อุปสรรคและอุบายในการเข้าถึงธรรม
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
สำหรับท่านชายให้นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย ตั้งกายของเราให้ตรงอย่าก้มอย่าเงยนัก ทุก ๆ คนเชียวนะ นี้แหละเขาเรียกว่านั่งแบบ อุชุํ กายํ ปณิธาย ตั้งกายของเราให้ตรง ต่อจากนี้ให้หลับตาเบา ๆ ทุก ๆ คนเนี่ย หลับตาเบา ๆ ไม่คุยกันแล้วนะจ๊ะ หลับตาเบา ๆ แค่ผนังตาปิด อย่าเม้มตาแน่น อย่าบีบหัวตาแล้วก็อย่ากดลูกนัยน์ตา ต่อจากนี้ก็ให้ปล่อยวางภารกิจการงานบ้านช่องทุกอย่าง การศึกษาเล่าเรียน หรือสิ่งที่จะเป็นเครื่องทำให้ใจของเรากังวลใจ เราปล่อยวางออกชั่วขณะที่เราจะได้บำเพ็ญบารมีของเราในวันนี้ ปล่อยออกชั่วขณะนะ ความวิตกความกังวลในภารกิจการงานทุกอย่างปล่อยหมดให้ทำใจของเราให้ว่างเปล่า ต่อจากนี้ก็กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้น นึกตามไปนะ
กำหนดบริกรรมนิมิต เป็นเครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา กำหนดเครื่องหมายให้ใสสะอาด เหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตา กำหนดแล้วก็น้อมนำมาจดเอาไว้ที่ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้ายชายข้างขวา ใช้สัญญาเราจำให้มั่น จำภาพบริกรรมนิมิตที่เราสร้างขึ้นมาในใจ ใช้ความทรงจำใช้สัญญาเราจำให้มั่น จำถึงความใส จำทั้งขนาดแล้วก็เอาใจของเราหยุดเข้าไปในกลางความใส ตรึกนึกถึงความใสของบริกรรมนิมิต ที่เป็นเครื่องหมายใสสะอาดเหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาหรือเราจะกำหนดเป็นพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว ปางสมาธิหน้าตักอย่างใหญ่ไม่เกินคืบนึง อย่างเล็กขนาดเมล็ดข้าวโพดอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน
จะกำหนดเป็นเครื่องหมายที่ใสสะอาด หรือว่าเป็นพระปฏิมากร พระพุทธรูปแก้วขาวใสอย่างนั้นก็ได้ แล้วก็นำมาจรดไว้ที่ปากช่องจมูก ปากช่องจมูกอันนี้เราเรียกว่าฐานที่ ๑ ใจเราก็ตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใส พร้อมกับพยายามประคับประคองใจของเราให้หยุดนิ่งโดยการภาวนาในใจเบา ๆ ว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาสัมมาอะระหังสามครั้ง แล้วก็เลื่อนเครื่องหมายบริกรรมนิมิตอันนั้น สูดลมหายใจเบา ๆ ให้เครื่องหมายตามลมหายใจเข้าไปในช่องจมูก แล้วก็ไปหยุดอยู่ที่หัวตา หญิงข้างซ้ายชายข้างขวา ใจเราก็ยังตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใส ของบริกรรมนิมิตอันนั้นพร้อมกับภาวนาในใจเบา ๆ ว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ สามครั้ง
แล้วก็เลื่อนเครื่องหมายจากฐานที่ ๒ ไปฐานที่ ๓ ตอนนี้เราจะต้องช้อนตาของเราเหลือกค้างขึ้นไปด้านบน ให้ความเห็นกลับเข้าไปในตัว ช้อนตาเหลือกค้างขึ้นไป นำบริกรรมนิมิตน้อมตามเข้าไปด้วย จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในกลางศีรษะ แล้วก็ปล่อยให้ลูกนัยน์ตาเป็นปกติเครื่องหมายที่ใสสะอาดเหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตา ก็จะไปหยุดนิ่งอยู่ในกลางกั๊กศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ระดับเดียวกับเพลาตาของเรา ทีนี้กลางกั๊กศีรษะน่ะอยู่ตรงไหนสมมติเรามีเส้นเชือกอยู่สองเส้น เรานำมาขึงให้ตึง เส้นหนึ่งเราขึงอยู่ในระหว่างกลางหว่างคิ้วทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากขมับด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกสองเส้นตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่าปลายเข็มตรงนั้นล่ะเรียกว่ากลางกั๊กศีรษะ เครื่องหมายที่ใสสะอาดหรือว่าพระพุทธรูปแก้วขาวใสก็จะไปหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น
ใจของเราก็ยังตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใสของบริกรรมนิมิต พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ สามครั้ง แล้วก็เลื่อนเครื่องหมาย เอาใจเบา ๆ นะ เลื่อนเครื่องหมายด้วยความเบานะ มาฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก เพดานปากหรือช่องปากตรงที่อาหารสำลักเครื่องหมายจะดิ่งตรงลงมาอยู่ที่เพดานปากตรงนั้นนะ ใจของเราก็จะต้องตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใสของบริกรรมนิมิต พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๆ สามครั้งแล้วก็เลื่อนเครื่องหมายมาฐานที่ ๕ เลื่อนลงมาอยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ปากช่องคอของเรานั้นกลมเหมือนกับปากถ้วยแก้ว และเครื่องหมายที่ใสสะอาดของบริกรรมนิมิตหรือว่าองค์พระ จะไปอยู่ตรงกลาง กึ่งกลางของปากช่องคอเหนือลูกกระเดือกตรงนั้น เหมือนเราทำท่าจะกลืนลงไป
ตอนนี้ใจของเราก็ยังตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใส พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ สามครั้ง คราวนี้เราก็เลื่อนเครื่องหมายเหมือนเรากลืนเอาเข้าไปไว้ในท้อง เลื่อนลงไป ตอนนี้เราจะต้องสมมติตัวของเราให้เป็นปล่อง เป็นช่องเป็นโพรงลงไป อวัยวะภายในเราสมมติว่าไม่มี ตับไตไส้พุงเราไม่มีหมด ตัวของเราเป็นโพรง เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง และเครื่องหมายของบริกรรมนิมิตหรือว่าองค์พระ ก็จะเป็นเส้นดิ่งตรงลงไปที่ศูนย์กลางกาย ที่เรากลืนลงไปนะ ใจของเราก็ตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปกลางความใสทุกขณะจิต แล้วก็ค่อย ๆ เลื่อนเครื่องหมาย ค่อย ๆ ดิ่งลงไปนะ วางเบา ๆ จิตของเราแตะแผ่ว ๆ ให้เข้าไปหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ศูนย์กลางกายเรากำหนดได้ดังนี้
สมมติเรามีเส้นเชือกอยู่สองเส้นเหมือนกัน เรานำมาขึงให้ตึงเส้นเชือกเส้นหนึ่งเราสมมติว่าเราขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง นึกตามไปนะ เส้นหนึ่งเราสมมติว่าขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่ง เราสมมติว่าเราขึงจากสีข้างด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกสองเส้นก็จะตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดนี้เราก็เรียกว่าศูนย์กลางกายเป็นฐานที่ ๖ เครื่องหมายที่เราประคองไว้ด้วยสติ ประคองไปตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใส ก็จะเข้าไปหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย จุดเดียวกับที่เส้นเชือกทั้งสองตัดกันตรงนั้น ตอนนี้ล่ะสำคัญที่สุด เราจะต้องวางอารมณ์จิตของเราให้แผ่วเบา จิตของเราแตะแผ่ว ๆ ความเห็นที่เห็นบริกรรมนิมิตตอนนี้เราเห็นได้ด้วยใจ ไม่ใช่เห็นได้ด้วยลูกนัยน์ตาเนื้อของเรานะ
เพราะฉะนั้นใจของเราก็ยังตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใสของบริกรรมนิมิต ที่เป็นเครื่องหมายใสสะอาด เหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา เราก็ลองนึกถึงความเป็นจริงของเพชรลูกนะ ธรรมชาติของเพชรนั้นนะใสสะอาดบริสุทธิ์ แล้วก็มีความสว่างไสวเมื่อกระทบกับแสงเมื่อกระทบกับแสงสว่าง ก็จะเปล่งประกายออกมา นั่นเป็นธรรมชาติของเพชรลูกเป็นอย่างนั้น ใจของเราก็จะต้องน้อมไปอย่างนั้นเหมือนกัน จะต้องสร้างภาพทางใจน้อมไปตรึกนึกถึงความใสของเพชร แล้วให้สว่างเหมือนกับเพชรที่โดนแสงอย่างนั้นนะ อย่างนี้จึงจะถูก แล้วก็จะต้องนึกด้วยความเบา ๆ อารมณ์จิตของเราให้เบา ๆ เฉย ๆ เรื่อย ๆ ไป อย่าให้เครียดเกินไป ถ้าเรานึกได้อย่างนี้แล้วละก็ บริกรรมนิมิตนั้นจะนึกไม่ยาก แล้วใจของเราก็จะละเอียดอ่อน ลมในตัวของเราก็จะเดินสะดวก จิตของเราก็จะไม่ฟุ้งไปภายนอก ไม่ฟุ้งไปภายใน จะสงบระงับ แล้วก็จะตั้งมั่นรวมลงอย่างรวดเร็ว อันนี้หมายถึงว่าถ้าเราวางอารมณ์จิตของเราได้ถูกส่วนด้วยความเบา
ทีนี้สำหรับท่านที่กำหนดองค์พระเป็นบริกรรมนิมิต ใจก็จะต้องตรึกนึกถึงองค์พระอยู่เรื่อย ๆ ไป อย่าให้เผลอเชียวนะ ตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปตรงกลางของความใสขององค์พระ ถ้าเป็นองค์พระก็จะต้องอาราธนาให้ท่านนั่งหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา เรานั่งหันหน้าไปทางไหนองค์พระก็จะต้องหันหน้าไปทางนั้น เหมือนเรามองจากด้านเศียรของท่านนะ ด้านเศียรของท่านมองตรงลงไป จากด้านบนลงไป องค์พระไม่ควรจะกำหนดใหญ่กว่าคืบหนึ่ง และอย่างเล็กก็ขนาดเมล็ดข้าวโพด คือกะคะเนว่าเราสังเกตได้ชัดเจนด้วยใจของเรา อย่างนั้น จึงจะเป็นบริกรรมนิมิตที่ถูก คราวนี้ใจของเราก็ยังตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใสของบริกรรมนิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง ที่เราสร้างเข้าไป บริกรรมนิมิตนี่ก็จะเป็นสิ่งที่จะเชื่อมโยงใจของเราให้หยุดให้นิ่งให้เป็นสมาธิ เมื่อเราวางอารมณ์จิตของเราได้ถูกส่วนอย่างนี้แล้ว
ต่อจากนี้ก็ภาวนาเรื่อย ๆ ไป เราจะภาวนาสัมมาอะระหังเรื่อย ๆ ไป จะกี่ร้อยครั้ง จะกี่พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง เราก็ภาวนาไปเรื่อย ๆ โดยที่ให้สติของเราจรคอยู่ที่บริกรรมนิมิตไม่ให้เผลอ ทุกครั้งที่เราภาวนาเราจะต้องไม่เผลอ ถ้าเผลอเราก็จะต้องเริ่มต้นใหม่ดึงกลับเอามาใหม่ เพราะว่าธรรมชาติของใจเรานั้นน่ะมักจะกลับกลอก มักจะนึกไปในสิ่งที่เราเคยตรึกเคยนึกเคยคิด และสิ่งเหล่านั้นส่วนมากมักจะเป็นเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา คืออารมณ์เก่า ๆ ที่เราได้ผ่านมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือทางใจ ที่คั่งค้างอยู่ในจิตอยู่ในใจของเรา ก็มักจะมาปรากฏขึ้นในขณะที่ใจของเราเริ่มรวมเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะเผลอไม่ได้เชียว จะแพ้หรือว่าจะชนะจิตจะรวมหรือไม่รวม จะหยุดหรือไม่หยุด ขึ้นอยู่กับสติของเราจะต้องไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง ก็ภาวนาไปสัมมาอะระหัง ๆ ก็ต้องตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในตรงกลางของความใสตรงนั้นเรื่อย ๆ ไป ให้จังหวะ ที่เราภาวนานั้นสม่ำเสมอ กระแสใจของเราก็จะได้ก้าวรุดหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ
อย่าได้เปลี่ยนกระแสใจหรือเปลี่ยนคำภาวนาที่เร็วบ้างช้าบ้างอย่างนั้นไม่ถูก จะทำให้อารมณ์ของเราเครียดเกิดความกระสับกระส่ายภายใน แล้วเราก็วางอารมณ์อย่างนั้นให้เป็นอุเบกขาเรื่อย ๆ ไป อย่าอยากเห็นเร็วเกินไปจนกระทั่งเกิดความตั้งใจอย่างแรงกล้า แล้วก็จะบีบบังคับจิตของเราให้หยุดให้นิ่งอย่างนั้นเป็นวิธีที่ไม่ถูก ผลที่จะเกิดขึ้นมาคือเกิดอาการเครียดขึ้นมาที่กาย มีการปวด การซึม การมันเกิดขึ้นมา แล้วก็นิมิตนั้นก็จะหยาบ ในที่สุดก็จะมองไม่เห็นแล้วก็เลือนหายไป สิ่งที่จะตามมาอีกคือใจที่ท้อแท้ ใจที่หมดหวัง ใจที่หดหู่ แล้วก็จะเกิดความน้อยอกน้อยใจลงโทษตัวของเราเองว่า เราไม่มีบุญวาสนาที่จะเข้าถึงสมาธิได้ หรือจะทำใจหยุดใจนิ่งได้ ความน้อยใจนี้ก็จะเกิดขึ้นมา แล้วก็จะพลอยไม่เชื่อว่าสิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านได้ประสบผลมานั้นนะไม่จริง หรือคนนั้นคนนี้เห็นนั้นนะไม่จริง นี่ก็จะเกิดการระแวงอย่างนั้นเกิดขึ้นมา
อันที่จริงแล้วเราควรจะหันกลับมามองตัวของเราเองว่า ที่เราทำไม่ได้ผลนั้นนะ เราปฏิบัติไม่ถูกวิธีเราตั้งใจเกินไปเรามีความอยากอย่างแรงกล้า แล้วก็เพียรจัดเกินไป อุปมาแล้วก็เหมือนกับการจับนกกระจอกเอาไว้ในฝ่ามือ ถ้าหากว่าเราจะจับแน่นเกินไปหวังจะให้นกกระจอกอยู่ในฝ่ามือ บีบเกินไปมันอยู่เหมือนกันแต่ว่าตาย จิตของเราก็เช่นเดียวกันเป็นของละเอียด ไม่ใช่เป็นของหยาบ เราจะบังคับด้วยกำลังอย่างนั้นไม่ถูก จะต้องวางอารมณ์ของเราให้เป็นอุเบกขา ให้เฉย ๆ เรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าการกำหนดบริกรรมนิมิตของเราจะไม่ชัดเจน จะไม่สว่างไสว จะเห็นได้แค่ลัว ๆ ลาง ๆ แล้วก็เลือนหายไปก็ชั่งมัน ขอให้ทุกคนตั้งใจอย่างนี้นะ
เอาสติของเราพยายามประคับประคองอย่าให้เผลอจากบริกรรมทั้งสอง ทำเรื่อย ๆ ไปถึงแม้ว่ามืด ถึงแม้ว่ามืดหรือกำหนดไม่เห็นก็ให้เอาใจหยุดอยู่ไว้ตรงนั้น เฝ้ามองอยู่ตรงนั้นที่เดียว เหมือนเสือที่คอยจ้องจับเหยื่ออยู่ตรงนั้นแหละ ถ้าหากว่าไม่ผ่านมาและไม่เกิดเหยื่ออยู่ตรงนั้น แล้วก็ไม่ ไม่เคลื่อนจากตรงนั้น ใจของเราก็จะเช่นเดียวกันเหมือนกัน จะต้องคอยประคับประคองให้อยู่ตรงนั้นอยู่ที่เดียว มืดก็อยู่ตรงนั้นนะ แล้วภาวนาเรื่อย ๆ พอมันถูกส่วนเข้าถูกส่วนเหมือนกับเราขีด ไม้ขีดไฟอย่างงั้นแหละ พอถูกส่วนเข้าใจหยุด พอใจหยุดเข้าเท่านั้นนะ ความปลอดโปร่งเบาสบายเกิดขึ้นมา อย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน ขันธ์ธาตุอายตนะต่าง ๆ หรือว่าร่างกายของเรา จะมีอาการกลมกลืนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว
ความปวดความเมื่อยก็ไม่มี มีแต่ความปลอดโปร่งเบาสบาย เกิดความวิเวกขึ้นมาทางใจ นั่นแหละใจของเราก็จะเริ่มหยุด คราวนี้แสงสว่างจะค่อย ๆ เกิดขึ้น ลางๆ เหมือนฟ้าสาง ๆ เหมือนกับว่าเราตื่นมาตอนเช้า ๆ ตอนตีห้าน่ะฟ้าสางอย่างนั้น ไอ้ที่มันสว่างขึ้นก็เพราะว่าตะกอนของใจคือนิวรณ์ทั้งห้ามันเริ่มตก ไอ้ที่เริ่มตกเพราะว่าใจของเราเริ่มหมดความกระวนกระวาย เริ่มหมดความกระสับกระส่าย เราหันกลับมามองตัวของเราเอง แล้วก็เอาใจของเราหยุดไปที่ศูนย์กลางกาย พอถูกส่วน เพราะฉะนั้นตะกอนของใจก็จะเริ่มตกลงมา แล้วแสงสว่างก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้น ตรงนี้ก็เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออีกเหมือนกัน
สำหรับนักปฏิบัติใหม่ ๆ ซึ่งไม่เคยประสบพบอารมณ์อย่างนี้ก็เกิดมีความชุ่มชื่นขึ้นมาในจิต มีความตื่นเต้นดีใจ เหมือนกับเด็กที่ได้รับของขวัญโดยบังเอิญอย่างนั้น โดยไม่คาดฝันอย่างนั้น พอดีใจใจของเราก็จะกระเพื่อมและความกระส่ายขึ้นมาเกิดขึ้นมา จิตก็จะฟูขึ้นถอนจากสมาธิ แสงสว่างนั้นก็จะเลือนหายไป พอเลือนหายไป ผลก็จะตามมาอีกสำหรับนักปฏิบัติใหม่ คืออยากจะให้ได้อารมณ์นั้นกลับคืนมา ไอ้ความอยากอันนี้แหละเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เพราะว่าเมื่อเราอยากแค่ไหน ไอ้ความผิดหวังมันก็เป็นเงาตามตัวของมันอย่างนั้น เมื่อเราตั้งอารมณ์อยากไว้ นั่งด้วยตัณหา ด้วยความทะยานอยาก จิตของเราก็เร่าร้อน กระสับกระส่าย ทุรนทุราย
เพราะฉะนั้นอารมณ์อันนั้นก็เลยไม่กลับมาอีก เมื่อไม่กลับมาก็เลยขี้เกียจนั่ง พลอยทิ้งธรรมะไป อันนี้เนี่ยสำหรับนักปฏิบัติใหม่ ๆ ก็จะพบอย่างนี้นะ ทีนี้วิธีแก้ไขเราควรจะทำอย่างไร เราก็ควรจะกลับมามองย้อนหลังไปว่าเมื่อครั้งที่เรานั่งปฏิบัติใหม่ ๆ ที่เราได้ผลนั้นนะเราทำอย่างไร เพราะอันที่จริงทุกคนมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาทุกศาสนา หรือจะเป็นวิธีปฏิบัติแบบวิธีไหนก็แล้วแต่ ที่ได้ผลนั้นนะสตินี้เป็นเรื่องใหญ่ เราจะเอาสติของเราประคองบริกรรมทั้งสองเอาไว้ สัมมาอะระหัง แล้วก็กำหนดบริกรรมนิมิต และเรื่อย ๆ ไปจนกระทั่งมารวมถูกส่วน อันนั้นนะเป็นวิธีที่ถูกเมื่อเบื้องต้นนั้นเราทำอย่างนี้ เมื่อทำอย่างนี้จิตของเราก็ได้ผล คือจิตเริ่มรวมสงบถูกส่วนขึ้นมา เนี้ยะเมื่อเราได้อารมณ์อย่างนั้นนะ ได้แสงสว่างแล้วแสงสว่างนั้นเลือนหายไปก็ไม่ต้องเสียใจ ให้มองย้อนหลังกลับ แล้วก็เริ่มประคองสติใหม่
อย่าหวังผลว่าเราจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นมาหรือได้อารมณ์เก่าเกิดขึ้นมา อย่าหวังอย่างนั้นนะ การหวังอย่างนั้นเหมือนกับเรานั่งคอยใคร เมื่อเรานั่งคอยใครอยู่สักระยะแค่ ๔ นาทีก็มีความรู้สึกเหมือนสัก ๕ ชั่วโมง แต่ความหวังนั้นมันมีอยู่ แต่นั้นแหละอย่างที่เรียนให้ทราบเอาไว้ เราตั้งความหวังไว้แค่ไหนไอ้ความผิดหวังก็เป็นเงาตามตัว จึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ไปเปล่า ๆ เพราะฉะนั้นวิธีที่ถูกก็คือประคองใจของเราให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายเรื่อย ๆ ไป ถ้าทำอย่างนี้แล้วละก็ขอรับรองว่าจะต้องถึงธรรมะทุกคนจะถึงเร็วถึงช้าขึ้นอยู่กับว่าสติของเราจะประคองได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำอย่างถูกวิธีเอาสติของเราประคองเรื่อย ๆ ไป ไม่เร่งร้อนทำอย่างใจเย็น ๆ ด้วยความเยือกเย็นด้วยความเบาสบาย อย่างนี้แล้วละก็ไม่เกินครึ่งชั่วโมงใจของเราก็จะหยุด เอาอย่างวันนี้เราตั้งใจกันให้ดีเชียวนะ
เมื่ออาตมาเรียนชี้แจงให้ท่านทั้งหลายได้ทราบเอาไว้คราวนี้ก็ประคองจิตตามอาตมาไป เอาใจหยุด หยุดลงไปที่ศูนย์กลาง หยุดอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็ภาวนาเรื่อยไปจะกี่ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง เราภาวนาไปเรื่อย ๆ อย่ากลัวเสียเวลา อย่ากลัวว่าเราจะเห็นช้ากว่าคนอื่นหรืออย่าไปคิดว่าไอ้ที่คนอื่นเค้าเห็นเร็วกว่าเรานั่นน่ะเค้ามีบุญวาสนามามากกว่าเรา สร้างมามากกว่าเรา อย่าไปคิดอย่างนั้นนะ ทีนี้ในหัวข้อธรรมของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้นนะมีอยู่ตอนหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงตรัสอย่างนี้ว่า มชุฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพพานาย สํวตฺตติ ซึ่งก็แปลว่าตถาคตเข้าถึงซึ่งกลาง เป็นทางตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ตอนแรกนะว่า ตถาคตเข้าถึงซึ่งกลาง เป็นทางอันตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ที่นี้เราก็จะต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือพระตถาคตเจ้าที่พระองค์ทรงตรัส กายเนื้อของพระองค์หรือ กายเนื้อของพระสิทธัตถะหรือ หรือว่าพระปฏิมากรรูปเปรียบของพระองค์อันนั้นเป็นพระตถาคต ที่พระองค์ทรงหมายอย่างนั้นนะว่าเข้าถึงซึ่งกลางเป็นทางตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง พระตถาคตเจ้า พระองค์หมายสูงนักเชียว หมายลึกเข้าไป หมายถึงพระธรรมกายในตัวของเรา ว่าจะเข้าถึงตถาคตได้นะจะต้องเข้าตรงกลางนะ จะต้องเอาใจหยุดตรงกลางของกลาง ไม่ใช่ว่าสุดโต่งไปทางข้างใดข้างหนึ่ง จะเป็นกามสุขัลลิกานุโยค หรือว่าอัตตกิลมถานุโยค อย่างนั้นไม่ถูก จะต้องไปทางสายกลาง
สายกลางนั้นนะไปอย่างไร ไปด้วยมรรคมีองค์ ๘ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกับโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโวสัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ถ้าย่นย่อแล้วก็เหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และศีล สมาธิ ปัญญา ย่นย่อแล้วก็เหลือ ๑ คือทำปฐมมรรคให้เกิดขึ้น ปฐมมรรคนั้นนะมีลักษณะเป็นดวงกลมใสรอบตัวเหมือนกับดวงจันทร์หรือว่าดวงอาทิตย์ อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ คืนนี้ลองสังเกตให้ดีนะว่าพระจันทร์วันเพ็ญน่ะโตแค่ไหน อย่างนั้นแหละอย่างกลาง อย่างใหญ่ก็ขนาดดวงอาทิตย์ตอนเที่ยง
อันนี้แหละเป็นที่รวมของพระไตรปิฎกแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ รวมรวบยอดแล้วก็มาอยู่ตรงนี้คือทำปฐมมรรคอันนี้แหละเป็นหนทางไปของพระอรหัตอรหันต์ทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้นะว่าทางหนทางเส้นทางสายกลางอันนั้นน่ะ เป็นทางไปของพระอริยเจ้าเป็นทางตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งนี้ พระองค์ยืนยันเอาไว้แล้วนะว่าเป็นทางตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ที่นี้ปัญญาอันยิ่งนี้คือปัญญาอะไร คือ อธิปัญญา ยิ่งนะยิ่งกว่าอะไร ยิ่งกว่าปัญญาของมนุษย์สามัญทั่วไป ยิ่งกว่าปัญญาของกายทิพย์ ของเทวดาทั้งหลาย ยิ่งกว่าปัญญาของพรหมทั้งหลาย ยิ่งกว่าปัญญาของอรูปพรหมทั้งหลาย เป็นปัญญาของพระธรรมกาย ของพระธรรมกายนั่นแหละ พระองค์หมายสูงเชียวนะ ว่าหมายถึงพระธรรมกายในตัวนั้นแหละ เป็นพระตถาคตเจ้า เข้าถึงซึ่งกลางอันนั้น
เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องเข้าถึงซึ่งกลางเหมือนกัน เป็นทางตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง เข้าไปอย่างนั้นนะ ทีนี้เข้านะเราจะเข้าอย่างไร เข้าไปจะต้องเอาใจหยุดอยู่ที่กลางปฐมมรรคตรงนั้น ที่ไปได้ดวงใส ๆ ตรงนั้นนะ ทีนี้พระองค์ยังทรงตรัสต่อไปอีกว่า จกฺขุกรณี ญาณกรณี เมื่อถึงพระธรรมกายอย่างนี้ ความเห็นได้ด้วยตาของธรรมกายอันนี้แหละเป็นปกติ ความรู้ด้วยญาณของธรรมกายอันนี้เป็นปกติ ทีนี้ความเห็นความรู้เป็นปกติหมายความว่าอย่างไร ตาของมนุษย์เราเนี่ยะเห็นไม่เป็นปกติ คือเห็นสิ่งที่ไม่สวยว่าสวย เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยงเห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน คือเห็นสิ่งที่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าเป็นนิจจังสุขขัง อัตตา นั่นแหละตาของมนุษย์เห็นไม่เป็นปกติอย่างนั้นนะ
เรา สังเกตตัวเราเป็นเกณฑ์ก็แล้วกัน ว่าความเห็นของเราน่ะไม่เป็นปกติ ความรู้ด้วยญาณของเราก็ไม่เป็นปกติ ความรู้ไอ้รู้นะ รู้ผิดบ้างถูกบ้าง ว่าตามนุษย์ก็ดีทิพย์ก็ดี พรหมก็ดี อรูปพรหมก็ดี ไม่มีญาณ มีแต่วิญญาณ กับความรู้ รู้ไปตามส่วนของผู้ที่อยู่ในภพสาม แต่ตาของธรรมกายนั้นน่ะ จกฺขุกรณี ญาณกรณี เห็นเป็นปกติ เห็นว่ากายมนุษย์ก็ดี ทิพย์ก็ดี พรหมก็ดี อรูปพรหมก็ดีซึ่งอยู่ในภพทั้งสาม อยู่ในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ ยังตกอยู่ในสามัญลักษณะ ยังไม่เที่ยง ยังเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราจะบังคับบัญชาไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ตายไม่ได้ นั่นนะกายธรรมนะ เห็นอย่างนั้นนะ เห็นเป็นปกติ เห็นอย่างนั้นเพื่อให้มองมาในมุมกลับว่า อะไรละที่เป็นนิจจัง ที่เป็นสุขขังที่เป็นอัตตา
เมื่อมาถึงตอนนี้พระองค์ก็จะยืนยันด้วยตัวเอง คือธรรมกายจะยืนยันด้วยตัวเองเชียวว่า ตถาคตนี้นะนิจจัง สุขัง อัตตา พอถึงธรรมกายแล้วก็เที่ยง เป็นสุข เป็นตัวเป็นตน บังคับบัญชาได้ ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ไปพระนิพพานได้ นี่พอถึงธรรมกายนี่ ธรรมกายจะเห็นเป็นปกติอย่างนี้นะ เห็นได้ด้วยตาธรรมกาย รู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย ส่วนมนุษย์ก็ดี ทิพย์ก็ดี รูปพรหมก็ดี อรูปพรหมก็ดี ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งสามยังเห็นไม่เป็นปกติ คือเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา ให้เห็นไปอย่างนั้นนะ พอถึงธรรมกายแล้วถึงจะเป็น จกฺขุ กรณี ญาณกรณี ให้จำเอาไว้ให้ดีเชียวนะ
คราวนี้ก็ต่อไปอีก จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เมื่อถึงธรรมกายอย่างนี้แล้วก็เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่เบียดเบียนใครด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เพราะว่าหนทางที่จะไปสู่พระนิพพานนั้นเห็นแล้ว เห็นว่าการเบียดเบียนนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพอเข้าถึงธรรมกายแล้วล่ะก็เลิกเบียดเบียนกัน จะทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี เป็นผู้สงบเย็นแล้วเรียกว่า กุสีตัง หรือเป็นผู้ที่ทำอาสวะให้สิ้นได้แล้ว เรียกว่าขีนาสวะ นี่พอถึงธรรมกายแล้วเป็นอย่างนี้นะ อุปสมาย เป็นไปพร้อมเพื่อความสงบระงับอภิญฺญาย เพื่อความรู้ยิ่ง คือรู้ยิ่งกว่ากายมนุษย์ ยิ่งกว่าทิพย์ ยิ่งกว่าพรหม ยิ่งกว่าอรูปพรหมทั้งหลาย คือรู้ว่าไอ้ภพทั้งสามนี้นะเหมือนกับคุก เป็นที่ขังของสัตว์โลกทั้งหลาย
ถึงแม้ว่าจะเกิดมาเป็นมนุษย์ จะเป็นผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์สูง มีโภคทรัพย์สมบัติมาก พอถึงเวลาก็ต้องแปรปรวนไป เปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดก็จะต้องล้มหายตายจากไป แล้วก็เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักหมดจักสิ้น เมื่อมาเกิดเป็นเทวดา เทวดานั้นก็ยังไม่เที่ยงอีกเหมือนกัน เมื่อหมดกำลังบุญหมดกำลังกุศลที่ได้บำเพ็ญไว้ในสมัยที่เป็นมนุษย์อยู่ ก็จะต้องจุติเวียนว่ายตายเกิดอีก พรหมก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่ามาเกิดเป็นพรหม มีความสุขอยู่ด้วยปีติอยู่ด้วยฌานสมาบัติ ในที่สุดเมื่อหมดกำลังของรูปฌานสมาบัติก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกเหมือนกัน
อรูปพรหมก็เช่นเดียวกัน เมื่อหมดกำลังของอรูปฌานสมาบัติ ก็จะต้องมาเวียนว่ายตายเกิด ถึงแม้ว่าจะมีอายุยืนยาวไปถึงแปดพันสี่ร้อยมหากัปป์ก็ตาม พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ องค์ก็ตาม กี่แสนพระองค์ก็ตาม ยังเป็นอรูปพรหมอยู่ แต่ในที่สุดก็จะต้องหมดกำลังของอรูปฌานสมาบัติ แล้วก็มาเวียนว่ายตายเกิด พระธรรมกายนั้นท่านเห็นอย่างนี้เชียวนะ แล้วก็เห็นยิ่งไปกว่านั้นอีก ว่าจะต้องไปพระนิพพานนั่นแหละ ทิ้งภพทั้งสามซะ ไม่เกาะเกี่ยว ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลยทั้งหมดในภพทั้งสาม เกาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นแหละจึงจะเป็น นิจจัง สุขัง อัตตา ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีการไป ไม่มีการมาอีกแล้วอยู่อย่างนั้นแหละ นี้แหละอภิญญาย คือรู้ยิ่งยิ่งกว่ากายมนุษย์กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหมน่ะ
สมฺโพธาย คือรู้พร้อม คือรู้ทั้งเหตุรู้ทั้งผล รู้ด้วยว่าการมาเกิดเป็นมนุษย์นี่มาจากเหตุอะไร ผลถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ รู้ว่าอ้อจะต้องประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ทำจิตทำใจให้บริสุทธิ์ นั่นแหละถึงจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ หรือจะไปเกิดเป็นเทวดานั้นทำอย่างไร จะต้องทำเทวธรรมคือมีหิริโอตัปปะ บำเพ็ญศีลสมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นมา นั้นแหละถึงจะมาเป็นเทวดาได้ แล้วก็รู้พร้อมยิ่งกว่านั้นอีก ว่ามาเกิดเป็นพรหมนั้นปฏิปทาเป็นเครื่องดำเนิน ทำอย่างไรถึงจะมาเกิดเป็นพรหมได้ จะต้องทำฌานสมาบัติให้เกิดขึ้น ทำใจหยุดใจนิ่งเจริญเมตตาพรหมวิหารสี่ พรหมวิหารธรรมแผ่ไปในทิศทั้งสี่ ไม่มีเวร ไม่มีภัยกับใคร จนกระทั่งใจหยุดใจนิ่ง ได้ฌานสมาบัติเกิดขึ้นมา จึงมาเกิดเป็นรูปพรหมได้ อรูปพรหมก็เช่นเดียวกันต้องทำอรูปฌานสมาบัติ คือได้สมาบัติแปดเกิดขึ้นมา จึงจะมาเกิดเป็นอรูปพรหมได้ นี่รู้พร้อมอย่างนี้
ทั้งเหตุทั้งผล แล้วก็รู้พร้อมยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีก ว่าจะหลุดพ้นจากภพทั้งสามนี้ จะต้องทำสังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูง ให้หมดสิ้นไป ตั้งแต่สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ ทั้งหยาบละเอียด รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาให้หมดสิ้นไปนั้นแหละจึงจะไปพระนิพพานได้ รู้พร้อมอย่างนั้นนะ อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย เป็นไปเพื่อพระนิพพานเนี่ยที่เราปฏิบัติธรรมะมาก็เพื่อเป็นไปเพื่อพระนิพพานอย่างนี้ นี่พระองค์ได้ทรงตรัสต่อพระปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหบูชา มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นพฺพานาย สํวตฺตติ อย่างที่ได้แสดงมาแล้วนะ คือทำใจหยุด ทำใจนิ่งของเราตั้งแต่เริ่มต้นที่ศูนย์กลางของเราตรงนั่นแหละ เรื่อยมาเชียวจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายของเราได้