ขันธ์ ๕ และธรรมขันธ์

วันที่ 07 มีค. พ.ศ.2567

070367b01.jpg

พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
ขันธ์ ๕ และธรรมขันธ์

โดย...

พระราชนชาวนา วิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

        

                      ต่อจากนี้ ขอเรียนเชิญทุกท่านนั่งหลับตาเจริญภาวนากัน นั่งขัดสมาธิ ใครนั่งขัดสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ สำหรับท่านที่มาใหม่นะ ให้นึกน้อมจิตตามเสียงหลวงพ่อที่ได้แนะนำกันต่อไป สำหรับท่านที่เคยมาเป็นประจำแล้วก็ปฏิบัติธรรมไปเลย นั่งขัดสมาธิให้เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ใครนั่งขัดสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ แล้วก็เอามือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักเช่นเดียวกัน ทุก ๆ คน หลับตาของเราพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตาอย่าไปกดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ

 

 

                         ผ่อนคลายร่างกายของเราให้หายตึงเครียดทุกส่วน ตั้งแต่กล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตา หัวคิ้ว หน้าผาก ศีรษะท้ายทอย ให้ผ่อนคลายให้หมด กล้ามเนื้อบริเวณบ่าทั้งสอง ไหล่ทั้งสอง ตลอดจนกระทั่งถึงปลายนิ้วมือ ให้ผ่อนคลายให้หมด กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวของเรา ตลอดไปจนกระทั่งถึงปลายนิ้วเท้า ให้ผ่อนคลายให้หมด ขยับเนื้อขยับตัวให้พอเหมาะในการปฏิบัติธรรมให้มีความรู้สึกว่า ให้นั่งแล้วสบาย จะนั่งไปได้นานแค่ไหนก็นั่งได้ หลับพอสบาย ๆ ยังไม่ต้องนึก ยังไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น

 

 

                        ธรรมกายนั้นคือ กายที่ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ครบถ้วน ๓๒ ประการ ใสเป็นแก้ว ใสเป็นเพชร ใสยิ่งกว่าเพชร งามไม่มีที่ติ สิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือกึ่งกลางตัว ถ้าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือ ทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมาสองนิ้วมือเรียกว่าฐานที่ ๗ เป็นที่สิงสถิตของธรรมกาย นี่ต้องรู้จักว่าธรรมกายนี่อยู่ที่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกหรือจักรวาลอื่นอยู่ ในตัวของเรานี่แหละตรงฐานที่ ๗ เหนือจากจุดตัดนั้นขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ของใครของมันอยู่ตรงนี้แหละ

 


                การที่จะเข้าถึงธรรมกายได้นั้น จะต้องถอดกายออกเป็นชั้น ๆ หรือตามเห็นกายเข้าไปเป็นชั้น ๆ จะต้องทราบว่ากายของเรานี้ ประกอบด้วยกายต่าง ๆ ที่ซ้อนกันอยู่ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในสติปัฏฐาน ๔ ให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ ตามเห็นกายในกาย กายภายในที่อยู่ในกายภายนอก และก็กายภายในที่อยู่ในกายภายใน ซ้อน ๆ กันอยู่ ซ้อนกันอยู่ไปตามลำดับ กายที่หลุดพ้นจากขันธ์ ๕ นั้น ที่สุดนั้น นั่นแหละธรรมกาย ซ้อนกันอยู่ กายต่าง ๆ ที่ซ้อนกันอยู่นั้น ก็มีกายหยาบที่เราอาศัยนั่งเข้าที่อยู่นั่นก็คือกายภายนอก กายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝัน ที่เรานอนหลับแล้วฝันไปเรียกว่ากายภายในเป็นชั้นที่ ๒ ในกลางกายมนุษย์ละเอียดก็มีกายอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่เรียกว่ากายทิพย์ ในกลางกายทิพย์ก็มีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่เรียกว่ากายรูปพรหม ในกลางกายรูปพรหม ก็มีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่เรียกว่ากายอรูปพรหม ในกลางกายอรูปพรหมนั้นมีกายธรรมซ้อนอยู่ ลักษณะคล้ายกับพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ นั่นแหละธรรมกาย สุดของกายอรูปพรหมนั่นแหละธรรมกาย ซ้อนอยู่ภายใน

 


                การเข้ากายภายในเนี่ยซ้อนกันอยู่ไปตามลำดับ นี่ก็เป็นของยาก จะเข้าถึงกายภายในได้นั้น เราจะต้องเข้าถึงต้นทางให้ได้ซะก่อน ต้นทางที่จะเข้าถึงกายภายในนั้นเรียกว่า ปฐมมรรค มีลักษณะเป็นดวงกลมใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชร กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ ใส บริสุทธิ์ ประดุจเพชร หรือยิ่งกว่านั้น อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านี้ ขนาดใดขนาดหนึ่งก็เรียกว่าปฐมมรรคทั้งสิ้น ถ้าเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั่นแหละเป็นต้นทางที่จะเข้าถึงกายภายในกายในกายซ้อนกันอยู่ภายใน และที่สุดของกายนั้นน่ะจะเข้าถึงกายธรรม นี่ยากอย่างนี้    

 


                การจะฝึกใจให้หยุดจนกระทั่งเข้าถึง ปฐมมรรคได้นั้นจะต้องปล่อยอารมณ์ภายนอก เราจะต้องมีสติควบคุมใจของเราไม่ให้เผลอ จากศูนย์กลางกาย สติควบคุมใจไว้ให้หยุดให้นิ่ง ไม่ให้เผลอ เพราะปกติของใจนั้นมักจะแล่นไหลไปในความนึกคิดเก่า ๆ ไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น วนเวียนนึกคิดกันอยู่อย่างนี้ จึงเป็นเหตุให้ใจนี่ไม่หยุดไม่นิ่ง จะต้องอาศัยสติควบคลุมใจ ให้มันหยุดมันนิ่งลงไป ไม่ให้เผลอ พอถูกส่วนเข้าไม่ช้าก็จะเข้าถึงปฐมมรรค เข้าถึงดวงใสสะอาด บริสุทธิ์ เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ พอหยุดต่อไปอีกไม่ช้าก็เข้าไปเห็นกายภายในซ้อน ๆ กันอยู่ ซ้อนกันอยู่ไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม และเพราะว่ามีกายภายในเนี่ยซ้อนกันอยู่ หลายระดับชั้น 

 


                พระองค์ท่านจึงได้แบ่งแยกกายภายในออกเป็นสองประเภท กายภายในประเภทที่หนึ่งท่านเรียกว่าขันธ์ ๕ กายภายในประเภทที่สอง ท่านเรียกว่า ธรรมขันธ์ กายภายในที่เรียกว่าขันธ์ ๕ นั้น เพราะว่าตกอยู่ในไตรลักษณ์ กายภายในที่เรียกว่าธรรมขันธ์นั้น เพราะว่าพ้นจากไตรลักษณ์ คือพ้นจากความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และตรงข้ามก็เป็นนิจจัง เป็นสุขขังเป็นอัตตา นี่ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้แล้วจะเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องขันธ์ ๕ เกี่ยวกับเรื่องธรรมขันธ์ คือกายภายในประเภทหนึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ อีกประเภทหนึ่งเรียกว่าธรรมขันธ์ ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ เพราะว่าตกอยู่ในไตรลักษณ์ ที่เรียกว่าธรรมขันธ์ เพราะว่าพ้นไตรลักษณ์ ตกอยู่ในไตรลักษณ์ก็คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร ไม่คงที่ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ขืนไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ ก็มีแต่เปล่าประโยชน์ มีแต่นำมาซึ่งความทุกข์ 

 


                แต่ธรรมขันธ์นั้น เป็นกายที่พ้นจากไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้น ท่านจะเรียกอีกอย่างว่าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก พ้นจากไตรลักษณ์ เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา คงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีสุขล้วน ๆ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก เป็นตัวตนที่แท้จริง เป็นตัวจริงที่เรียกว่าอัตตา เป็นตัวจริง ๆ อนัตตาเป็นตัวปลอม ๆ คือไม่ใช่ตัวจริงเรียกว่าตัวปลอม ๆ เพราะมันยังเปลี่ยนแปลงอยู่ ถ้าตัวจริง ๆ แล้วไม่เปลี่ยนแปลง นี่ต้องแยกออกเป็นสองประเภทอย่างนี้นะ ทีนี้กายภายในประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ นั้นน่ะมีอะไรบ้าง ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ นั้นก็เริ่มต้นตั้งแต่ กายมนุษย์หยาบที่เราอาศัยนั่งเข้าที่ กายที่สองก็กายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝัน กายที่ ๓ ก็คือกายทิพย์ กายที่ ๔ ก็คือกายรูปพรหม กายที่ ๕ คือกายอรูปพรหม ทั้งหมดนี้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ จึงเรียกว่าขันธ์ ๕


        

                ส่วนธรรมขันธ์นั้นนับตั้งแต่ กายธรรมโคตรภูขึ้นไป กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี และก็กายธรรมพระอรหัตถ์ ตั้งแต่กายธรรมขึ้นไป เป็นธรรมขันธ์ ต่ำจากกายธรรมลงมาถึงกายมนุษย์หยาบ เรียกว่าขันธ์ ๕ ที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ ๕ ก็เพราะว่าไม่ใช่เป็นตัวจริง ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสารอะไร ให้ปลดให้ปล่อยให้วาง ให้วางไปตามลำดับขีดขั้นของความละเอียดอ่อนของใจ ของสติของปัญญา เนี่ยวางไปตามลำดับจนกระทั่งเข้าไปถึงธรรมขันธ์องค์ที่สุด ที่พ้นจากกิเลส จากอาสวะทั้งหลาย เพราะนั่นกิเลสจึงยังครอบงำขันธ์ ๕ ทั้งหลาย ตั้งแต่กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ครอบงำอยู่ครอบงำหมด กำอยู่ในอุ้งมือของพญามาร กำไว้หมดเลย นี่เรียกว่าขันธ์ ๕ ทั้งหมด ถ้าแยกย่อยออกไป ก็มีรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกออกไปอีกเยอะแยะ เวลาไม่พอ เพราะฉะนั้นย่อว่าขันธ์ ๕ ส่วนที่เรียกว่าธรรมขันธ์นั้น ว่าเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ บริสุทธิ์ สะอาดหมดจด กิเลสเครื่องผูกในธรรมขันธ์ก็เรียกไปอีกอย่าง เรียกว่าสังโยชน์ สังโยชน์เครื่องผูก แล้วก็ละเอียดอ่อนไปตามลำดับ

 


                พระพุทธเจ้าท่านเข้าไปถึงกายภายในอย่างนี้แหละ ตั้งแต่ปล่อยวางกายมนุษย์หยาบเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ปล่อยวางกายมนุษย์ละเอียดเข้าถึงกายทิพย์ ปล่อยวางกายทิพย์เข้าถึงกายรูปพรหม ปล่อยวางกายรูปพรหมเข้าถึงกายอรูปพรหม ปล่อยวางกายอรูปพรหมเข้าถึงกายธรรมโคตรภู ปล่อยวางกายธรรมโคตรภูเข้าถึง กายธรรมพระโสดา ปล่อยวางกายธรรมพระโสดาเข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคามี ปล่อยวางกายธรรมพระสกิทาคามีเข้าถึงกายธรรมพระอนาคามี ปล่อยวางกายธรรมพระอานาคามีเข้าถึงกายธรรมอรหัต อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าองค์ที่สุดนั้น หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใสเป็นแก้วงามไม่มีที่ติ สังโยชน์ทั้งหลายหลุดร่อนหมดเครื่องผูกอะไรต่าง ๆ หลุดร่อน กิเลสอาสวะหมดสิ้น สว่างไสวยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน เอามาเรียงเต็มท้องฟ้านับไม่ถ้วน นั่นแหละคือความสว่างไสวของกายธรรมอรหัต อยู่ที่ศูนย์กลางกาย นี่คือแผนผังของชีวิตเป็นหลักของพระพุทธศาสนา จะต้องเดินตามรอยอย่างนี้ ปล่อยวางกันไปตามลำดับ ผิดจากนี้ไม่ใช่ ผิดจากนี้ก็เป็นผิดหมด 


        

                ทีนี้ในสติปัฏฐาน ๔ นอกจากท่านตรัสให้ตามเห็นกายภายในต่าง ๆ แล้ว ให้ตามเห็นกายภายใน ในกายภายใน กายภายในในกายภายนอก แล้วปล่อยวางไปตามลำดับ ท่านยังตรัสถึงให้ตามเห็น คือมองให้เห็นจิตในจิตเข้าไปอีก เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ทั้งสามอย่างนี้นะ ๔ อย่างรวมทั้งกาย เวทนา จิต ธรรม ๔ อย่างมันก็มีอยู่ภายในของทุก ๆ กาย กายมนุษย์หยาบจิตมันก็หยาบลงมา มันก็นึกคิดแต่ไอ้เรื่องหยาบ อวิชชา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ เวทนาที่เสวยอารมณ์หยาบ ธรรมก็เหมือนกัน สิ่งที่รองรับเอาไว้มันก็หยาบลงมา หยาบลงมาเรื่อย ๆ เลย พอกายที่ละเอียดขึ้นไปตามลำดับ ไอ้กายเวทนา จิต ธรรม มันก็ละเอียดขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งกายก็บริสุทธิ์ล้วน ๆ จิตก็บริสุทธิ์ล้วน ๆ เวทนาก็มีแต่สุขล้วน ๆ ธรรมก็สะอาดล้วน ๆ เป็นวิราคธรรม สะอาดล้วน ๆ บริสุทธิ์ล้วน ๆ ก็เดินตามรอยอย่างนี้แหละ เข้าไปตามเห็นกายในกาย

 


                ถ้ามนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ได้เข้าถึงกายภายในอย่างที่ได้เรียนให้ทราบนี้เนี่ย ตั้งแต่เบื้องต้น การทะเลาะเบาะแว้งก็จะไม่เกิดขึ้น การเบียดเบียนกันก็จะไม่เกิดขึ้น การเพ่งโทษกันก็จะได้ไม่เกิดขึ้น มีแต่ความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน โลกจะเกิดสันติสุขขึ้นอย่างแท้จริง เพราะว่าตามเห็นกายในกายเข้าไปตามลำดับอย่างนี้ เพราะว่าการเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาตินั้น มีเป้าหมายอันสูงสุดเพื่อที่จะฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้หลุดพ้นจากกายต่าง ๆ ให้เข้าถึงกายธรรมอรหัต ซึ่งเป็นกายสุดยอด มีแต่สุขล้วน ๆ เสวยวิมุตติสุขสุขที่เกิดจากการหลุดพ้น สุขที่เกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลส จากอาสวะ จากความทุกข์ จากความทรมาน ไปสู่ความสุขที่ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ นี่คือเป้าหมายของชีวิตของทุก ๆ คนในโลก ของตัวของเราเอง จะต้องมุ่งให้เข้าถึงกายธรรมอรหันต์องค์ที่สุด เป็นพระอรหันต์นั่นเอง เป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส อาสวะเลย มีแต่ความสุขล้วน ๆ 

 


                นี่คือเป้าหมายที่เราเกิดกันมาหลายภพหลายชาตินั้นน่ะ ก็เพราะไม่ทราบแผนผังของชีวิต ไม่รู้จักกายภายใน ไม่รู้จักว่าในกายของเรามีกายต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ กายไหนมันเป็นสาระเป็นแก่นสาร กายไหนนะถึงจะเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเราได้ กว่าเราจะทราบอย่างนี้ จะต้องมีพระพุทธเจ้าท่านมาตรัสรู้มาแสดงธรรม เมื่อท่านเข้าถึงแล้วก็มาแสดงธรรม แนะนำกันต่อไปให้เข้าถึงกายภายในเช่นเดียวกับพระองค์ท่าน โดยปลด โดยปล่อย โดยวาง ในแต่ละกายเข้ามาตามลำดับอย่างนั้นแหละ จนกระทั่งเข้าถึง กายธรรมอรหันต์องค์ที่สุด นั่นคือเป้าหมายของชีวิต แต่ทีนี้มนุษย์ทุกคนนี่จะมาติดข้องที่กายมนุษย์หยาบอย่างเดียว อีก ๑๗ กายนะไม่รู้เรื่องเลย ที่ซ้อนอยู่ภายใน รู้แต่เรื่องราวของกายมนุษย์หยาบที่เราอาศัยนั่งเข้าที่ เมื่อรู้จักแค่นี้เห็นอยู่แค่นี้ จิตใจก็วนเวียนอยู่ เรื่องกามมั่ง เรื่องกินมั่ง เรื่องเกียรติยศชื่อเสียงมั่ง เรื่องสารพัดเรื่องที่จะทำให้วนเวียน เวียนว่ายตายเกิด ตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร 


 

                เพื่อที่จะแสวงหาทางหลุดพ้น แสวงหาความรู้ที่สมบูรณ์ แสวงหาทางหลุดทางพ้นจากกายหยาบนี้ แต่ว่าไม่พบอะไรที่วิเศษกว่า วนเวียนอยู่อย่างนี้ ติดกายของตัวเองบ้าง ติดร่างกายของคนอื่นมั่ง เมื่อติดทั้งตัวเองติดทั้งคนอื่น และก็ติดสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นวัตถุเป็นสิ่งของที่เกี่ยวโยงกันไปตามลำดับอย่างนี้ มันก็มัวมานึกคิดไอ้สิ่งเหล่านี้ตลอดจนกระทั่งหมดอายุขัย พอหมดอายุขัยแล้ว เกิดใหม่ก็เป็นอย่างนี้อีก เป็นอย่างนี้อยู่ร่ำไป จนกว่าเมื่อ ไหร่เราเห็นทุกข์เห็นโทษ ของการเวียนว่ายตายเกิด เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในการยึดมั่นในขันธ์ ๕ เห็นทุกข์เห็นโทษแล้ว ใจก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็กลายความกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่น เมื่อปล่อยคลายความยึดมั่นถือมั่น กายของเราก็ดี กายของคนอื่นก็ดี สิ่งที่เกี่ยวข้องกับกายก็ดีเป็นวัตถุเป็นสิ่งของอะไรต่างๆ ก็ดี ใจก็หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ 

 


                พอหลุดพ้นก็หยุดนิ่ง กลับเข้าไปสู่ที่ตั้งตรงฐานที่ ๗ เราจะมีความรู้สึกโล่งโปร่งเบาสบาย พอหยุดถูกส่วนหนักเข้าความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นเป็นดวงใส ดวงใสบริสุทธิ์เกิดขึ้นในกลางหยุดนิ่ง อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้นอีก นั่นแหละเรียกว่าปฐมมรรค เมื่อเข้าถึงปฐมมรรคได้ ไม่ช้าก็จะเห็นกายในกายไปตามลำดับอย่างที่ได้เรียนชี้แจงมาตั้งแต่ต้น นี้แหละคือแผนผังของชีวิต ซึ่งทุกคนต้องเอาใจใส่เอาไว้ให้ดีทีเดียว ถ้าไม่ใส่ใจเอาไว้ ไม่ศึกษาเอาไว้ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม เกิดมาชาตินี้ตายฟรี ตายฟรีหมดเลยเพราะฉะนั้นให้เข้าใจอย่างนี้นะ

 


                เมื่อเข้าใจอย่างนี้ต่อจากนี้ไป จะได้สอนวิธีทำภาวนาให้สำหรับผู้ที่มาใหม่ สำหรับผู้ที่มาประจำอย่างสม่ำเสมอแล้วก็ปฏิบัติธรรมกันต่อไป สำหรับผู้ที่มาใหม่ ให้นึกน้อมจิตตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ กำหนดนึกหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒เส้น กำหนดนึกหยิบ หลวงพ่อใช้คำว่านึกนะ นึกหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึงเส้นเชือกเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปทางด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุมาด้านซ้าย เส้นเชือกทั้งสองจะตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าฐานที่ ๗ ให้สร้างมโนภาพ กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาเป็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา 

 


                กำหนดบริกรรมนิมิตให้ใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา กำหนดขึ้นตรงฐานที่ ๗ นักสร้างมโนภาพขึ้นมาอย่างนั้น เพื่อให้เป็นที่ยึดเกาะของใจเรา ในการนึกถึงบริกรรมนิมิตนั้นให้ง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง เช่นนึกถึงบ้านของเราก็ดี นึกถึงคนที่เรารักก็ดี หรือนึกถึงของที่เรารักก็ดี เราจะสังเกตได้ว่าการนึกถึงสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ใช้ความพยายาม ในการนึกคิดเลย ภาพนั้นก็จะปรากฏขึ้นมาในใจของเรา การเห็นด้วยตากับการเห็นด้วยใจนั้นต่างกันเห็นด้วยตาเนื้อ พอเราลืมตาปั๊บ ก็เห็นเท่ากับ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย เห็นชัดเจนเลย แต่เห็นด้วยใจนั้นมันจะค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น อาจจะเริ่มต้นตั้งแต่ ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐เปอร์เซ็นต์ ๒๐, ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เรื่อยไปตามลำดับ จนกระทั่งเท่ากับ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ 

 


                ชัดเจนเหมือนลืมตาเห็นหรือยิ่งกว่านั้น คือเห็นเกินไปกว่านั้น ยิ่งกว่าลืมตาเห็น นั่นคือการเห็นด้วยใจ เพราะฉะนั้นที่เราหลับตานั้น เรามีวัตถุประสงค์ไม่ให้เห็นวัตถุภายนอก เมื่อไม่ให้เห็นวัตถุภายนอกนั้น เราก็นึกกำหนดขึ้นมาในใจของเรา สร้างมโนภาพขึ้นมา เป็นดวงแก้วใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นะ ใจให้ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้ว พร้อมกับภาวนาในใจ ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางฐานที่ ๗ อยู่ในกลางท้องเรานะ เราภาวนาว่า สัมมา อะระหัง สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ให้ภาวนาในใจอย่างนี้ ไปเรื่อย ๆ นะ เมื่อไหร่เราเห็นดวงแก้วได้ชัดเจน ใสบริสุทธิ์คล้ายกับเราลืมตาเห็น เมื่อนั้นเราก็จะหยุดคำภาวนาแล้วก็ตรึกนึกถึงแต่ดวงใส รักษาดวงใสอันนั้นไปเรื่อย ๆ นี่ให้เข้าใจอย่างนี้นะ สำหรับท่านที่มาใหม่นะ 

 


              สำหรับท่านที่ได้ดวงใสแล้วก็เอาใจหยุดอยู่ที่กลางดวงใส ท่านที่ได้กายภายในแล้ว ถึงกายไหนก็ตาม ก็เอาใจหยุดลงไปที่ศูนย์กลางกายของกายนั้น ท่านที่ได้ธรรมกายก็เอาใจหยุดลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของธรรมกาย ท่านที่ยังไม่ได้อะไรเลย ก็หยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ หยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง หยุดนิ่งอย่างเดียวตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางหลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะทั้งหลาย เป็นทางหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความโศกเศร้า เสียใจ คับแค้นใจ ว่าพิไรรำพันอะไรต่าง ๆ เราจะหลุดพ้นได้ต้องอาศัย หยุดลงไปตรงกึ่งกลางฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละเป็นแหล่งของสติ เป็นแหล่งของปัญญา เป็นแหล่งของสันติสุข เป็นแหล่งของพลังแห่งความดีทั้งมวล เป็นแหล่งแห่งความสำเร็จในชีวิตทั้งหลาย 

 


                เกิดขึ้นอยู่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว หยุดในหยุด หยุดในหยุดนิ่งตรงนี้นะ ตรงนี้บางครั้งท่านก็เรียกว่า อริยมรรค หนทางเดินของอริยเจ้า เหมือน super high way เป็นทางเดินของรถ แม่น้ำเป็นทางเดินของเรือ ท้องฟ้าเป็นทางเดินของเครื่องบิน ศูนย์กลางกายก็เป็นทางเดินของใจ เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางไปของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าไม่ใช่เป็นทางไปของปุถุชน ผู้มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ กิเลสหนาปัญญาหยาบกิเลสหนาขนาดหุ้มใจ หนาแน่นมองอะไรไม่เห็นหรอก ปัญญาหยาบคิดอะไรก็ไม่ออก เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทางไปของปุถุชน แต่เป็นทางไปของพระอริยเจ้า จึงเรียกว่า อริยมรรค อริยมรรคทางเดินของพระอริยเจ้า เป็นทางที่ไปแล้วห่างไกลจากกิเลส จากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายทั้งปวง พุทธเจ้าอรหันต์ท่านอาศัยอย่างนี้แหละเป็นทางเดินของใจ ไปตามกายต่าง ๆ ที่ได้เรียนให้ทราบตั้งแต่ต้น คงจำกันได้นะจ๊ะ ทุกคนนะ 

 


                ตั้งแต่กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู โสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหันต์ ถึงกายไหนเนียะชื่อเรียกก็เปลี่ยนแปลงไป ถึงกายธรรมโคตรภู เค้าเรียกว่าโคตรภูบุคคล คือผู้ที่ครอบงำทำลายความเป็นปุถุชน พ้นจากขันธ์ ๕ แต่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ถึงได้เรียกว่าโคตรภูบุคคล ถ้าเข้าถึงกายพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันท่านก็เรียกว่า พระโสดาบันบุคคล เป็นพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหัตก็เหมือนกัน ก็เรียกไปตามภูมิธรรม คุณธรรมที่เข้าถึงที่เป็นไปอย่างนี้แหละ นี่แหละคือหนทางเดินของพระอริยเจ้า จำกันเอาไว้ให้ดีทุกคนนะจ๊ะ ต้องเอาใจหยุดนิ่งตรงฐานที่ ๗ สำคัญที่สุดในโลก สำคัญกว่าชีวิต สำคัญกว่าทรัพย์ภายนอก สำคัญกว่าอวัยวะภายใน สำคัญกว่าชีวิต ที่พระพุทธเจ้าท่านให้สละไปตามลำดับ เช่นสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตให้เข้าถึงธรรมกายตรงนี้ ตรงนี้แหละตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ ถ้าสละผิดที่เข้าไม่ถึงธรรมกาย ถ้าสละถูกที่เข้าถึงธรรมกายอย่างเด็ดขาดทีเดียว

 


                สละทรัพย์ภายนอก ใจมันจะได้ไม่ห่วงกังวลรักษาอวัยวะ สละอวัยวะมันจะเป็นมันจะตาย มันยังไงก็ช่างมัน จะปวดจะเมื่อย กระสับกระส่าย ช่างมัน ปล่อย เหลือแต่ชีวิต สละชีวิตไป ปล่อยชีวิตไปเลย เอาธรรมเอาไว้ เอาธรรมกายไว้ จะได้เข้าถึงธรรมกาย ธรรมกายอยู่ฝากข้างตาย ต้องปล่อยชีวิตจึงจะเข้าถึงธรรมกาย ต้องปล่อยชีวิต ถ้ารักชีวิต หวงแหนชีวิตเข้าไม่ถึงเด็ดขาดทีเดียว จะถึงธรรมกายนั้นจะต้องตายไปครั้งหนึ่ง คือตายจากความเป็นมนุษย์ความเป็นปุถุชน และก็เกิดใหม่มาเป็นธรรมกาย จิตมันจะวูบลงไป และก็เกิดใหม่เป็นธรรมกาย ธรรมกายนี้จำเอาไว้ให้ดีทุกคนนะจ๊ะ จำอะไรไม่ได้ก็ให้จำว่าธรรมกายน่ะ สองคำคือก็ธรรมกาย สองคำนี้จำได้ปิดประตูอบายภูมิ จำให้ขึ้นใจให้คล่องปาก ให้ขึ้นใจทีเดียว ให้ติดเป็นอัตโนมัติว่าธรรมกาย 

 


                ธรรมกายเป็นกายหลุดกายพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย กายตรัสรู้ เห็นแจ้งรู้แจ้ง ตลอดในสรรพธรรมทั้งหลาย เป็นกายผู้รู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วทั้งหมด ธรรมกายจำไว้ให้ดีนะจ๊ะ ๒ คำนี้ ติดที่ศูนย์กลางกาย ได้สองคำนี้ปิดประตูอบายภูมิ ใกล้จะละโลกเหลือธรรมกายอยู่คำเดียว ปิดประตูอบายภูมิหมด ธรรมกายจะดึงดูดกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เราได้สั่งสมอบรมมา ด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย จะรวมประชุมดึงดูดไปที่เดียวกันดูดไปติดอยู่ที่ธรรมกาย เมื่อแตกกายทำลายขันธ์แล้ว ธรรมกายก็ดึงดูดไปสู่ภพภูมิอันวิเศษ สู่สุคติภูมิ ภูมิสุคติเป็นที่ไป จำไว้ให้ดีนะจ๊ะ ว่าธรรมกาย ๒ คำนี้เท่านั้นแหละ สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับโลกได้ สุขตั้งแต่ตัวเราเอง จนกระทั่งสุขขยายออกกว้างขวาง กระทั่งครอบคลุมโลกเลย เพราะฉะนั้นธรรมกายจึงเป็นหลักของโลกหลักของชีวิต หลักของจิตใจ หลักของทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ธรรมกายเนี๊ยจำเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ 

 


                เราก็รวมใจของเราให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย อย่าลืมหลักตรงนี้นะจ๊ะ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็ต้องนึกอย่างนี้ไปที่ศูนย์กลางกาย ให้ทุกคนหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกาย ให้หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งให้ดีที่ศูนย์กลางกาย หยุดให้ดีนะ หยุดแล้วเราก็นึกถึงบุญ ทานเราก็ได้ให้แล้ว ศีลเราก็สมาทานแล้ว ภาวนาเราก็ได้เจริญแล้วพร้อมทั้งได้ศึกษาเป้าหมายของชีวิตว่าทำอย่างไรเราถึงจะประสบความสำเร็จอันสูงสุดในชีวิต ความสำเร็จอันสูงสุดในชีวิตเราก็ได้ศึกษาแล้ว คือการเข้าถึงธรรมกาย เรากำลังปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติฝึกฝนอบรมใจของเราให้เข้าถึงธรรมกาย ทาน ศีล ภาวนา ครบถ้วนบริบูรณ์ ยากที่ใครในโลกนี้จะทำได้สำเร็จพร้อมกันในเวลาเดียวกัน 

 


                เราลองนึกเอามนุษย์ทั้งโลกเนี่ยตั้ง ๔-๕ พันล้านคน ซึ่งอยู่ในแต่ละประเทศ แล้วเราลองมาพิจารณา ลองมาเทียบเคียงกันดู ว่าเดือนหนึ่งเนี้ย วันอาทิตย์ต้นเดือน มีใครบ้างที่ได้ ให้ทาน ทำทานตั้งแต่วัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน วิทยาทานอะไรต่าง ๆ เหล่านี้เนี่ย ในวันนี้มีไม่กี่คนในโลก มีใครบ้างที่ได้รักษาศีล ศีลห้า ไม่ฆ่าสัตว์ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มสุราเมรัย ในวันนี้มีสักกี่คน สมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน มีใครได้ศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรม ให้ได้เข้าถึงธรรมกายในวันเนี้ย จะมีกันสักกี่คน เพราะฉะนั้นในโลกนี้น่ะ ห้าพันกว่าล้านคน มีอยู่หยิบมือเดียวเท่านั้น คือกลุ่มสหธรรมมิกของพวกเรา ได้บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ครบถ้วนทั้งสามประการเลย

 


                ทานกุศลอันนี้จะเป็นเสบียงติดตัวเราไป ในภพเบื้องหน้า การสร้างบารมีไปสู่พระนิพพาน ไม่ใช่ว่าเราจะไปกันได้ชาติหนึ่ง สองชาติแล้วก็ไปกันถึงเมื่อไหร่ มันเป็นหนทางที่ยาวนานทีเดียว การเดินทางนั้นจำเป็นต้องมีเสบียงติดตัวเราไป เลี้ยงตัวไป ไม่ว่าจะเดินทางในโลกนี้ เดินทางในโลกหน้า หรือเดินทางไปสู่พระนิพพาน จะต้องมีเสบียงทั้งนั้น ทานกุศลนี้แหละ จะส่งผลให้เป็นเสบียงเลี้ยงขันธ์ ๕ ของเรา เลี้ยงร่างกายของเรานี้ไป ให้เราได้สร้างบารมีสะดวกสบาย ให้ทำทานต่อไปอีก ได้สะดวกสบาย ให้รักษาศีลต่อไปอีกได้สะดวกสบาย ให้เจริญภาวนาต่อไปอีกได้สะดวกได้สบาย ทานกุศลอันนี้ จะเป็นเครื่องสนับสนุนหล่อเลี้ยงขันธ์ ๕ หล่อเลี้ยงสังขารของเราไป 

 


                เพราะฉะนั้นคำว่าอดอยาก ยากจนเนี่ยจะไม่บังเกิดขึ้นกับเราทุกภพทุกชาติ กระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน ทานของเราได้ทำเอาไว้อย่างนี้แล้ว ด้วยจิตอันเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เราได้ทำถูกจุดของบุญ ถูกเนื้อนาบุญ เพราะฉะนั้นทานกุศลอันนี้ จึงเป็นผลใหญ่ติดตัวไปในภพเบื้องหน้า ผู้ที่ขาดทานกุศล ชีวิตของเค้าย่อมอดอยาก ยากจน หาเช้ากินค่ำ หากินกลางคืน หรือหากลางคืนกินเช้า อะไรอย่างนั้นไป ชีวิตจะอัตคัดขาดแคลนตลอด เพราะขาดทานกุศล ผู้ที่อดอยาก ยากจน โอกาสที่จะมานั่ง จะสร้างบารมีเนี่ยลำบาก เปิดฝาหม้อมาไม่มีข้าวก็ลำบากแล้ว อัตคัด ชีวิตของเค้า ก็จะต้องวนเวียนอยู่ กับสิ่งที่ผิดศีล ผิดธรรม ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์มั่ง ลักทรัพย์มั่ง อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เพราะว่าขาดทานกุศล เพราะฉะนั้นทานกุศลเป็นเรื่องใหญ่ จะเป็นพื้นฐานอย่างสำคัญสำหรับคุณธรรมขั้นต่อ ๆ ไป

 


                 ทานกุศลในวันนี้ เราได้ตั้งไว้อย่างดีแล้ว ด้วยจิตอันเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้นภพต่อไปในอนาคตเราจะสมบูรณ์ พูนสุข ไปด้วยโภคทรัพย์ ซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงสังขาร เป็นพื้นฐานของคุณธรรม ติดตัวไปในภพเบื้องหน้า ศีลเราได้สมาทานแล้ว ตั้งแต่เช้าจรดจนกระทั่งบัดนี้ ไม่ได้ล่วงละเมิดเลย ระลึกนึกถึงศีลก็มีความปิติ มีความปราโมทย์ใจ ศีลนี้เป็นเหตุให้ใจเย็นฉ่ำ เมื่อใจเย็น กายก็เย็น ความเย็นอันนี้แหละส่งผลไปในภพเบื้องหน้าให้เราเป็นผู้ที่มีรูปงาม อันเป็นอุปกรณ์ ที่จะสร้างบารมีได้อย่างดีเยี่ยม เหมือนอย่างพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่อุดมไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ครบถ้วน ๓๒ ประการ ก็เพราะอาศัยศีลอันนี้แหละ เป็นเหตุให้เกิดลักษณะอันนั้น 

 

                ภพต่อไปในอนาคต จิตใจของเราจะเป็นผู้ที่ฝักใฝ่อยู่ในศีล ฝักใฝ่อยู่ในธรรม ใจจะเย็นชื้น จะมีพวกพ้องบริวาร ก็เป็นพวกพ้องที่ทำให้ใจเราเย็นฉ่ำ ไม่นำความร้อนอกร้อนใจให้เกิดขึ้น เราจะมีกายที่สวยงามที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุขัยยืนยาว ติดไปในภพเบื้องหน้า ศีลเราได้รักษาเอาไว้อย่างดีแล้ว ด้วยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้นให้ตามระลึกนึกถึงบุญที่เราได้สมาทานศีล และก็ได้รักษาศีลมาตั้งแต่เช้าจรดจนกระทั่งบัดนี้ ภาวนาเราก็ได้เจริญแล้วด้วยจิตอันเลื่อมใส ในพระรัตนตรัย ใจหยั่งลงสู่ศูนย์กลางกายซึ่งเป็นต้นทางทีจะเข้าถึงธรรมกายภายใน ภาวนานี้เป็นเหตุเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาแห่งสติ แห่งปัญญา แห่งความเฉลียวฉลาดทั้งมวล เราจะมีความเฉลียวฉลาดมีสติมีปัญญาตั้งแต่ภพนี้ เรื่อยไปจนกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน ผู้ที่อุดมไปด้วยโภคทรัพย์ มีรูปกายที่งามและมีสติปัญญาอันเลิศ เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในโลก

 


                บัดนี้คุณธรรม ๓ ประการนั้นได้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้วในจิตใจของพวกเราทั้งหลาย ขอให้พวกเราทุกๆ คน ตรึกระลึกนึกถึงผลบุญอันนี้เอาไว้ให้ดี ทำจิตใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส นึกถึงบุญที่เราทำไว้ในวันนี้ อธิษฐานจิตของเราไป เป็นอธิษฐานบารมี ก็ขอผลบุญกุศลที่เราทำไว้อย่างดีแล้วในวันนี้ ด้วยจิตอันเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ให้เรามีความสุข มีความเจริญ ให้มีดวงตาเห็นธรรม ให้ได้เข้าถึงพระธรรมกาย จะปรารถนาสิ่งไรก็ตาม ที่เป็นไปเพื่อการสร้างบารมีให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ขอความปรารถนานั้น ให้เป็นผลสำเร็จอธิษฐานจิตกันไปอย่างนี้นะ อธิษฐานจิตอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ตรึกนึกถึงบุญแล้วก็อธิษฐานไป 

 

 

                อธิษฐานบารมีอันนี้ จะเป็นเสมือนหางเสือเรือ ที่นำเราไปสู่ทิศทางที่ปลอดภัย แล้วก็จะไปถึงที่หมาย ได้อย่างสะดวกอย่างง่ายดายโดยเร็วพลัน เช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อได้สร้างบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้นแล้ว ก็ได้ตั้งอธิษฐานจิตไปที่ศูนย์กลางกายอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าท่านก็อธิษฐาน ด้วยบุญบารมีของท่าน ที่ได้บำเพ็ญมาอย่างนี้ ขอให้ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต อธิษฐานอย่างนี้ทุก ๆ ครั้งที่ทำความดี บำเพ็ญบุญ และก็ทุกภพทุกชาติ จนกระทั่งเมื่อบารมีเต็มเปี่ยม ความปรารถนาที่มีบุญเป็นพื้นฐาน ที่ดลบันดาลให้ท่านสมความปรารถนาทุกอย่าง เพราะอธิษฐานบารมีเนี่ยเป็นสิ่งที่สำคัญ 

 


                พระอรหันต์ทุกองค์ก็ได้อธิษฐานจิตกันมาแล้ว อย่างเช่นพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร เมื่อได้ถวายทานกุศลแด่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งในอดีต พร้อมทั้งสาวก ได้อธิษฐานจิตเป็นอัครสาวกซ้ายขวา ของพระผู้มีพระภาคเจ้าในอนาคต อธิษฐานอย่างนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกภพทุกชาติ กระทั่งชาติสุดท้าย ความปรารถนานั้นก็บริบูรณ์ มีความเต็มเปี่ยมได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แล้วก็เป็นพระอัครสาวกซ้ายขวา สมความปรารถนาทุกประการ พระอนุรุทธะเมื่อท่านได้สร้างทานกุศล ถวายแด่พระพุทธเจ้า ในอดีตตั้งความปรารถนาเอาไว้ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในอนาคตพระองค์หนึ่ง แล้วเป็นผู้เลิศด้วยทิพยจักขุ มีดวงตาทิพย์ มองเห็นทะลุทั้งมนุษย์ และทั้งทิพย์ทั้งหลาย อธิษฐานซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกภพทุกชาติ ในที่สุดชาติสุดท้าย ความปรารถนานั้นก็บรรลุเป้าหมาย

 


                อธิษฐานบารมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ให้ทุกคนพึงระลึกนึกถึงบุญกุศล ที่เราได้บำเพ็ญในวันนี้ ทาน ศีล แล้วก็ภาวนา เป็นเครื่องสนับสนุนให้ความปรารถนาของเรานั้น ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อธิษฐานจิตกันไปอย่างนี้ทุก ๆ คนนะจ๊ะ ต่างคนต่างอธิษฐานกันไปเงียบ ๆ เมื่อเราอธิษฐานดีแล้ว อีกสักครู่เราจะได้ตั้งจิตอธิษฐานแผ่เมตตา ความปรารถนาดีไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตอนนี้อธิษฐานจิตกันไป ทุก ๆ คน ต่างคนต่างอธิษฐานกันไปนะ 

 


                อธิษฐานส่วนตัวแล้วอธิษฐานตามที่หลวงพ่อจะได้ กล่าวนำกันต่อไปนะ ให้ทุกคนตั้งใจนั่งพับเพียบหลับตาพนมมือไปพร้อม ๆ กันนะ 


         - บุญใดที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ เพราะบุญนั้นและการอุทิศแผ่ส่วนบุญนั้น
         - ขอให้ข้าพเจ้า ทำให้แจ้งโลกุตระธรรมเก้า ในทันที ข้าพเจ้าเป็นผู้อาภัพอยู่ ยังต้องท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร
         - ขอให้ข้าพเจ้า เป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ได้รับพยากรณ์แต่พระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ถึงฐานะแห่งความอาภัพ ๑๘ ประการ
         - ขอให้ข้าพเจ้า พึงเว้นจากเวรทั้งห้า จึงยินดีในการรักษาศีล ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้งห้า พึงเว้นจากเชือกตมดังกล่าวคือกามคุณ
         - ขอให้ข้าพเจ้า ไม่พึงประกอบด้วยทิฏฐิชั่ว พึงประกอบด้วยทิฏฐิที่ดีงาม ไม่พึงคบมิตรชั่ว พึงคบแต่บัณฑิตทุกเมื่อ
       - ขอให้ข้าพเจ้า เป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ ความเพียร และขันติ พึงเป็นผู้ที่ศัตรูครอบงำไม่ได้ ไม่เป็นคนเขลา คนหลงงมงาย
         - ขอให้ข้าพเจ้า เป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งความเสื่อมและความเจริญ เป็นผู้เฉียบแหลมในอรรถและธรรม ขอให้ญาณของข้าพเจ้า เป็นไปไม่ข้องขัดในธรรมะที่ควรรู้ ประดุจลมพัดไปในอากาศฉะนั้น
         - ความปรารถนาใด ๆ ของข้าพเจ้าที่เป็นกุศล ขอให้สำเร็จโดยง่ายทุกเมื่อ คุณที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วทั้งปวงนี้ จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกภพทุกชาติ
         - เมื่อใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แสดงธรรมเครื่องพ้นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เมื่อนั้น ขอให้ข้าพเจ้า พ้นจากกรรมอันชั่วช้าทั้งหลาย เป็นผู้ได้โอกาส แห่งการบรรลุธรรม
       - ขอให้ข้าพเจ้า พึงได้ความเป็นมนุษย์ ได้เพศบริสุทธิ์ ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว เป็นคนรักศีล มีศีล ทรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระบรมศาสดา
          - ขอให้เป็นผู้มีการปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก ตรัสรู้ได้พลัน กระทำให้แจ้ง ซึ่งอรหัตผลอันเลิศ อันประดับด้วยธรรมะ มีวิชชาเป็นต้น
         - ถ้าหากพระพุทธเจ้า ไม่บังเกิดขึ้น แต่กุศลกรรมของข้าพเจ้า เต็มเปี่ยมแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้ข้าพเจ้าจงได้ญาณ เป็นเครื่องรู้เฉพาะตน อันสูงสุดเทอญ

 


                คราวนี้ตั้งใจแผ่เมตตานะ ทำจิตให้สงบ เราได้อธิษฐานจิตไปแล้ว อธิษฐานธรรมไปแล้ว คราวนี้เราก็นึกแผ่เมตตาของเราตั้งใจให้ดีนะ การแผ่เมตตามีอานิสงส์มาก ต่อตัวของเราเอง ทำให้หลับเป็นสุข หลับแล้วฝันมีศิริมงคล ตื่นก็เป็นสุข ผิวพรรณวรรณะก็ผ่องใส เป็นที่รักของมนุษย์และของเทวดาทั้งหลาย ศาสตราวุธต่าง ๆ ภัยต่าง ๆ ทำอันตรายไม่ได้ เราจะเข้าถึงสมาธิ ใจหยุดใจนิ่งได้เร็ว จะเข้าถึงธรรมกายได้เร็ว รักษาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ใกล้จะละโลกจิตจะผ่องใส มีความสุขแม้ว่าจะละโลก ไม่หวาดหวั่นในมรณะภัย มีจิตใจเบิกบานแจ่มใสและจะละโลกไปแบบผู้ชนะ ไปสู่ภพภูมิอันวิเศษ ไปสู่สุคติภูมิ นี้คืออานิสงส์ของการแผ่เมตตาโดยย่อ ซึ่งเราเองจะได้เป็นผู้ที่ได้รับ

 


                ในสมัยหนึ่งกบิลดาบสได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่า ท่านมีอุปนิสัยชอบเจริญเมตตาภาวนาเป็นนิสัย เจริญเมตตาภาวนาเป็นเนืองนิจทีเดียว ทำอย่างนี้สม่ำเสมอทุกวันทุกคืน วันนี้ใจสบายท่านก็แผ่เมตตา ถ้าหันหน้าไปทางตะวันออก ท่านก็ตั้งความปรารถนาว่า สรรพสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย มีสัตว์สองเท้า สี่เท้า ไม่มีเท้ามีเท้ามาก เท้าน้อย อะไรก็แล้วแต่ อยู่ในทิศเบื้องหน้าทางตะวันออกนี้ ขอให้ได้รับความปรารถนาดีที่แผ่ออกไป ด้วยกระแสใจที่บริสุทธิ์ ให้มีความสุขมีความสดชื่น พ้นจากทุกข์โศกโรคภัย อะไรต่าง ๆ ท่านก็แผ่ไปในทิศเบื้องหน้า อีกวันหนึ่งท่านก็แผ่ไปตะวันตก อีกวันหนึ่งก็แผ่ไปทางทิศเหนือ อีกวันหนึ่งก็แผ่ไปทางทิศใต้ บางครั้งก็แผ่ไปทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทุกทิศทุกทาง ท่านแผ่ไปอย่างนั้นน่ะ อย่างสม่ำเสมอ ทำทุก ๆ วันจนกระทั่งติดเป็นนิสัย ท่านเป็นผู้ที่หลับเป็นสุข 

 


                หลับเป็นสุขเหมือนเข้านิโรธสมาบัติ เข้าฌานสมาบัติ กายเบาใจเบาความเบิกบานสดชื่น และก็ไม่ฝัน ถ้าฝันก็ฝันสิ่งที่เป็นศิริมงคล ตื่นมาก็ไม่ซึมเซา ไม่งัวเงีย มีความเบิกบานคล้าย ๆ กับว่าเพิ่งออกมาจากแหล่งที่มีความสดชื่น มีความสุขมาหยก ๆ อย่างนั้นแหละ ตื่นมาสดชื่นหน้าตาผิวพรรณวรรณะผ่องใส ดวงตาสุกสกาวทีเดียว ผ่องใส ภัยต่าง ๆ ทำอันตรายท่านไม่ได้เลยเป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ของมนุษย์แล้วก็ของเทวดาทั้งหลาย มนุษย์ทุกชั้นเคารพนับถือ เทวดาเคารพนับถือ แม้แต่สรรพสัตว์ทั้งหลายก็เคารพนับถือ เคารพด้วยรักด้วย ใจท่านเป็นสมาธิได้เร็ว เข้าถึงฌานสมาบัติได้เร็ว หยุดนิ่งได้เร็ว ปล่อยอารมณ์ภายนอกได้เร็ว เพราะว่าไม่มีอารมณ์ ความโกรธกับใคร ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร มีแต่ความปรารถนาดีต่อทุก ๆ คนในโลก จิตใจท่านเข้าถึงสมาธิสว่างไสวอยู่ตลอดเวลา 

 


                ใจท่านสว่างในศูนย์กลางกายยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน สว่างไปหมด ท่านทำอย่างนั้นนะ ตลอดเวลาเลย เพราะฉะนั้นป่าที่อยู่ที่อาศัยของท่านนั้นนะอุดมไปด้วยผลหมากรากไม้ อุดมไปหมดแต่สิ่งที่มีศิริมงคลทั้งนั้น แม้แต่สรรพสัตว์ที่พูดกันไม่รู้ภาษา สัตว์ที่เคยเป็นศัตรูกัน เช่นกวางเก่งกะเสือ อะไรพวกนี้ พอเข้ามาในบริเวณรัศมีราวป่าที่ท่านอาศัยอยู่ จิตใจนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปมีแต่เมตตาธรรม มีแต่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน รักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่เป็นพิษเป็นภัยกัน เมื่อสัตว์นั้นจะถึงที่ตายก็อยู่ที่นั้นไม่ได้ ต้องดิ้นรนไปตายที่อื่น แม้แต่ซากอสุภะก็อยู่ที่นั้นไม่ได้ รอบแผ่นดินที่นั้นเป็นแผ่นดินที่สะอาด ดินฟ้าอากาศก็สะอาด มีแต่บรรยากาศของความบริสุทธิ์ของพลังเมตตาธรรม ที่แผ่ไปอย่างนั้นทุกทิศทุกทาง ในที่สุดต่อมาสถานที่นี้จึงเป็นที่ตั้งของเมืองกบิลพัสด์ ที่พวกเราได้รู้จักเป็นเมืองกบิลพัสด์ เมืองของพระพุทธเจ้า นี้แหละคืออานิสงส์ของการแผ่เมตตา ที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันทันตาเห็นทีเดียว ไม่ต้องคอยเมื่อเราละโลกไปแล้ว

 


                เพราะฉะนั้นเราก็มาสำรวจตัวเราเองที่เรานั่งทำสมาธิภาวนาแล้ว ทำไมนะจิตใจเราถึงรวมกันได้ไม่สนิท ไม่หยุดไม่นิ่งสักที ไม่เข้าถึงธรรมซักที อันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งคือเรามักผูกโกรธกัน มักโกรธไม่ให้อภัยทานกัน ไม่มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นจิตใจก็ขุ่นมัวก็เร่าร้อน ก็กระสับกระส่ายทุรนทุรายตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าใครรักตัวของเราเอง อยากจะให้เข้าถึงธรรมกายโดยเร็ว ต้องมีจิตที่ประกอบไปด้วยเมตตาธรรมเนี้ย อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ วัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้ทราบอานิสงส์อย่างนี้ดีแล้ว เราก็ตั้งจิตแผ่เมตตาเลย แผ่เมตตาแล้วก็นึกว่ากระแสใจของเรา สว่างไสวใสเป็นแก้ว สว่างออกจากศูนย์กลางกายของเรา แผ่ซ่านไปทั่วตัวของเราทุกขุมทุกขน จะมีแต่แสงสว่างของความบริสุทธิ์ ของความปรารถนาดี ของความสุขเกิดขึ้นทุกอณูเนื้อ 

 


                แล้วก็แผ่ออกไป ประสานกับกระแสใจของสหธรรมมิก ที่ปฏิบัติรวมกันในวันนี้ ให้ทุกคนมีความสุขมีความเจริญ มีดวงตาเห็นธรรม แล้วเราขยายขอบเขตให้กว้างออกไปทั่วอารามนี้ ให้กว้างออกไปทั่วอำเภอคลองหลวง มองเห็นเป็นแสงสว่างกว้างออกไป ครอบคลุมจังหวัดปทุมธานีแล้วก็ค่อย ๆ ขยายไปจังหวัดข้างเคียง ขยายต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเต็มประเทศไทย ขยายออกประเทศเพื่อนบ้าน ทั่วทวีปเอเชียและก็ครอบคลุมทั้งโลกให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในโลกนี้ให้มีความสุข ให้มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส ให้พ้นจากเวรจากภัยจากความเบียดเบียนให้ประสบพบแต่สิ่งที่ดีงาม ให้ได้เข้าถึงธรรมกาย เราแผ่เข้าไปอย่างนี้ เราขยายขอบเขตออกไปอีกให้กว้างออกไปเรื่อย ๆ 

 


                จากโลกเราไปสู่จักรวาลขยายกว้างออกไปเรื่อย ไปในบรรยากาศต่าง ๆ ให้ความปรารถนาดีของเราให้แทรกซึมไปทุกหนทุกแห่ง ให้ถึงจักรวาลที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าแสนโกฏจักรวาล อนันตจักรวาลจนนับไม่ไหว ที่มีสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นให้อยู่ในแวดวงของความปรารถนาดีที่เราจะแผ่ไปแล้วนี้ให้ขยายให้ทั่วถึงภพทั้งสาม กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัตว์ที่เกิดในกำเนิดทั้งสี่ สังเสทชะ อัณฑชะ ชลาพุชะ โอปปาติกะ อะไรต่าง ๆ พวกนั้น ขยายให้กว้างออกไปเรื่อย ๆ เลย จนกระทั่งเรามีความรู้สึกว่าใจเราเป็นสุข มีความเบิกบานทุกหนทุกแห่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีของเราที่เราแผ่ไปแล้วนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้สงบให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ รักษาความสุขอันนี้เอาไว้นะ ให้นานที่สุดจนกว่าจะถึงเวลาอันควร 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0079879840215047 Mins