องค์แห่งพระธรรมกถึก

วันที่ 25 มิย. พ.ศ.2567

 

องค์แห่งพระธรรมกถึก

670625_b43.jpg

           ระยะกาลต่อมามีบางประเทศที่พระธรรมกถึกขาดหายไปหรือพระสงฆ์มิได้ทำหน้าที่เป็นพระธรรมกถึก พระพุทธศาสนาในประเทศนั้นก็เริ่มอันตรธานไปและเสื่อมสูญไปในที่สุด เหลือเพียงซากโบสถ์วิหารและวัตถุพุทธศิลป์ให้เห็นเป็นอนุสรณ์และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าครั้งหนึ่งดินแดนแห่งนี้เคยเป็นหลักแหล่งแห่งพระพุทธศาสนาและรุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์มานานเท่านั้นเท่านี้ปีนี่คือประจักษ์พยานที่ชัดเจนว่าเมื่อขาดพระธรรมกถึก พระพุทธศาสนาที่ดำรงอยู่ไม่ได้อันพระธรรมกถึกที่จะสามารถแสดงธรรมได้ดีจนสืบสานพระพุทธศาสนาได้นั้นนอกจากจะต้องประกอบด้วยความพร้อมกล่าวคือมีกายพร้อม วาจาพร้อม ใจพร้อม และความรู้พร้อมทั้งแสดงมาในตอนต้นแล้ว ยังต้องประกอบพร้อมด้วยองค์แห่งพระธรรมกถึกด้วยอันองค์แห่งพระธรรมกถึกนี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับพระนักเทศน์นักเผยแผ่ธรรมทั้งหลาย ดังมีเรื่องปรากฏอยู่ในอุทายิสูตร สัทธัมมวรรค ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
 

          สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่โฆสิตาราม พระนครโกสัมพี สมัยนั้นแลท่านพระอุทายีนั่งแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางหมู่คฤหัสถ์จำนวนมาก ท่านพระอานนท์เห็นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะ
พระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นมิใช่จะทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่นพึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายในแล้วจึง
แสดงธรรมแก่ผู้อื่น ธรรม ๕ ประการคืออะไรบ้าง คือ ภิกษุพึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่นด้วยตั้งใจว่า

 

เราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑
เราจักแสดงธรรมอ้างเหตุผล ๑
เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑
เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑
เราจักไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น ๑

            ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นมิใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่นพึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ภายในแล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น”องค์แห่งพระธรรมกถึก โดยใจความก็คือคุณสมบัติของนักเทศน์หรือคุณธรรมของนักเทศน์นั่นเอง ธรรม ๕ ประการอันเป็นองค์แห่งพระธรรมกถึกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นี้ถอดใจความโดยย่อได้ว่า
 

๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือว่าไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น

 

ธรรม ๕ ประการนี้ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้ขยายความไว้เป็นแนวปฏิบัติและเป็นข้อคิดซึ่งพอจับประเด็นได้ดังนี้


๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ คือกำหนดประเด็นความแห่งข้อธรรมให้ชัดเจนแล้วแสดงไปตามลำดับก่อนหลัง ไม่แสดงสับหน้าสับหลัง วกวนจนจับประเด็นไม่ได้หรือจับประเด็นไม่ถูก อันเป็นเหตุให้ผู้ฟังเกิดความสับสน ไม่เข้าใจเนื้อหา หรือแสดงธรรมตัดใจความจนเสียความสำคัญไปหรือจนจับประเด็นไม่ได้การตัดลัดใจความเพื่อให้เหมาะแก่เวลาหรือเหตุการณ์นั้นย่อมทำได้แต่ต้องคงประเด็นสำคัญของเนื้อหาไว้มิให้เสีย เป็นแต่ลดรายละเอียดลงไปเท่านั้น หากอธิบายธรรมไปตามลำดับเนื้อหา ไม่ตัดลัดใจความจนความขาดไปก็จะทำให้ผู้ฟังสามารถติดตามฟังด้วยความสนใจและทำความเข้าใจตามเนื้อหาที่ฟังไปโดยลำดับ และสามารถนำไปปฏิบัติ
ได้ต่อไป


๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ หมายความว่าเนื้อหาแห่งธรรมที่นำมาแสดงนั้นต้องมีความชัดเจน วิธีการนำเสนอกต้องชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ มีน้ำหนัก มีความหนักแน่น ไม่อ้อมแอ้มคลุมเครือ ประกอบด้วยเหตุด้วยผล ประกอบด้วยข้ออุปมา ข้อสาธาให้เห็นชัดเจน ซึ่งจะนำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหา วัตถุประสงค์ วิธีปฏิบัติตลอดถึงประโยชน์ที่จะพึงได้รับเมื่อปฏิบัติตาม หากแสดงธรรมแบบคลุมเครือ ขาดความชัดเจน อธิบายขยายความไปตามอัตโนมัติแม้จะไพเราะเพราะพริ้งด้วยถ้อยคำสำนวนและลีลาแห่งนักเทศน์ แต่ใจความขาดสาระ ขาดเหตุผล ไม่มีน้ำหนัก มองภาพไม่เห็นจริง ก็ได้แต่เพียงฟังไปเพลินๆ เท่านั้น ไม่ผลักดันให้เกิดศรัทธาที่จะนำไปปฏิบัติเพราะจับหลักจับประเด็นไม่ได้
 

๓.ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังหมายความว่าผู้เทศน์นั้นต้องเทศน์ด้วยเมตตาธรรม มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นสำคัญ เพราะผู้ฟังเทศน์นั้นยอมสละเวลา สละทรัพย์ และสละหน้าที่การงานมาฟังด้วยมุ่งจะได้รับประโยชน์ได้รับอานิสงส์จากการฟังเทศน์ บางคนมีความทุกข์มปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ มีความมืดมิดมาฟังเพื่อจะได้พบเห็นแสงสว่างจากพระธรรม จึงจำต้องแสดงธรรมด้วยมุ่งให้ผู้ฟังซึ่งมีวัตถุประสงค์ต่างกันไปได้ประโยชน์คือได้อานิสงส์แห่งการฟังธรรมอย่างน้อยก็สักอย่างหนึ่ง เช่นให้เขาได้ฟังธรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนให้เขาหายสงสัย ช่วยคลายความทุกข์ให้เขา ให้เขามีความแช่มชื่นเบิกบานใจมีความประทับใจจากการฟัง เป็นต้น แต่ไม่ควรมุ่งให้ความสุขแก่เขาเพียงชั่วคราวด้วยการเทศน์ที่ตลกโปกฮาเหมือนตัวตลกหน้าเวที ออกมุขออกคำพูดให้ได้ฮาตลอด อย่างนี้นอกจากเสียกิริยาผิดองค์แห่งพระธรรมกถูกแล้วยังอาจทำให้ผู้ฟังที่เป็นผู้รู้คลายศรัทธาในตัวผู้เทศน์และในพระศาสนาด้วย
 

๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ หมายความว่าเทศน์โดยไม่มุ่งถึงลาภสักการะหรือกัณฑ์เทศน์เป็นใหญ่ เครื่องกัณฑ์อันเป็นเครื่องบูชาธรรมจะมีมากมีน้อยอย่างไรก็เทศน์ไปตามปกติ ไม่ออกอาการความไม่พอใจเมื่อเห็นกัณฑ์เทศน์น้อย เช่นเทศน์พอเป็นพิธีตัดลัดใจความจนจับเรื่องไม่ได้ จนเสียคุณสมบัตินักเทศน์ จึงคิดอยู่เสมอว่าตนมิใช่ผู้รับจ้างเทศน์ แต่เป็นผู้เผยแผ่ธรรม เป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้าผู้ทรงไม่ติดลาภสักการะ หากแสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภก็จะไม่ต่างอะไรกับลูกจ้างที่ทำงานเพราะเห็นแก่ค่าจ้าง ยึดค่าจ้างเป็นหลัก หากได้ค่าจ้างมากก็ทำงานดี ตั้งใจทำ หากได้ค่าจ้างน้อยก็ทำพอให้เสร็จไป นักเทศน์ผู้แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภย่อมเป็นที่ดูหมิ่นทั่วไป
 

๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือว่าไม่ยกตนข่มผู้อื่น หมายความว่าในขณะแสดงธรรมอยู่ไม่พึงยกตัวอย่างเรื่องของตัวทำนองโอ้อวด ทำนองยกย่องตัวเพื่อข่มผู้อื่น แม้หากจะมีการสาธกยกตัวอย่างบุคคลเพื่อประกอบเนื้อหาก็ควรเป็นเรื่องกลางๆไม่กระทบเจาะจงตัวบุคคลซึ่งมีอยู่จริง โดยเฉพาะตัวอย่างในเรื่องการทำไม่ดีการทำไม่เหมาะสม เพราะอาจเข้าข่ายดูหมิ่นและสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ถูกกล่าวถึงได้ หรือแม้จะเป็นตัวอย่างที่ดีก็ควรดูให้เหมาะสม เพราะคนทำความดีบางคนไม่ยินดีที่จะให้ผู้ใดนำเรื่องของตนไปเล่าให้คนอื่นฟัง แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นพระสงฆ์ก็ตาม จำต้องระวังเรื่องนี้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นแสดงธรรมกระทบผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวคุณสมบัติของพระธรรมกถึก ๕ ประการนี้จัดเป็นธรรม
ประจำตัวของผู้เผยแผ่ธรรมไม่ว่าจะเป็นนักเทศน์ นักพูด นักปาฐกถาหรือบรรยายธรรม ผู้เผยแผ่ธรรมหากปฏิบัติมั่นคงเคร่งครัดอยู่ในธรรม

 

๕ ประการนี้ย่อมจะได้รับความนิยมยกย่อง ได้รับคำสรรเสริญว่าเป็นพระธรรมกถึกที่แท้จริง อันจะส่งผลให้ผู้ฟังนิยมนับถือ ให้ความสำคัญ ให้ความสนใจในการแสดงธรรม ในการบรรยายธรรม เมื่อฟังแล้วก็ยินดีน้อมรับนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ตามที่ได้ฟังมาต่อไปเมื่อถึงขั้นนี้ได้ก็ถือได้ว่าการเผยแผ่ธรรมของพระธรรมกถึกรูปนั้นประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023395383358002 Mins