ยิ่งหยุด ยิ่งเร็ว ยิ่งสว่าง
ให้หมั่นสังเกต ปรับใจทุกรอบ ทุกวัน เพื่อให้เข้าไปสู่จุดแห่งความพอดี ความพอดีจะทำให้เรามีความรู้สึกพึงพอใจกับอารมณ์นั้น แล้วเราจะอยู่กับอารมณ์นั้นได้นานโดยไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีความรู้สึกว่าเราพยายามที่จะนั่งสมาธิ แต่สมาธิจะเกิดขึ้นเองเมื่อใจเราสบาย วางใจพอดี ๆ
ให้รักศูนย์กลางกายยิ่งกว่าชีวิต เพราะศูนย์กลางกายจะเป็นทางผ่านไปถึงผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หมั่นตรึกนึกถึงศูนย์กลางกายทั้งวัน แต่ให้นึกอย่างสบาย ๆ อย่าไปตั้งใจจรด หรือนึกมากเกินไปนึกเบา ๆ สบาย ๆ เพลิน ๆ ให้ใจคลอเคลียอยู่ตรงนั้นที่ศูนย์กลางกาย พอใจอยู่ที่กลางกายจนคุ้นเคย ไม่ช้า...ใจก็จะหยุด ใจอยู่ที่กลางกายก่อนไม่ช้าใจจะหยุด
พอใจหยุด เดี๋ยวแสงสว่างก็เกิดขึ้น ดวงธรรมเกิดขึ้น ยิ่งหยุดเท่าไรก็ยิ่งเร็ว ยิ่งหยุดยิ่งเร็ว ยิ่งหยุดยิ่งสว่าง ยิ่งหยุดยิ่งชัด ยิ่งใสยิ่งสว่าง ยิ่งเข้ากลางคล่อง ยิ่งไปถึงที่หมายอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่าต้องหยุดอย่างสบายๆ อารมณ์สบายเป็นหัวใจของการเข้าถึงธรรม ถ้าใครปฏิบัติแล้วมีความรู้สึกว่า ยังมึน ยังซึม ยังตื้อ ยังตึง ยังลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง อย่าปล่อยให้มันผ่านไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดความคุ้นเคย พอเคยชินแล้วนั่งหลับตาก็ยิ่งเสียแล้วเพราะคุ้นเคยอย่างนั้นไม่เอา ให้รีบแก้ไขกันนะ
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่มที่ ๖