การปฏิรูปบ้านเมืองแนวใหม่ ตามพระสูตรกูฏทันตสูตร

วันที่ 22 มิย. พ.ศ.2567

 

 

670624_b35.jpg


          ชมพูทวีปยุคนั้นดินแดนต่าง ๆ ก็ยังแยกเป็นแคว้นเป็นรัฐ โดยมีพระราชาเป็นผู้ครองนครของแต่ละแคว้นแต่ละเมือง ซึ่งด้วยอิทธิพของพราหมณ์เดิม จะถือว่าราชาหรือกษัตริย์เป็นสมมติเทพที่ถือกำเนิดมาจากเทพ ได้รับโองการจากเทพให้มาปกครองมนุษย์ จะมีการแบ่งชั้นวรรณะ เป็นชั้นผู้ปกครอง กับชั้นผู้ถูกปกครอง โดยแบ่งเป็นวรรณะใหญ่ได้ ๔ วรรณะ คือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์และวรรณะศูทร

          น่าสังเกตว่า เรื่องการแบ่งชนชั้นนี้เป็นคตินิยมที่แทบจะกำเนิดคู่มากับโลก เพราะไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมตะวันออกหรือตะวันตกก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เริ่มต้นจากการที่มนุษย์อยู่โดดเดี่ยวไม่ต้องพึ่งพาสังคม จากนั้นก็เข้ามารวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อความปลอดภัย กลายเป็นสังคมเล็ก ๆ ที่มีกติกาของสังคมเป็นวัฒนธรรมประเพณี และขนบธรรมเนียม และที่สำคัญก็คือจะต้องมีผู้นำของกลุ่ม มีบุคคลใกล้ชิดผู้นำ มีบริวารผู้นำ และนอกจากนั้นก็จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม

          ในอารยธรรมของอียิปต์ถือว่าฟาโรห์คือประมุขสูงสุด และมาจากเทพเจ้า เป็นวงศ์เทพถึงขนาดไม่มีการแต่งงานนอกวงศ์ตระกูล พี่น้องก็แต่งงานกันเอง เพื่อรักษาวงศ์เทพไว้มิให้เจือจาง ในยุคกรีกต่อมาเป็นยุคโรมัน ก็เช่นเดียวกัน กษัตริย์หรือจักรพรรดิจะถือเป็นแวดวงสูงส่ง
ที่ได้พรจากฟ้า และจากเทพให้มาปกครองแผ่นดิน เช่นเดียวกับอารยธรรมชาวตะวันออก แต่ต่อมาในยุคกลางได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มฐานันดรใหม่คือ ระบบฟิวดัล หรือชนชั้นขุนนางศักดินา หรือในญี่ปุ่นเรียกว่าโชกุน ในอินเดียก็เรียกวรรณะพราหมณ์และวรรณะแพศย์ในเมืองจีนคือเจ้าเมืองต่าง ๆ และขุนนางในประเทศไทย คือเจ้าเมืองประเทศราช เจ้าเมืองหัวเมือง บรรดาอำมาตย์ เสนาบดี แม่ทัพนายกองพ่อค้าวาณิช คหบดี และบรรดาผู้มีศักดินาทั้งหลาย

           ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ ชนชั้นผู้ปกครองของแผ่นดิน ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีฐานะความเป็นอยู่และมีอำนาจราชสิทธิ์เหนือคนธรรมดา

           ตรงกันข้ามกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง ซึ่งจะเป็นชาวไร่ ชาวนากรรมกร ผู้ใช้แรงงาน ข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้รับจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กรายย่อยทั่วทั้งแผ่นดิน ซึ่งนอกจากจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจนแล้ว ยังไม่มีสิทธิ์ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรจกระทั่งนักคิด นักปรัชญา นักรัฐศาสตร์ชาวตะวันตกยุคใหม่ได้ค้นคิดระบบที่จะสร้างให้เกิดอำนาจปกครองใหม่ เรียกว่าประชาธิปไตยบ้างสังคมนิยมบ้าง คอมมิวนิสต์บ้าง เพื่อสร้างสิทธิเสรีภาพและอำนาจปกครองแผ่นดินที่เท่าเทียมกันของคนทุกคนในประเทศ ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ถือเป็นความพยายามที่จะล้มล้างระบบศักดินาและระบบนายทุนขุนนาง

           ไม่น่าเชื่อว่าจากการศึกษาพระสูตรกูฏทันตสูตร ที่พระผู้มีพระภาคได้ยกตัวอย่างของพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งใช้หลัรัฐประศาสนศาสตร์ในการปกครองแผ่นดิน โดยคำแนะนำของพราหมณ์ของพระองค์ที่ได้แยกแยะภาพการปกครองราชการแผ่นดินในยุคนั้นอย่างน่าสนใจ

 

พระเจ้ามหาวิชิตราชได้ตรัสถึงโครงสร้างการปกครองแผ่นดินของพระองค์ โดยแยกแยะเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้

670624_35-1.PNG


           จะสังเกตเห็นว่า แผนภูมิข้างบนนี้เกิดขึ้นในสมัยก่อนพุทธกาลถูกนำมาเล่าต่อโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กูฏทันตพราหมณ์ได้ทราบว่า ในสมัยพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น พราหมณ์ที่ปรึกษาของพระองค์ได้วางยุทธศาสตร์ โดยทำการแยกแยะกลุ่มการปกครองทางการเมืองออกเป็นกลุ่ม ๆ ที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งในบทต่อ ๆ ไปจะเปรียบเทียบกับระบบการบริหารบ้านเมืองในปัจจุบันให้เห็นว่า ไม่ต่างจากเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพบ้านเมืองไทยและระบอบการปกครองของประเทศไทยในปัจจุบัน

           แผนภูมิการเมืองนี้ปรากฏในพระสูตรกูฏทันตสูตร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาก่อนอารยธรรมกรีกนับร้อย ๆ ปี แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของชาวชมพูทวีป ซึ่งครอบคลุมศาสตร์ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์เพียงแต่ว่านักรัฐศาสตร์ที่มุ่งศึกษาจากตำราทางตะวันตกเพียงฝ่ายเดียวและไม่มีการค้นคว้าพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ ที่บันทึกเป็นหลักเป็นฐานสืบต่อมาอย่างน่าเชื่อถือได้นับพัน ๆ ปีอย่างน่าอัศจรรย์

           นับเป็นปรัชญาทางการเมืองอายุกว่าสองพันห้าร้อยปี แต่เมื่อศึกษาอย่างลึกซึ้งจะกลายเป็นวิชารัฐประศาสนศาสตร์ แลเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่แสดงให้เห็นความแยบยลในการแก้ปัญหาของแผ่นดินที่ปัจจุบันเรียกว่าการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหาสังคม ปัญหาโจรผู้ร้าย ปัญหาการทำมาหากินปัญหาการลดช่องว่างระหว่างกลุ่มผู้ปกครองระดับบนกับกลุ่มผู้ถูกปกครองระดับล่าง ซึ่งทำได้อย่างเหมาะสมลึกซึ้งยิ่ง


          แผนภูมิที่จะแสดงต่อไปนี้คือยุทธศาสตร์ที่พราหมณ์ที่ปรึกษาของพระเจ้ามหาวิชิตราช กราบทูลถวายเพื่อให้ทรงประกอบพิธีบูชามหายัญแบบใหม่ ที่ไม่ต้องงมงายกับความเชื่อและประเพณีเดิมในการทำการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยการฆ่าสัตว์เป็นการใหญ่ ตรงกันข้ามเป็นการปฏิรูประบอบการปกครองโดยคำนึงถึงเป้าหมายคือ ประชาชนใน ๓ กลุ่มระดับล่าง ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยากจนลำบากยากแค้นในการทำมาหากิน ที่ภาษาปัจจุบันเรียกว่า ปัญหารากหญ้ายุทธศาสตร์ปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองของพระเจ้ามหาวิชิตราชจะปรากฏเป็นแผนภูมิการเมืองใหม่ดังนี้

670624_35-2.PNG

 

ต้นแบบยุทธศาสตร์การปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองแบบยั่งยืน

             ความแยบยลของพราหมณ์ปุโรหิตที่ได้กราบทูลแนะนำพระเจ้ามหาวิชิตราชเรื่องพิธีบูชามหายัญ ๓ ประการ ที่มีองค์ประกอบ ๑๖ ประการถือเป็นกุศโลบายที่เป็นต้นแบบยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองแบบยั่งยืนที่น่าสนใจยิ่ง กล่าวคือในยุคนั้น พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงมีพระราชทรัพย์มหาศาล ทรงมีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ทรงทำสงครามได้ชัยชนะจนได้ครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล จึงทรงประสงค์จะทำพิธีบูชามหายัญเพื่อความสุขสวัสดีแก่พระองค์เองและอาณาประชาราษฎร์

             แทนที่พราหมณ์ปุโรหิตจะถวายคำแนะนำเช่นพิธีกรรมปกติที่ในยุคนั้นนิยมทำ คือทำพิธีบูชายัญด้วยการเกณฑ์เอาสัตว์จำนวนมากมาฆ่าบูชายัญ พราหมณ์ปุโรหิตกลับกราบทูลว่าบ้านเมืองของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน โจรยังปล้นบ้าน ปล้นนิคม ปล้นเมืองหลวง ดักจี้ในทางเปลี่ยว

            เมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้น ก็จะชื่อว่ากระทำสิ่งที่ไม่สมควร พระองค์มีพระราชดำริอย่างนี้ว่าเราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการประหาร จองจำ ปรับไหมตำหนิโทษ หรือเนรเทศ อย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง เพราะว่าโจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วจักมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้แต่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง ต้องอาศัยวิธีการต่อไปนี้ คือ
๑. ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของพระองค์
๒. ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรมในบ้านเมืองของพระองค์
๓. ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์

            พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองก็จะอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียนประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน” นั่นก็คือ เปลี่ยนการฆ่าสัตว์บูชายัญให้เป็นสังคมสงเคราะห์ขึ้นมาแทน

วิเคราะห์กุศโลบายของพราหมณ์ปุโรหิตที่ถวายต่อพระเจ้ามหาวิชิตราช

            เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเห็นดีงามกับแนวความคิดของพราหมณ์ปุโรหิต พราหมณ์จึงได้แสดงยัญพิธี ๓ ประการถวายแด่พระเจ้ามหาวิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญว่า

๑. เมื่อพระองค์ปรารถนาจะทรงบูชามหายัญ ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่า กองสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราจักสิ้นเปลือง

๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่า กองสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรากำลังสิ้นเปลืองไป

๓.เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญแล้ว ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราได้สิ้นเปลืองไปแล้ว

             กุศโลบายของพราหมณ์ปุโรหิตที่ถวายแด่พระเจ้ามหาวิชิตราชนี้เต็มไปด้วยความลึกซึ้งรอบคอบและเป็นการอธิบายหลักการแห่งการทำบุญทำทานที่ได้ผลเต็มสมบูรณ์มหาศาล คือเมื่อได้ตัดสินใจทำแล้วต้อง “ตัดสิน” และ “ตัดใจ” ไม่ให้ทรงเสียดายว่าพระราชทรัพย์จะหมด ยัญทั้ง ๓ ประการนี้ คือหลักที่แท้ของหลักรัฐศาสตร์ของผู้ปกครองแผ่นดิน คือต้องใจใสและต้องใจใหญ่ เป็นศาสตร์วิธีขยายใจของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขยายใจให้ครอบคลุมเต็มทั้งแผ่นดิน อย่างนี้จึงจะเรียกว่ารัฐศาสตร์

             ประการสำคัญคือ เป็นการยกระดับจิตใจของผู้ให้ ให้เปี่ยมไปด้วยบุญใหญ่ที่ได้ผลสมบูรณ์ คือข้อแรก เมื่อคิดจะให้ก็ต้องให้ด้วยความดีใจ เต็มใจ ข้อที่สอง ขณะกำลังให้ก็ต้องให้ด้วยจิตใจที่ทั้งเลื่อมและทั้งใส และข้อที่สาม คือเมื่อให้แล้วก็ต้องรู้สึกปลาบปลื้มใจ หวนคิดถึงคราใดก็ยิ่งปลื้มใจทบทวีในบุญที่สร้างไว้ดีแล้วนี่คือ ยัญ ๓ ประการ ที่พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งพระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามด้วยความยินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่ง

             หลักเกณฑ์การเลือกคนรับแจกทานมีเกณฑ์ชัดเจนไม่เหวี่ยงแหในคำแนะนำการพระราชทานของพระเจ้ามหาวิชิตราช พราหมณ์ได้ระบุรายละเอียดไว้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรพ่อค้าวาณิช หรือข้าราชการ จะต้องมีการคัดเลือกเฉพาะผู้ขะมักเขม้นขยันขันแข็งเท่านั้น มิใช่เป็นการให้แบบเทกระจาดหรือเหวี่ยงแห เป็นการยืนยันว่า คนทำดีเท่านั้นจึงจะได้ดี เป็นการชูธงคุณธรรมอย่างเด่นชัดเพราะคำพูดที่ว่า “พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ บ้านเมืองก็จะอยู่ร่มเย็นไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนก็จะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้านแปลว่า ต้องเลือกให้แก่คนดีที่มีศีลธรรม คือ ถือกุศลกรรมบถ๑๐ ประการ เป็นหลักในการปกครองแผ่นดิน ซึ่งพราหมณ์ปุโรหิตได้ตั้งเกณฑ์ไว้ ๑๐ ประการ ให้พระองค์ทรงประกาศเจาะจงเฉพาะบุคคลเหล่านี้ คือ

๑. พวกที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เท่านั้น
๒. พวกที่เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้เท่านั้น
๓.พวกที่เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามเท่านั้น
๔. พวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จเท่านั้น
๕. พวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำส่อเสียดเท่านั้น
๖. พวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบเท่านั้น
๗. พวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อเท่านั้น
๘. พวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขาเท่านั้น
๙. พวกที่ไม่มีจิตพยาบาทเท่านั้น
๑๐.พวกที่เป็นสัมมาทิฐิเท่านั้น

 

              นี่คือเกณฑ์แห่งการคัดคนดีที่พราหมณ์ปุโรหิตตั้งไว้อย่างเคร่งครัดถวายแด่พระเจ้ามหาวิชิตราชเพื่อขจัดความกังวลพระทัย เพราะจะต้องมีการคัดเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะมารับแจกทานหรือรับการสงเคราะห์นั้น จะต้องเจาะจงว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบ ๑๐ ประการนี้เท่านั้น นั่นคือหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง จากนั้นพระองค์ก็จะทำพิธีบูชามหายัญด้วยจิตใจปลอดโปร่งเลื่อมใสในทางปฏิบัติอำมาตย์ราชบริพารของพระองค์จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะในคำอธิบายช่วงนี้ได้ระบุไว้ชัดว่า ในพิธีบูชามหายัญนี้ บุคคลสองจำพวกถึงอย่างไรก็จะมาพร้อมกัน คือทั้งผู้รักษากุศลกรรมบถ ๑๐ และผู้เต็มไปด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยเฉพาะในข้อสุดท้าย คือบรรดาผู้มีสัมมาทิฐิ และบรรดาผู้มีมิจฉาทิฐิ ก็จะพากันมารับแจกด้วย แต่ในคำอธิบายของพราหมณ์ปุโรหิตระบุว่าพวกที่เป็นอกุศลกรรมบถก็จักได้รับผลกรรมของเขาเอง คือพระองค์ไม่ต้องสั่งลงโทษอะไร ธรรมชาติจะลงโทษเขาเหล่านั้นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องหาทางแสดงประณิธานของพระองค์ให้เด่นชัดว่า เจาะจงให้เฉพาะผู้ที่มีกุศลกรรมบถ ๑๐ เท่านั้น เป็นการชูธงศีลธรรมสำหรับการปกครองบ้านเมืองอย่างทั่วถึงและเด่นชัด

               สิ่งที่น่าสังเกตยิ่งก็คือ การเลือกแบ่งกลุ่มบุคคลระดับล่างโดยแยกเป็น ๓ กลุ่มอาชีพใหญ่ ๆ ในยุคนั้น การสงเคราะห์ก็เลือกให้สิ่งที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย คือพระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มเลี้ยงปศุสัตว์พระราชทานต้นทุนให้แก่กลุ่มพาณิชยกรรมพระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการ

การชนะใจ ๔ กลุ่มอิทธิพลในบ้านเมืองด้วยการให้มีส่วนร่วม

              ยุทธศาสตร์การตั้งเป้าหมายไปสู่กลุ่มประชาชนยากจน ผู้มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ในแผ่นดินเป็นอันดับแรก ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่จัดลำดับความสำคัญที่ถูกต้องที่สุด เพราะบุคคลเหล่านี้คือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มักจะถูกละเลยมองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ และหนักไปยิ่งกว่านั้นมักจะตกเป็นเหยื่อของการรีดนาทาเร้น การใช้อำนาจของเหล่าอำมาตย์ราชบริพาร พ่อค้าใหญ่ เสนาบดี และแม่ทัพนายกองซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยในประวัติศาสตร์

              ในการทำพิธีบูชามหายัญครั้งนี้ จึงเกิดความสำเร็จสมตามพระราชประณิธานของพระเจ้ามหาวิชิตราช เพราะทำให้ประชาชนที่ได้รับมหาทานครั้งนี้เกิดกำลังใจ ขะมักเขม้น ขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพของตน เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกัน ครอบครัวเป็นสุข มีความปลอดภัยในแผ่นดิน จนพระเจ้ามหาวิชิตราชตรัสต่อพราหมณ์ปุโรหิตด้วยความโสมนัสว่า

               ท่านผู้เจริญ เราได้กำจัดเสี้ยนหนามคือ โจรจนหมดสิ้นด้วยวิธีการของท่านและได้มีกองราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็นไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกันมีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้านเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนานถ้าเป็นภาษาปัจจุบันก็น่าจะเรียกว่าพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงต้องการให้เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองที่ยั่งยืน จึงได้ถามพราหมณ์ปุโรหิตว่าจะมีทางทำได้อย่างไรหรือไม่พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลยุทธศาสตร์สำคัญว่า พระองค์จะต้องรับสั่งให้เชิญบุคคล ๔ กลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลและบทบาทสูงในบ้านเมืองของพระองค์ คือ
๑.เจ้าผู้ครองเมือง
๒.อำมาตย์ราชบริพาร
๓.พราหมณ์มหาศาล
๔.คหบดีผู้มั่งคั่ง


               เชิญบุคคลเหล่านี้ซึ่งอยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์เพื่อมาปรึกษา เชิญชวนให้ร่วมมือกับพระองค์เพื่อร่วมทำพิธีบูชามหายัญกับพระองค์ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขอันยั่งยืนตลอดกาลของบ้านเมืองปรากฏว่าคนเหล่านั้นเมื่อได้ทราบพระประสงค์ แทนที่จะมาร่วมพิธีอย่างเดียว กลับพากันนำทรัพย์จำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราช พร้อมทั้งกราบทูลว่า“ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้นำทรัพย์จำนวนมากนี้มาเพื่อพระองค์ ขอพระองค์ทรงรับไว้เถิด”พระเจ้ามหาวิชิตราชตรัสว่า “อย่าเลย ท่านผู้เจริญทั้งหลายเราเองได้รวบรวมทรัพย์สินจำนวนมากมาจากภาษีอากรอันชอบธรรมทรัพย์ที่พวกท่านนำมาก็จงเป็นของพวกท่านเถิด และพวกท่านจงนำทรัพย์จากที่นี่ไปเพิ่มอีก”นับเป็นกุศโลบายที่แยบยล นอกจากทรงไม่รับแล้ว ยังกลับพระราชทานเพิ่มเติมให้อีก ทำให้คนเหล่านั้นต้องไปปรึกษาหารือกันว่าการที่ตั้งใจจะมาถวายทรัพย์สินแก่พระองค์ นอกจากทรงไม่รับแล้วยังกลับพระราชทานเพิ่มเติมอีก การที่จะเอาทรัพย์สินเหล่านี้กลับคืนไปยังบ้านเมืองของตนนั้น ไม่เป็นการสมควรเลย

                ในเมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญ ถ้าอย่างนั้นก็ควรจะร่วมบูชามหายัญโดยเสด็จพระราชกุศล ทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันจากนั้นก็แยกย้ายกันไปแจกทานทั้ง ๔ ทิศรอบเมืองบรรดาเจ้าผู้ครองเมืองก็ได้ตั้งโรงทานทางทิศตะวันออก พวกอำมาตย์ราชบริพารตั้งโรงทานทางทิศใต้ พวกพราหมณ์มหาศาลตั้งโรงทานทิศตะวันตก ส่วนคหบดีผู้มั่งคั่งก็ตั้งโรงทานทางทิศเหนือการปฏิรูปเจตคติใหม่ของคนทั้งเมือง

                ยุทธศาสตร์แห่งการเอาชนะใจกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลทางบ้านเมือง ๔ กลุ่มระดับบนที่กล่าวมานี้ ถือเป็นการสร้างต้นแบบแห่งการปกครองด้วยวิธีจูงใจเชิญชวนให้พร้อมใจกันทั้งแผ่นดิน ให้เกิดความร่วมใจเห็นอุดมการณ์ของบ้านเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือการช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ยากไร้แต่ละคนต้องช่วยตนเองให้ได้ ต้องใช้ความรู้ความสามารถให้เต็มที่หลีกหนีความยากจน ด้วยวิธีกระจายความมั่งคั่งสู่บุคคลระดับล่าง เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้มีทรัพย์ผู้มั่งคั่งในกลุ่มระดับบน กับกลุ่มผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินในแนวคิดของการบริหารสมัยใหม่ ซึ่งเรียกว่าธรรมรัฐบ้างหลักนิติธรรมบ้าง ซึ่งอาศัยทฤษฎีของโลกตะวันตกที่เรียกว่า Good Governance นั่นก็คือการบริหารสมัยใหม่ที่ให้ผลประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ หัวใจสำคัญ คือความโปร่งใสตรวจสอบควบคุมได้ การถ่วงดุลแห่งอำนาจ และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วม

 

ยุทธศาสตร์ที่พราหมณ์ปุโรหิตนำเสนอ เข้าเกณฑ์ทุกประการ คือ
๑.การตั้งเป้าหมายโดยหวังผลสุดท้ายให้ถึงประชาชนโดยตรงอย่างแท้จริงเป็นตัวตั้ง
๒.ให้ในสิ่งที่ประชาชนกลุ่มนั้นๆ ต้องการ
๓.ให้ด้วยวิธีการโปร่งใส มีการคัดเลือก ตั้งเกณฑ์ในการคัดคนที่แจ้งชัด
๔.การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม เพื่อเป็นการตรวจสอบควบคุม และถ่วงดุลอำนาจไปในตัว
๕. มีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังนับเป็นการบริหารบ้านเมืองที่สอดคล้องกับหลักรัฐประศาสนศาสตร์ยุคใหม่ ที่วางยุทธศาสตร์ในเชิงรุก แทนที่จะตั้งรับ มิรอให้ประชาชนเดือดร้อนก่อนแล้วยกขบวนมาร้องต่อบ้านเมือง เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ และปรับเจตคติคนทั้งเมือง ว่าการบูชามหายัญนั้น ไม่ใช่วิธีทำบาป ฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น

               แม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรมและที่สำคัญคือ “คนที่ปรารถนาจะทำจึงให้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนาเท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำ”ยิ่งไปกว่านั้น ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมันเนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่มีชีวิตสัตว์ที่ต้องมาถูกล้างผลาญเกี่ยวข้อง ถ้ามองการทำมาหากินยุคนั้นก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ใช้แต่สิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งทำง่าย หาง่ายสรุป งานนี้เท่ากับเป็นการปรับเจตคติใหม่ของคนในบ้านเมืองยุคนั้น เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยใช้หลักรัฐศาสตร์เชิงพุทธ ที่ปฏิรูปตั้งแต่ความคิดของผู้นำแผ่นดินคือกษัตริย์ ไปจนถึงบรรดาเจ้าผู้ครองเมืองอำมาตย์ราชบริพาร พราหมณ์มหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และผลของการปฏิรูป ทำให้เกิดผลความกินดีอยู่ดีกับประชาชนส่วนใหญ่ระดับล่างคือเกษตรกร ข้าราชการชั้นผู้น้อย พ่อค้าวาณิช และคนทำมาหากินสุจริตทั่วแผ่นดินทำให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีโจรผู้ร้าย ประชาชนอยู่ดีมีสุขแบบยั่งยืน เกิดความพร้อมใจกัน เกิดความสามัคคีร่วมใจทุกระดับ

                มองในแง่มุมของการบริหารสมัยใหม่ เป็นการปิดช่องว่างระหว่างกลุ่มอิทธิพลระดับบน กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสระดับล่าง โดยผู้นำของประเทศลงมากำหนดนโยบายเอง ดูแลเองอย่างใกล้ชิด เป็นนโยบายที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายระดับรากหญ้าของแผ่นดินเป็นลำดับความสำคัญแรกสุดถ้าดูตามผังภูมิที่สอง จะเห็นว่าต่างจากผังภูมิแรก ที่ผู้นำประเทศแทนที่จะรอสั่งการจากข้างบน ลงมาทำหน้าที่เป็นประธานทำพิธีบูชามหายัญเองจากนั้นก็ทำให้ ๔ กลุ่มอิทธิพลของบ้านเมือง ไม่สามารถนิ่งดูดายได้ต้องพร้อมใจกันมาร่วมกิจกรรมด้วยกับผู้นำ

                ข้อเปรียบเทียบนี้จะได้วิจารณ์เพื่อเปรียบเทียบกับการบริหารบ้านเมืองของประเทศไทยยุคปัจจุบันในบทต่อ ๆ ไป ซึ่งมีแง่มุมทั้งความเหมือนและความแตกต่างที่น่าสนใจยิ่ง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031072835127513 Mins