แหล่งกำเนิดบุญ

วันที่ 19 เมย. พ.ศ.2567

190467b01.jpg
 

แหล่งกำเนิดบุญ
๕ กันยายน ๒๕๓๖
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ไป เราจะได้หลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุก ๆ คน นะจ๊ะ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย คล้าย ๆ กับเรานอนหลับอย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตาหลับพอสบาย ๆ ทุก ๆ คน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยแล้วก็นึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเรา หลังจากนั้นก็ทำใจให้เบิกบาน ให้สบาย ๆ ให้สดชื่น ภารกิจอะไรก็ตามที่คั่งค้างอยู่ในใจ จะเป็นเรื่องธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัวหรือเรื่องที่นอกเหนือจากนี้ จะเป็นเรื่องอะไรก็ตามให้ปลด ให้ปล่อย ให้วางชั่วขณะที่เราจะแสวงบุญใหญ่ ให้ทำเหมือนกับเรายังไม่เคยเจอะเจอสิ่งเหล่านั้นมาก่อนเลย เหมือนเราไม่เคยเจอะเจอภารกิจมาก่อนเลย ใจของเราจะได้ว่าง ปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย ใจที่ปลอดโปร่งโล่งเบาสบายนี่แหละเป็นใจที่เหมาะสมที่จะปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัวของเรา 

 


                เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำใจของเรา ให้ปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย อันที่จริงน่ะวันหนึ่งคืนหนึ่งเนี่ย ควรจะฝึกให้เป็นนิสัย นิสัยที่เราจะปลดปล่อยวาง ภารกิจเครื่องกังวลใจให้ได้วันละอย่างน้อยเนี่ย วันละซักชั่วโมงหรือ ๒ ชั่วโมง ด้วยการทำใจให้มันสงบให้มันนิ่ง ๆ ให้มันว่าง ๆ จากภารกิจอย่างนั้นน่ะ แล้วเราจะพบสิ่งที่อัศจรรย์เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทุกวันเลย เพราะเมื่อใจเราปลอดโปร่งว่างเปล่าจากภารกิจสักชั่วครู่หนึ่ง ความสงบก็จะเกิดขึ้น ความสงบจะนำมาซึ่งความผาสุกใจ อย่างที่ไม่มีอะไรมาเทียบเทียมได้เลย

 


                ถ้าเราหมั่นฝึกฝนวันละเล็กวันละน้อยให้ติดเป็นนิสัยเนี่ย ทำอย่างนี้ทุกวันน่ะ ใจเราก็จะคุ้นเคยกับความสงบคุ้นเคย กับความสุขอย่างละเอียดอ่อนแล้วเราจะมีพลังสดชื่น ฟื้นฟูระบบกายและใจ ระบบประสาทภายในทางจิตใจเนี่ย ให้คืนสู่กายและใจที่มีสมรรถภาพ ที่เราจะเผชิญอารมณ์ต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้แล้วมันจะมีอานิสงส์ต่อเนื่อง เมื่อเรามา นำมาปฏิบัติธรรม ใจที่คุ้นกับการปลดการปล่อยการวางชั่วคราววันละชั่วโมง ๒ ชั่วโมงนี่แหละ จะนำใจให้กลับเข้ามาสู่ภายใน หยุดนิ่งในฐานที่ตั้งของพระรัตนตรัย แล้วเราก็จะเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างง่าย ๆ

 


                หลวงพ่อเสียดาย วันเวลาของชีวิตของพวกเราเนี่ย ที่ไม่ได้ให้โอกาสกับตัวเองพบความสงบใจกันทุกวัน แม้วันละเล็กละน้อยเนี่ย มักจะมุ่งเกี่ยวกับเรื่องการประกอบสัมมาอาชีวะ เรื่องครอบครัว หรือเรื่องภารกิจต่าง ๆ จนกระทั่งเรารู้สึกว่า เราไม่มีเวลา และคำว่าไม่มีเวลาเนี่ยดูเหมือนจะซึมแทรกไปในจิต ในวิญญาณในเลือดเนื้อของเราทีเดียว พอจะชวนให้มานั่งทำใจสงบเพื่อให้พบความสุขที่แท้จริงภายใน ก็จะมีคำที่มันออกมาจากจิต จากวิญญาณของเราที่เราสั่งสมไว้ คือคำว่าไม่มีเวลาว่าง ไม่มีเวลา นั่นเป็นคำที่ทำให้เราสูญเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดของมวลมนุษย์ชาติทีเดียว สูญเสียสิ่งที่สำคัญ 

 


                ความสงบของใจ นี่เป็นสิ่งที่เงินทองซื้อไม่ได้ และไม่มีสมบัติอันใดในโลกจะมาเทียบเทียมกับความสุข ความสงบทางใจได้เลย ลองดูนะจ๊ะ เวลากลับไปบ้านแล้วลองไปแสวงหาความสุข ความสงบ วันละเล็กวันละน้อยเนี่ย วันละซักชั่วโมง ๒ ชั่วโมงและโดยทางลัดที่สุดที่เราจะให้พบความสงบก็คือ ฝึกใจให้หยุดนิ่งตรงฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นทางเสด็จไปสู่อายตนนิพพานของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ยิ่งถ้าเราเอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ นอกจากจะพบกับหนทางอันประเสริฐ ที่จะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ขึ้นแล้ว ยังเป็นแหล่งกำเนิดของบุญกุศลอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้นทีเดียว 

 


                ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นแหล่งแห่งความสำเร็จ เป็นทุก ๆ สิ่งของชีวิตทีเดียว วันนี้หลวงพ่อจะแนะนำสำหรับท่านที่มาใหม่ให้รู้จักวิธีการฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ในตำแหน่งที่จะทำให้เราพบความสุขความสำเร็จในชีวิต เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีอะไรมาเสมอเหมือน และเป็นสิ่งที่เราแสวงหาอยู่ตลอดเวลา ในลึก ๆ ของใจเรา ส่วนลึกของใจเรา เรามีความรู้สึกว่าเรากำลังแสวงหาสิ่งหนึ่ง ความสุขที่แท้จริงที่อยู่ภายในนี่แหละ คือสิ่งที่เรากำลังแสวงหาอยู่ เพราะฉะนั้นตอนนี้นะจ๊ะ ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ชั่วขณะที่เรากำลังจะเจริญสมาธิภาวนา ฝึกใจให้หยุดให้นิ่งภายในปลดปล่อยวางนะจ๊ะ 

 


                โดยเราจะเริ่มคิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านให้พิจารณา สรรพสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไปในที่สุดน่ะ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ หรือจะเป็นอะไรก็ตาม เกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไม่คงที่ถาวรทั้งนั้นน่ะ ในสิ่งที่เราเจอะเจออยู่ ที่ท่านสอนอย่างนี้ก็เพื่อให้ใจของเราไม่ไปติดในสิ่งที่ไม่ใช่ของจริง ที่มันมีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายเหล่านี้ ถ้าไม่สอนอย่างงี้ ใจของเราก็จะไปติดมัน หมกมุ่นกับมัน แล้วเพลินกับมัน ความเพลินทำให้เกิดบ่อย ๆ เกิดในครรภ์มารดาบ่อย ๆ ความเกิดเป็นทุกข์ สิ่งที่ตามมากับความเกิดก็จะเป็นทุกข์ทรมานตลอดไปเรื่อย ๆ 

 


                เพราะฉะนั้นท่านต้องสอนอย่างนี้เนี่ย เพราะท่านเห็นอย่างนี้น่ะ ท่านก็เลยนำมาสอน แล้วก็ให้มองมุมกลับ ว่าชีวิตนี้มีไว้เพื่อแสวงหาสิ่งที่คงที่เป็นอมตะ ไม่เปลี่ยนแปลงมีสุขล้วน ๆ เป็นตัวตนที่แท้จริง คือท่านสอนอยู่ ๒ ภาค ภาคหนึ่ง ก็สอนไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ปกติของมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลาย ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของหรืออะไรก็ตาม เพื่อจะให้ปลดปล่อยวางสิ่งเหล่านั้น แล้วแสวงหาสิ่งที่คงที่ เป็นอมตะ มีแต่สุขล้วน ๆ ที่แท้จริง ไม่แปรปรวน เป็นตัวตนของเรา ที่เป็นสาระเป็นแก่นสารน่ะ นี่ท่านสอนกันอย่างนี้นะจ๊ะ

 


                เพราะฉะนั้นในตอนนี้เราก็พยายามพิจารณาถึงสิ่งที่ท่านได้สอนเอาไว้ เพราะความจริงก็เป็นอย่างงั้นแหละ ใจเราจะได้ไม่ติดอะไรเมื่อใจไม่ติด ใจของเราปลอดโปร่งจากเครื่องกังวลใจแล้ว ต่อจากนี้ไปเราจะได้แสวงหาสิ่งที่เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา สิ่งที่เป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา ที่กล่าวไว้แล้วทั้งหมดนี้น่ะ รวมอยู่ในธรรมกายนี้เอง ธรรมกายเป็นตัวนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา เป็นสิ่งที่เป็นอมตะ มีแต่สุขล้วน ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นตัวตนที่แท้จริง อยู่ในกลางกายของเรา อยู่ในกลางกายที่ละเอียดที่สุด กายมนุษย์ของเรานี้ มองเผิน ๆ ก็มีอยู่ที่เราเห็นเท่านั้นเองแล้วไปสิ้นสุดที่เชิงตะกอน แต่ผู้รู้ ผู้ที่รู้แจ้งเห็นแจ้งนั่นน่ะท่านค้นพบ ว่ากายของเรานี้น่ะไม่ใช่มีเพียงที่เราเห็นแค่นี้เท่านั้น มันยังมีกายที่ซ้อน ๆ กันเข้าไปอยู่ภายใน แต่เป็นกายที่ละเอียด มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อสัมผัสไม่ได้ด้วยมือ จับต้องไม่ได้ด้วยมือ แต่เห็นได้ทางใจ 

 


                เมื่อหยุดนิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนจะเห็นกายต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ ซ้อนอยู่ภายในน่ะ หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญน่ะ ท่านฝึกใจให้หยุดนิ่งแล้วก็เข้าไปค้นพบกายเหล่านี้ตรงไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทีเดียว พบว่าในกลางกายมนุษย์หยาบที่เรานั่งเข้าที่นี้เนี่ย มีกายมนุษย์ละเอียด ที่หน้าตาคล้ายกับตัวของเรา ซ้อนอยู่ภายในหน้าตาเหมือนตัวเราเลย เวลาเราส่องกระจกเห็นตัวของเรายังไง ข้างในคล้าย ๆ อย่างนั้นแหละ นั่งขัดสมาธิซ้อนอยู่ในตัวของเราจะเห็นได้ เมื่อใจเราละเอียด หยุดนิ่งถูกส่วนละเอียดเท่ากับกายมนุษย์ละเอียด เราก็จะเห็นกายมนุษย์ละเอียด และในกลางกายมนุษย์ละเอียดนั้น ยังมีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ภายใน รูปร่างสวยงามกว่ากายมนุษย์ละเอียด มีเครื่องประดับติดตัวเรียกว่ากายทิพย์ เป็นกายของชาวสวรรค์น่ะ ลักษณะเหมือนกายของชาวสวรรค์  

 


                ถ้าหากว่าเราละโลก กายนี้แตก แตกกายทําลายขันธ์ไปแล้ว กายทิพย์นี้แหละจะนำกายมนุษย์ละเอียดเนี่ย จะนำเราให้ไปถึงกายทิพย์ เมื่อไปถึงกายทิพย์ กายมนุษย์ละเอียดก็ดับไปเหลือแต่กายทิพย์ ซึ่งเป็นกายของชาวสวรรค์บังเกิดขึ้นเนี่ย นี่ซ้อนอยู่อย่างนี้เนี่ย อยู่ในกลางกายมนุษย์ ละเอียดในกลางกายทิพย์ ยังมีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่คือ กายรูปพรหมเป็นกายที่สวยงามมากมากกว่ากายทิพย์ซ้อนอยู่ภายใน นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา เหมือนกันในกายรูปพรหม ในกลางกายรูปพรหมยังมีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่ภายใน เรียกว่า กายอรูปพรหม ซ้อนอยู่สวยงามหนักยิ่งขึ้น กายทั้งหมดที่กล่าวแล้วนี้เนี่ยก็ยังไม่ใช่กายที่แท้จริง ยังไม่คงที่ยังไม่ใช่สุขล้วน ๆ แต่ว่าสุขปราณีตดีขึ้นไปตามลำดับ 

 


                กายมนุษย์ละเอียดสุขกว่ากายมนุษย์หยาบ กายทิพย์สุขกว่ากายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมสุขกว่ากายทิพย์ กายอรูปพรหมสุขกว่ากายรูปพรหม แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ อีกกายหนึ่งที่อยู่ในกลางกายอรูปพรหมนี้ เข้าไปซ้อนอยู่ในกลางนั้นน่ะ ลักษณะจะแตกต่างจากกายทั้งหลายดังกล่าวทั้งหมดเลย สวยงามมากทีเดียวลักษณะคล้าย ๆ กับพระพุทธรูปน่ะ เกตุดอกบัวตูม นั่งขัดสมาธิ หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเราเกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติทีเดียวเกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้วงามไม่มีที่ติ เป็นกายพระนะ พระรัตนตรัยนะ กายนี้ล่ะกายธรรมเป็นธรรมล้วน ๆ เลย บริสุทธิ์ล้วน ๆ เนี่ยเป็นกายธรรม ห่มจีวรแนบเนื้อแนบตัวไปเลยเนี่ย สวยงามมาก

 


                กายธรรมอันนี้แหละคือเป้าหมายที่เราจะต้องฝึกใจ ให้เข้าถึงให้ได้ถ้าเข้าถึงกายธรรมแล้ว เราจะได้รู้จักว่าสรณะที่แปลว่าที่พึ่งที่ระลึกนั้นน่ะ หมายเอากายธรรมนี้นี่เอง เพราะว่าเวลาเรามีความทุกข์ เมื่อใจหยุดอยู่ในกลางกายธรรม ทุกข์ทั้งหลายก็ดับไป มีแต่ความสุขเพิ่มพูนมาอย่างเดียว ความสุขจะพรั่งพรูทะลักออกมาทีเดียวเป็นความสุขที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูกนอกจากเข้าถึงอย่างเดียว เข้าถึงแล้วจึงจะรู้ว่ามีความสุขอันยิ่งใหญ่ แตกต่างจากความสุขที่เราได้พบปะ มาตั้งแต่เกิดกระทั่งบัดนี้ แล้วเราก็จะค้นพบได้ว่า สิ่งที่เราเรียกว่าความสุข ก่อนที่เราจะเจอกายธรรมนี้น่ะ ที่จริงมันคือ ความสนุกกับความเพลินเท่านั้น ผลจากสนุก ผลจากเพลิน ก็คือความเพลีย เพลียมั่ง มีปัญหามีเครื่องกังวลเกิดขึ้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงน่ะ มันแค่เพลินชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าวก็หมดเวลาไป แต่ความสุขที่เข้าถึงกายธรรมที่มีลักษณะมหาบุรุษ คล้าย ๆ พระพุทธรูปที่สวยงามมากงามไม่มีที่ตินี้น่ะ

 


                นี่คือความสุขที่แท้จริงเราจะทราบได้อย่างไร ว่าอย่างไหนจะมีความสุขที่ยิ่งใหญ่มากกว่ากัน เราจะทราบได้ต่อเมื่อเราเข้าถึง เข้าถึงอย่างเดียวเท่านั้นเราจะไปฟังคนอื่นพูดเท่าไหร่ กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนล้านคนก็แล้วแต่ จะไม่มีวันทราบอย่างเด็ดขาดว่าความสุขที่แท้จริงเมื่อบรรลุธรรมกายนั้นเป็นอย่างไร และเมื่อถึงธรรมกายเราถึงจะเปรียบเทียบได้ ว่าสิ่งที่เราเจอมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งบัดนี้ เทียบไม่ได้เลยกับการเข้าถึงพระธรรมกายภายใน เพราะฉะนั้นพระธรรมกายนี้จึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึกอันสูงสุด ให้เราปลอดภัยทั้งหลายได้ ภัยในวัฏสงสารก็ดี ภัยในอบายภูมิก็ดี แม้ภัยในปัจจุบันนี้ก็ตามเข้าถึงธรรมกายเมื่อไหร่ ปลอดภัยเมื่อนั้น ภัยในอบาย ปิดประตูอบายได้เลย 

 


                ถ้าเข้าถึงธรรมกายแล้ว ไม่ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานไม่ไปเกิด ธรรมกายเลือกภพภูมิได้ จะไปเกิดในภพภูมิไหนก็ได้เหมือนธรรมิกอุบาสก ท่านได้บรรลุธรรมกาย มีความสุขอยู่ในธรรมกาย สั่งสมบุญเป็นนิจอย่างสม่ำเสมอ ทั้งให้ทาน ทั้งรักษาศีล ทั้งเจริญภาวนา เมื่อใกล้จะละโลก ชาวสวรรค์ทั้งหกมาปรากฏให้ท่านธรรมิกอุบาสกได้เห็น และก็เชื้อเชิญให้ไปสู่ภพภูมินั้น ธรรมิกอุบาสกเลือกภพภูมิได้ เพราะชาวสวรรค์ทั้งหลาย ยินดีต้อนรับและรู้สึกว่าเป็นสิริเป็นมงคลอย่างยิ่ง ถ้าหากได้ต้อนรับผู้ที่ได้บรรลุธรรมกายไปอยู่ในภพภูมินั้น เป็นความปลื้มปิติของชาวสวรรค์ในแต่ละชั้นนั้น 

 


                เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ใจจะผ่องใสไม่เศร้าหมองเลย เห็นธรรมกายใสแจ่มสว่างอยู่ในกลางนั้นน่ะ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายมีความสุข สุขทุกขณะแม้อยู่บนเตียงคนป่วย ซึ่งใกล้ต่อมรณภัยที่จะถึงก็ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัยไม่มีความคิดว่าตัวเราตายเลย แล้วก็ไม่วิตกกังวลอะไรทั้งสิ้นสุขอยู่ในธรรมกายแม้ร่างกายจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงก็ตาม ธาตุจะแตกก็ตาม แต่ใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อกายนั้นแตกทำลายไปแล้ว ธรรมกายก็ไปเลย ไปสู่ภพภูมิตามกำลังบุญที่เราจะเลือกเอาไปสู่ภพภูมิไหนก็ได้ ปิดประตูอบาย มีความสุขอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยตัวเองได้แล้วเนี่ย ยังช่วยผู้อื่นได้ด้วย ช่วยขจัดทุกข์ โศก โรคภัยก็ได้ ไปนรกก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้ ไปนิพพานก็ได้ ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะมีอานุภาพขนาดนี้ แต่มันก็เป็นอย่างนี้ 

 


                หมู่ญาติละโลกไปอยู่ในภพภูมิไหนเข้าธรรมกายไปรู้เห็นหมดไปช่วยได้ เพราะฉะนั้น ธรรมกายนี้แหละเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเราทั้งหลาย สิ่งอื่นที่จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว คำว่าสิ่งอื่นก็คือสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมกายไม่ใช่พระรัตนตรัย เช่น ต้นไม้ ภูเขา จอมปลวก เจ้าทรงผีสิง หรืออะไรที่นอกเหนือจากนี้น่ะ นั่นไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐ ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นยามใดที่เราประสบทุกข์สิ่งที่เราควรจะระลึกก็คือ พระรัตนตรัยนี้เท่านั้น พระรัตนตรัยซึ่งอยู่ภายในกลางกายของเราน่ะ ตรงฐานที่เจ็ดนี้เท่านั้น เอาใจมาหยุด เอาใจมานิ่งให้ถูกส่วนในกลางกาย พอถูกส่วนแล้วไม่ช้าเราก็จะเข้าถึง เห็นธรรมกายใสแจ่มสว่าง เมื่อนั้นแหละความทุกข์ทั้งหลายก็ดับไป หมดไป จะมีแต่สุขล้วน ๆ 

 


                เพราะฉะนั้น พระธรรมกายคือตัวพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่ระลึกอันประเสริฐที่แท้จริงอย่างเดียวเท่านั้นนะจ๊ะ เกิดมาชาติหนึ่งได้ฟังคำนี้ ได้มีโอกาสมาปฏิบัติ ได้เข้าถึงพระธรรมกายด้วยตัวของเราเองเกิดมาชาตินี้สมปรารถนา ธรรมกายคือ สุดยอดแห่งบุญ สุดยอดแห่งโชค เพราะฉะนั้นคำว่า ภควา นะ ผู้มีโชค โชคที่ประเสริฐที่สุดก็คือการเข้าถึงธรรมกายนี่เอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ธรรมกายนี้มีหลายลำาดับ หลายชั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงแจกแจงมีอยู่หลายลำดับ ตั้งแต่ธรรมกายโคตรภู เป็นโคตรภูบุคคล ธรรมกายพระโสดา เป็นพระโสดาบัน ธรรมกายพระสกิทาคามี ธรรมกายพระอนาคามี ธรรมกายพระอรหันต์ ทั้งหมดนี้เป็นทักขิไณยบุคคล เป็นทักขิไณยบุคคล 

 


                เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายให้จำเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ โดยเฉพาะผู้ที่มาใหม่น่ะ พระธรรมกายอยู่ในกลางกายของเรานี้ คือตัวพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐ สิ่งอื่นที่จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกยิ่งกว่านี้หรือเท่านี้ไม่มีอีกแล้วนะจ๊ะ เมื่อเราได้ทราบอย่างนี้ ต่อจากนี้ไปท่านที่มาใหม่ก็ฝึกใจให้หยุดนิ่ง หยุดนิ่งอยู่ในกลางกาย ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดต่อจากนี้ไปท่านที่มาใหม่ก็ฝึกใจให้หยุดนิ่ง หยุดนิ่งอยู่ในกลางกาย ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ให้รู้จักฐานทั้งเจ็ดก่อนนะจ๊ะ ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตา ตรงหัวตาที่น้ำตาไหล ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากอาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้องระดับเดียวกับสะดือของเรา 

 


                สมมติว่าเราเอาเส้นด้าย ๒ เส้น มาขึงให้ตึง เส้นด้ายเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็มตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกันแล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ฐานที่เจ็ด ซึ่งเป็นที่เราจะต้องนำใจมาหยุดมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้ เพราะว่าธรรมกายเกิดขึ้นที่ตรงนี้ สิงสถิตอยู่ที่ตรงนี้ เจ็ดฐานนี้เป็นสิ่งที่ท่าน ที่มาใหม่จะต้องศึกษาให้เข้าใจนะจ๊ะ คราวนี้เราทบทวนนะ สำหรับท่านที่มาใหม่ ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก ฐานที่ ๒ เพลาตา หญิงซ้าย ชายขวา ฐานที่ ๓ กลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๔ เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ กลางท้องในระดับเดียวกับสะดือ ฐานที่ ๗ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ทีนี้เราสมมติเอาดวงใส ๆ นะจ๊ะ นึกถึงดวงแก้วใส ๆ สิ่งที่ใส ๆ จะเป็นเพชรซักเม็ดหนึ่งให้ไส เพชรลูกที่ใสที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมวนะ 

 


                ไล่ตามฐานต่าง ๆ เราจะได้รู้จักฐานต่าง ๆ ก็ให้สมมติกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาเป็นดวงแก้วที่ใสประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีด ไม่มีข่วน คล้ายขนแมว โตเท่าแก้วตา หรือขนาดที่จะลอดช่องปากช่องจมูกได้นะจ๊ะ กำหนดที่ปากช่องจมูกคือเอามาตั้งที่ตรงนั้นนะ เป็นจุดเป็นดวงสว่างใสเหมือนกับเพชร โตขนาดลอดช่องปากช่องจมูกได้นะจ๊ะ ตรงนั้นน่ะ เราตั้งไว้ที่ตรงนี้ หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวาชั่วระยะ ๓ คำภาวนาให้ใจเราตรึก นึกถึงดวงนิมิตใส ๆ ใสขนาดเพชรลูก เพชรที่โดนแสงน่ะ ใส ๆ ใสเหมือนเพชรนะจ๊ะ ปากช่องจมูกนานเท่า ๓ คำภาวนา แล้วก็ภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ครบ ๓ ครั้งก็เลื่อนไปที่หัวตา เลื่อนเข้าไปในจมูกเลยนะจ๊ะ ไปหยุดที่หัวตา ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของดวงใสนานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง เลื่อนมาที่กลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๓ นะจ๊ะ ระดับเดียวกับหัวตาของเรา อยู่กลางศีรษะทีเดียว ตอนนี้เราสมมติว่ากะโหลกศีรษะไม่มีมันสมองเป็นที่กลวงๆ โล่ง ๆ โล่ง ๆ ว่าง ๆ มีแต่ดวงสว่างอยู่ในกลางกั๊กศีรษะซึ่งเป็นฐานที่ ๓ เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส ตรึกนึกถึงความใสที่กลางกั๊กศีรษะนะจ๊ะ 

 


                นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ครบ ๓ ครั้งก็เลื่อนมาที่ฐานที่ ๔ เพดานปาก ตรงเพดานปากนะจ๊ะ ช่องปากที่อาหารสำลัก ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิต นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหังสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้งก็เลื่อนมาที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือกซึ่งเป็นฐานที่ ๕ ใจของเราก็ยังตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิต นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ครบ ๓ ครั้งก็กลืนเข้าไปในท้องเลย ที่เราใช้คำว่าเลื่อนลงไปในกลางท้อง ไปหยุดอยู่ที่ ฐานที่ ๖ ตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง ที่ขึงจากสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้ายนะจ๊ะ เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสเหมือนเดิมน่ะ ตรึกนึกถึงดวงใสบริสุทธิ์ นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง ก็เลื่อนถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ๒ นิ้วมือ นะจ๊ะ ตรงนี้เรียกว่าฐานที่เจ็ด

 


                ต่อจากนี้ไปเราจะไม่เลื่อนไปที่ไหนแล้วนะจ๊ะ เอาใจหยุดอยู่ที่จุดนี้จุดเดียว ใจตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิตที่ใสเหมือนกับเพชรลูก เพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดไม่มีส่วนคล้ายขนแมว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมวนะจ๊ะ โตเท่ากับแก้วตาของเราน่ะ ให้ใจเนี่ยตรึกนิ่งอย่าให้แวบไปที่อื่นเลยนะจ๊ะ ทีนี้คำภาวนา ไม่ใช่แค่ ๓ คำภาวนาแล้ว เราภาวนาไปเรื่อย ๆ จะกี่สิบกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่แสนครั้งก็ตาม ให้ภาวนาไปอย่างสบาย ๆ ใจน่ะโดยใจของเราก็ตรึกนึกถึงดวงใส นึกในใจนะจ๊ะ อย่าเอาลูกนัยน์ตาไปจ้องดูนะตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ ภาวนาไปเรื่อย ๆ นึกถึงดวงใสไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ นะจ๊ะ อย่าไปตั้งใจมากให้นึกเบา ๆ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ แล้วอย่าเพิ่งไปกังวลหรือหวังผลอะไรที่จะเกิดขึ้นให้ทำแค่ตรึกนึกถึงดวงใสที่ฐานที่ ๗ นะจ๊ะ 

 


                ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางความใส พร้อมกับภาวนาในใจสัมมาอะระหังอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยยังไม่หวังว่าผลอะไรมันจะเกิดขึ้น ให้ทำอย่างนี้น่ะแค่นี้ เท่านั้นน่ะ ทำอย่างนี้แค่นี้เท่านั้น แล้วสังเกตดูว่าเราภาวนาอย่างสบาย ๆ หรือเปล่า ถ้าไม่สบายก็ปรับ ปรับให้มันสบาย ไม่สบายมันก็ อย่างน้อยมันก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือหนึ่งตั้งใจมากเกินไป ตั้งใจมากเกินไปนะจ๊ะ ถ้าตั้งใจมากเกินไปนี้ มันจะมีสัญญาณที่ร่างกาย เขาจะเตือนเลยว่า ตึงเกินไปแล้ว เพราะว่ามันตึงจริง ๆ ตึงตา ตึงหัวคิ้ว ตึงหน้าผาก ตึงเนื้อตึงตัว ตึงไปทั้งร่างกายเลย นั่นเราตึงไปแล้ว อย่าไปฝืนทำต่อนะจ๊ะ ผิดวิธี หรือไม่อันที่สองก็คือหย่อนไป หย่อนไปก็นึกไปเรื่อยเปื่อยจนกระทั่งไม่ได้ใส่ใจจริงจัง ใจก็ฟุ้งซ่านเรื่อยไป เหมือนเอาแป้งใส่กระด้งแล้วลมเป่ามันฟุ้งไปยังงั้นน่ะ ไอ้นั่นเรื่อยเปื่อย อย่างนี้ก็ไม่มีผลนะจ๊ะ ปฏิบัติไม่ถูกเหมือนกัน การปฏิบัติธรรมก็คือการแสวงหาความพอดีนั่นเอง แสวงหาความพอดีนั่นเอง ความพอดีเนี่ยให้สังเกตตรงนี้ 

 


                เมื่อเรานั่งแล้วเราสบายใจ ตรึกแค่ดวงใส หยุดที่กลางดวงใสในกลางท้องฐานที่เจ็ด แล้วก็ภาวนาไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ใจก็เย็นฉ่ำทีเดียวไม่เร่าร้อน ไม่เร่งรีบ ไม่เร่งร้อน รู้สึกว่าทำอย่างนี้สบาย ทำแค่นี้ อย่างนี้ เท่านั้นน่ะ นี่คือความพอดีในเบื้องต้น นี่คือความพอดีในเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่ความพอดีอย่างแท้จริง ความพอดีอย่างแท้จริงเราจะพบได้เมื่อใจหยุด คือเราพอดีอย่างเบื้องต้นนะจ๊ะ ค่อย ๆ ประคองใจไปอย่างนี้แค่นี้ เท่านั้น ไม่ช้าใจ มันก็จะหยุดนิ่ง ที่เราเรียกว่าถูกส่วนน่ะ ถูกส่วนก็คือ พอดีนั่นเอง เมื่อใจเราถึงจุดแห่งความพอดีแล้วน่ะ สิ่งที่จะบังเกิดขึ้น เราจะเข้าถึงธรรมดวงแรก ดวงธรรมดวงแรก ดวงธรรมนะจ๊ะดวงแรกบังเกิดขึ้นคำว่าธรรมะนี่มันแปลได้หลายอย่างนะจ๊ะ 

 


                ในพระไตรปิฎก มีผู้รวบรวมไว้ตั้ง ๕๐ กว่าอย่าง แต่ว่ามีอยู่สองสามอย่าง ที่ทำให้เราเข้าใจง่าย ท่านแปลไว้ว่า ธรรมะคือความถูกต้องดีงาม บางทีก็แปลว่าคือความสว่าง บางท่านก็แปลว่าความบริสุทธิ์ บางท่านบอกลักษณะเลย เป็นดวงกลมใส ๆ อยู่ภายในกลางตัว เป็นดวงกลมใส ๆ กลมเหมือนดวงแก้วอย่างนี้น่ะ แต่ว่าละเอียดอ่อนกว่า ใสบาง ไม่มีมวลของแก้วเลยล่ะ ใสบาง นั่นล่ะเมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนพบความพอดี ก็จะเจอดวงธรรมเบื้องต้น นั่นล่ะ คือสัญลักษณ์แห่งความพอดี แล้วหลังจากนั้นก็จะเห็นธรรมดวงต่อ ๆ ไป เรื่อยไปเลย อยู่ในกลางนั้นเกิดขึ้นมา ขยายกว้างออกไปรอบตัว แล้วก็เห็นกายในกายดังกล่าว ตั้งแต่เบื้องต้นแล้วน่ะ บังเกิดขึ้น เมื่อเราเข้าถึงจุดแห่งความพอดี ก็จะเกิดการปรับตัวภายนอก ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันก็จะแสวงหาสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตเท่านั้น สิ่งที่เกินจำเป็นก็แจกจ่ายเฉลี่ย แจกจ่ายกันออกไป ความพอดีจะรู้จักได้เมื่อใจหยุดนิ่งอย่างนี้นะจ๊ะ

 


                เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปเอาใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายอย่างนี้ ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ สำหรับดวงใสที่เราตรึกนึกนี่น่ะ นึกได้แค่ไหน ก็ให้พอใจแค่นั้นไปก่อนนะจ๊ะ นึกได้ลัว ๆ ลาง ๆ ก็ให้พอใจที่เรานึกได้แค่นั้นไปก่อนนะจ๊ะ นึกได้ชัดเจนเกือบเท่าลืมตาเห็นก็ให้พอใจอย่างนั้นไปก่อน นึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ทำอย่างนี้แค่นี้ไปก่อนนะจ๊ะ ให้สบาย ๆ สังเกตดูสบาย ๆ น่ะ กายโล่งโปร่งเบาสบาย กลางกายก็มีดวงใสใจก็หยุดนิ่งอยู่ในภายในนั้น ส่วนท่านที่ทำเป็นแล้วก็ปล่อยใจเข้าไปสู่ภายในไปเรื่อย ๆ ปล่อยใจเข้าไปสู่กลางนั้นไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ กลางดวงธรรม กลางกาย กลางองค์พระ ท่านที่เห็นองค์พระในองค์พระก็มองไปเรื่อย ๆ เลย เข้าไปสู่สรณะภายในที่ซ้อน ๆ กันอยู่ในกลางกายนั้นน่ะ ท่านจะได้กลั่นกาย วาจา ใจ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ อากาศ ทั้งเห็น ทั้งจำ ทั้งคิด ทั้งรู้ เราให้สะอาดให้บริสุทธิ์ 

 


                ถ้าองค์พระผุดเกิดขึ้นมาเท่าไหร่ เราก็ปล่อยให้ท่านผุดเกิดขึ้นมาอย่างนั้นน่ะ ธาตุธรรมในตัวเราจะได้สะอาด จะได้บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปต่างคนต่างทํากันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ จนกว่าจะถึงเวลาอันควรเอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่าให้ใจคลาดเลยนะจ๊ะ อย่าให้หลุดจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจของเราให้หยุดในหยุด หยุดในหยุด หยุดในหยุด นึ่งในนิ่ง นิ่งในนิ่งลงไป นิ่งลงไปที่กลางกายฐานที่ ๗ ใจหยุดนิ่งให้ดีนะจ๊ะ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ หยุดนิ่งไม่ต้องภาวนาสัมมาอะระหังแล้วนะจ๊ะ ให้เอาใจหยุดนิ่งอย่างเดียว ท่านที่เข้าถึงดวงธรรมภายในตั้งแต่ดวงปฐมมรรคหรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ก็ให้เอาใจหยุดนิ่งที่กลางดวงธรรมนั้นนะจ๊ะ 

 


                ใครเข้าถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติวิมุตติญาณทัสสนะ ถึงดวงธรรมดวงไหน ก็เอาใจหยุดไปที่กลางดวงธรรมดวงนั้นอย่างสบาย ๆ ให้ใสที่สุดเลย ให้ใสเหมือนเพชรเลย ยิ่งกว่าเพชร ให้สว่างเหมือนพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น ให้ชัดเจนเหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอก หรือยิ่งกว่านั้นนะจ๊ะ ให้ชัดทีเดียว ให้ชัดในชัด ชัดในชัด ให้ใสละเอียดทีเดียว ที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายมนุษย์ละเอียด ถึงกายทิพย์ก็เอาใจหยุดเข้าไปที่กลางกายทิพย์ ถึงกายรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายรูปพรหม ถึงกายอรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหม ถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายธรรมฐานที่ ๗ ของกายธรรมอยู่ตรงกันเลยนะจ๊ะ ที่เดียวตรงกัน ใครที่เข้าถึงกายธรรมในกายธรรม กายธรรมในกายธรรมได้น่ะ เห็นองค์พระซ้อนๆ กันได้ ก็เอาใจหยุดไปเรื่อย ๆ 

 


                หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดคือทุกสิ่ง พอใจหยุดนี้เป็นตัวสำเร็จเลย สำเร็จที่เข้าถึงดวงธรรมถึงกายต่าง ๆ ดังกล่าวทั้งหมดเลย หยุดตลอดเวลาเลยจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม พอใจหยุดนี้ พระอรหันต์ใจท่านก็หยุด พระธรรมกายโคตรภู เป็นโคตรภูบุคคล ใจท่านก็หยุดที่กลางกายธรรมโคตรภู พระโสดาบัน ใจท่านก็หยุดที่กลางกายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา พระสกิทาคามีใจท่านก็หยุดที่ศูนย์กลางกาย ของธรรมกายพระสกิทาคามีหน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา พระอนาคามีเหมือนกันใจท่านจะหยุดอยู่ที่ กลางกายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วาสูง ๑๕ วา พระอรหัตเหมือนกันใจท่านจะหยุดอยู่ที่ กลางกายธรรมพระอรหันต์ ๒๐ วา หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา หยุดอย่างงั้นตลอดตั้งแต่เบื้องต้นกระทั่งเป็นพระอรหันต์ทีเดียว หยุดอย่างเดียวหยุดเป็นตัวสำเร็จ และก็หยุดคือทุกสิ่งทีเดียว ให้หยุดอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                หยุดนี่ถอดออกมาจากคำสอนของพระบรมศาสดาทีเดียว ทุกพระองค์ ยืนยันเหมือนกันหมด ว่าหยุดเป็นตัวสำเร็จ เพราะฉะนั้นต้องหยุดให้ได้นะจ๊ะ หยุดให้นิ่ง นี่เราก็ให้หยุดในหยุด หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง นิ่งลงไปนะจ๊ะ หยุดให้นิ่งที่กลางสภาวธรรมที่เราเข้าถึงอย่างสบาย ๆ อย่าไปหยุด ๆ กด ๆ นะ หยุดอย่างสบาย ๆ ทำใจให้สบาย ๆ นะจ๊ะ ใจเย็น ๆ ให้นิ่ง เมื่อใจเราหลุดพ้นจากความตระหนี่ กระแสบุญก็เกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ ติดอยู่ในกลางกายน่ะเป็นดวงบุญสว่างกลมรอบตัวสว่างสุกใสทีเดียวเป็นดวงใสบริสุทธิ์ เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จ ในชีวิต ตั้งแต่เป็นปุถุชนจนกระทั่งถึงเป็นพระอริยเจ้า และกระแสธารแห่งบุญน่ะ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายติดหมดเลย ใครตั้งใจมาก ดวงบุญนั้นก็โตใหญ่ ใครตั้งใจน้อย ดวงบุญนั้นก็หย่อนลงมา ใครหยุดได้ สนิทมาก ดวงบุญก็โตและก็สุกใสมาก สว่างมากใครหยุดได้น้อย ดวงบุญก็เล็กลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ 

 


                บุญน่ะเป็นบ่อเกิดได้รูปสมบัติที่ดี มีทรัพย์สมบัติมาก มีคุณสมบัติที่เต็มเปี่ยมทุกอย่าง ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญสุข มรรค ผล นิพพาน สมบูรณ์ไปหมดเลย บุญเป็นบ่อเกิดเป็นแหล่งกำเนิดทีเดียว ดลบันดาลให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา ติดหมดทุกกาย ติดทั้งกายมนุษย์ กายทิพย์ พรหมอรูปพรหมที่ซ้อน ๆ กันอยู่ยังนั้นน่ะ ติดกายธรรมติดหมดติดไปทุกภพทุกชาติ กระทั่งเข้าสู่อายตนนิพพานทีเดียว ดวงบุญส่งผลหมดให้มีรูปสมบัติอันงามแข็งแรง อายุยืน เป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจมวลมนุษย์ทั้งหลายเนี่ย มีทรัพย์สมบัติมาก มีทรัพย์สมบัติมาก แก้ว แหวน เงิน ทอง เพชร นิล จินดา สมบัติต่าง ๆ เครื่องบริโภค อุปโภค พวกพร้องบริวาร พร้อมหมดเป็นอุปกรณ์ในการสร้างบารมีทีเดียวที่ตั้งใจเป็นประธานรอง ประธานทองก็ดีให้สำเร็จสมความปรารถนา เป็นอัศจรรย์เลย จะหล่อรูปหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นทองคำก็ให้สำเร็จจะสร้างที่ประดิษฐานรูปหล่อนั้นก็ให้บรรลุสมความปรารถนา ให้สมบัติไหลมาเทมาทุกวันทุกคืน และเมื่อตั้งใจเป็นประธานรอง ประธานทองแล้วต้องทำให้ได้ ผังแห่งความสำเร็จจะได้ติดไปในภพเบื้องหน้าทุกภพทุกชาติกระทั่งเข้าสู่อายตนนิพพาน

 


                เพราะฉะนั้นอธิษฐานจิตทุกวันนะจ๊ะ นึกถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ขอบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิของท่านน่ะ ให้ดลบันดาลให้สิ่งที่เราตั้งใจเป็นประธานรองประธานทอง ที่จะหล่อรูปท่าน ให้สำเร็จสมความปรารถนานะ นึกอธิษฐานอย่างนี้ทุกวัน ทุกคืนตลอดเวลาเลยน่ะ นึกไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ หลวงพ่อวัดปากน้ำซึ่งท่านมีกายละเอียด มีธรรมกายที่ละเอียด ท่านจะได้ส่งผังสำเร็จลงมาให้เราได้บรรลุเป้าหมาย ให้เราได้บรรลุเป้าหมาย เพราะฉะนั้นต้องอธิษฐานจิตอย่างนี้ทุกวัน นึกทุกวันว่าเราจะต้องเป็นประธานรอง ประธานทองให้ได้ เราจะต้องทำให้สำเร็จ เราจะไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น เราจะไม่นึกถึงอุปสรรค เราจะนึกถึงแต่เป้าหมายว่าจะทำให้สำเร็จ สำเร็จ สำเร็จ นึกอย่างนี้ทุกวันเลย แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นนะจ๊ะ เราพยายามปฏิบัติธรรมให้เข้าถึง แล้วก็ชักจูงกันต่อ ๆ ไป ใครเข้าใกล้เราน่ะ จะเป็นใครก็ตามชวนมาปฏิบัติธรรมชวนให้เขาได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน 

 


                ประเทศไทยของเรานี่ได้ชื่อว่าเป็นแดนแห่งการตรัสรู้ธรรม ได้บรรลุธรรมกายก็ดี ในประเทศไทย แล้วได้เก็บรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ อย่างถูกต้องร่องรอยตรงไปตามความเป็นจริงเอาไว้ดีที่สุดในโลก เราทุกคนควรจะต้องหวงแหนพระพุทธศาสนา ในเมืองไทยเอาไว้ ช่วยกันศึกษา ฝึกฝน รักษาและปกป้อง แล้วก็ขยายต่อไปให้พระพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งที่ระลึก ต่อคนไทย ต่อมวลมนุษย์ชาติ ต่อชาวโลก เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเนี่ยเป็นสิ่งที่สำคัญนะจ๊ะ เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้เรามีความสุขมีความเจริญ ประเทศไทยนี้อยู่ได้ด้วยร่มเงาของพระพุทธศาสนา อย่าให้มีสิ่งอื่น แปลกปลอมมาแทรกแซงไปได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนานี่ช่วยกันรักษาเอาไว้ให้ดี ต่อจากนี้ไปก็ให้ตั้งใจอธิษฐานจิตตามใจชอบกันทุก ๆ คนนะจ๊ะ 


 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.052715686957041 Mins