บทที่ ๖
พระชนม์ชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ปัจจุบัน
ในยุคที่จักรวาลของเราดำรงอยู่ขณะนี้ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้และตั้งพระศาสนาผ่านมาแล้ว ๓ พระองค์ ปัจจุบันอยู่ในระยะพุทธกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๔ ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม เมื่อสิ้นพระศาสนาของพระองค์ไปแล้ว อีกนานแสนนาน เมื่ออายุขัยของมนุษย์ลดลงถึง ๑๐ ปี แล้วสูงขึ้นใหม่อสงไขยปี แล้วลดลงเหลือ ๘ หมื่นปี1 จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๕ มาตรัสรู้ ทรงพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรย ต่อจากนั้นจะไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้อีกเลย จนจักรวาลถูกทำลาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดมของเรา2 แต่เดิมท่านก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ภพโน้นภพนี้ไปตามกรรมที่ทำไว้ จนกระทั่งถึงชาติหนึ่งห่างจากเวลานี้ ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป พระองค์เกิดเป็นคนยากจนอยู่กับมารดา มีอาชีพหาของป่าตัดฟืน แบกเข้าไปขายในเมือง
วันหนึ่งขณะที่ขายฟืนหมดแล้ว พักผ่อนอยู่ที่ท่าเรือ เห็นลูกเรือลงจากเรือพากันกลับบ้าน ดูแล้วมีรายได้ดีกว่าตน จึงไปขอสมัครทำงานในเรือกับเจ้าของเรือ โดยขอพาเอามารดาไปกับตนด้วย เจ้าของเรือเต็มใจรับเข้าทำงาน
ในการเดินทางคราวนั้น เรืออับปางเพราะพายุ ชายตัดฟืนให้มารดาเกาะบ่าตนเองพากันเกาะไม้กระดานว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง ในขณะนั้นเองได้เห็นเพื่อนร่วมทางทั้งหลายจมหายไปต่อหน้าทีละคนสองคน จึงรู้สึกสลดสังเวชใจในความทุกข์ทั้งของตนเองและเหล่าเพื่อนๆ ในครั้งนี้เป็นที่สุด มองเห็นปรุโปร่งถึงความทุกข์ของผู้คนและสรรพสัตว์หมดทั้งโลกว่าล้วนแต่มีทุกข์ภัยไปต่างๆ กัน ทุกข์จากเรื่องทำมาหากิน ทุกข์จากการเจ็บไข้ได้ป่วยทุกข์จากความพลัดพราก ฯลฯ
เวลานั้นจึงมีความคิดอยากช่วยเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่รู้หนทางเลยก็จะพยายามแสวงหา เมื่อคิดดังนี้ผู้คิดย่อมได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว
ต่อจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดลองผิดลองถูกสร้างความดีแบบต่างๆ ตามลำพังเรื่อยมาเป็นเวลาถึง ๗ อสงไขยกัป ได้บำเพ็ญบุญกุศลในยุคสมัยที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงแสนสองหมื่นห้าพันพระองค์ จึงมีความองอาจกล้าหาญเต็มที่ เปล่งวาจาแสดงความปรารถนาขอเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งบ้างในอนาคต ต่อพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ได้เกิดพบ หลังจากลั่นวาจาแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งสิบอย่างยิ่งยวดตลอดมาอีก ๙ อสงไขย จนบารมีทั้งสิบ เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ หากพระองค์ทรงตัดใจออกจากวัฏฏสงสาร ปฏิบัติตามคำตรัสสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ทรงได้พบในเวลานั้น พระองค์จะทรงสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานทันที
แต่เนื่องจากทรงต้องการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระองค์เอง ด้วยทรงมีพระมหากรุณาในสรรพสัตว์ ต้องการช่วยสรรพชีวิตให้พ้นจากกรงขังของการเวียนว่ายตายเกิด จึงไม่ยอมเป็นพระอรหันตสาวกในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด
ได้ทรงสร้างบารมีเพิ่มเติมเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้นต่อมาอีก ๔ อสงไขยกับหนึ่งแสนมหากัป (๑ มหากัป เท่ากับเวลาตั้งแต่จักรวาลถูกทำลายและตั้งขึ้นจนถูกทำลายอีกครั้ง หรือเทียบ๒๕๖ อันตรกัป) จึงทรงสามารถตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้บรรลุมรรคผลนิพพานตามเป็นจำนวนมาก
ในพระชาติสุดท้ายก่อนชาติตรัสรู้ทรงเป็นเทพบุตรชื่อสันดุสิต เหล่าเทพยดา
ทั้งหลายทูลเชิญให้เสด็จจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงมาเกิดในตระกูลกษัตริย์ นี้เป็นหลัก
ธรรมดาของพระโพธิสัตว์ที่มีบารมีเต็มเปี่ยม จะทรงเลือกเกิดในตระกูลที่มนุษย์ยุคนั้น
นิยมกันว่าสูงสุด
ถ้ายุคใดประชาชนนิยมยกย่องพราหมณ์เป็นวรรณะเลิศพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดในตระกูลพราหมณ์ แต่ในยุคพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ประชาชนนิยมตระกูลกษัตริย์ พระองค์จึงทรงเลือกเกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์ ที่นครกบิลพัสดุ์แคว้นสักกะ ในประเทศอินเดียสมัยนี้
ต้นราชวงศ์ศากยะคือ พระเจ้าโอกกากราช มีพระราชบุตร ๔ พระองค์ พระราชบุตรี ๕ พระองค์ กับพระมเหสีที่เป็นราชภคินี(น้องสาว) ของพระองค์ เมื่อพระมเหสีทิวงคต ทรงมีพระมเหสีใหม่ มีพระราชบุตรใหม่อีกพระองค์หนึ่ง พระเจ้าโอกกากราชทรงพลังประทานพรแก่พระมเหสีใหม่ว่า ต้องการสิ่งใด จะประทานให้ พระนางทูลขอราชสมบัติให้พระโอรสของตน
พระเจ้าโอกกากราชจึงทรงให้พระราชโอรสและพระราชธิดาเดิมออกจากเมืองไปตั้งพระนครกันขึ้นเอง พระเชฏฐภคินี (พี่สาวคนโต) เสกสมรสกับพระเจ้ากรุงเทวทหะตั้งเป็นกษัตริย์โกลิยวงศ์
ส่วนพี่น้องที่เหลือ ๘ พระองค์ ทรงจับคู่กันเองตั้งเมืองขึ้นในดงไม้สักกะ เขตหิมพานต์ในที่อยู่ของพระฤาษีกบิลดาบส ขนานนามว่า กบิลพัสดุ ตามชื่อของฤาษี เป็นกษัตริย์วงศ์ศากยะ
พระนครกบิลพัสดุ์ มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาช้านาน กระทั่งถึงพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระนางสิริมหามายา (ลูกของอาผู้หญิง) เป็นพระชายา ทั้งสองพระองค์ทรงให้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา)
คืนวันที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ถือกำเนิดในพระครรภ์พระราชมารดานั้น พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิตว่า พระนางเสด็จไปที่ป่าหิมพานต์ มีช้างเผือกขาวผ่องเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูง ชูงวงที่มีดอกบัวสีขาวส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจร นำมาถวายให้แล้วเดินเวียนทำความเคารพครบสามรอบแล้วจากไป โหราจารย์ประจำราชสำนักทำนายว่า พระนางจะทรงมีพระราชโอรสผู้ประเสริฐ พระเจ้าสุทโธทนะทรงดีพระทัย พร้อมรับสั่งให้ดูแลพระมเหสีเป็นอย่างดี
พระโพธิสัตว์อยู่ในพระครรภ์ในท่าประทับนั่งสมาธิ มีสติตลอดเวลา ไม่คุดคู้ เหมือนอาการของทารกทั่วไป ทั้งไม่เปรอะเปื้อนด้วยมลทินในครรภ์ พระมารดาทรงแลเห็นได้ถนัด
ครั้นใกล้วันประสูติ เป็นธรรมเนียมของประชาชนในยุคนั้น นิยมกลับไปคลอดลูกที่บ้านเดิมของตน พระนางสิริมหามายาจึงทูลขอพระราชานุญาต แต่พระนางเสด็จไปไม่ถึงนครเทวทหะ มาถึงครึ่งทางที่ป่าลุมพินีวัน ประชวรพระครรภ์ ประทับยืนเหนี่ยวกิ่งสาละ ประสูติพระราชโอรส
พระวรกายของพระโพธิสัตว์บริสุทธิ์สะอาดไม่เปรอะเปื้อนด้วยครรภ์มลทินใดๆ มีเทวดามารองรับในอากาศ มีการกลั่นตัวของไอน้ำเกิดเป็นน้ำร้อนน้ำเย็นผสมเป็นน้ำอุ่นตกลงมาสนานพระองค์ ทรงดำเนินด้วยพระบาทได้เอง ๗ ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับพระบาท ๗ ดอก ทรงหยุดยืนตรัสอาสภิวาจา วาจาองอาจ) ว่า “อคฺโคหมสมิ โลกสุส"เราเป็นอัครบุรุษของโลก หรือ เราเป็นเอกในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก
เวลานั้นเป็นเวลาสายใกล้เที่ยง วันศุกร์ เพ็ญเดือนวิสาขะ เดือน ๖) ปีจอ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี
เรื่องอภินิหารเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องประหลาด สำหรับผู้มีบุญญาบารมีเต็มเปี่ยมแล้วย่อมมีสิ่งที่พิเศษกว่าคนธรรมดา เมื่อประสูติ จึงสามารถเดินได้ทันที ด้วยบุญบารมีที่สะสมมานาน ส่วนเรื่องน้ำร้อนน้ำเย็นที่เกิดขึ้นในอากาศก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อผู้มีบุญขนาดพระโพธิสัตว์บังเกิดขึ้น เทพยดาผู้มีหน้าที่ดูแล ย่อมต้องตามรักษาเป็นธรรมดาไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อแต่ประการใด เพราะขนาดคนธรรมดาอย่างเราๆ เมื่อตั้งใจทำบุญกุศลสั่งสมความดีอยู่เสมอ ยังได้พบเรื่องประหลาดมหัศจรรย์กันอยู่เสมอและเมื่อตรวจดูกันด้วยอำนาจสมาธิจิต มักพบว่า คนที่หมั่นประกอบคุณงามความดีนั้นมักมีเทวดาประเภทหนึ่งคอยติดตามช่วยเหลือ เพราะเทวดาประเภทนี้อยู่ในเทวภูมิ มีโอกาสสร้างบุญกุศลเพิ่ม
ได้ยาก เมื่อได้คอยช่วยเหลือมนุษย์ที่กระทำความดี ก็ได้พลอยอนุโมทนาในความดีที่มนุษย์เหล่านั้นกระทำอยู่ เทวดาเหล่านั้นก็ได้บุญเพิ่มขึ้นทุกครั้งไป
พระรูปกายของพระโพธิสัตว์เมื่อประสูติออกมานั้นงดงามไม่มีที่ติ มีลักษณะมหาบุรุษครบทั้ง ๓๒ ประการ ตามตำราทำนายลักษณะของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีสอนกันไว้ในเวลานั้น ว่าใครที่มีลักษณะอย่างนี้ ถ้ามีชีวิตครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ยิ่งใหญ่ปกครองแผ่นดินกว้างขวาง มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตทุกทิศ ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระศาสดาเอกในโลก
ที่เชิงเขาหิมพานต์มีฤๅษีรูปหนึ่งชื่อ อสิตดาบส หรือกาฬเทวิลดาบส เป็นผู้ที่ราชสกุลคุ้นเคยนับถือ ทราบข่าวการประสูติราชโอรส จึงเข้าไปเยี่ยม เมื่อพระดาบสเห็นลักษณะมหาบุรุษของพระราชโอรส ก็ลุกขึ้นกราบพระบาททั้งสองของพระโอรสด้วยศีรษะของตน กล่าวคำทำนายลักษณะให้ทราบพร้อมทั้งยิ้มแย้มและร้องไห้ไปพร้อมกันโดยอธิบายว่า ท่านยิ้มแย้มเพราะดีใจว่าพระราชโอรสเป็นผู้มีบุญใหญ่ มีคติเป็นสองอย่างอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวแล้ว ที่ร้องไห้เพราะเสียใจว่าตัวท่านชรามากแล้ว ท่านเชื่อว่าพระราชโอรสจะทรงออกผนวช ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมีอายุอยู่ไม่ทันได้ฟังพระธรรมเทศนา
สกุลต่างๆ ที่เป็นเชื้อพระวงศ์เห็นพระดาบสที่พวกตนนับถือ ให้ความเคารพอย่างสูงยิ่ง ต่อพระราชโอรส พร้อมทั้งได้ฟังคำพยากรณ์ ต่างพากันมีจิตใจเลื่อมใสนับถือจึงถวายโอรสของตนสกุลละองค์เป็นบริวารพระราชโอรส ส่วนพระเจ้าสุทโธทนะก็พระราชทานการดูแลบำรุงเลี้ยงเป็นอย่างดี
เมื่อประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้มีการประชุมใหญ่ทั้งพระญาติวงศ์สองฝ่าย ขุนนางผู้ใหญ่ และพราหมณ์ผู้รอบรู้ไตรเวท ๑๐๘ คน เพื่อถวายพระนามพระราชโอรส
ที่ประชุมลงมติขนานพระนามว่า “สิทธัตถกุมาร” แปลว่า กุมารผู้สมหวัง คือทรงต้องการสิ่งใด ย่อมได้หมดทุกสิ่ง แต่สมัยนั้นคนอินเดียนิยมเรียกชื่อตามสกุล จึงเรียกว่าเจ้าชาย 'โคตมะ" ในจํานวนพราหมณ์ทั้งหมด มีอยู่ ๘ คน ชำนาญการพยากรณ์ได้ถวายความเห็นเป็นสองประการดังกล่าวแล้ว ยกเว้นพราหมณ์ชื่อโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นพราหมณ์หนุ่ม มีอายุน้อยที่สุด พยากรณ์เพียงประการเดียวว่าพระราชโอรสจะเสด็จออกผนวชอย่างแน่นอน
พอประสูติพระราชโอรสได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายาก็สิ้นพระชนม์ เรื่องนี้เป็นปกติวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระพุทธมารดาต้องทรงสิ้นพระชนมายุเร็ว เพื่อให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระโอรสองค์เดียว ไม่มีผู้อื่นเกิดร่วมพระครรภ์อีกเป็นอันขาด
พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบพระราชโอรสสิทธัตถกุมารให้พระนางปชาบดีโคตมีพระมาตุฉา(น้า) เลี้ยงต่อมา ซึ่งพระนางทรงเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แม้จะมีพระราชบุตรพระราชบุตรี คือ เจ้าชายนันทะและเจ้าหญิงรูปนันทาในเวลาต่อมา พระนางก็มิได้ทรงเอาพระทัยใส่เท่าเจ้าชายสิทธัตถะ
เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีน้ำพระทัยอ่อนโยนงดงาม ทรงเมตตาต่อผู้คนและสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่เสมอ เมื่อถึงวันวิ่งเล่นได้ เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงพบนกถูกยิงด้วยธนูบาดเจ็บ ทรงนำกลับมารักษา เมื่อหายแล้วจะทรงปล่อยกลับฝูงไปตามเดิม เจ้าชายเทวทัต ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระญาติเสด็จมาทวงคืน อ้างว่าเป็นผู้ยิงนกตัวนั้น นกควรเป็นสิทธิ์ของผู้ยิง เจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงยินยอม มีการฟ้องร้องเอาเรื่องเข้าที่ประชุมเหล่าขุนนาง ได้มีผู้เป็นปราชญ์ตัดสินให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นฝ่ายชนะ โดยใช้หลักตัดสินว่า “ชีวิตควรเป็นสิทธิ์ของผู้ให้ชีวิต ไม่ใช่สิทธิ์ของผู้ทำลาย”
และเนื่องจากมีคำพยากรณ์ตั้งแต่แรกประสูติว่า ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะ จะเป็นได้สองทาง พระเจ้าสุทโธทนะทรงปรารถนาให้พระราชโอรสเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่มากกว่าออกผนวช จึงทรงเลี้ยงดูอย่างดีเลิศ เช่นพอมีพระชนม์ได้ ๗ พรรษาทรงให้ขุดสระใหญ่ถึง ๓ สระ ปลูกบัวนานาพรรณสวยงามให้เป็นที่เล่นเบิกบานพระทัย มีเครื่องทรงอย่างดี ใช้ผ้าจากแคว้นกาสีอันมีชื่อเสียงที่สุดเวลานั้น ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคล้วนแต่ดีเยี่ยม มีผู้คนคอยเอาใจใส่ดูแลให้พบแต่ความสุขสำราญพระทัยตลอดเวลา
แต่ด้วยพระบารมีที่มีอยู่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว แม้จะทรงสุขสบายเพียงใด เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงมีพระปัญญาสูงส่งผิดปกติเด็กธรรมดา เช่นครั้งหนึ่งพระราชบิดาเสด็จไปทำพิธีแรกนาขวัญ ทรงนำเจ้าชายไปในพิธีด้วย บรรดาเหล่าพี่เลี้ยงได้จัดที่ประทับให้อยู่ใต้ต้นชมพูพฤกษ์(ต้นหว้า) แล้วต่างก็พากันไปดูพิธี ทิ้งเจ้าชายไว้ตามลำพัง
พระองค์ทรงทอดพระเนตรสิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้ว ไม่ทรงเบิกบานสนุกสนานไปตามพระราชพิธีหรือผู้คนที่พากันมาชมงานแต่กลับทรงมองเห็นความทุกข์ยากของสิ่งต่างๆเห็นชาวนาใช้ควายลากคันไถท่ามกลางแสงแดดร้อนระอุ เหนื่อยยากทั้งคนทั้งสัตว์ การทำมาหากินเป็นของลำบากนัก มองไปในอากาศ เห็นนกเหยี่ยวโฉบไล่จับนกเล็กเป็นอาหารนกเล็กก็บินไล่จับแมลงกินอีกทอดหนึ่ง มองไปในน้ำ ปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็ก ในโลกเต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดมีการฆ่าและเบียดเบียนกันอยู่ตลอดเวลาเพียงเพื่อการยังชีพของตนเอง
ทอดพระเนตรด้วยพระปรีชาดังนี้แล้ว ทรงรู้สึกสลดสังเวช พระหทัยก็หยุดนิ่ง รวมอยู่ในอารมณ์เดียว เป็นฌานจิตขึ้นมา ด้วยทรงมีความชำนาญเรื่องการบำเพ็ญภาวนามาในชาติปางก่อนอยู่แล้ว จึงทรงกระทำเองได้โดยไม่มีผู้ใดสอน
ขณะนั้นมีฤๅษี ๕ ตน เหาะผ่านมาในอากาศ มาถึงต้นหว้าก็พากันเหาะต่อไปไม่ได้มองลงมาเห็นพระมหาบุรุษประทับนั่งเข้าสมาธิได้ปฐมฌานอยู่ พระวรกายงดงามเปล่งปลั่งดังมีพระรัศมี จึงพากันถวายนมัสการ สรรเสริญพระคุณแล้วจึงเหาะต่อไปได้
ด้วยกระแสพลังจิตอันเป็นสมาธิแน่วแน่นั้น ทำให้เกิดการหักเหของลำแสงแม้ดวงอาทิตย์จะโคจรเป็นเวลาบ่ายแล้วก็ตาม เงาของต้นหว้าไม่เคลื่อนย้ายไปตามเหมือนเงาของต้นไม้อื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน คงกั้นเป็นประดุจร่มคันใหญ่ให้เงาแก่เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นอัศจรรย์
เหล่าพี่เลี้ยงนึกได้ว่าทิ้งเจ้าชายไว้ตามลำพัง รีบกลับมาดู เห็นเหตุอัศจรรย์พระโพธิสัตว์ประทับนิ่งอยู่ในฌาน เงาต้นหว้าไม่เคลื่อนที่ตามดวงอาทิตย์ คงบังร่มอยู่ดังครั้งแรก ต่างคนต่างพิศวงงงงวย นำความกราบทูลพระราชบิดา พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จมาทรงถวายบังคมพระราชโอรสเป็นครั้งที่ ๒ เป็นพระเกียรติยศสืบต่อมาทุกวันนี้
ต่อจากนั้นเมื่อเจริญพระชนม์พอสมควร พระราชบิดาทรงให้เล่าเรียนศิลปวิทยาจากสำนักของท่านราชครูวิศวามิตร อันเป็นอาจารย์ที่มีความรู้และมีชื่อเสียงที่สุด ทรงเรียนทั้งอักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ รัฐศาสตร์ โหราศาสตร์ยุทธศาสตร์ศิลปศาสตร์ ฯลฯ ทุกวิชาที่มีในยุคนั้น อาจารย์จะสอนสิ่งใด พระราชกุมารทรงสามารถเรียนรู้ได้หมดอย่างรวดเร็ว จนสิ้นความรู้ของเหล่าอาจารย์
แม้จะทรงมีความรู้ความสามารถเป็นเยี่ยมเหนือผู้อื่น แต่พระราชโอรสสิทธัตถะทรงเปี่ยมไปด้วยน้ำพระทัยเมตตาอยู่เป็นนิจ จึงมิได้วางพระองค์ข่มผู้ใด เป็นที่รักใคร่ของพระสหายและพระประยูรญาติทั้งหมด
เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาโปรดให้สร้างปราสาทสวยงาม ๓ หลังประจำฤดูกาล เป็นที่ประทับสำราญพระทัยตลอดปี แต่ละหลังป้องกันความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ ไม่ให้พระโอรสลำบากพระวรกาย
พระราชบิดาทรงต้องการให้พระราชกุมารมีความสุขในการมีคู่ครอง จึงจัดของขวัญต่างๆ ให้เจ้าชายประทานแก่บรรดาเจ้าหญิงในราชสกุลทั้งปวงที่เชิญมาร่วมงานและให้ขุนนางคนสนิทเฝ้าสังเกตดูพระอาการ ว่าจะทรงพอพระทัยในราชธิดาสกุลใด
เจ้าหญิงทั้งหลายเมื่ออยู่เบื้องหน้าพระพักตร์พระราชโอรสผู้งามสง่าหาที่ติมิได้ต่างก็พากันประหม่าเก้อเขิน เจ้าชายเองไม่ทรงสนพระทัยทอดพระเนตรพระพักตร์ของผู้ใดเลย คงประทานของขวัญให้ตามประเพณี กระทั่งสิ่งของเหล่านั้นหมดลง ขณะนั้นเองเจ้าหญิงยโสธรา(พิมพา) เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ (พระเชษฐาของพระนางสิริมหามายา) และพระนางอมิตา ซึ่งเป็นพระราชกนิฏฐภคินี(น้องสาว) ของพระเจ้าสุทโธทนะ เพิ่งเสด็จมาถึง เจ้าหญิงทรงมีพระสิริโฉมงดงามมาก มีคุณสมบัติเป็นนางกัลยาณี ไม่ทรงมีพระอาการเก้อเขินแต่ประการใด ทูลขอของรางวัล เจ้าชายสิทธัตถะทรงเงยพระพักตร์ทอดพระเนตร เมื่อทรงเห็นของรางวัลหมด จึงทรงถอดสร้อยสังวาลของพระองค์เองซึ่งเป็นของมีค่ากว่ารางวัลอื่นๆ ทั้งหมดประทานแก่เจ้าหญิง
ขุนนางที่เฝ้าสังเกตเหตุการณ์อยู่ นำความกราบบังคมทูลพระเจ้าสุทโธทนะพระองค์ตรัสขอเจ้าหญิงเพื่อเป็นคู่อภิเษกของเจ้าชายสิทธัตถะ
พระญาติวงศ์เห็นสมควรให้มีการประลองกำลังให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความสามารถของเจ้าชาย อีกทั้งเจ้าหญิงยโสธราเองก็มีเจ้าชายในสกุลต่างๆ หมายปองอยู่
พระมหาบุรุษของเราทรงชนะการประลองทุกชนิด กระทั่งยกศรโบราณที่มีน้ำหนักมาก ต้องใช้คนถึงพันคนจึงจะยกขึ้น พระองค์ก็ทรงยกได้คล่องแคล่วดังสตรียกกิ่งไม้ดีดฝ้าย ทรงลองเสียงศรดังทั่วนครกบิลพัสดุ์ ทรงยิงไปทะลุขนหางจามรีขาดออกเป็นสองท่อนเท่ากัน ซึ่งวางห่างออกไปถึง ๑ โยชน์ เป็นอัศจรรย์
เหล่าพระญาติทั้งสองฝ่ายจึงจัดพิธีอภิเษกสมรสทั้งสองพระองค์ ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษาเท่านั้น
พระนางยโสธรา(พิมพา) ทรงเป็นสิ่งหนึ่งในบรรดาสหชาติ(เกิดคู่บุญพร้อมกัน) ของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งมีทั้งหมด ๗ อย่าง อีก ๖ อย่างที่เหลือคือ พระอานนท์ กาฬุทายีอำมาตย์ นายฉันนะมหาดเล็กผู้ดูแลม้าและรับใช้ใกล้ชิด ม้ากัณฐกะ ต้นพระศรีมหาโพธิ์และขุมทรัพย์ทั้ง ๔
ทั้งสองพระองค์ทรงครองชีวิตต่อมาอย่างเปี่ยมล้นด้วยความสุขที่พระราชบิดาพระราชทาน เพื่อให้พระราชโอรสเพลิดเพลินในความสุขตามโลกียวิสัย ไม่ทรงคิดเรื่องออกผนวช จนพระชนมายุล่วงเข้า ๒๙ พรรษา วันหนึ่งทรงมีโอกาสเสด็จประพาสอุทยานตามลำพังพระองค์กับนายฉันนะมหาดเล็ก ได้ทอดพระเนตรความเป็นไปที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งขณะประทับอยู่ในพระราชวังไม่มีโอกาสได้พบใกล้ชิด อีกทั้งพระราชบิดาก็ทรงกีดกันไม่ให้ได้ทอดพระเนตร เกรงจะคิดเบื่อหน่ายในโลกียสุข
สิ่งที่ทอดพระเนตรเห็นในคราวนั้น เรียกกันว่าเทวทูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บคนตาย และสมณะ คนแก่มีผมหงอก ร่างกายคดงอ หมดกำาลัง เวลาเดินกายง้อมเงื้อมไปเบื้องหน้า คอยแต่ชวนเซถลา ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันก็ยังงกเงิ่น สั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งกาย
คนเจ็บ นอนร้องครวญครางโอดโอยโหยหวนด้วยทุกขเวทนาแรงกล้า หน้าตาบิดเบี้ยวเพราะเจ็บปวด กระสับกระส่ายไปทั่วสรรพางค์กาย อยู่นิ่งไม่ได้เลยแม้แต่น้อยแถกไถคลุกฝุ่นไปทั่ว ไม่กลัวเปื้อน
คนตาย นอนนิ่งไม่ไหวติง ญาติพี่น้องร้องไห้เศร้าโศก พากันหามแคร่นำศพไปเผาที่เชิงตะกอน ถ้าให้ศพนอนชักช้า ก็จะเน่าเหม็นเป็นที่อุจาดตา
สมณะ เป็นผู้ออกจากเรือน กิริยาอาการสงบสำรวม ทำความเพียรทางจิตเพ่งพินิจอยู่เพื่อจะหาทางสงบ ออกจากทุกข์ทั้งปวง
เมื่อทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ๓ อย่างข้างต้น ทรงสลดพระทัยในความทุกข์ของสรรพสัตว์เป็นที่สุด ระลึกได้ว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดกับชีวิตทุกชีวิต แม้แต่พระองค์เองก็เป็นเช่นนั้น อีกทั้งพระญาติวงศ์ทุกพระองค์และประชาชนทั่วหน้าไม่มีเว้น ไม่น่าที่พระองค์จะทรงหลงระเริงอยู่ในความสุขจอมปลอมที่กำลังได้รับอยู่นั้นเลย ควรแสวงหาทางดับทุกข์เหล่านี้ให้พระองค์เอง และช่วยสรรพสัตว์อื่นถ้วนหน้า จึงเป็นการสมควร
ครั้งทรงเห็นเทวทูตที่ ๔ คือ อาการของผู้เป็นนักบวช ใบหน้าที่สงบสำรวมเรียบร้อย เหมือนใบหน้าของผู้ค้นพบสุขแท้จริงไม่ใช่สุขปลอม จึงทรงพอพระทัยในเพศสมณะเป็นอย่างยิ่ง
ทรงเปล่งวาจาอุทานว่า “สาธุ โข ปัพพัชชา” แปลว่า การบวชนี้ดีนักแล และตัดสินพระทัยแน่วแน่เด็ดเดี่ยวในขณะนั้นเองว่า พระองค์จะต้องทรงผนวชบ้างให้ได้
เวลาที่ทรงคิดเรื่องการออกผนวชอยู่นั้นเอง พระราชบิดาทรงส่งคนมากราบทูลว่าพระนางพิมพายโสธราประสูติพระโอรสแล้ว
ความรู้สึกรักลูกในฐานะเป็นบิดาเกิดท่วมท้นขึ้นในพระหฤทัย เป็นความรักที่ไม่เคยเกิดดังนี้มาก่อน รู้สึกผูกพันหนักหน่วงห่วงใย จนต้องทรงออกอุทานว่า
“พันธะนัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง” แปลว่า เครื่องผูกเกิดขึ้นแล้ว ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว คำอุทานว่า “ราหุลัง” นี้เองได้เป็นพระนามของพระโอรสที่เพิ่งประสูติของพระองค์ว่า เจ้าชายราหุล
ขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับพระราชวัง ทรงดำเนินผ่านพระบัญชรของพระตำหนักแห่งหนึ่ง พระญาติสาวชื่อกิสาโคตมี ยืนเยี่ยมพระบัญชรเห็นพระองค์แล้วกล่าวชมเป็นความว่า
“ผู้ใดได้เป็นพระราชมารดา ผู้ใดได้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้นั้นจะมีความสุข ดับทุกข์เข็ญ สตรีใดได้เป็นพระชายา สตรีนั้นก็จะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ”(ภาษาสมัยนั้น คำว่าดับทุกข์ใช้คําว่า นิพพาน)
คําว่า “นิพพาน” แปลว่า ดับ ในคํากล่าวนั้น เจ้าชายทรงประทับพระหฤทัยมากเพราะทรงคิดเรื่องนิพพาน ดับทุกข์ตรงกันพอดี จึงทรงถอดสร้อยสังวาลจากพระศอให้มหาดเล็กนำไปมอบให้นางกีสาโคตมี ที่เปล่งคำพูดชมเชยได้ถูกพระทัย เท่ากับเป็นการย้ำความคิดในการออกแสวงหาทางดับทุกข์ให้แน่วแน่ยิ่งขึ้น ด้วยความดับทุกข์มิใช่เป็นเพียงแค่รูปร่างหน้าตาที่สง่างาม จิตใจที่มีคุณธรรมเมตตากรุณาเท่านั้น จะต้องมีการปฏิบัติที่ลึกซึ้งอย่างอื่น จึงจะเอาชนะความแก่ ความเจ็บ ความตาย และทุกข์อื่นๆ ที่ทรงพบอยู่
เจ้าชายสิทธัตถะทรงดำริเรื่องการออกบวชดังนี้แล้ว ก็ทรงใคร่ครวญต่อไปว่า หากพระองค์ทรงขออนุญาตจากพระราชบิดา คงไม่ได้รับพระราชานุญาตแน่นอน รวมทั้งพระญาติวงศ์ทั้งหลายคงจะพากันขัดขวางทั้งหมด คงหมดโอกาส แต่ถ้าจะให้การบวชเป็นผลสำเร็จ จำเป็นต้องหนีไปโดยไม่ให้ใครทราบ จึงตัดสินพระทัยจะหนีตอนกลางคืนวันนั้นเอง ตรัสให้นายฉันนะไปเตรียมม้ากัณฐกะให้พร้อมไว้
ครั้นแล้วเจ้าชายเสด็จไปห้องบรรทมของพระชายาและพระโอรส ทอดพระเนตรเห็นพระนางยโสธราและพระโอรสกำลังหลับสนิททั้งคู่ ความเสน่หาในพระโอรสเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ใครจะทรงอุ้มขึ้นเชยชม ก็ทรงเกรงจะพากันตื่นบรรทมทั้ง ๒ องค์
ทอดพระเนตรดวงพักตร์น้อยๆ แล้วทรงคิดถึงว่า ผู้เป็นที่รักอย่างยิ่งของพระองค์ที่เพิ่งประสูติออกมานี้ ต้องเกิดมาเพื่อจะพบความทุกข์ต่างๆ ในโลกเช่นเดียวกันอีก ก็ทรงสะท้อนพระหฤทัยยิ่งขึ้น ทรงเหลียวพระพักตร์ไปทางนางกำนัลทั้งหลายที่นอนหลับใหลในท่าทางพิกลพิการต่างๆ บ้างก็กรนเสียงดังครืดคราด บ้างก็อ้าปากน้ำลายไหลยืด ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย ไม่มีการสำรวม ราวซากศพอาการต่างๆ
ทรงรู้สึกพระองค์เหมือนประทับยืนอยู่ท่ามกลางป่าช้า ที่มีซากศพเกลื่อนกลาดอนาถพระทัย นี่เป็นอาการของคนหลับแท้จริง ขาดสติสิ้นเชิง ทรงคำนึงถึงคนทั้งหมดทั่วไปในโลก แม้จะตื่นอยู่ก็มีอาการขาดสติเหมือนคนนอนหลับทำนองเดียวกัน ไม่มีสติคิดได้ว่า แท้ที่จริงแล้วชีวิตของทุกคนแวดล้อมด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น ไม่มีใครมีปัญญาคิดดิ้นรนหาทางดับทุกข์เลย ปล่อยชีวิตให้หมดไปวันหนึ่งๆ ให้แก่ เจ็บแล้วก็ตายไปเปล่าเสียเวลา ไม่ทำชีวิตให้เป็นแก่นสารหาประโยชน์อันใดไม่ได้ น่าสังเวชใจ เหมือนเกิดมาเปล่าตายไปเปล่า ราวกับสัตว์เดรัจฉานเหมือนๆ กัน ใช้ชีวิตเพียงเพื่อทำมาหากิน และมัวเมาในความสุขอันไม่จีรังยั่งยืน
ตั้งพระทัยแน่วแน่ยิ่งขึ้นที่จะแสวงหาหนทางดับทุกข์ให้ได้ เมื่อได้พบแล้วไม่ใช่เป็นประโยชน์เฉพาะพระองค์เอง แต่จะต้องทรงนำมาให้เป็นประโยชน์ต่อผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์และมหาชนทั้งปวงให้จงได้ อีกประการหนึ่งหากแม้นพระองค์จะทรงอยู่ทำนุบำรุงพระโอรสต่อไป พระองค์ก็คงต้องทรงเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระราชบิดาเจ้าชายพระองค์น้อยนี้ก็ต้องเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระองค์ วนเวียนอยู่ในความทุกข์เดิมคือ แก่ เจ็บ แล้วก็ตาย ยังต้องรับภาระปกครองดูแลทุกข์ยากของเหล่าพสกนิกรไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ถ้าพระองค์ทรงทิ้งไปในเวลานี้ พระโอรสไม่ทรงลำบากประการใด มีพระมารดาและพระญาติผู้ใหญ่ทรงดูแลได้เป็นอย่างดี แม้พระองค์จะแสวงหาทางดับทุกข์ไม่สำเร็จพระโอรสก็ยังมีสิทธิ์ในพระเศวตฉัตรเป็นกษัตริย์ต่อไปในภายหน้า แต่ถ้าแสวงหาสำเร็จมหาชนทั้งปวงไม่ว่าชาติใดภาษาใด จะพลอยได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด การเป็นพระธรรมราชาพาผู้คนให้พ้นทุกข์ย่อมประเสริฐกว่าการเป็นพระราชาปกครองแผ่นดินเป็นบางส่วน ช่วยทุกข์แท้จริงให้ประชาชนไม่ได้ แม้แค่เพียงให้มีอาหารการกินที่สมบูรณ์
ตัดพระทัยเด็ดขาดดังนี้แล้ว ทรงหันพระวรกายเสด็จออกจากปราสาทไปยังที่นายฉันนะเตรียมม้าไว้ ม้ากัณฐกะเป็นม้าสหชาติ เกิดวันเดียวกับพระราชโอรสสิทธัตถะเป็นม้าคู่บุญ รูปร่างสง่างาม กายสีขาวประดุจสังข์ขัดใหม่ ศีรษะดำดุจสีกา มีพละกำลังมาก รู้ภาษาและกิริยาอาการของคน
เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะด้วยพระเมตตาม้าดีใจและรู้ว่าพระองค์จะทรงขี่ ก็ให้เบิกบานใจ เปล่งเสียงร้องดังกึกก้องพระราชวัง
เจ้าชายเสด็จขึ้นหลังม้า บ่ายพระพักตร์ไปทางประตูเมือง นายฉันนะตามเสด็จโดยใกล้ชิด
วันนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ เดือน ๘ พระจันทร์เต็มดวงแจ่มฟ้า ปราศจากเมฆหมอกแสงจันทร์ส่องนวลสว่างไปทั่วแผ่นฟ้าและพื้นดิน อากาศปลอดโปร่ง ลมรำเพยพัดอ่อนๆเย็นสบาย
ขณะม้าพระที่นั่งผ่านประตูเมือง คล้ายมีเสียงดนตรีดังขึ้นพร้อมกับมีเสียงทูลห้าม“ช้าก่อน พระราชโอรส อย่าเพิ่งออกบรรพชา โปรดงดก่อน อีก ๗ วันข้างหน้า จักรแก้วจะเกิดขึ้นเป็นสมบัติของพระองค์ จะทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ครองอำนาจยิ่งใหญ่”
เมื่อตรัสถามว่า ใครเป็นผู้มาห้ามเรา มีเสียงตอบว่า วสวัตดีมาร เจ้าชายตรัสว่า“เรื่องจักรแก้ว เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราชนั้น เราทราบแล้วว่าเราจะได้เป็น แต่เราไม่สนใจเลย เราต้องการสัพพัญญุตญาณ ความรู้อันยิ่งใหญ่ ดับทุกข์ได้ สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าต่างหาก ท่านจงหลีกไปเสีย”
วสวัตตีมารทูลห้ามไม่ได้ก็หลีกไป วสวัตดีมารเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ อยู่สวรรค์ชั้นที่ ๖ เห็นว่าการกำาเนิดอยู่ในสุคติภพเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ไม่จําเป็นต้องทำตนให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
เสด็จถึงริมฝั่งน้ำอโนมานที ตรงพรมแดนของนครทั้งสามบรรจบกัน คือ กบิลพัสดุสาวัตถี และไพสาลี ริมฝั่งเป็นเนินดิน น้ำใสสะอาด ทรงพากันข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง มีหาดทรายขาวสะอาดดุจแผ่นดินเงินท่ามกลางแสงจันทร์ ทรงถอดเครื่องประดับออกพระหัตถ์ขวาทรงจับพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงจับมวยพระเกศาแล้วทรงตัดพระทัยเป็นเด็ดขาดตัดพระเกศาทิ้งเสีย ณ บัดนั้น พลันปลายเส้นพระเกศาที่เหลือบนพระเศียรก็ม้วนตัวเป็นทักษิณาวัตร แนบพระเศียรตลอด ไม่ยาวขึ้นอีกเลยตลอดมา
การปลงพระเกศาของพระองค์เป็นนิมิตหมายของการไม่คืนหลังกลับเสวยสุขในราชสมบัติอีกแล้วอย่างสิ้นเชิง สมัยนั้นลัทธิพราหมณ์ถือเรื่องการไว้ผมยาว แล้วเกล้าเป็นมวยไว้บนกระหม่อม ถ้าใครตัดหรือโกน จะเป็นที่ดูหมิ่นของคนทั้งหลายถือว่าเป็นคนจัญไร หรือเป็นพวกนักบวชนอกลัทธิไปเสีย
ขณะนั้นพระพรหมนำพานมารองรับพระเกศาไว้และถวายผ้ากาสาวพัสตร์และบาตร เจ้าชายทรงเปลื้องพระภูษาอย่างราชโอรสออก ครองผ้ากาสาวะแทน รับสั่งให้นายฉันนะนำเครื่องทรงทั้งสิ้น พร้อมม้ากัณฐกะกลับกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงปลอบทั้งม้าและคนไม่ให้เสียใจอาลัยถึงพระองค์ ให้พากันกลับนคร (ผ้ากาสาวะ เป็นผ้าสำหรับนักบวชใช้ย้อมด้วยน้ำแช่เปลือกไม้สีเหลืองหม่น มีรสฝาด เช่นไม้แก่นขนุน)
นายฉันนะหอบเครื่องทรงจูงม้ากัณฐกะข้ามน้ำกลับด้วยน้ำตาอาบหน้าทั้งม้าและคนความเศร้าโศกที่ต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นคนเช่นนายฉันนะยังพอทนได้ แต่สัตว์ดิรัจฉานอย่างม้ากัณฐกะทนไม่ได้ พอข้ามพ้นฝั่งมองไม่เห็นผู้เป็นนายซึ่งประทับอยู่ฝั่งโน้นอีกแล้ว หัวใจของม้าก็แตกสลาย สิ้นชีวิตลงริมฝั่งน้ำนั่นเอง นายฉันนะเศร้าโศกเป็นทวีคูณ สิ้นทั้งเจ้านายและสัตว์แสนรู้ที่เคยอยู่ด้วยกันมา เพราะเกิดเป็นสหชาติ นานเท่าพระชนมายุของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ๒๙ ปี ต่อจากนี้ไม่ได้พบเห็นทั้งสองชีวิตฝังศพมาแล้วเดินเซซังร้องไห้กลับพระนครตามลำพังผู้เดียว กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ
ในพระราชวังทราบข่าวกันแล้ว ต่างเศร้าโศกแทบขาดใจไปทั่วหน้า แต่พระราชามิได้ทรงให้ผู้ใดออกติดตามเพื่อทูลเชิญกลับเพราะทรงตระหนักในพระทัยว่า พระราชโอรสทรงตัดพระเกศาแล้ว หมายถึงการตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาด ทั้งยังเสด็จออกจากแว่นแคว้นเข้าไปในเขตของพระนครอื่น ย่อมไม่สะดวกในการติดตาม ทรงมีความหวังเพียงประการเดียวคือการรอคอย เมื่อคอยให้เสด็จกลับไม่ได้ ก็คอยสดับตรับฟังข่าวคราวก็ยังดี
เชิงอรรถ อ้างอิง
1 ในจักรวรรดิสูตร ที.ปาฏิ. กล่าวถึงตอนกัปเจริญขึ้นอายุมนุษย์จาก ๑๐ ปี เจริญขึ้นทีละหนึ่งเท่าตัวจนอายุได้ ๘ หมื่นปี พระศรีอริยเมตรไตรย จึงเสด็จอุบัติ แต่ในอรรถกถา กล่าวอธิบายไว้ว่า เป็นช่วงอายุไขลงจากอสงไขยปีลดลงเหลือ ๘ หมื่นปี พระศรีอริยเมตรไตรยจึงเสด็จอุบัติ
2 ชินกาลมาลีปกรณ์ ฉบับแปล หน้า ๔