ผู้มีความชราเป็นข้าศึก
พฤษภาคม ๒๕๒๗
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
ต่อจากนี้เราจะได้นั่งเจริญภาวนากัน นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตัก วางพอสบาย ๆ สำหรับท่านหญิงที่นั่งขัดสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ และก็เอามือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายและก็วางไว้บนหน้าตักเช่นเดียวกันหลับตาของเราเบา ๆ แค่ผนังตาปิดเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ปรับปรุงร่างกายของเราให้ได้ท่านั่งที่สบาย ๆ กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายให้ผ่อนคลายให้หมด ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเรา ให้ผ่อนคลาย จะเป็นกล้ามเนื้อที่เปลือกตา ที่หน้าผาก ที่ศีรษะ ต้นคอก็ให้ผ่อนคลายให้หมด ช่วงไหล่ ช่วงแขน ลําตัว ก็ให้ผ่อนคลายให้หมด ช่วงขาของเราก็ผ่อนคลาย ปรับท่านั่งให้พอเหมาะพอดี ให้พอสบาย ๆ
เมื่อปรับท่านั่งให้ผ่อนคลายสบายดีแล้ว เราก็จะได้มาปรับปรุงใจของเราให้ผ่อนคลายเช่นเดียวกัน ให้สบาย ๆ เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ที่จะให้ใจหยุดนิ่งสงบระงับ เข้าถึงปฐมมรรคภายในนั้นน่ะ กายและใจนั้นจะต้องสัมพันธ์กัน คือกายก็ต้องสบาย ใจก็ต้องสบาย ให้มีความรู้สึกเบิกบานชุ่มชื่นอยู่ภายใน ไม่ให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งตึงเครียดได้เลย การปฏิบัติธรรมนั้นจึงจะบรรลุเป้าหมายคือเข้าถึงปฐมมรรคภายในตัวของเรา ซึ่งเป็นต้นทางไปสู่พระนิพพาน กายและใจต้องพอเหมาะพอดี ก่อนนั่งกายและใจก็ต้องสบาย กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ก็ต้องสบาย ภายหลังเลิกนั่งแล้วกายและใจก็ต้อง เบิกบานเบาสบาย อย่างนี้ถึงจะถูกต้อง เพราะฉะนั้นตอนนี้ปรับให้ดีนะ เดี๋ยวเราจะได้เข้าถึงปฐมมรรคอย่างง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่ต้องเสียเวลามากมายเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปีหรือว่าหลาย ๆ ปี เราจะเข้าถึงความสุขที่มีอยู่ภายในตัวของเรา เป็นสุขที่เสรีไม่มีขอบเขต มีความเบิกบานอย่างหาที่เปรียบมิได้ อย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เราจะเข้าถึงอย่างง่าย ๆ อย่างสบาย ๆ เพราะฉะนั้นปรับให้ดีนะ อย่าลืมหลักเกณฑ์อันนี้ เบาสบายน่ะ ต้องทำให้ได้อย่างนี้กันก่อนทุก ๆ คน
เมื่อเราปรับปรุงดีแล้ว ต่อจากนี้เราก็ทำใจของเราให้ปลอดโปร่งให้ว่างเปล่า นึกถึงพุทธวัจนะบทหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย ท่านตรัสเอาไว้สั้น ๆ แต่ว่ามีความหมายลึกซึ้ง ถ้าใครได้พิจารณาไตร่ตรองตามไปก็จะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลนั้น จะเป็นเหตุให้เข้าถึงปฐมมรรคภายในหรือเป้าหมายชีวิตของเราได้โดยไม่ยาก ทรงตรัสเอาไว้อย่างนี้ว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย ถูกความชรารุกรานไปอย่างเงียบ ๆ ความชรานั้นรุกรานนำไปสู่ความตาย บุคคลใดพิจารณาเห็นโทษของความตายนั้นก็ควรจะคลายความยึดมั่นถือมั่นในโลกามิส มีใจยินดีในพระนิพพาน นี่ทรงตรัสเอาไว้สั้น ๆ อย่างนี้ ว่าชีวิตนี้เป็นของน้อย ใครจะอายุยืนไปถึงกี่ปีก็ตาม ๗๐, ๘๐, ๙๐, หรือ ๑๐๐ ปีก็ตาม ท่านถือเป็นของน้อยสำหรับในการสร้างความดี
เดี๋ยวนี้อายุขัยของคนเราเนี่ย ถัวเฉลี่ยแล้วก็ตกประมาณอายุ ๗๕ ปี ใครอายุเกินไปกว่าจากนี้ตั้งแต่ ๗๖ ขึ้นไปถือว่าเป็นผู้ที่มีอายุยืน ได้สั่งสมบุญเก่ามาดี แต่ว่าถัวเฉลี่ยแล้วนี่ เรามีเวลาอยู่ ๗๕ ปี ท่านถือว่าเป็นของน้อย น้อยต่อการสร้างความดี ทำไมน้อยเราลองพิจารณาดู ๗๕ ปีนี้ วันหนึ่งมีอยู่ ๒๔ ชั่วโมง เราแบ่งชีวิตเป็น ๓ ช่วง ช่วงละ ๘ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงเนี่ย เราเอาไว้นอนหลับพักผ่อน นี่เราเสียเวลาไปแล้ว ๘ ชั่วโมง อีก ๘ ชั่วโมงเอาไว้สําหรับทํางาน แต่บางคนทําเกินกว่านี้อีก เกินกว่า ๘ ชั่วโมง อีก ๘ ชั่วโมง เอาไว้สำหรับบริหารขันธ์ ทำความสะอาดร่างกายมั่ง อาบน้ำอาบท่า ล้างหน้าแปรงฟัน รับประทานอาหาร ออกกำลังกายบ้าง ดูหนังดูทีวีมั่ง พูดจาพูดคุยกันกับญาติมิตรมั่ง
เพราะฉะนั้นเนี่ย เวลาที่สูญเปล่าไปเนี่ย ต่อวันหนึ่งมากทีเดียว สูญเปล่าเพราะการนอนหลับพักผ่อนไปเนี่ย ๑ ใน ๓ ของชีวิต ของ ๑ วัน ทำงานเพื่อที่จะหาปัจจัย ๔ มาบำรุงเลี้ยงร่างกายเนี้ย ก้อนเนี้ย ที่เป็นทุกข์เนี่ยอีก ๑ ใน ๓ ของชีวิต อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันอีก หมดเข้าไปอีก ๑ ใน ๓ แล้วจะมีเวลาไหนที่เราจะทำความดี เรามองพิจารณาดูซิ ถ้าเราอายุ ๖๐ ปี เราเสียเวลานอน ๒๐ ปี นั่นสูญเปล่า ทำงานเลี้ยงขันธ์ ๕ นี้อีก ๒๐ ปี สูญเปล่าอีกแล้ว ล้างหน้าแปรงฟันบริหารขันธ์น่ะ เลี้ยงร่างกายนี่ ร่างกายซึ่งเดี๋ยวมันจะเอาไอ้นั่นเดี๋ยวมันจะเอาไอ้นี่อยู่เรื่อย ๆ น่ะ อีก ๒๐ ปี ถ้าหากอายุ ๖๐ ปีเนี่ย เราจะมีเวลาสำหรับแสวงหาหนทางพระนิพพานน่ะ ซึ่งเป็นเป้าหมายของชีวิตน่ะ นิดเดียวเท่านั้นน่ะ เคยคิดกันบ้างรึเปล่านะ
แล้วมนุษย์มีอายุ ๗๕ ปี ซึ่งเป็นของน้อยนิด เราลองเอา ๓ หารดู แล้วเราถึงจะทราบได้ว่าที่ทรงตรัสเอาไว้ว่าชีวิตเป็นของมีน้อย นั่นน้อยสำหรับเอาไว้สร้างบารมี แต่สำหรับผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่มีสติไม่มีปัญญา มีชีวิตเหมือนนกเหมือนกาก็ไม่ต้องคิดอะไรกันไป ก็ปล่อยกันไปเป็นวัน ๆ ให้เปะปะเหมือนสวะลอยน้ำกันไปอย่างนั้น ดังนั้นได้ทรงตรัสเตือนพวกเราเอาไว้ว่าชีวิตเป็นของน้อย ถูกชรารุกรานอย่างเงียบ ๆ ข้าศึกต่าง ๆ เนี่ยเวลามันจะเข้าบ้านเข้าเมืองยังพอจะรู้ รู้เรื่องบ้าง แต่นี่ชรานี่เป็นข้าศึกที่รุกรานอย่างเงียบ ๆ มันมาพร้อมกับความเกิด พอความเกิดไอ้ความแก่มันก็ตามมา แต่เป็นความแก่ที่เรามองไม่เห็น เราจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายต่อเมื่อมันผ่านไปแล้ว ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีมั่ง ๓๐ ปี ๔๐-๕๐ ปีเรื่อยไปตามลำดับ
เราจะสังเกตเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้นไอ้ตอนไหนที่เราสังเกตออก เราก็สมมติเรียกตอนนั้นว่าวัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน วัยชรา วัยแก่ วัยหง่อม นั่นคือความแก่ที่เรามองเห็น แต่นี่ความชราที่รุกรานอย่างเงียบ ๆ มันมาทุกอนุวินาที ทุกลมหายใจเข้าออก แม้แต่เรานั่งปฏิบัติธรรมในตอนนี้น่ะ มันก็ยังรุกรานอยู่อย่างเงียบ ๆ ความชรานําความเสื่อมมาให้กับร่างกายของเรา ความชราดึงความเป็นหนุ่มความแข็งแรงความคล่องตัวออกไป แล้วก็เอาความเสื่อมมาให้กับเราน่ะ ความไม่มีกำลังกาย ความไม่มีกำลังใจ ความท้อ ความไม่สวยงามของผิวพรรณวรรณะ ความเสื่อมไปของสติปัญญา มันนำไอ้สิ่งเหล่านี้มาเนี่ย ซึ่งเป็นเหตุให้เราทำความดีได้ไม่เต็มที่ เราถูกความชรารุกรานอย่างเงียบ ๆ รุกรานนำไปสู่ความตาย คือที่เสื่อมไปอย่างนั้น ตอนสุดท้ายก็คือตาย สลายตัวนั่นเอง ทุกคนไปสู่จุดสลายหมด
บุคคลใดพิจารณาเห็นโทษของความตายนั้น ท่านตรัสต่อไปว่ายังไงเราก็ต้องตายจะมีชีวิตเลิศเลอสมบูรณ์ไปด้วยลาภยศสรรเสริญแค่ไหนก็ตาม ตายหมด จะมีรูปร่างสวยงามแค่ไหนก็ตาย เพราะฉะนั้นพิจารณาให้เห็นโทษว่ายังไงเราตายแน่ ทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี้น่ะตายหมด แต่ก่อนตายเนี่ย เราควรจะทำชีวิตของเรานี่ให้มีประโยชน์อย่างไร ท่านก็ทรงตรัสต่อไป ให้พิจารณาเห็นโทษว่ายังไงเราต้องตาย แล้วให้ละคลายความยึดมั่นถือมั่นในโลกามิส โลกามิสก็คือเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในโลกนี้ เป็นเหตุให้ใจนี่ห่างจากกระแสของพระนิพพาน เมื่อห่างจากกระแสของพระนิพพานซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความสุข ห่างมากเข้ามากเข้าเราไปจมจ่อมอยู่ในโลกามิสคือเหยื่อล่อนี้ ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความระทมทุกข์
นี่เราลองพิจารณาผ่านมาเถอะ ตั้งแต่เราเกิดจนกระทั่งเรามานั่งเดี๋ยวเนี้ย เราจมจ่อมอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสต่าง ๆ หรือเราแบ่งง่าย ๆ ก็คือ สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตที่เราไปจดจ่ออยู่ บางครั้งท่านก็เรียกว่าสังขารมีวิญญาณครองมั่ง ไม่มีวิญญาณครองมั่ง เยอะแยะต่าง ๆ จะเป็นคนเป็นสัตว์เป็นสิ่งของอะไรต่าง ๆ เหล่านั้นทั้งหมด ท่านเรียกว่าโลกามิส คือเหยื่อล่อให้ใจไปติด พอไปติดอย่างนั้นเข้าก็ห่างจากทางพระนิพพาน เรานึกอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ถ้าหากเราเข้าใกล้แหล่งกำเนิดแสงเท่าไหร่ก็ยิ่งพบความสว่างมาก พบความสว่างมากเท่าไหร่ ไอ้ความสะดุ้งกลัวต่าง ๆ มันก็หายไป มีความอบอุ่นใจ ถ้ายิ่งห่างจากแหล่งกำเนิดของแสงเท่าไหร่เราก็จะยิ่งพบกับความมืด ความมืดนั้นน่ะนำมาซึ่งความสะดุ้งกลัวกับตัวของเราเอง
นึกถึงสภาพถ้าเราเดินไปอยู่ในป่ามืด ๆ อย่างนั้นน่ะ ป่ารกทึบชัฏ มีภัยต่าง ๆ รอบด้านเลย จากสิงสาราสัตว์มั่ง จากคนร้ายมั่ง จากอุบัติเหตุมั่ง สารพัดที่เกิดขึ้นอยู่ในความมืด แต่เราเดินมาเนี่ยเห็นแสงริบหรี่สว่าง ๆ อยู่ในกลางทุ่งไกล ๆ เนี่ย ใจเราชื้นขึ้นมาตั้งเยอะ ความสะดุ้งกลัวค่อยๆ ลดลงไป ยิ่งเดินใกล้เข้ามาเท่าไหร่ความสะดุ้งยิ่งหายไปเรื่อย ๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้นพระนิพพานนี้ท่านเปรียบเอาไว้เหมือนกับแหล่งกำเนิดของแสงสว่างของชีวิต เป็นที่บรรจุความสุขอันเป็นอมตะเอาไว้ที่นั่น เป็นที่รวมลงแห่งความสุข ถ้าใครได้เข้าใกล้ก็จะยิ่งมีความสุขมาก แต่มนุษย์เดี๋ยวนี้ปล่อยปละละเลยในกระแสของพระนิพพานนะ แล้วก็หมกมุ่นยินดีอยู่กับวิทยาการใหม่ ๆ ติดกับโลกติดกับวัตถุ มันจึงเหมือนกับเดินอยู่ในที่มืด
เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณาว่าชีวิตเป็นของน้อย ถูกชรารุกรานอย่างเงียบ ๆ รุกรานนำไปสู่ความตายควรพิจารณาให้เห็นโทษของความตายนั้นคือที่สุดของชีวิตนั้น แล้วละคลายคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ ในโลกามิสเหยื่อล่อให้ใจเราติด ท่านใช้คำว่าเหยื่อล่อเหมือนพรานเบ็ดใช้เหยื่อเกี่ยวกับเบ็ดแล้วก็ล่อปลาในน้ำนั้นน่ะ เหยื่อล่อให้ติดอยู่อย่างนั้น พอปลากินเหยื่อได้ก็ได้รับความทุกข์ทรมาน ตั้งแต่ร่างกายความเจ็บปวดของอวัยวะ กระทั่งตาย นั่นน่ะเหยื่อล่อ ท่านให้ผ่อนคลายโดยพิจารณาให้เห็นโทษว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วมันก็เสื่อมสลายไป เราเกิดมาในโลกนี้เจอะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น อย่าคิดว่ามันเป็นจริงเป็นจัง ยึดมั่นถือมั่นซะ จนกระทั่งคลายไม่ออก มืดหน้าตาลายมองไม่เห็นหนทางพระนิพพาน ไม่เห็นว่าเป้าหมายของชีวิตนั้นคืออะไร
เพราะฉะนั้นท่านก็ให้ปลดให้ปล่อยให้วางในโลกามิสเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้บางครั้ง มันก็พลัดพรากจากเราไปก่อน บางครั้งเราก็พลัดพรากจากมันไปก่อน มันไม่แน่เหมือนกัน นี่สิ่งของที่นอกตัวน่ะ เพราะฉะนั้นท่านให้ปลดให้ปล่อยให้วาง แม้แต่ร่างกายที่เราอาศัยนั่งปฏิบัติธรรมะเนี่ย ชิ้นส่วนภายในร่างกายบางทีมันก็หลุดออกไปก่อน ก่อนที่เราจะตายก็มี ฟันในปากมั่ง บางทีมันหลุดไปทีละซี่สองซี่ ถูกความชรารุกรานไปอย่างเงียบ ๆ ในที่สุดรุกรานไปสู่ความตาย ฟันต่าง ๆ ก็หลุดร่วงไปจากปากของเรา เส้นผมบนศีรษะก็เหมือนกัน ถูกความชรารุกรานกันไปอย่างเงียบ ๆ รุกรานไปสู่ความตาย แต่เดิมมันก็ดำน่ะ หนักเข้ามันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนสีเปลี่ยนสีหนักเข้ามันก็ค่อย ๆ หลุดร่วงตายจากศีรษะของเราไป พ้นจากโลกของเค้า โลกของเส้นผมก็คือบนศีรษะของเราน่ะ หลุดร่วงไป
โลกของฟันก็อยู่ในปากก็คือเหงือกน่ะที่ยึดน่ะ หลุดร่วงออกไป ตาหูจมูกกาย ร่างกายต่าง ๆ นี่เช่นเดียวกัน ถูกความชรารุกรานกันไปอยู่อย่างเงียบ ๆ แล้วก็นำไปสู่ความตาย เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ไปทุกวัน ทุกคืน ทุกเวลา ทุกวินาที นี่พิจารณาให้เห็นอย่างนี้ แล้วให้ยินดีในพระนิพพาน ให้เห็นว่าพระนิพพานนะเป็นที่บรรเทาแห่งความเมา ดับกระหาย เป็นที่หมดตัณหา หมดความทะยานอยาก มีแต่สุขล้วน ๆ ไม่มีทุกข์เจือเลย ให้พอใจต่อพระนิพพาน นี่ท่านแนะให้อย่างนี้นะ ทีนี้ก็จะมาถึงว่าพระนิพพานนั้นน่ะอยู่ที่ตรงไหน ท่านบอกเอาไว้ว่า ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่อยู่ที่บนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หรือดวงดาว ไม่ใช่ดิน น้ำ ลมไฟอย่างที่เราได้เห็นด้วยตาเนื้อ แต่อายตนะนั้นมีอยู่ มีอยู่ท่านว่าเอาไว้อย่างนั้นน่ะ
อายตนะนั้นน่ะมีอยู่ ไปไม่ถึงด้วยยวดยานพาหนะอันใดทั้งสิ้น จะไปด้วยรถด้วยเรือ ด้วยจรวด ด้วยอะไรก็แล้วแต่ ไปกันไม่ถึงทั้งนั้น ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการนอน มีแต่นั่งเข้านิโรธสมาบัติ สงบนิ่งอยู่ในนั้นน่ะ นั่นเรียกว่าอายตนนิพพาน แล้วก็อยู่ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ที่เราอาศัยนั่งขัดสมาธินีแหละ อยู่ในตัวของเรานี่เอง ไม่ได้อยู่ที่ตรงไหนเลย ทีนี้พอพูดถึงในตัวของเราเนี่ย พวกเราบางท่านก็จะนึกไปถึงตับไตไส้พุงอะไรต่าง ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นที่สิงสถิตของพระนิพพานได้อย่างไร หนทางนั้นมีอยู่ที่จะเข้าถึงมัชฌิมาปฏิปทา ตถาคเตน อภิสัมพุทธา คือให้เข้าไปตรงกลาง ตรงกลางเนี่ยของตัวเรา ตรงกลางของตัวเราเนี่ย
ถ้าเราเอาเส้นเชือกขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากขวาทะลุซ้ายไปอีกเส้นหนึ่ง สะดือทะลุหลังเส้นหนึ่ง ขวาทะลุซ้ายเส้นหนึ่ง มันตัดกันตรงกลางกั๊ก เหนือขึ้นมาจากนั้น ๒ นิ้วมือเรียกว่าฐานที่ ๗ ตรงนี้คือทางไปสู่พระนิพพานของทุก ๆ คนในโลก เป็นทางหลุดทางพ้น เป็นทางเข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ อยู่ตรงนี้ที่เดียว ไม่ใช่อยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ในป่า ในเขา ในห้วย ในหนอง ในคลองในบึงหรือตามจักรวาลน้อยใหญ่ต่าง ๆ อยู่ตรงนี้ ถ้าเราเอาใจของเราเนี่ยมาหยุดนิ่งให้ถูกส่วนตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ ไม่ช้าจะเข้าถึงดวงปฐมมรรค จะเห็นหนทางเบื้องต้น ไปสู่พระนิพพาน เป็นดวงใส ๆ คล้ายกับเพชรกลมรอบตัวอย่างเล็กโตเท่ากับดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน
นั่นเรียกว่าปฐมมรรค เป็นหนทางเบื้องต้น ที่จะไปสู่พระนิพพานนะ ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าให้พอใจในพระนิพพานน่ะ ก็หมายถึงว่าให้เอาใจน่ะ มาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ให้เกิดความพอใจอยู่ที่ตรงนี้ อย่าไปพอใจในโลกามิส ในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสธรรมารมณ์ ให้เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ หยุดกันให้ถูกส่วนทีเดียว หยุดนิ่งพอถูกส่วนก็เห็นดวงใส เป็นปฐมมรรคเกิดขึ้นอยู่ภายใน ดวงใสนี้ไม่ใช่ใครทำให้มันมีหรือไปสร้างเอามโนภาพ ไม่ใช่อย่างนั้น พอหยุดแล้วก็จะเข้าถึง คำว่าเข้าถึงแสดงว่าไอ้สิ่งนี้มันมีอยู่แล้วในตัวของเรา นี่เป็นดวงใส ๆ กลมรอบตัวทีเดียวอยู่ที่ตรงนี้ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ใสบริสุทธิ์ นั่นแหละเรียกว่าปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นไปสู่พระนิพพาน ให้พอใจอย่างนี้
เมื่อใจหยุดถูกส่วนที่กลางปฐมมรรค พอถูกส่วนเข้าก็เดี๋ยวก็เห็น เห็นหนทางต่อไปอีก เห็นศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ น่ะ ว่าศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ๕ อย่างนี้เป็นเครื่องนำใจให้หลุดพ้น ไอ้สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมันก็มาจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้เห็น เห็นเกิดขึ้นมาในตัวของท่านที่เรียกว่าตรัสรู้น่ะ ตรัสรู้แปลว่าความรู้ที่เกิดจากการเห็นแจ้ง เห็นด้วยธรรมจักขุ ดวงตาธรรมของท่านน่ะ เห็นไปตามลำดับอย่างนี้แหละ เห็นอยู่ในกลางตัวของท่าน และก็เห็นกายต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ อยู่ภายในน่ะ เห็นกายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกายมนุษย์หยาบ เห็นกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ละเอียด เห็นกายพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์ เห็นกายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายพรหม เห็นกายธรรมน่ะซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม และก็เห็นกายธรรมในกายธรรมเข้าไปเรื่อย ๆ เข้าไปตามลำดับอย่างนี้
จนกระทั่งไปสุดกายกายที่สุดที่สะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย กายธรรมองค์ที่สุดนั่นแหละ จึงจะไปสู่พระนิพพานได้ ถ้าเปรียบแล้วการไปสู่พระนิพพานก็เหมือนกับรถหลาย ๆ ผลัด อย่างเช่นถ้าเราจะไปจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ เราก็ต่อรถไปหลาย ๆ ผลัด ผลัดหนึ่งมาส่งที่รังสิต อีกผลัดหนึ่งส่งต่ออยุธยา อีกผลัดหนึ่งก็ส่งต่อเรื่อยไปถึงอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เรื่อยไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงลำพูนและก็เชียงใหม่ ในตัวของเราก็เช่นเดียวกันกว่าที่จะเข้าไปถึงอายตนนิพพานได้ ก็จะต้องอาศัยกายต่าง ๆ เป็นทางผ่านของใจส่งกันต่อ ๆ กันขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม และก็กายธรรม และก็กายธรรมในกายธรรมเข้าไปตามลำดับอย่างนี้แหละจึงจะถึงพระนิพพานได้ ของเหล่านี้มีอยู่ในตัวของพวกเราแล้วทุกคน
เพราะฉะนั้นนี่ให้เข้าใจทุกคน ต่อจากนี้ไปก็ให้กำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อย หรือเท่ากับแก้วตาของเรา ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ และก็ภาวนาไปเรื่อย ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนากันไปอย่างนี้นะ นั่งขัดสมาธิก็ให้เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ สำหรับท่านที่นั่งขัดสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่งพับเพียบ และก็ให้เอามือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ เช่นเดียวกัน หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ เมื่อเราหลับตาพอสบาย ๆ แล้ว ก็ปรับร่างกายของเราให้ทุกส่วนผ่อนคลายให้หมด ให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก โดยการปรับท่านั่ง ไม่งอตัวเกินไปและก็ไม่ยืดตัวซะจน กระทั่งเมื่อยในอริยาบถ ถ้าเรานั่งได้ถูกส่วนจะมีคามรู้สึกมั่นคง ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา เอียงหน้าเอียงหลังอย่างนั้น โย้ไปข้างหน้า โย้ไปข้างหลังอย่างนั้น จะไม่เกิดขึ้น มันจะมั่นคงเหมือนภูเขาทั้งลูกที่ตั้งบนแผ่นดินน่ะ ไม่โยกไม่คลอน แล้วรู้สึกสบาย
รู้สึกสบาย รู้สึกว่าจะนั่งไปนานซักเท่าไหร่ก็ได้ ท่านั่งอย่างนั้นเรียกว่าท่าที่เหมาะพอเหมาะพอดี ถูกส่วน เมื่อเราปรับร่างกายของเราดีแล้ว ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของการปรับใจของเรา เราจะต้องปล่อยวางความนึกคิดต่าง ๆ ที่แล่นไปในเรื่องการศึกษาก็ดี ไปในครอบครัวก็ดี หรือธุรกิจการงาน ปล่อยวางชั่วขณะที่เราจะได้นั่งหลับตาทำสมาธิ ใจจะปล่อยวางได้ เราจะต้องพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราไปนึกคิดอยู่น่ะ ที่เป็นเรื่องคนเรื่องสัตว์เรื่องสิ่งของ เรื่องธุรกิจการงานหรือเรื่องอะไรก็ตามเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีสาระแก่นสารอะไรทั้งนั้น เป็นของอาศัยกันอยู่ชั่วคราวที่เรายังอยู่ในโลกนี้ จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เป็นของอาศัยชั่วคราว ไม่ใช่ของที่จีรังยั่งยืนอะไร พิจารณาได้อย่างนี้แล้ว ใจมันจะได้ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
พอใจมันปล่อยวางได้ มันก็เบา เบาสบาย เป็นใจที่เหมาะสมที่จะแสวงหาหนทางของพระนิพพาน เป็นใจที่เหมาะสมที่จะทำมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้น ใจจะต้องไม่ติดอะไรเลยน่ะ ไม่ห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงครอบครัว ห่วงธุรกิจการงาน ห่วงสมบัติ ห่วงความมีหน้ามีตาน่ะ ลาภยศสรรเสริญอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ต้องไม่ห่วงไม่กังวล ไม่ติดใจ ไม่ติดอกติดใจในสิ่งนั้น เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นน่ะไม่มีคุณค่า ไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นสรณะที่พึ่งที่จะให้เราพ้นจากทุกข์ เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะได้ดังนั้นต่อจากนี้ไป ขอเรียนเชิญทุกท่านนั่งเจริญภาวนา ตามที่หลวงพ่อจะได้แนะนำกันต่อไปนะ
กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ คำว่ากำหนดก็คือการสร้างมโนภาพขึ้นมาทางใจหรือการนึกคิดด้วยใจที่ละเอียดอ่อนนั่นเอง คล้าย ๆ กับการนึกคิดถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง เช่น คนที่เรารัก ของที่เรารัก คนที่เรารักก็ดีของที่เรารักก็ดี พอเรานึกถึงเค้าภาพเหล่านั้นก็จะมาปรากฏทางใจเป็นมโนภาพบางคนก็ชัดเจนคือนึกได้ชัดเจนถึง ๖๐% บางคนก็ ๗๐% ของลืมตาเห็น นาน ๆ จะเจอซักคนนึงนึกได้ถึง ๘๐-๙๐% ซึ่งมีน้อยมาก กำหนดบริกรรมนิมิตก็คือการนึกคิดอย่างเดียวกันนั่นแหละ เป็นแต่เพียงเปลี่ยนแปลงภาพของของที่เรารักคนที่เรารัก มาเป็นดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับแก้วตาของเรา หรือโตเท่ากับปากช่องจมูกของเรา จำง่าย ๆ กำหนดบริกรรมนิมิตให้ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตาของเรา ลอยมาจากที่ใดก็ได้
ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้นึกคิดอย่างละเอียดอ่อนด้วยใจที่เยือกเย็น ด้วยใจที่เบิกบาน จำให้ดีนะ นึกอย่างละเอียดอ่อนด้วยใจที่เยือกเย็น ด้วยใจที่เบิกบาน กำหนดแล้วก็นำมา ค่อย ๆ นึกเคลื่อนมาช้า ๆ มาหยุดนิ่งที่ปากช่องจมูกของเรา ท่านหญิงกำหนดขึ้นมาที่ปากช่องจมูกข้างซ้าย ท่านชายที่ปากช่องจมูกด้านขวา ประคองบริกรรมนิมิตอันนั้นเอาไว้ให้ดี อย่าให้เลือนหายไปจากใจ นึกคิดอยู่ตลอดเวลา บริกรรมนิมิตดวงนี้แหละจะเป็นเหมือนยานพาหนะนำใจของเราเนี่ยกลับเข้าไปสู่ภายใน แล้วคำดิ่งเรื่อยไปจนกระทั่งถึงธรรมกาย เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนให้นึกว่า สิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอันสูงสุด เพราะฉะนั้นขอให้ประคองเอาไว้ให้ดีนะ
ประคองบริกรรมนิมิตให้ใสบริสุทธิ์ที่ปากช่องจมูกตรงนี้ให้ดี ตรึกนึกถึงความใสหยุดเข้าไปในกลางความใส ประคองอย่าให้เลือนจากใจนะ ประคองให้ดีนะอย่าให้เลื่อนจากใจน่ะ อยู่ที่ปากช่องจมูก จะทำเป็นไม่เป็นก็อยู่ที่ตรงนี้จำให้ดีทีเดียว พร้อมกับภาวนาในใจสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ พอใจสบายดีแล้วเราก็นึกเลื่อนบริกรรมนิมิต ประคองความใสให้ดีนะ เลื่อนขึ้นมาที่หัวตาของเราอย่างช้า ๆ อย่างละเอียดอ่อน ท่านหญิงมาหยุดอยู่ที่หัวตาข้างซ้าย ท่านชายหยุดอยู่ที่หัวตาข้างขวา ตรึกนึกถึงความใส ประคองให้เห็นอยู่ตลอดเวลาอย่าให้เลือนจากใจของเราไปให้หยุดให้นิ่งพร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ พอใจสบายดีแล้วเลื่อนต่อขึ้นไปอีก อย่าให้เลือนจากใจนะ ตรึกนึกถึงความใสบริสุทธิ์ หยุดเข้าไปในกลางความใสบริสุทธิ์ ประคองให้ไต่ขึ้นไปตามหน้าผาก ไต่ขึ้นไปตามหน้าผาก สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ สูงขึ้นไป ช้า ๆ ใจเย็น ๆ ไต่ไปตามกระโหลกศีรษะแล้วก็ค่อยๆ เลื่อนต่ำลงมา เลื่อนต่ำลงมาอย่างช้า ๆ
อยู่ที่กลางศีรษะระดับเดียวกับหัวตาของเรา ระดับเดียวกับหัวตาของเรา ตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ ภาวนาอย่างเบิกบานใจทีเดียวอย่างแช่มชื่น อย่างสดใสทีเดียว พอใจหยุดดีแล้วก็ค่อยๆ เลื่อนต่ำลงมาอีกอย่างช้า ๆ เลื่อนลงมาอย่างช้า ๆ นึกเลื่อนอย่างละเอียดอ่อน เบา ๆ อย่าให้นิมิตเลือนหายจากใจแล้วก็มาหยุดนิ่งอยู่ที่เพดานปาก ตรึกนึกถึงความใสหยุดเข้าไปในกลางความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิต อย่าให้เลือนไปจากใจนะ ประคองให้ดี ด้วยใจที่เบิกบานที่แช่มชื่น พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ พอใจสบายดีแล้วก็ค่อย ๆ เลื่อนต่อลงมาอีก
เหมือนการเดินทางของดวงแก้วใสบริสุทธิ์กำลังเลื่อนลอยต่ำลงมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ นุ่มนวล และก็ละเอียดอ่อน มาหยุดอยู่ที่ปากช่องคอ คล้าย ๆ จะเข้าไปในลำคอของเราน่ะ เลื่อนมาอยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก กำลังจะเข้าไปในตัวของเรา เลื่อนแต่ว่าเราจะหยุดนิ่งเหมือนเป็นที่พักกลางทาง เราก็ประคองหยุดนิ่งเฉย หยุดให้นิ่งเฉยให้ใสบริสุทธิ์ อย่าให้เลือนจากใจนะ นึกให้ใสบริสุทธิ์ ประคองอย่างละเอียดอ่อน เบา ๆ ด้วยใจที่เบิกบานด้วยใจที่ผ่องใส ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดเข้าไปในกลางดวงใส พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ พอใจผ่องใสดีแล้วเราก็ค่อย ๆ เลื่อนต่อลงไปอีก เลื่อนเข้าไปในตัวของเรา
ตอนนี้เราต้องสมมติว่าภายในลำตัวของเราเป็นปล่องเป็นช่องเป็นโพรงลงไป อวัยวะภายในไม่มี เป็นโพรงลงไปด้านล่าง ให้บริกรรมนิมิตลอยลงไปอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ ประคองอย่าให้เลือนหายจากใจ ตรึกนึกถึงความใสบริสุทธิ์ หยุดตรงจุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ นึกคิดด้วยใจที่เบิกบานที่แช่มชื่น เลื่อนลงไปช้า ๆ ใจเย็น ๆ และให้ไปหยุดนิ่งอยู่ตรงระดับเดียวกับสะดือภายในระดับเดียวกับสะดือของเรา ในกลางท้อง สมมติถ้าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปข้างหลัง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกทั้ง ๒ จะร้อยตัดกลางบริกรรมนิมิต ตรึงให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายน่ะ ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ประคองนิมิตให้ดีนะ ตรึกนึกถึงความใสบริสุทธิ์ หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ อย่าให้เลือนหาย ไปจากใจ พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ
ตรึกนึกถึงความใสบริสุทธิ์ หยุดอยู่ตรงจุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ ประคองให้ดีนะจ๊ะ พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ จะต้องภาวนาด้วยใจที่เบิกบานด้วยใจที่ชุ่มชื่นอย่างนั้นนะ อย่าให้เลือนหายจากใจน่ะ ตรึกนึกถึงความใสหยุดเข้าไปในกลางความใสบริสุทธิ์ ภาวนาไปเรื่อยพอใจสบายดีแล้วเราก็เลื่อนถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เลื่อนถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ถ้าเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือตรงนี้แหละเรียกว่าฐานที่ ๗ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จำไว้ให้ดีนะ ให้กำหนดเลื่อนดวงแก้วขึ้นมา มาอยู่ที่ตรงเนี้ย แล้วต่อจากนี้ไปไม่ต้องเลื่อนไปที่ไหนแล้วนะ ประคองใจให้หยุดนิ่งเฉย ตรึกนึกถึงความใสบริสุทธิ์ หยุดเข้าไปในกลางความใสบริสุทธิ์
พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าคำภาวนาจะเลือนหายไปจากใจ แล้วเหลือดวงแก้วใสบริสุทธิ์ หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อคำภาวนาเลือนหายไปจากใจแล้ว เราก็ไม่ต้องกลับมาภาวนาใหม่ ให้ตรึกนึกถึงความใส หยุดอยู่ในกลางความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิตอย่างเดียวตรงฐานที่ ๗ นี่ให้เข้าใจนะ เราจะภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าคำภาวนานั้นจะเลือนหายไปจากใจ แล้วเหลือดวงแก้วใสบริสุทธิ์ หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ต้องกลับมาภาวนาใหม่
ให้ประคองดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเดียวให้มั่นคง นี่คือเบื้องต้นในการที่เราจะนำใจของเราเข้าไปสู่แหล่งของสติแหล่งของปัญญา เข้าไปสู่ธรรมกายนะ ให้เข้าถึงธรรมกายนะ นี่คือเบื้องต้นที่เราจะต้องฝึกฝนทำให้มันเป็นให้มันมีให้ได้ ตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทีนี้คราวต่อไป เมื่อเราเริ่มนั่งเป็นครั้งที่ ๒ ก็ให้เอาใจมาวางไว้ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ได้เลย โดยไม่จำเป็นจะต้องไปเริ่มต้นที่ปากช่องจมูก ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ และก็ภาวนาเรื่อย ๆ ไป ฟ้าจะถล่มแผ่นดินจะทลาย คอขาดบาดตายช่างมันไม่ได้ล่ะก็ให้มันตายไปซะเถอะชีวิตนี้ ต้องคิดอย่างนี้นะ แล้วจึงจะเข้าถึงดวงธรรมภายในได้
ผู้มีความชราเป็นข้าศึก