อานิสงส์ของการบูชาข้าวพระ

วันที่ 20 มีค. พ.ศ.2567

200367b01.jpg
อานิสงส์ของการบูชาข้าวพระ
พระธรรมเทศนา เพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)


                ต่อจากนี้ขอเรียนเชิญทุกท่านตั้งใจหลับตาเจริญภาวนากัน สำหรับท่านที่มาอย่างสม่ำเสมอ เข้าใจวิธีการปฏิบัติแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติได้เลย ท่านที่มาใหม่ ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปทุก ๆ คนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิ ขัดสมาธิให้เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุก ๆ คน หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตาอย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ นะ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย เพราะว่าเราจะต้องใช้เวลาต่อจากนี้ไป 6 ชั่วโมงเต็ม สำหรับการเจริญภาวนาและบูชาข้าวพระ

 


                เพราะฉะนั้นต้องขยับท่านั่งให้พอเหมาะพอดี ให้ปลดปล่อยวางจากภารกิจทั้งหลายทั้งมวลให้หมดสิ้นจากใจทําใจของเราให้ปลอดโปร่ง ว่างเปล่าจากภารกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เช่นเรื่องธุรกิจการงานการศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทําใจให้ว่างเปล่าจากความคิดทั้งหลาย ประหนึ่งว่าเราไม่เคยมีความคิดเหล่านั้นมาก่อน คล้าย ๆ กับเราอยู่คนเดียวในโลก ต่อจากนี้ก็ให้ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้สะอาดให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส เพื่อจะได้รองรับบุญใหญ่ที่เกิดจากการบูชาข้าวพระในวันนี้ ใจที่เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ต้องเป็นใจที่ใส ใจที่สะอาด ใจที่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นต้องทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น

 


                วันนี้เป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน เป็นวันที่พวกเราทั้งหลาย ที่มาเป็นประจำสม่ำเสมอ ทราบดีว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในชีวิตของเรา เป็นวันที่เราจะประกอบพิธีบุญใหญ่ คือการนำเครื่องไทยธรรมทั้งหลาย อันมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหารหวานคาว ซึ่งเรานำมาจากที่บ้าน นำมากลั่นให้ใสสะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ละเอียดอ่อน ด้วยธรรมกายแล้วก็น้อมนำเครื่องไทยธรรมที่ละเอียดนั้นไปถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน การทำอย่างนี้ เราท่านทั้งหลายเรียกกันว่า บูชาข้าวพระ ซึ่งเป็นประเพณีที่เราได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานหลายสิบปีแล้ว การบูชาข้าวพระนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะว่าผู้ทำนั้นจะต้องเข้าถึงธรรมกาย จนกระทั่งศึกษาวิชชาธรรมกาย ให้คล่องให้แตกฉาน จึงจะสามารถนำเครื่องไทยธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นของหยาบเหล่านี้ กลั่นให้เป็นของละเอียด แล้วไปถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้า

 


                 การที่จะศึกษาวิชชาธรรมกายนี้ จะต้องได้ธรรมกายซะก่อน ธรรมกายซึ่งเป็นกายตรัสรู้ธรรม ซ้อนอยู่ภายในกายของเรา เราจะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกายนี้เสียก่อน จึงจะศึกษาวิชชาธรรมกายได้ ซึ่งในขณะนี้ก็มีแต่คุณยายอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ของพวกเราทั้งหลาย ท่านได้ศึกษาวิชชาธรรมกายมาอย่างคล่องแคล่วชำนาญ จากหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี เป็นเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งมีความชำนาญ เมื่อท่านมีความชำนาญอย่างนี้ ท่านก็สามารถที่จะนำเครื่องไทยธรรมทั้งหลายดังกล่าวแล้ว ไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้าได้

 


                อานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการบูชาข้าวพระนี้เป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ไพศาล เพราะว่าถูกตัวจริงของพระพุทธเจ้า ไปถวายถูกตัวจริงของพระพุทธเจ้า สิ่งที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าก็คือธรรมกายนั่นเอง ธรรมกายคือตัวพระพุทธเจ้า เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด รู้รอบตัวเห็นได้รอบตัว ใจท่านหลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะ อาสวะไม่มีเข้าไปเจือปน ในธรรมธาตุของธรรมกายนั้นบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นความทุกข์ทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้น มีแต่สุขอย่างเดียว ที่เรียกว่าบรมสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง สุขที่ไม่มีอะไรที่จะมาเปรียบปานได้ธรรมกายนี่แหละ คือพระพุทธเจ้านั่นเอง สมดังที่พระพุทธเจ้า พระสมณโคดมพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเอาไว้ 

 


                ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ เราคือธรรมกาย คำว่า พุทธเจ้า กับธรรมกายนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คำว่า พุทโธ หรือพระพุทธเจ้านี้เป็น เนมิตตกนาม ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการบังเกิดขึ้นของพระธรรมกาย เมื่อพระธรรมกายบังเกิดขึ้นในกายของพระสิทธัตถะ ในกายของพระสมณะโคดม แล้วก็เป็นเหตุให้ท่านรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด หลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะ ใจท่านเบิกบานมีความสุข เพราะเข้าถึงบรมสุข คำว่าพุทโธ จึงได้บังเกิดขึ้นในตอนนั้น เพราะฉะนั้นการบูชาข้าวพระนี้ จึงถูกตัวจริงของพระพุทธเจ้า คือถูกธรรมกายนั่นเอง และไม่ใช่องค์เดียว หลายๆ องค์เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านองค์ กระทั่งนับพระองค์ไม่ถ้วน ที่เรียกว่าเป็นอสงไขย แปลว่านับไม่ได้ มากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้งหลาย แค่การถวายแด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ก็จะส่งผลให้เราสมบูรณ์ด้วย รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน 

 


                แต่นี่ถวายถูกธรรมกายของพระพุทธเจ้า นับพระองค์ไม่ถ้วน บุญนั้นจะขนาดไหน นี่จึงเป็นอจิณไตย เป็นสิ่งที่เราเมื่อยังเข้าถึงธรรมกายไม่ได้เนี่ย คิดไม่ออก ถ้าไปมัวคิดค้นเอาเอา นึกเอาเนี่ย เราก็นึกเท่าไหร่มันก็นึกไม่ออก จะพลอยให้เราเป็นโรคประสาท หรือเกิดความเครียดขึ้น เราจะทราบว่าบุญนี้น่ะ มีอานิสงส์มากแค่ไหน ได้มากแค่ไหนนั้น ต่อเมื่อเราได้เข้าถึงธรรมกายภายใน เมื่อเราได้เข้าถึงธรรมกายของเราแล้ว พระธรรมกายนั่นแหละอาศัยธรรมจักขุของท่าน มองเห็น ว่ากระแสแห่งบุญที่เกิดขึ้นจากการบูชาข้าวพระนั้นน่ะ มันมากขนาดไหน และก็หยั่งรู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย ว่าได้ปริมาณขนาดนั้นแล้ว จะส่งผลต่อไปในอนาคตน่ะ ยิ่งใหญ่ไพศาลขนาดไหน ก็มองเห็นและก็หยั่งรู้เป็นเรื่องเป็นราวไป 

 


                เพราะฉะนั้นธรรมกายนี้จึงเป็นตัวหลักที่สำคัญทีเดียว ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เราเรียกว่าวิชชาธรรมกาย เป็นวิชชาของพระธรรมกาย เป็นวิชชาของพระพุทธเจ้า คำว่าวิชชานั้นแปลว่า ความรู้ที่เกิดจากการเห็นแจ้ง เพราะฉะนั้นเวลาเค้าเขียน ๆ ช ช้าง สองตัวติดกัน ต่างจากคำว่าวิชาในทางโลก วิชชานั้นเป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็นแจ้ง ที่เราเรียกว่า ตรัสรู้ คือเห็นแจ้งด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกาย และก็รู้แจ้งด้วยญาณของท่าน ที่เรียกว่าวิชชาธรรมกาย หยั่งรู้เห็นแจ้งแทงตลอด นี่แหละเมื่อเราเข้าถึงธรรมกาย เราจะทราบ ทราบผลของการทำบุญในวันนี้ว่าจะมีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาลขนาดไหน ก็มองด้วยธรรมกายนั้นน่ะ แล้วจะพบว่าต่อจากนี้เป็นต้นไป ถ้าหากเราได้บูชาข้าวพระนี้อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งหมดอายุขัย มารักษาศีลและก็เจริญภาวนา หนทางที่เราจะเดินไปสู่อายตนนิพพานนั้น จะเป็นหนทางที่ราบเรียบ เราจะสร้างบารมีได้สะดวกสบาย จะท่องเที่ยวอยู่แค่ ๒ ภูมิ คือภูมิของมนุษย์ และภูมิของเทวโลก 

 


                มนุษย์โลกและเทวโลก ภูมิของสุคติ คือหมดบุญจากสวรรค์ ก็จุติมาสร้างบารมีในเมืองมนุษย์ กระแสแห่งบุญคุ้มครองให้ทำความดีไปตลอด ก็จะส่งผลให้อยู่ในเมืองมนุษย์นั้นก็มีสุข สมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และในที่สุดก็บรรลุมรรคผลนิพพาน เข้าสู่อายตนนิพพาน จะเป็นผู้สมบูรณ์ในอภิญญา มีตาทิพย์ มีหูทิพย์ ระลึกชาติได้ มีฤทธิ์ทางใจ แสดงฤทธิ์ได้ ทำอาสวะให้สิ้นได้ และยังได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือแทงตลอดทั้งทางโลกและทางธรรม มีปฏิภาณไหวพริบ เชี่ยวชาญแตกฉาน ในภาษาทั้งหลายในโลก ไม่ว่าเป็นภาษามนุษย์ หรือสัตว์ทั้งหลาย นี่กระแสแห่งบุญนี้ จะส่งผลให้เราสมบูรณ์ได้อย่างนี้ 

 


                วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ จตุปฏิสัมภิทาญาณ ๔ แล้วก็สั่งสมให้มากเข้า แล้วก็จะได้คุณสมบัติเพิ่ม คือ จรณะ ๑๕ เป็นคุณสมบัติของมหาบุรุษ เพราะฉะนั้นกระแสแห่งบุญที่เราจะบำเพ็ญในวันนี้ จึงยิ่งใหญ่ไพศาลนัก ให้ทุกท่านตระหนักเห็นคุณค่าของการบูชาข้าวพระให้ดีเมื่อเราทราบอย่างนี้ ต่อจากนี้เป็นต้นไป จะสอนวิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย สำหรับท่านที่มาใหม่ ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ คือสร้างมโนภาพขึ้นมา กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา กำหนดบริกรรมนิมิตคือสร้างมโนภาพขึ้นนะ  นึกขึ้นมาเบา ๆ ว่ามีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ท่านหญิงนำมาไว้ที่ปากช่องจมูกซ้าย ท่านชายนำมาไว้ที่ปากช่องจมูกข้างขวา 

 


                กำหนดดวงแก้วให้ดีนะจ๊ะ คือนึกสร้างขึ้นมา ว่ามีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ท่านหญิงกำหนดขึ้นที่ช่องจมูกข้างซ้าย ท่านชายอยู่ที่ปากช่องจมูกข้างขวา ให้ใจเราตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส บริสุทธิ์ นึกตามไปช้า ๆ นะจ๊ะ นึกตามไปว่าปากช่องจมูกของเราน่ะ ข้างซ้ายก็ดีข้างขวาก็ดี ของท่านหญิงข้างซ้ายของท่านชายข้างขวานะ มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว ไม่มีขีด ไม่มีข่วน ไม่มีรอยตำหนิ กลมรอบตัว กลมรอบตัว ใสเหมือนเพชรอยู่ที่ปากช่องจมูก ใจเราตรึกนึกถึงความใส ความใสของเพชรนะ หยุดไปที่จุดกึ่งกลางความใส คือเอาใจไปวางไว้ที่จุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ที่ใสบริสุทธิ์เหมือนกับเพชรที่ปากช่องจมูก นึกเบา ๆ นะจ๊ะ 

 


                นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง นึกเบา ๆ สบาย ๆ และก็ทำใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ประคองภาพนิมิตที่อยู่ปากช่องจมูก พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๓ ครั้ง แล้วก็ค่อย ๆ เลื่อนบริกรรมนิมิตเข้าไปในปากช่องจมูก มาหยุดอยู่ที่หัวตา ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา ตรงหัวตานะจ๊ะ ใจก็ยังตรึกนึกถึงความใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส บริสุทธิ์ ใจไปวางไว้ที่จุดกึ่งกลางของความใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางนะจ๊ะ พร้อมกับภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้ครบ ๓ ครั้ง ก็เลื่อนบริกรรมนิมิตต่อไป ช้อนตาเหลือกค้างขึ้นไป ให้ภาพนิมิตตามเข้าไปด้วย ไปหยุดที่กลางถูกศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา หยุดที่กลางถูกศีรษะในระดับเดียวกับหัวตา ให้ได้กึ่งกลางถูกศีรษะเลยนะจ๊ะ ใจก็ยังหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส และก็ตรึกนึกถึงความใส คือนึกถึงภาพเพชรนั่นเอง กลมรอบตัวนะ ให้ใส อย่าให้คลาดเคลื่อนนะ 

 


                พร้อมกับภาวนาในใจสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้ครบ ๓ ครั้ง ก็เลื่อนบริกรรมนิมิต ต่อลงมามาที่เพดานปาก ซึ่งเป็นฐานที่ ๔ เพดานปากช่องปากที่อาหารสำลัก เพดานปากนะจ๊ะ อย่าให้คลาดจากความใส ใจตรึกนึกถึงความใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางงความใสบริสุทธิ์ อย่าให้คลาดนะจ๊ะ จากความใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้ครบ ๓ ครั้งนะจ๊ะ ค่อย ๆ ๆ ๆ เลื่อนบริกรรมนิมิตลงมาช้า ๆ มาที่ฐานที่ ๕ อยู่ตรงปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก สมมติว่า ปากช่องคอเราเหมือนปากถ้วยแก้ว บริกรรมนิมิตก็จะหยุดตรงกึ่งกลางพอดี ใจอย่าให้คลาดจากความใสเหมือนเพชรน่ะ แล้ววางไปที่จุดกึ่งกลางของความใส ประคองให้ดีนะจ๊ะ 

 

        
                พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ สัมมาอะระหัง ๓ ครั้งนะ พอครบ ๓ ครั้งก็เลื่อนลงมาช้า ๆ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ประคองลงมาอย่างสบาย ๆ มาหยุดอยู่กึ่งกลางกายในระดับเดียวกับสะดือ มาหยุดอยู่ที่จุดกึ่งกลางกายในระดับเดียวกับสะดือ ซึ่งเราเรียกว่าฐานที่ ๖ สมมติว่าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือ ทะลุไปข้างหลังเส้นหนึ่ง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดตรงนี้และเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ บริกรรมนิมิตจะต้องมาอยู่ที่ตรงนี้ แล้วก็ประคองให้มาหยุดนิ่งเบา ๆ นะจ๊ะ วางเบา ๆ วางพอสบาย ๆ เป็นดวงแก้วที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูก ที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา อย่าให้คลาดจากสายตานะจ๊ะ 

 


                อย่าให้คลาดจากใจ วางเบา ๆ ตรึกเบา ๆ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๓ ครั้ง ก็เลื่อนถอยหลัง ยกขึ้นมาเหนือจุดตัดนั้นขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือโดยประมาณนะจ๊ะ ให้บริกรรมนิมิตไปหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้ ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๗  ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หลวงพ่อหมายถึง เอ๊ย เรียก ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้นะจ๊ะ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้าย เป็นฐานที่ตั้งของใจ ต่อจากนี้เราไม่ต้องเลื่อนไปที่ไหนอีก ให้เอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้  

 


                   หยุดอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางความใส บริสุทธิ์ คือนึกถึงความใสตลอดเวลา นึกถึงเพชรลูกตลอดเวลา ที่กลมรอบตัว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ตลอดเวลา อย่าให้คลาดจากใจ ถ้ามันแว็บไปคิดเรื่องอื่น ที่เราคุ้นเคยนะ ก็ให้ภาวนากำกับเอาไว้ ภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ จะกี่ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ก็ภาวนาไป ภาวนาไปจนกว่าใจจะหยุดภาวนา ใจหยุดภาวนาคือใจหยุดนิ่ง พอใจหยุดนิ่ง เราก็จะเห็นดวงใส บริสุทธิ์ อยู่กลางตัว ตรงฐานที่ ๗ แล้วคำภาวนานั้นก็ค่อย ๆ เลื่อนออกจากใจไป เลื่อนไปจนกระทั่งเหมือนเราลืมไปเลย ลืมภาวนาไป เหลือแต่ใจที่ใสบริสุทธิ์ หยุดนิ่ง อยู่ที่กึ่งกลางกายฐานที่ ๗ 

 


                เมื่อเราลืมภาวนาไปอย่างนี้ แสดงว่าใจของเราน่ะ ไม่อยากจะภาวนาต่อไป คำภาวนานั้นหมดความจำเป็นแล้วน่ะ ก็ให้ประคองรักษา ใจที่หยุดนิ่งอยู่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ กลางดวงแก้ว กลางเพชรลูก อันนั้นเอาไว้นะจ๊ะ ให้มั่นคง ให้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะนั่ง นอน ยืน เดิน ก็ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดที่จุดกึ่งกลางของความใส อย่างนี้แหละ ตรึกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งความชำนาญเกิดขึ้น ดวงใสที่หยุดนิ่ง แน่นสนิท กับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดวงนี้แหละเรียกว่า ปฐมมรรค เป็นจุดเริ่มต้น ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ที่จะเข้าถึงธรรมกายได้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องฝึกให้ใจหยุดใจนิ่ง อยู่ที่ตรงนี้นะ 

 


                กระทั่งดวงใสบริสุทธิ์ ปรากฏเกิดขึ้นมา ก็รักษาไว้ให้มั่นคง ให้ติดอยู่ในใจเราตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเวลา ติดอยู่ที่ตรงนี้เลย ใจตรึกอยู่ตรงนี้เรื่อย ๆ จะนั่ง นอนยืน เดิน หรือจะทำภารกิจอะไรก็ตาม ก็ตรึกเอาไว้อยู่ที่ตรงนี้ จะอาบน้ำอาบท่า เข้าห้องน้ำห้องส้วม ก็ตรึกไว้ตรงนี้ จะขึ้นรถ ลงเรือ ไปไหนมาไหน ก็ตรึกเอาไว้ตรงนี้ ดวงนี้แหละสำคัญ ดวงปฐมมรรค นี่เป็นมหัคตกุศล เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้เราบรรลุมรรคผลนิพพานได้ จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ก็จะต้องอาศัยตรงนี้แหละ

 


                ใจตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส เนี่ยหยุดให้ได้ตรงนี้ซะก่อนนะจ๊ะ เมื่อได้ตรงนี้แล้ว เราถึงจะเรียนรู้กันต่อไป ถ้ายังไม่ได้ตรงนี้ เรียนรู้กันต่อไปก็ไม่เข้าใจ จะต้องฝึกตรงนี้ให้ได้ สำหรับท่านที่มาใหม่ต้องทำอย่างนี้นะจ๊ะ ทีนี้ในคราวปฏิบัติต่อ ๆ ไป เมื่อเราอยู่ที่บ้าน เราไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากปากช่องจมูกก็ได้ให้เอาใจมาวางไว้ที่ฐานที่ ๗ นี่ได้เลย ตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเวลาน่ะ ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางความใสนะ หยุดอยู่ที่ตรงนี้ สำหรับท่านที่เริ่มฝึกฝนใหม่ ๆ ยังไม่คุ้นเคยกับการนึกถึงดวงแก้วใส ๆ เราอาจจะนึกได้ไม่ง่ายนัก ไม่ชัดเจน ก็ขออย่าได้กังวลใจนะจ๊ะ 

 


                ภาพนิมิตที่เกิดขึ้นทางใจนั้นน่ะ มันจะค่อย ๆ ชัด ค่อย ๆ บังเกิดขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย คล้าย ๆ กับเราเอาของวางไว้ในที่ไกล ๆ น่ะ มองเห็นก็ไม่ชัดเจน จนกว่าเราค่อย ๆ เลื่อนของที่ไกล ๆ นั้น ให้เข้ามาใกล้ ๆ ตัวของเรา เราก็จะค่อย ๆ เห็นชัดขึ้น ภาพทางใจก็เช่นเดียวกัน ภาพที่เราไม่คุ้นเคยนี่ นึกใหม่ ๆ เราก็นึกได้ยาก แต่ถ้าหากเราทำใจให้สบาย ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ นึก ภาพนั้นก็จะค่อย ๆ ชัดเจนเหมือนดึงของที่ไกลให้เข้ามาสู่ที่ใกล้ มันก็จะค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น ดังนั้นอย่าไปหงุดหงิดใจนะจ๊ะ 

 


                 ในกรณีที่เราเริ่มต้นใหม่ ๆ นั้นน่ะ ยังไม่สมหวัง ยังไม่ได้ดังใจ เราต้องทำใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ฝึกฝนไปซะก่อน เพราะว่าดวงแก้วนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ในการนึกถึง ดังนั้นการที่เราจะนึกให้อยู่ที่กลางตัว นึกให้ชัดเจนนี้ผลมันจะค่อยๆ เกิด มันไม่ใช่ปั๊บปั๊บเกิดขึ้นได้เลย ยกเว้นบางท่านที่มีบุญเก่าเคยสั่งสมเคยฝึกฝนมาหลายภพหลายชาติ พอแนะนิดเดียวก็นึกได้เพราะทำเป็น นั่นเค้าทำเป็นมาแล้ว แต่ถ้าหากเรายังทำไม่เป็นก็ฝึกฝนเอา เราไม่มีพรสวรรค์ เราก็หาพรแสวงเอา คือแสวงค่อย ๆ ฝึกไป แล้วฝึกฝนใหม่ ๆ อาจจะมีความคิดอื่นแทรกเข้ามาในใจบ้าง เป็นความคิดที่เราคุ้นเคย เรื่องบ้านเรื่องช่อง ธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น มันอาจจะผ่านแว๊บเข้ามาในใจ ก็อย่าไปรำคาญมัน อย่าไปหงุดหงิดมัน ยอมอนุญาตให้มันฟุ้งได้บ้าง  

 


                ในขณะที่เราเริ่มฝึกหัดใหม่ ๆ เมื่อมันฟุ้งเกิดขึ้นมา แว็บไปคิดเรื่องที่เราไม่ต้องการ ก็ภาวนาสัมมาอะระหัง กำกับไว้ จะกี่ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ก็แล้วแต่ ภาวนาไปจนกว่าความคิดอื่นไม่มี เหลือแต่ดวงแก้วอย่างเดียว นั่นแหละจึงจะหยุดภาวนา สำหรับท่านที่มาใหม่ให้เข้าใจอย่างนี้นะจ๊ะ ท่านที่เข้าถึงปฐมมรรคแล้ว ก็เอาใจหยุดไป ที่จุดกึ่งกลางของปฐมมรรค ปฐมมรรคที่กลมรอบตัว ใส บริสุทธิ์ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน เอาใจตรึกไปตรงนั้นนะ 

 


                หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของปฐมมรรค ที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เห็นตัวเองนั่งขัดสมาธิ หันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา ก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียด ที่เข้าถึงกายทิพย์ กายของสุคติภูมินะ กายทิพย์ ก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของกายทิพย์ ที่เข้าถึงกายรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของกายรูปพรหม ที่เข้าถึงกายอรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของกายอรูปพรหม ท่านที่เข้าถึงกายธรรม ก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางฐานที่ ๗ ของกายธรรม 

 


                กายธรรมที่ลักษณะสวยงามมาก งามกว่ากายของมนุษย์เทวดาพรหม อรูปพรหม คล้าย ๆ พระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใส บริสุทธิ์ เป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ เอาใจไปหยุดอยู่ที่ตรงนั้นนะ หยุดในหยุด ๆ ตรึกในตรึกลงไปเลย ตรึกลงไปในแต่ละกายที่ท่านเข้าถึงกันน่ะ หยุดลงไป ตรึกลงไป ให้ใจใสบริสุทธิ์ ที่ยังไม่ชัดกัน ก็นึกให้ชัดในชัด ๆ ที่ยังไม่ใส ก็นึกให้ใสในใส ๆ ยังไม่สว่างก็นึกให้สว่างในสว่าง ให้ชัดใสสว่าง ที่เข้ากลางได้ก็ปล่อยใจเข้ากลางไปเรื่อย ๆ ที่เข้ากลางของกลางได้น่ะ เข้าถึงกายธรรมและเข้ากลางของกลางได้น่ะ ก็กลางของกลางลงไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นกายธรรมในกายธรรมน่ะผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ลอยขึ้นมาเรื่อย ๆ ในกลางนั้น แล้วก็ปล่อยใจเข้าไปเรื่อย ๆ กลางของกลาง ๆ ไปเรื่อย ๆ เลย อย่างสบาย ๆ 

 


                ที่ยังเข้ากลางไม่ได้ก็หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งเอาไว้ จนกว่าใจจะละเอียดอ่อน พอใจละเอียดอ่อนมันก็จะเลื่อนลงไป มันก็หลุดลงไปเลยในกลางนั้นน่ะ เป็นปล่องเป็นช่องไปเรื่อยเลย ในกลางของกลางไปเรื่อย ๆ ท่านที่จะเข้าใจคำว่ากลางของกลางได้ ต่อเมื่อใจละเอียดอ่อน แล้วมันเลื่อนลงไป มันไม่ใช่เป็นคำที่เราภาวนา แค่กระดิกจิตนิดเดียวมันก็เลื่อนลงไปเลย กลางของกลางลงไปแว๊บเดียวลงไปเลย ธรรมกายในธรรมกายก็ปรากฏขึ้นมาแทนที่ละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ พระพุทธเจ้าท่านก็เดินแนวนี้แหละ ท่านเข้ากลางของกลางเข้าไปเรื่อย ๆ แต่อาศัยธรรมกายเข้ากลางไป ไปตามลำดับ ตอนที่ท่านจะปรินิพพานน่ะ ก่อนที่จะดับขันธปรินิพพาน ท่านเข้ากายเหล่านี้แหละไปเรื่อย ๆ เลย 

 


                พระอนุรุทธ มองเห็น มองไปในกลางตัวนั่นก็เห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเข้ากลางของกลางเข้าไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น ดับหยาบไปหาละเอียดไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งธรรมกายละเอียด ธรรมกายละเอียดอ่อนนุ่มนวลอายตนะตรงกับอายตนนิพพาน ก็เข้าสู่อายตนนิพพานเลย อนุปาทิเสสนิพพานเข้าไปเลย อายตนนิพพาน ก็ดึงดูดเข้าไป ท่านเข้าไปอย่างนี้แหละ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจปฏิบัติ ทำจิตทำใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้ใส ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ เมื่อใจเราสะอาด บริสุทธิ์ ดีแล้ว จะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศล เราจะได้ประกอบพิธีบูชาข้าวพระกันต่อไป ตอนนี้ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ ตรึกนึกถึงคางใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางความใส พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031186366081238 Mins