รัตนะทั้งสาม

วันที่ 02 เมย. พ.ศ.2567

020467b01.jpg
 

รัตนะทั้งสาม
๖ ตุลาคม ๒๕๕๓๔
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
 โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ให้ทุกคนตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพานให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา ให้หลับพอสบาย ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับนะจ๊ะทุก ๆ คน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี อย่าให้ตัวยืดเกินไป อย่างอมาข้างหน้า อย่าหงายไปข้างหลัง หรือเอียงไปข้าง ๆ ขยับตัวให้พอเหมาะพอดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย เพราะว่าเราจะต้องใช้เวลาต่อจากนี้ไป ๑ ชั่วโมงเต็มสำหรับการทำสมาธิภาวนา เมื่อเราหลับตาของเราเบา ๆ พอสบายดีแล้ว ขยับเนื้อขยับตัวให้เลือดลมของเราเดินได้สะดวกดีแล้ว 

 


                ต่อจากนี้ ก็มาเป็นเรื่องของจิตใจ ใจที่เหมาะสมต่อการเข้าถึงธรรมนั้น จะต้องเป็นใจที่เป็นกลาง ๆ เป็นใจที่ต้องไม่ผูกพันกับสิ่งอะไรทั้งสิ้นในโลก จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ หรือเป็นเหตุการณ์เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งหมด ที่ผ่านมาแล้วในอดีต หรือที่ยังมาไม่ถึงในอนาคต เราจะต้องไม่ผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม เหตุการณ์อะไรต่าง ๆ ก็ตาม ต้องไม่ไปผูกพันกับมัน โดยนึกถึงหลักของความเป็นจริง ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ ว่าสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อมันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็เสื่อมสลาย มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่คงทนอยู่ในสภาพเดิม แล้วก็ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ เป็นสิ่งที่รักหรือไม่รักก็ตามก็จะเป็นอย่างนี้ 

 


                แม้สภาพของร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายเนี่ยให้นึกถึงความเป็นจริงว่าชีวิตมีเพียงแค่นี้แหละ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ไปตามความเป็นจริง ใจเราก็จะได้ทิ้งสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ไม่ผูกพัน ไม่ยึดมั่นถือมั่น ให้คิดแต่เพียงว่าเป็นเครื่องอาศัยชั่วครั้งชั่วคราว จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ ตึกรามบ้านช่อง อาชีพการงานอะไรก็แล้วแต่ ชั่วคราวทั้งนั้น ร่างกายนี้ก็อาศัยชั่วคราว พิจารณาไปตามความเป็นจริงอย่างนี้ แล้วจะทำให้ใจของเรานี้เป็นกลาง ๆ ไม่ยึดมั่น ถือมั่นอะไรทั้งสิ้น เป็นกลาง ๆ ใจเป็นกลาง ๆ นี่แหละเป็นใจที่เหมาะสม ที่จะเข้าถึงธรรมนี่เป็นจุดเบื้องต้นที่ผู้มาใหม่จะต้องทำความเข้าใจให้ดี อย่าดูเบาไปทุกขั้นตอนนะจ๊ะ 

 


                สำคัญไปทุกขั้นตอนเลย ตั้งแต่ปรับท่านั่ง หลับตา แล้วก็ทำใจ ให้ใจมีสภาพเป็นกลาง ๆ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายไม่มีความกำหนัดยินดีอะไรทั้งสิ้น ไม่ผูกโกรธไม่ให้ใจเราขัดเคืองอะไร ให้ใจเป็นกลางๆ เอาความนึกคิดสงสัยลังเลอะไรต่าง ๆ ตอนนี้ก็อย่าให้มันเกิดขึ้น ทำจิตใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น อย่าให้มันงัวเงีย อย่าให้มันหดหู ให้ทำใจเป็นกลาง ๆ สัก ๑ หรือ ๒ นาที คล้าย ๆ กับเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่ผูกพันกับอะไรทั้งสิ้น เมื่อใจเป็นกลาง ๆ แล้ว ก็หัดทำใจให้สบาย ๆ ใจจะสบายได้ เราก็จะต้องนึกถึงเรื่องที่ทำให้เราสบาย เช่นเรื่องของความดี เรื่องของบุญกุศล 

 


                เมื่อสักครู่นี้เราได้สวดมนต์ บูชาพระรัตนตรัย ระลึกนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เราได้ขอสมาลาโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เราได้เคยพลั้งพลาดด้วยกาย วาจา ใจ มานับภพนับชาติไม่ถ้วน เอาเป็นว่าตั้งแต่เวียนว่ายตายเกิดมา เคยพลาดพลั้งล่วงเกินเท่าไหร่นะ ขออโหสิหมด ใจเราจะได้สบาย เมื่อใจสบายแล้วเราก็นึกถึงคุณงามความดีของเรา ทานบารมี การให้ เราได้บริจาคทำทานอะไรไว้บ้าง เราก็นึกถึงการให้ของเรา การให้ที่เรานึกได้ง่าย ๆ ให้ข้าว ให้น้ำ ให้เสื้อให้ผ้า ที่อยู่อาศัย ยวดยานพาหนะ ประทีปโคมไฟหรืออะไรที่นอกเหนือจากนี้ที่เราให้ไปนะ 

 


                กระทั่งความปรารถนาดีที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้วิทยาทาน ให้คำแนะนำที่ดีหลาย ๆ อย่าง เป็นการให้ หรือเรื่องกฐินผ้าป่าสงเคราะห์โลกอะไรเหล่านั้น นึกแล้วให้ใจชุ่มชื่น สบายนะ เป็นทานบารมีของเรา กระทั่งแก่กล้ามากเข้า ให้เลือดบริจาคโลหิตนั้นนะเป็นทาน หรือแม้กระทั่งให้อวัยวะให้ชีวิต กี่ภพกี่ชาติมา เรานึกถึงความดีเหล่านั้น ใจจะได้ชุ่มต่อความดีเกี่ยวกับเรื่องทานบารมี ศีลก็เช่นเดียวกันรักษาได้บริสุทธิ์บริบูรณ์แค่ไหน ที่ทำให้ใจเราเป็นปกติเป็นกลาง ๆ ได้ เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ที่เป็นความดีของเรา ศีลแปดนี่ก็เป็นเนกขัมมะชั่วคราว ที่ทำให้ใจเราพรากจากความยินดีในรูป ในเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์อะไรเหล่านั้น 

 


                ปัญญาบารมีคือความรู้แจ้ง ความรอบรู้ของเรา ที่เราจะละชั่ว ทำแต่สิ่งที่ดี ๆ ทำใจของเราให้ผ่องใส เป็นปัญญาบารมีนะ ที่ทำแต่คุณงามความดีมาตลอด ด้วยความเพียรคือวิริยะบารมี ด้วยขันติความอดทน ด้วยสัจจะความตั้งใจจริง ด้วยเป้าหมายที่แน่วแน่คืออธิษฐานบารมี ด้วยใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมตตาบารมี รวมกระทั่งเป็นกลาง ๆ เป็นกลาง ๆ เบิกบาน แช่มชื่นอยู่ตลอดเวลาที่สร้างความดีเป็นอุเบกขาบารมี ๑๐ ทัศทั้งหมดเลย นึกถึงแล้วให้ใจเราชุ่ม ให้ใจเราชุ่มชื่นเบิกบาน นี่คือวิธีการเตรียมตัวเตรียมใจที่จะเข้าถึงธรรม คือร่างกายต้องสบาย จิตใจต้องเบิกบานผ่องใส เมื่อเราผ่องใสดีแล้ว คราวนี้เราก็มานึกถึง สรณะที่พึ่งที่ระลึก อะไรคือที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของมนุษย์ทั้งหลาย 

 


                สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของมนุษย์นั้น จะต้องหลุดพ้นจากไตรลักษณ์ เข้าถึงความเป็นนิจจังเป็นสุขขัง เป็นอัตตา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีสุขล้วน ๆ ไม่มีทุกข์เจือเลย เป็นตัวของตัวเอง มีสติ มีปัญญาสมบูรณ์หมด เข้าถึงความสุขที่แท้จริง รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดหมด รู้รอบตัวเห็นได้รอบตัว พ้นจากกิเลส พ้นจากอาสวะ เป็นอิสระจากกิเลสอาสวะ พญามารครอบงำไม่ได้ เวลาเรามีทุกข์เราไปขอพึ่งท่านได้ ท่านก็ช่วยเราได้ให้พ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นโรค พ้นภัย พ้นจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ขัดข้องในการดำเนินชีวิต เกิดปัญหาชีวิตติดขัดท่านช่วยได้ ช่วยให้เราเข้าถึงความสุขที่แท้จริง คือสามารถบำบัดทุกข์ บำรุงสุขได้ นั่นแหละคือสรณะ 

 


                ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้รู้ ผู้เห็น ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว รู้แจ้ง เห็นแจ้งแทงตลอด ท่านค้นพบว่า ที่พึ่งที่ระลึกนั้นคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ในตัวของท่าน ท่านเข้าถึงพุทธรัตนะ คือพระแก้วใส ความรู้เกิดมาจากพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ คือสิ่งที่รักษาพุทธรัตนะเอาไว้ สังฆรัตนะคือสิ่งที่อยู่ในไส้กลางของธรรมรัตนะ รักษาธรรมรัตนะต่อมา ทั้งสามอย่างนี้อยู่ในกลางกายของตัวเรา นี่คือสิ่งที่เราจะต้องพึงระลึกถึงระลึกแค่ไหน ระลึกตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งเข้านอน ใจต้องนึกถึง อย่างไรเรียกว่าระลึก นึกถึงตลอดเวลา เรียกว่าระลึก นึกถึงพุทธรัตนะ นึกถึงธรรมรัตนะ นึกถึงสังฆรัตนะ 

 


                พุทธรัตนะพระแก้วใส บริสุทธิ์ อยู่ตรงไหน ธรรมรัตนะใส บริสุทธิ์อยู่ตรงไหน สังฆรัตนะใส บริสุทธิ์อยู่ตรงไหน ต้องสอดส่องใจไปนึกอย่างนั้น นึกคิดอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่านึกถึงสรณะ นึกถึงที่พึ่ง นึกถึงที่ระลึก รัตนะทั้งสามนั้นอยู่ในกลางกายของเรานี่เอง ไม่ได้อยู่ที่ไหน กลางกายนั้นกำหนดได้ดังนี้ สมมติเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปข้างหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท ยกถอยหลังสูงขึ้นมาสองนิ้วมือ โดยประมาณเรียกว่าฐานที่ ๗ นี่แหละเป็นที่สิงสถิตของรัตนะทั้งสาม คือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้อยู่ที่ตรงนี้ จะระลึกถึงท่านต้องระลึกให้ถูกที่ถูกทาง ถูกที่ตั้งของท่านจึงจะถูกตัวจริงและจึงจะเข้าถึงได้ 

 


                 เพราะฉะนั้นในวันนี้ ท่านที่มาใหม่จะต้องส่งใจไประลึกถึงรัตนะทั้งสามที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้เท่านั้นทีเดียว จึงจะเรียกว่า มีรัตนะทั้งสามเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก นึกอย่างนี้แล้วเราจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย มีทุกข์ท่านก็ช่วยเราให้พ้นทุกข์ได้ มีโศกก็ให้พ้นโศกได้ มีโรคให้พ้นโรคได้ มีภัยก็ให้พ้นภัยได้ ทั้งสามอยู่ที่ตรงนี้นะจ๊ะ นี่คือที่พึ่งที่ระลึกของมนุษย์ทั้งหลายในโลก ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้ว ที่พึ่งที่ระลึกมีที่เดียว แต่เนื่องจากมนุษย์ทั้งหลายไม่รู้จักที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง จึงแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกที่ไม่แท้จริง เช่น ต้นไม้มั่ง ภูเขาอารามศักดิ์สิทธิ์มั่ง ผู้วิเศษมั่ง จอมปลวกมั่ง เจ้าทรง ผีสิง น้ำมูกน้ำมนต์ ทดท่อหมอดู เป็นสรณะกัน สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ไม่ใช่ที่พึ่งอันวิเศษ ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง พึ่งไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด  

 


                สู้พึ่งรัตนะภายในไม่ได้ อยู่คนเดียวในป่าก็มีสุขได้ พ้นจากทุกข์ทั้งหลายเข้าถึงสุขได้ พ้นจากทุกข์โศกโรคภัยทั้งหลายได้ อยู่กลางทะเลก็เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้ อยู่บนยอดเขา อยู่ในหุบเหว อยู่ในถ้ำในเรือนว่าง โคนต้นไม้ ในที่จอแจที่พลุกพล่าน ที่มีภยันอันตรายทั้งหลาย ก็เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้ เพราะฉะนั้นจะต้องส่งใจให้เข้าถึงรัตนะภายในอย่างนี้นะจ๊ะ การเข้าถึงรัตนะทั้งสามนี้ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าหากรู้จักวิธีแล้ว จะเข้าถึงได้โดยไม่ยากเลย เมื่อเราทราบว่ารัตนะทั้งสามนั้น สิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เราก็จะต้องส่งใจมาอยู่ที่ตรงกลางฐานที่ ๗ คือเอาใจของเรามาหยุดมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้ เอาใจหยุด เอาใจนิ่ง ใจที่ซัดส่ายไปมานะ นึกคิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งหมด เอามาหยุดเอามานิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดอยู่ที่ตรงนี้ที่เดียว ซ้ายขวา หน้าหลัง ล่างบนไม่ไป เอาใจหยุดอยู่ที่ตรงนี้แหละ ตรงตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง ขึ้นมาสองนิ้วมือ ทบทวนอีกทีนะจ๊ะ 

 


                 เส้นเชือกที่เราสมมุติ ขึงจากสะดือทะลุไปข้างหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุมาด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมาสองนิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จำไว้ให้ดีนะจ๊ะ ท่านที่มาใหม่เอาใจของเรามาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ตรงเหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมาสองนิ้วมือ โดยกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ โดยกำหนดคือ บริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ คือการสร้างมโนภาพขึ้นมาในใจ ให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา กำหนดเครื่องหมายที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนแมวโตเท่ากับแก้วตาของเรา 

 


                กำหนดเครื่องหมายที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา คือให้นึกสร้างมโนภาพว่าตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้นะจ๊ะ มีดวงแก้วที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ ดวงแก้วที่กลมรอบตัวนะ เหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ที่แจกเอาไปให้สำหรับผู้ที่เป็นประธานกฐินผ้าป่า แก้วมณีโชติรสอันนั้นกลมรอบตัว แล้วก็นึกให้ใสเหมือนกับเพชร นึกถึงความจริงของเพชร ที่มีความใส มีความบริสุทธิ์อย่างไรน่ะ เราก็นึกอย่างนั้นนะ กำหนดเครื่องหมายที่ใส สะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขีดไม่มีข่วน คล้ายขนแมวโตเท่ากับแก้วตาของเรา กลมรอบตัว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้นึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ แล้วก็ค่อย ๆ นึกด้วยใจที่เยือกเย็น ค่อย ๆ นึกด้วยใจที่เยือกเย็น ไม่ใช่เพ่งลูกแก้วนะ ให้ค่อย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ จำไว้ให้ดีนะจ๊ะ 

 


                   นึกเบา ๆ นึกง่าย ๆ สบาย ๆ แล้วก็ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ นึกไป คล้ายกับการนึกถึงภาพน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือฟองสบู่ที่เราเป่าเล่นสนุก ตอนที่เราเป็นเด็ก ๆ นะ ที่เราเคยเป่าฟองสบู่เล่น ให้นึกเบา ๆ อย่างนั้นนะ นึกคล้าย ๆ กับนึกถึงภาพฟองสบู่หรือน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว นึกเบา ๆ นึกง่าย ๆ อย่างสบาย ๆ ด้วยใจที่เยือกเย็น นึกให้มันต่อเนื่องกันไป ใจเราจะได้ไม่ไปคิดเรื่องอื่น คือนึกถึงแต่ดวงแก้ว ดวงแก้ว ดวงแก้ว ใส ใส ใส บริสุทธิ์ บริสุทธิ์บริสุทธิ์ นึกเบา ๆ ไปอย่างนั้นนะ นึกดวงแก้วใส บริสุทธิ์ นึกให้ต่อเนื่อง ดวงแก้ว ดวงแก้ว ดวงแก้ว นึกไปอย่างนั้นแหละ นึกให้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ อย่าให้เผลอ อย่าให้เผลอไปนึกเรื่องอื่น ถ้าเราเผลอไปนึกเรื่องอื่นพอรู้ตัวต้องกลับมานึกใหม่อย่างเบา ๆ อย่างสบาย ๆ แล้วก็นึกง่าย ๆ ใจเย็น ๆ นึกให้ต่อเนื่อง ทดลองนึกดูนะจ๊ะ 

 

 

                   นึกง่าย ๆ เบาๆ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ นึกให้ต่อเนื่องกันไป อย่างสบาย ๆ อย่าลืมคำนี้นะจ๊ะ คือถ้าเรานึกขึ้นมาแล้วเราอึดอัด เรารำคาญ เราเบื่อ แสดงว่าผิดวิธีแล้ว อย่างนั้นเรียกว่านึกอย่างลำบาก ลำบาก นึกยาก ยาก นึกหนัก ๆ ผิดวิธีนะจ๊ะ อย่างนั้นไม่ได้ผล ถึงแม้จะมีความเพียรทำไปสักร้อยปีก็ไม่ได้ผล ได้แต่ความเพียร ได้แต่ทนนั่ง เพราะฉะนั้นต้องทำให้ถูกวิธีก่อน นึกเบา ๆ นึกง่าย ๆ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ ให้ต่อเนื่องกันไป นี่เป็นสิ่งที่สำคัญนะจ๊ะ อย่าดูเบา นึกไปเรื่อย ๆ ถ้าหากว่าอดไม่ได้ที่จะไปคิดเรื่องอื่น เพราะเราพึ่งจะเริ่มต้นใหม่เนี่ยะ อดไม่ได้ เดี๋ยวเรื่องโน้นเรื่องนี้ก็เข้ามา ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่อยากจะให้เข้ามา เมื่อมันเข้ามาเราห้ามมันไม่ได้ ก็ให้เพิ่มการบริกรรมภาวนาเข้าไป จะได้ช่วยกันขจัดเรื่องที่เราไม่ต้องการ ให้มันหลุดพ้นจากจิตใจของเราไปคือ เมื่อเรานึกถึงภาพดวงแก้วใสบริสุทธิ์ดีแล้ว ก็ภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง

 


                  ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ที่ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกนั้น ให้เสียงดังออกมาจากกลางดวงแก้วนะจ๊ะ ที่เราไปสมมตินึกตั้งอยู่ที่กลางท้องตรงฐานที่ ๗ ตรงนั้นนะ ให้เสียงนั้นดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้วที่ใสบริสุทธิ์ ถ้าเสียงดังมาจากตรงนี้ความคิดอื่นไม่แทรกเลย เสียงไม่ใช่อยู่บริเวณปาก ลำคอ หรือสมองไม่ใช่ตรงนั้นนะ เสียงต้องดังออกมาจากในกลางท้อง นี่ท่านที่มาใหม่ ต้องฝึกเอาไว้นะจ๊ะ จำให้ดีทีเดียว อย่าดูเบาทุกขั้นตอน ทีนี้เมื่อเราทำไปอย่างนี้ สัมมาอะระหัง ๆ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ที่กลางดวงใส เมื่อเราทำอย่างนี้ไม่เผลอเลย พอเราไม่เผลอนึกให้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ความคิดอื่นก็ไม่เข้ามาแทรก 

 


                 เมื่อความคิดอื่นไม่เข้ามาแทรก ก็จะเกิดความอัศจรรย์ขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ต้องเรียกว่าเป็นความอัศจรรย์ทีเดียวคือใจจะหยุดนิ่ง หากคำภาวนาสัมมาอะระหัง กับการนึกถึงภาพดวงแก้วต่อเนื่องกันไปอย่างนั้น จะค่อย ๆ ดึงใจกลับเข้าไปสู่ที่ตั้ง ตรงฐานที่ ๗ ใจจะหยุดนิ่ง หยุด หยุดใจของเรา ซึ่งเราไม่เคยหยุดมาก่อนได้เลยในชีวิต หยุดเกิดขึ้นความนึกคิดต่าง ๆ ไม่เข้ามาแทรกเลย นี่เป็นความอัศจรรย์ทีเดียวที่ใจหยุด จะให้คิดอะไรมันก็ไม่คิด หยุดนิ่งหมด เรื่องบ้าน เรื่องช่อง การศึกษาเล่าเรียน ความเครียด ความเซ็ง ความเบื่อ ความกลุ้ม อะไรต่าง ๆ ไม่แทรกเลย หยุดตัวเดียว เมื่อเราภาวนาสัมมาอะระหังไปเรื่อย ๆ ประคองดวงนิมิตที่เรานึกให้ต่อเนื่องกันไป เห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้างก็ชั่งมัน 

 


                     พอถึงที่สุดมันหยุดนิ่ง พอหยุดนิ่งอารมณ์ปลอดโปร่งก็เกิดขึ้น เราจะอัศจรรย์ใจทีเดียวว่า โอ้โฮ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความปลอดโปร่งในใจนะไม่เคยมีเลย ตั้งแต่เกิดมานี่ไม่เรื่องกลุ้ม ก็มีแต่เรื่องเพลิน ๆ สลับกันไปอย่างนั้น แต่นี่เป็นอารมณ์ปลอดโปร่งเบาสบาย ร่างกายรู้สึกมันจะโปร่ง มันจะเบา มันไม่หนักเหมือนเดิมแล้ว แต่เดิมเป็นร่างกายที่หนัก ตอนนี้เป็นร่างกายที่เบา แต่เดิมร่างกายมันมีความรู้สึกทึบ ๆ ตื้อ ๆ แต่ตอนนี้มันโปร่งใส เบาสบาย รู้จักคำว่าสบายในตอนนี้แหละ แต่เดิมนะ เราขอยืมคำว่าเบาสบายเอาไปใช้ แต่เราไม่ได้รู้จักของจริงเลยว่าเป็นอย่างไร ได้แต่ขอยืมเอามาใช้ เวลาที่เรามีความรู้สึกว่า เราสมหวังอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต

 


                    แต่นี่เป็นการเบาสบายที่แท้จริง เกิดขึ้นภายหลังจากที่ใจเราหยุดนิ่ง เมื่อเบาสบายต่อเนื่องกันไปอีก เบาสบายเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็ถึงจังหวะหนึ่ง ใจนี่วูบลงไปทีเดียว มีอาการตกศูนย์เหมือนตกจากที่สูงลงไปนะ วูบลงไปมีดวงธรรมลอยขึ้นมา มีดวงธรรมลอยขึ้นมา ใสบริสุทธิ์ ลักษณะเหมือนดวงแก้วกลมรอบตัว อย่างเล็ก ๆ ก็เหมือนเรามองดูดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน กลมดิกเลย ลอยขึ้นมา ใสบริสุทธิ์ ใสเกินใส คือเกินความใสทั้งหลายที่เราเคยเห็นในโลกนี้ มันเป็นความใสที่มีแสงสว่างอยู่ในตัว แล้วก็ให้ความบันเทิงใจ เกิดความบันเทิงใจ เกิดความสุขใจเกิดขึ้น ดวงใส บริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นมาเอง เมื่อใจเราหยุดนิ่ง กลมรอบตัว พอเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับดวงใสบริสุทธิ์ ความสุขยิ่งแนบแน่น เพิ่มพูนขึ้น เป็นความสุขที่เรายอมรับว่าเป็นความสุข แตกต่างจากสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นความสุข 

 


                   เมื่อเรายังไม่เจอดวงใส ๆ ดวงธรรมเบื้องต้นนี้ ดวงนี้แหละเรียกว่าปฐมมรรค ดวงนี้แหละเรียกว่าปฐมมรรค หรือเรียกว่าอริยมรรคในเบื้องต้น พอถึงดวงธรรมดวงแรกดวงนี้ ไม่ช้าพวกเราจะเข้าถึงสรณะภายใน ถึงดวงธรรมดวงแรกดวงนี้ ไม่ช้าเราจะเข้าถึงสรณะภายใน เพราะรัตนะทั้งสาม หรือสรณะทั้งสามนั้นอยู่ในกลางดวงธรรมดวงนี้แหละ แต่ว่าอยู่ซ้อนเข้าไปเป็นชั้น ๆ ซ้อนเข้าไปเป็นชั้น ๆ อยู่ซ้อนเข้าไปที่ละเอียดที่สุด ซ้อนเข้าไปชั้นแรกนั่นเราจะเห็นมีกายมนุษย์ละเอียด ซ้อนชั้นที่สองเราจะเห็นว่ามีกายทิพย์ ซ้อนชั้นที่สามเราจะเห็นว่ามีกายรูปพรหม ซ้อนชั้นที่สี่เราจะเห็นว่ามีกายอรูปพรหม ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างนั้น ในกลางกายอรูปพรหมนั่นแหละ ถึงจะเข้าถึงรัตนะทั้งสาม 
 


 
                 พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทั้งสามอยู่ในกลางนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะแล่นให้เข้าไปถึงรัตนะทั้งสาม ส่งใจให้เข้าไปถึงได้นั้น จะต้องเข้าถึงกายที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างนี้นะจ๊ะ นี่จะว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่าย ดังกล่าวแล้วตั้งแต่เบื้องต้นเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงรัตนตรัยภายในให้ได้ก็ขอให้ตรึกส่งใจไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เป็นดวงแก้วที่ใส สะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่าแก้วตา ให้ใจเราตรึกตรงนี้นะ ตรึกคือนึกไปเรื่อย ๆ นึกถึงความใสไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ใสเพียงเล็กน้อย กระทั่งใสเพิ่มขึ้น ในที่สุดก็จะเข้าถึงความใสที่ใสบริสุทธิ์ ชัดเจนเหมือนเราลืมตาเห็น ให้ตรึกนึกถึงดวงใส พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ สัมมาอะระหัง ให้ทำอย่างนี้นะจ๊ะ ต่างคนต่างทํากันไปเงียบ ๆ นะ

 


                 คราวนี้เราก็รวมใจให้หยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจหยุดให้นิ่งให้ดีทีเดียวนะจ๊ะ ให้พวกเราทุกท่านเอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน เป็นทางเอกสายเดียวหนึ่งไม่มีสอง ทางเดียวเท่านั้น ต้องผ่านกลางกายของเราไปเป็นชั้น ๆ เข้าไป กลางกายมนุษย์หยาบที่นั่งเข้าที่นี้ ผ่านเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายทิพย์ ถึงกายรูปพรหม ถึงกายอรูปพรหม กระทั่งถึงกายธรรมที่ซ้อนอยู่ภายใน กายธรรมในกายธรรมนั้น สุดปลายทางนั้นก็เป็นอายตนนิพพาน เป็นที่ประทับของพระธรรมกายพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย นี่ผ่านเข้าไปตรงนี้แหละ 

 


                สุดปลายนั้นเป็นอายตนนิพพาน ทางสายกลางนี้พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านอาศัยขจัดกิเลสอาสวะ ตั้งแต่ขั้นหยาบไปสู่กิเลสละเอียด กระทั่งหลุดพ้นหมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเลย กิเลสหยาบที่หุ้มตั้งแต่กายหยาบไปนะ กิเลสละเอียดก็หุ้มตั้งแต่กายละเอียดไปเรื่อย ๆ กิเลสในตระกูล โลภะ โทสะ โมหะทั้งหลาย ถ้าหยาบก็หุ้มหยาบ ละเอียดก็หุ้มละเอียด แล้วก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป กิเลสละเอียดก็เรียกอนุสัยกิเลส นอนเนื่องอยู่ภายใน เราจะเห็นได้ด้วยธรรมกาย พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายน่ะ ท่านก็เห็นได้ด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกายของท่าน เห็นได้รอบตัวรู้ได้รอบตัว แล้วขจัดกิเลสอาสวะไปตามลำดับ ด้วยอริยมรรคคือ โสดาปัตติมรรคนะ กายธรรมพระโสดาขจัดกิเลสสังโยชน์เบื้องต่ำได้ เป็นโสดาปัตติผลโน่น 

 


                พระสกิทาคามิมรรค ก็ขจัดกิเลสที่ละเอียดขึ้นไปจนกระทั่งเป็นพระสกิทาคามิผล พระอนาคามิมรรคก็เหมือนกัน ขจัดกิเลสที่ละเอียดสูงขึ้นไปอีก พอสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษก็เป็นพระอนาคามิผล จนกระทั่งอรหัตตมรรค ขจัดกิเลสตระกูลสุดท้าย ตระกูลโมหะ สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษก็เป็นพระอรหัตตผล หลุดพ้นไปเลย ถ้าเรานึกถึงภาพว่ามีเสาอยู่เสาหนึ่ง ตรงโคนเสาก็มียางมะตอยสีดำมืดสนิทหุ้มอยู่ แล้วมันก็ค่อยจาง ๆ ๆ ไปเรื่อย กระทั่งถึงตรงปลาย พอเลยปลายก็เป็นท้องฟ้าอากาศโล่งไปเลย หลุดพ้นจากปลายเสา ไปสู่อิสระสู่โลกกว้าง กิเลสที่หุ้มกายต่าง ๆ คล้าย ๆ อย่างนั้น ธรรมกายจะเป็นผู้รู้ ผู้เห็น ผู้ขจัดกิเลสอาสวะหมดสิ้นดังกล่าวแล้วนะ ขจัดเป็นชั้น ๆ ไปเลยนะ ตั้งแต่กิเลสหยาบที่หนาแน่นทึบ กระทั่งเจือจางละเอียดลงไป ละเอียดลงไป กระทั่งพอหลุดพ้นไปเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นหมด เหาะเหินเดินอากาศได้ ไปสู่อายตนนิพพานได้ โดยเข้าสู่เส้นทางสายกลางตรงนี้แหละ ตรงกลางกายของเรา ที่มีกายซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ ๆ เข้าไป กิเลสก็หุ้มอยู่แต่ละกายน่ะ 

 


                หุ้มธาตุธรรม ทั้งเห็นจำคิดรู้หุ้มไปหมดเลย หุ้มเคลือบ เอิบอาบ ซึมซาบ ปนเป็น สวมซ้อน ร้อยไส้อยู่ในกลางนั้นหมักดองอยู่ในใจนะ หมักดองแล้วแต่เค้าจะเอาอะไรดอง ถ้าดองด้วยความโลภ พอดองแช่อิ่มเต็มที่ กระแสแห่งความโลภนั้นก็ครอบงำจิตใจเรา ทำให้จิตใจเรามีความรู้สึกว่าบกพร่อง พร่องเสมอ เหมือนตุ่มก้นรั่ว อย่างงั้นนะ พร่องอยู่เรื่อย หิวอยู่เรื่อย ๆ เหมือนเราเอาผลไม้ไปดองด้วยความเค็มอย่างนั้นนะ หิวเรื่อย หิวน้ำ อย่างนี้นะจ๊ะ มันหุ้มเข้าไปอย่างนี้แหละ เห็นได้ด้วยธรรมกาย กิเลสมันมีลักษณะเป็นยังไงเห็นชัดเลย บางครั้งท่านเรียกว่า กัณหะธรรม ธรรมดำ 

 


                บางครั้งก็เรียกอกุศลธรรม ธรรมที่เป็นบาปอกุศล สีสันมันเป็นอย่างนั้นแหละ เป็นอย่างพระพุทธเจ้าท่านเรียก ท่านก็เรียกตรง ๆ อย่างนั้นแหละ กัณหะธรรม ธรรมคำ มีผลคือคิดเป็นอกุศลอยู่เรื่อย ๆ พูดก็เป็นอกุศล ทำก็เป็นอกุศล เห็นชัดเห็นด้วยธรรมกาย ด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกาย เห็นชัดทีเดียว เห็นอยู่ตรงนั้นแหละ ขจัดด้วยอริยมรรค พออริยมรรคเข้าไปถึงกิเลสตรงนี้ แวบเดียวหายไปเลย สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษไปเลยเพราะฉะนั้นทางสายกลางนี้แหละ มีทางเอกสายเดียวผ่านกลางของกลางกายเข้าไปเรื่อย ๆ สุดปลายทางเป็นอายตนนิพพาน ให้พวกเราทุกคนรวมใจมาหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายนะจ๊ะ

 


                ใครเข้าถึงสภาวธรรมอันใดก็เอาใจหยุดอันนั้น เช่นท่านที่มาใหม่ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ท่านที่เข้าถึงดวงปฐมมรรค ก็เอาใจหยุดไปที่กลางปฐมมรรค ท่านที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายมนุษย์ละเอียด ท่านที่เข้าถึงกายทิพย์ ก็เอาใจหยุดเข้าไปในกลางกายทิพย์ ท่านที่เข้าถึงกายรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายรูปพรหม ท่านที่เข้าถึงกายอรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปกลางกายอรูปพรหม ท่านที่เข้าถึงกายธรรม ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูเรื่อยไป ก็เอาใจหยุดเข้าไปในกลางกายธรรม ให้หยุดในหยุด ๆ เอาใจให้หยุดไปที่ศูนย์กลางกายตรงนั้นนะ ตรึกให้แน่นเข้าไปอีก ตรึกในตรึก ๆ ลงไปตรงนั้นแหละ นิ่งในนิ่ง ๆ ให้ใจนิ่งเฉย ชัดในชัด ๆ ให้ชัดแจ่มใส สว่างอยู่ตรงนั้นนะ หยุดในหยุดนิ่งในนิ่งตรงนั้น แล้วก็กราบทูลพระพุทธเจ้า ขอบุญบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจสิทธิทั้งหลายนะ ขอบุญขอบารมีให้ถึงแก่พวกเราทุกท่าน ให้ขจัดทุกข์โศกโรคภัยพิบัติต่าง ๆ อุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต ขจัดให้หมดสิ้น 

 


                ให้พบแต่ความสุขความสำเร็จในชีวิต ในธุรกิจการงานหรือสิ่งที่พึงปรารถนา ที่เป็นนักศึกษาก็ให้ศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จสมความปรารถนา เป็นนักธุรกิจก็ให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ รับราชการที่ให้ไปสูงที่สุดในสายนั้น ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ท่าน เพื่อนร่วมงานสนับสนุนส่งเสริม ให้งานการบรรลุเป้าหมาย ที่เป็นแม่บ้านก็ให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข อย่าได้มีความขัดแย้งกันเลย สามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่างกายก็ให้แข็งแรง อย่าเจ็บอย่าป่วยอย่าไข้ ผิวพรรณวรรณะให้สดใสเปล่งปลั่ง เป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของชาวโลก สติปัญญาก็ให้เฉลียวฉลาด แตกฉานแทงตลอดทั้งทางโลกและทางธรรม จะมีพวกพ้องบริวารก็ให้ซื่อสัตย์สุจริต บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ มีสติมีปัญญามาช่วยเหลืองาน แล้วมีสายสมบัติ มีสายสมบัติได้เชื่อมสร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น อย่าได้มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้น มาขัดขวางหนทางการสร้างบารมีนั้น 

 


                ให้มีสายสมบัติได้บังเกิดขึ้นทำให้สำเร็จสมความปรารถนา จะพูดจากับใครก็ให้ชนะใจคนหมดทุก ๆ คน ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้สมบูรณ์ ใครเห็นใครก็รักช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน เมตตาปราณี สงสาร รักใคร่เอ็นดู คุณยายขอกราบทูลขอบุญบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจสิทธิดังกล่าวแล้วนี้ ขอให้ทั่วถึงกันให้หมด ให้จิตใจเบิกบานแจ่มใส ใครเจ็บใครป่วยใครไข้ ก็หายเจ็บหายป่วยหายไข้ ให้เอาร่างกายที่แข็งแรงมาใส่มาสวมมาซ้อนนะ ให้ร่างกายใหม่ที่แข็งแรง สวยสดงดงาม อายุยืนยาวใช้งานได้คล่อง แล้วก็ให้จิตใจเบิกบานแจ่มใส สว่างไสว ด้วยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะปฏิบัติธรรมะก็ให้เป็นประเภทปฏิบัติได้สะดวกรู้ได้เร็ว รู้ถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริงทุกประการเลย 

 

 

                ปฏิบัติได้สะดวก ให้ขยันหมั่นเพียรอย่าได้เกียจคร้านในการประพฤติปฏิบัติธรรม ให้จิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจผู้นิรทุกข์ที่เข้าถึงธรรมแล้ว แล้วขอให้ธรรมกายสว่างไสวเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายทุก ๆ คน แล้วให้ขยายความสว่างให้ไปถึงแก่มวลมนุษยชาติทั่วโลก โดยไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนาและเผ่าพันธุ์ ให้เข้าถึงธรรมกาย ให้ประเทศชาติ ศาสนา วิชชาธรรมกายสูงส่ง พระราชวงศ์ทุก ๆ พระองค์ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระนางเจ้าหรือทุก ๆ พระองค์ให้ทรงอยู่เย็นเป็นสุขทุกอย่าง ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล เศรษฐกิจที่ตกต่ำให้ฟื้นฟูขึ้น ให้ทุก ๆ คนสามัคคีกลมเกลียวกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งชาติ กระทั่งทั่วโลก ทั้งผอง เหมือนเป็นพี่น้องท้องเดียวกันมาเลย 

 


                ให้เอาบุญนี้ให้ทั่วถึงกันให้หมด ให้จิตใจเบิกบานสว่างไสว ใสเป็นแก้ว แล้วก็ทับทวีอาหารทิพย์มาไว้ที่วิมานของพวกเราแต่ละคน เมื่อละโลกไปแล้วจะได้ไปเสวยอาหารทิพย์ ถ้าบารมียังไม่เต็มที่ก็ไปเสวยอาหารทิพย์ที่นั่น สร้างบารมีหลับตาเจริญภาวนากันต่อไป แล้วก็ทับทวีเอาบุญให้ถึงแก่ผู้ที่ละโลกไปแล้ว กัลยาณมิตรของพวกเราน่ะ มีกี่ท่านที่ละโลกไปแล้ว บรรพบุรุษของพวกเราทั้งหลาย ให้มีส่วนแห่งบุญอันนี้ ตลอดจนกระทั่งให้กระแสธารแห่งบุญนี้ ให้ถึงแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ มีบิดามารดา ครูบาอาจารย์ญาติพี่น้องของเราเป็นต้น ให้ทั่วถึงให้หมด จะไปเกิดในภพภูมิใดก็แล้วแต่ให้มีส่วนแห่งบุญที่เราได้บูชาข้าวพระนี้ ให้ได้รับบุญนี้ทั่วถึงหมด ตลอดหมด ให้ทุกคนจิตใจเบิกบานแจ่มใสอาจหาญร่าเริงที่จะสร้างบารมีอย่างเต็มที่โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ เกิดขึ้น จิตใจไม่หวั่นไหวไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข สร้างบุญอย่างเต็มเปี่ยม สมกับที่ได้เกิดมาสร้างบารมี 

 


                ให้มีหัวใจของกัลยาณมิตร มีหัวใจของนักสร้างบารมี ประดุจพระบรมโพธิสัตว์ที่ท่านได้สร้างบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วนโดยไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคทั้งหลายทั้งมวล และให้ทุกคนขยันหมั่นเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรม ให้กราบทูลขอบุญบารมีพิเศษจากพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า ต่อจากนี้ไปให้พวกเราทุกคนอธิษฐานจิตตามใจชอบนะจ๊ะทุกคน ตั้งใจให้ดีในขณะที่กระแสธารแห่งบุญหรือปุญญาภิสันธาร ท่อธารแห่งบุญได้หลั่งไหลเข้าสู่ศูนย์กลางกาย ศูนย์กลางกำเนิดของเราแล้วนะ ก็ให้อธิษฐานจิตด้วยใจมั่น เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ปักใจในบุญกุศล ความสำเร็จก็จะได้เกิดขึ้นอย่างที่ เราปรารถนากันทุก ๆ คนนะจ๊ะ ต่างคนต่างอธิษฐานจิตกันไปในใจเงียบ ๆ ตามใจชอบนะ 


 

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026727763811747 Mins