ไม่ใช้ระบบความคิด...ในการศึกษาวิชชาธรรมกาย
การปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องอย่าลืมว่าเรามีหน้าที่ประกอบเหตุอย่างเดียว เหมือนเอาขันไปตักน้ำรดโคนต้นไม้ทุกวัน ต้นไม้ก็เจริญงอกงามทุกวัน เราบอกไม่ได้ว่าต้นไม้เจริญเติบโตขึ้นวันละสักกี่เซ็นต์หรือกี่นิ้ว แต่เมื่อเราทำอย่างนั้นบ่อย ๆ ทุกวัน เราจะทราบถึงความเจริญเติบโตของต้นไม้ตอนที่ผลิดอกออกผลมาแล้ว อันนี้ก็เช่นเดียวกัน หน้าที่ของเรา คือ ประกอบเหตุให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามทฤษฎี ให้มุ่งตรงนี้นะ
หมั่นทำใจให้หลวม ๆ เหมือนใส่เสื้อหลวม ๆ ใจจะได้ไม่อยู่ในที่แคบอึดอัด ใจหลวม ๆ จะทำให้เราสบาย ทำเล่น ๆ เพลิน ๆ เหมือนเด็กเล่นของเล่น ลดอายุของเราให้เหมือนกับเด็ก ๆ เด็กนี่ไม่ค่อยมีความคิดอะไร มีหน้าที่ทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่แนะนำ
การฝึกสมาธิก็เช่นเดียวกัน ทฤษฎีวางเอาไว้อย่างไร เราก็ทำไปตามนั้น หรืออีกประการหนึ่งทำตัวคล้าย ๆ กับหุ่นยนต์ ที่มีหุ่นแต่ไม่มีมันสมอง เมื่อไม่มีมันสมองมันก็คิดไม่ได้ การคิดไม่ได้นี้แหละที่จะนำเราเข้าไปสู่ประสบการณ์ที่สมบูรณ์ เพราะการเรียนวิชชาธรรมกายจะแตกต่างจากทางโลก ทางโลกจะเรียนรู้อะไรต้องใช้ระบบของความคิด แต่ทางธรรมใช้ระบบของความไม่คิด
เมื่อไม่ใช้ระบบของความคิด ก็ให้ใช้ระบบของการหยุด ให้หยุดนิ่งถูกส่วนแล้วแสงสว่างจึงเกิด พอแสงสว่างเกิดก็จะเห็นประสบการณ์ภายใน ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้งจะเกิดขึ้น แต่ถ้าหากเราใช้ระบบของความคิดเข้ามาในการศึกษาวิชชาธรรมกาย ผลก็คือความฟุ้งซ่านกับใจที่ไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นขอให้ลูกทุกคนทำให้ถูกหลักวิชชากันนะ
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่มที่ ๖