ให้คุ้นเคยกับศูนย์กลางกาย....อยู่ตรงนี้ให้ดีที่สุด
หลวงพ่อต้องคอยเตือนด้วยถ้อยคำเดิม ๆ โดยมีวัตถุประสงค์อยากให้ลูก ๆ ทุกคนมีประสบการณ์ที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราจะได้เรียนวิชชาธรรมกายไปด้วยกัน แต่หลวงพ่อไม่ได้กำหนดเวลาว่าเราจะต้องให้ได้เดี๋ยวนี้ คือถ้าได้เดี๋ยวนี้ก็ดี แต่หลวงพ่อรู้ว่าลูก ๆ ทุกคนเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่เทวดา ดังนั้นคนธรรมดาประสบการณ์ต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ พัฒนา ต้องอาศัยเวลา เพราะฉะนั้นเราต้องให้โอกาสแก่ตัวเราเอง
ให้ใจเราคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายจนกระทั่งศูนย์กลางกายยอมรับว่า “เราไม่ใช่แขกแปลกหน้า” เหมือนเราไปนอนที่บ้านคนนั้นคนนี้นอนในห้องใหม่ ๆ จะทำให้นอนไม่ค่อยหลับ เราจะรู้สึกแปลก ๆ ที่เราใช้คำว่า “แปลกที่” นอนไม่ค่อยหลับเพราะเราไม่คุ้นเคย ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็เหมือนกัน เราต้องให้โอกาสตัวเราเอง ให้ใจไปป้วนเปี้ยนอยู่แถว ๆ นั้นบ่อย ๆ ไปหยุดนิ่งให้นาน ๆให้สบาย ๆ หยุดจนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า "อยู่เย็นเป็นสุข" คือใจไปอยู่ตรงนั้นแล้วมันเย็น แล้วเป็นสุขสบาย ถ้าอยู่ตรงไหนแล้วรู้สึกเย็นเป็นสุขก็จะอยู่ตรงนั้นได้นาน ๆ อยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่อยากจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราต้องให้โอกาสตัวเองทำความคุ้นเคยกับศูนย์กลางกาย ไปอยู่ตรงนี้ให้ดีที่สุด
หลวงพ่อให้โอกาสกับลูกทุก ๆ คนที่จะฝึกให้ใจอยู่ตรงนี้ โดยไม่ได้กำหนดเวลา เมื่อหลวงพ่อไม่ได้กำหนดเวลา ก็อย่ากลัวว่าไม่ทันใช้หรือไม่ทันใจหลวงพ่อ ตอนนี้ไม่ต้องกลัวอะไร ให้สบาย ๆแล้วเดี๋ยวเราจะนั่งได้อย่างมีความสุขเลย สมมติว่าช่วงนี้เรายังไม่ถึงจุดนั้นก็ไม่เป็นไร ไม่แปลกอะไร เราก็พยายามฝึกไป ปรับไปสังเกตไป ดูไป ปรับปรุงใจไป เดี๋ยวก็จะถึงจุดที่ถูกใจเรา จุดที่เราสมปรารถนา
พวกที่เขานั่งกันได้ดี แรกๆ ก็เหมือนกัน เขาก็นั่งไม่ค่อยได้ดีมาก่อน แต่ว่าได้ทำอย่างที่หลวงพ่อแนะ จนในที่สุดก็นั่งได้ดี แต่ถึงแม้นั่งได้ดีบางครั้งก็นั่งดีไม่เท่าที่ใจปรารถนาซึ่งก็ต้องปรับกันไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นทุกคนจำไว้เลยนะ “ทำใจให้สบาย ไม่ต้องเกร็งแล้วเราจะมีความสุขในการปฏิบัติธรรม” มีความสุขทุกสถานที่เลย
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่มที่ ๖