก็จะพากันกลับมากรุงราชคฤห์ของแคว้นมคธนี้ทำนองเดียวกัน
เมื่อมีการประกาศพระศาสนาไปแพร่หลาย ข่าวคราวกระจายไปถึงนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะทรงรอคอยพระราชโอรสมาถึง ๖ ปี ทรงทราบว่าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงดีพระทัย รีบส่งคณะอำมาตย์ไปทูลเชิญเสด็จกลับมาเยี่ยมพระนคร
ปรากฏว่าส่งไปคณะใด อำมาตย์เหล่านั้นได้ฟังพระธรรมเทศนา ปฏิบัติตามคำสอน พากันบรรลุเป็นพระอรหันต์หมด เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ภิกษุเหล่านั้นย่อมหมดความยินดียินร้ายในอารมณ์ทางโลกทั้งปวง ไม่มีความกังวลด้วยภาระอันใดของชาวโลก จึงไม่มีใครสนใจทูลให้พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องที่พระบิดาทูลเชิญ หรือมิฉะนั้นก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเองว่าเวลาใดสมควรเสด็จ ไม่ควรรบกวนพระทัย
จนถึงทูตคณะที่ ๑๐ มีอำมาตย์ชื่อกาฬุทายี อันเป็นสหชาติกับพระบรมศาสดาเป็นหัวหน้าคณะ อำมาตย์ผู้นี้ทราบล่วงหน้าจึงทูลลาบวชต่อพระเจ้าสุทโธทนะก่อนออกเดินทาง เมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ฟังธรรมแล้ว ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งคณะทำนองเดียวกัน
แต่ภิกษุกาฬุทายีไม่ลืมเรื่อง พระราชาสุทโธทนะรับสั่งไว้ จึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดา พระองค์ทรงรับนิมนต์ และเสด็จด้วยพระบาทพร้อมเหล่าภิกษุ สิ้นเวลาเดินทางสองเดือน จึงถึงพระนครกบิลพัสดุ์ ประทับในอุทยานของพระญาติผู้หนึ่งพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๒ หมื่นรูป เรียกที่นั้นว่า นิโครธาราม
เหล่าพระญาติทั้งหลายได้พากันมาเฝ้า โดยให้พระญาติผู้เยาว์อยู่ด้านหน้าๆ เพื่อถวายบังคม ส่วนพระญาติผู้ใหญ่อยู่ทางท้ายๆ เพราะยังมีทิฏฐิมานะว่าเป็นผู้เกิดก่อน ไม่ยอมถวายบังคม พระบรมศาสดาทรงทราบอัธยาศัยดี จึงทรงกระทำพุทธปาฏิหาริย์ เสมือนพระองค์ทรงลอยอยู่ในอากาศ โปรยละอองพระบาทเหนือเศียรเหล่าพระญาติเหล่านั้น ทำให้สิ้นมานะพากันถวายบังคม
ขณะนั้นมีฝนสีแดงเรียกว่า ฝนโบกขรพรรษ ตกมาจากอากาศ เป็นที่ชุ่มชื่นใจ ใครต้องการให้เปียกจึงจะเปียก ใครไม่ต้องการก็ไม่เปียก กลิ้งจากตัวไปเหมือนน้ำบนใบบัว ฝนนี้ทำให้พระองค์ตรัสเล่าความเดิมในพระชาติที่ทรงเกิดเป็นพระเวสสันดร เพราะมีฝนชนิดเดียวกันตกในวันประชุมพระญาติทำนองเดียวกัน
การประชุมครั้งนี้ ไม่มีผู้ใดทูลนิมนต์ถวายภัตตาหารพระบรมศาสดาและเหล่าภิกษุสงฆ์ เข้าใจกันว่าพระองค์คงจะเสด็จมาเสวยในพระราชวังเอง
รุ่งขึ้นพระบรมศาสดาพาเหล่าภิกษุเสด็จภิกขาจารตามถนนในกรุงกบิลพัสดุ์ชาวเมืองแตกตื่น โกลาหล ต่างตระหนกตกใจ พากันออกมาดูและนำสิ่งของมาใส่บาตร เพราะชาวอินเดียสมัยนั้นถือวรรณะมาก วรรณะกษัตริย์เดินขออาหารอย่างนี้ ไม่มีใครทำ ชาวเมืองไม่เคยเห็น
พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบเรื่อง ทรงเสียพระทัยเป็นที่ยิ่งเพราะเป็นเรื่องเสื่อมพระเกียรติอย่างร้ายแรง รับเสด็จตามไปทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จกลับพระราชวัง ทรงอ้างว่าขัตติยวงศ์ไม่กระทำเช่นนี้ แต่พระบรมศาสดาตรัสชี้แจงว่า พระองค์ปฏิบัติตามพุทธวงศ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงกระทำดังนี้ การเที่ยวภิกขาจารเป็นกิจวัตรของสมณะ สมณะไม่ควรประมาทในการบิณฑบาต สมณะควรประพฤติธรรมโดยสุจริต ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกอื่น
พระราชาทรงสดับพระธรรมเทศนาสั้นๆ เพียงเท่านี้ สามารถบรรลุเป็นพระโสดาบันในขณะนั้นเอง จึงไม่ทรงห้ามปรามอีกต่อไป
พระบรมศาสดาประทับอยู่นครกบิลพัสดุ์เสด็จออกบิณฑบาตทุกวัน เพื่อโปรดชาวเมือง พระนางยโสธราทรงทราบข่าวการเสด็จมาแต่ต้น แต่พระนางไม่เสด็จไปเฝ้าด้วยยังน้อยพระทัยและเสียพระทัยไม่เคยสร่างโศกเลย ตั้งแต่พระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครไปเมื่อ ๖ ปีก่อน เพราะเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้น ภรรยาที่ถูกสามีทอดทิ้ง จะรู้สึกอัปยศมาก
แต่ด้วยความที่ทรงระลึกถึงผู้เป็นที่รักอย่างเปี่ยมล้น พระนางทรงแอบทอดพระเนตรทางช่องพระแกลในเวลาพระบรมศาสดาเสด็จภิกขาจารผ่าน พระนางทรงชี้ให้พระโอรสราหุลดูพระบรมศาสดาตรัสว่า “นั่นคือ พระบิดาของลูก” เจ้าชายราหุลทอดพระเนตร เห็นแล้วทรงนึกรักพระบรมศาสดายิ่งนัก
พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุติดตามรูปหนึ่งเสด็จยังตำหนักของพระนางยโสธรา พระองค์ตรัสชี้แจงต่อภิกษุที่ติดตามว่า อย่าห้ามปรามถ้าพระนางจะเสด็จเข้าสวมกอดพระบาทของพระองค์กรรแสง เพราะถ้าถูกห้ามอาจถึงพระทัยวายด้วยความโศก
เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง พระนางประคองพระวรกายอันซูบผอม พระฉวีวรรณเศร้าหมองออกมาเฝ้า กลิ้งเกลือกพระเศียรแทบพระบาท ทรงพระกรรแสงแทบสิ้นสมปฤดี
พระพุทธเจ้าทรงปลอบโยนให้สร่างโศก ตรัสถึงพระชาติต่างๆ ในอดีต ซึ่งพระนางทรงเคยเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของพระองค์มานับพระชาติไม่ถ้วน เช่นพระชาติที่เคยเป็นกินนร และกินนรีด้วยกันมา ทรงสรรเสริญความซื่อสัตย์ของพระนาง
พระนางยโสธราเทวีทรงฟังแล้ว ก็สร่างโศกและทรงคลายความเสียพระทัยลง ตั้งพระทัยฟังธรรมด้วยความโสมนัส เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมจบ พระนางก็ทรงบรรลุเป็นพระโสดาบัน
ในวันที่ ๕ นับจากที่เสด็จมาถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ในพระราชวังมีพระราชพิธีวิวาหมงคล ระหว่างเจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระอนุชาต่างพระมารดา (คือพระน้านางปชาบดีโคตมี) ของพระบรมศาสดา กับเจ้าหญิงชนบทกัลยาณี พระเจ้าสุทโธทนะทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมาร่วมงานด้วย เมื่อทรงฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว จะเสด็จกลับ ทรงมอบบาตรให้เจ้าชายนันทะถือตามส่งเสด็จ
เจ้าชายนันทะเสด็จตามออกมา เจ้าหญิงชนบทกัลยาณีทราบเรื่องรีบวิ่งมาทูลเตือนให้เสด็จกลับวังโดยเร็ว “เจ้าพี่ เสด็จกลับมาเร็วๆ นะเพคะ”
แต่เจ้าชายเสด็จตามพระพุทธองค์ไปไกลเพียงใด พระบรมศาสดาไม่ทรงขอบาตรคืน กระทั่งถึงที่ประทับนอกเมือง พระองค์ตรัสถามพระอนุชาว่า “นันทะ เธอจะบวชไหม”
ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์มาด้วยกัน เจ้าชายนันทะทรงรักและเกรงพระทัยพระเชษฐามาโดยตลอด ในครั้งนี้ก็ทำนองเดิม เจ้าชายทรงตอบรับด้วยความเกรงพระทัย ว่า "บวช พระเจ้าข้า"
พระบรมศาสดาทรงให้เจ้าชายนันทะอุปสมบทเป็นภิกษุ นับตั้งแต่วันบวชนั้น เจ้าชายไม่ทรงยินดีในเพศบรรพชิตเลย ทรงระลึกถึงแต่พระคู่หมั้นตลอดเวลา ใคร่ทูลขอลาสิกขาอยู่เสมอๆ แต่ทรงเกรงพระทัยพระบรมศาสดา
เจ้าชายนันทะทรงผนวชแล้วไม่นาน พระนางยโสธราจึงทรงให้เจ้าชายราหุลเสด็จ ไปทูลขอราชสมบัติจากพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาทรงใคร่ครวญแล้ว เห็นว่าเจ้าชายควรได้อริยทรัพย์มากกว่าโลกียทรัพย์ จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรให้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้พระกุมารเป็นสามเณรรูปแรกในพระศาสนา
พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว เสียพระทัยว่าราชสมบัติไม่มีผู้สืบทอด จึงทูลขอพระพุทธานุญาตว่า ต่อไปภายหน้าหากจะมีการอุปสมบทให้กุลบุตรผู้ใดก็ตาม ขอให้ผู้ปกครองเห็นชอบด้วยก่อน พระบรมศาสดาทรงอนุญาต จึงเป็นธรรมเนียมสืบกันมาทุกวันนี้
เมื่อประทับอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุพอสมควรแก่เวลา พระบรมศาสดาเสด็จกลับกรุงราชคฤห์ ภิกษุนันทะและสามเณรราหุลตามเสด็จด้วย มีเจ้าชายในราชสกุลทรงออกผนวชตามหลายพระองค์ ทั้งที่บวชด้วยศรัทธาและบวชตามเพื่อน
ที่กรุงราชคฤห์ ซึ่งมีเศรษฐีราชคฤห์สร้างวิหารถวาย และได้หมั่นถวายทานอยู่เนืองนิตย์ เศรษฐีผู้นี้มีน้องเขยชื่อ อนาถบิณฑิกะ เป็นเศรษฐีอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล เดิมมีชื่อว่า สุทัตตะ เป็นคนใจบุญตั้งโรงบริจาคทานแก่มหาชนและคนไร้ที่พึ่ง คนจึงเรียกชื่อใหม่ว่า อนาถบิณฑิกะ แปลว่า ก้อนข้าวของคนยากจน
อนาถบิณฑิกะมาหาราชคฤห์เศรษฐีเสมอๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งมาหาในขณะที่ราชคฤห์เศรษฐี กำลังสาละวนสั่งการให้ผู้คนในบ้านเตรียมการถวายทานพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในวันรุ่งขึ้นท่านราชคฤห์ไม่ได้ใส่ใจต้อนรับอนาถบิณฑิกะเท่าที่เคยทำ อนาถปิณฑิกะแปลกใจมาก จึงถามว่าจะมีงานมงคลใหญ่ มงคลสมรส หรือบูชามหายัญ หรือเชิญพระเจ้าพิมพิสารพร้อมเหล่าบริวารมาเลี้ยง
ราชคฤห์เศรษฐีตอบปฏิเสธ ชี้แจงว่าได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
อนาถบิณฑิกะได้ยินคำว่า “พระพุทธเจ้า” ดีใจจนตกตะลึง ย้อนถามพี่ภรรยาให้พูดใหม่ถึง ๓ ครั้ง แล้วกล่าวว่า คำว่าพระพุทธเจ้านั้น เป็นคำที่หาฟังได้ยากมากในโลก ตนเองใคร่ขอไปเฝ้าในเวลานั้น ราชคฤห์เศรษฐีชี้แจงว่า เป็นเวลาค่ำคืนไม่สะดวก ให้รอตอนเช้าเสียก่อน
อนาถบิณฑิกะกระวนกระวายใจใคร่ได้พบเห็นพระบรมศาสดาจนนอนไม่หลับตลอดคืน รีบเดินทางออกไปตั้งแต่ยังไม่ทันสว่าง พระบรมศาสดาตรัสอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เศรษฐีได้ธรรมจักษุเป็นพระโสดาบัน กราบทูลประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
ภายหลังจากภัตตกิจที่บ้านราชคฤห์เศรษฐีแล้ว อนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ไปยังกรุงสาวัตถี แคว้นโกศลบ้าง พระองค์ทรงรับนิมนต์
ภิกษุนันทะ พระอนุชาตามเสด็จไปกรุงสาวัตถีด้วย แต่มีพระทัยเร่าร้อนใคร่สึก กลับไปหาเจ้าสาวอยู่ตลอดเวลา พระบรมศาสดาจึงทรงบันดาลด้วยพุทธานุภาพพาเจ้าชายนันทะไปยังภพดาวดึงส์ ระหว่างทางทรงชี้ให้ภิกษุนันทะดูนางลิงที่หนีไฟไหม้ป่าออกมาได้ นั่งอยู่ที่ตอไม้ มีหูขาด จมูกแหว่ง ผิวหนังถูกไฟลวก ขนหลุดกระดำกระด่างน่าสมเพชเวทนา
ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระบรมศาสดาทรงชี้ให้พระนันทะทอดพระเนตรเหล่าเทพธิดา ที่งดงามที่ยิ่งกว่าหญิงในเมืองมนุษย์หลายเท่า มีฝ่าเท้าแดงดังเท้านกพิราบ รับสั่งถามว่า
“นันทะ นางฟ้าเหล่านี้ เมื่อเทียบกับเจ้าหญิงชนบทกัลยาณีแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง”
พระนันทะทูลตอบว่า
“ถ้าเทียบกันแล้ว นางชนบทกัลยาณีเหมือนนางลิงพิการที่เห็นตัวนั้น พระเจ้าข้า”
ความสวยงามของร่างกายนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เราเห็นสิ่งนี้สวย เพราะยังไม่เห็นสิ่งที่สวยกว่ามาเปรียบเทียบ ถ้าหลงใหลติดข้องอยู่ในเรื่องเหล่านี้แล้ว จะต้องอยู่ไม่จบสิ้น
พระบรมศาสดาตรัสรับรองว่า ถ้าพระอนุชาทรงตั้งพระทัยปฏิบัติธรรม พระองค์ทรงสัญญาว่าจะพานางฟ้ามามอบให้
พระนันทะตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างดีนับจากเวลานั้น เหล่าภิกษุที่ทราบเรื่องพากันล้อเลียนขำขันเรียกท่านว่าเป็นลูกจ้างพระบรมศาสดา พระนันทะรู้สึกอายมาก เพราะภิกษุอื่นๆ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเพื่อให้สิ้นอาสวกิเลส แต่ท่านจะปฏิบัติเพราะเห็นแก่กิเลส จึงพากเพียรเต็มที่ยิ่งขึ้นบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเวลาไม่นานนัก สำหรับสามเณรราหุล บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว
ที่นครสาวัตถีของแคว้นโกศล พระบรมศาสดาทรงประกาศพระศาสนาได้รุ่งเรืองเป็นอันมาก ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธามีตั้งแต่พระราชาผู้ครองแคว้น คือพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกา พระมเหสี อนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นต้น คนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการใช้ทรัพย์จุนเจือพระศาสนา อนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้อที่ดินของเจ้าชายเชตด้วยการเอาเหรียญทองคำปูเต็มพื้นดิน ยังขาดอยู่ตรงบริเวณซุ้มประตู เจ้าของที่ดินขอบริจาคโดยให้ใช้ชื่อตนเป็นชื่ออาราม วัดแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า เชตวันวิหาร หรือ เชตวนาราม ส่วนมหาอุบาสิกาวิสาขาลืมห่อเครื่องประดับกายมีค่าที่สุดไว้ในวัด พระอานนท์ ซึ่งเป็นพระพุทธอุปัฏฐากเก็บรักษาไว้ให้ นางเห็นว่าเป็นของที่พระภิกษุจับต้องแล้ว จึงมีกุศลจิตประกาศขาย นำทรัพย์มาสร้างเป็นวัดอีกแห่งหนึ่งชื่อ บุพพาราม
อย่างไรก็ตาม แม้จะเสด็จจาริกไปยังแคว้นใดๆ พระบรมศาสดามักเสด็จกลับยังกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธเสมอ
ที่แคว้นมคธนี้เอง ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น คือมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อเทวทัต เป็นพระเชษฐาของพระนางยโสธรา ได้ออกบวชพร้อมเจ้าชายในราชสกุลอื่นๆ ครั้งพระบรมศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ เจ้าชายองค์นี้มีพื้นนิสัยเดิมดุร้าย ขี้อิจฉาริษยา ที่ออกบวชไม่ใช่เพราะมีศรัทธา แต่บวชตามๆ เจ้าชายพระองค์อื่น มิฉะนั้นเวลาถูกใครถามว่าเหตุใดไม่บวช จะเป็นที่เก้อเขิน
เมื่อทรงออกบวชแล้ว เพียรพยายามปฏิบัติตามอย่างภิกษุอื่นๆ แต่เนื่องจากพื้นนิสัยเดิมไม่สะอาดดีงามพอ ทำให้ไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยะเหมือนผู้ที่บวชพร้อมกัน ได้ผลแค่โลกียฌานซึ่งมีได้เสื่อมได้ไม่แน่นอน เป็นฌานที่สามารถทำอภิญญาแสดงฤทธิ์ได้
แต่ทํากิเลสให้หมดไปไม่ได้
ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จไปกรุงโกสัมพี ชาวเมืองพากันมาต้อนรับ ต่างคนต่างนำสิ่งของมาถวาย หลังจากเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว ชาวเมืองเหล่านั้นก็แยกย้ายกันไปเยี่ยมพระภิกษุที่ตนเลื่อมใส ไต่ถามกันว่า “พระสารีบุตรของข้าพเจ้าอยู่ไหน พระโมคคัลลานะของข้าพเจ้าอยู่ไหน พระอานนท์ของข้าพเจ้าอยู่ไหน ฯลฯ" แต่ไม่มีใครถามถึงพระเทวทัตเลย
พระเทวทัตฟังคำไต่ถามเหล่านั้นแล้ว ขัดเคืองพระทัยเป็นอันมาก ต้องการได้ความยกย่องสรรเสริญ ต้องการลาภดังเช่นภิกษุรูปอื่นๆ จึงคิดการใหญ่ต้องการเป็นพระศาสดาเสียเอง จึงออกอุบายที่จะทำให้มีคนมาอุปัฏฐากตน
พระเทวทัตเข้าฌานโลกีย์เนรมิตตนเองเป็นเด็กน้อยมีงูพิษร้ายพันประดับร่างกายอยู่ ๗ ตัว เหาะเข้าไปนั่งบนพระเพลาของพระกุมารอชาตศัตรู พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร พระกุมารตกพระทัยกลัวเป็นอย่างยิ่ง ครั้นแล้วพระเทวทัตจึงกลับร่างเป็นพระเถระดังเดิม พูดจาชักชวนให้ทรงเลื่อมใส ถวายภัตตาหารวันละ ๕๐๐ สำรับ น้อมนำพระทัยให้พระกุมารทรงคิดปลงพระชนม์พระราชบิดา เพื่อได้เป็นใหญ่ในราชสมบัติเร็วขึ้น ส่วนพระเทวทัตเองก็จะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าเพื่อปกครองสงฆ์
พระกุมารอชาตศัตรูทรงลอบถืออาวุธจะเข้าทำร้ายพระเจ้าพิมพิสาร ถูกจับได้ทรงสารภาพว่าต้องการราชสมบัติ พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงยกราชสมบัติให้พระโอรส แต่พระเทวทัตก็ทูลยุแหย่ต่อไปให้ทรงฆ่าพระบิดาให้ได้ ตราบใดที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่ชาวเมืองอาจพากันทูลขอร้องให้เป็นพระราชาใหม่
พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงทรมานพระบิดาด้วยการให้อดอาหาร แรกๆ พระนางเวเทหิ พระราชมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรูทรงขอเข้าเยี่ยม พระนางได้ทรงนำพระกระยาหารซ่อนไว้ในมุ่นพระเกศาไปถวายพระสามี ต่อมาถูกจับได้พระนางก็ทรงเอาพระกระยาหารบดจนละเอียดแล้วทาตามพระวรกายให้พระเจ้าพิมพิสารทรงใช้พระชิวหาเลีย ในที่สุดถูกจับได้อีก พระเจ้าอชาตศัตรูมีรับสั่งห้ามพระมารดาเข้าเยี่ยมพระบิดาเป็นอันขาด
พระเจ้าพิมพิสารทอดพระเนตรจากที่คุมขัง เห็นภูเขาคิชฌกูฏที่พระบรมศาสดาประทับ จึงเสด็จจงกรมในคุกเป็นพุทธบูชา มีปีติเกิดขึ้นในพระราชหฤทัย หล่อเลี้ยงพระวรกายให้ทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเรื่องตรัสสั่งให้ช่างกัลบก (ช่างตัดผม)ใช้มีดโกนกรีดฝ่าพระบาทเพื่อเสด็จดำเนินจงกรมไม่ได้ จึงสิ้นพระชนม์ เวลานั้น ทหารมหาดเล็กเข้าทูลพระเจ้าอชาตศัตรูว่าพระโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว ความรักในฐานะพระบิดาเกิดท่วมท้นพระหฤทัย จึงนึกถึงพระเจ้าพิมพิสารพระบิดาของพระองค์ว่า คงรักพระองค์ทำนองเดียวกัน ตรัสสั่งให้ปล่อย แต่ทหารกราบทูลว่าพระบิดาสวรรคตแล้ว
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเสียพระทัยถึงสลบแล้วสลบอีกหลายครั้งหลายครา นับจากนั้นทรงเริ่มเสื่อมความนิยมในพระเทวทัต
สำหรับพระเทวทัต เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูครองราชสมบัติแล้ว ก็คิดกำจัดพระบรมศาสดาหลายครั้ง ครั้งแรกว่าจ้างนักแม่นธนูมารุมยิงพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ทรงบันดาลให้เงื้อธนูค้าง ทรงทรมานจนหมดทิฏฐิ พากันเสื่อมใสแล้ว จึงตรัสแสดงพระธรรมเทศนา นักแม่นธนูเหล่านั้นฟังธรรมแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบันทุกคน
พระเทวทัตไม่ละความพยายาม ขึ้นไปคอยอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏในเวลาเช้า เพื่อผลักก้อนหินใหญ่ให้หล่นลงมาทับพระบรมศาสดา ขณะเสด็จออกบิณฑบาต ก้อนหินหล่นมากระทบชะง่อนหินอื่น แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปหมด มีอยู่ชิ้นเดียวกระเด็นมากระทบพระบาท พระบรมศาสดาห้อพระโลหิต
พระเทวทัตไม่สิ้นความเคียดแค้น ขอช้างดุร้ายกำลังตกมันชื่อนาฬาคีรี จากพระเจ้าอชาตศัตรู นำสุราไปให้ช้างดื่มจนมึนเมาขาดสติยิ่งขึ้น แล้วปล่อยออกมาในเวลาพระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตตอนเช้า พระอานนท์พุทธอนุชาเป็นพระอุปัฏฐากเดินตามหลังพระบรมศาสดา เกรงภัยจะเกิดขึ้นต่อพระพุทธองค์ ถลันเดินขึ้นไปข้างหน้า ยอมพลีชีวิตป้องกันพระบรมศาสดา
พระองค์ทรงให้พระอานนท์กลับไปเดินตามหลังอย่างเดิม พระองค์ตรัสให้สติพญาช้างร้าย ช้างคุกเข่าลงถวายบังคม แล้วหันหลังเดินกลับเข้าโรงช้างไป
ประชาชนทราบข่าวโจษจันกันทั่วเมืองถึงความชั่วร้ายของพระเทวทัต ต่างพากันไม่ยอมใส่บาตรให้พระเทวทัตอีก พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเสื่อมความนิยมอยู่แล้ว ทรงละอายพระทัย จึงรับสั่งเลิกถวายอาหาร ๕๐๐ สำรับทุกวันแก่พระเทวทัต
ถึงกระนั้น พระเทวทัตก็ไม่ยอมรู้สำนึก กับแกล้งทูลขอให้พระบรมศาสดาทรงรับข้อคิดเห็นอันเคร่งครัดของตนเป็นวินัยให้พระสงฆ์ปฏิบัติ ๕ ประการ เมื่อพระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ก็แกล้งกล่าวจ้วงจาบว่าพระองค์ทรงปล่อยให้พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้มักมาก เช่นขอให้ทรงตั้งข้อบังคับว่า
๑. ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ทุกชนิด
๒. ให้หาอาหารด้วยการบิณฑบาตเท่านั้น ไม่รับกิจนิมนต์
๓. ให้อยู่ป่าเป็นประจำ ไม่อยู่ในอาราม หรืออาคารใดๆ ที่มีผู้สร้างถวาย
๔. ให้ใช้จีวรเฉพาะผ้าที่ได้จากซากศพ
๕. ให้ใช้ยาเฉพาะลูกสมอดองด้วยน้ำมูตร (ปัสสาวะ)เท่านั้น
พระบรมศาสดาทรงเห็นว่า การมีข้อบังคับเคร่งครัดเกินไป ไม่เอื้ออำนวยศรัทธาของประชาชน และเป็นการทำตนให้เลี้ยงยาก อีกทั้งกุลบุตรทั้งหลายที่ออกบวชมาจากสกุลต่างๆ กัน บางพวกเป็นสุขุมาลชาติ เช่น ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลเศรษฐี ร่างกายไม่เคยลำบากตรากตรำมาก ถ้าต้องมีความเป็นอยู่ทรมานเกินไป อาจเจ็บป่วยเป็นอันตรายไปก่อนการบรรลุธรรม อีกทั้งการใช้สอยปัจจัยสี่ทั้งหลาย ในพระวินัยมีข้อให้พิจารณาให้เห็นเป็นเพียงใช้เพื่อจำเป็นอยู่แล้ว มิใช่ใช้เพื่อความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ส่วนที่เกี่ยวกับบรรดาทายกทั้งหลาย ก็ควรได้รับการรักษาศรัทธา ถ้าต้องข้อบังคับจำกัดเสียหมด โอกาสในการสร้างทานของทายกทั้งหลายย่อมมีน้อยลงไป
พระเทวทัตจึงอ้างเรื่องพระบรมศาสดาทรงปล่อยให้พระภิกษุสงฆ์ย่อหย่อน จะกลายเป็นคนมักมาก เป็นเงื่อนไขกล่าวว่า ภิกษุใดเห็นว่าข้อเสนอของตนมีประโยชน์ สมควรสนับสนุน ให้แยกตัวตามตนเองไปตั้งคณะอยู่กันใหม่ เวลานั้นมีภิกษุบวชใหม่ มีปัญญาน้อยตามพระเทวทัตไป ๕๐๐ รูป นับว่าพระเทวทัตทำกรรมชั่วหนักมากถึงขั้นอนันตริยกรรมเป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกคือทำพระบรมศาสดาห้อพระโลหิต ครั้งนี้ทำสังฆเภทให้สงฆ์แตกแยกกัน
พระบรมศาสดาทรงมีพระกรุณาในเหล่าภิกษุผู้หลงผิดนั้น ตรัสสั่งให้พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะไปนำกลับ เมื่อพระสารีบุตรไปถึง พระเทวทัตเข้าใจผิดคิดว่า พระสารีบุตรจะมาอยู่กับตน จึงขอให้พระสารีบุตรอบรมสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นแทน ตนเองขอพักผ่อนนอนเอนหลังเลียนแบบอย่างพระพุทธองค์ แต่ตนเองขาดสติจึงหลับไป พระสารีบุตรแสดงพระธรรมเทศนา ภิกษุทั้ง ๕๐๐ ส่งใจไปตามคำสอนนั้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด จึงตามพระสารีบุตรกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระเทวทัตตื่นขึ้นมา ถูกสาวกคนสนิทชื่อพระโกกาลิกะกล่าวซ้ำเติม อาการป่วยยิ่งทรุดหนักลง รู้ตัวว่าจะต้องตายแน่ได้สติสำนึกผิด ขอให้สาวกที่เหลือหามตนเองไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา
พระบรมศาสดาทรงทราบข่าว ตรัสบอกเหล่าภิกษุว่า เทวทัตไม่สามารถมาถึงพระองค์ได้
พระเทวทัตเดินทางมาถึงสระโบกขรณีใกล้วัดพระเชตวัน ร่างกายเร่าร้อนใคร่อาบน้ำ ขอให้วางแคร่หามลง พอหย่อนเท้าเหยียบถึงพื้นดิน แผ่นดินก็แยกออกสูบลงไปโดยเร็ว จนจมมิดถึงคอ พระเทวทัตขอเอาคางนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้ายก่อน
จมลงไปมิดตัว
พระบรมศาสดาตรัสว่า เทวทัตทำกรรมชั่วหนักไว้ ต้องไปรับโทษในอเวจีมหานรก ในอนาคตข้างหน้า เมื่อครบแสนมหากัปแล้ว จะได้เกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่ออัฏฐิสสระ เพราะใช้กระดูกคางคารวะขอขมาโทษ และพระเทวทัตเองก็เคยสร้างบารมีไว้ถึง ๒ อสงไขย1
ขณะนี้พระเทวทัตยังเป็นสัตว์นรกอยู่ในอเวจี มีร่างกายสูงถึงร้อยโยชน์ยืนอยู่ ตั้งแต่หูขึ้นไปจมอยู่ในแผ่นเหล็กร้อนจนแดงที่เพดานบนศีรษะ ท่อนล่างตั้งแต่ตาตุ่มลงไปจมอยู่ในแผ่นเหล็กร้อนแดงมีตะปูตัวโตประมาณเท่าต้นตาลดอกติดมือทั้งสองข้างไว้กับฝา มีหลาวเหล็กแทงตัวด้านซ้ายทะลุข้างขวา แทงข้างหน้าทะลุข้างหลัง แทงจากศีรษะทะลุข้างล่าง กระดุกกระดิกร่างกายไม่ได้ มีเปลวไฟร้อนแรงเผาอยู่ตลอดเวลา ถูกทรมานดังนี้ จนกว่าจะพ้นจากนรกอเวจี ซึ่งมีเวลานานเท่ากับ ๑ อันตรกัป
ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อทรงเลิกคบกับพระเทวทัตแล้วกลับพระองค์ปฏิบัติเป็นพระราชาที่ดี ทรงให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์หลวงและแพทย์ประจำองค์พระบรมศาสดาและภิกษุสงฆ์พาพระองค์เข้าเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหาเกี่ยวกับการบรรพชา ว่ามีประโยชน์อย่างไร สามัญญผลสูตร) ที่ทรงถามเช่นนี้ เพราะทรงสงสัยว่า นักบวชควรปฏิบัติตนอย่างไร แล้วได้บรรลุผลอย่างไร เพราะที่พระองค์ปลงพระชนม์พระบิดา ก็เพราะนักบวช พระบรมศาสดาทรงชี้แจง จนพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเข้าพระทัย แต่เนื่องจากในพระทัยมีวิปฏิสาร (เร่าร้อนใจ) ในอนันตริยกรรม บาปหนัก) ที่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ทรงได้แต่ความเลื่อมใสศรัทธา ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ทรงสละพระราชทรัพย์
จํานวนมาก อุปถัมภ์บำรุงการสังคายนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหลังจากที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
บุญใหญ่ดังกล่าวช่วยพระองค์ไว้ เมื่อตายแล้ว ไม่ต้องตกนรกขุมอเวจี ตกนรกขุมเบาขึ้นมาชื่อ โลหกุมภี เป็นนรกขุมย่อยของอเวจีมหานรก การทรมานในนรกขุมนี้คือ สัตว์นรกจะถูกต้มเคี่ยวอยู่ในหม้อโลหะใบใหญ่มาก มีไฟลุกท่วมอยู่ตลอดเวลา นํ้าเหลวร้อนนั้นเดือดพล่าน ร่างของสัตว์นรกค่อยๆ จมลงทีละน้อย ใช้เวลาถึง ๓ หมื่นปืนรก จึงจะถึงก้นหม้อ แล้วค่อยๆ โผล่ขึ้นมาทีละน้อย ใช้เวลาอีก ๓ หมื่นปีเหมือนกัน
จึงจะถึงปากหม้อ รวมกำหนดอายุ ๖ หมื่นปืนรก
เมื่อพ้นจากนรกแล้วอีกสองอสงไขยแสนมหากัป พระเจ้าอชาตศัตรูจะเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อ วิชิตารี2
1ธัมมัปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท
2ทีฆนิกาย - อัฏฐกถา ๑/๒๑๒ บาลีฉบับฉัฏฐสังคายนา สุมังคลวิลาสินี ๑/๒๙๔ - ๕
จากหนังสือ ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)