ผลญาณ

วันที่ 16 กพ. พ.ศ.2567

16--67-1-b.png

๑๕. ผลญาณ


                 ผลญาณมี ๔ เท่ามัคคญาณ คือ โสดาปัตติผลญาณ สกทาคามิผลญาณ อนาคามิผลญาณ  และอรหัตตผลญาณ


โสดาปัตติผลญาณ


                   เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุโสดาปัตติมรรคญาณ ทันทีนั้นผลจิตที่เป็นวิบากของมัคคจิตจะเกิดขึ้นโดยทันทีไม่มีระหว่างคั่นเป็นวิบากที่ให้ผลแน่นอนตายตัว เพราะโลกุตตรกุศลมีผลแน่นอนอยู่เสมอ เมื่อสำเร็จทั้งฝ่ายมรรคและผลดังนี้ เรียกว่าเป็นพระโสดาบันบุคคล ละอกุศลต่าง ๆ ได้โดยเด็ดขาดดังนี้


๑. ละอกุศลจิตได้ ๕ ชนิด คือ จิตโลภที่ประกอบด้วย มิจฉาทิฏฐิ ๔ และจิตหลงที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา
๒. ละอกุศลเจตสิกได้ ๕ คือ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ
๓. ละสังโยชน์ อันเป็นเครื่องผูกสัตว์ให้ติดอยู่ในภพ ได้ ๓ มี ทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาสะ
๔. ละนิวรณ์ เครื่องกั้นความดี ๒ คือ วิจิกิจฉา และ กุกกุจจะ ความรำคาญใจ
๕. ละอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานได้ ๒ คือ ทิฏฐิ และวิจิกิจฉา
๖. ละอุปาทาน ความยึดมั่น ได้ ๓ คือ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน
๗. ละคันถะ เครื่องผูกมัดได้ ๒ คือ สีลัพพัตตปรามาสกายคันถะ และทั้งสัจจาภินิเวสกายคันถะ1
๘. ละโยคะได้ ๑ คือ ทิฏฐิโยคะ
๙. ละโอฆะ (ห้วงน้ำให้จมลงได้) ๑ คือ ทิฏโฐมะ
๑๐. ละอาสวะ (เครื่องหมักดอง) ได้ ๑. คือทิฏฐาสวะ รวมละอกุศล ๕ หรือแยกย่อยเป็น ๗


                   พระโสดาบัน มีความแตกต่างกันตามความยิ่งหย่อนของอิทธิบาท แบ่งได้ ๓ จำพวก
๑. เอกพีชีโสดาบัน คือผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว จะปฏิสนธิอีกเพียงชาติเดียว แล้วดับขันธ์เข้านิพพาน
๒. โกลังโกละโสดาบัน คือพระโสดาบันที่จะปฏิสนธิอีก (จากสกุลหนึ่งสู่สกุลหนึ่ง) อย่างช้า ๕-๖ ชาติ
๓. สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน คือพระโสดาบันที่ต้องปฏิสนธิในกามสุคติภูมิอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ


                    พระโสดาบันได้ชื่อว่า ผู้ถึงกระแสพระนิพพาน ได้เห็นพระนิพพาน เป็นครั้งแรกที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จึงรักใคร่เป็นห่วงในนิพพานหนักหนา เหมือนหญิงผู้เป็นมารดารักใคร่บุตรคนแรก เหมือนพระราชาผู้ไม่เคยมีราชโอรส รู้ว่าในครรภ์ของพระมเหสีมีราชโอรส
มาเกิด ก็ถนอมพระราชโอรสนั้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ กระทั่งประสูติ ใจของพระโสดาบันที่หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็เป็นในทำนองนั้น


สกิทามิผลญาณ


                     เมื่อสกิทาคามัคคจิตดับลงแล้ว สกิทาคามิผลจิต คือสกิทาคามิผลญาณจะเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่นในขณะนั้นเอง เมื่อถึงขั้นนี้เรียกว่า เป็นพระสกิทาคามี จะเป็นผู้กลับมาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน


                     พระสกิทาคามี ยังไม่ได้ประหารกิเลสเด็ดขาดเพิ่มจากพระโสดาบัน เป็นแต่ทำให้กิเลสที่เหลือจากการประหาณของพระโสดาบันแล้วนั้น เบาบางลงอีก


                     ในผลญาณไม่มีโคตรภูญาณเกิด คือเมื่อปฏิบัติในอินทรีย์ ๕ เสมอกันเป็นอันดี และเมื่อมีวาสนาบารมีสร้างสมอบรมมาเพียงพอ สภาวะแห่งวิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณเป็นต้น ไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ ญาณเหล่านี้ปรากฏชัดเจน ละเอียด
กว่าที่เคยปรากฏในชั้นโสดาบัน


                      ต่อจากนั้น อนุโลมญาณจึงเกิด แล้วติดตามมาด้วยโวทาน แทนโคตรภูญาณ แล้วจึงถึงสกิทาคามิมัคคญาณ และตามติดด้วยสกิทาคามิผลญาณ เป็นการถึงพระนิพพานเป็นครั้งที่สอง


                      พระสกิทาคามีส่วนใหญ่กลับลงมาเกิดในมนุษย์โลกอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ก็มีอยู่บ้างที่เป็นพระสกิทาคามีแล้วไปบังเกิดในเทวโลก กลับจากเทวโลก มาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง บางทีเกิดในเทวโลกนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเทวโลกนั้นเอง


อนาคามิผลญาณ


                      เมื่ออนาคามิมัคคจิตดับลงแล้ว อนาคามิผลจิตหรืออนาคามิผลญาณจะบังเกิดตามมาทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น สำเร็จเป็นพระอนาคามี พระอนาคามีนี้จะไปเกิดและปรินิพพาน ในชั้นสุทธาวาสภูมิไม่หวนกลับมายังโลกมนุษย์นี้อีก “บุคคลใดไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีก
บุคคลนั้นชื่อ อนาคามี


                      พระอนาคามีประหาณกามราคะ พยาปาทะ โดยไม่มีเศษเหลือ


                       โดยปกติโทสะ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือโทสะชนิดร้ายแรงที่มีผลให้ไปสู่อบายภูมิ และโทสะชนิดไม่รุนแรง ไม่ถึงกับทำให้ต้องไปอบายภูมิ เช่น ความขัดใจโกรธเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ถึงกับล่วงอกุศลกรรมบถ


                       อย่างแรกพระโสดาบันละได้เด็ดขาด อย่างที่สอง พระสกิทาคามีละได้เด็ดขาด แต่อย่างสุดท้ายที่เป็นโทสะสุขุม อย่างละเอียดนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ไม่แสดงปรากฏให้เห็นพระอนาคามีเท่านั้นจึงจะประหาณได้สิ้นเชิง


                       การไปบังเกิดในพรหมโลกนั้น ปกติต้องเป็นผู้ที่มีวิบากแห่งญาณกุศล สำหรับพระอนาคามีที่เจริญวิปัสสนาล้วน ๆ ไม่เคยบำเพ็ญสมถภาวนามาก่อนนั้น เมื่อขณะใกล้จะตาย (จุติ) จะมีญาณทำให้เกิดฌานชนิดหนึ่งขึ้นมาได้เอง ฌานนั้นเรียกชื่อว่า “มัคคสิทธิฌาน”
อันจะส่งผลให้ไปเกิดยังสุทธาวาสภูมิ พระอนาคามีนั้น จะมรณภาพในตอนใดก็ตาม ไม่ว่าจะนอนหลับตาย หรือทำกิจการใด ๆ อยู่แล้วตาย หรือถูกทำร้ายตาย ในทันทีที่กำลังจะตายนั้นเอง มัคคสิทธิฌานต้องบังเกิด ตราบใดที่ฌานนี้ยังไม่เกิดตราบนั้นพระอนาคามีจะยังไม่จุติ


                        สุทธาวาสภูมิที่พระอนาคามีบังเกิด มีอยู่ ๕ ชั้น ตามความแก่กล้าของอินทรีย์ มีสันธินทรีย์แก่กล้า เกิดใน อวิหาภูมิ มีวิริยินทรีย์แก่กล้า เกิดใน อตัปปาภูมิ มีสตินทรีย์ แก่กล้าเกิดในสุทัสสาภูมิ มีสมาธินทรีย์แก่กล้า เกิดในสุทัสสีภูมิ มีปัญญินทรีย์แก่กล้า เกิดใน อกนิฏฐาภูมิ
 

การเกิดและการเป็นอยู่ในภูมินั้น ๆ มีดังนี้
๑. ได้แก่พระอนาคามีที่เกิดในสุทธาวาสภูมินี้ ภูมิใดภูมิหนึ่งแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานในระหว่างที่มีอายุครึ่งแรก
๒. เป็นพระอรหันต์และปรินิพพานในอายุครึ่งหลัง
๓. เป็นพระอรหันต์โดยง่ายและสะดวกสบายในภูมิที่เกิดนั้น ๆ
๔. ต้องใช้ความพยายามอย่างแรงกล้า จึงจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และดับขันธ์ปรินิพพาน
๕. เป็นพระอนาคามีที่เกิดในสุทธาวาสภูมิชั้นต่ำที่สุดก่อน เมื่อจุติแล้วจึงค่อยเลื่อนปฏิสนธิในชั้นสูงเรื่อย ๆ ไปจนถึงอกนิฏฐาภูมิ จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน
                       การจุติของพระอนาคามี ไม่มีการเกิดในภูมิที่ต่ำกว่าภูมิเดิม


อรหัตตผลญาณ


                      ผู้ที่จะบรรลุถึงโลกุตตรภูมิชั้นสูงสุดนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาสำเร็จอนาคามีมาแล้ว เมื่อเจริญวิปัสสนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้น พร้อมด้วยมีวาสนาบารมีที่สร้างสมอบรมมาบริบูรณ์ สภาวะแห่งวิปัสสนาญาณขั้นสูงสุดย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ สภาวญาณปรากฏละเอียดที่ชัดเจนเป็นที่สุด ต่อจากนั้นจะเกิดอนุโลมญาณ ตามติดมาด้วยโวทาน แล้วจึงถึงวาระสำคัญคือ จตุตถมรรคหรือ อรหัตตมัคคญาณ พลันอุบัติขึ้นประหาณกิเลสทั้งหลาย ที่ยังเหลืออยู่ในขันธสันดานให้หมดไป จนสิ้นเชิง จากนั้น อรหัตตผลญาณ ก็จะเกิดตามมา สำเร็จเป็นพระขีณาสวเจ้าผู้มีความบริสุทธิ์จนหมดเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีกิเลสแม้เล็กน้อยเท่าฝุ่นธุลีเหลือติดอยู่อีกเลย ชาตินี้
เป็นชาติสุดท้าย ดับขันธ์แล้วจะเข้าสู่ปรินิพพานเป็นบรมสุข ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป ส่วนขันธ์ของพระอรหันต์ที่ยังไม่ดับ เรียกว่า วิสุทธิขันธ์ เป็นขันธ์อันบริสุทธิ์ เหมือนน้ำมันที่กลั่นแล้วสักร้อยครั้ง


                       อกุศลธรรมทั้งหลายที่ถูกอรหัตตมัคคญาณประหาณไป มีดังนี้ ว่าโดยจิต ละจิตที่มีความโลภ อันไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ อย่าง และจิตที่มีความหลง อันประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน ๑ อย่าง


โดยเจตสิก ละโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ โลภะ มานะ  ถีนะมิทธะ


โดยอกุศลกรรมบถ ละ ที่เหลืออีก ๒ คือ สัมผัปปลาปาวาจา และ อภิชฌา


โดยกิเลส ละโมหะ โลภะ มานะ ถีนะ


โดยสังโยชน์ ละ ภวสังโยชน์ รวมทั้งรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อวิชชา  อุทธัจจะ


โดยอนุสัย ละมานานุสัย ภวานุสัย อวิชชานุสัย


โดยนิวรณ์ ละถีนะ มิทธะ อุทธัจจะ อวิชชา


โดยอุปาทานละกามุปาทาน


โดยคันถะ ละอภิชฌากายคันถะ (เครื่องผูกมัด คือความเพ่งเล็งอยากได้)


โดยโยคะ ละภวโยคะ และอวิชชาโยคะ


โดยโอฆะ ละภโวฆะ และ อวิชโชฆะ


โดยอาสวะ ละ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ


                  สรุปแล้วพระอรหันต์ละอกุศลธรรมได้หมดทุกอย่าง ถ้าเป็นพระอรหันตสาวก ละกิเลสได้สิ้นเชิงจริง แต่ละวาสนาที่เคยประพฤติจนเคยชินมาตั้งแต่ในอดีตชาติไม่ได้


                   พระอรหันต์ที่สําเร็จได้โดยเจริญสมถภาวนามาก่อนจนถึงฌาน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ชื่อว่าสำเร็จโดยเจโตวิมุตติ ส่วนท่านที่บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน ๆ ได้ชื่อว่าสำเร็จโดย ปัญญาวิมุตติ สำหรับผู้ที่เคยอธิษฐานจิตไว้ในขณะประกอบกุศลกรรมต่าง ๆ ในอดีตชาติ ให้ตนเองบรรลุเป็นพระอรหันต์ชนิดมีคุณพิเศษคือ ญาณและอภิญญารวมทั้ง ปฏิสัมภิทาญาณ ในชาติปัจจุบันเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็จะเกิดคุณวิเศษต่าง ๆ ตามที่ตั้งความปรารถนาไว้นั้น เช่นมีปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ แตกฉานใน อรรถ ในธรรม ในภาษา และในปฏิญาณไหวพริบ บางท่านก็สำเร็จ อภิญญา ๖ และ วิชชา ๓ พร้อมกันไปด้วย
 

                   พระอริยบุคคลทั้งหลายมีอารมณ์อยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ พระนิพพาน ทิ้งอารมณ์ ของโลกนี้ทั้งหมด นิพพานเป็นอสังขตะไม่เวียนว่ายในการเกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป นิพพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสันติสุขอย่างยิ่ง ดับทั้งกิเลสและเบ็ญจขันธ์ ดับโลกโลกีย์หมดสิ้น
พระนิพพานเป็นธัมมารมณ์ เป็นธัมมายตนะ รู้ได้ด้วยใจ ประสาทสัมผัสส่วนอื่นไม่สามารถรู้เห็นได้ พระนิพพานไม่ใช่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวทนาทั้ง ๓ ความจำ ความชอบใจ ไม่ชอบใจ จิต เจตสิก รูป วิญญาณ มโน นโนธาตุ มโนวิญญาณ อากาศ ช่องว่าง ดิน น้ำ ไฟ ลม โลกนี้ โลกอื่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว อารมณ์ใด ไปถึงมาถึง ตั้งอยู่ เคลื่อนที่ เกิด ฯลฯ


                   นิพพานธาตุ ถ้ายังมีขันธ์ ๕ เหลืออยู่ เรียกสอุปาทิเสสนิพพาน ถ้าไม่มีเรียกอนุปาทิเสสนิพพาน


• ปุพฺเพ จาหํ เอตรหิ จ          ทุกฺขญฺเจว ปญฺญเปมิ           ทุกขสส นิโรธํ
ทั้งเมื่อก่อนและทั้งบัดนี้ เราสอนแต่เรื่องทุกข์และความดับทุกข์ เท่านั้น
พุทธพจน์

 

1การยึดมั่นว่าความคิดเห็นของตนถูก ของผู้อื่นผิดหมด

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.075930150349935 Mins