กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่อรูปพรหมภูมิ

วันที่ 22 กย. พ.ศ.2566

BL-22-9-66.jpg

๔.๔ กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่อรูปพรหมภูมิ

                     กรรมที่เป็นเหตุให้ไปเกิดในอรูปพรหมภูมิ เรียกว่า อรูปาวจรกุศลกรรม ซึ่งเป็นกุศลกรรมที่กระทำได้ แต่ทางมโนทวารทางเดียว คือเป็นบุญที่สำเร็จด้วยภาวนามัยในเรื่องการบำเพ็ญอรูปาวจรกุศลกรรมนี้ มีความเห็นแบ่งออกเป็น ๒ ประการ

                   ประการแรก เป็นความเห็นเกี่ยวกับในเวลาที่พระพุทธศาสนายังไม่อุบัติบังเกิดขึ้น ผู้ที่เป็นนักบวชประเภทโยคีต่าง ๆ บำเพ็ญฌานจนถึงขั้นปัจมฌานลาภี ในรูปาวจรปัญจมฌานกุศลชวนะแล้ว มีความคิดกันขึ้นมาว่า ร่างกายนี้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ต่าง ๆ เช่นต้องเจ็บป่วย แก่ชรา การทะเลาะวิวาทประหัตประหารกันก็ดี โรคภัยก็ดี ความกำหนัด รักใคร่ในกันและกันก็ดี การยื้อแย่งวัตถุสิ่งของกันและกันก็ดี เป็นต้นเหล่านี้ ล้วนแต่เนื่องจากร่างกายทั้งสิ้น เพราะมีร่างกายจึงมีตัณหาเช่นความอยากในอาหาร ความอยากเสพกามอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่ดี อันเป็นสิ่งนำความทุกข์ประการต่าง ๆ มา
                    สําหรับร่างกายเองนั้นเล่าก็เกิดมาจากสิ่งไม่สะอาดมีบุพโพโลหิตของบิดามารดา เป็นต้น จึงเรียกว่ากรซกาย (กะ แปลว่าสรีระ รชะ แปลว่าธุลี) แปลว่ากายอันเกิดด้วยธุลีในสรีระ ปัญจมฌานลาที่บุคคลเหล่านี้ เห็นว่าในอรูปภูมิเป็นภูมิที่ปราศจากร่างกาย มีแต่จิตใจอย่างเดียว เรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกายจึงหมดไป นับว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเห็นดีเห็นงามดังนี้แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายเป็นกำลัง อยากจะไปบังเกิดในอรูปภูมิเพียงอย่างเดียว พร้อมกันนั้นก็เกิดมีความรู้สึกหวาดกลัวในปฏิภาคนิมิต อันเป็นอารมณ์ของรูปาวจรปัญจมฌาน ที่เกิดต่อเนื่องมาจากรูปที่เป็นองค์กสิณ เรียกว่าเบื่อหน่าย เกลียดกลัวในร่างกายอันเป็นรูป ความเกลียดกลัวนั้นยังต่อเนื่องมาจนแม้ในปฏิภาคนิมิตที่มาจากรูปกสิณก็กลัวไปด้วย เหมือนคนขี้กลัวผี พอเห็นตอไม้ในตอนมืดก็หวาดกลัวว่าผีหลอก

                                                          ยถา ปิสาจ ภึรุโก           รตฺติ ชานุมฺปี ภายติ
                                                          เอวํ กรชภีรุโก               โยคี กสิณรูปกํ ฯ

                     ผู้ที่กลัวผีในเวลากลางคืน แม้ได้แลเห็นตอไม้ก็มีความสะดุ้งกลัวเกิดขึ้น ฉันใดโยคีบุคคลที่มีความกลัวต่อร่างกาย ก็ย่อมกลัวต่อรูปฌานที่มีอารมณ์เป็นรูปกสิณ ฉันนั้น

                    ประการที่สอง เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นในสมัยที่มีพระพุทธศาสนาปรากฏขึ้นแล้ว ปัญจมฌานลาภีบุคคลหาได้มีการพิจารณาเห็นโทษของร่างกายแต่ประการใดไม่ แต่เห็นว่าสมาธิที่เกิดจากอรูปฌานนั้นมีกำลังมั่นคง และประณีตกว่าสมาธิที่เกิดจากรูปฌาน เป็นสมาธิในขั้นที่สามารถใช้ทำอภิญญา หรือหากได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี พระอรหันต์เวลาใด ยังช่วยให้เข้านิโรธสมาบัติอันเป็นสภาวะที่มีสันติสุขอย่างยิ่งได้ จึงนิยมกระทำอรูปฌาน
                       การบำเพ็ญสมาธิภาวนาในชั้น อรูปาวจรปัญจมฌานกุศลชวนะ จึงมีผู้นิยมปฏิบัติกันด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการดังที่กล่าวมานี้

                       วิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้อรูปฌาน มีดังนี้คือ
                       ๑. การปฏิบัติเพื่อให้ได้ อากาสานัญจายตนฌาน
                     ลำดับที่หนึ่ง ผู้ปฏิบัติต้องกระทำรูปาวจรปัญจมฌานกุศลชวนะ ให้เกิดติดต่อกันจนชำนาญในวสีทั้ง ๕ ที่เกี่ยวกับรูปาวจรปัญจมฌาน เมื่อเห็นว่าปริมณฑลของปฏิภาคนิมิตที่แผ่ไปนั้นเล็กเกินไป อยากขยายให้ใหญ่ถึงภูเขาจักรวาล ก็ให้กระทำได้ แล้วแต่กำลังของสมาธิที่จะสามารถเพ่งได้ทั่วถึง หรือถ้าเห็นว่าใหญ่มากไปอยากทำให้เล็กลงก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องไม่เล็กเกินกว่า ๑ คืบ ๔ องคุลี ประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๒ เซนติเมตร หรือถ้าเห็นไม่จำเป็นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ใช้ได้ ถ้ารู้สึกดังนี้ก็ไม่จำต้องเป็นกังวล มีขนาดเท่าใดก็ใช้เท่านั้น เอาจิตเพ่งลงในปฏิภาคนิมิตนั้นโดยไม่สนใจปฏิภาคนิมิต มีแต่ความพยายามพรากใจออก ไม่สนใจในปฏิภาคนิมิตนั้น นึกน้อมยึดหน่วงเอาอากาศบัญญัติให้มาปรากฏแทนที่ โดยคิดว่าปฏิภาคนิมิตที่เพ่งอยู่เมื่อครู่ไม่มีแล้ว มีแต่อากาศว่างเปล่าแทนที่อยู่เท่านั้น พร้อมกับบริกรรมภายในใจว่า "อากาโส อนันโต ๆๆๆ (อากาศไม่มีที่สิ้นสุด) พึงกระทำอยู่ดังนี้ให้ติดต่อกันเรื่อยไป

                        ลำดับที่สอง เมื่อได้พยายามปฏิบัติอยู่ตามลำดับที่หนึ่งเรื่อย ๆ เวลาใดจิตปราศจากนิกันติตัณหาในรูปปัญจมฌาน เวลานั้นจิตของผู้ปฏิบัติก็ขึ้นสู่ขั้นอุปจารภาวนา เมื่อกระทำต่ออีกไม่ช้านัก ปฏิภาคนิมิตที่เป็นอารมณ์กรรมฐานอยู่จะสูญหายไปจากใจ คงเหลือแต่อากาศว่างเปล่าที่เป็นภายในบริเวณของปฏิภาคนิมิต อุปมาเหมือนผู้ที่กำลังเพ่งดูม่านหน้าต่าง ในขณะใดที่ลมพัดม่านหลุดไป ย่อมมองเห็นแต่อากาศว่าง
                         การเพิกกสิณ ไม่ใช่เหมือนการเลิกเสื่อ หรือการยกอาหารออกจากที่วาง การเพิกกสิณ คือการไม่ให้จิตไปพัวพันคิดนึกอยู่ในกสิณนั้นอีก

                                                           กสิณํ อุคฆาเฎนฺโต โส             น กิลญชํ ปูปํ ปิวา
                                                           เกวลํ ตมนาวซชํ                     อากาโส อิติ อิกฺขติ ฯ

                         พระโยคีบุคคลเพิกองค์กสิณออกจากใยนี้ หาใช่เหมือนกับการเลิกเสื้อออก หรือยกจานขนมออกแต่อย่างใดไม่ หากเป็นแต่เพียงการเลิกสนใจในกสิณนิมิตนั้นเสีย กลับไปสนใจเพ่งและบริกรรมว่า อากาโส ๆ ๆ ต่อไป

                         อากาโส อนนโต (อากาศไม่มีที่สิ้นสุด) หมายความว่า ธรรมดาอากาศนั้นเป็นคำที่เราบัญญัติขึ้นเรียก ไม่ใช่ปรมัตถ์ สภาวะของบัญญัตินั้นไม่มีเบื้องต้น ไม่มีเบื้องปลาย (คือไม่มีการกำหนดตายตัวว่าอุบัติขึ้นเมื่อใด ดับลงเมื่อใด จะบัญญัติเรียกขึ้นเมื่อใด ๆ ก็ได้ ไม่มีเวลาจํากัด)
                              แต่การบริกรรมจะใช้เพียงคำว่า อากาโส ๆ ๆ หรือ อากาส ๆ ๆ ก็ได้

                         ลำดับที่สาม เมื่อสามารถเลิกปฏิภาคนิมิตที่ติดอยู่กับใจออกได้เวลาใด และมีอากาศบัญญัติมาปรากฏขึ้นแทนในเวลานั้น เรียกว่าอากาสานัญจายตนฌานที่มีองค์ฌาน ๒ ได้เกิดขึ้น เมื่ออากาสานัญจายตนกุศลจิตเกิดขึ้นครั้งแรกเพียงขณะจิตเดียวแล้วก็ดับไป จากนั้นภวังคจิตเกิดต่อเล็กน้อย แล้วปัจจเวกขณวิถีที่มีการพิจารณา อุเบกขา เอกัคคตาก็เกิดขึ้นตามสมควร เป็นอันว่าผู้ปฏิบัติได้เป็นอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล

                          อากาสานัญจายตนฌานนี้เรียกชื่อได้ ๓ อย่าง คือ อรูปฌาน หรือ อากาสานัญจายตนฌาน หรือ ปฐมารุปปฌาน
                         - ที่เรียกว่า อรูปฌาน เพราะเป็นการปฏิบัติที่มิได้สนใจเพ่งปฏิภาคนิมิตที่เป็นรูปอารมณ์ เมื่อฌานจิตเกิด ฌานจิตจึงปราศจากรูปเป็นอารมณ์ จึงเรียกอรูปฌาน
                          - ที่เรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน นั้นก็เพราะว่า ฌานจิตนี้ตั้งอยู่ไม่หวั่นไหว มีความมั่นคง เกิดขึ้นโดยอาศัยอากาศบัญญัติ ไม่ปรากฏเบื้องต้น เบื้องปลาย ที่เกิดที่ดับ จึงเรียกอากาสานัญจายตนฌาน
                    - ที่เรียกว่า ปฐมารุปปฌาน เพราะเมื่อเป็นการปฏิบัติโดยเว้นจากบัญญัติกรรมฐานเกี่ยวกับรูปได้นั้น ฌานนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในบรรดาอรูปฌานทั้ง ๔ จึงเรียก ปฐมารุปปฌาน (ปฐม แปลว่า ต้น แรก ก่อน)

                          ลำดับสุดท้าย เมื่ออากาสานัญจายตนฌานบังเกิดขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติจำต้องกระทำบ่อย ๆ และให้มีความชำนาญในวสีทั้ง ๕

 

                          ๒. การปฏิบัติเพื่อให้ได้ วิญญานัญจายตนฌาน
                          ลำดับที่หนึ่ง เมื่อผู้ปฏิบัติมีความชำนาญในวสีภาวะทั้ง 4 ของอากาสานัญจายตนฌานดีแล้วให้เข้าอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อ ออกจากฌานก็พิจารณาให้เห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌานว่า ฌานขั้นนี้ยังอยู่ใกล้กับรูปปัจมฌานอันเป็นข้าศึกแก่กันอยู่ ถ้าขาดการเข้าฌานอยู่เสมอฌานย่อมเลือนหายไปได้ สมาธิจะลดระดับลงไปตั้งอยู่ในรูปปัญจมฌานตามเดิมอีก เมื่อพิจารณาเห็นโทษดังนี้แล้วก็พยายามพรากใจออกจากอากาศบัญญัตินั้นเสีย ยึดหน่วงเอาแต่อากาสานัญจายตนฌานมาปรากฏแทนที่ โดยบริกรรมว่า “วิญญาณ อนนต์ ๆ ๆ ๆ หรือวิญญาณ ๆ ๆ ๆ อยู่ดังนี้เรื่อย ๆ

                            ลำดับที่สอง เมื่อกระทำตามลำดับที่หนึ่งอยู่เรื่อย ๆ แล้ว เวลาใดจิตปราศจากนิกันติตัณหาในอากาสานัญจายตนฌาน เวลานั้นภาวนาจิตก็ขึ้นสู่ขั้นอุปจารภาวนา และเมื่อกระทำต่อไปอีกไม่ช้า อากาศบัญญัติที่เป็นนิมิตกรรมฐานก็จะสูญหายไปจากใจ
                         เวลาใดที่พยายามก้าวล่วงอากาศบัญญัติได้ เวลานั้นอากาสานัญจายตนฌานเกิดปรากฏแทน เอาอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ต่อ โดยยึดหน่วงเอาแต่ปฐมารูปวิญญาณที่อาศัยในอากาศนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ ภาวนาอยู่ดังนี้เรื่อย ๆ ไป นับด้วยร้อยด้วยพันด้วยหมื่นครั้ง วิญญาณัญจายตนฌานก็จะบังเกิดขึ้น
                         เหตุที่จําเป็นต้องใส่ใจในอากาสานัญจายตนฌาน ทั้งที่มองเห็นโทษ เพราะมีความจำเป็นต้องอาศัย จึงจะสำเร็จประโยชน์ในขั้นสูงต่อไป เหมือนมหาดเล็กที่เบื่อหน่ายพระราชาแต่จำต้องทนปรนนิบัติ

                                                           อาลมฺพนํ กโรเตว           อญฺญาภาเวน ตํ อิทํ
                                                           ทิฏฐโทสมุปิ ราซานํ       วุตฺติ เหตุ ขโน ยถา ฯ

                      ผู้ที่มีความประสงค์อยากได้วิญญานัญจายตนฌาน ย่อมจำเป็นต้องกระทำอากาสานัญจายตนฌานให้เป็นอารมณ์เสมอไป เพราะนอกจากนี้ไม่มีอารมณ์อื่น ๆ ที่จะกระทำให้วิญญานัญจายตนฌานเกิดขึ้นได้ เสมือนหนึ่งบุรุษมหาดเล็ก แม้จะเห็นโทษของพระราชาโดยประการใด ๆ ก็ตาม แต่ก็ต้องเคารพรัก รับใช้เพื่อยังอาชีพของตนให้เจริญรุ่งเรือง


                          ๓. การปฏิบัติให้ได้ อากิญจัญญายตนฌาน
                         ลำดับแรก คงปฏิบัติทำนองเดียวกันกับวิญญาณัญจายตนฌาน คือปฏิบัติให้มีความชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ ในวิญญาณัญจายตนฌาน เมื่อสมบูรณ์ดีแล้วให้เข้าวิญญาณัญจายตนฌาน แล้วออกจากฌานพิจารณาให้เห็นโทษของวิญญาณัญจายตนฌาน ว่ายังเป็นฌานที่ใกล้กับอากาสานัญจายตนฌาน อันเป็นข้าศึกต่อกันอยู่ ถ้าขาดการเข้าฌานขั้นนี้อยู่เสมอ ๆ เวลาใดแล้ว ฌานอาจเลือนหายไป ทำให้สมาธิลดระดับลงไปต่ำกลับไปตั้งอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานตามเดิม และสมาธิขั้นนี้ก็ยังหยาบกว่าอากิญจัญญายตนฌาน

                          ลำดับที่สอง เมื่อพิจารณาเห็นโทษโดยชัดเจนแล้ว จึงเกิดความพอใจฝักใฝ่ในอากิญจัญญายตนฌาน จึงพรากใจออกจากปฐมารูปวิญญาณ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌานนั้นเสีย โดยไม่ยอมสนใจเลยแม้แต่น้อยนิด ให้ปฐมารูปวิญญาณนั้นดับสูญขาดหายไปจากจิตสันดาน ไม่มีเหลืออยู่เลย

                          ลำดับที่สาม เมื่อพรากใจออกจากปฐมารูปวิญญาณนั้นเสียได้ จึงเอานัตถิภาวบัญญัติ มายึดหน่วงเป็นอารมณ์กรรมฐานแทน โดยบริกรรมว่า “นตฺถิ กิญจิ ๆ ๆ ๆ (ความเหลืออยู่แห่งปฐมารูปวิญญาณฌานแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่มี) ดังนี้อยู่เรื่อย ๆ ไป
                          เวลาใดจิตใจปราศจากนิกันติตัณหาในวิญญาณัญจายตนฌาน เวลานั้นจิตย่อมขึ้นสู่อุปจารสมาธิภาวนา เมื่อเจริญต่อไปเรื่อย ๆ เป็นร้อยครั้งพันครั้งให้จิตแน่วแน่ลงเป็นอัปปนาในอารมณ์ที่มั่นหมายไว้ว่า ปฐมารูปวิญญาณนั้นมิได้มีอยู่เลย อุปมาเหมือนชายผู้หนึ่งเดินผ่านไปในที่มีพระสงฆ์ประชุมกันอยู่ มิได้สนใจเดินผ่านเลยไป ครั้นกลับมาพระสงฆ์กลับไปหมดแล้ว จึงรำพึงว่า พระสงฆ์ท่านกลับไปหมดแล้ว ไม่เหลืออยู่เลยแม้แต่เพียงรูปเดียว

                          ครั้นพรากปฐมารูปวิญญาณออกจากใจได้หมดสิ้น เวลานั้นนัตถิภาวบัญญัติก็ปรากฏแทนที่ทันที พร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ ของอากิญจัญญายตนฌานก็เกิดขึ้น มีวิถีทางเดินของจิตดังนี้ คือเริ่มด้วยภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนะ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู อากิญจัญญายตนฌานกุศลจิต เกิดขึ้น ๑ ครั้งแล้วก็ดับไป จากนั้นภวังคจิตก็เกิดต่อเล็กน้อย แล้วปัจจเวกขณวิถีที่มีการพิจารณาอุเบกขา เอกัคคตา ก็เกิดขึ้นตามสมควร เป็นตามลำดับดังนี้ เป็นอันว่าผู้ปฏิบัติได้สำเร็จเป็นอากิญจัญญายตนฌานลาบุคคล


                          ๔. การปฏิบัติให้ได้ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
                      ลำดับแรก พึงปฏิบัติให้มีความชำนาญในวสีทั้ง ๕ ของอากิญจัญญายตนฌานเสียก่อน เมื่อบริบูรณ์ดีแล้ว ให้เข้าอากิญจัญญายตนฌาน ออกจากฌานแล้วพิจารณาให้เห็นโทษของอากิญจัญญายตนฌานว่ายังเป็นฌานที่อยู่ใกล้กับวิญญาณัญจายตนฌาน อันเป็นข้าศึกแก่กันอยู่ ถ้าขาดการเข้าฌานอยู่เสมอ ๆ สมาธิก็จะลดระดับลงไปอยู่ที่วิญญาณัญจายตนฌานตามเดิม และอากิญจัญญายตนฌานก็ไม่ประณีตเท่าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

                          ลำดับที่สอง เมื่อพิจารณาเห็นโทษของอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ให้ทำความพอใจในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่า เป็นฌานที่สงบประณีต สุขุมมาก ธรรมที่ประกอบอยู่ในฌานนี้เช่น สัญญา ความจำ เป็นต้น ประณีตกว่าอากิญจัญญายตนฌาน แต่แม้จะหมดความยินดีในฌานขั้นที่ ๓ นั้นลงไป แต่ยังเห็นความดีอยู่ว่ามีความสงบ ประณีตอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะสามารถรับบัญญัติอารมณ์ที่ไม่มีปรมัตถ์รองรับคือเป็นอภาวบัญญัติ หรือนัตถิภาวบัญญัติอันเกี่ยวกับอากาสานัญจายตนฌานได้

                          ลำดับที่สาม ครั้นพยายามพรากใจออกจากนัตถิภาวบัญญัติแล้ว จึงเอาอากิญจัญญายตนฌานมายึดหน่วงเป็นอารมณ์กรรมฐานแทน โดยบริกรรมว่า “สนฺตเมต์ ปณีตเมต (อากิญจัญญายตนฌานนี้ มีสมาธิสงบมาก ประณีตมาก) หรือ “สนต์ ๆ ปณีต ๆ” ดังนี้ก็ได้อยู่เรื่อย ๆ

                          เมื่อพยายามเจริญภาวนาอยู่ดังนี้เรื่อยไป เวลาใดจิตใจปราศจากนิกันติตัณหาในอากิญจัญญายตนฌาน เวลานั้นภาวจิตก็ขึ้นสู่อุปจารสมาธิ เมื่อเจริญภาวนาต่อไป นัตถภาวบัญญัติที่เป็นนิมิตกรรมฐานก็จะสูญหายไปจากใจ เมื่อก้าวล่วงพ้นไปได้ เนวสัญญานา สัญญายตนฌานที่มีองค์ฌาน ๒ ก็จะเกิดขึ้นโดยมีวิถีจิตตามลำดับดังนี้ ภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนะ ปริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู่ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิตเกิดขึ้น ๑ ครั้งแล้วก็ดับไป จากนั้นภวังคจิตก็เกิดต่อเล็กน้อย แล้วปัจจเวกขณวิถีที่มีการพิจารณาอุเบกขา เอกัคคตา ก็เกิดขึ้นตามสมควร เป็นอันว่าผู้ปฏิบัติสำเร็จเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาบุคคล

                          การปฏิบัติในขั้นนี้ แม้จะพิจารณาเห็นโทษของอากิญจัญญายตนฌาน แต่เวลาบริกรรม กลับชมเชยยกย่องนั้น ไม่เป็นการขัดกัน เหมือนเราเห็นคนขี้ริ้วไม่สวยงาม นึกรังเกียจ แต่เมื่อได้คบหาสมาคมด้วยจึงเห็นอุปนิสัยอันดีงาม ทำให้ต้องกล่าวสรรเสริญ แต่กระนั้นเราก็มิได้อยากเป็นเช่นคนผู้นี้ อุปมาเหมือนพระราชาทอดพระเนตรเห็นช่างแกะสลักมีฝีมือยอดเยี่ยม จึงทรงชมเชยยกย่อง แต่แม้จะพอพระทัยในช่างผู้นั้นเพียงใด พระองค์มิได้ทรงประสงค์สละราชสมบัติออกมาประกอบอาชีพเป็นอย่างนายช่าง เพียงทรงชมเชยแล้วเสด็จเลยผ่านไป การปฏิบัติเพื่อให้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

                                                          ทนตฺกาเร วณฺเณนฺโตปิ       น ราชา ตตฺถ กามิโก
                                                          อสมาปตฺติ กาโมว              โยคี ตติยติกฺกโม .

                         แม้พระราชาจะได้ทรงชมเชยบุรุษที่เป็นช่างแกะสลักงาช้างอย่างยิ่งเพียงใดก็ตาม แต่หาได้มีพระประสงค์จะทรงเป็นนายช่างแกะสลักงาช้างนั้นไม่ พระโยคีบุคคลที่ได้ตติยารุปปฌานแล้ว แม้ว่าจะได้กล่าวคำชมเชยตติยารุปปฌานนี้ (โดยคำบริกรรมว่า สนฺตเมต ปณีตเมต์ อยู่ดังนี้ก็ตามที) ครั้นแล้วก็ได้ก้าวล่วงตติยารุปปฌานนี้ไปเสีย ทั้งนี้เพราะไม่มีความประสงค์จะเข้าฌานสมาบัตินี้อีก

                          อรูปฌานทั้ง ๔ มีความประณีตต่างกันยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามลำดับแห่งชั้นของฌานนั้น ๆ

                                                                  สุปณีตตรา โหนฺติ               ปจฺฉิมา ปจฺฉิมา อิธ
                                                           อุปมา ตตฺถ วิญฺเญยฺยา        ปาสาทตลสาฏิกา ฯ

                                ในอรูปฌานทั้ง ๔ นั้น ฌานที่เกิดขึ้นครั้งหลัง ๆ ย่อมมีสภาพประณีตกว่าฌานที่เกิดขึ้นในครั้งก่อน ๆ การที่อรูปฌานทั้ง ๔ มีความประณีตมากกว่ากันและกันนั้น อุปมาเสมือนหนึ่งความประณีตสวยงามของปราสาท ๔ ชั้น หรือของผ้านุ่ง ๔ พื้นที่มีฝีมือละเอียดมากกว่ากันและกัน
                                 เมื่อได้พิจารณาดูอรูปฌานทั้ง ๔ ในแง่ของการภาวนา พอสรุปได้ว่า อากาสานัญ จายตนฌาน เป็นฌานที่กำหนดเอาอากาศ (ที่เพิกจากกสิณ) คือความว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา
                                 วิญญาณัญจายตนฌาน เป็นฌานที่กำหนดเอาวิญญาณ (ที่มีอยู่ในอากาสานัญจายตนฌาน) อันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ของการเจริญภาวนา
                                    อากิญจัญญายตนฌาน เป็นฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไร ๆ เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา
                                 เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นฌานที่กำหนดเอาภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เป็นสภาวะสงบประณีตมาก เอาสภาวะดังกล่าวมาเป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา

                                 อรูปฌานทั้ง ๔ ถ้านำมาพิจารณาในแง่ขององค์ฌาน จะเห็นได้ว่าฌานแต่ละลำดับชั้นทั้ง ๔ ชั้น มีองค์ฌานเพียง ๒ เท่ากันทุกชั้น คือ อุเบกขา และเอกัคคตา ดังนั้นฌานแต่ละชั้นน่าจะมีคุณธรรมเสมอกัน แต่ถ้าพิจารณาถึงวิธีการเจริญภาวนาตามลำดับชั้นของฌานแล้ว จะเห็นว่า ฌานเบื้องบนมีคุณธรรมประณีตกว่าฌานเบื้องต่ำ เหมือนของใช้ชนิดเดียวกัน แต่ทำด้วยวัสดุและฝีมือที่ประณีตต่างกัน

                           ในพระคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า อรูปฌานทั้ง ๔ นี้มีองค์ ๒ ประการเหมือนกันก็จริง แต่ยิ่งกว่ากันด้วยอารมณ์ ละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ ด้วยสามารถมีอารมณ์อันต่างกัน ทุติยารูปฌานอาศัยพึ่งพิงยึดหน่วงปฐมารูปวิญญาณ ฝ่ายจตุตถารูปฌานอาศัยยึดหน่วงตติยารูปวิญญาณ

                                 อสุจิมหิ มนฺทเปลคโค เหมือนบุรุษ ๔ คนยืนอยู่ที่มณฑป (เรือนยอด) โดยคนแรกมาพบเรือนมณฑปเข้าก่อนก็ดีใจคิดจะใคร่อาศัยหลับนอนให้เป็นสุข ครั้นเข้าไปใกล้กลับ เห็นว่าเรือนนั้นตั้งอยู่ในที่สกปรกมากให้นึกรังเกียจเบื่อหน่าย จึงไม่ยอมเข้าไปข้างในเรือนเพียงแต่เอามือยันโหนตัวอยู่พอได้พัก คนที่สองมาเห็นคนแรกเข้าก็ชอบใจ คิดว่าจะไปยืนแอบคนแรกให้บังร่มแดดให้สักหน่อยคงสบายยิ่งขึ้น ก็เข้าไปยืนกอดคนแรกไว้ คนที่สามเดินมาพบเข้า เห็นว่าทั้งสองคนยืนอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม คนหนึ่งยืนโหนตัวอยู่ อีกคนกลับไปกอดเอาคนนั้นไว้ เดี๋ยวอาจจะพากันม้วนตกลงไปในที่โสโครกในไม่ช้า เราจะไม่เข้าไปหาคนทั้งสอง คิดดังนั้นแล้วคนที่สามก็ไปยืนอยู่ในที่ว่างเปล่าข้างนอก ไม่ใช่ตรงที่สองคนแรกยืน ฝ่ายคนที่สี่ มาพบคนทั้งสามเข้าไม่ชอบใจสองคนแรกเพราะอาจจะพลัดตกลงไปได้ง่ายพอใจคนที่สามจึงไปยืนกอดคนที่สามเอาไว้

                                    เปรียบอุปมาได้ดังนี้
                                    อากาศที่พระโยคาวจร (คือผู้ปฏิบัติ) เพ็กกสิณเสียแล้ว เป็นดังเรือนยอดที่ตั้งอยู่ในที่สกปรก
                                 ปฐมารูปฌานที่เกลียดชังเบื่อหน่ายจากการยึดเอาอากาศที่มีกสิณเพ็กแล้วเป็นอารมณ์ เป็นเหมือนบุรุษคนแรกเกลียดชังเบื่อหน่ายความสกปรก จึงไม่เข้าไปในเรือนเพียงยืนโหนตัวอยู่
                                ทุติยารูปฌานที่ล่วงอากาศเสีย ยึดเหนี่ยวเอาแต่ปฐมารูปวิญญาณเป็นอารมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษคนที่สองมายืนกอดแอบอิงคนแรก
                                ตติยารูปฌานที่ล่วงเสียซึ่งปฐมารูปวิญญาณ ยึดหน่วงเอาที่สูญ ที่เปล่า ที่ไม่มีปฐมรูปเป็นอารมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษที่สามมาเห็นชายสองคนแรกยืนในท่าทางที่ไม่ดี ตนเองจึงเลี่ยงไปยืนเสียต่างหาก
                                จตุตถารูปฌาน ที่จะเสียซึ่งที่สูญที่เปล่า และหน่วงเอาตติยรูปวิญญาณเป็นอารมณ์นั้น เปรียบเหมือนบุรุษคนที่สี่ พอใจไปยืนอิงชายคนที่สาม

                                การที่คนที่มีไปแอบอิงคนที่สามอยู่นั้นมิใช่เห็นว่าดีงามมากมาย เพียงแต่ไม่สามารถหาผู้อื่นได้ดีกว่านี้ เปรียบได้กับการปฏิบัติเพื่อให้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แม้จะเบื่อหน่ายในอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌาน แต่ก็ต้องนำมาใช้ เพราะไม่มีสิ่งอื่นมาใช้แทน เหมือนลูกจ้างที่เบื่อหน่ายเกลียดชังนายจ้างที่ไม่มีคุณธรรมความดี แต่ยังหานายจ้างใหม่ไม่ได้ จำต้องทนทำงานกับคนเดิมไปก่อน พอให้ได้รายได้เลี้ยงชีวิตและครอบครัว

                          หรือ อารุฬฺโห ทีฆนสเสณี ยถา เปรียบเหมือนบุคคลขึ้นบันไดสูงขึ้นไป ๆ ไม่มีอะไรเป็นที่ยึด เหลียวซ้ายแลขวาหาที่ยึดเหนี่ยวไม่ได้ ก็จำต้องหันมายึดเอาบันไดนั้นเอง
                                หรือ บพฺพตญจอารุฬฺโห เหมือนคนปืนขึ้นไปบนภูเขาที่มีดินปนหิน เมื่อขึ้นไป ๆ ไม่มีต้นไม้เถาวัลย์จะยึดเหนี่ยว ก็จำต้องยึดยอดเขานั้นเองทรงกายไว้
                             หรือ ยถา ศิริมารุฬฺโห เหมือนบุคคลปีนขึ้นไปบนภูเขาที่เต็มไปด้วยก้อนหิน ธรรมดาแล้วหินเป็นอันตรายต่อเท้าและเข่าของตนมาก แต่เมื่อขึ้นไปสูงขึ้น ๆ ก็ว่าต้องใช้เท้าใช้เข่าช่วยในการป่ายปีนทั้งที่ไม่ต้องการใช้

                                ฌานชั้นที่ ๔ ของอรูปฌานนี้เป็นของละเอียดมาก มีสัญญาอยู่แต่ก็ดูเหมือนไม่มีสัญญา ที่ละเอียดมากดังนี้จึงไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนานิพพิทาญาณการจะทำให้ญาณ ชนิดนี้เกิดต้องใช้นามขันธ์ที่หยาบ ๆ สัญญาในเนวสัญญานาสัญญายตนจิตละเอียดเกินไปอาจเรียกว่าแทบไม่มี จึงใช้ไม่ได้ อุปมาน้ำมันที่ทาบาตร เห็นเพียงว่ามีน้ำมันทาอยู่ แต่ครั้นจะนำน้ำมันนั้นออกมาทำประโยชน์อื่นก็นำออกมาไม่ได้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.044417381286621 Mins