วิธีเผยแผ่ศาสนาในสมัยพุทธกาล

วันที่ 20 มิย. พ.ศ.2567

 

670620_b29.jpg

วิธีเผยแผ่ศาสนาในสมัยพุทธกาล

           เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าพระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ศาสนา ได้รวดเร็วและกว้างขวาง ในท่ามกลางเจ้าลัทธิและศาสดามากมายที่ต่างก็มีชื่อเสียงและเป็นที่นับถือของผู้คนในยุคสมัยนั้น โดยสามารถโน้มน้าวผู้คนในทุกรัฐทุกแคว้นแห่งชมพูทวีปให้ละทิ้งลัทธิความเชื่อถือเดิมของตนสมัครใจเข้ามาเป็นพุทธมามกชน ไม่เว้นแม้แต่ผู้เป็นเจ้าลัทธิหรือเป็นนักบวชในลัทธิอื่นจำนวนไม่น้อยที่ยอมตนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วได้บรรลุมรรคผลกันโดยทั่วหน้า ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงพระพุทธานุภาพและยุทธศาสตร์ในการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์ได้เป็นอย่างดี

หากตั้งคำถามว่าพระพุทธองค์ทรงมีวิธีการอย่างไรในการเผยแผ่ศาสนาจึงมีผลสัมฤทธิ์ยอดเยี่ยมเห็นปานนี้

            ท่านบุรพาจารย์ทางศาสนาได้พยายามศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์วิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์และของพระสาวกแล้วสรุปวิธีต่างๆ ที่ทรงใช้ได้ ๗ ประการด้วยกัน โดยท่านตั้งชื่อวิธีเหล่านั้นเป็นพิเศษว่า
 

๑. อุปนิสินนกถา
 

๒. ธัมมีกถา


๓. โอวาทกถา
 

๔. อนุสาสนีกถา


๕. ธัมมสากัจฉากถา


๖. ปุจฉาวิสัชนากถา


๗. ธัมมเทสนากถา


ทั้งเจ็ดวิธีนี้มีรายละเอียดที่ทรงปฏิบัติดังนี้

๑. อุปนิสินนกถา

           อุปนิสินนกถา คือวิธีสอนธรรมแก่คนที่มาเข้าเฝ้าซึ่งมีผู้เดียวบ้าง หลายคนบ้าง หรือแก่คนที่ทรงพบปะด้วย เมื่อผู้ใดมาเข้าเฝ้าหรือเสด็จไปพบผู้ใดก็จะทรงทักทายปราศรัยด้วยไมตรี ถามไถ่สุขทุกข์ตามธรรมเนียม ผู้ใดมีทุกข์มาก็ทรงปลอบใจให้คลายทุกข์ทรงให้สติให้แนวคิดสะกิดใจเพื่อให้ตัดใจคลายเศร้า ผู้ใดท้อแท้หมดหวังก็ทรงให้กำลังใจมิให้ท้อถอย ให้เพิ่มเพียรเพิ่มอุตสาหะมากยิ่งขึ้น

         ผู้ใดมืดมิดมองไม่เห็นทางข้างหน้าก็ทรงชี้ทางถูกให้เดิน ดังนี้เป็นต้นบางคราวเสด็จไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยไข้ ทรงแนะนำให้เกิดสติเกิดปัญญามองเห็นสภาวะความเป็นจริงของชีวิตจนกระทั่งจิตใจของผู้นั้นปลอดโปร่งหมดกังวล วิธีเหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้คนที่พบปะสนทนากับพระองค์ได้บรรลุธรรมบ้าง ได้ความแช่มชื่นเบิกบานใจบ้าง จึงต่างก็ยอมตัวมาเป็นสาวกเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา

         วิธีสอนธรรมแบบนี้เป็นแบบที่ง่ายที่สุด ทำได้ตลอดเวลา ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก เพียงผู้ใดมาพบหรือได้พบปะผู้ใด เพียงยิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรี ทักทายด้วยดีแบบทักก่อน แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ เตือนใจเมื่อเห็นว่าเขาเดินทางผิดด้วยปิยวาจาปลอบใจให้คลายทุกข์เมื่อเขาเศร้าเสียใจ ให้กำลังใจเมื่อเขาทำดีเป็นต้น แม้คำที่พูดออกไปจะเป็นคำธรรมดาพื้นๆ ไม่เป็นธรรมะโดยตรงหากทำให้เขาสบายใจคลายทุกข์ ได้รับความชื่นใจและเกิดปีติยินดีได้ก็นับว่าเป็นความสำเร็จในส่วนนี้แล้ว

         การสอนธรรมแบบนี้จึงเป็นการสอนธรรมแบบเริ่มต้นในระดับรากหญ้าและสามารถทำได้บ่อยๆ ด้วย เพราะในแต่ละวันนั้นต้องพบปะผู้คนบ่อยอยู่แล้ว หากได้พูดคุยด้วยถ้อยคำที่เป็นธรรม เป็นปิยวาจา ทำให้เกิดสติ ก็ถือได้ว่าเผยแผ่ธรรมแล้วเช่นกัน

 

๒. ธัมมีกถา
          ธัมมีกถา คือวิธีสอนธรรมโดยทรงยกหัวข้อธรรมข้อหนึ่งหรือหมวดหนึ่งซึ่งเป็นข้อควรรู้ ควรเว้น ควรปฏิบัติ หรือเรื่องราวข้อเท็จจริงบางอย่างขึ้นมาแล้วทรงชี้แจงแสดงเนื้อหาสาระแห่งธรรมนั้นๆไปโดยละเอียด เป็นการอธิบายขยายความธรรมข้อนั้นๆ โดยชัดเจนแจ่มแจ้ง ประกอบด้วยอัตถะ (เนื้อหาสาระ) ประเภท (ข้อย่อย) เหตุ (เค้ามูลที่ทำให้เกิดผล) ผล (สิ่งที่ได้รับ) อุปมา (ข้อเปรียบเทียบ) และสาธก (ตัวอย่าง) นำให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น เช่นตรัสว่าศีลเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาเป็นอย่างนี้ ศีลที่รักษาดีแล้วมีประโยชน์มีอานิสงส์อย่างนี้ เป็นต้น

          ธัมมีกถาที่นิยมนำมาปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันได้แก่วิธีที่เรียกว่าปาฐกถาธรรมหรือบรรยายธรรม ซึ่งมุ่งให้ผู้ฟังได้ความรู้ความเข้าใจข้อธรรมเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์จากการฟัง คือได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟังบ้าง ได้ความชัดเจนในเรื่องนั้นบ้าง หมดหรือคลายสงสัยในเรื่องนั้นบ้าง จิตใจแช่มชื่นผ่องใสขึ้นบ้าง มีความเห็นที่ถูกต้องตรงตามเป็นจริงบ้าง สำหรับบางคนเกิดความพอใจและความอุตสาหะนำสิ่งที่ฟังนั้นไปปฏิบัติทำให้ได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติของตน ที่พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปได้อย่างรวดเร็วก็ด้วยวิธีการสอนแบบนี้อย่างหนึ่ง

 

๓. โอวาทกถา
           โอวาทกถา คือวิธีสอนธรรมแบบอบรม แนะนำ ตักเตือนให้รู้สึกผิดชอบชั่วดี ทรงใช้วิธีนี้ในกรณีที่มีผู้ทำผิดเสียหายขึ้นมา จะทรงว่ากล่าวตักเตือน ทรงชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำไปนั้นไม่ถูก ไม่เหมาะไม่ควรและมีโทษอย่างไร แล้วทรงแนะนำให้งดเว้นไม่ควรทำไม่ควรปฏิบัติอีกต่อไป จนถึงทรงชี้ให้รู้ให้เห็นถึงข้อที่ควรทำควรปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นต่อไป

           โอวาทกถาอีกแบบหนึ่งที่ทรงปฏิบัติคือทรงแนะนำเรื่องที่สำคัญสำหรับยึดเป็นแนวปฏิบัติ เรียกว่าทรงให้โอวาท เช่นทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ก่อนที่จะส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาในที่ต่างๆ

           วิธีสอนธรรมแบบนี้เป็นที่นิยมปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาลเพราะเป็นการให้สติแก่ผู้ทำผิดหรือทำไม่เหมาะไม่ควรด้วยความไม่รู้บ้าง ด้วยความเผลอสติบ้าง เป็นเหตุให้ระวังตัวระวังใจไม่ทำเช่นนั้นต่อไปบ้าง ทำให้เกิดความละอายใจละทิ้งการกระทำเช่นนั้นบ้าง ทำให้สำนึกผิดแล้วหันกลับมาทำความดีต่างๆ บ้าง

 

๔. อนุสาสนีกถา
            อนุสาสนีกถา คือวิธีสอนธรรมแบบสั่งสอนหรือแบบพร่ำสอนโดยทรงใช้วิธีนี้ในกรณีที่ทรงประสงค์จะแนะนำข้อปฏิบัติให้ทราบโดยไม่บังคับว่าจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากสามารถปฏิบัติได้ก็จะได้รับผลดีด้วยตัวเอง และข้อปฏิบัตินั้นจะทรงแนะนำบ่อยๆ ตรัสย้ำเนืองๆประเภทย้ำแล้วย้ำอีกเพื่อเตือนสติเตือนใจ มิให้เผลอไผลหลงลืม และเรื่องที่ทรงสอนเนืองๆ ได้แก่เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องการอยู่ป่า เรื่องสติสัมปชัญญะ เป็นต้น เช่นสอนว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะรอกาลเวลา นี้เป็นคำสั่งสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย” (เคลัญญสูตร สํ.สฬ. ๑๘/๒๕๕ เป็นต้น)

           วิธีสอนธรรมแบบนี้มุ่งให้นำไปปฏิบัติมากกว่าให้รู้แบบธัมมีกถาหรือให้สติแบบโอวาทกถา จึงมีการย้ำบ่อยๆ จนกลายเป็นพร่ำสอน คือสอนแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแบบบิดามารดาสอนบุตรธิดาของตน หรือเหมือนครูอาจารย์สอนศิษย์ของตนฉะนั้น

 

๕. ธัมมสากัจฉากถา
          ธัมมสากัจฉากถา คือวิธีสอนแบบสนทนาธรรม คือพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ทางธรรมแก่กันและกันพระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ธรรมด้วยวิธีนี้เป็นประจำเช่นเดียวกับแบบอื่นๆ โดยเสด็จไปร่วมวงสนทนากับพระสงฆ์ที่นั่งคุยกันอยู่บ้างเสด็จไปทรงสนทนากับนักบวชต่างลัทธิบ้าง สนทนากับผู้มาเข้าเฝ้าบ้าง เป็นเหตุให้พระองค์ได้ทรงถ่ายทอดธรรมข้อต่างๆ ได้ตอบข้อซักถาม ได้รับฟังทัศนะของคู่สนทนา และทรงสร้างปสาทะความเลื่อมใสให้เกิดแก่คู่สนทนาจนถึงยอมตนเป็นสาวกก็มี เลิกนับถือลัทธิเดิมของตนหันมาปฏิญญาตนเป็นพุทธมามกะที่มีวิธีสอนแบบนี้เป็นเหตุให้เกิดการเสวนาพาที การปรึกษาหารือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่กันและกันในเรื่องของธรรม เรื่องความดีงามเรื่องการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เป็นต้น

 

๖. ปุจฉาวิสัชนากถา
            ปุจฉาวิสัชนากถา คือวิธีสอนแบบถามตอบกันและกัน คือฝ่ายหนึ่งถาม ฝ่ายหนึ่งตอบ หรือผลัดกันถามผลัดกันตอบ เป็นวิธีการที่ทรงใช้เมื่อทรงสนทนากับพระสงฆ์หรือผู้เข้าเฝ้า โดยทรงเปิดโอกาสให้ถามปัญหาหรือข้อสงสัยแล้วทรงตอบคำถามนั้น หรือทรงอธิบายขยายความธรรมข้อใดข้อหนึ่งแล้วทรงถามความคิดเห็นของผู้ที่ทรงสนทนาด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้มีการซักไซ้ไล่เลี่ยงจนหมดความสงสัยในเรื่องนั้นๆ เป็นเหตุให้คู่สนทนาของพระองค์เกิดความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งจนไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยต่อไป แล้วยอมรับนับถือพระองค์ว่าเป็นศาสดาของตนก็มี หันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาที่มีวิธีสอนแบบนี้เป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองในเวลาสนทนาธรรม ในการเรียนการสอนธรรม และไม่ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายเพราะต่างก็ได้แสดงทัศนะของตนเต็มที่ การเทศน์คู่หรือเทศน์แบบปุจฉาวิสัชนาในยุคปัจจุบันก็เลียนแบบมาจากวิธีสอนธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างนี้นั่นเอง

 

๗. ธัมมเทสนากถา
            ธัมมเทสนากถา คือวิธีสอนธรรมด้วยการแสดงชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้งชัดเจน โดยมุ่งเน้นแนะนำข้อธรรมให้รู้ให้เข้าใจและเน้นให้เห็นแนวปฏิบัติตามได้ เป็นวิธีสอนธรรมที่มีความสมบูรณ์ เพราะอาจนำวิธีสอนธรรมข้างต้นบางวิธีหรือทุกวิธีมารวมไว้ในวิธีนี้ก็ได้แล้วแต่กรณีและความสามารถของผู้สอนธรรม วิธีนี้ได้แก่วิธีเรียกกันในปัจจุบันว่าการแสดงธรรมหรือการเทศน์นั่นเอง

            วิธีสอนแบบนี้พระพุทธองค์ทรงถือปฏิบัติตลอดมาตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงปรินิพพาน ทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนาจนมั่นคงถาวรหยั่งรากลึกลงในชมพูทวีปได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่ก็ทรงอาศัยวิธีการสอนแบบนี้เป็นหลัก แม้ปัจจุบันก็ยังถือกันว่าเป็นวิธีเผยแผ่ศาสนาที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์

 

          วิธีเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธเจ้า ๗ วิธีนี้ บางวิธีอาจทรงปฏิบัติไม่บ่อยนักแต่ก็นับเป็นวิธีหนึ่งในจำนวนทั้งหมด เพราะทุกวิธีต่างก็ส่งผลให้การเผยแผ่ศาสนาของพระองค์บรรลุเป้าหมายคือพระพุทธศาสนาหยั่งรากลึกลงในชมพูทวีปได้ ทำให้ผู้คนในยุคนั้นได้

 

           เห็นแสงสว่างแห่งสัจธรรมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้พ้นจากความทุกข์เพราะกิเลสตัณหาต่างๆ ได้สัมผัสกับความสุขสูงสุดที่ไม่เคยได้สัมผัสกันมาก่อน โดยทรง “ชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุขเกษมศานติ์ ชี้ทางพระนฤพาน ให้พ้นโศกวิโยคภัย” ด้วยวิธีต่างๆ ดังที่บุรพาจารย์ท่านได้ประมวลมาแสดงไว้เป็นข้อๆ ข้างต้นนั้น

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017230649789174 Mins