บทสรุปแนวยุทธศาสตร์ “สูงสุดสู่สามัญ”

วันที่ 28 มิย. พ.ศ.2567

670628_b48.jpg

 

บทที่ ๘
บทสรุปแนวยุทธศาสตร์ “สูงสุดสู่สามัญ”


               พระสูตรกูฏทันตสูตรนี้ได้ให้ข้อคิดเตือนใจผู้นำผู้เป็นใหญ่ทั้งหลายตลอดจนบุคคลที่จะคิดเข้าไปรับใช้บ้านเมืองไว้อย่างน่าสนใจดังนี้เป็นอย่างน้อยคือประการที่ ๑ ผู้นำที่ดีต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งคุณงามความดีและความสามารถผู้นำจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของตัวเองคือ คุณสมบัติ ชาติตระกูล คุณงามความดีของตนเอง เป้าหมายชีวิตค่านิยมแห่งชีวิต หลักศีลธรรม คุณธรรมประจำใจ เช่น ความมีจิตใจเอื้ออารีกว้างขวาง เมตตาธรรม ความยุติธรรม มนุษยธรรมบุคลิกภาพ การวางตัว บารมีที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ฯลฯ ว่ามีเพียงพอหรือไม่จะสังเกตได้จากการที่บรรดาพราหมณ์สาวกของกูฎทันตพราหมณ์ได้กล่าวยกย่องบารมีของกูฏทันตพราหมณ์อย่างเลิศลอยว่าเพียบพร้อมทั้งคุณสมบัติ ความมั่งคั่ง ความรอบรู้ ความคงแก่เรียน ความอาวุโสที่เหนือกว่าพระพุทธเจ้าแต่ปรากฏว่า

               กูฏทันตพราหมณ์กลับกล่าวยกย่องแสดงพระพุทธคุณอันจักนับประมาณมิได้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นบุญญาธิการกว่า ๓๐ ประการ ทั้งนี้ย่อมแสดงถึงความรอบรู้อย่างแจ้งชัดของพราหมณ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่จะต้องมีข้อมูลต่างๆอย่างละเอียดดีเยี่ยมก่อนตัดสินใจ จนบรรดาพราหมณ์บริวารต้องยอมรับโดยดุษณีและกล่าวว่า“ท่านกูฏทันตะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ หากท่านพระโคดมพระองค์นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเข้าเฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควรในเรื่องเดียวกัน การที่พระเจ้ามหาวิชิตราชเองก่อนจะทำพิธีบูชามหายัญ ก็ได้มีการกำหนดเกณฑ์ตรวจสอบคุณสมบัติของพระองค์ไว้ถึง ๘ ประการ แม้ตัวพราหมณ์ผู้กระทำพิธีก็ต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการของพราหมณ์ปุโรหิตรวมไปถึงการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะมารับแจกทานที่จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นหลักอกุศลกรรมบถ๑๐ นอกเหนือจากความขยันขันแข็ง ขะมักเขม้นในการทำมาหากินเท่ากับเป็นการประกาศมาตรฐานผู้นำที่ดี มาตรฐานคนดีในยุคนั้นเพื่อให้ประชาชนสำรวจตัวเอง ในขณะเดียวกันเพื่อผู้นำจะได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการสั่งราชการให้ไปคัดคน เลือกคน และพัฒนาคนทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ มาตรฐานแห่งความดีนั่นเองจากนั้นผู้นำจึงจึงตรวจสอบความสามารถของตนเอง วิสัยทัศน์ ความคิด ศักยภาพแห่งความเป็นผู้นำ ความกล้าหาญ ความสามารถในการตัดสินใจ จูงใจ การบริหารทรัพยากร ซึ่งน่าจะรวมเรียกว่า ความเก่ง ความกล้า

 

                ซึ่งจะต้องตามมาหลังความดีประการที่ ๒ ผู้นำต้องมีใจกว้างขวางโอบอ้อมอารีดุจพ่อดูแลลูกทั้งแผ่นดินผู้นำประเทศจะต้องคิดถึงคนส่วนใหญ่ก่อนเป็นอันดับแรกในกูฏทันตสูตรนี้แสดงให้เห็นชัดที่พราหมณ์ปุโรหิต ได้เลือกบุคคลกลุ่มเป้าหมายลำดับล่างสุดของแผ่นดิน ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับความเดือดร้อนและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เป็นเป้าหมายอันดับแรกและยุทธศาสตร์ที่แยบยลคือ แทนที่จะใช้วิธีทุ่มกำลังเข้าปราบปรามโจรผู้ร้าย กลับใช้ยุทธศาสตร์เมตตาธรรมเข้าโอบอุ้มช่วยเหลือประคับประคองทางเศรษฐกิจ ช่วยเหลือในการทำมาหากิน แจกจ่ายพระราชทรัพย์อย่างชาญฉลาด เพื่อเป็นทุนสำหรับพ่อค้าแม่ค้าย่อยแจกอาหารให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย แจกพืชพันธุ์ให้ชาวไร่ ชาวนา ชาวกสิกรรม เป็นการปราบโจรผู้ร้ายแบบถอนรากถอนโคนทั้งที่รู้ว่าการแจกทานครั้งนี้

 

               แม้ได้ตั้งเกณฑ์มาตรฐานคนดีเอาไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีผู้ปะปนเข้ามารับแจกทั้งคนดีคนเลวก็ให้ผู้นำต้องทำใจให้กว้าง ทำใจให้ใหญ่ ไม่ต้องคิดเสียดาย ทำไปด้วยความปีติยินดีเลื่อมใส โดยหวังว่าในที่สุดบรรดาผู้ยังมีอกุศลกรรมเหล่านั้นก็จะสามารถคิดกลับใจ และกลายเป็นคนดีในสังคมกับเขาได้เหมือนกันข้อคิดที่ได้จากข้อนี้ก็คือ ผู้นำที่จะมารับใช้ชาติไม่ว่าระดับใดก็ตามจะต้องทำใจให้ใหญ่ให้กว้างให้คลุมเต็มแผ่นดิน เป็นพ่อของโลก จึงจะสมกับชื่อที่เรียกวิชานี้ว่า รัฐศาสตร์ มิใช่ทำตัวให้กว้างใหญ่ แต่ใจแคบนิดเดียวคติคิดในเรื่องพ่อกับลูกนี้ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่จะต้องรักประชาชนเหมือนพ่อที่ดีที่รักลูกดุจดวงใจ เมื่อจะให้จะเลี้ยงก็ต้องเลี้ยงให้ลูกอิ่ม ลูกยิ่งมีความสุขเท่าใด พ่อก็ยิ่งปลาบปลื้มใจมากขึ้นเท่านั้น พ่อที่ดีจะอุทิศทุกอย่างให้กับลูกโดยไม่คำนึงถึงตัวเองว่าจะลำบากเหนื่อยยากเพียงใดและแม้จะหมดเปลืองเท่าใดก็ไม่เสียดายแม้แต่น้อยผลแห่งการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์นี้

               ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่งแทนที่พระราชทรัพย์ของพระเจ้ามหาวิชิตราชจะหมดไป กลับยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจดี เก็บภาษีได้มากขึ้น บ้านเมืองไม่มีโจรผู้ร้ายประชาชนนอนตาหลับชนิดที่ว่าไม่ต้องปิดประตู อาณาประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้านั่นคือน้ำเงินบวกน้ำใจของผู้นำย่อมยิ่งใหญ่เหนืออำนาจใดๆเพราะสามารถไปกระตุ้นเตือนจิตใจประชาชนแม้ในยามยาก ให้ร่วมใจกันทุ่มเทน้ำพักน้ำแรงแก้ไขปัญหาของประเทศได้ยุทธศาสตร์สู่รากหญ้าที่กล่าวมานี้ น่าจะสอดคล้องอย่างยิ่งกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นพ่อของแผ่นดินอย่างเต็มภาคภูมิที่มีโครงการพระราชดำริเข้าโอบอุ้มช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ทั้งในดินแดนที่ห่างไกล ชนบท ชาวเขา การพระราชทานพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ช่วยอุตสาหกรรมในครัวเรือน การทำหัตถกรรม ศิลปาชีพ โครงการแพทย์พยาบาลเพื่อผู้ยากไร้ รวมถึงปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”

                ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินมาตลอดนับสิบๆ ปี ทรงลงมือปฏิบัติและติดตามใกล้ชิดด้วยพระองค์เองเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีเลิศแก่ผู้นำรัฐบาลมาโดยตลอดแต่น่าเสียดายที่หลายรัฐบาลในอดีตกลับมิได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังเท่าที่ควร และมิได้เจริญตามรอยพระยุคลบาท มัวแต่มุ่งระวังต่อสู้รักษาฐานอำนาจทางการเมืองและลำเอียงเห็นแก่ผลประโยชน์ของ ๔ กลุ่มระดับบน มากกว่าที่จะทุ่มเทให้ความสนใจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน ๓ กลุ่มระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินที่รอคอยความหวังมานานเหมือนข้าวกล้ารอฝนอย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศนโยบายประชาคมการเข้าโอบอุ้มบุคคลระดับล่าง นับตั้งแต่โครงการพักหนี้เกษตรกร
โครงการกองทุนประชาชนหมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท

                โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โครงการ ๓๐ บาทสุขภาพถ้วนหน้า โครงการธนาคารประชาชนเพื่อช่วยพ่อค้าผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการเอสเอ็มอี (SME) วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด โครงการปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการ ฯลฯ ถือได้ว่ารัฐบาลได้เข้าแก้ปัญหาถูกทางแล้ว คือตั้งเป้าหมายจับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ประชาชนระดับล่างแต่ในขณะเดียวกัน ในกูฏทันตสูตรก็ได้กล่าวถึงบุคคล ๔ กลุ่มระดับบน ที่ผู้นำของรัฐจะต้องขอความร่วมมือร่วมใจด้วย ในการเชิญชวนบุคคลเหล่านี้เข้ามาเสวนาปรึกษาร่วมกันเพื่อมุ่งเป้าหมายในการช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่ จะเห็นว่าได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับสองรองจากกลุ่มระดับล่างแต่ก็มิได้ลืม และผลก็คือการร่วมมือกันทำพิธีบูชามหายัญด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ทำให้เกิดผลงดงามทั้งประเทศ

                ประการที่ ๓ การพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องพัฒนาจิตใจควบคู่กันไปหัวใจในการพัฒนาประเทศ คือการพัฒนาคน เพราะคนคือตัวจักรกลสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาคนจะต้องพัฒนาที่จิตใจก่อน ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องทำควบคู่กับการพัฒนาจิตใจ มิฉะนั้นผลแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจก็จะไม่ยั่งยืนและล้มเหลวในที่สุดในการทำพิธีบูชามหายัญจะต้องมีผู้เข้าร่วมประกอบพิธีมากมายจึงจำเป็นจะต้องมีการคัดคนดี คนขยันเข้ามารับการสงเคราะห์ ตัวผู้คัดคนเหล่านั้นคือบรรดาเหล่าอำมาตย์ราชบริพาร ถ้าเป็นในยุคปัจจุบันก็คือบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชั้นกลาง ทุกระดับที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล บุคคลเหล่านี้ก่อนอื่นก็ต้องสำรวจตัวเองด้วยว่าตนมีคุณสมบัติสำคัญที่สุดคือ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ต้องหันกลับไปพัฒนาตัวเองก่อนเพื่อมิให้อับอายต่อผู้มารับแจกทานในการทำพิธีบูชามหายัญที่พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงลงมาเป็นประธานพิธีด้วยตนเอง

                โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี ถ้าจะเปรียบกับระบบราชการปัจจุบัน ก็คือการที่ผู้นำประเทศต้องลงมาจับปัญหารากหญ้ากำหนดนโยบายด้วยตนเอง ควบคุมกำกับเอง เพื่อให้ได้ผลถึงราษฎรอย่างทั่วถึง โดยมีเครื่องไม้เครื่องมือคือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทุกระดับทุกกระทรวงทบวงกรมวิธีทำงานแบบเวิร์กช็อปที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ การประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐมนตรีลงไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสั่งการเอง การปรับเจตคติข้าราชการให้ทำงานระบบซีอีโอ (Chief Executive Officer (CEO)) หรือผู้บริหารบูรณาการ หรืออีกนัยหนึ่งผู้บริหารเบ็ดเสร็จ ที่สามารถตัดสินใจได้เองดำเนินการเอง โดยไม่ต้องห่วงการแบ่งแยกกระทรวงทบวงกรมการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นบุคคลที่รับผิดชอบเต็มในทุกจังหวัดเป็นผู้ว่าซีอีโอ เพื่อให้รับผิดชอบตั้งแต่การกำหนดนโยบายเอง วางแผนเอง ดำเนินการเอง และควบคุมเอง

                 โดยมีการตั้งเกณฑ์ชี้วัดแบบตะวันตกที่เรียกว่า KPI หรือ Balanced Score Card เพื่อเป็นการเร่งติดตาม ควบคุม วัดผล ให้ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งล้วนเป็นการวัดผลงานที่เป็นตัวเลข วัดความเก่ง วัดศักยภาพ แต่ไม่สามารถวัดระดับศีลธรรมและคุณธรรมของใครได้ฉะนั้น จุดอ่อนที่ยังมองเห็นไม่ชัดในนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลนี้ มีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาคน พัฒนาจิตใจพัฒนาศีลธรรมอย่างเป็นรูปธรรมไว้อย่างไรบ้าง มีองค์กรใดทำหน้าที่อย่างแจ้งชัด มียุทธศาสตร์อย่างไร มีแผนงานอย่างไร เพราะการพัฒนาให้คนเป็นคนดีนั้นยากกว่าการพัฒนาให้เป็นคนเก่ง และจะวัดผลด้านศีลธรรมกันได้อย่างไร จะวัดระดับกิเลสได้อย่างไร จะวัดระดับความเห็นแก่ตัวได้อย่างไร จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ข้าราชการหยุดการฉ้อราษฎร์บังหลวง และรักษาเกียรติแห่งความเป็นข้าราชการเหมือนในอดีตที่ทุกคนรักเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดุจชีวิตในยุคนี้ที่เงินเป็นคุณค่าชีวิตใหม่ วัตถุนิยมเป็นคุณค่าชีวิตใหม่ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาพฤติกรรมทางด้านศีลธรรมของบรรดาข้าราชการทั้งหลายให้สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมือเป็นไม้เป็นจักรกลสำคัญในการรับนโยบายไปปฏิบัติ มิฉะนั้นก็จะมีแต่นโยบายของผู้นำที่วิ่งนำหน้าไปทุกเรื่อง แต่หาได้มีข้าราชการวิ่งตามมาให้ทันไม่

                    ประการที่ ๔ รัฐบาลมุ่งสร้างแต่จุดแข็งคือ สร้างประเทศ สร้างคนเก่งให้แข่งขันได้ระดับโลก แต่ลืมปิดจุดอ่อนในการพัฒนาคนให้เป็นคนดีมีศีลธรรมเสียก่อนรัฐบาลนี้ยังไม่มีโครงการพัฒนาจิตใจ พัฒนาศีลธรรม ตัวอย่างเช่น การพัฒนา “สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ” เพื่อให้เข้าไปอยู่ในใจของบุคคลเหล่านี้ การปรับเจตคติจาก “มิจฉาทิฏฐิ” ซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่ในวงราชการ ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งยังไม่เห็นแนวทางที่จะปราบปรามได้ ซ้ำยังเป็นตัวก่อกวน ทำลาย และในที่สุดทำให้โครงการที่ดีทั้งหมดนี้เสื่อมลงได้ เพราะมีช่องว่างทำให้ล้มเหลวได้ง่าย ด้วยอำนาจแห่งปีศาจร้าย ๓ ตนในตัวมนุษย์ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ และนี่เอง คือจุดสำคัญที่เปราะบางที่สุดของยุทธศาสตร์ทั้งหมดเพราะความคิดทั้งหมด นโยบายทั้งหมด จะต้องสูญสลายและไร้ผลอย่างสิ้นเชิง ถ้ายังไม่สามารถปราบตัวกิเลสในใจมนุษย์ทั้ง ๓ ประการให้ทุเลาเบาบางลง และหมดไปในที่สุดทางแก้มีทางเดียว ก็คือการเร่งทุ่มเทสร้าง “สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ” ให้เข้าไปอยู่ในใจแต่ละคนให้ได้ เพื่อเป็นการปราบมิจฉาทิฏฐิไปด้วยในตัว
 

               ตัวอย่าง เกณฑ์ต่อไปนี้ คือการวัดระดับความเข้าใจในสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ เป็นแก่นแท้ของธรรมะประจำใจขั้นต้น ซึ่งสามารถทำหน้าที่เป็นเกณฑ์ชี้วัดคุณธรรม ชี้วัดศีลธรรมของมนุษยชาติไปในตัวเพียงแค่ทดสอบว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เชื่อแล้วปฏิบัติตามหรือไม่ มีความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ มีพฤติกรรมที่สอดคล้องหรือไม่ ความเข้าใจถูกต้องดังกล่าวนั้น ได้แก่


๑.ความเข้าใจถูกว่า “ผลแห่งการทำทานทำบุญมีจริง”
๒. ความเข้าใจถูกว่า “ผลแห่งการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นมีจริง”
๓. ความเข้าใจถูกว่า “ผลแห่งการเคารพบูชาคนดี ผู้มีบุญคุณผู้อาวุโสมีจริง”
๔. ความเข้าใจถูกว่า “ผลแห่งกฎแห่งกรรมมีจริง”
๕. ความเข้าใจถูกว่า “ผลแห่งกรรมจากชาติที่แล้ว มาชาตินี้มีจริง"
๖. ความเข้าใจถูกว่า “ผลแห่งกรรมจากชาตินี้ไปชาติหน้ามีจริง”
๗. ความเข้าใจถูกว่า “พระคุณแม่มีจริง”
๘. ความเข้าใจถูกว่า “พระคุณพ่อมีจริง”
๙.ความเข้าใจถูกว่า “นรกสวรรค์มีจริง”
๑๐. ความเข้าใจถูกว่า “พระอรหันต์ผู้เป็นสัพพัญญูมีจริง”


               ผู้ใดก็ตามที่ไม่เชื่อและไม่เข้าใจหลักสัมมาทิฏฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้โอกาสจะกระทำความผิด โอกาสที่จะตกนรกก็อยู่แค่เอื้อม ตัวอย่างพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผลแห่งกรรมดีในปัจจุบันนี้ก็คือ การที่ผู้นำในระดับใดก็ตามได้ทำตนเป็นตัวอย่างในการงดอบายมุขทุกชนิด ไม่ส่งเสริมสนับสนุนมิจฉาชีวะ ตั้งใจเข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นเนืองนิตย์และสนับสนุนให้ข้าราชการทุกคนปฏิบัติตาม มีโครงการที่ชัดแจ้ง มียุทธศาสตร์ มีหน่วยงาน มีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เขาย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญเพียงถ่ายเดียวประการสุดท้าย พระสูตรกูฏทันตสูตรนี้ เป็นเพียงหนึ่งในขุมทรัพย์ทางปัญญาจากพระไตรปิฎกในพระไตรปิฎกยังประกอบด้วยพระสูตรต่างๆ อีกมากมายซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างไม่น่าเชื่อสมกับที่พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวว่าพระธรรมของพระองค์ เป็น“อกาลิโก” คือไม่มีจำกัดเวลา เป็นสัจธรรมที่เป็นนิรันดรเหมาะสมที่บรรดาผู้ที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ

               ไม่ว่าจะเป็นระดับโลกระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน จะต้องศึกษาเพื่อใช้หลักธรรมของพระองค์เป็นหลักยึด ดั่งที่พระผู้มีพระภาคตรัสในจักกวัตติสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ ทีฆนิกายปาฏิกวรรค ว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิว่า “จงมีตนเป็นเกาะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่และอีกคำสอนหนึ่งที่ให้สติต่อผู้ที่เป็นผู้นำอย่างดียิ่ง คืออธิปเตยยสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต) ว่าด้วยข้อปรารภ ข้ออ้างทางจิตใจในการทำงาน ตลอดจนประกอบคุณงามความดีต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งเป็นพระธรรมคำสั่งสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระภิกษุให้มีสติหลักคิดเกี่ยวกับเป้าหมายการบวช เพื่อจักได้เตือนตนเองให้ปฏิบัติธรรมบรรลุมรรคผลนิพพานอธิปไตย แปลว่า “ความเป็นใหญ่” มี ๓ ประการ คือ


๑. อัตตาธิปไตย มีตนเป็นใหญ่


๒. โลกาธิปไตย มีโลกเป็นใหญ่


๓. ธรรมาธิปไตย มีธรรมเป็นใหญ่อัตตาธิปไตยนักรัฐศาสตร์ที่ยึดอัตตาธิปไตย มิได้หมายถึงยึดความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ความหมายแท้จริงตามพุทธประสงค์ หมายถึงผู้ที่ปรารภความเดือดร้อนที่ตนเองเคยได้รับเมื่อครั้งอยู่ในฐานะประชาชนเมื่อได้โอกาสมาทำงานการเมืองรับใช้ประชาชน ก็จะใช้อำนาจการเมืองที่ตนเองได้รับมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับราษฎร เนื่องจากก่อนมาเป็นนักการเมือง เป็นผู้ที่...


๑.เห็นทุกข์ที่เกิดจากชาติ ชรา มรณะ


๒. เห็นทุกข์ที่เกิดจากการดิ้นรนแสวงหาทรัพย์ แม้จะถูกทุกข์ทั้ง ๒ เบียดเบียน ก็ทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต แต่กลับประสบทุกข์


๓. การถูกรีดนาทาเร้นจากผู้บริหารบ้านเมือง


                 ก็เพราะทุกข์ทั้งสามนี้เองที่บีบคั้นให้เข้ามามีส่วนในการบริหารบ้านเมือง ที่มาเล่นการเมืองจึงมิได้มาเพื่อหวังกอบโกย คดโกงใครแต่ตั้งใจมาทำงานการเมืองเพื่อให้ประชาชนละอกุศล ทำแต่กุศลกรรมตำแหน่งทางการเมืองที่ได้มานี้ จะนำมาเป็นอุปกรณ์ในการสร้างบุญสร้างกุศล ให้บังเกิดความสงบร่มเย็นแก่ประชาชนเพราะปรารภความเดือดร้อนที่ตนเองเคยได้รับนี้เอง เมื่อได้อำนาจการเมือง จึงจะใช้โดยมีหลัก ดังนี้มีความเพียร ทำงานให้ประสบผลสำเร็จ โดยไม่ย่อท้อหวั่นเกรงต่ออุปสรรคขวากหนาม มุ่งมั่นแน่วแน่แก้ไขปัญหาราษฎรมีสติแน่วแน่ แก้ไขงานที่ได้รับมอบหมายอย่างครบถ้วน รอบคอบไม่แสวงหาผลประโยชน์ ไม่ลืมเลือนตน ไม่บ้ายศ ไม่บ้า อำนาจไม่มีความลำเอียง ไม่ปล่อยปละละเลยงานที่รับผิดชอบ ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ทุกหยดทุกหยาดเพื่อประชาชน เพราะตระหนักรู้ว่าประชาชนฝากความหวัง เหมือนครั้งก่อน ๆ ที่ตนก็เคยฝากความหวังไว้กับนักการเมือง แต่ก็หวังสลายมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ๘ คือลาภสักการะยศ สรรเสริญ สุข ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์

 

โลกาธิปไตย

                 ผู้ที่ถือโลกเป็นใหญ่ เป็นผู้ที่ปรารภว่า “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” เรามิใช่ผู้รอบรู้ทุกสรรพสิ่ง ที่ขันอาสามาบริหารบ้านเมืองมิได้คิดจะมาคดมาโกงใคร แต่มาเพราะต้องการบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุดหน้าไปด้วยดีเมื่อครั้งที่เป็นประชาชน เห็นนักการเมืองก็ให้สงสัยครามครัน สิ่งที่ควรทำ ทำไมไม่ทำ ไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ แถมยังโกหกมดเท็จ คดโกงคอร์รัปชันอีก เพราะฉะนั้น วันนี้ได้มาเล่นการเมืองสมตั้งใจแล้วจะไม่กล่าวเท็จ ไม่คดโกงเหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ นักการเมืองบางคนคิดว่าโกหกคดโกงแล้วใครๆ ก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่ความลับไม่มีในโลก ทำไมจึงหลงคิดว่าใครรู้ไม่ทัน หลอกลวงประชาชนตลอดไปไม่ได้หรอก จะทำสิ่งใดจะต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งนักรัฐศาสตร์ที่ถือโลกเป็นใหญ่ จึงเป็นผู้ที่คำนึงถึงดังต่อไปนี้ความลับไม่มีในโลก โกหกคนอื่นได้แต่โกหกตนเองไม่ได้ อย่าดูถูกตนเอง บุคคลที่มีศักยภาพในการทำความดี แต่ไม่ทำ ซ้ำกลับไปทำความชั่ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดูหมิ่นตนเองการปกปิดความชั่วที่ตนเองทำไว้ ทวยเทพเทวดาพรหมย่อมรู้เห็นมนุษย์ผู้มีปัญญาก็มองออก รู้เท่าทัน จึงไม่ควรคิดว่าประชาชนไม่รู้ร้ายที่สุดคนที่มีส่วนร่วมทำความชั่วก็รู้ ถ้าวันใดเขาเปลี่ยนใจพลิกลิ้นเปิดเผยความจริงขึ้นมา ความชั่วก็ย่อมปรากฏโลกาธิปไตยนี้ เป็นหลักธรรมเตือนสติให้นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายใช้ปัญญาวิเคราะห์ปัญหา คิดอะไรก็ให้รอบคอบด้วยความสุขุมเยือกเย็นไม่ประมาทในความคิดผู้อื่น แต่ห้ามใช้ปัญญาความรอบรู้โดยขาดสติเพราะมีแต่จะนำความฉิบหายมาให้

ธรรมาธิปไตย

               ผู้ที่ถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นผู้ที่ปรารภ “กฎแห่งกรรมเป็นใหญ่"นักรัฐศาสตร์ที่ยึดธรรมาธิปไตยเป็นผู้ที่เตือนตนเองว่า จะทำอะไร
จะยึดถือกฎเกณฑ์ มิใช่กฎกู เลี่ยงบาลีเอาสีข้างเข้าถู ที่สำคัญระลึกเสมอว่า เราอาจหลีกเลี่ยงกฎหมาย กฎเกณฑ์กติกาของสังคมได้แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงกฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นกฎเหล็กของวัฏสงสารได้กฎหมายกฎของสังคมอาจปรับเปลี่ยนได้ แต่กฎแห่งกรรมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เมื่อละเมิดกฎแห่งกรรมก็ต้องได้รับวิบากผลของกรรม เพราะฉะนั้นจะทำอะไรถ้านึกถึงกรรมดีกรรมชั่วก็จะเพียรละกรรมที่มีโทษ จึงควรรักษาตนให้บริสุทธิ์ บำเพ็ญกุศลกรรม เมื่อมาทำงานการเมืองจึงควรยึดหลักกฎแห่งกรรม มิใช่เอาพวกมากลากไป แต่ให้เอาความดี ศีลธรรมลากประเทศไป จึงจะประสบความเจริญรุ่งเรืองนักรัฐศาสตร์ที่ยึดธรรมเป็นใหญ่เป็นผู้ประพฤติตามกฎระเบียบประเพณี โดยเฉพาะกฎแห่งกรรมต้องยึดถือเป็นหลักสำคัญความหมายในธรรมะข้อนี้หมายถึง ให้ผู้นำปรารภตัวเองว่าในเมื่อได้ตั้งใจที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้ประชาชนเกิดความร่มเย็นเป็นสุขก็ต้องใช้หลักทศพิธราชธรรม

                ซึ่งเป็นธรรมะสำหรับผู้ที่จะเป็นผู้นำทุกคน เพราะการเป็นผู้นำก็คือการมีโอกาสได้สร้างความดีเหนือกว่าคนอื่น ในการสะสมบารมีให้สูงยิ่งขึ้นไป เมื่อมีโอกาสจะได้ทำบุญใหญ่มหากุศลแล้ว ไฉนจะเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายอันสูงยิ่งกว่าคนธรรมดาตัวอย่างเช่น วีรกษัตริย์ไทยในอดีต นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยอยุธยา มาจนสมัยกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ไปถึงพุทธภูมิด้วยการสร้างบารมีอันยิ่งใหญ่แทบทุกพระองค์ ปรากฏชัดถึงพระราชปณิธานจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ธรรมข้อนี้เป็นข้อคิดที่บรรดาผู้นำทั้งหลายจะได้ยึดถือเป็นต้นแบบแห่งการใช้หลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักในการดำรงชีวิต ตั้งเป้าหมายชีวิตให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นยุทธศาสตร์ในการบริหารและปฏิบัติตนเจริญรอยตามพระบรมศาสดาความหมายของพระสูตรนี้มีความลึกซึ้งที่ทรงสอนให้มนุษย์ใช้สตินำหน้า ใช้ปัญญาเป็นตัวปฏิบัติ และใช้ธรรมะเป็นหลักยึดไม่ให้ซวนเซหรือล้มลง ตรงกับคำพูดที่ว่า “สติปัญญา” ซึ่งเท่ากับเป็นการเตือนมนุษย์ให้มีสติ ก่อนที่จะใช้ปัญญา เพราะเหตุร้ายและความผิดพลาดในโลกนี้ที่เกิดขึ้น

                  มักจะเกิดจากการใช้ปัญญาเป็นตัวนำหน้า ใช้ความเก่งความกล้า ความสามารถโดยไม่ได้ใช้สติไตร่ตรองก่อนผลก็คือทำให้เข้าใจผิด คิดผิด พูดผิด ทำผิด ประกอบอาชีพผิด พอมาได้สติภายหลังก็สายเกินไปเสียแล้ว เพราะได้ก่อความผิดความชั่วความเสียหายเอาไว้มากมายความไม่สงบในโลกนี้ที่เกิดขึ้นก็เกิดจากเหตุนี้แหละ การใช้ปัญญาความรอบรู้ในทางไม่ชอบ เพื่อนำหน้าในการแข่งขัน ในการทำการค้า ในการรุกราน ครอบครองดินแดน ในการติดยึดความเจริญทางวัตถุ การแข่งขันทางวัตถุ การใช้ดัชนีตัวเลขเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางการเมือง ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จทางธุรกิจสิ่งที่มนุษย์ทั้งโลกโดยเฉพาะผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายขาดก็คือ สติซึ่งในเครื่องเหนี่ยวรั้งใจ และที่สำคัญคือการขาดธรรมะของพุทธองค์เป็นหลักเป็นแก่นในการตัดสินใจ เป็นที่เกาะยึดของจิตใจไม่ให้ไขว้เขวตกต่ำผู้นำของประเทศของโลกที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรไปด้วยความสามารถปัญญาเฉียบแหลม จะมีประโยชน์อะไรถ้าขาดสติ หรือเสียสติ และไม่ยึดหลักธรรมะในการปกครองประเทศความสำเร็จที่ได้มาไม่ว่ายุคใดสมัยใด ถ้าขาดองค์ประกอบดัง
กล่าวนี้ก็จะเป็นความสำเร็จที่ไม่ยั่งยืน ย่อมสามารถเสื่อมสลายได้ยิ่งเจริญสูงส่งทางด้านวัตถุขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสเสื่อมสลายเร็วขึ้นเท่านั้น ถ้าขาดธรรมะเป็นเสาหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นนักรัฐศาสตร์ นักรัฐประศาสนศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ มหาเศรษฐี คหบดี และผู้นำระดับประเทศหรือระดับโลก

 

บรรณานุกรม
         จำนงค์ ทองประเสริฐ, บ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย ภาค ๑. กรุงเทพมหานคร : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๑๒.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. ปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต. ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ. กรุงเทพมหานคร :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, ๒๕๑๓.
          ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๒๖.
          มหามกุฏราชวิทยาลัย. มิลินทปัญหา พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค เล่มที่ ๕ ภาคที่ ๒.อรุณ แสงสว่างวัฒนะ, สร้างคนก่อนสร้างงาน : ๑๐ มกราคม ๒๕๒๕

 


“แม้มีปัญญา แต่ขาดสติ จะมีประโยชน์อันใด”
พระภาวนาวิริยคุณ

พระภาวนาวิริยคุณ
 

ชาติภูมิ
        พระภาวนาวิริยคุณ นามเดิมว่า เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ณ ตำาบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

 

บรรพชา-อุปสมบท
         เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ณ พัทธสีมา วัดปากนํ้าภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.๙) วัดปากน้ำ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพวรเวที เป็นพระอุปัชฌาย์สมณศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระภาวนาวิริยคุณ

 

ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. ๒๕๒๙-ปัจจุบัน รองประธานมูลนิธิธรรมกาย
พ.ศ. ๒๕๓๔-ปัจจุบัน President of Dhammakaya InternationalSociety of California, USA.
พ.ศ. ๒๕๓๗-ปัจจุบัน รองหัวหน้าพระธรรมทูตสาย ๘
พ.ศ. ๒๕๔๓-ปัจจุบัน รักษาการแทนเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย

 

เกียรติประวัติ
          ได้รับพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา (เสมาธรรมจักร) สาขาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

 

ผลงานที่สําคัญ
         เป็นกำลังสำคัญในการบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกายและพัฒนาวัดจนเจริญก้าวหน้าและสามารถขยายศูนย์สาขาออกไปอีกมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
         เป็นผู้ให้การอบรมศีลธรรมและการเจริญสมาธิภาวนาแก่พุทธศาสนิกชนที่เดินทางมายังวัดพระธรรมกายเป็นประจำทุกวันอาทิตย์และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนได้รับอาราธนาให้ไปแสดงธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น หน่วยราชการ
สถานการศึกษา สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ ฯลฯ

         มีผลงานการเทศน์สอนที่เรียบเรียงเป็นหนังสือ เทป ซีดีมากมายเช่น มงคลชีวิต โอวาทปาฏิโมกข์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรหลักการบริหารตามแบบพุทธวิธี เศรษฐศาสตร์แนวพุทธคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์ เข้าไปอยู่ในใจ รัฐศาสตร์เชิงพุทธและบทวิเคราะห์ทักษิโณมิกส์ ฯลฯ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035576049486796 Mins