ตามเห็นกายภายใน
โดย...
พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
บูชาพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญภาวนากัน ให้นั่งขัดสมาธินะ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอาขาขวาทับขาซ้ายนะ เอามือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ท่านที่นั่งขัดสมาธิไม่ถนัดจะนั่งพับเพียบก็ได้ แล้วก็เอามือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย เช่นเดียวกัน ขาขวาทับขาซ้ายนะ มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย แล้วก็วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุก ๆ คน หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ปรับร่างกายของเราให้พอเหมาะต่อการนั่งเจริญภาวนากัน กะคะเนว่าให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก
ไม่นั่งงอตัว ไม่นั่งยืดตัวเกินไป ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา เอียงหน้าเอียงหลังอย่างนั้นนะ พอสบาย ๆ ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเราผ่อนคลายให้หมด ตั้งแต่กล้ามเนื้อที่เปลือกตา หน้าผาก ศีรษะ ท้ายทอย ช่วงบ่าช่วงไหล่ทั้ง ๒ ตลอดจนกระทั่งลำแขนถึงปลายนิ้วมือ ให้ผ่อนคลายให้หมด กล้ามเนื้อของลำตัวของเราน่ะ เรื่อยลงมาจนกระทั่งถึงขาทั้ง ๒ ตลอดถึงปลายนิ้วเท้าให้ผ่อนคลายให้หมด ปรับท่านั่งกันให้ดีนะ แล้วก็ทำใจให้สบาย ๆ ให้เบิกบานให้แช่มชื่น ยังไม่ต้องนึกคิดถึงเรื่องอะไรทั้งนั้น ลองฝึกทำใจให้สบาย ๆ ให้แช่มชื่นให้เบิกบานซัก ๑ หรือ ๒ นาทีตั้งใจทำกันนะ
พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสกับพระวักกลิและพระสาวกทั้งหลายบ่อย ๆ ว่าธรรมกายนี้แหละคือตถาคต คือพระพุทธเจ้า เปลี่ยนแปลงพระสิทธัตถะราชกุมาร ให้เป็นพระพุทธเจ้าหรือพูดง่าย ๆ ธรรมกายก็คือ กายที่ตรัสรู้ธรรมของพระองค์ท่าน ธรรมทั้งหลายทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต จะเป็นธรรมที่เป็นกุศล กลาง ๆ หรือเป็นบาปก็ตาม รู้เห็นได้ไปตามความเป็นจริงด้วยธรรมกาย เมื่อรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดอย่างนั้นก็ละวางธรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศล ยึดถือเอาธรรมที่เป็นกุศลล้วน ๆ บริสุทธิ์ล้วน ๆ เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นกุศลบริสุทธิ์ล้วน ๆ นั้นน่ะ ประชุมรวมอยู่ในธรรมกาย กายนั้นจึงชื่อว่าธรรมกาย
รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด ธรรมกายนี้มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุก ๆ คนในโลก เป็นกายที่ละเอียดที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด ผ่องใสที่สุด สวยงามที่สุด ไม่มีที่ติ เป็นกายที่สมบูรณ์ด้วยสติและปัญญา และเป็นกายที่มีแต่ความสุขอย่างเดียว ไม่มีทุกข์เจือเลยแม้แต่นิดนึง ธรรมกายนั้นตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ ของทุก ๆ คนในโลก ซ้อนอยู่ในกายภายในที่ละเอียด กายภายในนั้นมีหยาบมีละเอียดซ้อนกันอยู่ไปตามลำดับ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่หุ้มอยู่ ถ้ากิเลสหยาบกายหยาบ กิเลสละเอียดลงไปกายละเอียดลงไป เครื่องหลุดพ้นก็ค่อย ๆ ละเอียดลงไปตามลำดับ
กายต่าง ๆ ที่ซ้อนกันอยู่ภายในนั้นมีกายมนุษย์ละเอียดที่ซ้อนอยู่ในกลางตัวของกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายรูปพรหม กายธรรมซ้อนอยู่ในกลางกายอรูปพรหมซ้อนกันอยู่เข้าไปตามลำดับแต่ว่าศูนย์กลางนั้นตรงกันอยู่ที่เดียวกัน แม้ว่าศูนย์กลางที่เดียวกันซ้อนอยู่ในที่เดียวกัน ถ้าใจนั้นละเอียดไม่เท่ากับกายที่เราเห็น เราก็จะเห็นได้เฉพาะกายที่หยาบกว่า นี่ธรรมกายนี่แหละซ้อนอยู่ในกลางของกายอรูปพรหม ซ้อนเข้าไปเป็นกายที่ละเอียดที่สุด สูงที่สุด
พระพุทธศาสนาเริ่มต้นจากธรรมกายตรงนี้แหละ เริ่มต้นเรื่อยไปตามลำดับ ศาสนาพราหมณ์มาหยุดอยู่ที่กายรูปพรหม กายอรูปพรหมเหมือนอย่างอาฬารดาบส อุทกดาบส ครูทั้งสองของพระบรมศาสดาได้เข้าถึงกายอรูปพรหมที่สุดของสมาบัติ ๘ ติดอยู่ที่ตรงนี้ ศาสนาต่าง ๆ ที่มีความรู้เห็นหยาบออกมาที่ติดอยู่ในกายทิพย์ก็พูดถึงแต่เรื่องสวรรค์ ติดอยู่ในกายพรหมก็จะพูดถึงเรื่องพรหม พรหมเป็นผู้สร้างโลก ถ้าติดอยู่ในกายธรรมจะพูดถึงเรื่องพ้นโลก ขึ้นอยู่กับความรู้ความเห็นของแต่ละศาสดา ใครเข้าถึงกายไหนก็จะพูดถึงกายอันนั้น เพราะว่าความรู้ของตัวก็มีอยู่เท่านั้น แต่กายต่าง ๆ อันนี้แหละมีอยู่ในตัวของพวกเราทุก ๆ คน
พระพุทธเจ้าไม่ได้เอาเรื่องนอกตัวมาสอน กายต่าง ๆ ซ้อนอยู่หมด กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหม และกายธรรมเมื่อท่านเห็นกายในกายอย่างนี้ ก็ทรงสอนสัตว์โลกในสติปัฏฐาน ๔ ว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ต้องการความบริสุทธิ์ หมดจรดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย จะต้องทำความเพียรให้กลั่นกล้า วางใจเป็นกลาง ๆ ไม่ให้ติดอะไรในโลกนี้ ไม่ให้ยินดียินร้ายอะไรกับโลกนี้ เพราะว่าของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้น่ะ มันตกอยู่ในไตรลักษณ์คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และก็เป็นอนัตตา จะแสวงหาของที่เที่ยงแท้จริงจัง ที่ให้สุขอย่างเดียวน่ะ ในโลกนี้เป็นไม่มีเด็ดขาด
เพราะท่านก็สอนซึ่งเราจะได้ยินบ่อย ๆ ได้ฟังบ่อย ๆ ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง สังขารทั้งหลายทั้งปวงน่ะ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และก็เป็นอนัตตา เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และก็ใครบังคับบัญชา ให้มั่นคงอยู่อย่างนั้นก็ไม่ได้อีก มันเปลี่ยนไหลไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็เสื่อมสลาย จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ทั้งนั้น นี่ท่านสอนอย่างนี้เพื่อ เพื่อที่จะให้เราไม่ติดไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็จะได้ละวางปล่อยหลุดปล่อยพ้น มุ่งเข้าหาสิ่งที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง และก็เป็นอัตตา สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรมั่นคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ที่มั่นคงจริง ๆ ที่เป็นสาระจริง ๆ ให้พิจารณาอย่างหนึ่งเพื่อมุ่งเข้าหาอีกอย่างหนึ่ง แล้วก็สอนต่อไปอีกว่า ให้ตามเห็นกายในกายเนี่ย ให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ น่ะ
ตามเห็นกายในกายทำอย่างไร ท่านก็ต้องสอนตั้งแต่กายหยาบที่สุดเลยให้หลุดจากกายหยาบ ๆ ตั้งแต่พิจารณากายภายนอก พิจารณาถึงอริยาบถ พิจารณาถึงทุกสิ่งทุกอย่างกระทั่งเห็นว่าร่างกายนี้ไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารน่ะ แยกแยะออกไปเป็นอาการ ๓๒ บ้าง แล้วแต่ท่านจะแนะนำไปตามจริตอัธยาศัย เมื่อใจปล่อยวางโลกภายนอกกายภายนอกคือกายหยาบ กายมนุษย์หยาบอันนี้เมื่อปล่อยวางเข้า ใจก็มุ่งเข้าไปสู่ภายในตรงฐานที่ ๗ ไปพบกายอีกกายหนึ่งคือกายมนุษย์ละเอียด นี่ตามเห็นเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้ว พอใจปล่อยวางโลกภายนอกมันก็จะเข้าสู่โลกภายใน ปล่อยวางกายภายนอกก็จะเข้าสู่กายภายในเห็นกายมนุษย์ละเอียด
เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดได้ ก็จะทราบว่าชีวิตนี้น่ะ ไม่ใช่มีเพียงข้างนอกด้านเดียว ชีวิตของเราไม่ใช่หยุดอยู่ที่เชิงตะกอน แล้วก็หมดสิ้นกันไป ยังมีชีวิตภายในอยู่อีกที่ซ้อนกันอยู่ ที่ละเอียดลึกซึ้งถึงกายที่ ๒ กายมนุษย์ละเอียดนั้น จะมองเห็นกายมนุษย์หยาบเหมือนกับบ้านเรือนที่เราอาศัยชั่วคราว เหมือนเสื้อเหมือนผ้าที่อาศัยชั่วคราว และก็ยอมรับจริง ๆ เพราะว่าไปเห็นไปตามความเป็นจริง เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดเราจะมีความรู้สึกว่าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมนุษย์ละเอียด เมื่อกายมนุษย์ละเอียดนึกคิดอย่างนี้ ความรู้สึกก็จะท่วมท้นถึงใจของเรา และความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นในกายมนุษย์หรือสิ่งที่เนื่องกับกายมนุษย์หยาบของเราน่ะ เช่นคำว่าลูกเรา สามีเรา ภรรยาเรา ทรัพย์สมบัติของเรา อะไรต่ออะไรที่เป็นของ ๆ เรามันก็วางเพราะว่าเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย มันเป็นสมบัติของโลกนี้ ของหยาบ ๆ อย่างนี้ ก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น
เมื่อใจไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายภายนอกและสิ่งที่เนื่องกับภายนอก ความทุกข์ก็ไม่อาจที่จะแล่นเข้าไปถึงกายภายในได้ มันผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป แต่ที่เรายังมีความทุกข์อยู่ก็เพราะเรายังเข้าไปไม่ถึงกายละเอียดข้างในน่ะ ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา เป็นของ ๆ เราน่ะจึงยังมีอยู่อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าเราจะได้ยินได้ฟังคำสอนของพระบรมศาสดาอย่างไรก็ตาม หรือจะพยายามพิจารณาด้วยปัญญาหยาบอันนี้ก็ตาม จินตมยปัญญานี้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลาย แต่การที่เราจะตัดความผูกพันว่านั่นเป็นของเรานั้นน่ะ ก็ยังทำไม่ได้อยู่นั่นเอง ดีขึ้นมาได้หน่อยเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นพุทธเจ้าถึงได้สอนให้ตามเข้าไปเห็นกายภายใน เมื่อเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้ว ความทุกข์ก็จะบรรเทาลงไปเพราะความยึดมั่นถือมั่นมันมีน้อยลง เนื่องจากเห็นไปตามความเป็นจริงแล้ว ว่ากายหยาบหรือสิ่งที่เนื่องจาก กายหยาบนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัย เราจะทำมาหากินในโลกนี้เนี่ย จะร่ำรวยที่หมื่นแสนล้านก็ตาม ก็เพียงเพื่อหล่อเลี้ยงกายหยาบเท่านั้น ได้อาหารกันไปดื้อ ๆ นึง ได้เสื้อผ้าสวมใสไปขุด ๆ นึงเท่านั้น มีที่อยู่ที่อาศัยเนี่ยได้เพียงเล็กน้อย เราจะมองไปเห็นอย่างนั้นแหละ การทำมาหากินจะมีมากน้อยแค่ไหนได้แค่ไหนก็ตามก็เพียงหล่อเลี้ยงกายหยาบนี่ เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้วจะเห็นอย่างนั้น
แต่ถ้ายังเข้าไม่ถึงแล้วล่ะก็ความคิดก็แปรปรวนไป มันก็จะติดที่กายหยาบนี้แหละ คิดว่าเป็นของ ๆ เรา แล้วก็จะหวงแหนจะพยายามป้องกันที่จะไม่ให้สิ่งที่เนื่องจากตัวของเราน่ะ พลัดพรากไป แล้วก็จะพยายามแสวงหาเพิ่มขึ้นมาอีก ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพออย่างนั้น มีความรู้สึกกระหายไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนคนขัดสนอย่างนั้นน่ะ เท่าไหร่มันก็ไม่อิ่มเท่าไหร่มันก็ไม่พอ และการแสวงหาในโลกนี้นะ ทรัพย์ในโลกนี้ไอ้ที่จะได้มาด้วยความบริสุทธิ์นั้นน่ะ บริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั้นยาก จะต้องผิดศีลมั่น ฆ่าสัตว์มั่ง ลักทรัพย์มั่ง คดโกงมั่ง ประพฤติผิดในกามมั่ง พูดมุสามั่งพูดส่อเสียดมั่ง พูดให้เค้าทะเลาะกันมั่ง พูดเพ้อเจ้อมั่ง พูดคำหยาบมั่ง หรือไม่ก็จะต้องดื่มสุราเมรัยน่ะ ไอ้ที่เราอ้างว่าเข้าสังคม จะเข้ากับเค้าให้ได้นั้นน่ะ ดื่มเหล้าเข้ากับเค้า ต้องการแสวงหาทรัพย์ให้ถูกใจเค้า เค้าจะได้ช่วยเหลือเราแสวงหาทรัพย์
ทรัพย์ที่ได้มาด้วยการประพฤติผิดอย่างนี้ มันไม่คุ้มกับการที่จะต้องมาหล่อเลี้ยงขันธ์ห้าเพราะผลต่อไปนั้นน่ะ สิ่งที่เราทำนั้นมันไม่หายไปไหน มันก็ติดเข้าไปในตัวในใจของเราและก็ส่งผลต่อไปเป็นวิบากกรรมมาอีก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เข้าเห็นกายภายใน จะได้ละวางกายภายนอก ปลดปล่อยวางบรรเทาไป ยิ่งถ้าหากว่าพิจารณากายมนุษย์ละเอียดเข้าไปอีกว่ากายมนุษย์ละเอียดนี่มันก็ยังไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา แต่ว่าเป็นความคิดที่ละเอียดอ่อนกว่าความคิดอันแรก ถึงแม้จะเป็นคำ ๆ เดียวกัน เหมือนกัน จะสังเกตได้ว่าเราใช้คำๆ เดียวกันว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กายหยาบก็ใช้คำนี้น่ะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และก็เป็นอนัตตา แต่ความรู้สึกนี้มันจะแตกต่างกันออกไป คำ ๆ เดียวกันนั้นนะ
มันแตกต่างกันออกไป เหมือนความสุขก็มีอยู่คำเดียวน่ะ ความสุขของกายมนุษย์หยาบ ปริมาณความสุขมันก็เพียงเล็กน้อย ความทุกข์มันก็มาก แต่ความสุขที่ใช้กับเมื่อใจเราเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดนั้นน่ะ คำ ๆ เดียวกันแต่ปริมาณมันก็เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่ใช้ในกายมนุษย์หยาบกับกายมนุษย์ละเอียดเป็นอันนั้น แม้คำ ๆ เดียวกัน แต่ความรู้สึกนั้นจะไม่เท่ากัน มันจะแตกต่างกันไปอย่างนี้ ใจเมื่อพิจารณาเห็นกายมนุษย์ละเอียดเป็นอย่างนี้แล้วมันก็จะสลดเกิดธรรมสังเวชนะ และก็เบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด คือยึดว่ากายมนุษย์ละเอียดเป็นของเราอย่างแท้จริงน่ะ มันก็หมดไป
เมื่อคลายความกำหนัดจิตมันก็หลุดพ้นจากกายมนุษย์ละเอียด เมื่อหลุดพ้นจิตมันก็บริสุทธิ์ พอบริสุทธิ์ก็เห็นความบริสุทธิ์อยู่ที่กลางของกายมนุษย์ละเอียดเป็นดวงใส แล้วเข้ากลางดวงใสต่อไปอีก ไม่ช้าก็เข้าถึงกายทิพย์ พอเข้าถึงกายทิพย์ความรู้สึกของกายทิพย์ที่มองดูกายมนุษย์ละเอียด ก็จะละเอียดอ่อนไปอีกชั้นหนึ่งว่าแหม่กายมนุษย์ละเอียดเมื่อสักครู่นี้เราเห็นว่ามันเป็นจริงเป็นจัง พอเข้ามาถึงกายทิพย์กายมนุษย์ละเอียดก็เป็นเพียงเครื่องอาศัย เป็นทางผ่านอีกเหมือนกัน ที่จะให้เข้าถึงกายทิพย์จะมองเห็นไปอย่างนั้นทีเดียว ความรู้สึกของกายทิพย์ก็จะคิดอย่างเนี้ยว่า กายมนุษย์ละเอียดนี่ มันยังไม่พ้นทุกข์ แต่ว่ามันดีขึ้นเท่านั้น ดีขึ้นแต่ว่าไม่พ้นทุกข์
สู้อยู่ที่กายทิพย์นี่ไม่ได้ มีความสุขมากกว่า เพิ่มขึ้น ปริมาณเพิ่มขึ้น ความมั่นคงก็รู้สึกว่ามันจะมั่นคงขึ้น ถ้าเป็นบ้าน กายมนุษย์หยาบก็เหมือนกับหลังคามุงจาก พอถึงกายมนุษย์ละเอียดก็เหมือนมุงสังกะสีขึ้นมาพอถึงกายทิพย์ก็เหมือนกับมุงกระเบื้องขึ้น มันก็มั่นคงขึ้นไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกมันก็แตกต่างกันออกไป นี่แหละเข้าไปในทำนองอย่างนี้ กายทิพย์ กายพรหมก็มองกายทิพย์ไปอีกแบบหนึ่ง กายอรูปพรหมก็มองไปอีกแบบหนึ่งความรู้สึกที่มีต่อกายอรูปพรหม พอถึงกายธรรมเท่านั้น หลุดหมด หลุดพ้นจากกายเหล่านี้ทั้งหมด แล้วถึงกายธรรมเข้ามันก็จะเกิดญาณหยั่งรู้ขึ้น เกิดขึ้นเมื่อเข้าถึงกายธรรม ว่ากายธรรมอันนี้แหละคือสิ่งที่เรากำลังแสวงหามาตลอด นับภพนับชาติไม่ถ้วน และรู้จักว่า อ้อกายธรรมนี้เป็นกายที่เป็นสาระมั่นคงจริง ๆ ไม่มีเปลี่ยนแปลงเลย
เพราะความมั่นคงของกายธรรมอันนี้เนี่ย ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ไหลตลอดเวลาจึงเรียกธรรมกายนี้ว่า ธรรมขันธ์เรียกว่าธรรมขันธ์คือขันธ์ทั้ง ๕ ของธรรมกายเป็นธรรมล้วน ๆ มั่นคงจริง ๆ บริสุทธิ์จริง ๆ ถูกจริง ๆ ดีจริง ๆ สมบูรณ์จริง ๆ ส่วนกายอรูปพรหมก็ดี กายรูปพรหมก็ดี กายทิพย์ก็ดี กายมนุษย์ละเอียดก็ดี กายมนุษย์หยาบก็ดีที่ยังอยู่ในภพทั้ง ๓ เรียกว่าขันธ์ ๕ เบญจขันธ์ ขันธ์ ๕ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาน่ะ ส่วนกายธรรมเรียกธรรมขันธ์ การเรียกชื่อมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวธรรมที่มันเป็นจริงเกิดขึ้นมา นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปอย่างนี้ เข้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงกายธรรม
เพราะฉะนั้นกายธรรมนี่แหละจึงเป็นหลักของพระพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้าเริ่มต้นจากเมื่อเข้าถึงกายธรรมและปฏิญาณว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อเข้าถึงกายธรรมละเอียดที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง ไม่ติดอะไรเลยในภพทั้ง ๓ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ปฏิญาณตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสทั้งหลายมันก็ร่อนไปหมด ร่อนหลุดไปหมดเป็นธรรมกายอรหัต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บริสุทธิ์จริง ๆ นั่นบารมีของท่านเต็มเปี่ยมล้วน ที่สร้างมา ๓๐ ทัศจึงเป็นเหตุให้ท่านหลุดร่อนจากกิเลสจากอาสวะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ไม่ต้องเกิดอีกแล้ว
แต่ธรรมกายที่เราจะเรียนกันอยู่ในวันนี้น่ะ เป็นธรรมกายโคตรภู เป็นธรรมกายเบื้องต้น ยังไม่ได้ก้าวย่างไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า เป็นจุดที่อยู่กึ่งกลางระหว่างโลกียกับโลกุตตระ อยู่ระหว่างกายของเบญจขันธ์และก็กายของพระอริยเจ้า นั่นเรียกว่าโคตรภู เมื่อเราอยู่ในกายธรรมอันนี้ถ้าประมาทพลาดพลั้ง ก็มีโอกาสจิตถอยกลับมาตกอยู่ในโลกียภูมิได้ แต่ถ้าไม่ประมาทพลาดพลั้ง ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ดีก็มีโอกาสจะก้าวย่างสู่ความเป็นพระอริยเจ้าได้ การที่จะเข้าไปเห็นกายต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วนั้น มีวิธีเดียวเท่านั้นคือฝึกใจให้หยุดนั่นเอง
เราจะสังเกตได้พระพุทธเจ้าท่านสอน คำสอนท่านจะเรียงไปตามลำดับในอริยสัจ ๔ คือให้มองชีวิตทั้งหลายน่ะว่ามันเป็นทุกข์จริง ๆ ตั้งแต่เกิดมาเรื่อยมาเลยน่ะ ความทุกข์สารพัด มองชีวิตทั้งหลายเห็นว่าเป็นทุกข์ถ้าเรียงเป็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค น่ะ นั่นแหละคำสอนที่จะมุ่งไปสู่พระนิพพาน ให้เห็นชีวิตว่าเป็นทุกข์ และก็มองว่าไอ้ความทุกข์ทั้งหมดน่ะ เกิดมาจากความทะยานอยาก อยากจะให้ชีวิตนั้นมีความสุข แต่เนื่องจากความรู้ไม่สมบูรณ์ก็แสวงหาไปตามรสนิยมต่าง ๆ เนื่องจากว่าไม่รู้ไปตามความเป็นจริงน่ะ ไม่รู้ว่าอะไรคือความสุข เหมือนไม่รู้ว่าอะไรคือข้าวน่ะ ไปคว้าอย่างอื่นมาทานแทนข้าวอย่างนั้น
ยังไงมันก็ไม่อิ่ม ความทะยานอยากอันนี้แหละ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ คือจิตมันดิ้นรนไปเรื่อย ๆ มันวิ่งออกไปข้างนอก วิ่งไปติดในรูปมั่ง ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสเพราะคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะให้ทำให้ตัวมีความสุข มันก็แล่นไปเนื่องจากมันคิดได้แค่นั้นน่ะ เกิดมาเจอไอ้อย่างนี้มันก็คิดได้อย่างเนี่ย เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็ความอยากก็ทุรนทุรายวิ่งวุ่นไป วนกันอยู่อย่างนั้นน่ะ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าท่านมาสอนให้เห็นว่า สิ่งนี้น่ะมันไม่จริงจังอะไรหรอก ให้ทำนิโรธ พิโรธนั้นแปลว่าหยุด แปลว่า นิ่ง คือหยุดใจซะให้ได้
เมื่อใจหยุดได้แล้วเนี่ย ความอยากมันก็ดับไป หยุดใจให้ได้เนี่ย นิโรธนะ หยุด พอใจหยุดได้ ความอยากมันก็ดับ ลองไปถามคนที่เค้าหยุดได้น่ะ เค้าจะมีความรู้สึกว่าไม่ต้องการอะไรน่ะ ต้องการจะเข้าไปสู่ภายใน พอหยุดได้ถูกส่วนมรรคก็เกิด มรรคเป็นยังไง มรรคเบื้องต้นก็เป็นควงสว่าง จะเห็นหนทางเดินเข้าไปสู่ในนั้นน่ะ เป็นดวงใสบริสุทธิ์ เข้ากลางมรรคนั้นก็เห็นดวงศีล เป็นดวงใสบริสุทธิ์ เข้ากลางดวงศีลก็เห็นดวงสมาธิ เข้ากลางดวงสมาธิก็เห็นดวงปัญญา เข้าไปอย่างนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นกายภายในไปตามลำดับ นี่ท่านเรียงคำสอนมาอย่างดีแล้วนะ
เราก็ไปแปลกันไปอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้แปลเข้าสู่แนวการปฏิบัติจึงเข้าไม่ถึงธรรมกาย เพราะฉะนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าเริ่มต้นมาจากเมื่อพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ธรรมกายนี้จึงเป็นหลักของพระศาสนา อันนี้เป็นแผนผังทางพุทธศาสนา จะต้องทำให้มันมีให้มันเป็นให้มันเกิดขึ้นแก่ตัวของเราให้ได้ เราเข้าถึงธรรมกายได้ในภพนี้ชาตินี้ ชีวิตของเราก็จะเป็นชีวิตที่ สมบูรณ์มีความสุข ความสุขที่พูดไม่ออก บอกใครก็ไม่ถูกเหมือนเพราะว่าไม่มีคำที่จะอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ ลองเลียบเคียงคนที่เข้าถึงธรรมกายแล้วลองถามดู จะทราบว่าสุขที่เกิดขึ้นจากการเข้าถึงธรรมกายนั้นน่ะยิ่งใหญ่ไพศาลเพียงไร
เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ดีแล้วน่ะ ต่อจากนี้ไปเราจะได้ตั้งใจชำระกายวาจาใจของเราให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ขอให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงที่หลวงพ่อจะแนะนำต่อไปนะ ให้ทุกคนกำหนดนึกเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้นเส้นเชือกเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกทั้ง ๒ จะตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าฐานที่ ๗ ให้กำหนดนึกบริกรรมนิมิตนึกเป็นดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว ให้นึกเป็นดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว ให้ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดก็คือการนึกสร้างมโนภาพว่าตรงฐานที่ ๗ มีดวงแก้วใส ๆ บริสุทธิ์ตั้งอยู่ที่ตรงนั้น เวลานึกให้นึกอย่างสบาย ๆ ใจน่ะ นึกด้วยใจที่บริสุทธิ์ ด้วยใจที่เบิกบาน ที่แช่มชื่น ที่สบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรซักเรื่องหนึ่ง
และก็ให้มันต่อเนื่องกันไป เป็นดวงใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดตั้งอยู่ที่ตรงนั้นนะ ตรึกนึกถึงความใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิตดวงนี้ พร้อมกับให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ดวงแก้วใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรานะ ตรงจุดกึ่งกลางตรงจุดกึ่งกลางของฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นทางไปสู่พระนิพพานนะ เป็นทางที่จะเข้าถึงธรรมกาย เราจะภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจจะหยุดนิ่งมั่นคง ไม่คิดเรื่องอื่นเลยน่ะ มีแต่ดวงแก้วใสบริสุทธิ์อยู่ในกลางตัวอย่างเดียว ถ้าได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องภาวนาสัมมาอะระหังนะ รักษาแต่ดวงใสบริสุทธิ์อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป ต่อจากนี้ไปต่างคนต่างทำกันเงียบ ๆ นะ
เราสวดมนต์ทำวัตรเช้ากันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ขอเรียนเชิญตั้งใจหลับตาเจริญภาวนากัน ขอเรียนเชิญทุกท่านนั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ท่านผู้ใดนั่งขัดสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ หลับตาของเราเบา ๆ ทุก ๆ คน หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ยังไม่ต้องนึกคิดอะไรทั้งสิ้น ยังไม่ต้องภาวนาอะไร รู้จักทำใจของเราให้ว่างเปล่าจากความคิดทั้งปวงขยับท่านั่งให้มั่นคง ให้ปลอดโปร่งสบาย ๆ ให้มีความรู้สึกว่าเราจะนั่งไปได้นานเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่รู้สึกปวดเมื่อย กระสับกระส่ายทุรนทุราย หลับตาพอสบาย ๆ ปล่อยวางภารกิจเครื่องกังวลที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้น
ตั้งแต่เรื่องภารกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว ต้องทำความรู้สึกว่าเราตายแล้วจากทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ตายจากครอบครัวจากธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน ขณะนี้ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีภารกิจเครื่องกังวลอะไรทั้งสิ้น ทำใจให้ปลอดโปร่งว่างเปล่ากันชั่วขณะหนึ่ง ในวันนี้จะต้องปลดปล่อยวางภารกิจเครื่องกังวลใจให้หมดสิ้น ให้เหลือแต่กายและใจเท่านั้นที่เราจะอาศัยประพฤติปฏิบัติเข้าให้ถึงธรรมกาย ภายในตัวได้ ธรรมกายนี่แหละเป็นหลักของพระพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้าเริ่มต้นจากธรรมกาย
เมื่อพระองค์ท่านได้เข้าถึงธรรมกายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย จนแยกออกจากกันไม่ได้ ธรรมกายก็คือท่าน ท่านก็คือธรรมกาย ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ ว่าตัวท่านคือธรรมกาย ธรรมกายก็คือตัวท่าน คือใจของกายมนุษย์หยาบของท่านกับใจของธรรมกายเป็นอันเดียวกันหมด ใจท่านร่อนจากกายมนุษย์หยาบ ร่อนจากกายทั้งหลายทั้งปวง จากกายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหมที่ซ้อน ๆ กันอยู่ภายใน ร่อนจากกายธรรมโคตรภู พระโสดา สกิทาคา พระอนาคา ติดอยู่ในกายธรรมอรหัตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายทั้งหมด แยกออกจากกันไม่ได้ ใจร่อนติดไปอยู่ที่ตรงนั้นตลอดทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับตาลืมตา นั่ง นอน ยืน เดิน ติดอยู่ในธรรมกายนะ เหมือนรสเขียวในมะนาว รสหวานในน้ำตาลอย่างนั้น ติดสนิทเป็นเนื้อเดียวกันไปหมดเลย
เพราะฉะนั้นความรู้ทั้งหลายที่หลั่งไหลออกมา จึงเป็นความรู้ของธรรมกายอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปราศจากธุลีกิเลสแล้ว ปราศจากอาสวะกิเลสคือความโลภความโกรธ ความหลง สังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูงที่หมักดองจิตใจของพระองค์ท่านมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ให้คิดผิด พูดผิด ทำผิดและผลแห่งความผิดนั้นก็เป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร เมื่อเข้าถึงธรรมกายได้แล้ว กิเลสอาสวะทั้งหลายนั้นก็หมดสิ้นไป หมดสิ้นไปหมด เหมือนน้ำกรดกัดมลทินของทองให้หมดสิ้นไป เหลือแต่ทองคำที่บริสุทธิ์ ธรรมกายซึ่งเป็นธาตุบริสุทธิ์ที่ปรากฏขึ้นกับพระองค์ท่าน ในคืนวันเพ็ญวิสาขบูชา ธรรมกายก็คือท่านท่านก็คือธรรมกาย
ในสมัยหนึ่งมีพราหมณ์ผู้หนึ่ง มองเห็นพระวรกายของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้เข้าไปทูลถามว่าพระองค์มีพระวรกายที่งดงามเนี้ย ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ เป็นมนุษย์หรือเทวดา ท่านก็บอกว่าท่านก็ไม่ได้เป็นทั้ง ๒ อย่าง เป็นอมนุษย์หรือ ท่านก็บอกท่านไม่ได้เป็น พราหมณ์ผู้นั้นก็อัดอั้นตันปัญญาไม่ทราบจะถามอย่างไรต่อ เพราะความรู้ของตนน่ะไปกันตรงอมนุษย์ เทวดา ก็เลยรู้สึกหงุดหงิดอยู่ในใจว่าเห็นกันอยู่จะ ๆ ด้วยตาของพราหมณ์ มันน่าจะเป็นเทวดา เพราะรัศมีฉัพพรรณธรังสีสว่างไสวประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ไม่เป็นเทวดาก็ต้องเป็นอมนุษย์จะเป็นมนุษย์ไม่ได้ แต่พระองค์ก็ยืนยันไม่ได้เป็นทั้งหมดเลย
เทวดาก็ไม่ได้เป็นอมนุษย์ก็ไม่ได้เป็น ท่านบอกท่านเป็นธรรมกาย ท่านบอกท่านเป็นธรรมกาย ทีนี้ธรรมกายของพระองค์ท่านน่ะมีเกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้วประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการ เช่นเดียวกับกายเนื้อของพระองค์ท่าน ต่างแต่มีเกตุดอกบัวตูม พระองค์ท่านก็ยังยืนยันว่าท่านเป็นธรรมกาย แสดงว่าใจของท่านกับใจของธรรมกายมันเป็นอันเดียวกันซะแล้ว ไม่มีความรู้สึกในกายมนุษย์เลย ความรู้สึกว่าติดอยู่ในกายมนุษย์เลย ไม่มีความรู้สึกติดอยู่ในกายมนุษย์ ความรู้สึกเป็นของธรรมกายไปหมด มีความบริสุทธิ์ล้วนๆ สะอาดล้วน ๆ นั่นยืนยันกับพราหมณ์ผู้ถามอย่างนั้น เพราะฉะนั้นธรรมกายนี่แหละเป็นหลักของมนุษย์ เป็นหลักของชีวิต เป็นหลักของพระศาสนา บุคคลใดก็ตามปฏิบัติธรรมเพื่อแสวงหาหนทางพระนิพพาน ถ้ายังเข้าไม่ถึงธรรมกาย ยังไม่ได้ชื่อว่าเข้าถึงสาระแก่นสารของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องทำธรรมกายให้เป็นให้ได้
วันนี้จะสอนวิธีการเข้าถึงธรรมกายสำหรับท่านที่มาใหม่ ส่วนท่านที่มาเป็นประจำนั้นก็ให้ประพฤติปฏิบัติธรรมไปเลย ให้เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายเลย ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แต่สำหรับท่านที่มาใหม่ให้นึกน้อมจิต นึกน้อมจิตนึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปทุก ๆ คนนะ การที่จะเข้าถึงธรรมกายได้นั้น เราจะต้องทราบว่าธรรมกายนั้นอยู่ที่ไหน ธรรมกายนั้นสิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือภายในกึ่งกลางตัว จะเข้าถึงธรรมกายได้นั้นจะต้องเห็นกายในกายต่างๆ ซ้อนกันอยู่ภายในเข้าไปตามลำดับ การที่จะเห็นกายในกายซ้อนกันอยู่อย่างนั้น จะต้องเห็นปฐมมรรค เข้าถึงปฐมมรรค
ปฐมมรรคมีลักษณะเป็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่าปฐมมรรคทั้งสิ้น แปลว่าหนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย หนทางเบื้องต้นที่จะไปสู่พระนิพพาน จะปฏิบัติแบบไหนวิธีการใดก็ตามทีเถอะ ถ้ายังไม่ได้ปฐมมรรคเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นไม่ พบธรรมกายอย่างเด็ดขาด แต่ว่าจะปฏิบัติวิธีใดก็ตามเถอะ จะภาวนาอะไรก็ตามเถอะ ถ้าได้ปฐมมรรคเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ เป็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น ถ้าพบอย่างนี้จึงจะเข้าถึงธรรมกายได้ และการจะเข้าถึงธรรมกายต้องเข้าสู่กลางนั้น ถ้าไม่เข้าสู่กลางนี้เป็นไม่พบธรรมกาย
วันนี้จะสอนวิธีการเข้าถึงธรรมกายสำหรับท่านที่มาใหม่ ส่วนท่านที่มาเป็นประจำนั้น ก็ให้ประพฤติปฏิบัติธรรมไปเลย ให้เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายเลย ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แต่สำหรับท่านที่มาใหม่ให้นึกน้อมจิต นึกน้อมจิตนึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปทุก ๆ คนนะ การที่จะเข้าถึงธรรมกายได้นั้น เราจะต้องทราบว่าธรรมกายนั้นอยู่ที่ไหน ธรรมกายนั้นสิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือภายในกึ่งกลางตัว จะเข้าถึงธรรมกายได้นั้นจะต้องเห็นกายในกายต่างๆ ซ้อนกันอยู่ภายในเข้าไปตามลำดับ การที่จะเห็นกายในกายซ้อนกันอยู่อย่างนั้น จะต้องเห็นปฐมมรรค เข้าถึงปฐมมรรค
ปฐมมรรคมีลักษณะเป็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่าปฐมมรรคทั้งสิ้น แปลว่าหนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย หนทางเบื้องต้นที่จะไปสู่พระนิพพาน จะปฏิบัติแบบไหนวิธีการใดก็ตามทีเถอะ ถ้ายังไม่ได้ปฐมมรรคเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นไม่พบธรรมกายอย่างเด็ดขาด แต่ว่าจะปฏิบัติวิธีใดก็ตามเถอะ จะภาวนาอะไรก็ตามเถอะ ถ้าได้ปฐมมรรคเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ เป็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น ถ้าพบอย่างนี้จึงจะเข้าถึงธรรมกายได้ และการจะเข้าถึงธรรมกายต้องเข้าสู่กลางนั้น ถ้าไม่เข้าสู่กลางนี้เป็นไม่พบธรรมกาย
การปฏิบัติในโลกนี้ขณะนี้มีอยู่ ๓ แบบใน ๔๐ วิธี แบบที่ ๑ ส่งจิตออกข้างนอก แบบที่ ๒ ส่งจิตเข้าสู่ภายใน แบบที่ ๓ นำจิตเข้าสู่กลาง กลางตัวไปเรื่อย ๆ แบบที่ ๑ ที่ส่งจิตออกภายนอกนั้นมักจะพบภาพนิมิตที่เลื่อนลอย บางครั้งเป็นภาพที่นำมาซึ่งความปิติเช่นภาพพระพุทธรูปมั่ง ภาพแสงสว่างมั่ง ภาพดวงมั่ง ภาพของเทพบุตรเทพธิดามั่ง บางครั้งก็พบภาพที่ไม่น่าดู นำมาซึ่งความวิตกความสะดุ้งหวาดเสียวกลัว คือเห็นภาพที่น่าเกลียดน่ากลัว ตรงกันข้ามกับภาพที่สวยสดงดงาม นี่เป็นแบบที่ ๑ หรือประเภทที่ ๑ ซึ่งมีปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปในโลกนี้
แบบที่ ๒ คือนำจิตเข้ามาสู่ภายใน ตั้งอยู่ภายในตัวแบบนี้ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้รู้จักว่า ห้ามส่งจิตออกไปสู่ภายนอก เพราะว่าจะพบนิมิตที่เลื่อนลอย นิมิตต่าง ๆ เป็นของที่ไม่จริงแท้ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนิมิตอะไรก็ตาม ถือว่าเป็นนิมิตที่เลื่อนลอย ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้น แบบนี้ปฏิบัติไปใจก็จะปล่อยวางเข้าไปสู่ภายใน พบความสว่างภายใน พบดวงสว่างภายใน นิมิตอะไรเกิดขึ้นก็ปล่อยวางหมดไม่สนใจ เอาแต่ความสว่างภายใน จิตมีพลังมีความสุขสดชื่น มีสติมีปัญญามากกว่าที่ส่งจิตภายนอก ออกสู่ภายนอก ไม่พบนิมิตที่เลื่อนลอย แต่เมื่อพบนิมิตจริง ๆ ก็ไม่รู้จัก อยู่ภายในดีว่าเป็นนิมิตเลื่อนลอยไปหมด พวกนี้เมื่อจิตถอนขึ้นมาแล้ว ก็พิจารณาปลดปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ด้วยการยกใจขึ้นสู่ไตรลักษณ์ พิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็เสื่อมสลาย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นแม้กระทั่งธรรมภายในก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางหมด พอปล่อยวางแล้วก็ได้ความสว่างเป็นสุขอยู่ในความสว่าง จิตสะอาดบริสุทธิ์หมดจด จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าไม่ติดอะไรเลยในโลกนี้ ไม่ติดอะไรเลยในโลกทิพย์ ไม่ติดอะไรเลยในภพทั้ง ๓ แล้วก็เหมาเข้าใจตัวว่าชาตินี้เป็นชาติที่สุดแล้ว นี่คือแบบที่ ๒ ที่ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในโลกนี้
แบบแรกกับแบบที่ ๒ นี้จะไม่พบธรรมกายเลย ดังนั้นเมื่อได้ยินความรู้เกี่ยวกับเรื่องธรรมกายแล้วก็สงสัยคลางแคลงลังเล และก็ไม่เชื่อ เหมาเอาว่าเป็นนิมิตที่เลื่อนลอยไม่ถูกต้อง อันนี้เป็นแบบที่ ๒ ที่มีปฏิบัติกันอยู่ใน ๒ แบบเป็นจำนวนมาก ไม่รู้จักธรรมกาย ก็เลยเหมาเอาว่าธรรมกายนั้นไม่มีหรือมีไม่จริง เป็นนิมิตเลื่อนลอยที่สมมติขึ้นมาไปยึดมั่นถือมั่นติดในนิมิต แต่แบบที่ ๓ นั้นจิตเข้าไปสู่ภายในตัวตั้งมั่นอย่างดีแล้วที่ฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ปฏิบัติไปถูกส่วนใจปล่อยวางอารมณ์ภายนอก พอหยุดนิ่งถูกส่วนก็เข้าถึงปฐมมรรคเห็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์ เห็นเช่นเดียวกับ ๒ วิธีแรก วิธีแรกดวงเกิดขึ้นข้างนอก วิธีที่ ๒ ดวงเกิดขึ้นเหนือฐานที่ ๗ ขึ้นมาแถวกลาง ๆ ทรวงอกแถวลิ้นปี่ และก็ปล่อยวางเฉย ๆ ทิ้งไป
แต่แบบที่ ๓ นี้ได้ถึงปฐมมรรคติดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ครูบาอาจารย์หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนต่อไปอีกว่าให้เข้าสู่เส้นทางสายกลางตรงนี้เข้าไป เข้าสู่เส้นทางสายกลางซึ่งเป็นทางเดินของพระอริยเจ้า อริยมรรคทั้งหลายมารวมประชุมพร้อมกันอยู่ที่ตรงนี้เรียกว่ามรรคสมังคี การประชุมพร้อมกันของมรรค ๘ มรรค ๘ อยู่ที่ตรงนี้ มรรค ๘ เมื่อประชุมพร้อมกันแล้วมีลักษณะเป็นดวงใส ๆ ดวงเดียวเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายอย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน มรรคสมังคีการประชุมของมรรคเกิดขึ้นตรงนี้เรียกว่าปฐมมรรค เป็นหนทางเบื้องต้น ทางเดินของใจเบื้องต้นเกิดขึ้นอยู่ที่ตรงนี้ ให้ดำเนินจิตต่อไปอีกอย่าถอยหลังหรืออยู่กับที่ ถ้าอยู่กับที่จิตมันก็จะถอนขึ้นมาอีก พอถอนขึ้นมาก็เข้าสู่อารมณ์ภายนอก เมื่อเข้าสู่อารมณ์ภายนอกก็จะต้องมาพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
ปล่อยวางก็เข้าไปสู่ภายใน แต่ถึงตรงนี้แล้วท่านบอกให้ดำเนินจิตต่อไปอีก ให้เข้าสู่กลางนี้ต่อไปอีก ไม่ช้ามรรคสมังคีนั้นก็จะแยกออกขยายส่วนกว้างออกเข้าถึงดวงศีล เข้าถึงสมาธิ เข้าถึงปัญญา เข้าถึงวิมุตติ เข้าถึงวิมุตติญาณทัสสนะซึ่งมีอยู่ภายใน เมื่อดำเนินจิตต่อไปอีกก็จะพบกายในกาย กายในกายตามสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ กายใดก็ตามที่เห็นอยู่ภายในนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ให้ปลดให้ปล่อยให้วาง ปล่อยวางไปเรื่อย ๆ ปล่อยวางผ่านไปเรื่อย ๆ กายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์นี้เรียกว่าขันธ์ ๕ น่ะมีกายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ทั้งหมดเหล่านี้นะให้ปลดให้ปล่อยให้วาง เป็นทางผ่านของใจทั้งหมด อย่าไปยึดกายในกายหนึ่งว่าเป็นของจริงจัง
เมื่อปล่อยวางถูกส่วนเข้าไม่ช้าก็จะเข้าถึงกายธรรมซึ่งเป็นกายละเอียดที่สุด มีหลายระดับชั้นเข้าไปตั้งแต่กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหัตเรื่อยไปตามลำดับ ที่เรียกชื่อแตกต่างกันนั้นก็อาศัยอยู่ว่ากิเลสห่อหุ้มดวงจิต ห่อหุ้มกายของกายธรรมเหล่านั้นน่ะมีมากน้อยเพียงไร ถ้ามีมากหน่อยก็เรียกกายธรรมโคตรภู มีหย่อนลงไปก็กายธรรมพระโสดา หย่อนลงไปอีกก็เรียกกายธรรมพระสกิทาคามี หย่อนลงไปก็เรียกกายธรรมพระอนาคามี ไม่มีเลยก็เรียกกายธรรมอรหัตเป็นไปตามลำดับอย่างนั้นแหละ
กายที่ท่านมุ่งหวังจะให้เข้าถึงคือกายธรรมพระอรหัตที่อยู่ภายใน ใจติดอยู่ภายในนั้นเลย กายธรรมไม่ได้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ จึงไม่เรียกกายธรรมว่าขันธ์ห้า แต่ท่านเปลี่ยนเรียกว่าธรรมขันธ์เรียกว่าธรรมขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณยังมีอยู่แต่เปลี่ยนรูป เป็นรูปที่บริสุทธิ์จึงเรียกใหม่ว่าธรรมขันธ์ ส่วนของกายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหมน่ะ ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ ท่านเรียกว่าขันธ์ห้า นี่ให้แยกส่วนกันไปอย่างนี้ ถ้าแยกอย่างนี้ได้แล้ว การปฏิบัติไม่ว่าเราจะปฏิบัติที่ไหนก็ตาม ตามป่าตามเขา ตามห้วยตามหนอง ตามคลองตามบึง ปฏิบัติตามแผนผังอย่างนี้แล้ว แม้ปฏิบัติคนเดียวก็ทำได้
ในสมัยพุทธกาลภิกษุทั้งหลายได้เข้าเฝ้าทูลถามวิธีการปฏิบัติต่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านก็ได้ทรงแนะนำตามนัยดังกล่าวนี้นี่แหละ ท่านตรัสถึงกายในกายต่าง ๆ เรื่อยไปตามลำดับ ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบที่เราอาศัยนั่งเข้าที่นี้ กายมนุษย์ละเอียดที่ซ้อนอยู่ภายใน กายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ละเอียด กายพรหมซ้อนอยู่ภายในกายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภูซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม กายธรรมพระโสดาซ้อนอยู่ในกายธรรมโคตรภู กายธรรมพระสกิทาคาซ้อนอยู่ภายในกายธรรมพระโสดา กายธรรมพระอนาคาซ้อนอยู่ในกายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอรหัตซ้อนอยู่ในกายธรรมพระอนาคามี แล้วท่านก็บอกหมดว่ากิเลสที่หุ้มแต่ละกายนั้นน่ะ มันมีอยู่เรียกว่าอะไร เช่นกิเลสที่หุ้มอยู่กายมนุษย์หยาบ
ท่านเรียกว่าอภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ กิเลสตระกูลนี้มันหุ้มกันอยู่ ถ้าละเอียดขึ้นไปอยู่ในกายทิพย์มีก็มีโลภะ โทสะ โมหะ อยู่ในกายพรหม ก็มีราคะโทสะ โมหะ อยู่ในกายอรูปพรหม ก็มีกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย อยู่ในกายธรรมโคตรภู ก็มีสังโยชน์หุ้มเป็นชั้น ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ เลย ท่านเรียกขึ้นไปตามลำดับว่า ให้เธอพึงพิจารณาปฏิบัติอย่างนี้ กิเลสอย่างนี้ ชื่ออย่างนี้ ห่อหุ้มกายอย่างนั้น ห่อหุ้มจิตอย่างนั้น ห่อหุ้มอย่างนั้น เกิดเวทนาอย่างนี้ เกิดธรรมอย่างนี้ ท่านก็สอนเรื่อยไปตามลำดับแผนผังของชีวิตของทุก ๆ คน แล้วท่านก็สอนเอาไว้ว่าจิตที่เรามุ่งหวังที่สุดคือความหลุดพ้น จากกายทั้งหลายทั้งปวงที่มีกิเลสหยาบละเอียดห่อหุ้มอยู่ ที่มีสังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูงห่อหุ้มอยู่ที่ผูกพันติดอยู่ในภพทั้ง ๓ เป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิด
ให้ปลดให้ปล่อยให้วาง ให้เข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันต์ ติดอยู่ในกลางกายธรรมอรหัต ติดอยู่ในกลางกายธรรมอรหัตนั้น นี่คือเป้าหมายของชีวิต เมื่อติดเป็นอันหนึ่งอันเดียวแล้ว แยกออกจากกันไม่ได้ ภพชาติก็สิ้นไป ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย จะเสวยสุขอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์เลย มีนิพพานเป็นที่ไป สอนเสร็จท่านก็ชี้ว่า โน่นเรือนว่าง นั่นโคนไม้ โน่นลอมฟาง นั้นเงื้อมผา นั่นถ้ำ นั่นในหุบในห้วยในเหว นั่นป่าลึก ป่าช้า ป่าชัฏ เธอแยกย้ายไปทำความเพียรเอาตามแผนผังที่ตถาคตได้ชี้แจงไปอย่างเนี้ย ภิกษุทั้งหลายเมื่อรับคำแล้วก็แยกย้ายกันไปประกอบความเพียร ทำความเพียร ในอริยาบถทั้ง 4 ประกอบไปด้วยจาตุรังควิริยะ เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือกระดูกหนังช่างมัน ไม่ได้ก็ตายเถอะ ปล่อยชีวิตกันทีเดียว ถ้าออกพรรษาแล้วท่านก็ปล่อยให้เดินธุดงค์กันไป ถ้าอยู่ในพรรษา ท่านก็ให้ทำความเพียรตลอดในพรรษาด้วยวิธีการดังกล่าวอย่างนี้แหละ
วิธีเหล่านี้สูญสิ้นไปหลังพุทธปรินิพพานได้ ๕๐๐ ปี สัทธรรมได้อันตรธานจากโลกไปแล้ว สัทธรรมแปลว่าธรรมที่ทำให้มันเป็นขึ้นมา เป็นเนื้อเป็นตัว เป็นดวง เป็นกายขึ้นมาเรียกว่าสัทธรรม ได้อันตรธานหลังจากพุทธปรินิพพาน ๕๐๐ ปี เพราะฉะนั้นบัดนี้เป็นโชคของพวกเราทั้งหลาย หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านได้ค้นคว้าเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาได้ธรรมกายบังเกิดขึ้นอีกครั้งในโลก พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการอย่างมาก ควรจะต้องขวนขวายทำธรรมกายของเราให้เป็นให้ได้ พรรษานี้อากาศกำลังสดชื่นไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป เหมาะสมต่อการทำความเพียรอย่างยิ่ง ให้ใช้เวลาในพรรษานี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม จะสมหวังทุก ๆ คน เพราะว่าปีนี้เป็นปีแห่งการตรัสรู้ธรรม เป็นปีแห่งแสงสว่าง ถ้าทุกคนตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจังแล้ว จะต้องเข้าถึงธรรมกายกันอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นธรรมกายนี่แหละเป็นหลักของชีวิต เป็นหลักของศาสนา เป็นหลักของโลก ถ้าทุก ๆ คนในโลกเข้าถึงธรรมกายได้ โลกนี้จะเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง ไม่มีวิธีการใดเลย ที่จะขจัดความคิดเบียดเบียนของมนุษย์ซึ่งกันและกัน ขจัดความเห็นแก่ตัว ขจัดภัยสงครามที่จะบังเกิดขึ้นได้ดี เท่ากับการปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกาย ผู้ที่เค้าเข้าถึงธรรมกายแล้วเค้าก็มีความสุขสดชื่นมีความเบิกบาน มีความเต็มเปี่ยมของชีวิต ที่เค้าเข้าถึง เค้าก็มีมือมีเท้าเช่นเดียวกับพวกเราทั้งหลาย อย่างนี้แหละ เป็นมนุษย์ที่เกิดในยุคเดียวกัน เรามีมือมีเท้าอย่างเขาจะทำไม่ได้เชียวรึ พรรษานี้ตั้งใจให้ดี ประกอบความเพียรไปด้วยจาตุรังควิริยะ เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ไม่ได้เป็นยอมตาย ทำความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างนี้ทุก ๆ คน จะสมความปรารถนา
ต่อจากนี้ไปจะแนะนำสำหรับท่านที่มาใหม่ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ขอให้ทุกคนนึกน้อมจิต ตามเสียงลวงพ่อไปนะ ฐานที่ตั้งของใจของเรามีทั้งหมด ๗ ฐาน ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้ายชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่ตรงหัวตา หญิงซ้ายชายขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่กึ่งกลางกายตรงสะดือ คือถ้าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายเส้นหนึ่ง ตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ เล็กเท่ากับปลายเข็มเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ฐานที่ ๗ ก็สูงจากจุดตั้งนั้นขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ถ้าเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกันนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าฐานที่ ๗ เป็นที่สิงสถิตของธรรมกาย เป็นที่ตั้งของปฐมมรรค
ฐานที่ ๗ ตรงนี้นะ สำคัญที่สุดทีเดียว เป็นแหล่งกำเนิดของความสุข เป็นแหล่งกำเนิดของสติของปัญญา ของความสมบูรณ์ของชีวิต ความสำเร็จของชีวิตตั้งอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าใครอยากจะได้บุญใหญ่ เป็นมหากุศลจะต้องเอาใจตั้งอยู่ที่ตรงนี้แหละ ตรงฐานที่ ๗ จะให้ทานก็ต้องเอาใจตั้งอยู่ที่ตรงเนี้ย ทานนั้นเป็นมหาทาน จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใสเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานก็ต้องรักษาที่ตรงเนี้ย จนกระทั่งศีลนั้นเป็นดวงขึ้นมาเรียกว่าดวงศีล จะเจริญภาวนาเพื่อความหลุดพ้นเพื่อมรรคผลนิพพานก็จะต้องเอาใจตั้งมั่นอยู่ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดตรงฐานที่ ๗ จำเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ ทุก ๆ คนที่มาใหม่น่ะ ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๗ เหนือจากจุดตัดขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ฐานที่ ๗
ให้ท่านที่มาใหม่ทุกท่านกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจเป็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ เป็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่าแก้วตา ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตา โตเท่ากับแก้วตาให้เกิดขึ้นตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ ใช้ใจนึกลงไปอยู่ที่ตรงนั้นนะตรงฐานที่ ๗ พร้อมกับตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิต พร้อมกับบริกรรมภาวนาในใจ พร้อมกับบริกรรมภาวนาในใจ ให้เสียงคำภาวนา ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ภาวนาอย่างสบาย ๆ ใจเย็นๆ ภาวนาอย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ สังเกตดูนะว่าเสียงคำภาวนาน่ะ ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิตรึเปล่า ดังออกมาจากในกลางท้องรึเปล่า ถ้าถูกต้องแล้วต้องดังออกมาจากในกลางท้อง สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เอาล่ะต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ ทุก ๆ คน