ธรรมกายและวิธีการเข้าถึง

วันที่ 08 มีค. พ.ศ.2567

080367b01.jpg

ธรรมกายและวิธีการเข้าถึง
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม

โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ขอเชิญทุกท่านนั่งหลับตาเจริญภาวนากัน ให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ท่านที่นั่งขัดสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ หลับตาของเราเบา ๆ นะจ๊ะ ทุก ๆ คน หลับตาพอสบายสบาย คล้ายกับเรานอนหลับ ปรับร่างกายของเราให้พอเหมาะต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลายให้หมด ตั้งแต่กล้ามเนื้อที่เปลือกตาหน้าผาก ศีรษะ ตลอดจนกระทั่งทั้งเนื้อทั้งตัวถึงปลายนิ้วเท้า ให้ผ่อนคลายให้หมด ขยับท่านั่งให้พอเหมาะ อย่าให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกร็ง หรือเครียด เราจะใช้เวลาต่อจากนี้ไป ๑ ชั่วโมงเต็ม สำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นท่านั่งจะต้องให้เหมาะสม ให้ถูกส่วน 

 

                เพราะฉะนั้นขยับเนื้อขยับตัวกันให้ดีนะ ทำประหนึ่งว่าเราอยู่ที่บ้าน นั่งอย่างสบาย ๆ แล้วก็ทำใจเย็น ๆ ทำความรู้สึกเหมือนเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีภาระกิจเครื่องผูกพันอะไรทั้งสิ้นในโลก เราได้ตายแล้วจากทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียนตลอดจนกระทั่งเรื่องครอบครัว ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้ใจว่าง สะอาดบริสุทธิ์จากสิ่งเศร้าหมองทั้งหลายไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ในช่วงขณะที่เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมกัน ให้ทำใจให้สงบ ให้นิ่ง ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ปรับกายและใจหนึ่งหรือสองนาที ให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมกันทุก ๆ คน จนกระทั่งเรามีความรู้สึกว่าปลอดโปร่ง มีความสุขภายใน 

 


                ท่านั่งของเราก็ถูกส่วน มั่นคง ประดุจเอาขุนเขาทั้งลูกมาตั้งเอาไว้ ขุนเขาที่มั่นคงต่อการปะทะของแรงลมที่มาทุกทิศทุกทางโดยไม่หวั่นไหว ร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน นั่งแล้วจนกระทั่งไม่หวั่นไหวในทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งความปวดความเมื่อย ความกระสับกระส่าย ทุรนทุราย ให้เป็นกายที่เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมกันทุก ๆ คนให้ปรับกายและใจกันหนึ่งหรือสองนาทีทางเดินหายใจนั้น มีทั้งหมด ๗ ฐานที่ตั้ง คือฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่หัวตา ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ อยู่ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา อยู่ในกลางกระโหลกศีรษะ ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในศูนย์กลางกาย ระดับเดียวกับสะดือของเรา 

 


                สมมุติเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวา ทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองเล็กเท่ากับปลายเข็ม เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถ้าเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เขาเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็หมายถึงตำแหน่งนี้นะ ตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมาสองนิ้วมือ อยู่ในกลางท้องของเราพอดี เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่ตั้งใจของเรา เจ็ดฐานทั้งหมดตั้งแต่ฐานที่ ๑ เรื่อยมาจนถึงฐานที่ ๗ ฐานที่ ๗ นี้เป็นที่ตั้งใจของเราที่เดียว เวลาเราจะให้ทาน จะรักษาศีล หรือจะเจริญภาวนา ให้ได้เป็นมหากุศล ให้ทาน ศีล ภาวนา นั้นเป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว จะต้องเอาใจมาตั้งเอาไว้อยู่ที่ตรงนี้ ตรงที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗    

 


                เพราะว่าตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว หนทางเอกสายเดียวที่ไปสู่พระนิพพาน ที่มีอยู่ในตัว กลางตัวของพวกเราทุก ๆ คน เป็นทางหลุดทางพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย สุดปลายทางที่เข้าจากฐานที่ ๗ ตรงนี้ คือ พระนิพพาน อายตนนิพพาน พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเสด็จสู่พระนิพพานได้ก็อาศัยเส้นทางสายกลางฐานที่ ๗ ของตัวท่าน เพราะฉะนั้นศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้จึงสำคัญ เป็นทางเดินไปสู่พระนิพพานทางเดียวเท่านั้น ที่ว่าให้ทานมีอานิสงส์เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็หมายถึงว่า เวลาเราจะสร้างทานกุศลใด ๆ ก็ตามจะทอดกฐิน จะทอดผ้าป่า หรือจะถวายวัตถุทานอะไรก็แล้วแต่ ให้เอาใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้เอาใจมาตรึกอยู่ที่ตรงนี้ หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ แล้วเราก็ประกอบพิธี ให้ทานกุศลไป เมื่อเราปฏิบัติได้ถูกส่วน ใจก็เกิดความปิติ มีความเบิกบาน

 


                หยุดนิ่งอยู่ภายใน ตรงฐานที่ ๗ พอถูกส่วนเข้าก็เห็นเป็นดวงใส อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น จะขนาดไหนก็ตาม เรียกว่า ปฐมมรรคเป็นต้นทางที่จะเข้าถึงพระนิพพาน ต้นทางที่จะเข้าถึงธรรมกาย ถ้าทำได้อย่างนี้ ทานกุศลนั้นก็เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เวลาจะรักษาศีล ให้ศีลนั้นเป็นอธิศีลเป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานก็ในทำนองเดียวกัน เราจะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ก็ตาม ให้เอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ รักษาศีลไป เมื่อเรามาพิจารณาถึงศีลที่เราได้รักษานั้น สะอาดบริสุทธิ์ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย ไม่ทะลุ ไม่ขาด จิตใจก็เบิกบาน มีปีติ มีความปราโมทย์ใจ พอถูกส่วนเข้าใจก็จะหยุดนิ่ง หยุดนิ่ง จิตก็ตกศูนย์เกิดเข้ามาเป็นดวงใสบริสุทธิ์ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน 

 


                ดวงนี้เกิดขึ้นมาเองเมื่อใจบริสุทธิ์ ถ้าใจไม่บริสุทธิ์ ดวงไม่เกิด เพราะฉะนั้นเมื่อเรารักษาศีล ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ พอสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว ความบริสุทธิ์ก็ปรากฏเกิดขึ้นเป็นดวงใสดังกล่าว ดวงใสนี้จะขนาดไหนก็ตามเรียกว่า ปฐมมรรคเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นศีลอันงามเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน จะเจริญภาวนา จะแบบไหน วิธีการไหน ใช้คำภาวนาอะไรก็ตามทีเถอะ ถ้าใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะภาวนาแบบไหน ด้วยวิธีการอะไรก็ตาม พอใจหยุดถูกส่วนเข้า ใจก็ตกศูนย์ลงไป ความบริสุทธิ์ก็ลอยเกิดขึ้นมาเป็นดวงสว่าง อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น จะขนาดไหนก็ตาม เรียกว่าดวงปฐมมรรคทั้งสิ้น แปลว่าหนทางเบื้องต้น ที่จะไปสู่พระนิพพาน ที่จะเข้าถึงธรรมกาย การปฏิบัตินั้นก็เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน มีอานิสงส์ใหญ่ 

 


                เพราะฉะนั้นคำว่า ตั้งใจ ต้องเอาใจของเราซึ่งประกอบไปด้วยความเห็น ความจำ ความคิด แล้วก็ความรู้ ๔ อย่าง รวมหยุดเป็นจุดเดียวกันที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ผลจะเกิดขึ้นมาเมื่อใจหยุดดีแล้ว คือความบริสุทธิ์ของใจเกิดขึ้นเป็นดวง เกิดขึ้นเป็นดวงทั้งนั้น บางครั้งเราเรียกว่า ดวงใจ ดวงใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ คือใจมันรวมกันแล้วเป็นดวงเกิดขึ้นมา เห็นใจของตัวเองเป็นดวงเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย สมัยโบราณพระอาจารย์บางท่านเรียกว่า พระธรรมดวงแก้ว ก็หมายถึงดวงปฐมมรรคตรงนี้นั่นแหละ อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ดวงที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นตั้งใจก็คือเอาใจมาตั้งไว้อยู่ที่ตรงนี้ ถึงจะถูกส่วน ถ้าตั้งเอาไว้ที่อื่น ข้างนอกก็ดี ข้างในก็ดี เว้นจากตรงกลางฐานที่ ๗ แล้ว เข้าถึงธรรมกายไม่ได้ธรรมกายไม่ใช่เป็นของใหม่ เป็นของเก่า ซึ่งเอามาเป่าฝุ่นใหม่ 

 


                หลังจากพระพุทธเจ้าท่านดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วได้ ๕๐๐ ปี ธรรมกายก็เลือนหายไป แล้วก็ไปปรากฏอยู่ในมหายาน คำว่าธรรมกายไปปรากฏอยู่ในนั้นมากมาย แต่ก็ไม่รู้จักว่าธรรมกายมีลักษณะเป็นอย่างไร ตั้งอยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงด้วยวิธีการใด จนกระทั่ง หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านได้สละชีวิตของท่าน ค้นคว้าขึ้นมา เมื่อห้าหกสิบปีที่แล้ว ในวันเพ็ญกลางเดือน ๑๐ ที่โบสถ์วัดบางคูเวียง ก็ได้ธรรมกายกลับคืนขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นธรรมกายนี่ไม่ใช่ของใหม่เป็นของเก่า และก็ไม่ใช่นิกายใหม่ เป็นของเก่า ๆ แต่ว่าได้ลบเลือนมาจากความทรงจำ ไม่มีใครเอาใจใส่ แม้ว่าจะปฏิบัติธรรมอย่างไรก็ตาม ถ้าใจตั้งผิดที่แล้วเป็นไม่พบธรรมกาย เพราะธรรมกายเกิดขึ้นที่เดียวเท่านั้น เกิดขึ้น ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หนทางเดียวเท่านั้น จึงจะเข้าถึงธรรมกาย 

 

 

                แต่วิธีที่จะเข้าถึงธรรมกายนั้น มีอยู่ได้ถึง ๔๐ วิธี จะเข้ามาแบบไหนก็ได้ จะเข้าแบบกสิน ๑๐, อสุภ ๑๐, อาหาเรปฏิกูลสัญญา อนุสสติ ๑๐, จตุธาตุ, พรหมวิหาร ๔, อรูปฌาน ๔ ทางใดทางหนึ่ง เข้าถึงได้ทั้งนั้น ถ้าหากว่าเอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดังกล่าวแล้วสัมมาอะระหังนี่ก็เป็นวิธีหนึ่ง ที่เข้าถึงธรรมกายโดยให้กำหนดเป็นดวงแก้วใสสะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งจะได้แนะนำต่อไป ดวงแก้วใสนั้นเป็นอโลกกสิน ฐานที่ตั้งนั้นคือฐานที่สุดลมคือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ คำภาวนานั้นก็เป็นพุทธานุสสติ เป็นกรรมฐานที่อยู่ใน ๔๐ กองอันนั้น เพราะฉะนั้นนี่เป็นวิธีหนึ่ง แต่ว่า ผู้ที่ปฏิบัติแล้วมักไม่เข้าใจ ใช้คำพูดว่า สัมมาอะระหังเป็นวิธีธรรมกาย คำเต็ม ๆ แล้วควรจะใช้คำว่า วิธีเข้าถึงธรรมกาย ขาดคำว่าเข้าถึงไป เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจว่า สัมมาอะระหังนั้นเป็นวิธีที่ ๔๑ เป็นนิกายใหม่ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขลุกขลักสำหรับผู้ที่จะมาปฏิบัติว่า ขัดแย้งกับความเชื่อเดิม เกรงว่าจะเป็นการแบ่งแยกกันออกมา 

 


                แต่ความจริงแล้วเป็นวิธี ๑ ใน ๔๐ วิธีดังกล่าวแล้วที่จะเข้าถึงธรรมกาย และใน ๔๐ วิธีนั้น ก็เป็นวิธีที่เข้าถึงธรรมกายนั้นเอง แต่ทำไมไม่พบธรรมกาย ไม่รู้จักธรรมกาย เพราะว่าการปฏิบัตินั้น ตั้งผิดที่ ธรรมกายเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เดียว แต่เอาใจไปตั้งไว้ข้างนอกตัว เมื่อตั้งไว้นอกตัวก็ไม่พบธรรมกาย ตั้งไว้ที่ปากช่องจมูก ก็ไม่พบธรรมกาย ตั้งไว้ที่หัวตา ก็ไม่พบธรรมกาย ตั้งไว้ที่กลางกั๊กศีรษะ ก็ไม่พบธรรมกาย ตั้งไว้ที่เพดานปากก็ไม่พบธรรมกาย ตั้งไว้ที่ปากช่องคอก็ไม่พบธรรมกาย ตั้งไว้ในกลางทรวงอกก็ไม่พบธรรมกาย จะพบธรรมกายได้ที่เดียวเท่านั้น คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  

 


                ธรรมกายนี้คือกายตรัสรู้ธรรมของพวกเราทุก ๆ คน ของมนุษย์ทุก ๆ คนในโลกเป็นกายที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ซึ่งตรงข้ามกับขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะเหตุว่าเป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา จึงได้เปลี่ยนจากการเรียก ขันธ์ ๕ ว่า ธรรมขันธ์ คือกายทั้งก้อนนั้นเป็นธรรมล้วน ๆ มีความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เป็นกายที่ละเอียดที่สุด อยู่ซ้อนเข้าไปภายในของกายต่าง ๆ เป็นกายในกายกายภายในที่ซ้อนอยู่ในกายภายใน ที่ละเอียดที่สุด อยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มีลักษณะคล้าย ๆ กับพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการ 

 


                เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ธรรมกายก็จะเปลี่ยนแปลงจิตใจของบุคคลที่เข้าถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วคือเป็นผู้รู้ รู้ไปตามความเป็นจริงของชีวิตทั้งหลาย ของสรรพสิ่งทั้งหลาย ด้วยญาณของธรรมกายความรู้นั้นเกิดจากการเห็นแจ้งด้วยดวงตาของธรรมกาย คือดวงตาธรรม หรือธรรมจักขุของธรรมกาย ความรู้อันนี้เกิดจากการเห็นแจ้งจึงได้เรียกว่า ตรัสรู้ ตรัสแปลว่าแจ้ง แปลว่าสว่างก็ได้ ตรัสรู้ก็คือความรู้ที่เกิดจากการดึงของในที่มืดมาสู่ที่แจ้งมาสู่ที่สว่าง เห็นกันจะ ๆ ชัด ๆ เจน ด้วยดวงตาของธรรมกาย เป็นกายที่พ้นจากภพทั้งหลาย ความรู้ที่เกิดจากการเห็นเนี่ย บางทีท่านเรียกว่า เป็นความเห็นอันวิเศษ เห็นแจ้ง เห็นต่างจากการเห็นของดวงตาธรรมดา 

 


                ดวงตาท่านมีชื่อเรียกกันแตกต่างกันออกไป ตาเนื้อท่านก็เรียกว่า มังสจักษุ ตาทิพย์ท่านก็เรียกว่า ทิพย์จักษุ ตาพรหมรูปพรหมท่านก็เรียกว่าปัญญาจักษุ ตาอรูปพรหมท่านเรียกว่าสมัญจักษุ ตาธรรมกายท่านเรียกว่า ธรรมจักขุ ดวงตานี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภูมิธรรมที่ตัวเข้าถึง ตามกายของแต่ละกายเรียกแตกต่างกันไป ธรรมกายนั้นมีดวงตาที่วิเศษ เพราะว่าเป็นธรรมล้วน ๆ เป็นธรรมจักขุ เห็นอะไรก็ตรงไปตามความเป็นจริง สิ่งอะไรที่ไม่เที่ยงก็ว่าไม่เที่ยง สิ่งอะไรเป็นทุกข์ก็เห็นว่าเป็นทุกข์ สิ่งอะไรที่ไม่ใช่ตัวตนก็เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน และไม่ได้เห็นอย่างเดียวเท่านั้น เห็นอีกซีกหนึ่งว่า สิ่งอะไรที่เที่ยง ก็เห็นว่าเที่ยง สิ่งอะไรที่เป็นสุขจริง ๆ เป็นสุขที่แท้จริง ที่เรียกว่าบรมสุข ก็รู้ว่าสุข สิ่งอะไรที่เป็นตัวตน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอมตะ ก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นตัวตน นี่ ธรรมกาย รู้แจ้ง เห็นแจ้ง แทงตลอดอย่างนี้ ด้วยธรรมจักขุ หยั่งรู้ด้วยญาณของธรรมกาย 

 


                ฉะนั้นเปลี่ยนจากวิญญาณมาเป็นญาณะ เป็นญาณของธรรมกาย ธรรมจักขุเกิดขึ้นเป็นผู้รู้ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ไปตามความเป็นจริง แล้วก็ตื่น ตื่นจากกิเลส ตื่นจากชีวิตที่อยู่ในโลกของความฝัน ชีวิตในโลกของความฝัน คือมนุษย์ในโลกนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร บางครั้งก็สุข บางครั้งก็ทุกข์ บางครั้งก็มีลาภ บางครั้งก็เสื่อมลาภบางครั้งมียศ บางครั้งก็เสื่อมยศ มีคนสรรเสริญ ก็มีคนนินทา มีสุข มีทุกข์ เปลี่ยนแปลงกันอยู่ตลอดเวลา เหมือนคนนอนหลับ แล้วฝันไป ตื่นมาสิ่งเหล่านั้นก็พลันละลายหายสูญไป เข้าถึงธรรมกายได้แล้วก็ตื่นจากสภาวะเหล่านั้น มีสติเป็นมหาสติ ขยายกว้างขวางออกไป เป็นผู้ตื่น 

 


         เมื่อตื่นมาแล้ว เข้าถึงความสุขภายใน จิตใจก็เบิกบาน แช่มชื่น มีความสุข มีความสดชื่น มีความเบิกบาน เบิกบานไปทั้งเนื้อทั้งตัว เนื่องจากว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว คุณสมบัติอันนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของธรรมกาย จึงได้เนรมิตกนามได้นามใหม่ว่า พุทโธ เป็นภาษาบาลีว่า พุทโธ คำว่าพุทโธเกิดขึ้นพร้อมกับคำว่าธรรมกาย และก็พร้อมกับคุณสมบัติว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้ ความตื่น ความเบิกบานแล้ว จึงรวมประชุมอยู่ในธรรมกายนี้เองทั้งหมด เห็นได้วิเศษ ได้แจ้ง ได้ต่างกัน บางครั้งท่านใช้คำว่า วิปัสสนา วิ แปลว่า วิเศษ แปลว่า แจ้ง แปลว่า ต่าง ปัสสนา แปลว่าการเห็น คือ เห็นด้วยธรรมจักขุของธรรมกาย ได้วิเศษ ได้แจ้ง ได้ต่างจากดวงตาของมนุษย์ ของเทวดา หรือของทิพย์ของพรหม หรือของอรูปพรหม ซึ่งยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓ 

 


          คำว่าวิปัสสนาที่ท่านเอามาใช้เมื่อเข้าถึงธรรมกาย แต่ว่าเดี๋ยวนี้เอามา เอาวิปัสสนานำมาใช้ตอนที่อยู่ที่กายมนุษย์ จึงได้ถกเถียงกัน เพราะฉะนั้นธรรมกายนี้แหละจึงเป็นหลักของพระศาสนา หลักของชีวิต หลักของมนุษย์ทุก ๆ คน หลักของพวกเราทุก ๆ คนที่ได้เกิดมาในภพในชาตินี้ เมื่อเข้าใจหลักอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไป จะได้ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ด้วยการเจริญภาวนา ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปอีกครั้งนะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาใหม่ ให้สมมุติหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น เส้นเชือกเส้นหนึ่งนำมาขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 


               เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้สร้างมโนภาพขึ้นมาทางใจ กำหนดบริกรรมนิมิตหรือ สร้างมโนภาพขึ้นมาทางใจ เป็นดวงแก้วที่ใส สะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พร้อมกับภาวนาในใจ ให้เสียงคำภาวนาเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ให้ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ 

 


             ทุกครั้งที่เราภาวนาสัมมาอะระหัง จะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ ทุกครั้งที่เราตรึกนึกถึงดวงใสบริสุทธิ์ เราจะต้องไม่ลืมภาวนา สัมมาอะระหัง เราจะภาวนาอย่างเนี่ยะไปเรื่อย ๆ เมื่อไหร่ใจหยุดนิ่ง เห็นดวงใสบริสุทธิ์ได้ชัดเจน คล้าย ๆ กับเราลืมตาเห็น เมื่อนั้นเราก็หยุดคำภาวนา สัมมาอะระหัง ให้รักษาดวงใสสะอาด บริสุทธิ์ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเดียว ให้ทำอย่างนี้นะ สำหรับท่านที่มาใหม่ แต่ว่าบางครั้งเมื่อเราภาวนา สัมมาอะระหัง กำหนดดวงใส ดวงแก้วนั้นอาจจะเปลี่ยนไปเป็นองค์พระ ก็ให้มององค์พระ หรือมองดูองค์พระเปลี่ยนไปเป็นดวงแก้วก็มองดวงแก้ว สรุปง่าย ๆ ว่า อะไรเกิดขึ้นมา เป็นดวงแก้วหรือว่าองค์พระก็ตาม ให้มองเรื่อยไปไม่ต้องสับสน ดีทั้งนั้น ทั้งสองอย่าง ให้เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็เป็นใช้ได้ ให้ทำกันไปอย่างนี้นะจ๊ะทุก ๆ คน  

 


                ให้ทุกคนเจริญภาวนา เพื่อให้ใจสะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใส หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายกันทุก ๆ คน ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ คราวนี้เราก็เอาใจของเราหยุดนิ่ง ไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เอาใจของเราหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่ต้องภาวนาสัมมาอะระหังนะจ๊ะ ตอนนี้ให้ใจของเรา หยุดในหยุด หยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง นิ่งในนิ่ง ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ทุก ๆ คน วางใจของเราเบา ๆ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางเดินของพระอริยเจ้า โดยอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นให้เอาใจหยุดนิ่งให้ดีทีเดียวนะ แล้วก็หยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ให้ใจใสสะอาดบริสุทธิ์ 

 


                ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ น่ะ มีกายภายในซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เข้าไป เป็นกายที่มีอยู่จริง ๆ เป็นกายของเราจริง ๆ ไม่ใช่ของใคร มีอยู่ทุก ๆ คน แต่ว่า เราไม่รู้จักเพราะเข้าไม่ถึง แล้วก็ไม่ได้ศึกษา ที่ศึกษาแล้ว เมื่อยังเข้าไม่ถึง ก็ไม่รู้จัก แต่ผู้ที่เค้าเข้าถึง เค้าก็รู้จัก แล้วก็เห็นได้ชัดเจนยิ่งกว่าลืมตาเห็น เห็นกายต่าง ๆ ที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เข้าไป ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ใน สติปัฏฐาน ๔ ว่าให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ กายภายในในกายภายนอก แล้วก็ตามเห็นกายภายในในกายภายใน ซ้อน ๆ กันอยู่เป็นชั้น ๆ ไป ในกายมนุษย์หยาบที่เราอาศัยนั่งเข้าที่อยู่นี้น่ะ 

 


                เมื่อใจเราหยุดถูกส่วนเราจะเห็นกายมนุษย์ละเอียด เหมือนตัวของเราเลย ซ้อนอยู่ภายใน นั่งขัดสมาธิอยู่เมื่ออยู่ธุดงค์ปีใหม่ที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่วันนี้มีกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง เพิ่งจะมาปฏิบัติธรรม ได้อยู่ธุดงค์ปฏิบัติไปเห็นกายภายในของตัวเอง เห็นได้ชัดเจนทีเดียว ยิ่งกว่าลืมตาเห็น มีชีวิตจิตใจ เช่นเดียวกับภายนอกเห็นแล้วเกิดปิติ เกิดปิติร้องไห้ออกมา ปิตินึกไม่ถึงว่าที่หลวงพ่อพูดว่า กายภายในนั้นมีจริงๆ บัดนี้ได้เข้าถึงจริงแล้ว น้ำตาเย็นที่หลั่งออกมาด้วยความปิติ ธรรมปิตินั้นก็เกิดขึ้น เป็นพยานในทางพระพุทธศาสนา ว่ากายภายในน่ะมีอยู่จริง และได้เข้าถึงกายภายในอย่างนี้มีอยู่มาก และซ้อนอยู่ข้างในอันที่จริงกายภายในก็คือ กายไปเกิดมาเกิด หรือกายฝัน กายที่เรานอนหลับแล้วฝันไป ออกไปทำหน้าที่ฝัน ตื่นขึ้นมาแล้วเราไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน 

 


                แต่จากการปฏิบัติธรรมจึงพบว่า อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซ้อนอยู่ภายใน ซ้อน ๆ กันอยู่ เนื่องจากว่ากายละเอียดภายในโตเท่ากับกายหยาบ เฉพาะกายมนุษย์ละเอียดนะจ๊ะ หากว่าไม่ละเอียดกว่าก็ซ้อนกันไม่ได้ ซ้อนกันอยู่ภายใน เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดได้เราจะมีความรู้สึกแตกต่างจากกายมนุษย์หยาบทีเดียว จากความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เราจะเข้าใจและซาบซึ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า กายภายนอกนี้น่ะเป็นเครื่องอาศัย อาศัยขอยืมมาชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ช้าก็จะแตกดับไป มีแต่ความเสื่อมสลายไปในที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมไป เหมือนบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว

 


                    ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงกายละเอียดภายในกายมนุษย์ละเอียด คำสอนนั้นน่ะ ไม่ซาบซึ้งเข้าไปในใจของเรา เราแค่รับทราบแต่มันไม่ซึ่งเข้าไป แต่ว่าเมื่อเข้าไปถึงแล้ว เราจะซาบซึ้งขึ้นมาทันทีเลย เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ กายภายนอกเหมือนเสื้อเหมือนผ้า เหมือนบ้าน เหมือนเรือนที่อาศัยชั่วคราว เป็นของยืมมา แล้วก็มีเวลาใช้อย่างจำกัด ระยะเวลาใช้ก็ไม่เท่ากัน เห็นแล้วก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นในกายหยาบมันก็ลดน้อยถอยลงไป เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัยว่าจะอาศัยชั่วคราวสำหรับสร้างบารมี ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จะอาศัยกายนี้เป็นทางผ่านของใจให้เข้าถึงธรรมกาย และพอถึงกายละเอียดเราจะเข้าใจอย่างนั้น กายภายในน่ะซ้อนกันอยู่ แล้วก็ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ซ้อนกันอยู่อย่างนั้น เวลานั้นก็อธิบายไม่พอ ถ้าว่าซ้อนกันจะพูดโดยย่อว่าซ้อนกันอยู่ เป็นลำดับเข้าไปเรื่อย ๆ เลย

 


              เพราะฉะนั้นกายเหล่านั้น เป็นทางผ่านของใจ ใจเราก็ผ่านไปเรื่อย ในกายมนุษย์ละเอียด ก็มีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ สวยงามกว่า ละเอียดกว่า เรียกว่ากายทิพย์ เป็นกายของสุคติภูมิ ถ้าเราละโลกไปแล้วยังไม่ไปนิพพานกำลังบุญจะส่งให้เข้าถึงกายทิพย์ ซึ่งเป็นกายมาตรฐานของชาวสวรรค์ อยู่ในกลางตัวของเรานี่แหละ เป็นกายของเราเอง แต่ว่าเราจะเข้ามาสวมหุ่นอันนี้ หรือเข้าถึงกายอันนี้ได้ต้องมีกำลังบุญ ต้องมีหิริโอตตัปปะ มีเทวธรรม มีกำลังบุญ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จึงจะเข้าสวมกายนี้ได้ แล้วก็จะมีภพภูมิ หรืออายตนะที่ตรงกันของกายทิพย์เกิดขึ้น และในกลางกายทิพย์ก็ยังมีกายอื่นซ้อนกันเข้าไปอีก กายรูปพรหมซ้อนกันอยู่ภายใน

 


                 เกิดขึ้นจากพรหมวิหาร ๔ หรือทำรูปฌาน ๔ ให้เกิดขึ้น หรือให้ทาน รักษาศีล ที่มีกำลังแรงกล้า ถึงกายรูปพรหมซ้อนกันอยู่อย่างนั้น และในกลางนั้นก็มีอีกกายซ้อนอยู่ ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ เลย กายรูปพรหม เกิดขึ้นจากอรูปฌานสมาบัติ พอสุดกลางกายอรูปพรหมในกลางก็มีอีกกายซ้อนอยู่ กายธรรมโคตรภู เมื่อเข้าถึงแล้วเปลี่ยนแปลงเราเป็นโคตรภูบุคคล ซ้อนกันอยู่ภายใน ถึงธรรมกายภายในได้ชื่อว่า ถึงไตรสรณคมณ์ ไตร แปลว่าสาม สรณะแปลว่าที่พึ่งที่ระลึก คมนะแปลว่าเข้าถึง สามอย่างก็มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะและ สังฆรัตนะ พุทธรัตนะ รัตนะแปลว่าแก้ว ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ที่เป็นแก้ว ได้แก่ธรรมกายนั่นเอง 

 


                ธรรมรัตนะ คำสอนของท่านหรือดวงธรรมที่รองรับท่านอยู่ในกลางนั้น สังฆรัตนะที่ทรงจำรักษาคำสอนเอาไว้ อยู่ในกลางของธรรมรัตนะ ซ้อนกันอยู่ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เลย เรียกว่าคนละชื่อแต่ว่ารวมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนเพชร มีเนื้อมีแวว มีสี ถ้ารวมแล้วก็เรียกว่า เพชร เนื้อเพชร แววเพชร สีเพชร เนื้อเพชรก็ได้แก่ธรรมกาย แววก็ได้แก่ธรรมรัตน สีของเพชรก็ได้แก่สังฆรัตน รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกออกจากกันไม่ได้ เข้าถึงอันนี้ได้ชื่อว่าถึงไตรสรณคมณ์ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระพุทธศาสนาเริ่มต้นจากตรงนี้ ตรงที่มีไตรสรณคมณ์เป็นที่พึ่ง มีพุทธรัตนะธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างเป็นสรณะเป็นที่พึ่งที่ระลึก

 


                ที่เราก่อนที่จะขอศีลน่ะ เราขอถึงไตรสรณคมณ์ก่อนว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก็หมายเอาธรรมกายนี่แหละ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ก็หมายถึงดวงธรรมข้างในหมายถึง ธรรมรัตนะ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ก็หมายถึงธรรมกายละเอียดที่ซ้อนกันอยู่ สังฆรัตนะซ้อนอยู่ภายในซ้อนกันอยู่ ๓ อย่าง เข้าถึงอย่างนี้ได้ชื่อว่าเข้าถึงไตรสรณคมณ์ มีสรณะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เป็นที่พึ่งเวลาเรามีทุกข์ เราก็พึ่งท่านได้ พอใจหยุดอยู่ในกลางธรรมกาย ความทุกข์ก็ดับไป โศกเศร้า เสียใจ คับแค้นใจ พิไลรำพัน โศกเศร้าซึมเซา ละลายหายสูญหมด เวลาเรามีสุขก็เพิ่มพูนความสุขได้ เติมเข้าไปเรื่อยจนกระทั่งเข้าถึงเอกันตบรมสุข คือสุขอย่างเดียว ไม่มีทุกข์เจือเลย 

 


                นี่ถึงรัตนทั้ง ๓ ถึงธรรมกาย ที่พระพุทธเจ้าท่านโปรดพระเจ้าพิมพิศาล พร้อมทั้งบริวาร ๑๑ ส่วนเป็นพระอริยบุคคล อีกหนึ่งส่วนถึงไตรสรณคมณ์ หนึ่งส่วนนั้นถึงธรรมกายนั่นเอง ที่เข้าอยู่ในตัว และมีอยู่ทุก ๆ คน ทุกคนในโลก ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้วมีอยู่ แต่ว่าเข้าไม่ถึงเพราะไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นพระปฏิมากร หมายถึงรูปเปรียบรูปจำลอง จำลองเอาธรรมกายภายใน พระภายในออกมาภายนอก ว่าธรรมกายลักษณะคล้าย ๆ อย่างนี้นะ ฉะนั้นสังเกตดูเถอะ ท่านจำลองมาแล้วเนี่ยะ มีเกตุดอกบัวตูม ส่วนพวกที่เข้าไม่ถึงธรรมกายก็ทำเป็นเกตุเปลวเพลิงมั่ง แหลม ๆ มั่ง  

 


                 การที่มีเกตุอย่างนั้น นั่นคือสัญลักษณ์ของธรรมกาย ไม่ใช่ลักษณะของกายเนื้อของพระสมณโคดมพุทธเจ้า เพราะกายเนื้อของท่านมีแค่จอมกระหม่อม ลักษณะมหาบุรุษมีแค่จอมกระหม่อม แต่ว่าไม่มีดอกบัวตูม เพราะฉะนั้นเนี่ยะหมายเอาธรรมกายนั่นเอง ปฏิมากร แปลว่ารูปจำลอง จำลองจากธรรมกายภายใน เพราะฉะนั้นธรรมกายเป็นของจริง มีอยู่จริง ๆ อยู่ในตัวของเรา เมื่อเราเข้าถึงได้ เราจะได้นำเอาเครื่องไทยธรรมในวันนี้ไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านดับขันธ์ปรินิพพาน ใช้คำว่าดับขันธ์ปรินิพพาน คือขันธ์ ๕ นะ ทั้งหมด กายมนุษย์ กายทิพย์ พรหม รูปพรหม ท่านทั้งหมดเลย ไม่ยึด ติดอยู่ในธรรมขันธ์ปรินิพพาน เอาธรรมกาย ถอดธรรมกายเข้านิพพานไปเลย มีอยู่ในอายตนนิพพานนับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน 

 


                  นับกันไม่ถ้วนทีเดียว ในอายตนนิพพานไม่มีอะไรกำบัง ไม่มีโบสถ์ ไม่มีวิหาร ไม่มีศาลาการเปรียญ ไม่มีหอระฆัง บางท่านเข้าใจผิดว่ามีอย่างนั้น ไม่มีเลย มีแต่ธรรมกาย ปรากฏอยู่ในธรรมธาตุ ที่สว่างโล่งไปหมด ไม่มีอะไรกำบัง โล่งไปหมดเลยและธรรมกายของพระพุทธเจ้าท่านนั่งสงบนิ่ง เข้านิโรธสมาบัติ สงบนิ่งอยู่ใน ลอยอยู่ในอายตนนิพพาน สว่าง ด้วยธรรมรังสีของพระพุทธเจ้า ท่านั่งเข้านิโรธคือท่าปกติของผู้ที่มีใจเป็นปกติ ที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ส่วนอริยาบถอื่น ยืน เดิน นอน วิ่ง เคลื่อนไหวต่าง ๆ แสดงว่าผู้ที่มีกิจที่ยังต้องทำอยู่ มีภาระกิจที่ยังจะต้องทำอยู่ แต่ว่าผู้ที่หมดกิจแล้ว เสร็จกิจแล้ว ไม่มีกิจอย่างอื่นจะต้องทำอีก ภพชาติสิ้นแล้ว เหลือแต่เข้านิโรธสมาบัติ จะอยู่ในอริยาบถเดียว คืออริยาบถที่นั่งเข้านิโรธสมาบัติ 

 


              ดังนั้นมีอยู่ตอนหนึ่ง ในพระสูตรที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ ว่าอายตนนิพพานนั้นมีอยู่ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกหน้า ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาว ไม่ใช่จักรวาลไหน เป็นธรรมธาตุที่สะอาดที่ปราณีตละเอียดอ่อน ไม่มีการยืน ไม่มีการเดิน ไม่มีการนอน ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เป็นธรรมชาติที่สะอาด บริสุทธิ์ล้วน ๆ นี่ท่านบอกไม่มีการยืน ไม่มีการเดิน ไม่มีการนอน คือนั่งเข้านิโรธสมาบัติเป็นท่าปกติ ผู้ที่เข้าถึงธรรมกายจะเข้าใจเลยว่า เมื่อเราเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายภายในแล้ว เราจะเกิดความรู้สึกว่า ท่าที่เป็นปกติของเราจริง ๆ คือท่าที่นั่ง ที่สอนให้นั่งขัดสมาธิ เข้านิโรธนั่นแหละ เพราะสุขอย่างอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี นิโรธ เป็นความหยุดนิ่งที่สงบอย่างยิ่ง มีความสุขอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นไม่ต้องภารกิจอย่างอื่นเลย ท่าของผู้ที่เป็นปกติ ท่าปกติของผู้ที่มีใจเป็นปกติ แต่เดี๋ยวนี้มนุษย์จิตใจไม่ปกติ 

 


                เพราะฉะนั้นท่าทางจึงไม่ปกติ แต่ความไม่ปกติของมนุษย์เป็นปกติ คนเลยเห็นคนนั่งขัดสมาธิซึ่งเค้านั่งอยู่ท่าปกติเป็นผิดปกติไป เพราะฉะนั้นเนี่ยะ สิ่งที่ถูกต้องเนี่ยะมีอยู่ มีอยู่ภายในตัวของเรา ซึ่งเราสามารถเข้าถึงได้ด้วยกำลังแห่งความเพียรของผู้ที่เอาจริงเอาจัง จะเข้าถึงได้พระพุทธเจ้าของเรา ก่อนที่ท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสวงหาครูบาอาจารย์ตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง ๖ ปี ได้ผ่านพ้นการฝึกจิต ปฏิบัติธรรมมาหลาย ๆ วิธี ตั้งแต่วิธีที่สะดวกสบายที่สุด จนกระทั่งถึงวิธีที่ทรมานตน ผ่านครูบาอาจารย์มาก็หลายท่าน ยังเข้าไม่ถึงธรรมกาย จนกระทั่งในวันเพ็ญเดือนหก ท่านได้เข้าถึงธรรมกายในวันนั้น 

 


                ธรรมกายนี่แหละจึงเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เข้าถึงธรรมกายได้แล้วจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ผู้รู้ เราจะรู้ความเป็นจริงของชีวิตทั้งหลายทั้งมวล ด้วยธรรมกายจะรู้ไปตามความเป็นจริง สิ่งอะไรที่ไม่เที่ยงก็รู้ว่าไม่เที่ยง สิ่งอะไรที่เป็นทุกข์ก็รู้ว่าเป็นทุกข์ สิ่งที่อะไรที่ไม่ใช่ตัวตนก็รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน สิ่งอะไรที่เที่ยง ที่เป็นนิจจัง ก็รู้ว่าเที่ยง สิ่งอะไรที่เป็นสุข ความสุขมันเป็นอย่างไงก็รู้จักสิ่งอะไรที่เป็นตัวตน เป็นสรณะ ก็รู้ว่าเป็นตัวตน รู้เห็นได้ด้วยธรรมกาย การรู้นี้เรียกว่าตรัสรู้คือความรู้ที่เกิดจากการเห็นแจ้ง คือเห็นแจ้งด้วยตาธรรมกาย และก็หยั่งรู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ 

 


                ธรรมกายนั้นรู้เห็นตลอดหมดในภพทั้ง ๓ ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และก็มองเห็นว่าสิ่งที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา คือสิ่งที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งอะไรที่เป็นความสุขล้วน ๆ เป็นแหล่งกำเนิดของความสุขล้วน ๆ สิ่งอะไรที่เป็นสรณะ เป็นตัวเป็นตน เป็นที่พึ่งที่ระลึก รวมประชุมอยู่ในธรรมกาย ธรรมกายเห็นตัวของตัวเอง ซาบซึ้งด้วยตัวของตัวเอง เข้าใจด้วยตัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ นอกจากนั้นยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ตื่น มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ยังหลับอยู่ในโลกของความฝัน ของมายา อยู่ในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ยังมึน ๆ งง ๆ กันอยู่อย่างนั้น ยังเพลินอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งเป็นมายาของชีวิต ไม่ใช่ของจริง ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นสิ่งที่ไม่ได้ให้ความสุขจริง ยังเพลิดเพลินมัวเมาอยู่ในโลกของความฝัน จึงยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตื่น 

 


                แต่ว่าเมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้วมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง ตื่นแล้วจากหลับ คือกิเลสที่เข้าไปครอบงำให้เพลิดเพลินหลงไหลอยู่ในความสุขที่จอมปลอมนั้น เพราะฉะนั้นได้เข้าถึงธรรมกายจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตื่น นอกจากนั้น ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เบิกบานแล้ว ชีวิตมนุษย์ได้ยินแต่คำว่าเบิกบาน แต่ตัวจริงหรือเนื้อหนังของความเบิกบานนั้นไม่รู้จัก รู้แต่ชื่อ เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ความเบิกบานที่หลั่งออกมาจากศูนย์กลางของธรรมกาย จะขยายจิตให้ กว้างขวางออกไปให้เกิดความสดชื่น ให้เกิดความเบิกบาน อิ่มเต็มอยู่ภายในตัว อยากจะยิ้มอยากจะแย้มกับทุก ๆ คนในโลก มีความปรารถนาดีกับทุก ๆ คนในโลก เพราะว่าใจนั้นเบิกบาน 

 

                ดังนั้นเมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว จึงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว พุทธศาสนาปักหลักตรงนี้แหละ ปักหลักตรงที่เข้าถึงธรรมกาย ดังนั้นท่านทั้งหลายที่มาประชุมรวมกันอยู่ในที่นี้ ควรจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมกาย เข้าถึงธรรมกายได้เมื่อไหร่ ชีวิตของเราก็จะปลอดภัยจากความทุกข์ทรมานทั้งหลาย ที่ว่าชีวิตคือการต่อสู้ จากอุปสรรคทั้งหลายทั้งมวลก็จะหมดสิ้นไป เพราะว่าเมื่อใจเราเข้าถึงธรรมกายแล้ว จิตใจก็จะมีความสดชื่นเบิกบาน ความสุขภายในนั้นเป็นรากฐานของการทํากิจกรรมทั้งมวลในโลก เป็นจุดกลางที่จะก้าวไปสู่ความพ้นโลกหรือจะก้าวไปสู่ในโลกได้ 

 


                เพราะฉะนั้นจึงเป็นรากฐานที่สำคัญของชีวิต ดังนั้นขอให้ตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ วันนี้ไม่ถึง พรุ่งนี้เราก็เอาใหม่ ทำความเพียรกันไปอย่าได้ละลด ทำทุก ๆ วัน ทำบ่อย ๆ ต้องเข้าถึงกันอย่างแน่นอน ฉะนั้นต้องจำเอาไว้ว่าธรรมกายคือหลักของชีวิต คือเป้าหมายใหญ่ของชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่เราเพลิดเพลินกัน อยู่ในโลกนี้เท่านั้นนะจ๊ะ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้จะได้สอนวิธีให้เข้าถึงธรรมกายเพื่อที่ว่าเราจะได้ชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ขอให้ทุกท่านนึกน้อมจิตตามเสียงที่หลวงพ่อจะได้แนะนำกันต่อไปทุกคนนะจ๊ะ 

 


                 ฐานที่ตั้งของใจหรือทางเดินของใจนั้นมีทั้งหมด ๗ ฐาน ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่ตรงหัวตา ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ อยู่ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ตรงช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ที่ศูนย์กลางกายในระดับเดียวกับสะดือของเรา ถ้าเราขึงเส้นเชือก จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงจุดตัดตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้เอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 


                 เพราะฉะนั้นถ้าหลวงพ่อพูดถึงฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตำแหน่งนี้นะ ตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ ที่เราขึงจากสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้ายขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่ที่สำคัญที่สุด สำคัญที่สุดในโลกเพราะว่าตรงฐานที่ ๗ นี้เป็นทางไปสู่พระนิพพาน ทางบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นทางหลุดทางพ้นจากกิเลสจากอาสวะทั้งหลาย เป็นทางหลุดทางพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล ความทุกข์ทั้งหลายจะเข้ามากล้ำกลายและย่ำยีที่ตรงฐานที่ ๗ นี้ไม่ได้เลยในโลก เป็นประดุจจุดเย็นอยู่ในกลางเตาหลอม 

 


                ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าเราอยากจะพ้นจากความทุกข์ อยากจะเข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ อยากบรรลุมรรคผลนิพพาน อยากจะไปทางเดียวกับพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย ต้องเอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ แต่ถ้าหากว่าอยากเวียนว่ายตายเกิด อยากจะมีความทุกข์ทรมาน อยากจะมีความเครียด ความเบื่อ ความกลุ้ม ก็ต้องเอาใจออกนอกฐานที่ ๗ ถ้าอยากจะมีความสุขต้องเอาใจหยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ ถ้าอยากจะมีความทุกข์ต้องเอาใจหลุดจากฐานที่ ๗ ไปติดในรูปมั่ง ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสต่าง ๆ 

 


                สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า ปปัญจธรรม ธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า คือล่าช้าเพราะไปติดในสิ่งเหล่านั้น ทำให้ไม่รู้จักฐานที่ ๗ ไม่รู้ทางไปสู่พระนิพพาน ไม่รู้จักทางเดินของพระอริยเจ้า ก็ไปติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาในโลกนี้น่ะ เกิดมาก็เจอรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะฉะนั้นก็เพลิดเพลินติดกันไปอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ท่านเข้าถึงธรรมภายใน ถึงจะมาแนะนำสั่งสอนกันอีกทีว่า ไอ้ความสุขที่เราแสวงหากันอยู่นั้น มันอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗  ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้สำคัญที่สุด ต้องจำกันเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ 

 


                จะหลุดจะพ้นจากทุกข์ เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ ต้องศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ จำเอาไว้ให้ดีทีเดียว เป็นที่เดียวในโลกเท่านั้น ที่เราจะหลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรม ความรู้ทั้งหลายแหล่ในพระพุทธศาสนา ที่เป็นความรู้ให้เกิดความสุข หลั่งไหลออกมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่ใช่มาจากที่ตรงไหน และศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้มีอยู่ในตัวพวกเราทุก ๆ คน ที่นั่งอยู่ในที่นี้ เราสามารถเข้าไปสัมผัสได้ ถูกต้องได้ หยุดได้ นิ่งได้ และก็เข้าถึงได้ในชีวิตนี้ ไม่ต้องไปคอยภพหน้าชาติหน้า เพราะฉะนั้นศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ต้องจำเอาไว้ให้ดีทุก ๆ คนนะจ๊ะ 

 


              เพราะหนทางที่จะเข้าถึงธรรมกายนั้นน่ะ มีอยู่ที่เดียวในโลก ภายในตัวตรงนี้ ตรงศูนย์กลางกายตรงนี้ ตั้งไว้ข้างนอกก็ไม่เจอธรรมกาย ตั้งไว้ปากช่องจมูกก็ไม่เจออีก ตั้งไว้ที่ตรงหัวตาก็ไม่เจอธรรมกาย ตั้งไว้ที่กั๊กศีรษะก็ไม่เจอ เพดานปากก็ไม่เจอ ปากช่องคอก็ไม่เจอ ฐานที่ ๖ ก็ไม่เจอ ต้องฐานที่ ๗ ตรงนี้ จะไปไว้ส่วนใดส่วนหนึ่งของแขนของขาก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมันมีที่เดียว แล้วพิสูจน์ได้ เข้าถึงได้ทุก ๆ คน นี่จำเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ  

 


                ทีนี้เมื่อเรารู้จักศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วว่าอยู่ที่ตรงนี้ ต่อจากนี้ไป ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น วิธีที่จะเข้าถึงความสุขภายในนั้นไม่ต้องยุ่งยาก ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร ไม่ต้องเตรียมการอะไร ไม่ต้องใช้เงินใช้ทอง เป็นแต่เพียงเรามี ๒ สิ่งเท่านั้นคือ กำหนดดวงแก้วใสบริสุทธิ์ในกลางกายฐานที่ ๗ กับภาวนาสัมมาอะระหังเท่านั้น เราจะเข้าถึงความสุขที่ยิ่งใหญ่ไพศาล อย่างที่เรานึกไม่ถึงทีเดียวอย่างง่ายดาย เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไป ให้ตั้งใจให้ดีนะจ๊ะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับนึกถึงดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012034897009532 Mins