ปรับใจให้ถึงธรรม

วันที่ 06 มีค. พ.ศ.2567

060367b01.jpg
 

ปรับใจให้ถึงธรรม  กันยายน ๒๕๒๘
 โดย...

พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                บูชาพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญภาวนากัน นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย สำหรับท่านที่มาใหม่ ขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุกคนนะ วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่าไปกดลูกนัยน์ตา พอสบาย ๆ ปรับร่างกายของเราให้พอเหมาะต่อการปฏิบัติธรรม 

 

 

                กะคะเนว่าให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายของเราผ่อนคลายหมด ตั้งแต่กล้ามเนื้อที่เปลือกตา หน้าผาก ศีรษะ ท้ายทอยให้ผ่อนคลายให้หมด กล้ามเนื้อบริเวณบ่าทั้งสอง หัวไหล่ทั้งสอง ลำแขนทั้งสอง ตลอดจนกระทั่งถึงปลายนิ้วมือให้ผ่อนคลายให้หมด กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวของเราตลอดเรื่อยไปตามลำดับ ถึงปลายนิ้วเท้าให้ผ่อนคลายให้หมด แล้วก็ลองขยับปรับท่านั่งให้ดี จนกระทั่งเรามีความรู้สึกว่ามั่นคง และก็ผ่อนคลาย จะนั่งไปได้นานแค่ไหนก็มีความรู้สึกว่า นั่งไปได้นานได้ กายตั้งมั่นประดุจขุนเขาที่ตั้งอยู่บนแผ่นดิน ไม่โยกไม่คลอน แม้ว่ามีลมมาปะทะทั้งสี่ทิศ หรือรอบทิศก็ตามไม่หวั่นไหว กายที่นั่งถูกส่วนนั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้น และไม่ง่อนแง่น ไม่โยกไม่คลอน ผ่อนคลายหมดทุกส่วนสบาย ปรับให้ดีนะจ๊ะ ปรับให้ดี

 


                คราวนี้ก็ปรับใจ ใจที่เหมาะต่อการเข้าถึงธรรม จะต้องเป็นใจที่ปลอดโปร่ง บริสุทธิ์ ไร้กังวล ใจต้องปลอดโปร่ง บริสุทธิ์ ไร้กังวล ไม่มีภาระ ไม่มีเครื่องผูกพันทั้งสิ้นในโลก จะเป็นเรื่องครอบครัวก็ตาม เรื่องการศึกษาเล่าเรียนก็ตาม การศึกษาเล่าเรียนนี้ รวมทั้งการศึกษาเล่าเรียนที่ได้ยินจากครูบาอาจารย์ ตามตำรับตำราต่าง ๆ ต้องปล่อยวางไว้ชั่วขณะหนึ่ง การศึกษาทางโลกก็ต้องปล่อยวางเอาไว้ เรื่องของที่ทำงานก็ต้องปล่อยวางอีกเหมือนกัน เวลานี้เป็นเวลาที่เราจะฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้บริสุทธิ์ ให้หยุดนิ่งแสวงหาหนทางของมรรคผลนิพพาน 

 


                เพราะฉะนั้นปล่อยวางหมดทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เราไม่มีใครทั้งนั้นนะ ไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อน ไม่มีใครทั้งหมด ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลกนี้ ไม่มีภาระเครื่องผูกพันกับใคร ๆ ทั้งสิ้น ขณะนี้เราเหลือแต่ กายก้อนนี้ ยาววา หนาคืบ กว้างศอก กับดวงใจของเราดวงเดียว ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้นะมีแต่กายและใจเท่านั้น ที่เราจะอาศัยสองสิ่งนี้ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เข้าไปถึง ธรรมกายภายใน เหลืออยู่สองสิ่งนี้ และอันที่จริงพระพุทธเจ้าท่าน ก็ทรงได้ตรัสสอนพวกเรานะ ตรัสสอนพวกเรามาอยู่บ่อย ๆ เสมอ ๆ ว่าวิธีที่จะปล่อยวางจากอารมณ์ภายนอก ให้ใจเข้ามาสู่อารมณ์ภายในนั้น และจะต้องพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ 

 


                สังขารทั้งหลายทั้งปวง ที่มีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครองก็ตาม จะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม จะเป็นคน เป็นสัตว์เป็นสิ่งของ ทั้งหมดเนี่ย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือมันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้นนะ จนกระทั่งไปสู่จุดสลาย ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นที่พึ่ง หรือที่ระลึกอย่างแท้จริง เวลาเรามีทุกข์เราจะพึ่งสิ่งเนี้ย ให้ช่วยเราพ้นทุกข์ มันก็พึ่งได้ชั่วครั้งชั่วคราว หรือเวลาเราต้องการความสุขมันก็ให้ความสุขเล็กน้อย แต่ให้ความทุกข์เยอะ ให้ปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ท่านให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้บ่อย ๆ เนือง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ใจเราจะได้คุ้น ต่อความนึกคิดเหล่านี้ จะได้ปลดจะได้ปล่อยจะได้วาง เพราะว่าเห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งเหล่านั้น ด้วยสติด้วยปัญญาไปตามความเป็นจริง เมื่อปลดปล่อยวางแล้ว ก็จะเหลือแต่กายก้อนนี้ และใจ คือ ความเห็นความจำ ความคิด ความรู้เนี่ย ซึ่งเราจะอาศัยฝึกฝนอบรมปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกายภายใน ซึ่งเป็นนายตรัสรู้ธรรม  

 


                เพราะฉะนั้นการพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องทำบ่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ใช่ทำเฉพาะเวลาที่เรามานั่งปฏิบัติธรรม แม้เมื่อว่าเราเลิกนั่งปฏิบัติธรรม จะยืนจะเดินจะนอน และจะทำภารกิจอะไรก็ตาม จะต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้บ่อย ๆ ถ้าเราไม่พิจารณาบ่อย ๆ มันจะลืม พอลืมมันก็หลงก็เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น พอลืมคำสอนของพระบรมศาสดาเสียแล้ว ใจก็ไปหมกมุ่นพัวพันกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราห่างจากธรรมกายทุกที ยิ่งห่างธรรมกายซึ่งเป็นต้นแหล่งกำเนิดของความสุข ของความสุขอันเป็นอมตะ ความทุกข์ก็จะยิ่งพรั่งพรูเข้ามาสู่กายและใจเรา เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาบ่อย ๆ ในเวลานี้ก็เช่นเดียวกัน เราก็จะต้องพิจารณา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา  

 


                แม้แต่ร่างกายของเราที่อาศัยปฏิบัติธรรมก้อนนี้ เหมือนกันมันก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตามลำดับ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เป็นจุดเล็ก ๆ เจริญเติบโต ด้วยอาหารของมารดาที่หล่อเลี้ยงเรื่อยมาตามลำดับ ก็เปลี่ยนเรื่อยมาจนกระทั่งเราเคลื่อนย้ายมาสู่โลกนี้ ลืมตาดูโลก ก็เจริญเติบโตเรื่อยมา เปลี่ยนแปลงเรื่อยมา เสื่อมเรื่อยมาตามลำดับ ไม่มีคงที่เลย เปลี่ยนเรื่อยมาตามลำดับ ตั้งแต่เด็กตั้งแต่ทารกเรื่อยมา จนกระทั่งเป็นเด็กวัยรุ่น วัยหนุ่มวัยสาว วัยกลางคนวัยชรา และในที่สุดก็เคลื่อนย้ายไปสู่เชิงตะกอนร่างกายก้อนนี้เป็นอย่างนี้

 


                เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นในร่างกายก้อนนี้ ว่ามันเป็นตัวเรา เป็นของ ๆ เรา มันเป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย เหมือนบ้านเหมือนเรือน ที่เราอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งในที่สุดมันก็ไปสู่จุดสลาย เพราะว่ามันไม่คงที่ฉะนั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างนี้ไม่คงที่ จึงเป็นที่พึ่งที่ระลึกไม่ได้ สิ่งที่จะเป็นสรณะเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด สิ่งนั้นจะต้องคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และก็ให้ความสุขกับเราตลอดกาล คือเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตานั่นเอง พระพุทธเจ้าได้พิสูจน์แล้ว ท่านพบว่าธรรมกายนั่นแหละเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตาเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึก จะเข้าถึงอันนี้ได้ก็จะต้องอาศัย อัตตาหิอัตโนนาโถ เอาตัวนี้เอากายอันนี้ ฝึกฝนปฏิบัติ ซึ่งตัวของเราเอง ไม่ใช่ไปอ้อนวอนสวดมนต์ให้เข้าถึงธรรมกายอย่างนั้นนะ ไปอ้อนวอนจุดธูปบูชาตามจอมปลวกมั่ง เจ้าทรงผีสิงผู้วิเศษเหล่านั้น จะให้เข้าถึงสรณะที่พึ่งที่ระลึกอย่างนี้ ซึ่งมันเข้าถึงไม่ได้

 


                จะต้องอาศัยตัวของเรานี้ ประพฤติปฏิบัติ แล้วเราก็จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ให้ความสุขของเราอย่างไม่มีขอบเขต และก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยิ่งได้ธรรมกายชัดใสสว่างบริสุทธิ์เท่าไหร่ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นและในกลางธรรมกายนั้นนะ มีธรรมกายละเอียดซ้อนเข้าไปอีก ยิ่งเข้าถึงธรรมกายยิ่งละเอียดเท่าไหร่ยิ่งสุขยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ธรรมกายนี้มีอยู่หลายขั้นตอน ธรรมกายเบื้องต้นเรียกว่า โคตรภู คือเลยปุถุชนไปนะ แต่ก็ยังไม่ถึงการเป็นพระอริยเจ้า อยู่ครึ่งทาง ๆ ถึงธรรมกายนี้ได้เป็นสุขจริง ๆ แม้ว่าจะยังไม่เป็นพระอริยเจ้าก็ตาม ธรรมกายขั้นนี้ ขั้นโคตรภูนี้ ใครเข้าถึงได้ก็เป็นโคตรบุคคล เป็นโคตรภูบุคคลหลับตาก็เห็นธรรมกายชัด ใสสว่าง ลืมตาก็เห็นธรรมกายชัดใสสว่าง นั่ง นอน ยืน เดิน เห็นอยู่ตลอดเวลา

 


                พอใจมันมีที่พักที่พึ่งที่พิง ที่หยุดที่มอง อยู่ในกลางตัวเท่านั้น ความทุกข์อื่นก็ไม่เข้ามาแทรก ความเซ็ง ความเครียด ความเบื่อ ความกลุ้ม ความวิตกกังวลวุ่นวายอะไรต่าง ๆ มันก็หมดไป เพราะว่าใจมาหยุดในกลางธรรมกายเสียแล้ว อยู่ในกลางธรรมกายโคตรภู มีความสุขธรรมกายโคตรภูนี้ ที่วัดพระธรรมกายเข้าถึงกันมาก เข้าถึงกันเยอเยอะ เข้าถึงแล้วก็มีความสุขแต่ใครอยากจะทราบว่าเขามีความสุขอย่างไร ก็ลองเลียบเคียงถามผู้ที่เข้าถึงธรรมกาย เขาก็จะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าเป็นสุขจริง ๆ สุขไม่มีอะไรมาเทียบได้ เมื่อเข้าถึงธรรมกายนี่

 


                ธรรมกายเบื้องต้นเรียกว่าธรรมกายโคตรภู ลักษณะคล้าย ๆ กับพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว ใสเกินกว่าเพชร ใสเกินใส สวยเกินสวยงามไม่มีที่ติ สิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ ตรงนั้น อย่างใหญ่ไม่เกิน ๕ วา เกือบ ๕ วา อย่างเล็กก็ย่อส่วนมาตามลำดับ อยู่ในกลางตัวตรงนั้นน่ะ นั้นเรียกว่าธรรมกายโคตรภู ถ้าต้องการสุขยิ่งกว่านี้ ถ้าต้องการให้เป็น นิจจัง สุขขัง อัตตา ยิ่งกว่านี้ ต้องเข้ากลางนั้น เอาธรรมกายนี้พิจารณา อริยสัจ ๔ ในกายมนุษย์เรื่อยไปตามลำดับ   

 


                ธรรมกายที่พิจารณาคือมองด้วยตาธรรมกาย เห็นด้วยตาธรรมกาย และก็ความรู้เกิดขึ้นด้วยญาณของธรรมกาย ญาณของธรรมกาย เห็นได้ด้วยธรรมจักขุของธรรมกาย และรู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่าวิปัสสนา วิ มันแปลว่าวิเศษ แปลว่าแจ้ง แปลว่าต่าง ปัสสนาแปลว่า การเห็น การเห็นที่วิเศษที่แจ่มแจ้งและแตกต่างจากการเห็นด้วยตามนุษย์ ด้วยตาของกายทิพย์ ด้วยตาของกายพรหม ด้วยตาของกายอรูปพรหม เห็นวิเศษอย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา

 


                เพราะฉะนั้นวิปัสสนามาตั้งต้นอยู่ที่ตรงธรรมกายตรงนี้ ไม่ใช่เอากายมนุษย์พิจารณา กายมนุษย์ความเห็นมันแคบ พอความเห็นแคบก็ไม่วิเศษ ไม่แจ้งไม่ต่าง ต้องเห็นด้วยธรรมจักขุ เห็นได้ด้วยธรรมกาย และก็มีญาณหยั่งรู้ด้วยธรรมกาย เห็นว่าอะไร ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็เห็นไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น และก็ยอมรับ ยอมรับก็เพราะว่า รู้ว่าอะไรเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา รู้ว่าธรรมกายนั่นแหละเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง อัตตา มีเครื่องเทียบเครื่องเปรียบเทียบ ระหว่างกายต่าง ๆ กับธรรมกายแล้ว วิเศษสู้ธรรมกายไม่ได้เลย ความเห็นวิเศษนี้ เรียกว่าวิปัสสนา แล้วอารมณ์ต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นมาตามลำดับ

 


                ที่จะละวาง จากกายมนุษย์ กายทิพย์ พรหมอรูปพรหม เหล่านั้น ซึ่งตกอยู่ในไตรลักษณ์ หรือในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อปลด เมื่อปล่อย เมื่อวางแล้ว ก็ยึดอยู่ในธรรมกายนั้นไม่ไปไหนเลย ใจจะติดอยู่ที่ตรงนั้นแหละติดอยู่ในกลางธรรมกาย เป็นสุขทั้งวันทั้งคืน นั่งเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข จะทำอะไรก็เป็นสุขทั้งนั้น เป็นสุขอยู่ในกลางกายธรรมกาย เพราะธรรมกายเป็นแหล่งของความสุขทั้งหมด เป็นความสุขที่เป็นอิสระไม่มีขอบเขต ยิ่งชัด ยิ่งใส ยิ่งสว่าง ยิ่งสว่างเท่าไหร่ยิ่งสุขเท่านั้น สุขอยู่ในกลางธรรมกาย

 


                เพราะฉะนั้นธรรมกายนี่แหละเป็นหลักของชีวิต เป็นเป้าหมายของชีวิต คำว่าเป้าหมายของชีวิตก็หมายถึงว่า ที่เราเวียนว่ายตายเกิดมาเบี้ย นับภพนับชาติไม่ถ้วน เราต้องการแสวงหา สิ่งที่ให้ความสุขแก่เราอย่างแท้จริง เราจึงดิ้นรนแสวงหา ระหว่างที่ยังไม่พบธรรมกาย ความสุขจากการได้เห็น สิ่งที่สวยงาม ได้ยินสิ่งที่ไพเราะได้ดมกลิ่นหอม ๆ ได้ลิ้มรสอาหารที่อร่อย ๆ ได้ถูกต้องสัมผัสที่นุ่มนวล หรือได้ยินได้ฟังอะไรต่าง ๆ หรือนึกคิดในสิ่งที่เพลิดเพลินไปอย่างนั้น ความสุขของเรานะอยู่อย่างนั้น หรือความสุขที่เราแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญต้องการมีลาภ มียศ มีคนสรรเสริญเยินยอยกย่อง มีข้าทาสบริวารหญิงชาย มีเงินใช้อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ก็ต้องการความสุข แต่ความสุขนั้นไม่คงที่ อันที่จริงไม่น่าจะเรียกความสุข น่าจะเรียกว่าความเพลิดเพลินมากกว่าเพราะอิ่มใจประเดี๋ยวเดียว มันก็เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว ประเดี๋ยวเดียวก็หายเห่อ หายเห่อก็เปลี่ยนแปลงใหม่ 

 


                แต่เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว สุขยิ่งกว่านั้นมากมาย นับเป็นล้าน ๆ เท่า กับความสุขที่สมบูรณ์ไปด้วยลาภ ยศสรรเสริญ เหล่านั้น หรือจะเห็นอะไรดีๆ ก็ตามผู้เห็นธรรมกายไม่ได้ ได้ยินเสียงอะไรเพราะ ๆ สู้เสียงธรรมกายไม่ได้ ทุกอย่างรวมประชุมอยู่ในกลางธรรมกายทั้งหมด เพราะฉะนั้นใครเข้าถึงธรรมกายได้ จึงได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จอันสูงสุดในชีวิต เพราะว่าเข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะซะแล้ว ธรรมกายจึงได้ชื่อว่าเป็นเป้าหมายของชีวิต เพราะชีวิตดำเนินมาสู่จุดที่มีความสุขที่สุด ธรรมกายเป็นเป้าหมายอย่างนี้นะ และธรรมกายก็มีละเอียดเป็นชั้น ๆ นะ ธรรมกายขั้นโคตรภู พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหัต ที่เปลี่ยนแปลงเรียกชื่อกันไปอย่างนั้นว่า โคตรภูบ้าง พระโสดาบันบ้าง พระสกิทาคามีบุคคลบ้าง พระอนาคามีบ้าง พระอรหัตบ้าง ก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของจิตใจที่ปล่อยวางได้มากเท่าไร ยิ่งปลดวางของหนัก ๆ ลงไปได้มาก มันก็ยิ่งเบาใจมากๆ ยิ่งเบาใจมาก ๆ เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความสุขมาก ๆ

 


                เหมือนเราแบกของมาหลาย ๆ อย่างน่ะ เต็มไปหมดเลยอยู่บนบ่าทั้งสอง บนศีรษะก็มี บนบ่าทั้งสองก็มีทั้งมือทั้งสองก็มี ถือมาตามลำดับอย่างนั้น ถ้าวางมือซ้ายสักข้างหนึ่ง เอาของหนักวางลงไปมันก็เบาไปหน่อยมันเทียบแล้วก็เหมือนโคตรภูบุคคล ถ้าวางอีกมือหนึ่งก็เหมือนพระโสดาบัน ถ้าวางบ่าซ้ายอีกเหมือนพระสกิทาคามี วางไอ้ที่แบกที่บ่าขวาก็เหมือนพระอนาคามี ไอ้ที่ทูนอยู่บนศีรษะนะวางทิ้งลงไปก็เหมือนพระอรหัต  วางไปหมดเลย เบาเนื้อเบาตัว ใจก็เหมือนกัน มันไม่ใช่ไปแบกของเหมือนอย่างกายมนุษย์ แต่มันแบกอารมณ์ต่าง ๆ ที่สั่งสมเอาไว้อยู่ในจิต พอมันคลายออกไปเบี้ย ใจก็บริสุทธิ์ อารมณ์เครื่องผูกพันอย่างนั้นท่านเรียกว่าสังโยชน์ หรือเครื่องผูก พอตัดได้ ปลดได้ วางได้ เหลือแต่ธรรมกายอย่างเดียว ไม่มีความนึกคิดเรื่องอื่นเลย ใจเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย 

 


                ธรรมกายคือเรา และก็เราคือธรรมกาย เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าท่าน ตรัสไว้ "ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ" เราคือธรรมกาย หรือพูดย้อนกลับคือธรรมกายก็คือเรา มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซะแล้ว ใจของกายมนุษย์เข้าไปเป็นอันเดียวกับธรรมกาย ธัมมกาโย อะหัง อิติปิ ธรรมกายคือตัวเรา เราคือธรรมกาย เพราะฉะนั้นความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ก็เป็นของธรรมกาย เห็นก็เห็นธรรม เห็นแต่ในสิ่งที่ดี ๆ จำแต่ไอ้เรื่องราวที่ดี ๆ คิดก็คิดแต่เรื่องที่ดี ๆ ความรู้ที่เกิดขึ้นก็รู้แต่สิ่งที่ดี ๆ เห็นจำคิดรู้นะ สะอาดใสบริสุทธิ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ ธรรมกายคือเรา เราก็คือธรรมกาย ธรรมกายขยายส่วนกว้างออกไป ๒๐ วา ๒๐ วา ที่ใสบริสุทธิ์ คิดดูก็แล้วกันถ้าตัวเราโตเท่ากับ ๒๐ วา เนี้ย หัวใจดวงใจเราขยายไปขนาดไหน กายธรรมกายขยายขนาดนั้น ดวงธรรมขยายออกไป จิตใจขยายออกไปกว้างขวางไม่มีขอบเขตไปเลย 

 


                เพราะฉะนั้นก็มีความสุขมาก มีความเบิกบานมีความชุ่มชื่น อยู่ทั้งวันทั้งคืน เหมือนพระมหากัปปินะ ที่หลวงพ่อเคยยกให้ฟังบ่อย ๆ ก่อนบวชท่านเป็นพระราชา สมบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ ข้าราชบริพาร ทั้งหญิงและชาย บนประสาทราชวังมีแต่ผู้หญิงล้วน ๆ ผู้ชายไม่มีเจือเลย ลงมาจากปราสาทถึงจะเจอผู้ชาย เครื่องบำรุงบำเรอต่าง ๆ เต็มไปหมด แต่ท่านก็ยังบอกว่าไม่มีความสุขเลย ไม่มีความสุขเลยแม้แต่นิดเดียว จนกระทั่งเมื่อสละราชสมบัติทั้งหมดออกบวชในพระพุทธศาสนา เข้าถึงธรรมกายอรหัตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายนะ ธรรมกายคือท่าน ท่านคือธรรมกายเป็นอันเดียวเข้า เป็นอันเดียวเข้าความสุขก็ท่วมท้นออกมา จนกระทั่งเบิกบาน เบิกบานเต็มเปี่ยมมันก็ล้นออกมาเป็นคำอุทาน จะเดินไปทางไหนก็สุขจริงหนอ ท่านก็พูดไปอย่างนั้น สุขจริงหนอ นั่ง นอน ยืน เดิน ก็สุขจริง สุขจริง ท่านพูดสุขจริงอยู่ตลอดเวลา 

 


                จนกระทั่งภิกษุปุถุชนได้ยินเข้า ก็นึกองค์นี้เพี้ยน นึกถึงความสุขในสมัยเป็นฆราวาส ไปทูลถามพระพุทธเจ้า ว่าทำไมพระมหากัปปินะ จึงได้ทรงเปล่งอุทานว่าสุขจริงหนอ สงสัยจะนึกถึงความสุขสมัยก่อนโน้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าลูกของเรา ท่านเรียกผู้เข้าถึงธรรมกายว่า ลูกเรา ลูกของเรา ผู้เข้าถึงธรรมกายคือเห็นธรรมกายเหมือนท่าน เหมือนลูกมะม่วงจากต้นมะม่วง ลูกของเราเข้าถึงธรรมกายหมดกิเลสแล้ว ตัดเครื่องผูกในโลกนี้แล้ว มีความสุขจึงเปล่งอุทานอย่างนั้น แล้วก็ทรงเรียกพระมหากัปปินะเข้ามาในท่ามกลางสงฆ์ ถามพระมหากัปปินะ ว่าทำไมเธอจึงเปล่งอุทานอย่างนั้น บอกข้าพระองค์สมัยเป็นฆราวาส เป็นพระราชามหากษัตริย์ ปกครองข้าราชบริพารมากมาย มีราชกิจเยอะแยะไปหมด ไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย มีแต่คนมาร้องทุกข์ เรื่องร้องสุขไม่เคยได้ยิน เพราะฉะนั้นจิตใจ ทั้งวันทั้งคืนได้ยินแต่เรื่องร้องทุกข์ ไม่มีความสุข 

 


                บัดนี้ข้าพระองค์ปล่อยวางภาระกิจของหนักลงแล้ว เพราะฉะนั้นจิตของข้าพระองค์เข้าถึงธรรมกาย มีความสุขจึงได้เปล่งอุทานออกมาจากภายในลึก ๆ ในแหล่งของความสุขเป็นอย่างนั้นนะ คือเปล่งอุทานออกมาจากแหล่งของความสุข หรือต้นกำเนิดของความสุข พอเปล่งออกมาก็เบิกบานสุขจริงหนอ สุขจริงหนอ เนี้ยถ้าพวกเราทั้งหลายได้ปฏิบัติ เข้าถึงธรรมกายก็จะเป็นแบบ พระมหากัปปินะนั้นแหละ สุขจริงสุขจริงไปหมดเลย ถ้าคนในครอบครัวของเรา เข้าถึงธรรมกายหมด แต่ละคนก็จะไม่มีปัญหา ทุกคนจะเปล่งอุทานว่า สุขจริงสุขจริง ครอบครัวก็อยู่เย็นเป็นสุข ถ้าเพื่อนบ้านทุกคนเปล่งอุทานอย่างนั้น หมู่บ้านนั้นตำบลนั้นก็มีความสุข ถ้าเราขยายธรรมกายไปทั่วประเทศ ทุกคนก็จะเปล่งคำอุทานเหมือนกันนะ สุขจริงสุขจริง และปัญหาต่าง ๆ มันก็จะไม่เกิด  

 


                ถ้าขยายขอบเขตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก็เลิกรบลาฆ่าฟัน เลิกเบียดเบียนกัน มีทรัพยากรอะไรต่าง ๆ ในโลกนี้ที่มีจำกัดก็แบ่งปันกัน ฉันพี่ฉันน้อง เพราะว่าคนเราน่ะมีความจำเป็นจริง ๆ ก็แค่ปัจจัย ๔ เท่านั้น นอกนั้นเป็นของที่เฟ้อ ถ้าแบ่งปันกัน มีความคิดฉันพี่ฉันน้อง อยากจะให้แต่ละคนนั้นมีความสุข โลกนี้ก็เกิดสันติสุข สันติสุขก็จะเกิดขึ้นกับโลก เมื่อมนุษย์ทุกคนมีศีลมีธรรม มีธรรมกายปรากฏขึ้นดินฟ้าอากาศในโลกนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไป เหมาะควรพอเหมาะพอดี ไม่ร้อนไม่หนาว เหมาะในการที่จะอยู่ในโลกนี้ ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเต็มเปี่ยม โภคทรัพย์สมบัติ อาหารต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นด้วยบุญบันดาล

 


                เหมือนในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ บังเกิดขึ้นมาในโลก ปกครองโลกด้วยศีล ๕ มนุษย์ยุคนั้น ไม่ต้องทำมาหากิน แต่เป็นอยู่ได้ด้วยบุญของพระเจ้าจักรพรรดิ บุญของรัตนะ ๓ และบุญด้วยศีล ๕ ของทุก ๆ คน ทั้งโลกก็อยู่เย็นเป็นสุขไม่เบียดเบียนกัน มองกันด้วยจิตที่ประกอบไปด้วยเมตตา พูดกันด้วยคำที่ประกอบไปด้วยเมตตาธรรม คิดก็คิดประกอบไปด้วยเมตตาธรรม เพราะฉะนั้นธรรมกายนี่แหละ เป็นหลักของชีวิต เป็นหลักของโลก เข้าถึงได้เมื่อไรโลกทั้งโลก จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นในวันนี้พวกเราทั้งหลาย ได้เสียสละเวลาอันมีค่า มาศึกษากิจในทางพระพุทธศาสนา ต้องการจะเข้าถึงเป้าหมายของชีวิตคือธรรมกาย ขอให้ทุกคนพึงตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่

 


                ต่อจากนี้ไปจะได้สอนวิธีเข้าถึงธรรมกายสำหรับผู้ที่มาใหม่ ผู้ที่เคยมาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ทุก ๆ อาทิตย์แล้ว ก็ให้น้อมจิต เข้าไปตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ เลย สำหรับท่านที่มาใหม่ ยังไม่ทราบวิธีการก็นึกน้อมจิตตามเสียงหลวงพ่อที่จะได้แนะนำต่อไปนะ เอาขาขวาทับขาซ้ายนะ สำหรับท่านที่มาใหม่ยังไม่เคยปฏิบัติเลยน่ะ ถ้าใครนั่งขัดสมาธิไม่ถนัดจะนั่งพับเพียบก็ได้ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ไม่ต้องพนมมือนะจ๊ะ เอามือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย และก็วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุก ๆ คน หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ หลับตาพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ปรับท่านั่งของเราให้พอเหมาะต่อการปฏิบัติธรรม

 


                ให้มีความรู้สึกว่าให้นั่งแล้วสบาย ปรับให้พอเหมาะนะ คำว่านั่งแล้วสบายเนี่ย ก็หมายความว่า เราจะนั่งไปนานเท่าไรก็ได้ โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่เมื่อยไม่มึนไม่ซึมอะไรอย่างนั้น ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลายให้หมด ตั้งแต่กล้ามเนื้อที่เปลือกตา กล้ามเนื้อที่หน้าผาก กล้ามเนื้อที่ศีรษะ ที่ต้นคอ ให้ผ่อนคลายให้หมด กล้ามเนื้อบริเวณช่วงบ่าทั้งสอง หัวไหล่ทั้งสอง ตลอดจนกระทั่งถึงปลายนิ้วมือ ให้ผ่อนคลายให้หมด กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ให้ผ่อนคลายให้หมด ตลอดจนกระทั่งถึงปลายนิ้วเท้า ให้ผ่อนคลาย ให้ปรับกล้ามเนื้อให้ดีให้ผ่อนคลายหมดและก็ปล่อยวางภาระกิจ เครื่องกังวลทั้งหมดที่มีอยู่ในใจ จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ลืมไปชั่วขณะที่เราจะได้ปฏิบัติธรรม ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวก็ดี เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน เราต้องปลดต้องปล่อยต้องวางหมด ภาระกิจเหล่านั้น

 


                ทำตัวประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีภาระกิจเครื่องกังวลอะไรทั้งสิ้น มีแต่กายก้อนนี้ ยาววาหนาคืบ กว้างศอก และก็จิตใจของเรา ที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องปรับกายและใจให้ได้อย่างนี้นะ ซึ่งเราจะใช้เวลาไม่เกิน ๕ นาทีน่ะ ในการปรับทั้งกายและใจ ให้เหมาะสมต่อการปฏิบัติธรรม ความรู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนในทางธรรมะ จากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ หรือตามตำรับตำราน่ะ ให้ปล่อยวางไว้ชั่วขณะ ทำประหนึ่งว่าเราไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลยใจจะได้สงบรวมได้ง่าย เพราะฉะนั้นเราวางให้หมดทุกสิ่งทุกอย่างในโลก กระทั่งความรู้ต่าง ๆ นะทุก ๆ คน  

 


                กำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วกลมรอบตัว ให้ใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีด ไม่มีข่วน ไม่มีรอยตำหนิ โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดก็คือการสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจ เป็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้นึกสร้างขึ้นมาในใจนะ การนึกถึงบริกรรมนิมิตให้นึกง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงภาพ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาวในอากาศ เราจะสังเกตได้ว่า เรานึกถึงภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาวในอากาศ เราไม่ได้ใช้ความพยายามนึกคิดเลย คือนึกไปตามปกติหรือว่าเราจะนึกถึงผลส้มก็ดี ลูกปิงปองก็ดีหรือสิ่งอะไรก็ตามที่มีสัณฐานกลม ๆ เราจะสังเกตได้ว่าเรานึกอย่างสบาย แบบการนึกคิดเป็นปกติเช่นเดียวกับการนึกคิดเรื่องอื่น 

 

        
        
        นึกถึงภาพดวงแก้ว บริกรรมนิมิตก็เช่นเดียว ให้นึกง่าย ๆ นึกอย่างสบาย ๆใจเย็น ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงสิ่งเหล่านั้น นี้ให้เข้าใจวิธีการนึกคิดน่ะ จะเป็นหรือไม่เป็นก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เป็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรานึกสร้างให้ดีนะ กำหนดได้แล้ว ก็นำดวงแก้ว มาตั้งไว้ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงอยู่ที่ปากช่องจมูกข้างซ้าย ท่านชายอยู่ที่ปากช่องจมูกด้านขวา ให้เอาใจตรึกนึกถึงความใส หยุดอยู่ในกลางความใส บริสุทธิ์ของดวงแก้วดวงนั้น ที่ปากช่องจมูกนะ ให้นึกอย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ 

 


                นึกถึงความใส นึกถึงสัณฐานของดวงแก้วที่กลมรอบตัว และก็นึกไปที่ตรงจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ที่ปากช่องจมูกนะ นึกไปช้า ๆ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ทำไปตามขั้นตอนที่หลวงพ่อแนะนํา เป็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใส บริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้ว อย่าให้คลาดจากใจนะ เวลาเราภาวนา ให้ทำใจเบา ๆ ทำใจสบาย ๆ ให้เบิกบานให้แช่มชื่น ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใส ไปอย่างช้า ๆ ใจเย็น ๆ ไม่ต้องรีบต้องร้อนอะไร 

 


                อย่ากลัวเสียเวลา อย่ากลัวว่าเราจะไม่ทันคนอื่นเขา อย่ากลัวว่าใจจะไม่สงบ หรือว่ากลัวจะไม่เห็น กลัวจะไม่ได้อะไรอย่างนั้นไม่ต้องวิตกกังวลหรือกลัวอะไรทั้งสิ้น ให้นึกตามเสียงหลวงพ่อไปอย่างง่าย ๆ สบาย ๆ ด้วยจิตใจที่ชื่นบาน ตรึกนึกถึงดวงใสหยุดอยู่ในกลางความใส พร้อมกับภาวนาในใจไปเรื่อย ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ นะ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหังภาวนาไปแค่ใจสบายแล้วเราก็ค่อย ๆ เลื่อนดวงแก้วไปช้าๆ เข้ามาในปากช่องจมูก แล้วก็ค่อย ๆ เคลื่อนมาเคลื่อนตัวเองมาอย่างช้า ๆ และก็มาหยุดอยู่ที่ตรงหัวตา หยุดอยู่ที่ตรงหัวตาของเรา ท่านหญิงก็หยุดอยู่ที่หัวตาข้างซ้าย ท่านชายก็หยุดอยู่ที่หัวตาข้างขวา อย่าลืมตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใส ของบริกรรมนิมิตไม่ให้คลาดจากใจ

 


                ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใส ถ้าเรานึกถึงความใส ใจก็จะบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์ก็วัดที่ความใส ถ้าใสมากก็บริสุทธิ์มาก ใสน้อยก็บริสุทธิ์น้อย เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการให้ใจบริสุทธิ์อย่างรวดเร็ว บริสุทธิ์มากก็ต้องตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใส และความใสบริสุทธิ์เนี่ย จะยิ่งทำให้ใจเราสว่างได้เร็วเข้า สว่างได้เร็วเท่าไร ความมืดในใจมันก็หมดไป พอความมืดหมดไปใจเราสว่าง ก็จะรู้เห็นอะไรไปตามความเป็นจริง เหมือนดึงของออกจากที่มืดมาสู่ที่สว่าง เราก็จะทราบว่าอะไรมันเป็นอะไร รู้เห็นอะไรไปตามความเป็นจริง สิ่งที่ไม่รู้ทั้งหลายก็หมดไป เพราะฉะนั้นให้ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ นึกตามเสียงหลวงพ่อไปช้า ๆ ใจเย็น ๆ กันทุกคนนะจ๊ะ ที่มาใหม่ที่มาแล้ว อย่างสม่ำเสมอบ่อย ๆ ก็หยุดลงไปที่ฐานที่ ๗ เลย


   


                ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสตรงหัวตานะ พร้อมกับภาวนาในใจไปเรื่อย ๆ ให้สม่ำเสมอไม่ช้าไม่เร็วนัก พอสบายใจดีแล้วก็เลื่อนดวงแก้วต่อไปอีก ประคองความใสของดวงแก้วนะ ขึ้นไปตามหน้าผากขึ้นไปตามหน้าผากไปเรื่อยเลย ดวงแก้วก็จะลอยขึ้นไปช้า ๆ เคลื่อนตัวไปช้า ๆ ไปที่กระโหลกศีรษะ และไปที่กลางศีรษะ และค่อย ๆ ลอยต่ำลงมา อยู่ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ให้อยู่กึ่งกลางกระโหลกกลางศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา กึ่งกลางกั๊กศีรษะเลยตอนนี้เราจะต้องสมมุติว่ากระโหลกศีรษะ เป็นช่องโล่ง ๆ ว่างๆ ปราศจากมันสมอง ไม่มีมันสมองเป็นที่โล่งที่ว่าง และตรงกลางของกระโหลกศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตาดวงแก้วดวงนั้น ก็หยุดนิ่งอยู่ตรงจุดกึ่งกลาง เราก็จะต้องประคองดวงแก้วเอาไว้ให้ดีนะ ตรึกนึกถึงความใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้ว กลมรอบตัว โตเท่ากับแก้วตาของเรา พร้อมกับภาวนาในใจไปเรื่อย ๆ จังหวะให้สม่ำเสมอ ไม่ช้าไม่เร็วนักเอาพอสบาย ๆ เอาแค่พอสบายใจของเรา สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ภาวนาไปเรื่อยนะ แล้วก็ประคองไว้อย่าให้คลาดจากใจ อย่าให้คลาดจากใจเลยน่ะ 

 


                พอสบายใจดีแล้ว ดวงนิมิตนิ่งดีแล้ว ก็เลื่อนดวงแก้วลงมาอีกอย่างช้า ๆ เลื่อนลงมาอย่างช้า ๆ ใจเย็น ๆ ให้มาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงเพดานปาก หยุดอยู่นิ่งอยู่ที่เพดานปาก ตำแหน่งตรงที่อาหารสำลักตรงนั้น นิ่งเฉย ใจเราก็ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้วตรงนั้นนะ พร้อมกับภาวนาในใจไปเรื่อย ๆ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ประคองนะ อย่าให้เผลอทีเดียวนะ ไม่ให้คลาดจากใจ ใจสบายดีแล้ว ก็เลื่อนดวงแก้วลงมาอีกอย่างช้า ๆ เลื่อนลงมาช้า ๆ ประคองให้ดีนะ อย่าให้คลาดจากใจ และก็มาหยุดนิ่งอยู่ที่ปากช่องคอ หยุดนิ่งอยู่ตรงที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก นิ่งเฉย 

 


                ใจเราก็ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง พอใจสบายดีแล้ว ก็นึกเลื่อนดวงแก้ว เข้าไปในกลางลำตัว เลื่อนลงไปอย่างช้า ๆ ใจเย็น ๆ เราต้องสมมุติว่าลำตัวเราเป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรงลงไป ปราศจาก ตับไต ไส้พุงอวัยวะภายใน ไม่มีเหลือในร่างกายเรา แล้วก็เลื่อนดวงแก้วลงไปอย่างช้า ๆ แล้วให้ไปหยุดนิ่งอยู่ที่ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ในระดับเดียวกับสะดือของเรา 

 


                หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ในระดับเดียวกับสะดือของเรา ถ้าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือ ทะลุไปข้างหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้กำหนดบริกรรมนิมิตอยู่ที่ตรงนี้นะ ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ ตรึกนึกถึงดวงใสหยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจไปเรื่อย ๆ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหังสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ภาวนาไปเรื่อย ๆ ใจเย็น ๆ ทำจิตใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้วตรงนั้นนะ จนกระทั่งใจสบายดีแล้ว เราก็นึกเลื่อนดวงแก้ว ถอยหลังขึ้นมาสองนิ้วมือ นึกเลื่อนดวงแก้วถอยหลังขึ้นมาสองนิ้วมือ ให้สูงจากจุดนั้นขึ้นมาสองนิ้วมือ สมมุติว่าเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบ ตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง สูงขึ้นมาสองนิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 


                 เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ประคองดวงแก้วเอาไว้อยู่ที่ตรงนี้นะ ต่อจากนี้เราไม่ต้องเลื่อนดวงแก้วไปที่ไหน ไม่ต้องเลื่อนบริกรรมนิมิตไปที่ไหน ให้หยุดอยู่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว พร้อมกับภาวนาในใจไปเรื่อย ๆ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง เราจะภาวนาไปจนกว่า ใจจะหยุดนิ่ง พอหยุดนิ่งดีแล้วคำภาวนาก็ไม่จำเป็น เราจะไม่ใช้คำภาวนาต่อไป จะตรึกนึกถึงแต่ดวงใสหยุดอยู่ในกลางความใส อยู่ที่ศูนย์กลางกายที่เดียว ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ ที่ศูนย์กลางกายไม่ขยับเขยื้อนไปที่ไหนเลยนะ ตรึกอยู่ที่ตรงนี้ที่เดียว ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนไม่ไป ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ที่เดียว ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ เป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน พระพุทธเจ้า

 


                พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านก็อาศัยเส้นทางสายกลางอยู่ที่ตรงนี้แหละ ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียวเท่านั้น ไม่ได้อาศัยที่ไหนเลย ถ้าหยุดตรงนี้ ได้ถูกส่วน ไม่ช้าจะเข้าถึงปฐมมรรค หยุดตรงนี้ได้ถูกส่วน ไม่ช้าก็จะเข้าถึงปฐมมรรค ปฐมมรรคมีลักษณะกลมรอบตัวใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชร อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญแล้วก็อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน จะขนาดไหนก็ตาม ขนาดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาวในอากาศ ถ้าเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เรียกว่าปฐมมรรคทั้งนั้น อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น จะขนาดไหนก็ตามเรียกว่าปฐมมรรคทั้งนั้น แปลว่าหนทางเบื้องต้น ที่จะไปสู่พระนิพพาน 

 


                ถ้าปฏิบัติธรรมะทำใจให้เป็นสมาธิ ยังเข้าไม่ถึงตรงนี้ การจะไปสู่พระนิพพานก็ไปไม่ได้ เพราะว่าเข้าสู่เส้นทางที่ไม่ถูกต้อง จะปฏิบัติมากี่สิบกี่ร้อยปีก็ตามถ้าไม่ได้ปฐมมรรค ที่จะเข้าไปสู่พระนิพพานเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นของการปฏิบัติธรรม เราจะต้องฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง หยุดนิ่งจนกระทั่งเข้าถึงปฐมมรรค หยุดอยู่ที่ตรงนี้แหละ ถ้าถึงตรงนี้ได้ ไม่ช้าก็จะเห็นกายในกายภายใน ใจคนเราที่ไม่หยุดนิ่งนะ ก็เพราะว่ายังติดอยู่กับอารมณ์ภายนอก ติดในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์อะไรต่าง ๆ ทั้งหมด มีความยินดียินร้ายในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ เพราะฉะนั้นใจจึงหลุดจากศูนย์กลางกาย เมื่อหลุดจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็ไม่เห็นดวงปฐมมรรค

 


                พระพุทธเจ้าท่านจึงได้แนะอุบาย ให้ใจกลับมาสู่ที่ตั้งเดิม โดยให้พิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตก็ตามไม่มีชีวิตก็ตาม มีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครอง เป็นคนเป็นสัตว์เป็นสิ่งของเป็นอะไรทั้งสิ้นในโลกนี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ท่านให้พิจารณาอย่างนี้เนือง ๆ คือเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนขึ้นไปยึดมั่นถือมั่นไว้ ใจก็จะเป็นทุกข์เพราะว่าหลุดจากกลาง หลุดจากกลางตัวเรา

 


                เพราะฉะนั้นในคำสอนของท่านนะ จะยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ทั้งนั้นนะ เพื่อให้เราพิจารณาสิ่งรอบข้าง เอาตั้งแต่ตัวของเราเป็นเกณฑ์เรื่อยไปเลย ว่าร่างกายเราก็ดี เสื้อผ้าก็ดี สิ่งที่อยู่รอบข้างเราก็ดี ทุกสิ่งต้องไปสู่จุดสลายทั้งนั้น เกิดขึ้นตั้งอยู่และก็ดับไปเสื่อมสลายไปร่างกายของเราก้อนนี้ ตั้งแต่เป็นกลละรูปในครรภ์มารดา เจริญเติบโตขึ้นมา เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้จนในที่สุดก็ไปสู่จุดสลายคือเชิงตะกอน พิจารณาอย่างนี้ เราจะได้เกิดความสลดใจ เกิดความสลดใจเพราะว่าเห็นไปตามความเป็นจริง ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ เมื่อสลดใจแล้ว ใจจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าสิ่งนี้เป็นสาระเป็นแก่นสาร เป็นที่พึ่งเป็นที่ระลึก เมื่อเกิดความสลดใจเห็นว่าไม่ใช่สาระแก่นสาร ก็จะเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายจิตปล่อยวาง ความยินดีในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ต่าง ๆ พอปล่อยวาง ใจก็เริ่มบริสุทธิ์ใจเริ่มบริสุทธิ์

 


                พอบริสุทธิ์แล้วก็หยุดนิ่ง หยุดลงไปที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ หยุดนิ่ง หยุดนิ่งจนกระทั่งถูกส่วน คำว่าถูกส่วนคือว่าไม่คิดอะไรเลย อารมณ์ภายนอกไม่คิดมีแต่อารมณ์ภายใน หยุดนิ่งเฉย พอถูกส่วนเข้าใจก็ปลอดโปร่ง ปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย พอปลอดโปร่งแล้วก็โล่ง โล่งแล้วก็ตัวเบา เบาแล้วก็สบายมีความสุขพอความสุขเกิดขึ้นไม่ช้าก็เห็นเป็นดวงบริสุทธิ์ เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ พอดวงใสเกิดขึ้นนั่นแหละได้ต้นทางไปสู่พระนิพพานแล้ว ดวงใสนี้จึงได้เรียกว่าดวงปฐมมรรค แปลว่าหนทางเบื้องต้นที่จะเข้าไปสู่พระนิพพาน นี่ท่านให้พิจารณาอย่างนี้นะ นั่นวิธีหนึ่ง

 


                 อีกวิธีหนึ่งก็คือการเอาสติ กำหนดบริกรรมนิมิตกับบริกรรมภาวนาไม่ให้เผลอ ไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง คือเอาใจของเรามาผูกพันกับบริกรรม กับดวงแก้วใส ๆ จะได้ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น อันนี้เป็นทางลัด พอถูกส่วนไม่ช้าก็จะหยุดนิ่ง พอหยุดนิ่งก็เห็นดวงใส เห็นดวงใสบริสุทธิ์อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ปฏิบัติแบบนี้จึงจะถูกทางของพระรัตนตรัย ถูกทางของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย นี่ต้องปฏิบัติอย่างนี้นะ ต้องปลดต้องปล่อยต้องวาง แล้วถึงจะหยุดจะนิ่ง หยุดนิ่งก็เห็นดวงใส ใสบริสุทธิ์อยู่ที่กลางตัว ถ้าได้ตรงนี้แล้วไม่ช้าก็จะเห็นกายภายใน กายต่าง ๆ ซึ่งเราไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลย  

 

                นี่สำหรับท่านที่มาใหม่นะ ไม่เคยรู้เลยว่าร่างกายเรานี่ ที่เราเห็นด้วยตามนุษย์นี้ มันยังมีสิ่งที่ซ้อนกันอยู่ภายในที่เรามองไม่เห็นเป็นของละเอียดอ่อนที่ซ้อนอยู่ภายใน เป็นชั้น ๆ ไป สิ่งที่ละเอียดกว่าก็ซ้อนอยู่ในสิ่งที่หยาบกว่า และสิ่งที่ละเอียดที่สุดก็ซ้อนอยู่ภายในที่ละเอียดที่สุด อยู่ในกลางตัว เราจะพบชีวิตใหม่ ที่อยู่ภายใน เป็นกายภายในที่มีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับตัวเรา แต่ว่าเป็นชีวิตของผู้ประเสริฐ เลิศกว่ากายมนุษย์ ซ้อนอยู่ข้างใน เป็นชั้น ๆ เข้าไปตามลำดับ นี่เราจะมีความรู้ใหม่เกิดขึ้นมา สำหรับผู้ที่รู้แล้วแต่ยังไม่เห็น เมื่อเข้าไปเห็นได้ ก็จะเกิดความอัศจรรย์ใจ ว่ากายต่าง ๆ นั่นนะ มันมีอยู่จริงทีเดียวอยู่ภายใน ซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ ไป 

 


                ใจเราละเอียดถึงขั้นไหน เราก็จะเห็นกายในขั้นนั้นเช่น ถ้าใจเราละเอียดถึงกายมนุษย์ละเอียด เราก็จะเห็นกายมนุษย์ละเอียด ใจเราละเอียดถึงกายทิพย์ เราก็จะเห็นกายทิพย์ ใจเราละเอียดถึงกายรูปพรหม เราก็จะเห็นกายรูปพรหม ใจเราละเอียดถึงกายอรูปพรหมเราก็จะเห็นกายอรูปพรหม ใจเราละเอียดถึงกายธรรมโคตรภูเราก็จะเห็นกายธรรมโคตรภู ใจเราละเอียดถึงกายธรรมพระโสดาเราก็จะเห็นกายธรรมพระโสดา ทีนี้ใจจะละเอียดได้ ใจนั้นจะต้องหยุดนิ่ง เมื่อหยุดนิ่งแล้วสติก็ขยายเป็นมหาสติ ปัญญาก็ขยายเป็นมหาปัญญา สติเราก็จะมีความรอบรู้ มีความรู้กว้าง รู้ตัวดีกว่าปกติเมื่อเราปล่อยวางโลกภายนอก 

 


                โดยการพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา จิตก็จะปล่อยวางข้างนอก แล้วก็หยุดเข้ามาสู่ภายใน หยุดอยู่สู่ภายในน่ะ เห็นดวงปฐมมรรคข้างในดังกล่าวแล้ว ถ้าเราปล่อยวางต่อไปอีก ปล่อยวางดวงปฐมมรรคเรื่อยเข้าไปเบี้ย ไม่ช้าก็จะเดินตามเส้นทางศีล สมาธิ ปัญญาวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ จะปล่อยวางเข้าไปเรื่อยเลย ก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เราจะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดได้ เมื่อใจเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด พิจารณาให้เห็นว่ากายมนุษย์ละเอียดนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาเหมือนกัน ยังไม่ใช่สาระ ยังไม่เป็นแก่นสารของชีวิต พอเห็นได้ถูกส่วนเข้าใจก็จะปล่อยวางกายมนุษย์ละเอียดคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายมนุษย์ละเอียด พอปล่อยวางถูกส่วนเข้า ถูกส่วนคือมันปล่อยจริง ๆ ปล่อยวางจริง ๆ

 


                พอวางจริง ๆ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายทิพย์ คือมันร่อนทะลุ ร่อนออกจากกายมนุษย์ละเอียด พอไปเสวยสุขชื่นชมกับกายทิพย์ รู้เห็นทุกข์โทษของกายทิพย์ดีว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา แม้ว่าจะมีสุขกว่ากายมนุษย์ละเอียดก็ตามก็ยังไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา พอรู้ทั่วถึงดีแล้วใจก็จะเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด ความยึดมั่นถือมั่นก็จะปล่อยวาง พอปล่อยวางก็เข้าถึงกายรูปพรหมที่อยู่ภายใน คำว่าปล่อยวางปล่อยวางจริง ๆ เหมือนเราบ้วนน้ำลายทิ้งไปอย่างนั้น ไม่อยากจะเอาน้ำลายกลับคืนที่เดิม เห็นทุกข์เห็นโทษของกายทิพย์ก็ปล่อยวาง พอปล่อยวางจิตก็เข้าถึงกายรูปพรหม เห็นกายรูปพรหม ไปทำนองเดียวกันอย่างนี้แหละไปตามลำดับ

 


                เพราะฉะนั้นคุณธรรมต่าง ๆ นั้น จะเป็นโคตรภูบุคคลก็ดี ญาณลาภีบุคคลก็ดี โคตรภูบุคคลก็ดี หรืออริยบุคคลก็ดี อยู่ภายในตัวของเราทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับจิตของเราจะสะอาดบริสุทธิ์จะผ่องใสได้มากแค่ไหน ถ้าบริสุทธิ์มากก็เข้าถึงกายบริสุทธิ์ตามส่วนของตัว แผนผังของชีวิตนั้นต้องเดินตามแนวนี้ ผิดจากแนวนี้ไปไม่ได้ แล้วของเหล่านี้มีอยู่ในตัวของเราทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราสมมุติขึ้นมา เราจะสมมุติแค่เบื้องต้นเท่านั้นคือกำหนดบริกรรมนิมิตที่เป็นดวงแก้ว พอเป็นอุบายให้ใจหยุดนิ่งเท่านั้นเอง เมื่อหยุดนิ่งถูกส่วนแล้ว ของจริงที่อยู่ภายในตัวก็จะมาปรากฏเกิดขึ้นดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด เพราะฉะนั้นเบื้องต้นในวันนี้ เราจะต้องฝึกฝนอบรมใจของเราให้หยุดนิ่ง ให้ถูกส่วนอยู่ที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ ที่เดียว หยุดผิดจากที่นี้แล้วเป็นไม่พบกายในกายอย่างเด็ดขาด 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001615850130717 Mins