กิจของใจ

วันที่ 04 เมย. พ.ศ.2567

040467b01.jpg
กิจของใจ
๑ ธันวาคม ๒๕๓๔
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ ขอเรียนเชิญทุกท่าน ตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ ทุก ๆ คน ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรคนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ นะจ๊ะ ท่านที่มาใหม่ แล้วก็ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย เพราะว่าเราจะต้องใช้เวลาต่อจากนี้ไปหนึ่งชั่วโมงเต็ม สำหรับการเจริญสมาธิภาวนาอาจจะมีความรู้สึกปวดเมื่อย แต่ถ้าหากว่าได้นั่งขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดีแล้ว หนึ่งชั่วโมงเต็มมันก็จะมีความรู้สึกว่าประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านั่งนี้สำคัญนะ ขยับเนื้อขยับตัวให้ดี แล้วทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่นให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส วันนี้เป็นวันบุญใหญ่ ที่พวกเราทุก ๆ คน ได้ตั้งใจออกจากบ้านมาด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ใจจรดจดจ่อกับบุญกุศล เพราะฉะนั้นจะต้องตั้งใจตักตวงบุญของเราให้เต็มที่ ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ใจที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยนั้น ต้องเป็นใจที่ใสบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นเบื้องต้นต้องทำอย่างนี้ก่อนนะจ๊ะ ทุก ๆ คน 

 


                ให้เบิกบานให้แช่มชื่นให้ผ่องใส เมื่อใจบริสุทธิ์ผ่องใสดีแล้ว ก็ให้สมมติหยิบเส้นเชือกขึ้นมาสองเส้น เส้นหนึ่งขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงให้ตึงจากด้านขวาทะลุมาด้านซ้าย ขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้ยกถอยหลังขึ้นมาสองนิ้วมือ ยกถอยหลังขึ้นมาสองนิ้วมือ สมมติว่าเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง สูงขึ้นมาสองนิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 


                ถ้าหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ท่านที่มาใหม่ต้องหมายเอาตรงนี้นะจ๊ะ คือตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมาสองนิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่ตั้งของใจเรา เราจะต้องเอาใจของเรามาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ตั้งให้มั่นทีเดียว ตั้งใจมั่นอยู่ที่ตรงนี้ จะทำภารกิจอะไรก็ตามให้เอาใจมาตั้งอยู่ที่ตรงนี้ ทั้งนั่ง ทั้งนอน ทั้งยืน ทั้งเดิน ทั้งหลับทั้งตื่น ให้เอาใจมาตั้งอยู่ที่ตรงนี้ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เราฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ฝึกไว้เรื่อย ซ้อมเอาไว้เรื่อย ๆ จะทำภารกิจอะไรก็ตาม เอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ จะสร้างทานบารมีก็จะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ จะรักษาศีลก็จะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ จะเจริญภาวนาก็จะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ 

 


                หยุดที่เดียวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่ให้หยุดตรงนี้เพราะว่าตรงนี้เป็นตำแหน่งที่สำคัญ เป็นปากทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านอาศัยเส้นทางสายกลางที่ผ่านจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้เสด็จเข้าไปสู่อายตนนิพพาน ทางนี้เป็นทางเอกสายเดียวที่จะเข้าสู่อายตนนิพพานเพราะฉะนั้นจะต้องเอาใจหยุดอยู่ที่ตรงนี้นะจ๊ะ หยุดให้นิ่งนาน ๆ ทีเดียว หยุดให้ถูกส่วนพอเอาใจหยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้น ไม่ช้าเราจะเข้าถึงปฐมมรรค พบปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ลักษณะเป็นจุดสว่าง เป็นดวงใส ๆ กลมรอบตัว อย่างเล็ก ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน จุดเล็ก ๆ ใสๆ เกิดขึ้นตรงนี้แหละ 

 


                จุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพานชีวิตทุกชีวิตในโลกที่เกิดมานี้ ต่างแสวงหาความสุขที่แท้จริงกันทั้งนั้น เป็นความ สุขที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่มีความทุกข์เจือปนเลยแม้แต่นิดเดียว ที่เรียกว่า เอกันตบรมสุข คือสุขอย่างเดียว ไม่มีทุกข์เจือปนเลย เราแสวงหาอย่างเนี้ยะ มาตลอดที่เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เมื่อไม่พบก็ต้องแสวงหากันต่อไปจนกว่าจะพบ ในอายตนนิพพานนั้น เป็นที่รวมแห่งบรมสุข มีแต่สุขล้วน ๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลยแม้แต่นิดเดียว เป็นบรมสุขไม่ใช่สุขธรรมดา สุขที่เป็นอมตะตลอดไป ในอายตนนิพพานนั้น เป็นที่รวมประชุมของความสุขที่แท้จริงอย่างนี้ ๆ เพราะฉะนั้นทุก ๆ ชีวิตจะต้องเดินทางไปสู่อายตนนิพพานด้วยกันทั้งนั้น ท่านที่ยังไม่พบหนทางก็เดินช้าหน่อย ที่พบหนทางแล้วก็เดินลัดหน่อย เดินได้รวดเร็วหน่อย 

 


                พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ของพวกเราทั้งหลาย แต่เดิมท่านก็เป็นปุถุชนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ปัญญาหยาบเช่นเดียวกับพวกเรา แต่ว่าท่านก็แสวงหาความสุข ที่แท้จริงอย่างเนี้ยะ ในระหว่างที่ท่านเวียนว่ายตายเกิด ค่อย ๆ ศึกษาสั่งสมความรู้จากผู้รู้แจ้งในอดีต คือพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ในกาลก่อนผ่านกันมาหลายร้อยหลายพัน หลายหมื่น หลายแสนองค์ บางท่านก็นับองค์ไม่ถ้วนทีเดียว เพื่อจะศึกษาเพื่อจะสั่งสมความรู้อันบริสุทธิ์ ที่จะนำชีวิตให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง แล้วได้ผลสรุปว่าพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ยืนยันเหมือนกันหมดว่า หนทางที่จะเข้าสู่เข้าถึงความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ในในตัวของเรา อยู่ในกลางตัวของเรา 

 


                ท่านเรียกเส้นทางสายนี้ว่าเส้นทางสายกลางหรืออริยมรรค ทางที่จะทำชีวิตของเราเนี่ยให้เข้าสู่ชีวิตอันประเสริฐ ชีวิตที่มีแต่สุขล้วน ๆ สมบูรณ์ไปด้วยสติ ด้วยปัญญา มีความเต็มเปี่ยมของชีวิต อยู่ที่กลางกายของเรานี่ล่ะ ท่านเรียกเส้นทางสายนี้ว่า เส้นทางสายกลางและเส้นทางสายกลางนี้ ท่านยืนยันเหมือนกันหมดเหมือนกันว่า มีอยู่เส้นทางเดียว มีเส้นทางเดียวเท่านั้น เป็นเส้นทางหนึ่งไม่มีสอง ถ้าหากว่าเข้าเส้นทางนี้ไม่ถูกต้องแล้วก็จะไปไม่ถึงที่หมาย แต่ถ้าหากว่าถูกทางวางใจถูกทาง ไม่ช้าก็จะถึงที่หมายเพราะฉะนั้นศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่เราจะดำเนินใจของเราเนี่ยะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงในอายตนนิพพานได้ 

 


                จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุด ที่พวกเราทั้งหลายซึ่งแสวงหาความสุขที่แท้จริงนั้นจะต้องเอาใจใส่ ไม่ว่าเราจะมีภารกิจอันใดก็ตาม จะต้องเอาใจเนี่ยมาจรดจดจ่ออยู่ที่ตรงนี้ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรึกเอาไว้เรื่อย ๆ ใหม่ ๆ มันก็ยังหยุดไม่สนิทใจก็จะแวบไปในสิ่งที่เราคุ้นนึกไปในเรื่องราวต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเราฝึกไปเรื่อย ๆ ไอ้เรื่องราวต่าง ๆ นั้นมันก็จะค่อย ๆ เจือจางลงไป ในไม่ช้ามันก็จะหมดไปในที่สุด เมื่อใจพรากจากความคิดเก่า ๆ ซึ่งมันไม่เป็นประโยชน์ไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ใจก็จะกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดสนิทถูกส่วน 

 


                เมื่อหยุดสนิทถูกส่วนเข้า ก็จะพบหนทางดังกล่าว ที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น จะพบหนทางเบื้องต้น มันมีเครื่องหมาย มีลักษณะชี้บ่งให้เราทราบว่านี้คือหนทางสายกลางที่ถูกต้อง ลักษณะเป็นดวงใส ๆ จุดเล็ก ๆ สว่าง ๆ บางทีก็เล็กเท่ากับปลายเข็ม เล็กนิดนึงแต่ว่าสว่างเหมือนจุดโฟกัสของแสงนั่นน่ะ เหมือนเราเอาแว่นขยายเนี่ยะส่องให้แสงอาทิตย์ผ่านแล้วก็มีจุดใส ๆ เป็นที่รวมของแสง ตรงนี้เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยวางอารมณ์ภายนอกมันก็จะมารวมหยุดตรงนี้ จะเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ ใส ๆ บางทีก็โตใหญ่ขึ้นมาเหมือนดวงดาวในอากาศ ถ้าโตขึ้นมาหน่อยก็เหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ถ้าโตยิ่งขึ้นก็เหมือนดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันเล็กนิดนึง ถ้าใครเคยเห็นดวงอาทิตย์อย่างไรก็ยังงั้นแหละ 

 


                สว่างใสแต่เป็นความสว่างที่แตกต่างจากแสงจันทร์แสงอาทิตย์ คือเป็นความสว่างที่มาพร้อมกับความสุขภายใน นี้คือเครื่องหมายว่าเราได้เดินได้ถูกทางแล้ว จากจุดนี้เป็นต้นไปเมื่อเราเอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ พอใจเราหยุดได้ถูกส่วนที่จุดสว่างใส ๆ คือวางให้หยุดให้นิ่งอย่างเดียว ให้ใจหยุดในหยุด นิ่งในนิ่งอย่างเดียว ไม่ช้าดวงใส ๆ นั้นก็จะขยายกว้างออกไปเอง ขยายกว้างออกไป พอกว้างออกไปเดี๋ยวก็จะเห็นดวงธรรมต่าง ๆ ผุดขึ้นมาทีละดวง ทีละดวง ขึ้นมาเรื่อยเลย นับไปเถอะได้หกดวง ผุดขึ้นมาทีละดวงน่ะ มีดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ผุดเกิดขึ้นมาเรื่อยสุกใสเพิ่มขึ้นไป สว่างเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นมาเอง 

 


                เพราะดวงธรรมเหล่านี้มีอยู่แล้วในกายของเรา ไม่ใช่เราไปทำให้มันมี เรามีหน้าที่เพียงทำใจให้หยุดให้นิ่งอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อหยุดนิ่งถูกส่วนละเอียดเท่ากับดวงธรรม เราก็เข้าถึงดวงธรรม ลักษณะที่เข้าถึงคือเห็นดวงธรรมนั้นผุดขึ้นมาเป็นดวงใส ๆ ผุดขึ้นมาเรื่อยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พอสุดกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ดวงสุดท้ายดวงที่หกนะ ขยายกว้างออกไปเราจะเห็นกายกายหนึ่งผุดเกิดขึ้นมาเลย นี่เป็นสิ่งที่แปลก ไม่น่าเชื่อว่ามีชีวิตอยู่ภายในที่ละเอียดอีกชั้นหนึ่งซ้อนกันอยู่ มีชีวิตมีจิตใจเหมือนกับกายหยาบของเราอย่างนี้แหละ 

 


                ลักษณะเหมือนกับตัวของเรา เราส่องกระจกเป็นอย่างไร นี่ก็นี่ก็อย่างนั้นแหละ เป็นแต่เพียงว่ามีชีวิตจิตใจสมบูรณ์กว่า สดชื่นกว่า เบิกบานกว่ากายมนุษย์หยาบ นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา กายนี้เรียกว่ากายมนุษย์ละเอียดเพราะว่ามีลักษณะคล้าย ๆ กายมนุษย์หยาบ แต่ว่าละเอียดกว่าจึงเรียกว่ากายมนุษย์ละเอียด ท่านหญิงก็เหมือนกับท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย นั่งขัดสมาธิอยู่ภายใน ให้เรามองดูให้ชัดอย่างนั้นเลยนะ เมื่อเข้าถึงแล้วนะ เข้าถึงแล้วก็ต้องทำความเข้าใจ ทำให้ชัดเจนให้ชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็น ให้ใสยิ่งกว่าเพชร ให้มีแสงสว่างออกมาเลย ยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ให้มั่นคงเห็นอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมนุษย์ละเอียดนั้นเลยน่ะ ฝึกให้เป็นอันเดียวกัน 

 


                พอเราปล่อยใจเข้าไปอีกในกลางกายมนุษย์ละเอียด ปล่อยกลางเข้าไปนะ เหมือนเอาเข็มร้อยพวงมาลัย ร้อยดอกมะลิเป็นพวงมาลัยเนี่ย ถ้าปล่อยเข้าไปเรื่อย ๆ เอาใจของเราต่างเข็มนั้นนะ ผ่านเข้ากลางกลางกายนั้นไปเรื่อย ก็จะเห็นดวงธรรมในทำนองเดียวกัน ผุดขึ้นมาเมื่อเราวางใจได้ถูกส่วน ทีละดวง ทีละดวงจนกระทั่งครบหกดวงเนี่ยะ ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พอครบหกดวงก็จะเข้าถึงอีกกายหนึ่ง คือกายทิพย์ กายทิพย์เป็นอย่างไรอยากรู้จักให้เข้าถึงนะจ๊ะ ทำจิตอย่างนี้แหละ ให้หยุดให้นิ่งอย่างเดียวเดี๋ยวเข้าถึง สวยงามมากนั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา เราก็ทำในทำนองเดียวกันคือให้ชัด ให้ใสให้สว่าง ให้มั่นคงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายทิพย์นั้น ฝึกจนกระทั่งชำนาญ พอใจหยุดในกลางกายทิพย์ถูกส่วนเข้าก็เห็นอีกหกดวงในทำนองเดียวกัน 

 


                ให้อยู่ในกลางของกลางนั้นไปเรื่อย ๆ หยุดอย่างเดียวนิ่งอย่างเดียวกลางของกลางเข้าไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็เห็นอีกหกดวงในกลางกายทิพย์ พอสุดดวงที่หกก็เข้าถึงกายรูปพรหม เข้าถึงกายรูปพรหมไปเลย อยากรู้จักกายรูปพรหมก็เข้าไปอย่างนี้นะ เข้าไปให้ถึงแล้วก็เข้าไปในทำนองเดียวกัน ในกลางกายรูปพรหม ก็เห็นอีกหกดวงซ้อนกันอยู่ ผุดขึ้นมาทีละดวง ทีละดวง จนกระทั่งสุดดวงสุดท้ายดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงอีกกายหนึ่งเรียกว่ากายอรูปพรหม สวยงามหนักยิ่งขึ้น คำว่าสวยงามหนักยิ่งขึ้นมากยิ่งขึ้นนะ เป็นอย่างไรล่ะไปดูข้างในนะ ทำจิตให้ได้อย่างนี้ เพราะว่าไม่มีตัวอย่างในโลก เลยไม่ทราบว่าจะเทียบกับอะไร สวยงามมากงามไม่มีที่ติ ก็ให้ทำในทำนองเดียวกันเข้าไปอีก เข้ากลางเข้าไปอีก 

 


                กลางกายอรูปพรหมนะ ก็จะเห็นในทำนองเดียวกัน เห็นดวงธรรมหกดวงซ้อนกันอยู่ภายในเป็นชั้น ๆ ๆ ๆ ซ้อนกันเข้าไปเรื่อย พอสุดกายสุดดวงวิมุตติญาณทัสสนะของกายอรูปพรหม ก็เข้าถึงอีกกายหนึ่งเป็นกายที่สำคัญที่สุดเลย ลักษณะเหมือนกับพุทธรูปพุทธปฏิมากร แต่ว่าเกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกัน มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการเลย งามไม่มีที่ตินี่เรียกว่ากายธรรม กายธรรมโคตรภู ถ้าปล่อยเข้ากลางเข้าไปอีก เอาใจหยุดเข้าไปอีกในกลางกายธรรมโคตรภู พอถูกส่วนก็เห็นไปเรื่อย ๆ อีกหกดวงซ้อน ๆ กันเข้าไป สุดดวงที่หก ก็เข้าถึงกายธรรมที่หน้าตักห้าวา สูงห้าวา เรียกว่ากายธรรมพระโสดาบัน 

 


                เข้ากลางกายธรรมพระโสดาบันต่อไปอีก เห็นอีกหกดวงซ้อน ๆ กันอยู่ดวงสุดท้ายก็เข้าถึงอีกกายหนึ่ง หน้าตัก ๑๐ วา เรียกว่ากายธรรมพระสกิทาคามีเข้ากลางกายธรรมพระสกิทาคามีอีกต่อไปอีก เห็นอีกกายหนึ่งเกิดขึ้น ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เรียกว่ากายพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา เข้ากลางกายธรรมพระอนาคามีต่อไปอีก ก็เห็นอีกหกดวง กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เห็นกายธรรมสุดท้าย หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา กายธรรมอรหัต กายนี้เป็นกายสุดท้ายของชีวิตในการเวียนว่ายตายเกิด สร้างบารมีกายสุดท้ายนี้เรียกว่ากายธรรมอรหัต เมื่อเข้าถึงแล้วตัดกิเลสหมดกิเลสได้ ขจัดกิเลสอาสวะต่าง ๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ขจัดออกไปหมดเลย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต 

 


                เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต เป็นตลอดเวลาเลย ส่วนกายอื่นนั้น ล่อนหมดเลย ใจไม่เกาะไม่ติดเลย ติดอยู่กายธรรมอรหัตเป็นทั้งวันเป็นทั้งคืนเป็นตลอดเวลา นี้คือแผนผังของชีวิตมนุษย์ทุก ๆ คน กายธรรมอรหัตนี้แหละจะเข้าสู่อายตนนิพพานได้ กายธรรมอรหัตแล้วก็อยู่ในอายตนนิพพานนั้น ๆ ได้ จุดสุดท้ายของชีวิตมาอยู่ที่ดวงนี้ ดังนั้นทุกท่านต้องทําความเข้าใจให้ดีว่าเป้าหมายปลายทางของชีวิตของเรานั้นคืออายตนนิพพาน เป็นเอกันตบรมสุข มีแต่สุขอย่างเดียว เป็นสุขที่แท้จริงที่ไม่มีความทุกข์เจือเลย จะเข้าถึงได้ต้องเข้าถึงกายธรรมอรหัตเท่านั้น และกายธรรมอรหัตนั้นเป็นกายที่ละเอียดที่สุด ซ้อนอยู่ภายในกายต่าง ๆ และเราจะเข้าถึงกายต่าง ๆ นี้ได้ เราจะต้องวางใจให้ถูกส่วนที่ฐานที่ ๗ จนกระทั่งพบปฐมมรรค เมื่อเราพบปฐมมรรคแล้ว เราถึงจะเข้ากายในกายอย่างนี้ ถึงกายธรรมอรหัตได้ 

 


                ดังนั้นตรงฐานที่ ๗ จึงเป็นฐานที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าเราจะประกอบภารกิจอันใดก็ตาม จะทำมาหากินก็ตาม จะบริหารขันธ์ก็ตาม จะดูแลครอบครัวก็ตาม เราจะต้องฝึกใจของเราเนี่ยให้มาหยุดให้มานิ่งอยู่ที่ตรงเนี้ยะ ฝึกบ่อย ๆ ฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีก จะขับรถขับราไปไหนก็แล้วแต่ ฝึกเอาไว้เรื่อย ๆ ฝึกให้หยุดนิ่งอยู่ภายในฝึกให้ชำนาญอย่างนี้นะจ๊ะ แล้วเราจะพบความสุขที่แท้จริงกันทุก ๆ คน ต่อจากนี้ไปจะได้แนะนำสำหรับท่านที่มาใหม่ ที่จะฝึกใจให้หยุดนิ่งจนกระทั่งเข้าถึงปฐมมรรคดังกล่าวแล้ว ให้ท่านที่มาใหม่เอาใจมาหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้เอาใจมานึกคิดหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้นะ นึกสร้างมโนภาพที่เราเรียกว่า กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ นึกสร้างมโนภาพ ว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้มีดวงแก้วใสบริสุทธิ์ มีดวงแก้วใสบริสุทธิ์กลมรอบตัว โตเท่ากับแก้วตาของเรา นึกตามไปนะจ๊ะ 

 

                นึกตามไปช้า ๆ แล้วก็นึกอย่างสบาย ๆ ว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมาสองนิ้วมือมีดวงแก้วที่กลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้นึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ คล้ายกับที่เรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย หรือของที่เรารัก คนที่เรารักให้นึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ ให้นึกง่าย ๆ คล้ายกับนึกถึงของที่เรารัก นึกถึงดวงใสบริสุทธิ์ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างต่อเนื่อง ให้นึกอยู่ตลอดเวลา นึกเบาๆ นึกอย่างสบาย ๆ อย่าลืมคำนี้น่ะ นึกเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ นึกง่าย ๆ คล้าย ๆ กับการนึกถึงสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราคุ้นจะเป็นคนรักหรือจะเป็นของรักอะไรก็ตาม หรือสิ่งที่เราเคยเห็นอย่างเช่น น้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัวใบบอน หรือหยาดน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า ให้นักง่าย ๆ อย่างนั้น 

 


                นึกเบา ๆ สบาย ๆ แต่นึกเป็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตานึกไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมาสองนิ้วมือ พร้อมกับภาวนาในใจ โดยให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของ บริกรรมนิมิตดวงแก้วนั้น สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ จะกี่สิบกี่ร้อยกี่พัน กี่หมื่นครั้ง ก็ชั่งมันเถอะ แต่ทุกครั้งที่ภาวนา สัมมาอะระหัง เราจะต้องนึกถึงภาพดวงแก้วใส ๆ ไปด้วย แต่ให้นึกอย่างสบาย ๆ ให้ต่อเนื่องกันไป อย่าไปตั้งใจมากเกินไปจนกระทั่งเกิดความตึงเครียดถึงระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อตึงหมดอย่างนี้ผิดวิธีนะจ๊ะ 

 


                ต้องนึกอย่างสบาย ๆ ถ้ารู้สึกว่ามันตึงละ หัวคิ้วย่นเข้าหากันแล้ว ปวดศีรษะหน้าท้องเกร็งนั้น ก็ให้รู้ว่าตึงเกินไป ตั้งใจมากเกินไป พยายามเกินไป อยากเห็นเร็วเกินไปอย่างนี้ เราก็ต้องผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้เข้าสู่ในระดับที่สบาย ๆ แล้วก็นึกไปเพลิน ๆ ให้ต่อเนื่องอย่าเผลอ อย่าเผลอไปนึกเรื่องอื่น แต่ถ้าหักห้ามไม่ได้มันจะไปคิดเรื่องอื่นก็ปล่อยมันไปชั่วคราว พอรู้ตัว พอเรารู้ตัวว่าเผลอไปแล้วก็กลับมาใหม่ มานึกถึงดวงใหม่ นึกใหม่ ๆ มันก็เห็นไม่ชัดเจนเป็นอย่างนี้ทุกคน เป็นเรื่องธรรมดานะจ๊ะ นึกใหม่ ๆ มันก็ไม่ชัดเจน แต่ถ้านึกบ่อย ๆ ไอ้สิ่งที่ไม่ชัดเจนมันก็จะเริ่มชัดเจนขึ้นมา นึกบ่อยๆ นึกยังไง เวลานั่งอย่างเนี้ยะอย่างตอนนี้ เวลานั่งที่ตอนหลวงพ่อสอนเนี่ยะ เราก็นึกให้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ แล้วก็ภาวนาสัมมาอะระหังไปเรื่อย ๆ 

 


                แต่พอเลิกนั่งแล้วนะอยู่ในอิริยาบถไหน จะยืนทำอะไรก็ตาม ตั้งแต่ยืนเฉย ๆ กระทั่งยืนทำภารกิจก็ตาม เราก็จะต้องนึกถึงดวงใสอยู่ในกลางตัว พร้อมกับภาวนาไปเรื่อยๆ จะเดินก็ตาม ไปเดิน เดินเล่น ๆ ก็ตาม เดินทำภารกิจอะไรก็ตาม นึกเอาไว้เรื่อย ๆ นึกไว้ที่ศูนย์กลางกายว่ามีดวงใส ชำเลือง ๆ เอาไว้เรื่อย ๆ นะจ๊ะ แล้วก็ภาวนาสัมมาอะระหังไป จะนอนก็ตามแต่พอล้มตัวลงนอนก็ภาวนาไป อย่านอนฟรี ๆ นะ ภาวนาไปเรื่อย ๆ ตรึกนึกถึงดวงใสไปเรื่อย ๆ อย่างเนี้ยะเรียกว่าทำตลอดเวลา พอเราเริ่มตื่นนอน พอรู้สึกตัวตื่นนอน สิ่งแรกที่เราจะต้องนึกต้องคิดให้ใจมันคุ้นอยู่ที่ศูนย์กลางกายก็คือดวงใสๆ กับคำภาวนาสัมมาอะระหัง เมื่อเราตื่นนอนแล้วไปล้างหน้า พออาบน้ำล้างหน้าแปรงฟันก็นึกไปเรื่อย ๆ มันไม่เกี่ยวกัน แปรงฟันก็แปรงไปล้างหน้าก็ล้างไป ใจเราก็นึกไปที่ศูนย์กลางกาย เรานั่งส้วมเราก็ทำได้ ก็นึกไปที่ศูนย์กลางกาย นึกเป็นดวงใส ๆ ภาวนาสัมมาอะระหังไป ไม่เป็นบาปเป็นกรรมนะจ๊ะ 

 


                เป็นสิ่งที่ดีเพราะเราทำความดี นั้นเป็นเรื่องของร่างกายที่จะขับจะถ่ายไป พอเราอาบน้ำ อาบน้ำเราก็อาบไป อาบน้ำให้ร่างกายภายนอกสะอาดภายในก็ล้างใจให้สะอาดด้วยคำภาวนา แล้วก็ตรึกถึงดวงใสไปด้วย แล้วพอเราออกจากห้องน้ำมาสวดมนต์ทำวัตรเช้า เราก็ตรึกไปสวดมนต์ไป พอโยโสภะคะวา เราก็โยโสภะคะวา ไม่ต้องภาวนาสัมมาอะระหัง เราก็โยโสภะคะวาไป แต่ใจเราก็ตรึกถึงดวงใสบริสุทธิ์อยู่อย่างเงี้ยะ ทีนี้มันก็จะมีอุปการะ เวลาเรามานั่งสมาธิในตอนเช้าเราประคองใจตั้งแต่ตื่นนอน ล้างหน้าแปรงฟันเข้าห้องส้วม อาบนํ้าสวดมนต์ทำวัตรเช้า ประคองใจมาเรื่อย พอถึงเวลานั่งใจก็จะรวมได้เร็วมากกว่าปกติ มันก็จะฟุ้งลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ใจก็ตรึกถึงดวงใส ก็จะค่อย ๆ นึกออกนึกได้ คุ่ม ๆ ค่ำ ๆ จนกระทั่งค่อย ๆ ชัดขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย 

 


                พอเราเลิกนั่งสมาธิ เราแผ่เมตตาเราแค่ลืมตาแค่ลุกเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ใจก็ยังอยู่ตรงกลางตรงนั้นน่ะ ฝึกไปเรื่อย ๆ พอไปใส่บาตรพระ เตรียมอาหารใส่บาตรพระ ระหว่างเตรียมอาหารเราก็ตรึกไปในกลางตัว เตรียมอาหารไปด้วย ใหม่ ๆ มันก็จะหลุดไปอยู่ที่เตรียมอาหารครึ่งหนึ่ง อยู่ในกลางตัวอีกครึ่งหนึ่ง แต่เราจะเห็นว่าเราไม่ได้สูญเสียการนึกคิดที่ศูนย์กลางกายเลย ไม่ได้สูญเสียเวลาในการตรึกถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เลย พอเราเตรียมอาหารเสร็จไปใส่บาตรพระ ตักบาตร ใส่บาตร สร้างทานบารมีในตอนเช้า ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสแล้วก็ไปใส่บาตร ใส่บาตรไปเราก็ตรึกนึกไปว่า เป็นบุญลาภของเราหนอวันนี้ ได้มีพระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญเป็นอายุพระพุทธศาสนา มายืนอยู่ต่อหน้าเรา ให้เราได้มีโอกาสได้สร้างทานบารมี อาหารนี้ก็จะได้เป็นไปเป็นกำลังให้ท่านไปขบไปฉัน มีชีวิตอยู่เป็นกำลังแห่งการตรัสรู้ธรรมแห่งการหลุดพ้นคุณวิเศษของท่านไป 

 


                พอใจเราปลื้มปีติเราก็ตรึกที่ศูนย์กลางกาย ใส่บาตรไปด้วยตรึกไปด้วย กลับมาเราจะกรวดน้ำหรือไม่กรวดน้ำก็แล้วแต่เรา มีโอกาสนึกคิดถึงบุญกุศลที่เราทำตั้งแต่ตื่นนอนมาถึงตอนนี้ ใจก็เบิกบานแช่มชื่น สะอาดผ่องใสอยู่ภายใน พอใจเบิกบานรับประทานอาหารเช้าเสร็จ ทานอาหารก็ทานไป ใจเราก็ตรึกไป จะคุยอะไรก็คุยกันไปในครอบครัว แต่ใจเราก็ตรึกไป ยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน ใจก็สะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลาอยู่ในกลางกาย พอออกจากบ้านขึ้นรถ จะส่วนตัวก็ดีจะรถโดยสารก็ดีเราก็ตรึกของเราไปเรื่อย ๆ ตรึกไป สบายไปจนกระทั่งถึงที่ทํางานหรือถึงที่เราเรียนหนังสือน่ะ แล้วก็ทำใจให้ชุ่มชื่นให้ไสให้เยือกเย็น ฝึกให้คุ้นไป กลางวันเราทํางานเราก็ทําไป เรียนหนังสือเราก็เรียนไป มีเวลาเรานึกได้ว่างสักนาทีสองนาที ห้านาทีเราก็ฝึกไว้ที่ศูนย์กลางกาย ฝึกไปเรื่อย ๆ 

 


                จนกระทั่งถึงเวลาที่เราจะกลับบ้าน กลับบ้านอาบน้ำอาบท่าก็ทําในทำนองเดียวกันอย่างนี้แหละ อาบน้ำชำระร่างกายภายนอกให้สะอาด ภายในก็ให้เกลี้ยงเกลาใสบริสุทธิ์อยู่ภายใน ตรึกไปที่ศูนย์กลางกาย จนกระทั่งรับประทานอาหารเสร็จ จะทำภารกิจดูทีวีดูข่าวอะไรก็แล้วแต่ หมดข่าวแล้วก็เราก็เอาเวลานั้นมาปฏิบัติธรรมะ มาสวดมนต์ทำวัตรเย็น เรื่องละคงละครเราก็เลิกไปซะ มันไม่มีสาระไม่มีแก่นสารอะไร พอถึงเวลาเราก็ล้มตัวลงนอน ตรึกไปที่ศูนย์กลางกาย ทำอย่างนี้แหละ วันหนึ่งคืนหนึ่ง ทำไปเป็นวัน ๆ ทำไปทีละวัน ทีละช่วง ทีละเวลา ฝึกไปเรื่อย ๆ พยายามไปเรื่อย ทำอย่างนี้ไม่เกิน ๗ วัน จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงในใจเราได้ชัดเจนทีเดียว 

 


                 ศูนย์กลางกายซึ่งแต่เดิมเคยกำหนดไม่ได้ ภาพดวงใส ๆ เคยนึกไม่ออก การวางใจเบา ๆ วางไม่เป็น นึกง่าย ๆ นึกไม่ได้ นึกไม่เป็น มันก็จะเริ่มได้ เริ่มเป็นเริ่มง่าย ๗ วันก็จะเริ่มเห็นผลเริ่มง่าย ใจก็จะรวมเข้าไปสู่ภายในสัมผัสแหล่งแห่งความสุขเป็นครั้งแรก ว่าสุขที่เกิดจากใจหยุดใจนิ่งเป็นอย่างไร ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ "นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง" สุขอื่นนอกจากใจหยุดนิ่งนั้นไม่มี หมายความว่าความสุขทั้งหลายที่เราเจอกันมาแพ้ ถ้ามาเทียบกับความสุขภายในที่ใจหยุดแล้วแพ้ความสุขที่ใจหยุดนั้น เทียบกันไม่ติดเลย ยิ่งพวกที่ผ่านชาวโลกมาอย่างนี้นะดีมาก เราจะได้มีข้อเปรียบเทียบว่า เมื่อใจหยุดอยู่ภายในกับความสนุกภายนอกนั้นแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน 

 


                เพราะฉะนั้นนี่คือชีวิตประจำวันที่เราจะทำอยู่ การดำเนินชีวิตอย่างนี้เรียกว่า ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เรามีโอกาสแสวงหาหนทางพระนิพพาน ควบคู่กับการทํามาหากิน การบริหารขันธ์ การพบปะเจอะเจอผู้คนในสังคม กิจกรรมกับภารกิจอันนี้ไปด้วยกันได้ มันจะไปควบคู่กันไปอย่างสบาย ๆ อย่างไม่ต้องใช้ความพยายาม พอทำมาได้อาทิตย์นึงก็เปลี่ยนแปลงไป พอสองอาทิตย์ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แล้วก็ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ช้าเราก็ถึงเวลาแห่งความสมหวัง เวลาแห่งความสมปรารถนาที่เราได้ประคับประคองจิตใจของเราเรื่อยมาตามลำดับ ก็ถึงเวลาแห่งความสมปรารถนา วันนั้นเป็นวันที่เราชนะโลก ใจเราหยุดจากโลกทั้งหมด โลกนั้นไร้ความหมาย ความสนุกเพลิดเพลินในทางโลกก็ไร้ความหมาย 

 


                เราจะมีความสุขดื่มอยู่ภายในเมื่อพบปฐมมรรคเป็นปฐม พบปฐมมรรคเป็นเบื้องต้นเห็นดวงใสบริสุทธิ์ วันนั้นจะนั่งยิ้มได้ทั้งวัน ยิ้มของผู้ที่สมหวังนั้นสดชื่น เป็นยิ้มที่ชนะโลกเป็นยิ้มที่ทำให้โลกอยากจะยิ้มตามไปด้วย เพราะว่าเป็นยิ้มที่ออกมาจากภายในลึก ๆ เมื่อใจเข้าถึงแหล่งแห่งความสุขคือปฐมมรรคเป็นเบื้องต้น เห็นดวงใสบริสุทธิ์อยู่ภายใน ตรงนี้หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเคยเทศน์เอาไว้ว่า เห็นแค่นี้ได้อานิสงส์ ได้บุญมากกว่าสร้างโบสถ์สร้างวิหารสร้างวัดวาอารามเป็นสิบ ๆ วัดทีเดียว เพราะว่าสร้างโบสถ์สร้างวัดสร้างวิหาร โรงเรียนโรงพยาบาลหรืออะไรก็แล้วแต่ล่ะ ยังเป็นบุญกุศลที่ส่งผลให้เกิดในกามาวจร ยังไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำให้หลุดพ้น บรรลุมรรคผลนิพพาน 

 


                เพราะฉะนั้นหยุดประเดี๋ยวเดียวเห็นดวงใสบริสุทธิ์อย่างนี้บุญมหาศาล พวกเราทุกคนเป็นผู้มีสติมีปัญญา เรารู้ว่าเมื่อเราเกิดมาในโลกนี้ มีเวลาที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด เราจะใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะได้กำไรชีวิต เราจะทำบุญอย่างไรจึงจะได้บุญที่ยิ่งใหญ่ไพศาลที่ลงทุนน้อยได้ผลมาก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเทศน์เอาไว้แล้วนะจ๊ะ ว่าหยุดอย่างเดียวเห็นดวงใสอย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน มีอานิสงส์มากมายทีเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ ต่อจากนี้ไปให้ทุกท่านตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนา ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นึกถึงดวงใสพร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ต่างคนต่างทํากันไปเงียบๆ นะจ๊ะ 

 


                ให้ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ หยุดให้นิ่ง วางใจเบา ๆ นึกเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ ด้วยใจที่เยือกเย็น อย่าลืมคำนี้นะที่หลวงพ่อแนะไปเนี่ยะ สำคัญทีเดียว ที่เข้าถึงดวงปฐมมรรคเอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางดวงปฐมมรรค เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดเอาใจหยุดไปที่กลางกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายทิพย์ก็เอาใจหยุดไปกลางกายทิพย์ เข้าถึงกายรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปกลางกายรูปพรหม เข้าถึงกายอรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปกลางกายอรูปพรหม เข้าถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดไปกลางกายธรรม หยุดในหยุด หยุดในหยุดลงไปนะ หยุดให้สนิทนะจ๊ะ หยุดให้นิ่งให้ใสบริสุทธิ์ทีเดียว ฝึกซ้อมเอาไว้เรื่อยน่ะ ให้หยุดให้นิ่งในกลางของกลาง ทําบ่อย ๆ แล้วจะคล่อง ตรงกลางจะกลวงลงไปเลยน่ะ จะกลวง ใจจะโล่งเหมือนร่างกายเราเหมือนกับท่อน้ำ พอเราทำเป็นแล้วเหมือนท่อน้ำ ขยายกว้างออกไปข้างในกลวง จะเข้ากลางของกลางได้คล่อง จะพบสุขในกลางนั้น จะพบว่าที่สุขมีอยู่ที่เดียวเท่านั้น อยู่ในกลางกาย 

 


                ถ้านอกกลางนั้น ไม่มีสุขเลย มีแต่ทุกข์ล้วน ๆ กับพอทนได้ พอทุกข์ลดลงหน่อยก็อยู่ในสภาพที่ไม่สุขไม่ทุกข์ พอทน มนุษย์รู้จักแค่ไม่ทุกข์ไม่สุขแค่นั้นเองนะ รู้จักความทุกข์กับไม่สุขไม่ทุกข์ ความสุขนั้นไม่เจอ มีแต่ขอยืมคำเขามาใช้ พอความทุกข์เราลดลงอยู่ในขั้นที่พอทนได้ ก็ไปเหมาโมเมว่าเรียกว่าเป็นความสุข ที่จริงไม่เคยเจอกันเลย ตั้งแต่เกิดมานี่ กี่คนต่อกี่คนก็แล้วแต่ ไม่เคยเจอกันทั้งนั้น จะชาติไหน ภาษาไหน โมเมจนกระทั่งเหมาเอาว่านี่เป็นความสุข เลยความสุขที่แท้จริง เลยไม่แสวงหาเลย เพราะไปติดเอาคำโมเมที่สมมติเอา สุขจริง ๆ อยู่ในกลางกาย เริ่มจากหยุดนิ่ง พอทำเป็นแล้วข้างในมันกลวงโล่งไปเลย เห็นกายในกาย ๆ กายมนุษย์ กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม กายธรรมเห็นทะลุไปเลย เห็นอยากเข้ากายไหนก็เข้ากายนั้น อยากสุขพอประมาณก็เข้ากายมนุษย์ละเอียด อยากสุขเข้าไปเรื่อย ๆ ก็เข้ากายทิพย์ พรหม อรูปพรหม อยากสุขอย่างยิ่งก็เข้ากายธรรมไป กายธรรมในกายธรรม ๆ สุขไปเรื่อยเลย ไม่มีที่สิ้นสุด สุขไปเรื่อยๆ เลย 

 


                หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญเคยพูดให้ฟัง ท่านเทศน์ ท่านเทศน์เลยว่าสุขในกลางของกลางอย่างนี้ ผู้เทศน์เข้าไปเลยไม่ถอนถอยได้ ๗ วัน ไม่ถอยเลย เข้ากายธรรมในกายธรรม กายธรรมในกายธรรม เข้ากายธรรมองค์นี้สุขอย่างนี้ อีกองค์หนึ่งซ่อน ๆ ๆ กันเข้าไปเรื่อย ๆ เลย สุขเพิ่มขึ้น ๆ เพิ่มจนกระทั่ง ท่านใช้คำว่าพูดไม่ออกบอกไม่ถูก ไม่รู้จะพูดอย่างไร ไม่มีตัวอย่างในโลก เพราะในโลกมนุษย์ไม่รู้จักความสุขนี้เป็นอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นใครอยากจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในท่ามกลางภาระของชีวิตที่เรามีภารกิจอยู่ ต้องเข้ากลางของกลาง เพราะชีวิตคือการเข้ากลาง ชีวิตคือการเข้ากลาง การขจัดกิเลสอาสวะเข้าสู่อายตนนิพพาน คือวัตถุประสงค์ของชีวิต แต่ชีวิตคือการเข้ากลาง นี่ต้องหัดให้คล่องอย่างนี้นะ 

 


                ฝึกไปเรื่อย ถ้าไม่คล่องอย่าเพิ่งรีบตาย ต้องทำให้คล่องซะก่อน อย่าเพิ่งตาย อย่าเพิ่งรีบตาย อย่าเพิ่งเอาเวลาไปทำอย่างอื่น มาทำให้คล่องซะ กลางของกลางนี้ให้คล่อง ให้รู้จักว่ากลางเป็นอย่างไง เข้ากลางเป็นยังไง คล่องเป็นยังไง สุขเป็นอย่างไร อะไรคือเป้าหมายชีวิต อะไรคือวัตถุประสงค์ของชีวิต ให้รู้จักอย่างนี้ก่อน ให้ใช้เวลามาอย่างนี้นะ ถ้าใช้อย่างนี้จะสนุกกันใหญ่ทีเดียว ชีวิตนี้สนุกกันใหญ่เลย ถ้าเข้ากลางของกลางได้คล่อง เพราะฉะนั้นจำเอาไว้นะ จำให้ดี วันนี้จำอะไรไม่ได้ จำตรงนี้แหละ ทีนี้เราก็นึกน้อมเอาเครื่องไทยธรรมทั้งหลาย เรานำเอามาจากบ้านน่ะมีดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาว เรานำกันมาคนละเล็กคนละน้อย รวบรวมกันมาเนี่ยะ เราน้อมนึกอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ดีนะ นึกให้ชัดให้ใส ไม่ชัดไม่ใสก็นึกคุ่ม ๆ ค่ำๆ ถ้าสามารถนึกชัดใสแล้วก็นึกให้มันชัด ๆ 

 

                ใครเข้าถึงกายไหนก็นึกไว้ในกายนั้น จะเห็นชัดเท่ากายนั้นนะเห็นเป็นชั้น ๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อย ชัดเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ การบูชาข้าวพระก็คือการเอาเครื่องไทยธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นของหยาบ มีดอกไม้ธูปเทียนอาหารหวานคาว น้อมไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานนับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน เรียกว่าบูชาข้าวพระ แต่ก็มิได้หมายถึงว่าพระพุทธเจ้าท่านจะเสวยอาหารเหมือนมนุษย์เหมือนพระสงฆ์อย่างนี้นะ เรื่องนี้หลวงพ่อพูดบ่อย แต่ก็เจอคำถามบ่อย ๆ คำถามเดิมนี้แหละ จากพวกที่นั่งอยู่ในสภาธรรมกายตอนนี้นะ เจอบ่อย ทั้ง ๆ ก็พูดบ่อย แต่พอถึงตรงนี้ก็ไม่ค่อยจำกัน ว่าเราถวายเป็นพุทธบูชา มิได้หมายถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมกายพุทธเจ้าท่านจะเสวยแบบพระสงฆ์ จำไว้สิจ๊ะ จำไว้มั่ง จำไม่ได้ไปจดเอาไว้นะ ว่าหลวงพ่อพูดอย่างนี้ เดี๋ยวเอาเทปไปเปิดฟังบ่อย ๆ จะได้จำ ๆ กันไป 

 


                ไปถวายเป็นพุทธบูชา การที่กลั่นของหยาบเป็นของละเอียดไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมกายพระพุทธเจ้า อย่างนี้เรียกว่าบูชาข้าวพระ ส่วนของหยาบนั้นนะ เราถวายเสร็จแล้วเราก็ขอสิ่งอันเป็นมงคลมาถึงแก่เราทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการจะถวายได้ ต้องเข้าถึงธรรมกายศึกษาวิชชาธรรมกายแล้วจึงจะไปถวายเป็นพุทธบูชาได้ ดังนั้นในขั้นตอนนี้ เรารวมนึกไว้ที่ศูนย์กลางกายนะจ๊ะ นึกให้นิ่งให้ใส คุณยายคุมขึ้นไปเลย คุณยายอุบาสิกาจันทร์ คุณยายอาจารย์ของเราท่านจะเป็นผู้คุมไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมกายพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน นับร้อย นับพัน นับหมื่น นับแสน นับล้าน นับพระองค์ไม่ถ้วน มากกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้งสี่ สุดรู้สุดญาณของท่าน ท่านก็จะถวายไปเรื่อยทับทวีไปเรื่อยๆ ถวายหมดทุกพระองค์สุดรู้สุดญาณ ไปได้แค่ไหนก็ถวายไปแค่นั้น 

 


                คุณยายทับทวีคุมไปเรื่อย ๆ เลยนะ ทับทวีไปถวายไป แล้วก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่าเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ เป็นของพวกเราทั้งหลาย ที่น้อมนำมาถวายเป็นพุทธบูชา ขอบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิ สมบัติคุณสมบัติ ลาภยศสรรเสริญสุขมรรคผลนิพพานให้บังเกิดขึ้น แก่พวกเราทั้งหลาย ให้ได้ผลบุญอัศจรรย์ทันตาเห็น ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขให้เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีผู้ใจบุญอุปถัมภ์พระศาสนา ให้มีสายสมบัติบังเกิดขึ้น ได้สร้างบารมีกันไม่รู้จักหมดจักสิ้น ให้จิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์ ตรึกอยู่แต่ในพระรัตนตรัย ให้เข้าถึงธรรมกายให้เข้าถึงวิชชาธรรมกาย ขอสันติสุขอันไพบูลย์จงบังเกิดขึ้น แก่พวกเราและสรรพสัตว์ทั้งหลายกันทุก ๆ คน 


 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028906035423279 Mins