อายตนนิพพาน

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2567

160367b.01.jpg
อายตนนิพพาน
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                บูชาพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ขอเรียนเชิญทุกท่านนั่งเจริญภาวนา ท่านชายนั่งขัดสมาธิ ท่านหญิงนั่งขัดสมาธิไม่ถนัด ให้นั่งพับเพียบ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตัก ตั้งกายของเราให้ตรง อย่าก้มอย่าเงยนัก กะคะเนว่าเลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เพราะการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง ต้องปล่อยสบาย ๆ ให้พอเหมาะพอดี เกร็งเกินไปใจก็ไม่สงบ หย่อนเกินไปก็เมื่อย หลับตาเบา ๆ ทุก ๆ คน หลับตาแค่ผนังตาปิดเบา ๆ อย่าเม้มตาแน่น อย่าบีบหัวตา แล้วก็อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาของเราเฉย ๆ นะ ตั้งใจของเราให้ดี 

 


                จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย สละวาง ให้หลุดพ้น ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่ห่วงใย ไม่ห่วงใยในร่างกายของเรา มันจะปวด มันจะเมื่อย มันจะกระสับกระส่ายแค่ไหนก็ช่างมัน เราไม่กังวล เพราะว่าร่างกายที่เรานั่งนั่งเข้าที่อยู่นี้เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย อาศัยให้จิตสำหรับฝึกฝนให้บริสุทธิ์ จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย ไปสู่พระนิพพาน ร่างกายของเราเป็นแต่เพียงเครื่องอาศัยอันนี้เท่านั้น อาศัยอยู่ชั่วคราว ไม่ใช่เป็นของจริงของจังอะไร ให้นึกคิดกันอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น เราก็จะไม่สนใจ เราจะสละร่างกายของเราชีวิตของเรา ร่างกายนี้อุทิศเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะไม่สนใจ จะไม่ห่วงใยไม่อาลัยอาวรณ์ จะทำจิตของเราให้หยุดให้นิ่งอย่างเดียว 

 


                เพราะเราทราบดีแล้วว่า ร่างกายเป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย อาศัยมาตั้งแต่เล็ก ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ และก็ต่อไปจนกว่าจะละโลก อาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว อาศัยฝึกจิต ฝึกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งจิตสะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใส ร่างกายนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว เหมือนกับอ้อยที่เค้าหีบเอารสหวานออก เหลือแต่ชานของมันก็ทิ้งไป ร่างกายที่เป็นเครื่องอาศัยนี้ก็เช่นเดียวกัน อาศัยเพื่อบำเพ็ญประโยชน์สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา คือให้จิตฝึกจนกระทั่งสะอาดบริสุทธิ์ เข้าถึงธรรมกายเห็นธรรมกาย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ธรรมกายอรหัตองค์ที่สุดนั้น ที่อยู่ในตัวของเราน่ะ กายของเราไปเห็นตัวตนที่แท้จริงของตัวของเรา พ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย ไปเห็นอย่างนั้น ไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต กายหยาบนี่ก็เหมือนกับชานอ้อย ที่หีบเอารสหวานไปแล้ว คือเราแสวงหาประโยชน์ของกายนี้ไปแล้ว 

 


                เมื่อบรรลุถึงที่สุดกายนี้ก็ กัตตัง กรณียัง กิจที่จะทำ คือระหว่างที่มีชีวิตอยู่ที่จะอาศัยร่างกายนี้ทำต่อไปไม่มีอีกแล้ว ภพชาติสิ้นหมด หมดการเวียนว่ายตายเกิด นี่ร่างกายเราอาศัยแค่นี้นะ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้วเนี่ย เราจะได้ไม่ห่วงใย ไม่อาลัยอาวรณ์ ไอ้เพราะความห่วง ห่วงใยอาลัยอาวรณ์น่ะ ในร่างกายของเรา ในร่างกายของคนอื่น ในลูกในหลานอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ในสามีในภรรยา ก็ทำให้เรามีทุกข์อยู่อย่างเนี้ยะ มีความวิตก มีความกังวล มีความหงุดหงิด งุ่นง่าน มีความฟุ้งซ่านรำคาญใจ อะไรสารพัดต่าง ๆ น่ะ สิ่งที่หาบหามความทุกข์เข้ามาสู่ในตัวของเรา เพราะความเป็นห่วงเป็นใย ที่เป็นห่วงเป็นใย เพราะเราไม่ทราบว่า เป้าหมายที่แท้จริงที่เราเกิดมามีร่างกายอย่างนี้ เราจะใช้ร่างกายอย่างนี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวของเราเองอย่างไร 

 

 

                เมื่อไม่ทราบก็เลยเป็นห่วงเป็นใย อาลัยอาวรณ์ ทำให้มีปัญหาร้อยแปดเกิดขึ้น ใจก็ไม่สงบ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้ เราจะปลด เราจะปล่อย เราจะวางกันหล่ะ ไม่ปล่อยไม่วางตอนนี้ เวลาจะตายมันก็ต้องวางเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราวางซะก่อน วางตั้งแต่ตอนนี้ พอวางแล้วเราก็ทำใจของเราให้สบาย ๆ ทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ปลอดโปร่งสบาย ๆ สำหรับท่านที่มาใหม่ ก็ทำความรู้จักกับฐานทั้ง ๗ ภายในร่างกายของเรา ซึ่งเป็นทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นทางไปเกิดมาเกิดของตัวของเราเอง  

 


                ให้เราได้รู้จักฐานทั้ง ๗ ภายในร่างกายของเรา ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่หัวตาของเรา ตรงจุดที่น้ำตาไหล ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ คือกึ่งกลางกระโหลกศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากจุดที่อาหารสำลักตรงนั้นน่ะ ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ที่ศูนย์กลางกายในระดับเดียวกับสะดือ สมมติเราเอาเส้นเชือกขึงจากสะดือทะลุไปข้างหลังเส้นหนึ่ง ขึงจากข้างขวาทะลุไปข้างซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ฐานที่ ๗ อยู่สูงจากฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมาเท่าไหร่ ๒ นิ้วมืออันนั้นน่ะ เรียกว่าฐานที่ ๗ อยู่ตรงกันพอดีเลย 

 


                ฐานที่ ๗ ทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลก มีอยู่ทั้งหมด ๗ฐาน เวลามาเกิด มาจากฐานที่ ๑ คือปากช่องจมูก เวลาจะเข้าสู่ครรภ์บิดามารดาเนี่ย มาทางปากช่องจมูก กายทิพย์น่ะ เข้าไปในนั้น แล้วก็ไปที่หัวตา กลางกั๊กศีรษะ เพดานปาก ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ไปฐานที่ ๖ แล้วไปอยู่ฐานที่ ๗ หยุดนิ่งอยู่ตรงนั้นล่ะ มาเกิดมาอย่างนั้น เวลาไปเกิด คือเวลาตาย ตัวของเรานี่แหละ ไอ้ที่กายละเอียดข้างในที่มันตายไม่เป็นนะ จะไปหาที่เกิดใหม่ พอกายหยาบมันทนไม่ไหว มันถึงคราวจะต้องเสื่อมสลายไปนะ ใจของเราจะไปรวมอยู่ที่ตรงนั้น ที่ฐานที่ ๗ รวมหยุดนิ่ง ใจไปหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น แล้วก็เลื่อนไปฐานที่ ๖ ดึงดูดหนักเข้า ตอนเวลาจะตาย ดึงดูด ดึงดูด มือไขว่คว้าอากาศอยู่ที่ร่างกายหยาบนะ จมูกรั้งเชิดมั่ง ตาเหลือกค้างขึ้นไปมั่ง มีอาการหายใจขัด ๆ มั่ง ไปหยุดอยู่ตรงนั้นน่ะ แล้วก็เลื่อนไปฐานที่ ๖ พอฐานที่ ๖ ก็เลื่อนมา กายออกมาฐานที่ ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ ออกไปแสวงหาที่เกิด เป็นกายละเอียด ไปแสวงหาที่เกิดต่อไป นั่นออกไปอย่างนั้นนะ 

 


                มาเกิดไปเกิดเดินสวนทางกัน ถ้ามาเกิดมาจากฐานที่ ๑ ไปสู่ฐานที่ ๗ ถ้าไปเกิดจากฐานที่ ๗ ออกสู่ฐานที่ ๑ ออกไปอย่างนั้นแหละ พอไปแล้วก็แล้วแต่บุญบาปที่อยู่ในตัวของกายละเอียด จะเป็นชนกกรรมนำไปเกิดที่ไหนก็แล้วแต่ ที่จะพอเหมาะกับภพภูมิของบุญบาปที่อยู่ในตัวอันนั้น ถ้าบริสุทธิ์ที่สุดไม่มีกิเลสอาสวะเจือปนเลย กายธรรมที่ถอดออกไปก็ไปสู่พระนิพพาน ถ้ามีบุญมั่งบาปมั่งก็ยังอยู่ในภพทั้งสามอย่างนี้แหละ วนกันอยู่ถ้ามีบาปล้วน ๆ ไม่มีบุญเจือเลย ไปสู่โลกันตร์นรก เลยจากขอบภพสามเบื้องล่างออกไปอีก บุญบาปก็อาศัยทำระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่นี่แหละ ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การนึกคิด คำพูดและการกระทำน่ะ มันก็สั่งสมอยู่ในในจิต ในเห็น จำ คิด รู้ อยู่ในใจของเรา มันซึมอยู่อย่างนั้นแหละ พอถึงเวลาก็นำไปเกิด นี่ไปเกิดมาเกิด เรารู้จักอย่างนี้ให้ดีนะ

 


                การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน จะไปสู่หนทางของพระนิพพาน อันเป็นทางหลุดทางพ้น เข้าถึงบรมสุขอันเป็นอมตะ ก็จะต้องอาศัยเส้นทางสายกลางอันนี้เช่นเดียวกัน คืออาศัยฐานที่ ๗ อันนี้แหละ ฝึกทำใจให้หยุดให้นิ่ง ใจที่แวบไปแวบมาน่ะ นึกคิดไปในเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ทั้งหมด เราฝึกให้หยุดนิ่ง หยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ ที่เดียว ไม่ใช่หยุดอยู่ที่ฐานที่อื่นนะ เพราะฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียวเท่านั้น จึงจะไปสู่พระนิพพานได้ ถ้าไปหยุดฐานอื่นแล้วไปสู่พระนิพพานไม่ได้ เพราะตรงนี้เป็นผังสำเร็จ มันเป็นจุดเชื่อมรอยต่อ ที่จะไปสู่ภพภูมิอันละเอียด ที่ปราณีตยิ่ง ๆ ขึ้นไปน่ะ อยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ ตรงเนี้ย เปรียบก็เหมือนประตูของพระนิพพาน เป็นประตูของพระนิพพานนะ ความสุขทั้งหลายจะหลั่งไหล จะพรั่งพรูออกมา 

 


                ถ้าหากว่าเราทำใจของเราให้หยุดให้นิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดอยู่ตรงนี้ที่เดียวเท่านั้น ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน ไม่หวั่นไหว หยุดติดแน่น ใจไม่ไปที่อื่นเลย ถ้าแน่นอย่างนี้ละก้อ ไปที่เดียวคือไปสู่พระนิพพาน ซึ่งหนทางไปสู่พระนิพพานนั้น ยวดยานพาหนะอะไรก็ไปไม่ถึงทั้งนั้น อาศัยการฝึกจิต ฝึกใจของเราให้หยุดนิ่ง ใจที่แวบไปแวบมาน่ะเอามาหยุดนิ่ง หยุดที่ฐานที่ ๗ ประคับประคองให้ดีที่ฐานที่ ๗ มันประคองยากนิดหน่อยในระยะแรก ๆ ในตอนแรก ๆ เพราะว่าเรามักจะใช้ใจไปในทางที่อื่น ใช้ใจไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สารพัดไปหมด เอาใจออกไปข้างนอก 

 


                เพราะฉะนั้นจึงไม่พบหนทางของพระนิพพาน ที่มีอยู่ในตัวของเรา นี่เราไม่พบ เพราะว่าเอาใจไปไว้ผิดที่ ใจนี่แปลก ถ้าไปวางผิดที่แล้วละก้อ มันจะหาบหามแต่ความทุกข์เข้ามาสู่ใจอันนั้น จะมีแต่ความทุกข์ ใจที่วางถูกที่ให้มีความสุข มีอยู่ที่เดียว ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียวเท่านั้น ไม่ใช่ที่ไหน ยากตอนแรกอย่างที่เรียนให้ทราบเมื่อสักครู่เนี๊ยะ พอเราจะวางตรงนี้ละก้อ มันก็จะแวบไปที่อื่น พอจะวางให้หยุดตรงเนี้ย มันก็แวบไปที่โน่นที่นี่ แวบไปสารพัด แวบไปเรื่อย มันจะไม่รวมหยุดอยู่ที่เดียวน่ะ บางทีไม่แวบไปที่ไหน ก็มีความกังวลมาก ไอ้ตรงฐานที่ ๗ นี่กังวล กังวลกลัวว่าใจจะวางไว้ไม่ตรง กลัวว่าใจจะไม่หยุดนิ่งที่ตรงนี้ กลัวว่าจะเห็นไม่ชัด กลัวว่าจะปฏิบัติไม่ได้ กลัวว่าจะทำไม่เป็น กังวลว่าบุญบารมีวาสนาของเรายังน้อย คงเข้าไม่ถึง หรือไปเพ่งนิมิต หรือมีความทะยานอยากมากเกินไป อะไรสารพัดอย่างนี้ ทำให้ใจเราไม่หยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ 

 


                เพราะฉะนั้นเราจะต้องตัดความกังวลทั้งหมดที่มีอยู่อย่างที่ที่ได้กล่าวไว้แล้ว ทำใจของเราวางไว้เฉย ๆ ตราบใดที่ใจมันยังไม่ถูกส่วน ยังไม่หยุดยังไม่นิ่ง เราจะยังเห็นศูนย์กลางกายยังไม่ได้ เราจะเห็นฐานที่ ๗ ยังไม่ได้ เมื่อใจหยุดได้ถูกส่วนเท่านั้น จึงจะเห็นศูนย์กลางกายได้ชัดเจน เห็นฐานที่ ๗ ได้ชัดเจน เพราะฉะนั้น ในขณะที่ ที่เรายังหยุดยังไม่ถูกส่วน เราจะต้องสมมติ สมมติว่าใจของเราที่มากำหนดอยู่ตรงฐานที่ ๗ มันอยู่ที่ตรงนี้แล้ว ถูกต้องแล้ว ไม่มีความคลางแคลงแน่นอนการที่สมมติอย่างนี้มันอาจจะถูกก็ได้ มันอาจจะผิดก็ได้ มันอาจจะเหลื่อมซ้ายเหลื่อมขวาก็เป็นไปได้ สำหรับที่ที่เรายังฝึกยังไม่ถูกส่วน แต่จากการที่ที่เราเอาใจของเรามานึกคิดอยู่ในบริเวณแถวนี้ บางครั้งก็ถูกตรงฐานที่ ๗ บางครั้งก็อาจจะเอียง ๆ อยู่บ้างนิด ๆ อาจจะเหลื่อมซ้ายเหลื่อมขวาช่างมัน การที่ตะล่อมใจได้อย่างนี้ ประคองอย่างนี้ไว้บ่อย ๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก 

 


                ทำเช้าทำเย็น ทำทั้งวัน ทำตลอดเวลา พอบ่อย ๆ เข้า หนักเข้า ๆ จิตมันจะถูกส่วนของมันเอง มันจะถูกส่วนด้วยตัวของมันเอง พอฝึกฝนหนักเข้า ๆ ไม่ไปที่ไหน เพราะว่ามันใกล้ที่อยู่ของมันแล้วเนี่ย พอถูกส่วน พอถูกส่วน มันก็แวบ แวบติดที่ศูนย์กลางเลย ติดในระยะแรกมันยังมองไม่เห็นหรอก ความสว่างมันยังไม่เกิด แต่จะรู้ได้โดยอาการ มีความปลอดโปร่ง มีความรู้สึกว่ากายนี่เบา กายเบาสบายเหมือนจะเหาะจะลอยขึ้นไปอย่างนั้น ถ้าหย่อนลงมาหน่อยก็มีความรู้สึกว่าข้างในเป็นโพรงโล่ง หายใจละเอียดอ่อน เหมือนไม่ได้หายใจอย่างนั้น เป็นโพรงโล่ง ๆ เหมือนอยู่ในอวกาศ หรือบางทีถ้าหย่อนลงมาอีก ก็คล้าย ๆ กับกายนี่มันขยายตัว อาจจะขยายไปทางข้าง ๆ 

 


                มีความรู้สึกตัวใหญ่ขึ้น อาจจะขยายไปทางเบื้องบน มีความรู้สึกตัวสูงยืด เหมือนจะติดหลังคาอย่างนั้น อาจจะขยายไปเบื้องล่าง คล้าย ๆ ตกจากที่สูง มันวูบลงไป เหมือนตกบ่อตกเหว มันวูบลงไป ถ้าหยาบกว่านี้อีกหน่อยหนึ่ง อาจจะมีความรู้สึกตัวโยกตัวโคลง เหมือนเรานั่งเรือโต้คลื่นหรือนอนในเปลแล้วใคร ไกวเปลอย่างนั้น นั่นมันใกล้ศูนย์กลางกายเข้าไปแล้ว ถ้าหยาบกว่านี้อีก อาจจะมีอาการขนลุกซู่ซ่าขึ้นมา น้ำหูน้ำตาไหล ใจเต้นตึกตักอะไรอย่างนั้น ถ้าหยาบกว่านี้อีก บางทีมีความรู้สึกตัวชา ๆ ชาที่ก้นกบ ที่เข่า ที่ขา มันชาไปทั้งแถบ แล้วเราตกอกตกใจกันก่อน เลยเลิก หรือมีความรู้สึกส่วนข้างล่างหายมือไม้หนัก หนักแล้วก็ชา ชาแล้วเบาหายเลย พอหายแล้วก็ใจหายตามไปด้วย ใจหายด้วยเลยเลิก 

 


                นั่นเป็นอาการที่ใจมันกำลังจะหยุด มันจะติดที่ศูนย์กลางกายแล้ว มันใกล้เกือบจะถูกส่วนแล้ว หน้าที่ของเราคือประคองเรื่อยไปประคองเป็นพี่เลี้ยงของใจของเราเรื่อยไป เอาสติเป็นพี่เลี้ยงไป ทะนุถนอมใจของเราเอาไว้ ประคองไว้ ปลอบไปเรื่อย อย่าหวาดหวั่น อย่าวิตก อย่าตื่นเต้น อย่าดีใจ วางเฉย ๆ อย่ากลัวตาย อย่ากลัวโน่นกลัวนี่ เฉย ๆ เอาสติประคองเอาไว้ สติกับปัญญาของเราประคองเอาไว้เรื่อย พอถูกส่วนเข้า มันจะไม่คิดอะไรเลยใจ พอถูกส่วนเข้าให้คิดก็ไม่คิด ไอ้ตอนที่มันไม่ถูกส่วน ไม่ให้คิดมันก็คิด แต่ถ้าถูกส่วนแล้วมันไม่คิดเลย มันติดแน่น ลมหายใจไม่มี ลมละเอียด เหมือนไม่ได้หายใจ แต่มีความสุขสบายกว่าที่เราหายใจเข้าออก ใจจะติดแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางตรงนั้น ถูกส่วน กายมีความรู้สึกตรงขึ้นมาเอง เหมือนถูกดึงดูดให้ติดกับพื้น ไม่โยกไม่โคลง ไม่หวั่นไหว ไม่เอาใจใส่ข้างนอก 

 


                พอถูกส่วน พอถูกส่วนเข้า มันวูบลงไป มันวูบไปแล้วก็เกิดเป็นดวงขึ้นมาทันที เป็นดวงสว่างอย่างเล็กขนาดเท่ากับดวงดาวในอากาศ หรือเล็กเหมือนกับเข็มอย่างนั้น ปลายเข็ม เป็นจุดสว่างเล็ก ๆ บางคนก็โตขึ้นมาหน่อยเหมือนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นะ กลมรอบตัว จุดนั้นน่ะกลม นั่นเห็นเครื่องหมายแล้ว เรียกว่าปฐมมรรค เกิดขึ้นที่ฐานที่ ๗ เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่เกิดที่อื่น ถ้าเกิดที่อื่นนั้นยังไม่ใช่ เป็นวิปัสสนูปกิเลส คือหนทางที่จะผิดทางแล้ว แต่ถ้าเกิดตรงนี้ล่ะใช่ที่เดียวเลย ใจติดแน่นอยู่ตรงนั้นน่ะ พอถูกส่วน ถูกส่วนล่ะเห็นใส ใสสว่าง คำภาวนาที่เราภาวนา สัมมาอะระหังก็หายไป ภาวนาพุทโธก็หายไป จะภาวนาอะไรก็หายไปหมด ใจจะติดแน่นอยู่ตรงนั้น สว่างไสว เป็นดวง และมีความรู้สึกสดชื่น อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนทีเดียวนะ

 


                 มีความอิ่มเอิบเบิกบานใจ ธรรมปีติเกิดขึ้นตอนนี้ ความสุข ความปีติ เกิดขึ้นมาในตอนนี้เลย ในขณะที่ใจหยุดนิ่งเห็นดวงใส ๆ นั่นแหละต้นทางที่จะไปสู่พระนิพพาน เห็นอย่างนี้แล้วล่ะก้อรักษาเอาไว้ให้ดี นั่นแหละคือความบริสุทธิ์ของเรา รักษาไว้ให้นิ่งให้นาน ให้ชำนาญทีเดียว จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะกิน จะดื่ม จะทำพูดคิดหยุดนิ่ง ลิ้มรส จะทำอะไรก็แล้วแต่ จะต้องตรึกให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนั้นที่เดียว หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย หลับตาลืมตาให้เห็นชัดเจน ให้แจ่มใส นี่หนทางเบื้องต้นรักษาเอาไว้ให้ดี ถ้าถูกทางตั้งแต่ตอนนี้ วินาทีนี้ จะถูกทางไปตลอดจนกระทั่งไปถึงพระนิพพาน จะเกิดอีกกี่ภพกี่ชาติก็ถูกทางตลอด เราจะไม่ดำเนินชีวิตผิดพลาดอย่างที่เราเวียนว่ายตายเกิด ที่แล้ว ๆ มา ชีวิตของเราในวันนี้ ที่เข้าถึงปฐมมรรค จะได้ชื่อเป็นชีวิตอันประเสริฐ เราจะดำเนินไม่ผิดพลาด เหมือนเมื่อวานนี้ เหมือนก่อน ๆ นั้นไปอีก ที่เราระลึกย้อนหลังไปแล้วเมื่อไหร่เราก็แหน่งใจ ว่าเราไม่น่าจะดำเนินชีวิตผิดพลาดอย่างนั้นเลย หยุดเมื่อไร ถึงปฐมมรรค ดวงสว่างเกิดขึ้น เราจะดำเนินถูกทางแล้ว

 


                ต่อจากนี้ไปการเกิดมาเป็นมนุษย์ในภพนี้ชาตินี้ ถ้าเข้าถึงหนทางอันถูกต้องของพระอริยเจ้าอย่างนี้ เกิดชาตินั้นมีกำไร เกิดชาตินี้มีกำไร และก็จะมีกำไรไปตลอดทุกภพทุกชาติ เห็นอย่างนี้แล้วปิดประตูอบายภูมิ หนทางที่จะไปสู่อบายหรือที่จะหลงตายน่ะไม่มี เป็นอันว่าไม่มี เพราะว่ามาถูกทางแล้ว คนลองไปถูกทาง ไอ้ที่จะหลงทางก็ไม่มี ไปอย่างเดียวคือสุคติ จากสุคติแล้วก็ไปสุคโตอย่างนั้น ไปภูมิอันสูงขึ้นละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ ไปตามลำดับ ตั้งแต่สวรรค์ ๖ ชั้นเรื่อยไป พรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น กระทั่งถึงอายตนนิพพาน ถูกทางตลอดไปหมดเลย เพราะฉะนั้นปฐมมรรคนี่แหละเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะต้องให้ความเอาใจใส่ จะต้องไม่ประมาท จะต้องฝึกฝนอบรมจิตของเราให้ได้ ถ้าหากว่าเรายังทำปฐมมรรคยังไม่เกิดขึ้น ยังไว้ใจไม่ได้ในชีวิตนี้ ไอ้ที่คำว่ากำไรชีวิตเนี่ยเราใช้กันมาผิดทางแล้ว พูดกันมาผิดแล้ว ผิดกันมาตั้งนานแล้ว ควรจะใช้คำว่าขาดทุนชีวิต เพราะนึกเมื่อไหร่ นึกถึงชีวิต นึกถึงการกระทำในที่ผ่าน ๆ มา เราก็ไม่สบายใจ เสียอกเสียใจ กลุ้มใจ ว่าไม่น่าจะทำอย่างนั้นเลย นั่นเราพลาดไปแล้ว 

 


               แต่ถ้าหยุดตอนนี้แล้วละก้อ จะรู้สึกด้วยตัวของตัวเองเลยมาถูกทาง นี่จับเอาไว้ให้ดีนะ หลักอันนี้ ถ้าจับหลักอันนี้ได้แล้วละก้อ การที่เราจะศึกษากิจในทางพระพุทธศาสนาต่อไป เราจะได้ศึกษาได้ถูกทาง นี่จำให้ดีนะวิธีที่จะเข้าถึงปฐมมรรค อันเป็นหนทางเบื้องต้นไปสู่พระนิพพาน ให้ทุกคนปล่อยวางภารกิจภายนอกทั้งหมดในโลก ต้องใช้คำว่าในโลก ทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน โลกคือหมู่สัตว์ คือที่อยู่อาศัย คือสรรพสัตว์ กระทั่งสิ่งแวดล้อม และก็ตัวของเราเองนี่โลกภายใน ปล่อยวางหมด เอาใจหยุด สนใจที่ศูนย์กลางกายที่เดียว สนใจเหมือนกับสนเข็มอย่างนั้นแหละ เอาใจเราสนเข้าไปที่ศูนย์กลาง มันมีช่องเล็ก ๆ จรดเข้าไป ให้ติดนิ่ง อย่าให้เหลื่อมซ้ายเหลื่อมขวาน่ะ อย่าเพ่งแรงเกินไป อย่านั่งด้วยความทะยานอยาก อย่าใช้ความพยายามมากเกินไป วางสบาย ๆ คล้าย ๆ เราคิดอะไรสักเรื่องหนึ่ง แต่คิดวนอยู่ที่ศูนย์กลาง 

 


                กำหนดบริกรรมนิมิต เป็นดวงแก้วใส ๆ เหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีด ไม่มีข่วน ไม่มีไฝ ไม่มีฝ้า โตเท่ากับแก้วตาหรือเท่ากับปลายนิ้วชี้หรือนิ้วก้อย อย่างใดอย่างหนึ่งที่เรานึกได้ถนัดกำหนดเป็นเครื่องหมายให้ใสเหมือนเพชรอย่างนั้นทีเดียวนะ ให้ใส โตอย่างที่เรียนให้ทราบนั่นแหละ เท่าปลายนิ้วก้อยนิ้วชี้ หรือโตเท่ากับแก้วตาของเราน่ะ กำหนดนิ่ง นึกด้วยใจ นึกง่าย ๆ นึกเบา ๆ นึกสบาย ๆ ถ้านึกง่าย ๆ แล้วมันไม่เครียด ถ้าเรานึกโดยใช้ความพยายามมาก มันจะเครียด มึนศีรษะตึงศีรษะ นั่นผิดวิธีแล้ว ไม่เอานะ ปรับปรุงเสียใหม่ นึกง่าย ๆ คล้ายเรานึกถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง กำหนดดวงให้ใสเหมือนกับเพชรลูก ให้ใสกลม ใสเหมือนเพชร นึกถึงเพชรน่ะ มีความใสอย่างไรน่ะ มีความใส มีความสว่างอย่างไรน่ะ กำหนดเบาๆ วางสบาย ๆ กำหนดให้หยุดนิ่ง ประคองให้ดีนะอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 


                เรารู้จักฐานที่ ๗ ดีแล้ว ก็กำหนดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วนะ ในกลางท้อง กำหนดนึกนิ่ง เบา ๆ สบาย ๆ นึกด้วยใจนะ อย่าเอาลูกนัยน์ตากดลงไป นึกด้วยใจเบา ๆ ปรับความเห็นให้ดีนะตอนนี้ ถ้าเราถูกทางตอนนี้ ฝึกได้ตอนนี้ กลับไปที่บ้านก็ทำได้ แล้วก็จะถูกทางไปทุกภพทุกชาติกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าผิดตอนนี้ ผิดเรื่อยไปเลยนะ เพราะฉะนั้นจำให้ดี กำหนดเครื่องหมายให้ใส แล้วทำไปช้า ๆ น่ะ ค่อย ๆ ช้า ๆ ให้ใสเหมือนกับเพชรลูกน่ะ ให้ใสที่สุดเท่าที่จะใสได้ ให้ใส ให้ชัดเจน ชัดเจนคล้าย ๆ เราลืมตาเห็นน่ะ อยู่ที่ฐานที่ ๗ กำหนดนิ่ง ประคองให้ดีนะ 

 


                ใจหยุดใจนิ่ง เราจะเอาเครื่องหมายอันนี้ล่ะเป็นสื่อที่จะเชื่อมโยงใจของเราไม่ให้ฟุ้งซ่านไปคิดไปเรื่องอื่น หยุดนิ่ง ใจเราจะได้กลับเข้าที่ตั้ง ที่ตั้งของใจถ้าเข้าได้เรียกว่ากรรมฐาน นี่ที่ตั้งของใจ ที่ตั้งของการงาน การงานที่เราจะรื้อภพรื้อชาติกันต่อไปนะ กำจัดกิเลสอาสวะให้สิ้นไป แล้วก็ประคองให้นิ่งให้ใส พร้อมกับบริกรรมภาวนาในใจ "สัมมาอะระหัง" ๆ ๆ ให้คำภาวนาสัมมาอะระหังเนี่ยะ มันเกิดขึ้นคล้าย ๆ กับเป็นเสียงที่เกิดขึ้นในทางความคิด เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อนทางใจ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของดวงแก้วใส ๆ เราประคองควบคู่กันไป เอาภาวนาสัมมาอะระหังเป็นพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงประคองดวงแก้วใส ๆ ให้หยุดนิ่งอยู่ภายในตัวของเรา เราจะภาวนาไปเรื่อย จนกว่าใจของเราไม่อยากจะภาวนาคือ อยากจะอยู่เฉย ๆ 

 


                นึกถึงแต่ดวงแก้วอย่างเดียว อยากจะวางใจเฉย ๆ แล้วก็ไม่นึกคิดเรื่องอื่น ไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาแทรกเลย อย่างนี้ก็ไม่ต้องภาวนา จำเอาไว้ให้ดีนะ เราจะภาวนาสัมมาอะระหังไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจเราไม่อยากจะภาวนา อยากจะวางใจเฉย ๆ เพราะว่าใจเริ่มมั่นคงดีแล้ว อยากจะวางใจให้นิ่ง รู้สึกว่าถ้าวางใจนิ่งอยู่ที่ดวงแก้วใส ๆ จะสบายกว่า เราก็ทำอย่างนั้น ไม่ต้องภาวนา ให้ใจนิ่ง นิ่งเบาๆ ให้ใส นึกให้ใสในใส ชัดในชัด ๆ ให้หยุดนิ่ง หยุดนี้แหละต้นทาง ทำตอนนี้ได้ แล้วตอนอื่นง่ายหมด ถ้าตอนนี้ไม่ได้ ตอนอื่นก็ยากหน่อย แต่ตอนนี้จะทำให้ง่าย ก็ทำอย่างที่แนะนำอย่างนี้แหละ วางเบา ๆ ใจเย็น ๆ ใจสบาย ๆ ประคองเอาไว้อย่างที่เรียนให้ทราบอย่างนี้นะ แล้วเราจะเข้าถึงหนทางที่ถูกต้องโดยไม่ยากเย็นอะไรเลย

 


                หลักมีอยู่ ท่านให้หลักเอาไว้ ว่าแม้ว่าท่านจะดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว แต่ยังมีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน อายตนะนั้นมีอยู่ อายตนะแปลว่าบ่อเกิด แปลว่าที่อยู่ อายตนนิพพานคือที่อยู่ของพระนิพพาน พระนิพพานอย่างหนึ่งนะ อายตนนิพพานนั้นอย่างหนึ่ง นั้นมีอยู่ ไม่ใช่ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างที่เราเห็น ๆ อย่างนี้ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว เพราะของพวกนี้ยังอยู่ในภพทั้งสาม ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้นที่อยู่ในภพทั้งสามนั่นแหละ สรุปแล้วก็เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่กามภพ ไม่ใช่รูปภพ ไม่ใช่อรูปภพ ท่านใช้ศัพท์ภาษาบาลีเยอะแยะ แต่ว่าพูดเป็นภาษาไทยย่อ ๆ อย่างนี้แหละ ท่านบอกอายตนะนั้นมีอยู่ ที่อยู่ของธรรมกายนั้นมี แล้วก็ไปมาด้วยยวดยานพาหนะอะไรก็ไปไม่ถึง ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้นในโลกตามที่เข้าใจกัน

 


                เพราะชาวโลกสมัยก่อนนั้น ทุก ๆ สมัยน่ะ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็จะเป็นอย่างนี้ ถ้าขาดความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ คือความรู้ที่ถูกต้องมันยังขาดอยู่ ไม่สมบูรณ์ รู้ต้น รู้กลาง แต่ไม่รู้ปลาย รู้ไม่ตลอด แทงไม่ตลอด ได้ความรู้อะไรก็มาแนะนำกันต่อ ๆ กันมา มีโลกนี้ มีโลกหน้า โลกอื่น ว่านั้นเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ มั่นคงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านมองตลอด เนื่องจากท่านรู้แจ้งแทงตลอดเมื่อท่านได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายความรู้อันบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้น รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด รู้ได้รอบตัว เห็นได้รอบตัว แทงตลอดเหมือนเข็มร้อยพวงมาลัยอย่างนั้น ทะลุปรุโปร่งหมด ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน อนาคต ตรวจตราดูความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ของพระองค์ กับของผู้รู้เก่า ๆ แก่ ๆ คือพระนิพพาน พระพุทธเจ้าเก่า ๆ แก่ๆ ตรงกันไหม ตรงกันหมด ยืนยันหมด 

 


                สรุปว่าอายตน่ะ นั้นมีอยู่ ไปรู้ไปเห็นมา ท่านไปรู้ท่านไปเห็น เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า ในวันแรกก็เข้าถึงเลย เข้าถึงนิพพานในตัว และเข้าถึงนิพพานนอกตัว นิพพานในตัวท่านเรียกสอุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่านิพพานเป็นอายตนะที่มีอยู่ท่านเรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานตาย หมายความว่า ต้องตายแล้วจึงจะเข้าไปถึงอันนั้นได้นิพพานเป็นก็หมายความว่ายังมีชีวิตอยู่ หมดกิเลส ธรรมกายก็ปรากฏอยู่ในตัว ร่อน ติดร่อน มีความเป็นอยู่เหมือนอยู่ในอายตนนิพพานจริง ๆ เป็นแต่เพียงยังอาศัยกายมนุษย์หยาบอยู่ จำให้ดีนะ จับหลักอันนี้ได้ละก็จะได้ไม่ต้องเถียงกัน สอุปปาทิเสสนิพพาน นิพพานเป็น คือยังมีชีวิตอยู่ ยังอาศัยขันธ์ ๕ อยู่ พอขันธ์ ๕ แตกดับก็เรียกว่าดับขันธปรินิพพาน คือขันธ์ ๕ นี่ไม่เหลือแล้ว สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษไปเลย ดับหมด

 


                 ธรรมกายที่อยู่ในสอุปาเสสนิพพาน ก็ตกสูญดับวูบเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน นั่นแหละนิพพานที่เราจะไปถึงกัน มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ เพราะว่าที่นั้นจะอยู่ได้ด้วยธรรมกาย ธรรมกายที่หมดกิเลสอาสวะต่าง ๆ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏาสวะ อวิชชาสวะ ติดเรื่องกามก็ไปอยู่ไม่ได้ มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดก็ไปอยู่ไม่ได้ ติดในภพทั้งสามก็ไปอยู่ไม่ได้ หรือรู้อะไรก็รู้ไม่ตลอด ก็ไปอยู่ไม่ได้ ขาดความรู้ที่สมบูรณ์ไป อยู่ไม่ได้ ตั้งแต่กามสวะ ภวาสวะ ทิฏาสวะอวิชชาสวะเครื่องหมักดองเหล่านี้ กามก็ดี ภพก็ดี ความเห็นผิดก็ดี ความไม่รู้จริงอะไรก็ดี ดับหมด พอถึงธรรมกายก็ร่อนจากไอ้สิ่งเหล่านี้ทั้งสี่อย่าง กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏาสวะ อวิชชาสวะ กามก็ดี กามก็ได้แก่สิ่งได้ที่เราอยากจะได้มา อะไรก็ตาม อยากจะได้มา มาช่วยทำให้เกิดความสุข อะไรก็ได้ จะเป็นสิ่งที่มีวิญญาณ และไม่มีวิญญาณก็ตาม ได้มา ที่จะทำให้เกิดความสุขได้ชั่วคราวเนี่ยะ ถ้ายังพัวพันไอ้ของชั่วคราวเหล่านี้ ไม่เจอของจริง ไปพระนิพพานไม่ได้

 


                ความเห็นผิดก็เหมือนกัน ภพก็เช่นเดียวกัน ติดอยู่ในภพ ติดอะไร ในภพทั้งสามไปไม่ได้ทั้งนั้น ต้อง จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย อย่างที่กล่าวเอาไว้เบื้องต้น ต้องปลด ต้องปล่อย ต้องวาง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกหมด เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ไม่ได้ให้ความสุขอย่างจริงจังอะไรเลยนะ  พอใจปล่อย มันก็ติดเข้าไปในธรรมกาย ติดที่ศูนย์กลางก่อนในเบื้องต้นเห็นปฐมมรรค และจากนั้นก็ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ มันจะเห็นไปเรื่อย ๆ เห็นกายซ้อน ๆ เป็นชั้น ๆ ๆ กะเทาะเข้าไปเรื่อย ๆ กะเทาะสะเก็ดเห็นเปลือกกะเทาะเปลือกเห็นกระพี้ กะเทาะกระพี้เห็นแก่น แก่นในแก่นเข้าไปเรื่อยเลย เข้าหาฉากหลังในฉากหลังไปเรื่อยเข้าไปในกลางของกลางไปเรื่อยเลย ไปในตัว กลางตัวของกายที่เห็นเข้าไปก็จะร่อนออก เข้ากลางของกลางเข้าไปเรื่อย ไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงกายธรรม ถึงกายธรรมเมื่อไร กายธรรมจะพิจารณาขันธ์ ๕ ทั้งหมด 

 


                กายธรรมต้องเป็นผู้พิจารณาขันธ์ ๕ ว่าไม่ใช่เป็นของเรา ไม่ใช่เป็นตัวเรา เราไม่มีอยู่ในขันธ์ ๕ มันถึงจะร่อนได้ ถ้าขืนเอากายมนุษย์พิจารณาขันธ์ ๕ มันก็ติดอยู่อย่างนั้น มันต้องเอากายที่ออกไปนอกภพแล้ว อยู่ในภพก็ได้นอกภพก็ได้ ไปพิจารณาเห็นคุณเห็นโทษ เห็นสิ่งที่เที่ยงกับเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เห็นจริงเห็นจังกันไปอย่างนั้น ถ้าเห็นอย่างเดียวมันไม่ได้ มันไปไม่รอด พอกายธรรมเห็นอย่างนั้นเข้าก็จะปล่อยไอ้สิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสารไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงอนัตตาเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเราน่ะ 

 


                ปลดปล่อยไปเรื่อยเลย ปล่อยวางหมด ใจก็บริสุทธิ์ พอปล่อยวางแล้วจิตจะกลับเข้าไปสู่ภายใน นั่นธรรมชาติของจิตจะบริสุทธิ์ จะบริสุทธิ์ผุดผ่องกลับเข้าไปฐานที่ตั้ง เมื่อจิตพอกลับเข้าไปฐานที่ตั้งได้ มีความสุข ได้รับความรู้ที่ถูกต้องก็จะแสวงหาความรู้ยิ่งขึ้นไปอีก ว่าบริสุทธิ์ยิ่งกว่านี้มีอีกไม้ สุขยิ่งกว่านี้มีอีกไม้ อะไรเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร สติกับปัญญาตอนนี้จะเป็นมหาสติมหาปัญญา เป็นสติใหญ่ ปัญญาใหญ่กว้างขวางใหญ่โตทีเดียวตอนนี้ ถ้าใครได้เข้าไปถึงจึงจะซาบซึ้งเกี่ยวกับคำว่ามหาสติมหาปัญญาที่มันกว้างขวางอย่างไร 

 


                เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้วจะ พิจารณาร่อนหมดจากขันธ์ทั้ง ๕ พูดย่อขันธ์ทั้ง ๕ ไว้นะ ไม่ได้อธิบายว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอย่างไรน่ะ มันร่อนหมดถ้าสรุปย่อ ๆ ก็คือกายที่ยังอยู่ในภพ สิ่งที่ยังอยู่ในภพทั้ง ๓ กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหมที่ซ้อนอยู่นั่นเรียกขันธ์ ๕ ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง นี้เรียกว่าขันธ์ ๕ ปล่อยหมด พระธรรมกายพิจารณาอย่างนั้น จิตบริสุทธิ์หนักเข้า เข้าโลกุตรฌานสมาบัติไปด้วย จิตบริสุทธิ์ขึ้นสะอาดขึ้น ผ่องใส ตัดขาดจากใจไปจริง ๆ ตัดขาดเหมือนตาลยอดด้วน ถูกฟ้าผ่าตาลยอดด้วน ไม่งอกอีก ต้นตาลไม่เกิดขึ้นมาอีก 

 


                ใจที่จะไปติดอยู่ที่ขันธ์ทั้ง ๕ อุปทานที่เป็นเครื่องยึดผูกพันอยู่ ดับหมด ตัดขาดเหมือนตาลยอดด้วน ไม่มีงอกกันอีกเลยเนี่ยะ เป็นกายธรรมล้วน ๆ อาศัยขันธ์ ๕ เป็นทางผ่าน อาศัยชั่วคราว แต่ว่าใจจริง ๆ แล้วไปติดอยู่ในกายธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวเหมือนรสเปรี้ยวในมะนาว รสหวานในน้ำตาลนะ กลืนกันไปหมดเลย เอิบอาบ ซึมซาบ ปูนเป็น เป็นธรรมกายไปหมด อันหนึ่งอันเดียว ใจใสแจ๋ว ถึงตอนนี้แหละเห็นพระนิพพานเห็นสอุปาทิเสสนิพพาน เห็นอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานตาย นิพพานเป็น เห็นอยู่ในตัวแหละตอนนี้ 

 


                พอเห็นอย่างนี้แล้วล่ะก็จะเห็นพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน มากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้ง ๔ คือมากจนกระทั่งนับกันไม่ไหว มีพระธรรมกายปรากฏ สวยงามยิ่งกว่าธรรมกายที่อยู่ในตัวน่ะ หลายร้อยหลายล้านเท่างามไม่มีที่สิ้นสุด และความสุขก็ไม่มีขอบเขต เป็นความสุขด้วยตัวของตัวเองไม่ต้องอาศัยใครเลย ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอกหรืออะไรทั้งสิ้นมาทำให้เกิดความสุข เพราะจิตร่อนจากความทุกข์แล้ว เสวยสุขเต็มที่ด้วยตัวของตัวเอง เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต นั่นกายธรรมเห็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น อันหนึ่งอันเดียวหมด มีความสุขจริง ๆ


                เกิดกันมาภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็ต้องการเข้าถึงกายธรรมอย่างนี้แหละ นี่คือเป้าหมายของชีวิตน่ะ ส่วนอื่นเป็นแต่เพียงเครื่องอาศัยเราอยู่ในโลก เจออะไรก็ต้องอาศัยกันไป แต่ใจจริงแล้วอาศัยเพื่อที่ เพื่อที่จะได้มีโอกาสฝึกฝนจิตให้เข้าภายในกลางของกลางไปถึงธรรมกาย นี่คือเป้าหมายที่แท้จริง ส่วนอื่นเป็นเครื่องประกอบเท่านั้น จับหลักอันนี้เอาไว้ให้ได้ แล้วเราจะดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาดในโลกนี้ เราจะไม่ติดอยู่ในโลกธรรมแปดประการ ธรรมประจำโลก มีลาภ เสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญ นินทา มีสุขมีทุกข์ และทำให้เรากลุ้มไปด้วยอย่างนั้น แล้วจะไม่หวั่นไหว ใจจะไปติดกายธรรมไปอย่างนั้น แต่ก่อนที่จะถึงกายธรรมต้องเห็นธรรมก่อน 

 


                เห็นธรรมในเบื้องต้นคือเห็นทุกข์ เรามองในโลกนี้เห็นความทุกข์ โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ เห็นแล้วก็จะได้เบื่อหน่ายคลายกำหนัด คลายกำหนัดจะได้ไม่ติดอะไรเลยในโลก แล้วก็หันมาสนใจปฏิบัติธรรม พอจิตรวมถูกส่วนเห็นธรรมขั้นต่อไปอีก คือเห็นดวงปฐมมรรค เห็นตรงนี้แหละจะเห็นตถาคต เห็นพระพุทธเจ้า ถ้าเห็นธรรมเบื้องต้นอันนี้ไม่ได้ ปฐมมรรคไม่ได้ จะเห็นธรรมกายไม่ได้เลย มันยันกันอยู่อย่างนั้น ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นถึงจะเห็นตถาคต เพราะว่าตถาคตคือธรรมกาย นี่หลักมีอยู่อย่างนี้นะ 

 


                    ถ้าเห็นปฐมมรรคได้ล่ะก็ ไม่ช้าจะเข้าถึงกายธรรม เพราะกายธรรมที่แท้จริง จึงเปลี่ยนแปลง พระสิทธัตถราชกุมาร เป็นพระสัพพัญญูพระพุทธเจ้าให้พวกเราได้เคารพกราบไหว้บูชา นี่แหละตัวเราก็จะเปลี่ยนจากปุถุชนก้าวย่างเข้าสู่การเป็นพระอริยบุคคล ก็ด้วยการที่จิตของเราดำาเนินเข้าไปสู่ทางสายกลางภายในตัวของเรา เข้าถึงกายธรรมอันละเอียดอ่อน ก็เปลี่ยนแปลงจากตัวของเราเป็นพระอริยบุคคล คือผู้ที่มีชีวิตอยู่ประเสริฐ รู้เห็นไปตามความเป็นจริงของชีวิต 

 


                กายธรรมนี้มีอยู่หลายระดับ กายธรรมในเบื้องต้นเรียกว่ากายธรรมโคตรภู กายธรรมโคตรภูก็หมายถึงกายธรรมที่พ้นจากการเป็น ปุถุชน แต่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า มันอยู่ระหว่างกึ่งทาง ซึ่งทางระหว่างความเป็นโสดาบันกับความเป็นปุถุชน เหมือนขาข้างหนึ่งอยู่ในภพทั้งสาม อีกข้างหนึ่งอยู่ในอายตนนิพพาน เป็นกายธรรมที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาขันธ์ ๕ จะหลุดดีหรือว่าจะติดดี จะเห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นอะไรว่ามันจริงจังแค่ไหน ก็จะเปรียบเทียบ เปรียบเทียบขันธ์ ๕ ต่าง ๆ ที่อยู่ในภพทั้งสาม มีอะไรที่ดีหรือมีอะไรที่เป็นโทษบ้าง มนุษย์ ตามนุษย์ธรรมดามองไม่เห็น ความรู้ไม่กว้างขวาง เพราะจิตยังคับแคบ ยังขุ่นมัว ยังหงุดหงิด ยังโกรธคนนั้น โกรธคนนี้ล่ะก็ พิจารณาอะไรมันไม่ออก 

 


                พอถึงกายธรรมแล้วมันเห็นชัดเพราะว่าอารมณ์เหล่านั้นมันหมด จิตมันผ่องใสบริสุทธิ์ เห็นอะไรไปตามความเป็นจริงด้วยใจที่เที่ยงธรรม ใจที่ยุติธรรม เที่ยงแท้ เที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้ง ๔ ถ้าจะเอากายมนุษย์พิจารณาละก็มันยังมีอคติครอบงำอยู่ อคติอาจจะด้วยรัก ด้วยหลง ด้วยชอบ อะไรต่าง ๆ ด้วยโกรธด้วยเกลียด ด้วยกลัวน่ะ มันก็จะทำให้ใจเราเอียงไป แต่พอถึงกายธรรมโคตรภูใจไม่เอียง เห็นอะไรไปตามความจริงก็ว่าไปตามความเป็นจริง เห็นว่ากายของขันธ์ ๕ กายมนุษย์เป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่มีตัวตน ไม่เป็นสาระแก่นสาร ก็เห็นชัด เห็นแล้วก็ยอมรับและก็ซาบซึ้งอยู่ในตัว แล้วก็เห็นกายธรรมเอง ที่ละเอียด ๆ ขึ้นไปน่ะ ว่านี่เป็นสิ่งที่คงที่เที่ยงแท้ถาวร เป็นตัวตนของเราที่แท้จริง 

 


                ขันธ์ทั้ง ๕ เนี่ยะก็เหมือนกับหัวโขนที่เราสวมเล่นลิเก ละครกัน เล่นโขนกันไป เมื่อถอดหัวโขนออก ถอดขันธ์ ๕ ออก ถึงกายธรรมน่ะ เข้าถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวตน รู้จักตัวของเราเองแล้ว นี่รู้จักตัวของเรามีเรื่องเล่าให้ฟังในสมัยพุทธกาล ราชกุมาร ๓๐ คน ได้พามเหสีไปเล่นซ่อนหากันอยู่ที่ป่าฝ้าย ราชกุมารพระองค์หนึ่งมีมเหสีกำมะลอ คือไปจ้างหญิงงามเมือง หญิงโสเภณี มาเป็นมเหสีชั่วคราว ก็ไปเล่นซ่อนหากันอยู่ก็ถอดเครื่องประดับฝากมเหสีของตัวแล้วก็ไปเล่นซ่อนหากัน มเหสีกำมะลอได้เครื่องประดับที่เป็นของฝากจากราชกุมารก็คิดในใจว่า เราเอาของฝากอันนี้ เอาของเครื่องประดับนี้ไปขาย จะก็ทำให้เรามีชีวิตสบายไปชาติหนึ่งไม่ต้องมาเป็นโสเภณีอีก ก็หาทางหลบหลีกเอาเครื่องประดับหนีไปเลย 

 


                เมื่อพระราชกุมารเลิกเล่นซ่อนหา กลับมาหามเหสีของตัว องค์ที่มีมเหสีกำมะลอ ไม่เจอมเหสีเสียแล้ว ก็เที่ยวกันควานหากันใหญ่ ติดตามหาเสียดายเครื่องประดับ ไปเจอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งอยู่ใต้โคนไม้ ก็เข้าไปทูลถามว่าพระองค์เห็นหญิงคนหนึ่งหอบเอาเครื่องประดับผ่านมาทางนี้ไม้ ท่านก็ถามว่า ท่านพูดลึกทีเดียวนะ "จะหาหญิงคนนั้นหรือจะหาตัวเอง" นี่ "จะหาหญิงคนนั้นหรือจะหาตัวเอง" คือท่านทรงทราบว่าราชกุมารผู้นี้ไม่รู้จักตัวเองเลย รู้แต่เนื้อหนังอะไรอย่างนั้น รู้จักแต่ตัวปลอมๆ ทั้งนั้น ไปเที่ยวหาตัวปลอมมันจะไปได้เรื่องอะไร ท่านก็ถามว่าจะหาหญิงคน นั้นหรือจะหาตัวเอง 

 


                ราชกุมารเป็นคนมีปัญญา บุญเก่ามาถึงในตอนช่วงนั้นพอดี ก็ตอบว่าจะหาตัวเองดีกว่าพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าบอก เอ้อถ้าหาตัวเองแล้วละก็มา เราจะสอนให้จะแนะให้ อย่างที่กำลังแนะให้อยู่อย่างนี้น่ะ จะหาตัวของตัวเอง ท่านก็สอนไปเรื่อยเลยว่า กายข้างนอกนี่ไม่ใช่ตัวจริงน่ะ มันตัวปลอม เราอย่าไปเสียเวลาไปหาตัวปลอมมันเลย ตัวปลอมมันมีแต่ความระทมทุกข์ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งบัดนี้เนี่ยะ เราคลายความทุกข์ได้ ก็มาเล่นซ่อนหากันอย่างนี้แหละ คลายความทุกข์ไปได้ชั่วคราว มันยังไม่เป็นจริงเป็นจังอะไร มานี่เถอะ เธอแสวงหากลับเข้าไปสู่ภายใน ทำจิตหยุดนิ่งเข้าไปภายในอย่างนี้ ถอดขันธ์เข้าไปตามลำดับ ถึงธรรมกายเมื่อไหร่เห็นตัวของตัวเองเมื่อนั้น มีแต่ความสุขล้วน ไม่มีทุกข์เจือเลย พระราชกุมารก็นั่งฟังไปปฏิบัติไปอย่างนี้ ทำจิตทำใจหยุดนิ่งไม่ประมาทเลย ไม่ช้าก็เข้าถึงตัวเอง พวกเราก็เช่นเดียวกันนะ ตัวจริงของเราที่แท้จริงคือธรรมกายนี้เองไม่ใช่ใครเลย 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01041331688563 Mins