ไม่คิด....ไม่อยากได้ คือ สบายในเบื้องต้น
หากใจเรายังไม่หยุดนิ่งแสงสว่างก็ไม่เกิด เมื่อแสงสว่างไม่เกิด ก็ไม่เห็นภาพ เมื่อไม่เห็นภาพก็ไม่รู้แจ้ง เห็นไหมเราจะสังเกตได้ว่า “เราเรียนวิชชาธรรมกาย เรามาแต่ตัว มีกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ไม่ได้แบกตำรับตำราอะไรเลย” ไม่มีการอ่าน ไม่มีการท่อง ไม่มีการจำ มาแต่ตัว มีกายและใจเท่านั้นเป็นอุปกรณ์ เป็นห้องแล็บของเรา ซึ่งก็คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เราแค่ทำหยุดทำนิ่งแค่นั้น เพราะฉะนั้นเมื่อไรที่เราทำตัวของเราให้เหมือนกับหุ่นยนต์ที่ไม่มีมันสมองเมื่อนั้นเราจะประสบความสำเร็จในการศึกษาวิชชาธรรมกาย
เวลาวางใจอยู่ที่ศูนย์กลางกาย จงแค่มองเฉยๆ แต่อย่าใช้สมอง ให้ใช้มอง ไม่ต้องมี “ส.เสือ” ข้างหน้านะ ถ้าใช้สมองระบบความคิดก็จะเข้ามา บางคนแม้แต่ความมืดที่นั่งหลับตาอยู่ยังอดจ้องไม่ได้ว่ามันมีอะไรอยู่ในความมืด ซึ่งก็แปลกดีนะ เพราะนั่นคือเรากำลังเผลอใช้สมองโดยไม่รู้สึกตัว แล้วเปลี่ยนจากการมองเป็นการจ้อง ระบบประสาทจะถูกรวบเข้ามาเป็นจุดเดียวกัน หัวคิ้วเหมือน ติดแม่เหล็กจะวิ่งดึงดูดเข้าหากัน แล้วรอยย่นก็จะเกิดขึ้นที่ระหว่างคิ้วนั่นก็คือสัญลักษณ์ของการใช้สมอง ทำให้เกิดการเพ่ง การจ้อง แล้วก็ไม่เห็นอะไร ก็เห็นมืด ๆ เหมือนเดิมนั่นเอง
ระบบของการคลี่คลายความมืดไปสู่ความสว่างนั้น ต้องเป็นกระบวนการธรรมชาติ เราไม่อาจจะไปบังคับได้ บังคับกาย บังคับใจบังคับประสบการณ์ไม่ได้ เพราะการทำสมาธิ การทำภาวนา คือการอยู่กับตัวเราในจุดที่สบาย เราไม่อยากได้อะไร เราอยากจะอยู่กับตัวของเราเอง นี่คือความสบายในเบื้องต้น
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่มที่ ๖