บทที่ ๓
กําเนิดอารยธรรม
และปรัชญาแห่งกรีกยุคหลังพุทธกาล
การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาขาสังคมศาสตร์นั้น ได้เริ่มต้นอย่างจริงจังโดยนักคิดซึ่งมาจากปรัชญาเมธีในโลกตะวันตก ที่มีการจดบันทึกคำพูด รวบรวมเป็นหนังสือนับพันปีมาแล้ว และต่อมาได้มีการมาจัดเรียบเรียงให้เป็นหมวดหมู่ เป็นทฤษฎีเป็นหลักวิชาสำหรับนักวิชาการรุ่นหลังได้ค้นคว้า วิจัย และสร้างทฤษฎีและแนวความคิดใหม่ๆ มาจนถึงปัจจุบันปรัชญาเมธีที่โด่งดังชาวกรีกที่เป็นที่รู้จักในยุคแรก ไม่ว่าจะเป็นโซเครตีส เพลโต อริสโตเติล ผู้พยายามอธิบายแนวคิดและปรัชญาในการปกครอง ความเป็นรัฐ อำนาจของรัฐ กำเนิดของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับการเมือง อันที่จริงแล้วน่าสังเกตว่า นักปราชญ์นักคิดเหล่านี้กำเนิดในยุคสมัยหลังพุทธกาลนับร้อยปีทั้งสิ้น
ชาวกรีกได้รับการยอมรับจากโลกว่าเป็นชนเผ่ามหัศจรรย์ในยุคโบราณ เป็นต้นกำเนิดแห่งความรู้ในวิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปวิทยาการแทบทุกแขนง กลายเป็นมรดกล้ำค่าที่ชาวยุโรปและโลกนำมาประยุกต์ใช้ จนเป็นต้นแบบของสรรพตำราในปัจจุบันปรัชญาเมธีชาวกรีกที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น ก็คือ อริสโตเติล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์ของกรีกยุคแรก มีชีวิตอยู่ในสมัย พ.ศ.๑๕๙-๒๒๑ และเพลโต ซึ่งอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๑๖-๑๙๖ ทั้งสองได้ชื่อว่เป็นดาวค้างฟ้าแห่งกรีกยุครุ่งเรือง และโซเครตีสซึ่งเป็นพระอาจารย์ของทั้งสองคนแรก มีชีวิตอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๗๓-๑๔๔
ในขณะที่กรีกโบราณยกย่องให้โซเครตีสเป็นผู้ฉลาดที่สุด ในซีกโลกตะวันออก จีนโบราณก็ยกย่องขงจื๊อและเหลาจื๊อเป็นสุดยอดปรัชญาแผ่นดิน อินเดียโบราณก็มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูหรือผู้รู้แจ้งโลก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสรรพวิชาอันมหัศจรรย์ในการช่วยมนุษย์ให้พ้นจากวัฏจักรแห่งความทุกข์ ไม่เพียงแต่เท่านั้น ในคัมภีร์ที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกและแม่นยำที่สุดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันก็คือพระไตรปิฎกได้บรรจุวิทยาการ ประวัติศาสตร์ ความเจริญของมนุษย์ในทุกด้านซึ่งบันทึกไว้อย่างงดงามตลอดเวลา ๔๕ ปีที่ทรงรอนแรมจาริกไปทั่วชมพูทวีป เพื่อเผยแผ่พระธรรมอันล้ำค่าต่อมนุษยชาติ
นอกจากความรู้เกี่ยวกับวิชาสังคมศาสตร์แล้ว ความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ก็ปรากฏอยู่ในพระสูตรต่าง ๆ หลักธรรมของพระพุทธศาสนา ที่ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ปกครองหมู่คณะ และปกครองตนเองนั้น ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นที่กล่าวไว้ในพระสูตรลิจฉวี อปริหานิยธรรม กูฏทันตสูตร จักกวัตติสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) อธัมมิกสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุถกนิกาย)ว่าด้วยพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมและผู้ตั้งอยู่ในธรรม ฯลฯ น่าเสียดายที่ต้นกำเนิดแห่งสรรพความรู้นี้ถูกมองข้ามไป และโลกหันไปนิยมศึกษาความรู้จากโลกตะวันตกมาเป็นต้นแบบอารยธรรมของโลกมาจนถึงปัจจุบัน
ที่น่าสนใจก็คือ นักปรัชญาเมธีชาวกรีกรุ่นบุกเบิกเหล่านี้และรุ่นต่อมา ซึ่งล้วนกำเนิดหลังพุทธกาลนับร้อยปีได้พยายามอธิบายกำเนิดของรัฐ ความเป็นรัฐ โดยอาศัยการศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีตของโลกตามความรู้ที่ตนรู้ นับตั้งแต่อารยธรรมอียิปต์ ซึ่งถือเป็นอารยธรรมยุคแรกของมนุษย์ ซึ่งเป็นยุคที่อำนาจการปกครองจะอยู่ที่ผู้นำซึ่งอ้างอำนาจเทวสิทธิ์ เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในการเป็นชนชั้นปกครองและการสืบทอดอ่านาจมาจนถึงอารยธรรมกรีก ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมของโลกตะวันตก ซึ่งแนวความคิดได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปมากหลายความคิดเดิมเกี่ยวกับอำนาจการปกครองเริ่มถูกท้าทายด้วยแนวความคิดใหม่ของนักปราชญ์ในยุคนั้น
สิ่งที่นักปรัชญากรีกผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ไม่ได้พูดถึง คืออารยธรรมในยุคที่ใกล้เคียงกัน แต่อีกซีกโลกด้านหนึ่ง คือซีกโลกตะวันออก ซึ่งมีอินเดียและจีนเป็นหลัก ก็ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมของโลกด้านตะวันออก ซึ่งก็มีความเจริญไม่น้อยหน้าโลกตะวันตก เพียงแต่
ยุคนั้นยังไม่สามารถติดต่อกันได้และต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้กันว่าในอีกซีกโลกหนึ่งยังมีความเจริญที่ทัดเทียมกัน
จนกระทั่งสมัยอาณาจักรกรีกรุ่งเรืองถึงขีดสุด ที่กองทัพกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้บุกมาไกลถึงชมพูทวีป วิทยาการและปรัชญาความคิดของโลกตะวันออกก็เริ่มถูกถ่ายทอดไปยังโลกตะวันตกทั้งความคิดเรื่องเทววิทยา เรื่องศาสนา ปรัชญา ไปจนถึงเรื่องการเมืองการปกครอง มหาราชองค์นี้มีพระอาจารย์สำคัญคือ อริสโตเติล ซึ่งเป็นศิษย์ของโซเครตีสและเพลโต อริสโตเติลได้รับเชิญจากพระเจ้าฟิลิปแห่งมาซีโดเนีย ให้ไปเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าชายอาเล็กซานเดอร์ ที่ต่อมาได้กลายเป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชผู้พิชิตโลก อริสโตเติลรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด เพราะได้รับการอุปถัมภ์จากแอนติปาเตอร์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ฯ ในขณะที่พระองค์ทรงยกทัพเข้าตีประเทศในภูมิภาคเอเชียมาจนถึงชมพูทวีป ซึ่งได้กวาดต้อน ครอบครองดินแดน ทรัพย์สมบัติ วัฒนธรรม ในดินแดนซึ่งยุคนั้นเป็นดินแดนที่พุทธศาสนาเจริญที่สุด พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ฯ สวรรคตในปี พ.ศ. ๒๒๐ จากนั้นอริสโตเติลก็ประสบมรสุม ชีวิตจนต้องหนีจากเอเธนส์ไปอยู่เมืองซาลซิส เพราะเกรงว่าจะถูกประหาร อย่างเหี้ยมโหดแบบโซเครตีส และก็ถึงแก่กรรมในปีเดียวหลังจากนั้นคือปี พ.ศ. ๒๒๑
กรีกยุคนั้นจึงเป็นยุครุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยา เพราะมีสำนักวิทยาการที่ชื่อว่า อคาเดมี (Academy) ของเพลโต ในขณะที่อริสโตเติลก็ตั้งสำนักบรรยายวิทยาการปรัชญาของตนเอง ชื่อ ลีเซอุม (Lyceum) เลียนแบบสำนักอคาเดมีของเพลโต ภายในลีเซอุมมีห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุด กล่าวกันว่าเป็นแม่แบบของการสร้างห้องสมุดที่อเล็กซานเดรียอันเป็นห้องสมุดใหญ่ที่สุดในโลกของอารยธรรมกรีกและโรมัน เชื่อว่าอารยธรรมตะวันออกจากชมพูทวีป ได้มีส่วนเผยแพร่และมีการนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้าไปสู่ศูนย์กลางความเจริญของโลกคือ กรีกในยุคนั้น การสนทนาธรรมที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่สุดคือ มิลินทปัญหา ซึ่งเป็นการโต้ตอบเชิงปรัชญาและสัจธรรม ระหว่างพระยามิลินท์ซึ่งเป็นทายาทรุ่นหลานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ฯกับพระนาคเสนเถระก็อยู่ในยุคนี้เองและอีกนับร้อยปีต่อมา พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้ตั้งประณิธานในการเผยแผ่พระรัตนตรัยนำพระพุทธศาสนาให้เผยแผ่ไปไกลที่สุดด้วยอำนาจอันเกรียงไกรของกองทัพของพระองค์ และกองทัพธรรมของพระภิกษุสงฆ์ก็กำเนิดในยุคนั้นที่ทำให้พระพุทธศาสนาขยายไปทั่วภาคพื้นเอเชียและภาคตะวันตกของโลกและยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน